หอวชิราวุธานุสรณ์
25 กันยายน 2563

 
      ม.ล.ปิ่น มาลากุล ได้ริเริ่มก่อตั้งหอวชิราวุธานุสรณ์ขึ้นเพื่อฉลองวันพระบรมราชสมภพครบ 100 ปีของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวันที่ 1 มกราคม 2524 และเพื่อเป็นแหล่งค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับต้นฉบับ ลายพระราชหัตถ์ พระราชประวัติ พระราชนิพนธ์ พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ตลอดจนเรื่องอื่นๆที่เกี่ยวข้อง สำหรับนักเรียน นักศึกษาและประชาชนที่สนใจต้องการศึกษาม.ล.ปิ่น มาลากุล ได้ริเริ่มก่อตั้งหอวชิราวุธานุสรณ์ขึ้นเพื่อฉลองวันพระบรมราชสมภพครบ 100 ปีของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวันที่ 1 มกราคม 2524 และเพื่อเป็นแหล่งค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับต้นฉบับ ลายพระราชหัตถ์ พระราชประวัติ พระราชนิพนธ์ พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ตลอดจนเรื่องอื่นๆที่เกี่ยวข้อง สำหรับนักเรียน นักศึกษาและประชาชนที่สนใจต้องการศึกษา
 
      หอวชิราวุธานุสรณ์ตั้งอยู่บริเวณภายในรั้วหอสมุดแห่งชาติ เป็นลักษณะอาคารทรงไทย 4 ชั้น และได้ปรับปรุงภายในเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2557 ปัจจุบันมีพื้นที่ใช้สอยดังนี้
 
      ♦ ชั้นที่ 1 ห้องโถงสำหรับจัดนิทรรศการ ห้องประชุมศรีอยุธยา และสำนักงานมูลนิธิฯ รัชกาลที่ 6

      ♦ ชั้นที่ 2 ห้องสมุดรามจิตติ ห้องประชุมขนาดเล็ก และสำนักงานมูลนิธิฯ รัชกาลที่ 2

      ♦ ชั้นที่ 3 พระบรมราชะประทรรศนีย์ สถานธีรนิทรรศน์ 

      ♦ ชั้นที่ 4 อยู่ระหว่างปรับปรุงซ่อมแซมเพื่อจัดทำเป็นนิทรรศการถาวร
 
      ห้องสมุดภายในของหอวชิราวุธานุสรณ์ มีชื่อห้องว่าห้องสมุดรามจิตติ ซึ่งตั้งมาจากพระนามแฝงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เป็นห้องสมุดเฉพาะที่รวบรวมพระราชประวัติ พระราชนิพนธ์ พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ตลอดจนเรื่องอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ส่วนใหญ่ให้บริการทรัพยากรสารสนเทศประเภทสิ่งพิมพ์ คือ หนังสือ วารสาร นิตยสารมีจำนวนมากกว่า 10,000 เล่มซึ่งได้รับมาจากกลุ่มพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศ และการบริจาค มีคอลเล็คชั่นพิเศษที่นอกเหนือจากหนังสือทั่วไป ได้แก่
 
       ♦ คอลเล็คชั่นม.ล.ปิ่น มาลากุล เป็นคอลเล็คชั่นที่รวบรวมหนังสือที่ม.ล.ปิ่น มาลากุลแต่งขึ้น ให้สัญลักษณ์พิเศษคือ ติดแถบสีแดง
 
       ♦ คอลเล็คชั่น หนังสืองานศพ ให้สัญลักษณ์พิเศษคือ ติดแถบดำจัดเรียงตามตัวอักษรชื่อผู้ตาย
 
       ♦ สำเนาลายพระราชหัตถ์ เป็นเอกสารสำเนาพระราชนิพนธ์ต่างๆที่เป็นลายพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 มีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ จัดเรียงตามตัวอักษรชื่อหนังสือ
 
       ♦ สำเนาบัตรนามสกุลพระราชทานของรัชกาลที่ 6 ฉบับลายพระราชหัตถ์ อันได้มาจากการบริจาคของต้นตระกูลต่างๆ จัดเรียงตามตัวอักษร ก-ฮ ซึ่งผู้ใช้บริการสามารถค้นคว้าและถ่ายเอกสารสำเนาบัตรนามสกุลพระราชทานได้ ขณะนี้มีจำนวนประมาณ 732 นามสกุล
 
      นอกจากนี้หอวชิราวุธานุสรณ์ยังจัดกิจกรรมโครงการฯทวีปัญญา เพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และส่งเสริมการอ่าน การเรียนรู้ โดยนำพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 มาเผยแพร่ในรูปแบบการอภิปราย การเสวนา การแสดงต่างๆ เช่น การแสดงลิเกทรงเครื่อง การขับเสภา เป็นต้น มีกำหนดการจัดกิจกรรมปีละ 2 ครั้ง
 
หอวชิราวุธานุสรณ์ให้บริการการอ่านและศึกษาค้นคว้าพระราชนิพนธ์และเรื่องที่เกี่ยวเนื่องในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
 
ที่ตั้ง : ตั้งอยู่ในบริเวณหอสมุดแห่งชาติ ถนนสามเสน กรุงเทพมหานคร
ติดต่อ : โทร. 0-2282-3264, 0-2282-3419
เวลาทำการ :  เปิดบริการวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 09.00 - 16.30 น.
ปิดบริการ : วันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์





 



 
Tags:


จำนวนผู้เข้าชมทั้งหมด 16,096 คน
เว็บไซต์ของเรามีการใช้งานคุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานให้กับผู้ใช้งาน ทั้งนี้ สามารถมั่นใจได้ว่าเราจะดูแลและรักษาความปลอดภัยข้อมูลของท่านเป็นอย่างดี