โครงการ/กิจกรรม

for w3c
ภาพตัวอย่าง

โครงการ ร.ศ.242 ชมตู้ลายทองสืบสานงานศิลป์ กิจกรรมเสวนาวิชาการ เรื่อง "ศิลปะลายรดน้ำบนตู้ลายทอง"

วันอาทิตย์ที่ 29 ม.ค.2566 เวลา13.00 น. นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ ร.ศ.242 ชมตู้ลายทองสืบสานงานศิลป์ กิจกรรมเสวนาวิชาการ เรื่อง "ศิลปะลายรดน้ำบนตู้ลายทอง" วิทยาการโดย อ.บรรเจิด ศรีสุข จากวิทยาลัยเพาะช่าง อ.สุดสาคร ชายเสม อดีตอาจารย์วิทยาลัยเพาะช่าง และอ.สมชาย ศุภลักษณ์อำไพพร จากสำนักช่างสิบหมู่ ดำเนินการเสวนาโดย อ.วิชัย รักชาติ จากวิทยาลัยเพาะช่าง ณ ห้องประชุมอาคารถาวรวัตถุ (ตึกแดง) ถ.หน้าพระธาตุ เขตพระนคร กล่าวรายงานโดยนายบพิตร วิทยาวิโรจน์ รองอธิบดีกรมศิลปากร พร้อมนี้มีรองอธิบดีกรมศิลปากร อีก 2 ท่าน คือ นายสถาพร เที่ยงธรรม และนางรักชนก โคจรานนท์ ร่วมกิจกรรมดังกล่าว การจัดเสวนาฯครั้งนี้ มีผู้สนใจจากสถาบันการศึกษา หน่วยงาน ประชาชนทั่วไปร่วมงานจำนวน 97 คน (ชาย 62 คน หญิง 32 คน และพระสงฆ์จำนวน 3 รูป) และมีผู้เข้าถึงการถ่ายทอดสดผ่านทาง Facebook Live ของหอสมุดแห่งชาติด้วย

ภาพตัวอย่าง

โครงการสำรวจเอกสารโบราณ ประจำปีงบประมาณ 2566 ครั้งที่ 2

โครงการสำรวจเอกสารโบราณ ประจำปีงบประมาณ 2566 ครั้งที่ 2 จังหวัดอุดรธานี ขอนแก่น และนครราชสีมา ระหว่างวันที่ 11-19 มกราคม 2566 สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม โดย กลุ่มงานสำรวจเอกสารโบราณ กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก  ดำเนินโครงการสำรวจเอกสารโบราณ มีผู้ไปปฏิบัติงานตามโครงการจำนวน 5 รายดังนี้ 1. นางสาววชรพร อังกูรชัชชัย นักภาษาโบราณชำนาญการ (หัวหน้ากลุ่มงานสำรวจเอกสารโบราณ)    2. นายสันติ วงศ์จรูญลักษณ์ นักภาษาโบราณชำนาญการ 3. นางรตนาภรณ์ สอาดโอษฐ์  นักภาษาโบราณปฏิบัติการ  4. นายจามีกร ชูทรัพย์ นักภาษาโบราณปฏิบัติการ  5. นายธน ซึมไพศาล พนักงานขับรถยนต์  คณะทำงานเข้าไปปฏิบัติงาน จำนวน 2 พื้นที่ ดังนี้ ⊙ วัดป่าดงหนองตาล (โนนตูมสราราม) อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี  ได้รับความเมตตาจากพระอธิการพิศนุ สนฺตมโน เจ้าอาวาส  อนุญาตให้เข้าไปปฏิบัติงาน และมอบหมายให้พระมานะ อชฺชริโย และนายรัฐสิทธิ์ ชุมแสง คอยอำนวยความสะดวกแก่คณะทำงาน คณะทำงานได้สำรวจและทำทะเบียนเอกสารโบราณประเภทคัมภีร์ใบลาน มีขั้นตอนดังนี้ 1. คัดแยกเอกสารตามลักษณะทางกายภาพ ดังนี้    - คัมภีร์ใบลานเส้นจาร ขนาดยาว    - คัมภีร์ใบลานเส้นจาร ขนาดสั้น    - คัมภีร์ใบลาน ไม่มีชื่อเรื่องหน้าปก    - คัมภีร์ใบลานแตกผูก เป็นใบ ๆ ไม่สามารถนำเรื่องเดียวกันมารวมเป็นผูกได้    - คัมภีร์ใบลาน ที่มีเชื้อรา เมื่อคัดแยกหมดแล้ว นำคัมภีร์ใบลานเส้นจาร ขนาดยาว มาดำเนินการก่อนเป็นอันดับแรก และคัมภีร์ใบลานขนาดสั้นมาดำเนินการเป็นลำดับต่อไป โดยมีขั้นตอนดังนี้ 2. ปัดฝุ่น เปลี่ยนสายสนองที่ชำรุด  เสริมปกหน้า-หลังผูกที่ไม่มีปก 3. ทำความสะอาดเช็ดเชื้อราออกจากคัมภีร์ใบลาน 4. อ่าน-คัดแยกคัมภีร์ใบลานตามชื่อเรื่อง 5. อ่านเพื่อหาชื่อเรื่อง คัมภีร์ใบลานที่ไม่มีปกหน้าชื่อเรื่อง  6. จัดมัดคัมภีร์  โดยนำเรื่องเดียวกัน ฉบับเดียวกัน มาจัดเข้ามัดก่อน 7. ลงทะเบียนในแบบบันทึกข้อมูล ทีละเรื่อง พร้อมทั้งให้เลขที่ 8. เขียนเลขที่ บนคัมภีร์ใบลานทุกผูก  9. ประทับตราของวัด บนคัมภีร์ใบลาน 10. ประทับตราของวัด บนไม้ประกับ 11. เขียนป้ายหน้ามัดของคัมภีร์ใบลาน 12. ห่อผ้า ทีละมัด 13. จัดเก็บ โดยเรียงตามเลขที่ ผลการดำเนินการลงทะเบียนและจัดเก็บเอกสารโบราณ ประเภทคัมภีร์ใบลาน และหนังสือสมุดไทย พบอักษรธรรมอีสาน อักษรไทยน้อย และอักษรธรรมล้านนา ภาษาไทย บาลี และเขมร  อ่านและลงทะเบียนเสร็จเรียบร้อยแล้ว ~คัมภีร์ใบลาน เส้นจาร ขนาดยาว จำนวน 209 รายการ จัดกลุ่มลงทะเบียนได้ 54 เลขที่  จัดมัดได้ 27 มัด อ่านชื่อเรื่องแล้ว รอการลงทะเบียน ~คัมภีร์ใบลาน เส้นจาร ขนาดยาว จำนวน 30 รายการ ~คัมภีร์ใบลาน เส้นจาร ขนาดสั้น จำนวน 173 รายการ รออ่านชื่อเรื่องและทำทะเบียน ~คัมภีร์ใบลาน จำนวน 148 รายการ ~หนังสือสมุดไทย จำนวน 10 รายการ ⊙ วัดบึง (พระอารามหลวง) อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา  ปฏิบัติงานสำรวจและทำทะเบียนเอกสารโบราณ ประเภทคัมภีร์ใบลานและหนังสือสมุดไทย (ต่อเนื่องครั้งที่ 5) โดยได้รับความเมตตาจาก พระเทพสีมาภรณ์ เจ้าอาวาส  อนุญาตให้เข้าไปปฏิบัติงานภายในวัด และมอบหมายให้นายไพฑูรย์ คงจันทร์ ไวยาวัจกร เป็นผู้ประสานงานและอำนวยความสะดวกแก่คณะทำงาน คณะทำงานขอขอบพระคุณนายสมชัย ฟักสุวรรณ์  ข้าราชการบำนาญ (นักภาษาโบราณชำนาญการพิเศษ) ที่กรุณามาช่วยมัดห่อคัมภีร์ใบลาน และขอขอบพระคุณนางสาวอิสรีย์ นวกุลย์ชัย ผู้มีจิตศรัทธาภาคประชาชน เป็นผู้สนับสนุนการอนุรักษ์มรดกไทยดีเด่น ประจำปี 2563 และคณะได้บริจาคผ้าห่อคัมภีร์ใบลาน และไม้ประกับ เพื่อการอนุรักษ์เอกสารโบราณ ให้วัดบึง(พระอารามหลวง) จังหวัดนครราชสีมา ผลการดำเนินการจัดเก็บเอกสารโบราณ ของวัดบึง (พระอารามหลวง)  ~จัดเก็บคัมภีร์ใบลาน ฉบับพิมพ์ อักษรไทย จำนวน 2,526 รายการ  จัดมัดได้ 53 มัด ~จัดเก็บคัมภีร์ใบลานแตกผูก เส้นจาร จำนวน 7 ห่อ การดำเนินการ สำเร็จลงได้ด้วยดี จึงขอขอบพระคุณและขอบคุณทุกท่านที่ได้เมตตาและอำนวยความสะดวกเป็นอย่างดี โดยเฉพาะพระเทพสีมาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดบึง จังหวัดนครราชสีมา พระอธิการพิศนุ สนฺตมโน เจ้าอาวาสวัดป่าดงหนองตาล จังหวัดอุดรธานี  ท่านอธิบดีกรมศิลปากร   ท่านผู้บริหารตามสายงาน หวังว่าจะได้รับความเมตตาอนุเคราะห์ ในโอกาสต่อไป  

ภาพตัวอย่าง

หอสมุดแห่งชาติเขตลาดกระบัง เฉลิมพระเกียรติ จัดกิจกรรมวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2566

วันที่ 14 มกราคม 2566 หอสมุดแห่งชาติเขตลาดกระบัง เฉลิมพระเกียรติ จัดกิจกรรมวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2566 โดยมี ดร.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตลาดกระบัง เป็นประธานกล่าวเปิดงาน โดยมีนางสาวยุวเรศ อิทธิชัยวัฒนา หัวหน้าหอสมุดแห่งชาติเขตลาดกระบัง เฉลิมพระเกียรติ กล่าวรายงาน ทั้งนี้ได้รับการสนับสนุนกิจกรรมจากอาจารย์วิทยาลัยช่างศิลป การจัดกิจกรรมวันเด็กแห่งชาติเพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนได้ใกล้ชิดห้องสมุดรู้จักแหล่งเรียนรู้ แหล่งศิลปวัฒนธรรมของชาติ  โดยมีเด็ก เยาวชน และผู้ปกครองเข้าร่วมงาน จำนวน 212 คน

ภาพตัวอย่าง

พิธีเปิดนิทรรศการหมุนเวียน เรื่อง "ศุภฤกษ์เบิกชัย สวัสดีปีใหม่"

วันที่ 22 ธันวาคม 2565 เวลา 12.45 น. นายบพิตร วิทยาวิโรจน์ รองอธิบดีกรมศิลปากร เป็นประธานในพิธีเปิดนิทรรศการหมุนเวียน เรื่อง "ศุภฤกษ์เบิกชัย สวัสดีปีใหม่" โดยมีนางสาวเนาวรัตน์ ปัญญางาม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักหอสมุดแห่งชาติ เป็นผู้กล่าวรายงาน สำหรับนิทรรศการหมุนเวียน เรื่อง "ศุภฤกษ์เบิกชัย สวัสดีปีใหม่" นำเสนอความเป็นมาของวันขึ้นปีใหม่ในเมืองไทย พระราชพิธีขึ้นปีใหม่ในรัชสมัยต่าง ๆ พระราชดำรัสพระราชทานในโอกาสขึ้นปีใหม่ โคลงให้พรปีใหม่ของพระบรมวงศานุวงศ์ รวมถึงจัดแสดงบัตรส่งความสุข บัตรอวยพร ส.ค.ส. พระราชทาน และเพลงพระราชนิพนธ์พรปีใหม่ นอกจากนี้ยังนำเสนอเรื่องราวของปฏิทิน สมุดบันทึก และกิจกรรมเนื่องในวันขึ้นปีใหม่ด้วย ผู้สนใจสามารถเข้าชมนิทรรศการหมุนเวียน เรื่อง "ศุภฤกษ์เบิกชัย สวัสดีปีใหม่" ได้ทุกวัน ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 09.00-16.30 น.  ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 22 เมษายน 2566 ณ ห้องวชิรณาณ 2-3 ชั้น 1 อาคาร 2 สำนักหอสมุดแห่งชาติ

ภาพตัวอย่าง

กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน NLT Edutainment ปีที่ 6 ครั้งที่ 1

วันที่ 22 ธันวาคม 2565 เวลา 10.00-12.00 น. นายบพิตร วิทยาวิโรจน์ รองอธิบดีกรมศิลปากร เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน NLT Edutainment ปีที่ 6 ครั้งที่ 1 การเสวนา เรื่อง "ศุภวารดิถี ปีใหม่สุขสราญ" โดยมีนางสาวเนาวรัตน์ ปัญญางาม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักหอสมุดแห่งชาติ เป็นผู้กล่าวรายงาน การเสวนาดังกล่าวได้รับความกรุณาจากนายกิตติพันธ์ พานสุวรรณ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร นายบุญเตือน ศรีวรพจน์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านอักษรศาสตร์: ภาษาและวรรณกรรม และนางจุฑาทิพย์ อังศุสิงห์ อดีตผู้อำนวยการสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ เป็นวิทยากรร่วมพูดคุยให้ความรู้เกี่ยวกับพิธีกรรมและประเพณีอันเกี่ยวเนื่องกับการขึ้นปีใหม่ แนวปฏิบัติทางศาสนาที่เกี่ยวกับการขึ้นปีใหม่ ตลอดจนเรื่องราวของคำอวยพรและบัตรอวยพรปีใหม่ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้แก่ บุคลากรกรมศิลปากร นักศึกษาและประชาชนทั่วไป ณ โถงกลาง ชั้น 1 อาคาร 1 สำนักหอสมุดแห่งชาติ และมีผู้เข้าถึงการถ่ายทอดสดผ่านทาง Facebook Live ของหอสมุดแห่งชาติด้วย

ภาพตัวอย่าง

โครงการสำรวจเอกสารโบราณ ประจำปีงบประมาณ 2566 ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 14-21 ธันวาคม 2565

โครงการสำรวจเอกสารโบราณ ประจำปีงบประมาณ 2566 ครั้งที่ 1 จังหวัดลำพูน ลำปางและเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 14-21 ธันวาคม 2565 สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม โดย กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก ดำเนินงานโครงการสำรวจเอกสารโบราณ โดยมีผู้ไปปฏิบัติงานตามโครงการจำนวน 5 ราย ดังนี้      1. นางสาวยุวเรศ วุทธีรพล นักภาษาโบราณชำนาญการพิเศษ       2. นางสาววชรพร อังกูรชัชชัย นักภาษาโบราณชำนาญการ (หัวหน้ากลุ่มงานสำรวจเอกสารโบราณ)      3. นายจามีกร ชูทรัพย์ นักภาษาโบราณปฏิบัติการ       4. นางสาวปุณยวีร์ ส่งเสริม  นักภาษาโบราณปฏิบัติการ       5. นายธน ซึมไพศาล พนักงานขับรถยนต์ คณะทำงานได้ดำเนินโครงการสำรวจเอกสารโบราณ ประเภท จารึก ในพื้นที่ 4 แห่ง ดังนี้      1. วัดศรีสุพรรณ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ได้รับความเมตตาจาก ท่านพระครูพิทักษ์สุทธิคุณ เจ้าอาวาสวัดศรีสุพรรณ ที่อนุญาตให้คณะทำงานเข้าไปปฏิบัติงานภายในวัด โดยมีนายณัฐพงษ์ แมตสอง ภัณฑารักษ์ชำนาญการ หัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชย จังหวัดลำพูน สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ เป็นผู้ติดต่อประสานงาน         2. วัดบ้านหลุก อ.เมือง จ.ลำพูน ได้รับความเมตตาจากท่านพระครูอมรธรรมรัตน์ เจ้าอาวาสวัดบ้านหลุก อนุญาตให้เข้าไปปฏิบัติงาน และมอบหมายให้พระทศพล นรินฺโท อำนวยความสะดวกแก่คณะทำงาน      3. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชย จ.ลำพูน ได้รับอนุญาตจากนายณัฐพงษ์ แมตสอง ภัณฑารักษ์ชำนาญการ  หัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชย ให้สำรวจและอ่านจารึกภายในห้องจัดแสดง โดยมอบหมายให้นายทศพร ทองคำ  ภัณฑารักษ์ปฏิบัติการ  อำนวยความสะดวกแก่คณะทำงาน      4. วัดหนองเงือก อ.ป่าซาง จ.ลำพูน ได้รับความเมตตาจากท่านอธิการวีระยุทธ ยุทฺธวีโร เจ้าอาวาส อนุญาตให้เข้าปฏิบัติงาน โดยมีดร.บุญสุ่ม อินกองงาม ประธานคณะกรรมการฝ่ายไวยาวัจกร   เป็นผู้ประสานงาน ให้คณะกรรมการไวยาวัจกร หมุนเวียนมาคอยอำนวยความสะดวก อาทิเช่น นายประพันธ์ ยศน้อย และนายสวัสดิ์ ปารมี เป็นต้นคณะทำงานโดยได้ดำเนินการสำรวจ บันทึกข้อมูลทะเบียน บันทึกภาพ และอ่านคัดถ่ายถอด  จำนวน 4 แห่ง  รวมทั้งหมด 160 รายการ ดังนี้      1. วัดศรีสุพรรณ อ.เมือง จ.ลำพูน จำนวน 1 รายการ      2. วัดบ้านหลุก อ.เมือง จ.ลำพูน จำนวน 11 รายการ      3. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชย อ.เมือง จ.ลำพูน จำนวน 1 รายการ      4. วัดหนองเงือก อ.ป่าซาง จ.ลำพูน จำนวน 147 รายการการดำเนินการ สำเร็จลงได้ด้วยดี จึงขอกราบขอบพระคุณและขอบคุณทุกท่านที่ได้เมตตาและอำนวยความสะดวกเป็นอย่างดี โดยเฉพาะท่านพระครูพิทักษ์สุทธิคุณ เจ้าอาวาสวัดศรีสุพรรณ  ท่านพระครูอมรธรรมรัตน์ เจ้าอาวาสวัดบ้านหลุก ท่านอธิการวีระยุทธ ยุทฺธวีโร เจ้าอาวาสวัดหนองเงือก ท่านอธิบดีกรมศิลปากร  รักษาราชการผู้อำนวยการสำนักหอสมุดแห่งชาติ ท่านผู้บริหารตามสายงาน หวังว่าจะได้รับความเมตตาอนุเคราะห์ ในโอกาสต่อไป

ภาพตัวอย่าง

หอสมุดแห่งชาติเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการโครงการพัฒนาวัฒนธรรมการอ่านสำหรับเด็กและเยาวชนอาเซียน ครั้งที่ 1

วันที่ 15 ธันวาคม 2565 นางสาวเนาวรัตน์ ปัญญางาม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักหอสมุดแห่งชาติ นางสาวบุบผา ชูชาติ ผู้อำนวยการกลุ่มบริการทรัพยากรสารสนเทศ และนางสาวปุณณภา สุขสาคร บรรณารักษ์ชำนาญการ ผู้แทนสำนักหอสมุดแห่งชาติ เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการโครงการพัฒนาวัฒนธรรมการอ่านสำหรับเด็กและเยาวชนอาเซียน ครั้งที่ 1 (The 1st ASEAN-ROK Children’s Reading Culture Development Committee General Meeting) ซึ่งเป็นโครงการดำเนินงานภายใต้กองทุนความร่วมมืออาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี (ASEAN-ROK Cooperation Fund: AKCF) เพื่อพัฒนาสภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรมด้านการอ่าน ยกระดับการอ่านออกเขียนได้สำหรับเด็กและเยาวชนในอาเซียน รวมทั้งเป็นการพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและสาธารณรัฐเกาหลี ผู้เข้าร่วมการประชุมประกอบด้วยผู้แทนจากหอสมุดแห่งชาติสำหรับเด็กและเยาวชน สาธารณรัฐเกาหลี และผู้แทนจากหอสมุดแห่งชาติ ไทย กัมพูชา อินโดนีเซีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และเวียดนาม โดยเป็นการประชุมออนไลน์ (Zoom Meeting)

ภาพตัวอย่าง

โครงการรำลึกพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

วันที่ 2 ธันวาคม 2565 เวลา 13.30-16.00 น. นายบพิตร วิทยาวิโรจน์ รองอธิบดีกรมศิลปากร เป็นประธานในพิธีเปิด โครงการรำลึกพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร การเสวนาเรื่อง "ในหลวงรัชกาลที่ 9 กับวงดนตรี อ.ส.วันศุกร์" มีนางสาวเนาวรัตน์ ปัญญางาม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักหอสมุดแห่งชาติ กล่าวรายงาน สำหรับการเสวนาในครั้งนี้ได้รับความกรุณาจาก อาจารย์นนท์ บูรณสมภพ และอาจารย์สันทัด ตัณฑนันทน์ สมาชิกวงดนตรี อ.ส. วันศุกร์ ดำเนินรายการโดย นายบุญศักดิ์ ปัญจสุนทร มีผู้เข้าร่วมกิจกรรม ณ ห้องจัดแสดง ชั้น 2 หอสมุดดนตรีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 นอกจากนี้ยังมีการถ่ายทอดสดผ่านทาง Facebook Live ของหอสมุดแห่งชาติอีกด้วย

ภาพตัวอย่าง

กิจกรรมเผยแพร่ความรู้ เกี่ยวกับชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ประจำปีงบประมาณ 2566

วันที่ 1 ธันวาคม 2565 เวลา 13.30-16.30 น. นายบพิตร วิทยาวิโรจน์ รองอธิบดีกรมศิลปากร เป็นประธานในพิธีเปิด กิจกรรมเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับชาติ ศาสนฺ์ กษัตริย์ การบรรยายเรื่อง "ถอดรหัสธงไทย: ธงชาติไทย สัญลักษณ์ของความเป็นไทย" มีนางสาวเนาวรัตน์ ปัญญางาม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักหอสมุดแห่งชาติ กล่าวรายงาน สำหรับการบรรยายในครั้งนี้ได้รับความกรุณาจากนายพฤฒิพล ประชุมผล ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ธงชาติไทยและผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ธงชาติไทย เป็นวิทยากร มีผู้เข้าร่วมกิจกรรม ณ อาคารดำรงราชานุภาพ ถนนหน้าพระธาตุ นอกจากนี้ยังมีการถ่ายทอดสดผ่านทาง Facebook Live ของหอสมุดแห่งชาติอีกด้วย

ภาพตัวอย่าง

พิธีเปิดโครงการนาฏการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ประจำปี 2565

วันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 เวลา 13.30 น. นายบพิตร วิทยาวิโรจน์ รองอธิบดีกรมศิลปากร เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการนาฏการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ประจำปี 2565 การแสดงละคร เรื่อง พระหันอากาศ แสดงโดยสำนักการสังคีต ณ ห้องประชุมศรีอยุธยา หอวชิราวุธานุสรณ์ สำนักหอสมุดแห่งชาติ  กิจกรรมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณสมเด็จพระมหาธีราชเจ้าและพระบรมราชจักรีวงศ์ เป็นการเพิ่มพูนความรู้แก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรม ทั้งปลูกฝังความรัก ความภาคภูมิใจในมรดกวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาติ ทั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 140 คน และยังมีการถ่ายทอดสดผ่านทาง Facebook Live ของสำนักหอสมุดแห่งชาติ



เว็บไซต์ของเรามีการใช้งานคุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานให้กับผู้ใช้งาน ทั้งนี้ สามารถมั่นใจได้ว่าเราจะดูแลและรักษาความปลอดภัยข้อมูลของท่านเป็นอย่างดี