นันโทปนันทสูตรคำหลวง เอกสารโบราณประเภทหนังสือสมุดไทยที่มีคุณค่าและมีความสำคัญมาก อยู่ในความดูแลของกลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม เป็นวรรณคดีทางพระพุทธศาสนาที่แต่งขึ้นในสมัยอยุธยา รัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (ครองราชย์พุทธศักราช ๒๒๗๕-๒๓๐๑) มีชื่อเรื่องปรากฏในต้นฉบับหลายแห่งว่า “นนโทปะนนทสูตรคำหลวง” เป็นพระราชนิพนธ์ของเจ้าฟ้าธรรมาธีเบศรไชยเชษฐสูริวงสหรือเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร กล่าวถึงพระนามผู้ทรงนิพนธ์ว่า “สิริปาโล ผู้ชื่อพระมหาสิริบาล....” ซึ่งหมายถึงสมณนามของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร ขณะทรงพระผนวชอยู่ ณ วัดโคกแสง โดยทรงนิพนธ์แล้วเสร็จ เมื่อวันอาทิตย์ เดือนแปด ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีมะโรงนักษัตร อัฐศก จุลศักราช ๑๐๙๘ ตรงกับพุทธศักราช ๒๒๗๙
ลักษณะต้นฉบับ
นันโทปนันทสูตรคำหลวง เป็นหนังสือสมุดไทยขาว ปกหน้าปกหลังลงรักปิดทองเขียนลายกนกเครือเถาก้านขด ขนาดกว้าง ๑๓ เซนติเมตร ยาว ๔๐ เซนติเมตร หนา ๖.๕ เซนติเมตร มีจำนวนหน้าหนังสือ ๑๙๐ หน้า แบ่งเป็นหน้าต้น ๙๘ หน้า หน้าปลาย ๙๒ หน้า เขียน(ชุบ)ด้วยเส้นอักษร ๒ ชนิด ได้แก่ อักษรขอมย่อ ใช้บันทึกภาษาบาลี และอักษรไทยย่อ ใช้บันทึกภาษาไทย มีเส้นสี ๓ ชนิด ได้แก่ เส้นทอง เส้นชาด และเส้นหมึกในการบันทึก
เนื้อเรื่องย่อ
กล่าวถึงพระพุทธเจ้าเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ในกรุงราชคฤห์ อนาถบิณฑิกะมหาเศรษฐีมาทูลอาราธนาพระพุทธองค์และพระอรหันตสาวก ๕๐๐ องค์ไปรับบิณฑบาตที่บ้านของตน ขณะที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารจนสิ้นราตรี พระองค์ทรงตรวจดูโลกธาตุ ทราบโดยพระญาณว่า พระยานันโทปนันทนาคราช ควรได้รับรสพระธรรมเพราะเคยสร้างกุศลในชาติปางก่อน แต่ยังมีความเห็นผิดเป็นมิจฉาทิฐิอยู่ พระพุทธเจ้าจึงมีพุทธฎีกาแก่พระอานนท์ว่าจะเสด็จไปยังเทวโลก พระอานนท์และพระสาวกจึงเสด็จตาม เหาะไปเหนือวิมานของพระยานันโทปนันทนาคราช ทำให้พระยานันโทปนันทนาคราชโกรธที่มีผู้เหาะมาเหนือปราสาทของตน ด้วยสำคัญตนว่ามีศักดิ์ใหญ่ จึงจำแลงอิทธิฤทธ์เป็นนาคราชพันเขาพระสุเมรุแผ่พังพานบังโลกธาตุจนมืดมิดเพื่อไม่ให้พระพุทธเจ้าผ่าน พระสาวกองค์ต่างๆทูลขอเป็นผู้ปราบพระยานันโทปนันทนาคราช แต่พระองค์ทรงมอบให้พระโมคคัลลานะอัครสาวกเบื้องซ้ายเป็นผู้ปราบ พระยานันโทปนันทนาคราชมิอาจสู้ได้ ยอมจำนนละมิจฉาทิฐิ ยอมเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าและถือเอาพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง
อ้างอิง
สำนักหอสมุดแห่งชาติ. ต้นฉบับหนังสือสมุดไทยสมัยอยุธยานันโทปนันทสูตรคำหลวง. สมุทรปราการ: บริษัทเอส.บี.เค การพิมพ์ จำกัด. ๒๕๖๓. หน้า ๑-๗.