ห้องสมุดแห่งชาติส่วนภูมิภาค

for w3c
ภาพตัวอย่าง

หอสมุดแห่งชาติจังหวัดสุพรรณบุรี เฉลิมพระเกียรติ

  ประวัติความเป็นมา       หอสมุดแห่งชาติจังหวัด-สุพรรณบุรี เฉลิมพระเกียรติ จัดตั้งขึ้นเนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี (กาญจนาภิเษก) ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๙ ได้รับพระราชทานชื่อ พร้อมอัญเชิญตราสัญลักษณ์งานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี ติดตั้งบนอาคารหอสมุดฯ ตามหนังสือสำนักราชเลขาธิการ ที่ รล ๐๐๐๓/๕๘๐๘ ลงวันที่ ๘ เมษายน ๒๕๔๐ และมีการประกาศจัดตั้งจากกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๐ การก่อสร้างอาคารและปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณตามโครงการพัฒนาจังหวัดของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุพรรณบุรี ประจำปีงบประมาณ ๒๕๓๘ และ ๒๕๔๐ จำนวน ๒๑,๑๑๔,๐๐๐.- บาท (ยี่สิบเอ็ดล้านหนึ่งแสนหนึ่งหมื่นสี่พันบาทถ้วน )         เริ่มเปิดให้บริการแก่ประชาชนทุกเพศและวัยมาตั้งแต่วันที่ ๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๐ และมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันจันทร์ ที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๖ โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จฯ เป็นองค์ประธาน                                               การให้บริการ       หอสมุดแห่งชาติจังหวัดสุพรรณบุรี เฉลิมพระเกียรติ ได้มีการจัดทรัพยากรอย่างเป็นระบบตามหมวดหมู่ทศนิยมของดิวอี้ และจัดทำคู่มือช่วยค้นประเภทบัตรรายการ บัตรดรรชนี แฟ้มข้อมูลเฉพาะเรื่อง และเครือข่ายอินเตอร์เน็ต รวมทั้งให้บริการนำชมแก่คณะบุคคลเพื่อแนะนำการใช้หอสมุดอย่างถูกต้อง ทั้งนี้ได้จัดห้องบริการให้เป็นสัดส่วนตามประเภทของทรัพยากรและวัยของผู้ใช้บริการได้แก่          ♦ ห้องบริการหนังสือ ๑ ให้บริการหนังสือทั่วไปทุกสาขาวิชาทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ นวนิยาย เรื่องสั้น เรื่องแปล และบริการสืบค้นข้อมูลด้วยคอมพิวเตอร์ เพื่อให้บริการข้อมูลสารนิเทศที่ทันสมัย ทันต่อเหตุการณ์ สะดวกและรวดเร็ว เช่น อินเตอร์เน็ต ซีดีรอม เป็นต้น                                                              ♦ ห้องบริการหนังสือ ๒ ให้บริการหนังสือที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับจังหวัดในเขตพื้นที่รับผิดชอบทั้ง ๙ จังหวัด หนังสือเกี่ยวกับ ร.๙ และ ร.๑๐ รวมทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ หนังสือวิจัย วิทยานิพนธ์ทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ และหนังสือที่จัดพิมพ์โดยกรมศิลปากร                                                     ♦ ห้องศูนย์ข้อมูลท้องถิ่น ให้บริการหนังสือสมุดไทย คัมภีร์ใบลาน และหนังสือหายาก                                                      ♦ ห้องเด็กและเยาวชน ให้บริการหนังสืออ่านประกอบและสื่อสร้างสรรค์ต่าง ๆ ได้แก่ หนังสือนิทาน หนังสือเสียง เกมส์ แผ่นภาพ เป็นต้น                                                             ♦ ห้องบริการหนังสือพิมพ์และวารสาร ให้บริการหนังสือพิมพ์ทั่วไปทั้งฉบับปัจจุบันและล่วงเวลา หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นทั้งฉบับปัจจุบันและล่วงเวลา วารสาร นิตยสาร จุลสาร และกฤตภาค                                                      ♦ ห้องบริการโสตทัศนวัสดุ ให้บริการแถบบันทึกเสียง (เทปเสียง), ซีดี แถบบันทึกภาพ (วีดิทัศน์, วีซีดี)รูปภาพ แผนที่ ฯลฯ                                                                    ที่ตั้ง : ถนนสุพรรณบุรี-ชัยนาท ตำบลสนามชัย อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี 72000 ติดต่อ : โทรศัพท์ 035 535-343, 035-535-244 โทรสาร 035 535-244 ต่อ 25 เวลาเปิด-ปิดทำการ/บริการ :: 9.00-17.00 น. วันอังคาร-เสาร์ หยุดวันอาทิตย์-วันจันทร์ วันนักขัตฤกษ์ และวันหยุดตามประกาศให้เป็นวันหยุดราชการ Facebook : https://www.facebook.com/nlt.sp?fref=tsWebsite : www.finearts.go.th/suphanburilibrary Email : nlt_sp@hotmail.com

ภาพตัวอย่าง

หอสมุดแห่งชาติกาญจนาภิเษก สงขลา

  ความเป็นมา       หอสมุดแห่งชาติกาญจนาภิเษก สงขลาเป็นหอสมุดแห่งชาติในภูมิภาคแห่งที่ 5 ของโครงการจัดสร้างหอสมุดแห่งชาติในภูมิภาค โดย ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติและน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นราชสักการะ ต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช รัชกาลที่ 9 ในวโรกาสพระราชพิธีกาญจนาภิเษก หรือปีที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี มูลนิธิรัฐบุรุษฯ ได้รวบรวมเงินทุนจากผู้ร่วมถวายความจงรักภักดีเป็นจำนวนเงิน 40,100,000 บาท (สี่สิบล้านหนึ่งแสนบาท)พร้อมจัดซื้อที่ดินจำนวน 5 ไร่ 2 งาน 23 ตารางวา มอบให้กรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ(๒๕๓๗)จัดสร้างหอสมุดแห่งชาติในภาคใต้ จังหวัดสงขลาและขอพระราชทานพระราชาอนุญาตใช้ชื่อ หอสมุดแห่งชาติกาญจนาภิเษก สงขลา วันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2538 ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์ บริษัทดำรงค์ก่อสร้างวิศว จำกัด ได้รับการพิจารณาให้ก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2538 ถึงวันที่ 25 ตุลาคม 2539 ลักษณะอาคารรูปแบบสถาปัตยกรรมไทยท้องถิ่น 2 และ 3 ชั้นต่างระดับ รอบพื้นที่ภายใน 2,000 ตารางเมตร จากการออกแบบโดยคุณเกรียงไกร สัมปัชชลิต ปีงบประมาณ 2540ได้รับงบประมาณครุภัณฑ์จึงได้ทำการจัดห้องบริการ โดยนำหนังสือส่วนใหญ่จากหอสมุดแห่งชาติวัดดอนรัก และหนังสือที่หอสมุดแห่งชาติส่วนกลางจัดส่งมาให้ส่วนหนึ่ง วันที่ 19 มีนาคม 2540 ฯพณฯพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ มาเป็นประธานในพิธีเปิด หอสมุดแห่งชาติกาญจนาภิเษก สงขลา แต่นั้นมา   การบริการ        ♦ บริการอ่านศึกษาค้นคว้าข้อมูล จำนวน 7 ห้องบริการ           - ห้องบริการหนังสือพิมพ์และวารสาร             - ห้องบริการวิทยานิพนธ์ และเอกสารการวิจัย             - ห้องบริการเอกสารโบราณ             - ห้องบริการหนังสือวิชาการ 1             - ห้องบริการหนังสือวิชาการ 2             - ห้องบริการโสตทัศน์             - ห้องบริการหนังสือสำหรับเด็ก                                                                                                                                                                                                  ที่ตั้ง : ซอยบ้านศรัทธา ถนนน้ำกระจาย-อ่างทอง ตำบลพะวง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา 90100 ติดต่อ : โทรศัพท์: 074-300-310-1 เวลาเปิด-ปิดทำการ/บริการ :: 09.00 น.- 17.00 น. วันอังคาร - วันเสาร์ หยุดวันอาทิตย์-วันจันทร์ วันนักขัตฤกษ์ และวันหยุดตามประกาศให้เป็นวันหยุดราชการFacebook : หอสมุดแห่งชาติกาญจนาภิเษก สงขลา Website : http://www.finearts.go.th/songkhlalibraryk/  

ภาพตัวอย่าง

หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก กาญจนบุรี

           หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก กาญจนบุรี จัดสร้างขึ้นเพื่อถวายเป็นราชสักการะแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ เนื่องในพิธีรัชมังคลาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๓๑ และได้ทำการเปิดอย่างเป็นทางการ ในวันศุกร์ที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๔๐ โดย ฯพณฯ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรีและรัฐบุรุษ ให้เกียรติเป็น ประธานในพิธี                                          ปัจจุบัน หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก กาญจนบุรี สังกัดสำนักศิลปากร ที่ ๒ สุพรรณบุรี กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ดำเนินงานตามภารกิจของสำนักหอสมุดแห่งชาติ โดยมีหน้าที่ในการจัดเก็บ รวบรวม และสงวน รักษามรดกภูมิปัญญาของชาติ รวมทั้งให้บริการเกี่ยวกับการอ่านศึกษาค้นคว้าวิจัยแก่นักเรียนนักศึกษา และประชาชนทั่วไป   ภารกิจและหน้าที่        ♦ บริหารจัดการและจัดหาทรัพยากรสารสนเทศให้เป็นคลังสิ่งพิมพ์ในภูมิภาค          ♦ ศึกษาค้นคว้าและดำเนินงานด้านบรรณารักษศาสตร์ สารสนเทศศาสตร์ ตามหลักมาตรฐานสากล เพื่อการเข้าถึงสารสนเทศโดยง่าย และใช้เป็นคู่มือในการให้คำปรึกษาแนะนำ ฝึกอบรมการปฏิบัติงานห้องสมุด          ♦ เป็นแหล่งการศึกษาค้นคว้าวิจัย ให้บริการสารสนเทศและส่งเสริมการอ่านแก่ประชาชน เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตและการศึกษาตามอัธยาศัย          ♦ ประสานงานกับสำนักหอสมุดแห่งชาติ และดำเนินการสำรวจ รวบรวมเอกสารโบราณ และหนังสือหายาก เพื่อสงวนรักษามรดกทรัพย์สินภูมิปัญญาของคนในภูมิภาค          ♦ ประสานงานกับสำนักหอสมุดแห่งชาติในการเผยแพร่และกำหนดเลขมาตรฐานสากลประจำหนังสือ (ISBN) วารสาร (ISSN) และการจัดทำบรรณานุกรมหนังสือ (CIP)          ♦ ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องหรือได้รับมอบหมาย     บริการของหอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก กาญจนบุรี        ♦ ห้องหนังสือทั่วไป (ห้อง ๑๐๑) ให้บริการหนังสือภาษาไทย ภาษาอังกฤษ หนังสืออ้างอิง หนังสือคู่มือเตรียมสอบ นวนิยาย และให้บริการสืบค้นฐานข้อมูลหนังสือผ่านระบบคอมพิวเตอร์             ♦ ห้องเด็กและเยาวชน (ห้อง ๑๐๒) ให้บริการหนังสือการ์ตูน หนังสือนิทานภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ สารานุกรมเยาวชน หนังสืออาเซียน สื่อส่งเสริมทักษะ พัฒนาการและส่งเสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียนแก่เด็กและเยาวชน          ♦ ห้องวารสารและหนังสือพิมพ์ (ห้อง ๑๐๓) ให้บริการวารสารทั่วไป วารสารท้องถิ่น วารสารหน่วยงานราชการ นิตยสาร หนังสือพิมพ์ ฉบับปัจจุบันและฉบับล่วงเวลา อีกทั้งยังมีบริการ Internet และ Wifi เพื่อการศึกษาค้นคว้า และความบันเทิงโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย            ♦ ห้องจัดแสดงนิทรรศการ (ห้อง ๑๐๔) จัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียนเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้แก่ประชาชน และเพิ่มพื้นที่การเรียนรู้ในจังหวัดกาญจนบุรี            ♦ ห้องโสตทัศนวัสดุ (ห้อง ๒๐๑) บริการซีดีรอมมัลติมีเดีย ซีดีรอมประกอบหนังสือ วีซีดี ดีวีดี วีดิทัศน์ เทปคาสเซท บริการคอมพิวเตอร์ สำหรับเปิดอ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และจัดฉายภาพยนตร์ ภาพยนตร์สามมิติแก่ประชาชนผู้สนใจ          ♦ ห้องวิทยานิพนธ์และเอกสารโบราณ (ห้อง ๒๐๒) ให้บริการวิทยานิพนธ์ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ งานวิจัย ราชกิจจานุเบกษา คำพิพากษาศาลฎีก รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร หนังสืออักษรเบลล์ รวมถึงเอกสารโบราณ อาทิคัมภีร์ใบลาน และสมุดไทย            ♦ ห้องประชุม/ห้องอเนกประสงค์ (ห้อง ๒๐๓-๒๐๔) หอสมุดฯมีห้องประชุมเล็ก (๒๐๓) สามารถรองรับผู้เข้าร่วมประชุมได้ ๔๐ คน และห้องอเนกประสงค์ (๒๐๔) โดยสามารถรองรับผู้เข้าร่วมประชุมได้ ๓๐๐ คน ซึ่งใช้ในการจัดกิจกรรมเผยแพร่ความรู้ของหอสมุดแห่งชาติฯ และสำหรับจัดประชุมของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน          ♦ ห้องเกียรติยศ (ห้อง ๒๐๕) ให้บริการหนังสือเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙  รัชกาลที่ ๑๐ หนังสือเกี่ยวกับพระบรมวงศานุวงศ์ หนังสือกรมศิลปากร หนังสือท้องถิ่นเมืองกาญจนบุรี และหนังสือหายาก ซึ่งหนังสือดังกล่าวเป็นหนังสือที่ทรงคุณค่า     ติดต่อ หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก กาญจนบุรี ที่ตั้ง : ๒๘๔/๙๐ ถ.แสงชูโต ต.บ้านเหนือ อ.เมือง จ.กาญจนบุรี ๗๑๐๐๐ ติดต่อ : โทรศัพท์ ๐๓๔-๕๑๓๙๒๔-๖  แฟกซ์ : ๐๓๔-๕๑๓๙๒๔ เวลาเปิด-ปิดทำการ/บริการ : วันอังคาร-วันเสาร์ เวลา ๐๙.๐๐-๑๗.๐๐ น. ปิดให้บริการ วันอาทิตย์-วันจันทร์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ Website : http://www.finearts.go.th/kanchanaburilibrary Facebook: หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก กาญจนบุรีE-mail: libkan@gmail.com E-mail : nl_60_kanjanaburi@finearts.go.th

ภาพตัวอย่าง

หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี

  ประวัติ       หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี เกิดขึ้นจากดำริของ ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ เมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ประสงค์จะให้มีการจัดตั้งหอสมุดแห่งชาติประจำภาคตะวันออกขึ้น เพื่อถวายเป็นราชสดุดีแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมฉลองปีรัชมังคลาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๓๑ จึงได้มอบหมายให้กองทัพภาคที่ ๑ จังหวัดจันทบุรี รวมทั้งหน่วยราชการอื่นที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันดำเนินการวางแนวนโยบายจัดหาทุนในการก่อสร้างอาคารหอสมุดฯ และกรมศิลปากรเป็นผู้ดำเนินการ จัดทำโครงการ ออกแบบอาคาร ควบคุมการก่อสร้างจนแล้วเสร็จสมบูรณ์ และรับผิดชอบดำเนินงานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้ชื่อว่า “หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษกจันทบุรี” และสมเด็จพระเทพฯ เสด็จเปิดอาคารเมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๓๓   บริการ       บริการทรัพยากรสารสนเทศโดยให้บริการการอ่าน ศึกษา ค้นคว้า วิจัยแก่ประชาชนและหน่วยงานมีห้องบริการต่างๆ ดังนี้ ห้องหนังสือทั่วไป ห้องค้นคว้า (หนังสืออ้างอิง) ห้องหนังสือกรมศิลปากรและหนังสือหายาก ห้องวารสารและหนังสือพิมพ์ ห้องจันทบุรี(หนังสือท้องถิ่น) ห้องโสตทัศนวัสดุ ห้องศาสตร์พระราชาฯ และห้องหนูรักหนังสือ                                                                                                                              ที่ตั้ง : 2/4 ถนนเทศบาล 3 ตำบลวัดใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี 22000 ติดต่อ : โทรศัพท์ 039 331-211 โทรสาร 039 322-167เวลาเปิด-ปิดทำการ/บริการ :: 9.00-17.00 น. วันอังคาร-เสาร์ หยุดวันอาทิตย์-วันจันทร์ และวันนักขัตฤกษ์ Facebook : หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี Website : http://www.finearts.go.th/chantaburilibrary คลังเอกสารดิจิทัล : http://www.nltlib-chan.com/d-library/index.php

ภาพตัวอย่าง

หอสมุดแห่งชาตินครศรีธรรมราช

        หอสมุดแห่งชาตินครศรีธรรมราช เป็นแหล่งรวบรวม จัดเก็บ และให้บริการสารสนเทศทุกประเภท เป็นแหล่งให้ความรู้ทางศิลปะวิทยาการสาขาต่าง ๆ ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดนครศรีธรรมราช ตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกันกับสำนักศิลปากรที่ ๑๒  นครศรีธรรมราช และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินครศรีธรรมราช ปัจจุบันหอสมุดแห่งชาตินครศรีธรรมราช สังกัดสำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม   ประวัติ       หอสมุดแห่งชาตินครศรีธรรมราช ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๔๗๗ ในสมัยพลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยกรมศิลปากร กระทรวงธรรมการ (กระทรวงวัฒนธรรมในปัจจุบัน) มีชื่อเรียกเมื่อขณะแรกก่อตั้งว่า “หอสมุดแห่งชาติวัดพระมหาธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรวมรวมโบราณคดี วรรณกรรม และหนังสือเกี่ยวกับศีลธรรมให้ประชาชนได้ศึกษาค้นคว้า มีคณะกรรมการอำนวยการชั้นต้น 15 คน นายอินทร์ รัตนวิจิตร เป็นพนักงานหอสมุดแห่งชาติวัดพระมหาธาตุจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นคนแรก โดยใช้วิหารสามจอมในบริเวณวัดพระมหาธาตุจังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นสถานที่ดำเนินการเป็นแห่งแรก ต่อมาได้มีการย้ายสถานที่ทำการหลายครั้ง โดยในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ กรมศิลปากรได้รับงบประมาณก่อสร้างอาคารถาวรของหอสมุดแห่งชาตินครศรีธรรมราช ขึ้นภายในบริเวณเดียวกับหน่วยศิลปากรที่ ๘ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินครศรีธรรมราช เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กทรงไทย ๓ ชั้น  มีพื้นที่ทั้งหมด ๑,๐๘๔ ตารางเมตร ได้ก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยเมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๑๘   สถานที่ตั้ง : ถนนราชดำเนิน  (ตรงข้างวัดสวนหลวง) ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช โทรศัพท์ : ๐๗๕๓๔-๑๐๖๕,   ๐๗๕๓๒-๔๑๓๗-๘ วัน–เวลาทำการ :  วันอังคาร-วันเสาร์  เวลา ๐๘.๓๐-๑๖.๓๐ น.  ปิดบริการ  วันอาทิตย์-วันจันทร์  และวันหยุดนักขัตฤกษ์ Website : http://www.nakhon-nlt.com และ www.finearts.go.th/nakhonsithammaratlibrary Facebook : หอสมุดแห่งชาตินครศรีธรรมราช Email : library_nakhon@yahoo.com

ภาพตัวอย่าง

หอสมุดแห่งชาติ เฉลิมพระเกียรติ ร.๙ นครราชสีมา

  การให้บริการ       หอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ ร.9 นครราชสีมา จัดบริการทรัพยากรสารสนเทศประเภทต่าง ๆ แยกตามห้องบริการ ดังนี้   อาคาร 1 ชั้น 1        ♦ ห้องหนังสือพิมพ์และวารสาร บริการวารสาร และหนังสือพิมพ์รายวัน รายสัปดาห์ รายปักษ์ และรายเดือน ทั้งภาษาไทย และภาษาต่างประเทศ                                                                                                  ♦ ห้องหนูรักหนังสือ บริการหนังสือสําหรับเด็กก่อนวัยเรียน ถึงชั้นประถมศึกษาตอนปลาย รวมทั้งวัสดุอุปกรณ์ ส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ต่างๆ                                                                                         ♦ ห้องฉายภาพยนตร์ 3 มิติ บริการฉายภาพยนตร์เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ต่าง ๆ ให้กับเด็ก เยาวชนและประชาชนผู้สนใจ อาคาร 1 ชั้น 2                                                                                                    ♦ ห้องจัดกิจกรรมอเนกประสงค์ บริการการจัดประชุมสัมมนา สําหรับหน่วยงานต่าง ๆ                                                                                   อาคาร 2 ชั้น 1        ♦ ห้องหนังสือทั่วไป บริการหนังสือทั่วไป หมวด 000 – 800                                                                                                    ♦ ห้องบริการอินเทอร์เน็ต บริการสืบค้นข้อมูลผ่านทางเว็บไซต์ต่าง ๆ และบริการข้อมูลออนไลน์จากฐานข้อมูลของหอสมุดแห่งชาติ                                                                                             อาคาร 2 ชั้น 2        ♦ ห้องค้นคว้า บริการหนังสืออ้างอิง รายงานการวิจัย วิทยานิพนธ์ หนังสือทั่วไปหมวด 900 หนังสือท้องถิ่น หนังสือที่จัดพิมพ์โดยกรมศิลปากร และหนังสือภาษาต่างประเทศ                                                                                            ♦ ห้องอีสานศึกษา บริการเอกสารโบราณ เช่น คัมภีร์ใบลาน สมุดไทยดำ สมุดไทยขาว หนังสือหายาก และราชกิจจานุเบกษา                                                                                             ที่ตั้ง : ถนนราชดำเนิน ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา 30000 ติดต่อ : โทรศัพท์ 044 256-029-30 โทรสาร 044 256-030 เวลาเปิด-ปิดทำการ/บริการ : วันอังคาร-เสาร์ 9.00-17.00 น.  หยุดวันอาทิตย์-วันจันทร์ และวันนักขัตฤกษ์ Facebook : https://www.facebook.com/nlt.korat/Website : http://www.finearts.go.th/nlt-korat/Email : nlt.korat@hotmail.com

ภาพตัวอย่าง

หอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ตรัง

  ประวัติ       เนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๕ รอบ ในวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๓๕ เป็นมหามงคลสมัยที่สำคัญยิ่งอีกวาระหนึ่งในการจัดพระราชพิธีถวายชัยมงคลเฉลิมพระเกียรติเพื่อเป็นการน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทย กรมศิลปากรโดยหอสมุดแห่งชาติในฐานะที่มีส่วนในการสนับสนุนส่งเสริมทางด้านการศึกษา จึงมีโครงการที่จะจัดสร้างถาวรวัตถุที่จะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนซึ่งไม่มีสถานที่ใดจะเหมาะสมเท่ากับการจัดตั้งหอสมุดซึ่งเป็นศูนย์รวมแห่งความรู้ที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมชองชาติ และด้วยการสนับสนุนของ นายชวน หลีกภัย ในขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ ๒๐ ที่เห็นสมควรให้จัดตั้งหอสมุดแห่งชาติขึ้นที่จังหวัดตรัง และได้รับพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้า ฯ พระราชทานพระราชานุญาตให้ชื่อว่า “หอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ตรัง”   การให้บริการ (ชั้น ๑)        ♦ ห้อง E-library ให้บริการเพื่อการสืบค้นข้อมูลผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เช่น รายการทรัพยากรสารสนเทศของหอสมุดแห่งชาติ ห้องสมุดดิจิทัล (D-Library) บริการหนังสือ วารสาร นิตยสาร และหนังสือพิมพ์ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ระบบสารสนเทศทางด้านมรดกศิลปวัฒนธรรมเพื่อประชาชนทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-service) คลังข้อมูลดิจิทัลทางมรดกศิลปวัฒนธรรมของกรมศิลปากร เว็บไซต์หอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ตรัง ระบบบริการสารสนเทศ ๕ จังหวัด ชายฝั่งอันดามัน คือ ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ และตรัง ด้วยคอมพิวเตอร์ระบบจอสัมผัส (Touch  Screen) และสื่อมัลติมีเดีย (multimedia) ทุกประเภท                                       ♦ ห้อง Study Room ให้บริการเพื่อการเรียนรู้ผ่านเครื่องแปลงสัญญาณ (สื่อโสตทัศน์) ใช้เป็นห้องติวภาษาอังกฤษ ประชุมกลุ่มย่อย ชมภาพยนตร์ การ์ตูน และให้บริการหนังสืออักษรเบรล์           ♦ ห้องรักการอ่าน จัดแบ่งเป็นมุมให้บริการสารสนเทศออกเป็น ๒ ประเภท คือ มุมบริการวารสาร นิตยสารและหนังสือพิมพ์ รวมทั้งบริการจุลสาร กฤตภาค และมุมให้บริการหนังสือเด็กและเยาวชน (Kids Conner)                                      การให้บริการ (ชั้น ๒)        ♦ ห้องหนังสือทั่วไป ให้บริการสารสนเทศประเภทหนังสือทั่วไปหมวด ๐๐๐ – ๔๐๐          ♦ ห้องหนังสือทั่วไป ให้บริการสารสนเทศประเภทหนังสือทั่วไปหมวด ๕๐๐ – ๙๐๐ และราชกิจจานุเบกษา            ♦ ห้องศรีตรัง ให้บริการสารสนเทศประเภทหนังสือท้องถิ่นภาคใต้          ♦ ห้องมรดกภูมิปัญญา ให้บริการสารสนเทศประเภทเอกสารโบราณและสิ่งพิมพ์หายาก                                                                                    ♦ ห้องนวนิยาย ให้บริการสารสนเทศประเภทหนังสือนวนิยาย เรื่องสั้น และวรรณกรรมสำหรับเยาวชน                                                                                การให้บริการ (ชั้น ๓)        ♦ ห้องค้นคว้าและวิจัย ให้บริการสารสนเทศประเภทหนังสือภาษาต่างประเทศ วิทยานิพนธ์ และผลงานวิจัย          ♦ ห้องสิ่งพิมพ์ล่วงเวลา ให้บริการสารสนเทศประเภทวารสารและหนังสือพิมพ์ฉบับล่วงเวลาแบบชั้นเปิด ติดต่อและขอใช้บริการได้โดยตรงที่บรรณารักษ์ การให้บริการอื่น ๆ            ♦จัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านเพื่อพัฒนาให้หอสมุดแห่งชาติเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต และจัดกิจกรรมในรูปแบบห้องสมุดเคลื่อนที่          ♦จัดแสดงนิทรรศการตามวาระและโอกาสสำคัญต่าง ๆ และให้ร่วมมือแก่เครือข่ายในการนำไปจัดแสดงตามกิจกรรมของหน่วยงาน                                                            ♦จัดกิจกรรมร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกรมศิลปากรและหน่วยงานในจังหวัดตรัง          ♦บริการนำชม   สถานที่ติดต่อ  : ๑๖๐/๒๑ ถนนหนองยวน ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง  ๙๒๐๐๐     เบอร์โทร  : ๐ ๗๕๒๑ ๕๔๕๐ , ๐ ๗๕๒๑ ๗๒๑๐     โทรสาร  : ๐ ๗๕๒๑ ๕๔๕๐  วันเปิดบริการ  : อังคาร –เสาร์ วันปิดบริการ  : อาทิตย์ – จันทร์ ,วันหยุดนักขัตฤกษ์ และวันหยุดตามประกาศทางราชการ Facebook  : หอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ตรังWebsite  : http://www.finearts.go.th/nlttrang/Email  : Nlt_trang@hotmail.com



เว็บไซต์ของเรามีการใช้งานคุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานให้กับผู้ใช้งาน ทั้งนี้ สามารถมั่นใจได้ว่าเราจะดูแลและรักษาความปลอดภัยข้อมูลของท่านเป็นอย่างดี