โครงการ/กิจกรรม

for w3c
ภาพตัวอย่าง

โครงการเครือข่ายดูแลรักษาเอกสารโบราณ ประจำปีงบประมาณ 2563 ครั้งที่ 3

วันที่ 22 สิงหาคม 2563 สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม โดย กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก ดำเนินโครงการเครือข่ายดูแลรักษาเอกสารโบราณ ประจำปีงบประมาณ 2563 ครั้งที่ 3 ณ วัดบึง (พระอารามหลวง) อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมาดำเนินการสำรวจ ดูแลรักษา ลงทะเบียน และจัดเก็บเอกสารโบราณ วันที่ 15-22 สิงหาคม 2563 โดยคณะทำงานดำเนินการดูแลรักษา ลงทะเบียน และจัดเก็บเอกสารโบราณประเภทคัมภีร์ใบลาน จำนวน 157 มัด มี 387 เลขที่ รวม 1,991 รายการ มีสามเณรและจิตอาสามาร่วมปฏิบัติงานในฐานะเครือข่ายดูแลรักษาเอกสารโบราณ จำนวน 6 รูป/คน รวมทั้งมีผู้บริจาคผ้าห่อคัมภีร์ใบลาน จำนวน 200 ผืน ไม้ประกับ 200 คู่ ทั้งนี้ พระเทพสีมาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดบึง (พระอารามหลวง) เจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา มีเมตตาให้นายไพฑูรย์ คงจันทร์ เจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกแก่คณะทำงานตลอดการปฏิบัติงานเป็นอย่างดี

ภาพตัวอย่าง

พิธีเปิดนิทรรศการ​ "5 ทศวรรษหนังสือและการพิมพ์​ พุทธศักราช​ 2500-2549"

วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2563 เวลา 09.00 น. รองอธิบดีกรมศิลปากร นายพนมบุตร จันทรโชติ เป็นประธานในพิธีเปิดนิทรรศการ​ "5 ทศวรรษหนังสือและการพิมพ์​ พุทธศักราช​ 2500-2549" โดยมี ผู้อำนวยการสำนักหอสมุดแห่งชาติ นางสาวกนกอร ศักดาเดช กล่าวรายงาน โดยนิทรรศการดังกล่าว นําเสนอประวัติการพิมพ์ในประเทศไทยและประวัติสํานักพิมพ์ต่างๆ ในช่วง 5 ทศวรรษที่ผ่านมา รวมถึงจัดแสดงหนังสือพร้อมด้วยบรรณนิทัศน์บอกรายละเอียดเกี่ยวกับสาระสําคัญของหนังสือแต่ละสำนักพิมพ์    นิทรรศการดังกล่าวจัดแสดงระหว่างวันที่ 19 สิงหาคม - 31 ตุลาคม 2563 ณ ห้องวชิรญาณ 2 - 3 อาคาร 2 ชั้น 1 สำนักหอสมุดแห่งชาติ ในวัน-เวลาเปิดบริการ​ ผู้สนใจสามารถเข้าชมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งนี้สามารถอ่านและดาวน์โหลด​สูจิบัตรประกอบนิทรรศการ​ฉบับเต็ม​ได้ที่​ http://164.115.27.97/digital/items/show/17727

ภาพตัวอย่าง

โครงการจิตรกรน้อย ประจำปี 2563 ณ หอสมุดแห่งชาติเขตลาดกระบัง เฉลิมพระเกียรติ

วันที่ 8 สิงหาคม 2563 สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม โดย หอสมุดแห่งชาติเขตลาดกระบัง เฉลิมพระเกียรติ จัดโครงการจิตรกรน้อยประจำปี 2563 โดย นายพนมบุตร จันทรโชติ (รองอธิบดีกรมศิลปากร) เป็นประธานในพิธีเปิด นางสาวกนกอร ศักดาเดช (ผู้อำนวยการสำนักหอสมุดแห่งชาติ) กล่าวรายงาน โครงการจิตรกรน้อย มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้พื้นฐานด้านศิลปะฝึกให้เด็กและเยาวชน มีสมาธิกล้าคิดกล้าแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ผ่านชิ้นงานศิลปะและเพื่อกระตุ้นให้เด็กมีพรสวรรค์ทางศิลปะได้ฝึกฝนจนเกิดความชำนาญ ให้เป็นจิตรกรมืออาชีพต่อไป ในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดียิ่งจากผู้อำนวยการโรงเรียนวัดปลูกศรัทธาและผู้อำนวยการโรงเรียนศึกษาพัฒนา  เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร คัดเลือกนักเรียนที่ชอบและมีพรสวรรค์ทางด้านศิลปะมาเข้ารับการฝึกอบรม  และได้รับเกียรติจากผู้ช่วยอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ และอาจารย์ประจำหมวดวิชาภาพพิมพ์ ภาควิชาศิลปะร่วมสมัย  วิทยาลับช่างศิลป  กระทรวงวัฒนธรรม มาเป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้ และสาธิตงานด้านศิลปะฝึกปฏิบัติการประดิษฐ์ “หน้ากากสร้างสรรค์ ต้านโควิด”อันเนื่องมาจากสภาพปัญหาในปัจจุบันที่ได้เกิดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ โควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้ มีนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 50 คน

ภาพตัวอย่าง

โครงการเครือข่ายดูแลรักษาเอกสารโบราณ ประจำปีงบประมาณ 2563 ครั้งที่ 2

      สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม โดย กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก ดำเนินงานโครงการเครือข่ายดูแลรักษาเอกสารโบราณ ประจำปีงบประมาณ 2563 ครั้งที่ 2 จังหวัดแพร่ และลำปาง ระหว่างวันที่ 5 - 11 ส.ค.2563 โดยเรียนเชิญ นายเทิม มีเต็ม ผู้ทรงคุณวุฒิกรมศิลปากร เป็นที่ปรึกษา ดำเนินการสำรวจเอกสารโบราณ ดังนี้                วันที่ 5-7 สิงหาคม 2563 ดำเนินการ ณ อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่  จำนวน 3 แห่ง ได้แก่        1. วัดบางสนุก อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่  สำรวจและตรวจสอบ จารึกเมืองตรอกสลอบชิ้นที่สอง (พร.12)  อักษรไทยสุโขทัย ภาษาไทย จำนวน 1 ชิ้น โดยมี พระปลัดมานิตย์ อนุภทฺโธ เจ้าอาวาสวัดบางสนุก เจ้าคณะตำบลนาพูน เป็นผู้ให้ข้อมูล        2. วัดนาใหม่ อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่  สำรวจเอกสารโบราณภายในวัด พบคัมภีร์ใบลาน อักษรธรรมล้านนา เก็บภายในหอธัมม์ จำนวน 100 ผูก และจากการสอบถามข้อมูลจากพระกิตติพงศ์ ปรากฏว่ายังมีคัมภีร์ใบลานอีกส่วนหนึ่ง เก็บรักษาอยู่ภายในกุฏิเจ้าอาวาส (พระครูประสุต สาธุวัณณ์)        3. วัดใหม่กลาง อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ ได้สอบถามข้อมูลเอกสารโบราณภายในวัดจากพระอธิการสุเทพ สุชาโต เจ้าอาวาส  ภายในวัดไม่มีเอกสารโบราณ        จากนั้น วันที่ 8-11 สิงหาคม 2563 สำรวจเอกสารโบราณที่ จ.ลำปาง จำนวน 5 แห่ง ดังนี้        1. วัดไหล่หินหลวง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง สำรวจและตรวจสอบ จารึกวัดเสลารัตนบัพพตาราม (ลป. 23)  แผ่นไม้ภายในวิหาร จำนวน 1 รายการ  และอาคารพิพิธภัณฑ์หลังที่ 2 พบจารึกฐานพระพุทธรูปไม้ ประมาณ 100 รายการ ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน        2. วัดเกาะวาลุการาม อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง สำรวจและตรวจสอบ จารึกฐานพระพุทธรูปไสยาสน์วัดเกาะวาลุการาม (ลป.8 ) จำนวน 1 รายการ        3. วัดคะตึกเชียงมั่น อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง สำรวจและตรวจสอบ จารึกวัดคะตึกเชียงมั่น (ลป. 11)  จารึกติดอยู่บนผนัง ด้านหลังวิหาร ปัจจุบันอักษรลบเลือน        4. จารึกวัดเชียงราย อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง  สำรวจและตรวจสอบ จารึกวัดเชียงราย (ลป. 6) จารึกตั้งอยู่หน้าวิหาร ปัจจุบันอักษรลบเลือน        5. วัดพระธาตุเสด็จ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง สำรวจและตรวจสอบจารึกฐานพระพุทธรูป  ที่เก็บรักษาภายในกุฏิเจ้าอาวาส  จำนวน 7 รายการ บันทึกข้อมูลทะเบียน ถ่ายภาพ และอ่านคัดถ่ายถอดจารึกบนระฆังสำริด จำนวน 2 รายการ รวมเป็น 9 รายการ             ทั้งนี้ คณะทำงานได้รับความอนุเคราะห์และความเมตตาจากพระครูโสภิตพัฒนานุยุต และลูกศิษย์ ช่วยสำรวจตรวจสอบจารึกฐานพระพุทธรูปเป็นอย่างดี

ภาพตัวอย่าง

กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก ดำเนินงานโครงการสำรวจเอกสารโบราณ ประจำปีงบประมาณ 2563 ครั้งที่ 5

ระหว่างวันที่ 24 -31 กรกฎาคม 2563 สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม โดย กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก ดำเนินงานโครงการสำรวจเอกสารโบราณ ประจำปีงบประมาณ 2563 ครั้งที่ 5 จังหวัดลพบุรี ณ พิพิธภัณฑสถานวัดไลย์ ตำบลเขาสมอคอน อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี โดยมี นางสาววชรพร อังกูรชัชชัย นักภาษาโบราณชำนาญการ หัวหน้ากลุ่มงานสำรวจเอกสารโบราณ และคณะ ซึ่งได้สำรวจ ดูแลรักษา ลงทะเบียน และจัดเก็บเอกสารโบราณ จำนวน 1,509 รายการ ดังนี้  1. คัมภีร์ใบลาน อักษรขอมและอักษรไทย ภาษาบาลีและภาษาไทย. เส้นจาร จำนวน 129 มัด 1,479 รายการ  2. หนังสือสมุดไทย อักษรไทย อักษรขอม และอักษรมอญ. ภาษาไทยและภาษาบาลี  จำนวน 30 รายการ ทั้งนี้ พระวิลาสพัฒนคุณ เจ้าอาวาสวัดไลย์ มีเมตตามอบ นายกิตติ หุตะมาน  นางฑิติยารัตน์ ยอดเมือง นายวิศิษย์-นางสมบูรณ์ เจียดกำจร  ผู้ดูแลพิพิธภัณฑสถานวัดไลย์ อำนวยความสะดวกแก่คณะทำงานเป็นอย่างดีตลอดการปฏิบัติงาน นอกจากนี้ บุคลากรจากสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี จ.ลพบุรี มาขอคำปรึกษาแนะนำการดูแลเอกสารโบราณ และมอบผ้าขาวสำหรับห่อเอกสารโบราณ จำนวน 4 ท่าน  1. นางสาวสมดา วินิจกำธร 2. นายภาคภูมิ เฉลิมวัฒน์ 3. นางสาวณัฐธวัลรัตน์ ดอกไม้งาม 4. นายสุชาติ อ่อนสันทัด

ภาพตัวอย่าง

กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก ให้ความอนุเคราะห์นักภาษาโบราณ ร่วมดำเนินกิจกรรมโครงการเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเมืองอุตรดิตถ์ ประจำปี 2563

ระหว่างวันที่ 14-19 กรกฎาคม 2563 สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม โดย กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก ให้ความอนุเคราะห์นักภาษาโบราณ ร่วมดำเนินกิจกรรมโครงการเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเมืองอุตรดิตถ์ ประจำปี 2563 ซึ่งจัดขึ้นโดยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สวรรควรนายก สำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัย กรมศิลปากร โดยได้ดำเนินการ ณ วัดม่อนปรางค์ ตำบลศรีพนมมาศ อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลรักษา ลงทะเบียน และจัดเก็บเอกสารโบราณประเภทคัมภีร์ใบลานตามหลักวิชาการของสำนักหอสมุดแห่งชาติ ในการดำเนินงานครั้งนี้ ถือเป็นการทำงานแบบบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานของกรมศิลปากรทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ที่ร่วมจัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ "การอนุรักษ์คัมภีร์ใบลาน" และพระภิกษุของวัดม่อนปรางค์ ได้ให้ความร่วมมือในการดูแลรักษาคัมภีร์ใบลาน จำนวน 67 มัด 120 เลขที่ 736 รายการ ดังนี้ 1. คัมภีร์ใบลาน อักษรขอม เส้นจาร จำนวน 11 มัด 19 เลขที่ 155 รายการ  2. คัมภีร์ใบลาน อักษรธรรมล้านนา เส้นจาร จำนวน 56 มัด 101 เลขที่ 581 รายการ นอกจากนี้ ยังมีคัมภีร์ใบลานอักษรธรรมล้านนา อักษรธรรมอีสาน และอักษรไทยน้อย ที่ต้องดำเนินการลงทะเบียนและจัดเก็บต่อไปอีกประมาณ 1,000 รายการ

ภาพตัวอย่าง

กิจกรรม Kids Inspiration ปีที่ 3 ครั้งที่ 6

วันที่ 18 กรกฎาคม​ พ.ศ. 2563 เวลา​10.00-12.00 น.​ สำนักหอสมุดแห่งชาติจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ สำหรับเด็กและเยาวชน "Kids Inspiration เสาร์สนุกสุขหรรษา" ในหัวข้อ นิทานครูชีวัน​ ตัวเลขหลากมิติ​แผ่นพับฝึกทักษะ โดยมีนางสาวกนกอร ศักดาเดช ผู้อำนวยการสำนักหอสมุดแห่งชาติ ร่วมกิจกรรมและมอบของที่ระลึกให้แก่วิทยากร ครูชีวัน วิสาสะ​ ณ​ ห้องหนังสือสำหรับเด็กและเยาวชน​ ชั้น​ 2  อาคาร​ 1 มีนักเรียนจากโรงเรียนพิมานวิทย์เป็นตัวแทน​เข้่าร่วมกิจกรรม​ ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าวได้ปรับรูปแบบเป็นการถ่ายทอดสดผ่านทางช่องทางต่างๆ​ ให้ผู้ปกครองและเด็กๆ รับชมและร่วมทำกิจกรรมไปพร้อมๆ​ กันได้จากที่บ้าน​

ภาพตัวอย่าง

ผู้อำนวยการสำนักหอสมุดแห่งชาติ รับมอบของที่ระลึกจากชมรมพระเจนดุริยางค์วิชาการ

วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 เวลา 09.15 น. นางสาวกนกอร ศักดาเดช ผู้อำนวยการสำนักหอสมุดแห่งชาติ รับมอบของที่ระลึกจากชมรมพระเจนดุริยางค์วิชาการ ซึ่งจัดกิจกรรมรำลึกวันคล้ายวันเกิดพระเจนดุริยางค์ กิจกรรมประกอบไปด้วย การกล่าวรำลึกพระคุณของพระเจนดุริยางค์ การวางช่อดอกไม้ การแสดงดนตรีวงเครื่องสายสากลในผลงานของท่านเพื่อเผยแพร่สาธารณชนได้ทราบถึงคุณูปการของท่านในฐานะผู้วางรากฐานการศึกษาดนตรีสากลในประเทศไทย ณ หอสมุดดนตรีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และห้องสมุดดนตรีทูลกระหม่อมสิรินธร สำนักหอสมุดแห่งชาติ

ภาพตัวอย่าง

โครงการเครือข่ายดูแลรักษาเอกสารโบราณ ประจำปีงบประมาณ 2563 ครั้งที่ 1 ณ จังหวัดนครสวรรค์และลพบุรี

สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม โดย กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก ได้ดำเนินโครงการเครือข่ายดูแลรักษาเอกสารโบราณ ประจำปีงบประมาณ 2563 ครั้งที่ 1 จังหวัดนครสวรรค์ ลพบุรี โดยมีระยะเวลาดำเนินการตลอดโครงการ ตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย. - 3 ก.ค. 2563   โดยล่าสุดนั้น ได้ดำเนินการ ณ พิพิธภัณฑสถานวัดไลย์ วัดไลย์ ตำบลเขาสมอคอน อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี ระหว่างวันที่ 1-3 ก.ค. 2563 ดังนี้   1. ดูแลรักษา ลงทะเบียน และจัดเก็บเอกสารโบราณประเภทคัมภีร์ใบลาน อักษรขอม ภาษาบาลี-ไทย เส้นจาร จำนวน 13 มัด 18 เลขที่ 151 รายการ และคัมภีร์ใบลานที่สำรวจพบที่มีอายุเก่าแก่ที่สุด เรื่อง พระปาติโมกข์ จารด้วยอักษรขอม ภาษาบาลี-ไทย สร้างเมื่อปี พ.ศ.2291 ตรงกับสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ   นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการทำความสะอาด ดูแลรักษา และจัดเก็บคัมภีร์ใบลาน เส้นพิมพ์ อักษรไทย ภาษาบาลี-ไทย จำนวน 392 รายการ   2. ผู้ดูแลพิพิธภัณฑสถานวัดไลย์ ให้ความร่วมมือในการดูแลรักษาเอกสารโบราณ จำนวน 4 ราย และได้รับความเมตตาจากพระครูวิลาสพัฒนคุณ ที่มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ดูแลคณะทำงานเป็นอย่างดี

ภาพตัวอย่าง

โครงการเครือข่ายดูแลรักษาเอกสารโบราณ ประจำปีงบประมาณ 2563 ครั้งที่ 1

วันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ.2563 สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม โดย กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก ดำเนินงานโครงการเครือข่ายดูแลรักษาเอกสารโบราณ ประจำปีงบประมาณ 2563 ครั้งที่ 1 จังหวัดนครสวรรค์ ลพบุรี ระหว่างวันที่ 28 มิ.ย. - 3 ก.ค. 2563 โดยได้ดำเนินการ ณ พิพิธภัณฑ์กาญจนาภิเษก วัดเก้าเลี้ยว ตำบลเก้าเลี้ยว อำเภอเก้าเลี้ยว จังหวัดนครสวรรค์ วันที่ 28-30 มิ.ย. 2563 ดังนี้   1. ดูแลรักษา ลงทะเบียน และจัดเก็บเอกสารโบราณตามหลักวิชาการ จำนวน 76 รายการ ได้แก่      1.1 คัมภีร์ใบลาน อักษรขอม ภาษาบาลี-ไทย เส้นจาร จำนวน 11 รายการ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องพระอภิธรรมเจ็ดคัมภีร์ จำนวน 8 รายการ      1.2 หนังสือสมุดไทยที่บันทึกด้วยอักษรขอมและอักษรไทย จำนวน 65 รายการ ส่วนใหญ่เป็นตำราเวชศาสตร์ จำนวน 35 รายการ   2. นักวิชาการวัฒนธรรม สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครสวรรค์ ให้ความร่วมมือในการดูแลรักษาเอกสารโบราณ จำนวน 3 ราย   นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการทำความสะอาด ดูแลรักษา และจัดเก็บคัมภีร์ใบลาน อักษรไทย เส้นพิมพ์ จำนวน 820 รายการ   ทั้งนี้ พระครูนิวิฐสังฆกิจ เจ้าคณะอำเภอเก้าเลี้ยว เจ้าอาวาสวัดเก้าเลี้ยว ได้เมตตามอบให้พระภิกษุลูกวัดอำนวยความสะดวกแก่คณะเจ้าหน้าที่เป็นอย่างดี



เว็บไซต์ของเรามีการใช้งานคุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานให้กับผู้ใช้งาน ทั้งนี้ สามารถมั่นใจได้ว่าเราจะดูแลและรักษาความปลอดภัยข้อมูลของท่านเป็นอย่างดี