รางวัลยูเนสโก

for w3c
ภาพตัวอย่าง

นันโทปนันทสูตรคำหลวง

               นันโทปนันทสูตรคำหลวง เอกสารโบราณประเภทหนังสือสมุดไทยที่มีคุณค่าและมีความสำคัญมาก อยู่ในความดูแลของกลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม  เป็นวรรณคดีทางพระพุทธศาสนาที่แต่งขึ้นในสมัยอยุธยา รัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (ครองราชย์พุทธศักราช ๒๒๗๕-๒๓๐๑) มีชื่อเรื่องปรากฏในต้นฉบับหลายแห่งว่า “นนโทปะนนทสูตรคำหลวง” เป็นพระราชนิพนธ์ของเจ้าฟ้าธรรมาธีเบศรไชยเชษฐสูริวงสหรือเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร กล่าวถึงพระนามผู้ทรงนิพนธ์ว่า “สิริปาโล ผู้ชื่อพระมหาสิริบาล....” ซึ่งหมายถึงสมณนามของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร ขณะทรงพระผนวชอยู่ ณ วัดโคกแสง  โดยทรงนิพนธ์แล้วเสร็จ เมื่อวันอาทิตย์ เดือนแปด ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีมะโรงนักษัตร อัฐศก จุลศักราช ๑๐๙๘ ตรงกับพุทธศักราช ๒๒๗๙                 ลักษณะต้นฉบับ                นันโทปนันทสูตรคำหลวง เป็นหนังสือสมุดไทยขาว ปกหน้าปกหลังลงรักปิดทองเขียนลายกนกเครือเถาก้านขด ขนาดกว้าง ๑๓ เซนติเมตร ยาว ๔๐ เซนติเมตร หนา ๖.๕ เซนติเมตร  มีจำนวนหน้าหนังสือ ๑๙๐ หน้า แบ่งเป็นหน้าต้น ๙๘ หน้า หน้าปลาย ๙๒ หน้า เขียน(ชุบ)ด้วยเส้นอักษร  ๒ ชนิด ได้แก่ อักษรขอมย่อ ใช้บันทึกภาษาบาลี และอักษรไทยย่อ ใช้บันทึกภาษาไทย  มีเส้นสี ๓ ชนิด ได้แก่ เส้นทอง เส้นชาด และเส้นหมึกในการบันทึก                 เนื้อเรื่องย่อ               กล่าวถึงพระพุทธเจ้าเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ในกรุงราชคฤห์ อนาถบิณฑิกะมหาเศรษฐีมาทูลอาราธนาพระพุทธองค์และพระอรหันตสาวก ๕๐๐ องค์ไปรับบิณฑบาตที่บ้านของตน ขณะที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารจนสิ้นราตรี พระองค์ทรงตรวจดูโลกธาตุ ทราบโดยพระญาณว่า พระยานันโทปนันทนาคราช ควรได้รับรสพระธรรมเพราะเคยสร้างกุศลในชาติปางก่อน แต่ยังมีความเห็นผิดเป็นมิจฉาทิฐิอยู่ พระพุทธเจ้าจึงมีพุทธฎีกาแก่พระอานนท์ว่าจะเสด็จไปยังเทวโลก พระอานนท์และพระสาวกจึงเสด็จตาม เหาะไปเหนือวิมานของพระยานันโทปนันทนาคราช ทำให้พระยานันโทปนันทนาคราชโกรธที่มีผู้เหาะมาเหนือปราสาทของตน ด้วยสำคัญตนว่ามีศักดิ์ใหญ่ จึงจำแลงอิทธิฤทธ์เป็นนาคราชพันเขาพระสุเมรุแผ่พังพานบังโลกธาตุจนมืดมิดเพื่อไม่ให้พระพุทธเจ้าผ่าน พระสาวกองค์ต่างๆทูลขอเป็นผู้ปราบพระยานันโทปนันทนาคราช แต่พระองค์ทรงมอบให้พระโมคคัลลานะอัครสาวกเบื้องซ้ายเป็นผู้ปราบ พระยานันโทปนันทนาคราชมิอาจสู้ได้ ยอมจำนนละมิจฉาทิฐิ ยอมเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าและถือเอาพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง อ้างอิง                 สำนักหอสมุดแห่งชาติ. ต้นฉบับหนังสือสมุดไทยสมัยอยุธยานันโทปนันทสูตรคำหลวง. สมุทรปราการ: บริษัทเอส.บี.เค การพิมพ์ จำกัด. ๒๕๖๓. หน้า ๑-๗.  

กฏหมายตราสามดวง

กฏหมายตราสามดวง

กฏหมายตราสามดวง คือ ประมวลกฎหมายในรัชกาลที่ 1 เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจกได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ชำระกฎหมายเก่าที่มีมาแต่ครั้งโบราณ แล้วรวบรวมเป็นปบีบีกันหนาเล่นขึ้นเมื่อจุลศักราช 1166 ตรงกับ สมุหนายก) 1 ตราพระคชสีห์ (สำหรับตำแหน่งสมุหพระกลาโหม) 1 และตราบัวแก้ว (สำหรับตำแหน่งโกษาธิบดี หมายถึงพระคลัง ซึ่งดูแลรวมทั้งกิจการด้านต่างประเทศ) ไว้ทุกเล่มเก็บไว้ ณ ห้องเครื่องชุดหนึ่ง หอหลวงชุดหนึ่ง และศาลหลวงอีกชุดหนึ่ง กฎหมายตราสามดวงนี้ ได้ใช้อาลักษณ์หลายท่านเขียนขึ้น โดยแยกเป็น “ฉบับหลวง” และ “ฉบับรองทรง” โดยสันนิษฐานว่า สำหรับฉบับหลวง ชุดหนึ่งเป็นสมุดไทย 41 เล่ม เมื่อรวม 3 ชุด จึงมีทั้งสิ้น 123 เล่ม แต่เท่าที่พบ ในปัจจุบันเหลืออยู่เพียง 79 เล่ม โดยเก็บไว้ที่กระทรวงยุติธรรม 37 เล่ม และที่หอสมุดแห่งชาติ 41 เล่ม ส่วนอีก 44 เล่ม ไม่ทราบว่าขาดหายไปด้วยประการใด ส่วน ฉบับรองทรง นั้น ก็คือ กฎหมายตราสามดวงที่อาลักษณ์ชุดเดียวกับที่เขียนฉบับหลวง ได้เขียนขึ้น โดยเขียนในเวลาไล่เลี่ยกัน โดยฉบับหลวง เขียนในปีฉลู จ.ศ.1167 (พ.ศ. 2348) ส่วนฉบับรองทรงเขียนขึ้นในปีเถาะ จ.ศ. 1169 (พ.ศ. 2350) ข้อแตกต่างระหว่าง ฉบับหลวง และฉบับรองทรง ก็คือ ฉบับรองทรงจะไม่มีตราสามดวงประทับไว้ และฉบับหลวงจะมีอาลักษณ์สอบทาน 3 คนส่วนฉบับรองทรงมีอาลักษณ์สอบทานเพียง 2 คน สำหรับกฎหมายตราสามดวง ฉบับรองทรงนี้ ปัจจุบันนี้พบเพียง 18 เล่ม โดยเก็บรักษาไว้ที่ หอสมุดแห่งชาติ 17 เล่มและที่พิพิธภัณฑ์อัยการไทย สำนักงานอัยการสูงสุด 1 เล่ม

คำอธิบายภาพตัวอย่าง

ตำนานอุรังคธาตุ

             สำนักหอสมุดแห่งชาติมีหน้าที่สำรวจ ดูแล รักษา เละให้บริการเอกสารโบราณ ได้แก่ จารึก หนังสือสมุดไทย และคัมภีร์ใบลานหรือหนังสือใบลาน โดยเฉพาะคัมภีร์ใบลาน เรื่อง อุรังคธาตุ ที่อยู่ในความดูแลของกลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม มีจำนวน ๑๐ รายการ ได้แก่ ๑. ตำนานอุรังคธาตุ (ตำนานพระธาตุพนม)              เลขทะเบียน ๔๖๒/๑-๗ จำนวน ๗ ผูก อักษรธรรมอีสาน ภาษาไทยอีสาน-บาลี เส้นจาร ขนาดใบลานยาว ๕๒ เซนติเมตร กว้าง ๕ เซนติเมตร ฉบับล่องชาด ไม้ประกับธรรมดาอีกข้างหนึ่งทารัก บัญชีคัดถ่ายถอด-ปริวรรตแปลเอกสารโบราณของกลุ่มหนังสือตัวเขียน สำนักหอสมุดแห่งชาติ ระบุว่า กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมเป็นประธานคัดถ่ายถอด ตีพิมพ์เป็นที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ อ.ต.หลวงประชุมบรรณสาร (พิณ เดชะคุปต์) วันที่ ๒๑ เมษายน ๒๔๘๓ ณ สุสานวัดมกุฎกษัตริยาราม ในคำนำหนังสือเล่มนี้ ลงชื่อกรมศิลปากร ได้ชี้แจงว่า ตำนานพระธาตุพนม เคยพิมพ์มาแล้วครั้งหนึ่ง แต่เป็นฉบับสังเขป ส่วนฉบับนี้ได้ความตามท้ายเรื่องว่า อาชญาเจ้าพระอุปราชพร้อมด้วยบุตรภรรยาให้จำลองจากฉบับโบราณ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๔ เป็นหนังสือใบลานอักษรไทยที่เคยใช้ในแถบเหนือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ได้ฉบับนั้นมาประทานไว้สำหรับหอสมุดแห่งชาติ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๔ กรมศิลปากรให้นายสุด ศรีสมวงศ์ และนายทองดี ไชยชาติ เปรียญ ถ่ายออกจากสำนวนเดิม  เรียบเรียงพอให้อ่านเข้าใจได้ทั่วไป มีข้อความแปลกและพิสดารกว่าฉบับที่เคยพิมพ์มาแล้วบ้าง จึงให้ชื่อฉบับพิมพ์ครั้งนี้ว่า อุรังคธาตุ (ตำนานพระธาตุพนม)”    ๒. อุรังคนิทาน             เลขทะเบียน ๗๒๗/๑-๖ จำนวน ๖ ผูก อักษรธรรมอีสาน ภาษาไทยอีสาน-บาลี เส้นจาร ขนาดใบลานยาว ๕๗ เซนติเมตร กว้าง ๔ เซนติเมตร ฉบับล่องชาด ไม่มีไม้ประกับ สมบัติเดิมของหอสมุด เนื้อหาตอนต้นกล่าวว่า พุทธศักราช ๒๔๖๐ เจ้าหัวพ่อบัวจันมีใจใสศรัทธาสร้างลำอุรังคนิทานไว้กับศาสนาพระพุทธเจ้าตราบต่อเท่า ๕ พันพระวัสสา นิพพาน ปัจจโย โหตุ ขอให้ได้ดังคำมักคำปรารถนาก็ขาเทอญ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ    ๓. ตำนานพระธาตุพนม              เลขทะเบียน ๓/๔ จำนวน ๑ ผูก อักษรธรรมอีสาน ภาษาไทยอีสาน-บาลี เส้นจาร ฉบับชาดทึบ ไม้ประกับธรรมดา ขนาดใบลานยาว ๕๘ เซนติเมตร กว้าง ๕ เซนติเมตร สมบัติเดิมของหอสมุด    ๔. ตำนานพระธาตุพนม              เลขทะเบียน ๗๙/๑:๑ก-๑ง,๒:๒ก,๓-๕ จำนวน ๑๑ ผูก อักษรธรรมอีสาน ภาษาไทยอีสาน-บาลี เส้นจาร ฉบับรักทึบ - ล่องรัก ไม่มีไม้ประกับ ขนาดใบลานยาว ๕๗ เซนติเมตร กว้าง ๕ เซนติเมตร หอสมุดแห่งชาติได้จากวัดหนองแวง อ.เมือง จ.ขอนแก่น เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๘    ๕. ตำนานพระธาตุพนม              เลขทะเบียน ๒๐๓/๑:๑ ก-๑ณ จำนวน ๑๖ ผูก อักษรธรรมอีสาน ภาษาไทยอีสาน-บาลี เส้นจาร  ฉบับทองทึบ - ล่องชาด - ลานดิบ ไม่มีไม้ประกับ เป็นคัมภีร์ใบลานที่หอสมุดแห่งชาติได้รับมอบมาจากที่ต่างๆ ขนาดใบลานโดยเฉลี่ยยาว ๕๑ เซนติเมตร กว้าง ๕ เซนติเมตร เป็นใบลานที่หอสมุดแห่งชาติได้รับมอบจากวัดต่างๆได้แก่              - ได้จากวัดโพธิ์โนนทัน อ.เมือง จ.ขอนแก่น เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๘              - ได้จากวัดธาตุ อ.เมือง จ.ขอนแก่น เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๘              - ได้จากวัดศรีภูมิ อ.ด่านซ้าย จ.เลย  เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๘ (มีคัมภีร์ใบลานเรื่องเทศนาเรื่องนกน้อยได้จากวัดศรีภูมิ  อ.ด่านซ้าย จ.เลย ปนอยู่ ๑ ผูก)              - ได้จากวัดโพธิ์ศรี อ.ด่านซ้าย จ.เลย  เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๘  ๖. ตำนานพระธาตุพนม              เลขทะเบียน ๔๑๔/๓ จำนวน ๑ ผูก อักษรธรรมอีสาน ภาษาไทยอีสาน-บาลี เส้นจาร ฉบับล่องชาด ไม้ประกับทาชาดเขียนลายทอง ขนาดใบลานยาว ๕๕ เซนติเมตร กว้าง ๔ เซนติเมตร เป็นคัมภีร์ใบลานที่หอสมุดแห่งชาติได้รับมอบมาจากพ่อหัตถ์ สุทธิประภา บ้านหนองสิม ต.ท่าม่วง อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด  ๗. ตำนานพระธาตุพนม (ฉลองพื้นอุลังกธาตุพรนม)              เลขทะเบียน ๔๕๔/๑ จำนวน ๑ ผูก อักษรธรรมอีสาน ภาษาไทยอีสาน-บาลี เส้นจาร ฉบับล่องชาด ไม่มีไม้ประกับ ขนาดใบลานยาว ๕๒ เซนติเมตร กว้าง ๔ เซนติเมตร หอพระสมุดซื่อจากเร,ดับบลิว,บั๊กแตง เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๔ เนื้อหากล่าวว่า เจ้าหัวสมเดดรุ้งเป็นผู้ริจนา    ๘. ตำนานพระธาตุพนม              เลขทะเบียน ๔๖๐/๑-๓ : ๓ ก ๕-๖ จำนวน ๖ ผูก อักษรธรรมอีสาน ภาษาไทยอีสาน-บาลี เส้นจาร ฉบับชาดทึบ ลานดิบ ไม้ประกับธรรมดา ขนาดใบลานยาว ๕๗ เซนติเมตร กว้าง ๕ เซนติเมตร หลวงเสนาภักดีให้หอสมุด เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๙  ๙. ตำนานพระธาตุพนม              เลขทะเบียน ๔๙๑/๑ : ๑ ก, ๒ : ๒ ก, ๓-๔ : ๔ ก, ๕:๕ ก จำนวน ๙ ผูก อักษรธรรมอีสาน ภาษาไทยอีสาน-บาลี เส้นจาร ฉบับล่องชาด-ล่องรัก ลานดิบ ไม่มีไม้ประกับ ขนาดใบลานยาว ๕๕ เซนติเมตร กว้าง ๓-๕ เซนติเมตร ผูกที่ ๑ ผูกที่ ๑ก ผูกที่ ๒ก ผูกที่ ๓-๔ ผูกที่ ๕ ได้มาจากกรมเลขาธิการรัฐมนตรี เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๙ ผูกที่ ๒ ผูกที่ ๔ก และผูกที่ ๕ก เป็นสมบัติเดิมของหอสมุด    ๑๐. ตำนานพระธาตุพนม              เลขทะเบียน ๕๖๕/๑ จำนวน ๑ ผูก อักษรธรรมอีสาน ภาษาไทยอีสาน-บาลี เส้นจาร ฉบับลานดิบ ไม่มีไม้ประกับ ขนาดใบลานยาว ๕๖ เซนติเมตร กว้าง ๕ เซนติเมตร เป็นสมบัติเดิมของหอสมุด ชำรุดเล็กน้อย                การดูแลรักษาเอกสารโบราณประเภทคัมภีร์ใบลาน              คัมภีร์ใบลานเป็นเอกสารโบราณประเภทหนึ่ง ทำจากใบของต้นลานที่มีลักษณะไม่อ่อนไม่แก่ เป็นวัสดุธรรมชาติที่นำมาบันทึกโดยใช้เหล็กจารจารรูปอักษร แล้วใช้ลูกประคบชุบเขม่าผสมน้ำมันยางประคบใบลานที่จารเสร็จแล้ว จากนั้นวางทรายละเอียดคั่วร้อนลงบนพื้นผิวใบลาน ใช้ลูกประคบเปล่าเช็ดทรายเพื่อให้เขม่าผสมน้ำมันยางหลุดออก เหลือแต่เขม่ากับน้ำมันยางที่อยู่ในร่องตัวอักษร จะเห็นร่องรอยอักษรที่จารชัดขึ้น ใบลานที่จารแล้ว เป็นเรื่อง เป็นตอน หลายๆ ใบรวมกัน เจาะรูร้อยด้วยสายสนองเป็นผูกๆ  เก็บในมัด มีไม้ประกับประกบบนล่างคล้ายปกสมุดหรือหนังสือ เพื่อให้ใบลานมีความปลอดภัย ไม่แตกหัก พังง่าย  ใช้เชือกมัดแล้วห่อด้วยผ้าห่อคัมภีร์ ใช้ใบลานเปล่าเขียนป้ายบอก หมวด หมู่ ชื่อเรื่อง เลขที่ มัด ตู้ ชั้น จากนั้นใช้เชือกมัดอีกครั้งหนึ่ง  แล้วจัดเก็บในตู้ตามระบบการจัดเก็บ เพื่อสืบค้นได้สะดวก             กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก หอสมุดแห่งชาติมีหน้าที่ดูแลเอกสารโบราณที่ตกทอดมาตั้งแต่ครั้งหอพระสมุดวชิรญาณ และมีหน้าที่สำรวจ จัดทำทะเบียนเอกสารโบราณทุกประเภท ทั้งที่เป็นสมบัติเดิมและสำรวจพบใหม่ โดยเฉพาะคัมภีร์ใบลานมีการอ่าน  แยกแยะหมวดหมู่ จัดทำทะเบียน อนุรักษ์ จัดเก็บเอกสารให้เป็นหมวดหมู่ จัดทำบัญชีเพื่อการค้นคว้าหรือให้บริการได้อย่างสะดวก  เก็บไว้ในตู้และห้องที่ปลอดภัย  ปรับอุณหภูมิห้องจัดเก็บเอกสารโบราณประมาณ ๒๒- ๒๔ องศาเซนเซียส ส่วนความชื้นอยู่ระหว่าง ๕๐-๖๕ % โดยปรับอุณหภูมิตลอด ๒๔ ชั่วโมง ไม่ให้ร้อนหรือมีความชื้นมาก เพราะห้องที่ร้อนมากหรือมีความชื้นมากเกินไป เป็นอันตรายต่อคัมภีร์ใบลานที่ผลิตจากวัตถุธรรมชาติ ห้องที่ชื้นเกินไปเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดเชื้อรา แมลง ผ้า ส่วนแสงแดดหรือความร้อนจากอากาศ หรือแสงไฟที่แรงจัดทำให้ใบลานกรอบ ผุพังเร็ว  ตู้ที่ใช้จัดเก็บคัมภีร์ใบลานเป็นตู้เหล็กรางเลื่อน (compactus) ป้องกันแมลงหรือป้องกันหนูเข้าไปกัดคัมภีร์ใบลานได้             เจ้าหน้าที่ที่ดูแลเอกสารโบราณทุกชนิด โดยเฉพาะคัมภีร์ใบลาน หยิบจับคัมภีร์ใบลานอย่างระมัดระวังและเบามือ สวมถุงมือเพื่อป้องกันเหงื่อสัมผัส เพราะเหงื่อมีความเป็นกรด ซึ่งทำลายเนื้อใบลานได้  มีการทำความสะอาดห้องจัดเก็บให้สะอาดเสมอ ไม่ให้ห้องมีฝุ่น ไม่นำอาหาร หรือขยะมาวางไว้ใกล้ เพราะล่อหนูและแมลงให้เข้ามา ห้องจัดเก็บมีระบบความปลอดภัย  มีผู้รับผิดชอบดูแล ป้องกันเอกสารโบราณทุกประเภทได้แก่ จารึก หนังสือสมุดไทย และคัมภีร์ใบลานที่ดูแลสูญหาย และป้องกันภัยที่เกิดกับเอกสารโบราณ เช่น อุทกภัย อัคคีภัย เป็นต้น             มีการทำสำเนาคัมภีร์ใบลานโดยการถ่ายดิจิทัล ภาพนิ่ง คัดถ่ายถอด ตีพิมพ์เผยแพร่ เพื่อทำให้ต้นฉบับมีสำเนา สามารถใช้ศึกษาค้นคว้าและบริการแทนต้นฉบับ เพื่อรักษาสภาพเอกสารโบราณต้นฉบับคงอยู่สืบไปอย่างยาวนาน มีระเบียบการบริการ เรียกว่าเป็นการบริการเชิงอนุรักษ์             นอกจากนี้ยังคอยดูแลเอาใจใส่คัมภึร์ใบลาน เปิดหรือคลี่ดูคัมภึร์ใบลานในบางครั้งโดยการใส่ถุงมือ เพื่อไม่ให้ใบลานติดกัน ตรวจสอบแมลงหรือไข่แมลงที่ซ่อนอยู่หรือมีฝุ่นที่เกิดจากการชำรุดเองหรือเรียกว่ากินตัว (ผุหรือขาดกร่อนไปเอง) ถ้าคัมภึร์ใบลาน ชำรุด เมื่อทำสำเนาแล้ว ต้องส่งฝ่ายอนุรักษ์ดำเนินการซ่อมแซมตามหลักวิชาการต่อไป นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ของกลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก ศึกษา วิเคราะห์ วิจัยหนังสือคัมภีร์ใบลาน ตีพิมพ์เผยแพร่ เพื่อเป็นประโยชน์ทางวิชาการและเผยแพร่ความรู้แก่ประชาชน ภาพถ่ายรวมอุรังคธาตุในหอสมุดแห่งชาติ  



เว็บไซต์ของเรามีการใช้งานคุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานให้กับผู้ใช้งาน ทั้งนี้ สามารถมั่นใจได้ว่าเราจะดูแลและรักษาความปลอดภัยข้อมูลของท่านเป็นอย่างดี