ข่าวประชาสัมพันธ์

for w3c
ภาพตัวอย่าง

คณะผู้บริหารสำนักหอสมุดแห่งชาติ ร่วมรับฟังการนำเสนอผลการฝึกประสบการณ์วิชาชีพของนักศึกษาม.สารคาม และ ม.สวนดุสิต

วันที่ 24 มีนาคม 2566 เวลา 13.30 น. คณะผู้บริหารสำนักหอสมุดแห่งชาติร่วมรับฟังการนำเสนอผลการฝึกประสบการณ์วิชาชีพของนักศึกษาโดยมีนางสาวบุบผา ชูชาติ ผู้อำนวยการกลุ่มบริการทรัพยากรสารสนเทศ เป็นประธานมอบเกียรติบัตรแก่นักศึกษาจากสถาบันการศึกษา 2 แห่ง จำนวน 3 ราย ได้แก่ สาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จำนวน 1 ราย และสาขาวิชาภาษาและการสื่อสาร คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต จำนวน 2 ราย ณ ห้องประชุม 2203 ชั้น 2 อาคาร 2 หอสมุดแห่งชาติ  

ภาพตัวอย่าง

คณะผู้บริหารสำนักหอสมุดแห่งชาติ ร่วมรับฟังการนำเสนอผลการฝึกประสบการณ์วิชาชีพและสหกิจศึกษา

วันที่ 17 มีนาคม 2566 เวลา 09.30 น. คณะผู้บริหารสำนักหอสมุดแห่งชาติร่วมรับฟังการนำเสนอผลการฝึกประสบการณ์วิชาชีพและสหกิจศึกษา โดยมีนางสาวบุบผา ชูชาติ ผู้อำนวยการ กลุ่มบริการทรัพยากรสารสนเทศ เป็นประธานมอบเกียรติบัตรแก่นักศึกษาจากสถาบันการศึกษา จำนวน 4 แห่ง จำนวน 9 ราย ได้แก่ สาขาวิชาสารสนเทศศาสตร์และบรรณารักษศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช สาขาวิชาสารสนเทศศาสตร์และบรรณารักษศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี สาขาวิชาการจัดการสารสนเทศ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และสาขาวิชาดนตรี คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ณ ห้องประชุม 2203 ชั้น 2 อาคาร 2 สำนักหอสมุดแห่งชาติ

ภาพตัวอย่าง

คณะเจ้าหน้าที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงเตาปูน - ราษฏร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) เข้าเยี่ยมชมหอสมุดแห่งชาติ

วันที่ 15 มีนาคม 2566 เวลา 14.00 น. นางสาวเนาวรัตน์ ปัญญางาม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักหอสมุดแห่งชาติ และผู้บริหารสำนักหอสมุดแห่งชาติ กล่าวต้อนรับและนำชมคณะเจ้าหน้าที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน - ราษฏร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ซึ่งประกอบด้วย เจ้าหน้าที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ที่ปรึกษาบริหารโครงการและควบคุมการก่อสร้างงานโยธา 1-2 และผู้รับจ้างในส่วนงานเกี่ยวข้องกับการออกแบบสถาปัตยกรรมสถานีหอสมุดแห่งชาติ จำนวน 21 คน ที่เข้าเยี่ยมชมหอสมุดแห่งชาติ เพื่อเป็นแนวทางในการออกแบบสถานีหอสมุดแห่งชาติ

ภาพตัวอย่าง

พิธีแถลงข่าวส่งมอบผลงาน โครงการความร่วมมือระหว่างวัดเบญจมบพิตรกับกรมศิลปากร

วันที่ ๑๕ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖ เวลา ๐๙.๐๐ น. นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เป็นประธานในพิธีแถลงข่าวส่งมอบผลงานโครงการความร่วมมือระหว่างวัดเบญจมบพิตรกับกรมศิลปากรเพื่อเผยแพร่ผลงานการอนุรักษ์เอกสารโบราณวัดเบญจมบพิตร โดยถวายคัมภีร์ใบลานที่ได้รับการอนุรักษ์แล้ว พร้อมหนังสือบัญชีทะเบียนเอกสารโบราณวัดเบญจมบพิตร แด่เจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตร พร้อมทั้งมอบเกียรติบัตรแก่ภาคีเครือข่ายอาสาสมัครท้องถิ่นในการดูแลรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรม (อส.มศ.) ผู้ปฏิบัติงานอนุรักษ์เอกสารโบราณ ณ วัดเบญจมบพิตร เขตดุสิต กรุงเทพฯ  อธิบดีกรมศิลปากรกล่าวว่า โครงการความร่วมมือระหว่างวัดเบญจมบพิตรกับกรมศิลปากรเพื่อเผยแพร่ผลงานการอนุรักษ์เอกสารโบราณวัดเบญจมบพิตร ดำเนินการต่อเนื่องจากโครงการอนุรักษ์เอกสารโบราณวัดเบญจมบพิตร ปีงบประมาณ ๒๕๖๕ ตั้งแต่วันที่ ๘ กันยายน ๒๕๖๕ ถึงวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ รวมระยะเวลา ๕ เดือน ในการปฏิบัติงานอนุรักษ์ ได้บูรณาการประสานความร่วมมือระหว่างกรมศิลปากร คณะสงฆ์ และประชาชน สร้างการรับรู้อย่างเป็นรูปธรรม เกิดเครือข่ายอาสาสมัครท้องถิ่นในการดูแลรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรม (อส.มศ.) รุ่นแรกในส่วนกลาง ซึ่งเป็นรุ่นบุกเบิกของการสร้างเครือข่ายดูแลรักษาเอกสารโบราณให้ขยายวงกว้างออกไป โดยการดำเนินการดังกล่าวสอดรับพันธกิจกรมศิลปากรที่ต้องธำรงรักษา อนุรักษ์ สืบสาน มรดกทางศิลปวัฒนธรรมซึ่งเป็นภูมิปัญญาของบรรพชนจากรุ่นสู่รุ่นให้คงอยู่สืบไป ความสำเร็จของการดำเนินงานครั้งนี้จึงถือเป็นก้าวสำคัญที่สร้างความมั่นใจในการเป็นผู้นำการอนุรักษ์ให้กับประชาชน และสร้างการรับรู้แก่ชุมชนท้องถิ่นที่อยู่ใกล้ชิดเอกสารโบราณ โดยมีวัดเป็นแหล่งเอกสารโบราณ และคณะสงฆ์เป็นผู้เก็บรักษาสมบัติล้ำค่าเหล่านี้ไว้ สรุปผลความสำเร็จของการดำเนินงานได้ ดังนี้ ๑. กรมศิลปากร ได้ดำเนินการอนุรักษ์จัดทำทะเบียนเอกสารโบราณ ซึ่งเป็นการจัดระบบเอกสารโบราณ เพื่อให้บริการตามหลักวิชาการ ดำเนินการออกเลขทะเบียนบัญชีรายชื่อเอกสารโบราณประเภทคัมภีร์ใบลาน จำนวนมากถึง ๔๒๕ มัด ออกรหัสเลขที่ได้ ๗๑๙ เลขที่ รวมทั้งสิ้นจำนวน ๖,๒๗๕ ผูก และเอกสารโบราณ ประเภทหนังสือสมุดไทย จำนวน ๖ เล่ม ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งเอกสารโบราณกลางกรุงที่ใหญ่มาก และได้รับการพัฒนาไปสู่แหล่งเรียนรู้อีกระดับหนึ่ง  ๒. ความสำคัญของเอกสารโบราณเหล่านี้ไม่แพ้ความสำคัญของวัด โดยเฉพาะคัมภีร์ใบลานมีการสืบสายธารแห่งประวัติศาสตร์ไม่ขาดสาย ถึง ๓ สมัย ได้แก่ คัมภีร์ใบลานสมัยอยุธยา สมัยธนบุรี และสมัยรัตนโกสินทร์ รวมแล้วไม่ต่ำกว่า ๑๕๐ ผูก และพบคัมภีร์ที่เก่าแก่แต่ละสมัย ดังนี้ สมัยอยุธยา ได้แก่ วบจ.๒๒-๒๕  (วัดเบญจมบพิตร เลขที่ ๒๒-๒๕) เรื่อง วิมติวิโนทนี วินยฎีกา สมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาทอง พ.ศ.๒๑๘๖ อายุ ๓๘๐ ปี สมัยธนบุรี ได้แก่ วบจ.๓๓๘ (วัดเบญจมบพิตร เลขที่ ๓๓๘) เรื่อง สารสังคหะ สมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พ.ศ.๒๓๒๐ อายุ ๒๔๖ ปี สมัยรัตนโกสินทร์ ได้แก่ วบจ.๒๗๑ (วัดเบญจมบพิตร เลขที่ ๒๗๑) เรื่อง ธรรมบทอัฏฐกถา สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (ร.๑) พ.ศ.๒๓๒๘ อายุ ๒๓๘ ปี   ๓. พบคัมภีร์ใบลานสมัยรัตนโกสินทร์ที่สืบต่อกันตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๖ ทำให้เห็นว่าวัดเบญจมบพิตรเป็นแหล่งเอกสารโบราณที่สามารถศึกษาเปรียบเทียบยุคสมัยของตัวอักษรแต่ละรัชกาลได้ในแหล่ง เอกสารเดียวกัน พร้อมกันนี้ยังศึกษาประวัติศาสตร์การสร้างคัมภีร์ถวายในพระพุทธศาสนาในช่วงเปลี่ยนผ่านจาก ใบลานสู่กระดาษแบบฝรั่ง  ๔. สมัยรัชกาลที่ ๕ มีการปริวรรตพระไตรปิฎกจากอักษรขอมเป็นอักษรไทยจัดพิมพ์เป็นพระไตรปิฎก ฉบับพิมพ์อักษรไทยเป็นครั้งแรกของโลก หลังจากนั้นจึงไม่มีการผลิตซ้ำทำเพิ่มคัมภีร์ใบลาน แต่ในความเป็นจริง คัมภีร์ใบลานยังคงความศักดิ์สิทธิ์และศรัทธาสืบมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๖ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้สร้างคัมภีร์ใบลานถวายไว้ในพระพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก และเจาะจงสร้างถวายเป็นการเฉพาะสำหรับวัดเบญจมบพิตร อีกด้วย ตัวอย่างเช่น คัมภีร์ใบลาน เลขที่ ๕๒๔ เรื่อง เวสสันตรชาตกกถาก พ.ศ. ๒๔๖๑ อายุ ๑๐๕ ปี   ๕. ข้อสันนิษฐาน คัมภีร์ใบลาน เลขที่ วบจ.๑๖๑ เรื่อง มังคลัตถทีปนี ใช้นามผู้สร้างว่า “เจ้าทับ” พ.ศ. ๒๓๘๖ อายุ ๑๘๐ ปี ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และสอดคล้องกับพระนามเดิมของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงสันนิษฐานว่า ร.๓ สร้างเป็นการส่วนพระองค์จึงให้ชื่อว่า “เจ้าทับ” ตามพระนามเดิมของพระองค์ ไม่ประทับตราพระราชลัญจกร   ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่ทำให้มรดกภูมิปัญญาและแหล่งศึกษาเรียนรู้นี้มีประโยชน์และทรงคุณค่าต่อไป คือการเผยแพร่ต่อสาธารณชนให้ผู้สนใจและใฝ่รู้ทั้งหลายได้หันมามองสิ่งอันเป็นมรดกศิลปวัฒนธรรมเหล่านี้อย่างจริงจัง ย่อมสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับประเทศไทย ดังคำกล่าวที่ว่าวัฒนธรรมสร้างชาตินั่นเอง



for w3c
ภาพตัวอย่าง

ขอเชิญร่วมส่งผลงานประกวดวรรณกรรม รางวัลพานแว่นฟ้า ประจำปี 2566

ขอเชิญร่วมส่งผลงานประกวดวรรณกรรม รางวัลพานแว่นฟ้า ประจำปี 2566 จัดโดยสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรรางวัลพานแว่นฟ้า 2566 ลักษณะของผลงานที่ส่งเข้าประกวด 1) เป็นวรรณกรรมเพื่อส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตย 2) เรื่องสั้น เป็นวรรณกรรมประเภทเรื่องสั้น ต้นฉบับผลงานต้องเป็นภาษาไทย และพิมพ์ลงในกระดาษ เอ 4 จำนวนไม่เกิน 8 หน้า หากพิมพ์ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ให้ใช้ตัวอักษรขนาด 16 ตัวพิมพ์ (16 พอยท์) ในกรณีที่ผู้ส่งผลงานเป็นผู้ต้องขังในเรือนจำหรือทัณฑสถาน อนุโลมให้เขียนด้วยลายมือตัวบรรจงได้ (จำนวนไม่เกิน 10 หน้า) 3) บทกวี เป็นวรรณกรรมประเภทบทกวี หากเป็นบทกวีฉันทลักษณ์ ขนาดความยาว 6 - 12 บท ถ้าเป็นบทกวีรูปแบบอื่น (กลอนเปล่าหรือรูปแบบคำประพันธ์ที่สร้างขึ้นใหม่) ขนาดความยาวไม่เกิน 2 หน้ากระดาษ โดยพิมพ์หรือเขียนลงในกระดาษ เอ 4 หากพิมพ์ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ให้ใช้ตัวอักษรขนาด 16 ตัวพิมพ์ (16 พอยท์) หากเขียนด้วยลายมือให้เขียนตัวบรรจง คุณสมบัติของผู้ส่งผลงานเข้าประกวด 1) ประชาชนทั่วไป 2) ผู้เขียนยังมีชีวิตอยู่ในขณะที่ส่งผลงาน ข้อปฏิบัติในการส่งผลงานเข้าประกวด 1) ผู้เขียนหนึ่งคนมีสิทธิ์ส่งผลงานเข้าประกวดได้ประเภทละ 1 ผลงาน 2) เป็นผลงานที่เขียนขึ้นใหม่ ไม่เคยพิมพ์เผยแพร่ในสื่อทุกประเภทก่อนการตัดสินของคณะกรรมการฯ 3) ผู้ส่งผลงานเข้าประกวดจะต้องสร้างสรรค์ผลงานที่ส่งเข้าประกวดด้วยตนเองเพียงผู้เดียว ไม่ลอกเลียนหรือตกแต่งดัดแปลงจากผลงานของผู้อื่น หากมีการลอกเลียนหรือตกแต่งดัดแปลงหรือละเมิดลิขสิทธิ์ ผู้เขียนจะต้องรับผิดตามกฎหมาย ในกรณีที่พบว่าเป็นการลอกเลียนหรือตกแต่งดัดแปลงหรือละเมิดลิขสิทธิ์ หรือเป็นผลงานที่มีผู้สร้างสรรค์มากกว่าหนึ่งคน ไม่ว่าจะเป็นการตรวจพบระหว่างหรือหลังจากการประกวด การส่งผลงานเข้าประกวดและการได้รับรางวัลถือเป็นโมฆะ โดยคณะกรรมการรางวัลพานแว่นฟ้า ปี 2566 หรือสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จะพิจารณาเพิกถอนสิทธิในรางวัลของผู้เขียนทุกประการ และอาจไม่รับพิจารณาผลงานที่ส่งเข้าประกวดในครั้งต่อไป ตามแต่ระยะเวลาที่จะกำหนดและประกาศให้ทราบ 4) ผู้ส่งผลงานเข้าประกวดต้องตรวจสอบต้นฉบับ และการสะกดคำให้ถูกต้องตามหลักภาษา หากส่งผลงานเข้าประกวดแล้วจะไม่สามารถขอแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงผลงานได้แม้ยังไม่หมดเวลารับผลงาน รางวัลทั้งเรื่องสั้นและบทกวี รางวัลชนะเลิศได้รับโล่รางวัลพานแว่นฟ้า และเกียรติบัตร ของประธานรัฐสภา และเงินรางวัล 60,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศ 2 รางวัล ได้รับโล่รางวัลพานแว่นฟ้า และเกียรติบัตร ของประธานรัฐสภา และเงินรางวัล รางวัลละ 40,000 บาท รางวัลชมเชย 10 รางวัล ได้รับเกียรติบัตร ของประธานรัฐสภา และเงินรางวัล รางวัลละ 20,000 บาท ผลงานที่ผ่านการพิจารณารอบกลั่นกรอง (Longlist) ทั้งประเภทเรื่องสั้นและบทกวีที่ไม่ได้รับรางวัล จะได้รับเกียรติบัตรของประธานรัฐสภา วิธีการส่งผลงานเข้าประกวด 1) สามารถส่งผลงานในรูปแบบต้นฉบับขนาด เอ 4 หรือไฟล์ PDF 2) เขียนชื่อและนามสกุลจริง และ/หรือนามปากกา ที่อยู่พร้อมรหัสไปรษณีย์ หมายเลขโทรศัพท์ของผู้เขียน แนบท้ายผลงานที่ส่งเข้าประกวด (ห้ามใส่ชื่อหรือนามปากกาในตัวผลงานทุกจุด) 3) การส่งผลงานเข้าประกวด สามารถส่งได้ดังนี้      3.1) ส่งผลงานเข้าประกวดทางไปรษณีย์ หรือส่งโดยตรงได้ที่ กลุ่มงานเผยแพร่ประชาธิปไตยและกิจกรรมสภาผู้แทนราษฎร สำนักประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เลขที่ 1111 ถนนสามเสน เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300 วงเล็บมุมซองว่า “ประกวดวรรณกรรมรางวัลพานแว่นฟ้า”      3.2) ส่งผลงานรูปแบบไฟล์ PDF ได้ที่ ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ phan@parliament.go.thเปิดรับผลงานเข้าประกวด ตั้งแต่บัดนี้ ถึงวันที่ 9 เมษายน 2566 (ในกรณีที่ส่งทางไปรษณีย์ จะถือวันประทับตราส่งไปรษณีย์เป็นสำคัญ ในกรณีที่ส่งทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ต้องไม่เกินเวลา 24.00 นาฬิกา ของวันที่ 9 เมษายน 2566) - ประกาศรายชื่อผลงานที่ผ่านการกลั่นกรอง (Longlist) มิถุนายน 2566 - ประกาศรายชื่อผลงานที่ผ่านการคัดเลือกเข้าสู่การตัดสินรอบสุดท้าย (Shortlist) กรกฎาคม 2566 - ประกาศผลการตัดสิน สิงหาคม 2566 - มอบรางวัล กันยายน 2566 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 0 2242 5900 ต่อ 5492 - 94 ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับรางวัลได้ที่ www.parliament.go.th/phan และเพจเฟซบุ๊ก “รางวัลพานแว่นฟ้า”

ภาพตัวอย่าง

หอสมุดแห่งชาติสิงคโปร์เปิดตัว "Open datasets" ให้ดาวน์โหลดฟรี 10 คอลเลกชัน

หอสมุดแห่งชาติสิงคโปร์ (National Library Board-NLB) เปิดตัวชุดข้อมูลแบบเปิด (Open datasets) ให้ดาวน์โหลดฟรี จำนวน 10 คอลเลกชันซึ่งประกอบด้วยข้อมูลเมทาดาทาของคอลเลกชันดิจิทัล ได้แก่   1. National Library Singapore Digitised Books and Magazines 2. National Library Singapore Online Articles 3. National Library Singapore Digitised Documents and Manuscripts 4. National Library Singapore Digitised Ephemera 5. National Library Singapore Digitised Maps 6. National Library Singapore Digitised Newspapers 7. National Library Singapore Digitised Music Albums, Lyrics and Music Scores 8. National Library Singapore Digitised Sound and Video Recordings 9. National Library Singapore Digitised Images 10. National Library Singapore Archived Websites   ทั้ง 10 คอลเลกชัน ครอบคลุมชุดข้อมูลเมทาดาทาของหนังสือ, นิตยสาร, หนังสือพิมพ์, คลังจัดเก็บเว็บถาวร, รูปภาพ, การบันทึกเสียง และวิดีโอในรูปแบบดิจิทัลและอื่นๆ กว่า 42,000 เล่ม ซึ่งสามารถนำชุดข้อมูลดังกล่าวไปวิเคราะห์หรือจัดทำ Data Visualization เพื่อแสดงข้อมูลออกมาให้อยู่ในรูปของแผนภาพ กราฟ หรือวิดีโอ ที่สามารถแสดง ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรมของสิงคโปร์ ได้อย่างสวยงามและอ่านได้ง่าย   ชุดข้อมูลนี้เหมาะสำหรับนักวิจัย นักศึกษา และผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับมรดกทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะท่านที่มีความสนใจเกี่ยวกับประเทศสิงคโปร์และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้   ผู้สนใจสามารถเข้าถึงชุดข้อมูลแบบเปิด (Open datasets) จำนวน 10 คอลเลกชัน ได้ที่ shorturl.at/cnt28



ดูทั้งหมด
    ไม่มีข้อมูล
ดูทั้งหมด