โครงการ/กิจกรรม

for w3c
ภาพตัวอย่าง

โครงการสำรวจเอกสารโบราณ ปีงบประมาณ 2563 จังหวัดยโสธร

วันที่ 24 มกราคม 2563 สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม โดย กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก ดำเนินงานโครงการสำรวจเอกสารโบราณ ปีงบประมาณ 2563 จังหวัดยโสธร ณ วัดศรีธาตุ บ้านสิงห์ ตำบลสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร ระหว่างวันที่ 24-29 มกราคม 2563 เพื่อสำรวจ ดูแลรักษา และสืบสานอักษรและภาษาโบราณที่บันทึกไว้ ในเอกสารโบราณมรดกทางวัฒนธรรมของชาติให้คงอยู่อย่างยั่งยืน จากการสำรวจในวันนี้ พบเอกสารโบราณประเภทคัมภีร์ใบลาน บันทึกด้วยอักษรขอมและอักษรธรรมอีสาน ประมาณ 2,000 รายการ และจะดำเนินการดูแลรักษา จัดทำทะเบียนตามหลักวิชาการของสำนักหอสมุดแห่งชาติ ระหว่างวันที่ 25-28 มกราคม 2563 ต่อไป ทั้งนี้ พระครูฉันทกิจโกศล รองเจ้าคณะอำเภอเมืองยโสธร เจ้าอาวาสวัดศรีธาตุ ได้อำนวยความสะดวกแก่เจ้าหน้าที่เป็นอย่างดี

ภาพตัวอย่าง

หอสมุดแห่งชาติจัดเสวนาและนิทรรศการ ชุมนุมนิทานไทย ประจำปี 2563

วันที่ 23 ม.ค. 63 เวลา 09.00 น. รองอธิบดีกรมศิลปากร (นายพนมบุตร จันทรโชติ) เป็นประธานเปิดนิทรรศการและการเสวนาในโครงการ ชุมนุมนิทานไทย ประจำปี 2563 โดยผู้อำนวยการสำนักหอสมุดแห่งชาติ (นางสาวกนกอร ศักดาเดช) กล่าวรายงาน ณ ห้องวชิรญาณ สำนักหอสมุดแห่งชาติโครงการดังกล่าวจัดแสดงหนังสือเด็กและเยาวชน ประเภทนิทาน ที่ได้รับจากนักเขียนที่มีผลงานและเห็นคุณค่าของหนังสือที่นำมามอบให้หอสมุดแห่งชาติในครั้งนี้คือ คุณตุ๊บปอง (นายเรืองศักดิ์ ปิ่นประทีป) และเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนได้แสวงหาความรู้และทักษะที่สร้างสรรค์ผ่านการจัดนิทรรศการและกิจกรรมทั้งนี้มีนักเรียน นักศึกษา คณะครู และประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมโครงการ จำนวน 200 คน

ภาพตัวอย่าง

สำนักหอสมุดแห่งชาติจัดการประชุมมาตรฐานงานบริการพิเศษ ISBN ISSN และจดแจ้งการพิมพ์ ประจำปี 2563

20 มกราคม 2563 เวลา 09.00 น.  อธิบดีกรมศิลปากร (นายประทีป  เพ็งตะโก) เป็นประธานเปิดการประชุมมาตรฐานงานบริการพิเศษ ISBN ISSN และจดแจ้งการพิมพ์ ประจำปี 2563 โดยผู้อำนวยการสำนักหอสมุดแห่งชาติ (นางสาวกนกอร ศักดาเดช) กล่าวรายงาน ณ ห้องประชุมใหญ่ สำนักหอสมุดแห่งชาติ    กิจกรรมดังกล่าวมุ่งเน้นการเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติในการจดแจ้งการพิมพ์ การกำหนดเลข ISBN และ ISSN ทั้งนี้มีผู้แทนจากสำนักพิมพ์ หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน เข้าร่วมกิจกรรม 80 คน และวันที่ 21 มกราคม 25623 เวลา 09.00 น. เป็นกิจกรรมต่อเนื่อง โดยให้ความรู้แก่ผู้ปฏิบัติงานของกรมศิลปากรเกี่ยวกับการจดแจ้งการพิมพ์ การกำหนดเลข ISBN และ ISSN

ภาพตัวอย่าง

สำนักหอสมุดแห่งชาติจัดกิจกรรมโครงการส่งเสริมการอ่านเพื่อสนับสนุนความร่วมมือระหว่างหอสมุดแห่งชาติประเทศอาเซียนและสาธารณรัฐเกาหลี

วันนี้ (15 มกราคม พ.ศ. 2563) เวลา 10.00 น. สำนักหอสมุดแห่งชาติจัดกิจกรรมโครงการส่งเสริมการอ่านเพื่อสนับสนุนความร่วมมือระหว่างหอสมุดแห่งชาติประเทศอาเซียนและสาธารณรัฐเกาหลี ภายใต้หัวข้อ "Read Me a Book : ASEAN-ROK is Reading" โดยในวันนี้จัดกิจกรรมพร้อมกัน 4 แห่ง ได้แก่ สำนักหอสมุดแห่งชาติ หอสมุดแห่งชาติชลบุรี ห้องสมุดโรงเรียนวัดมกุฏกษัตริยาราม และห้องสมุดโรงเรียนสตรีวรนาถ โดยได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านสำหรับเด็กและเยาวชน ได้แก่ การอ่านหนังสือออกเสียง และการเล่านิทาน เป็นต้น

ภาพตัวอย่าง

กิจกรรมวันเด็กแห่งชาติ หอสมุดแห่งชาติเขตลาดกระบังฯ ประจำปี 2563

วันที่ 11 มกราคม 2563 หอสมุดแห่งชาติเขตลาดกระบัง เฉลิมพระเกียรติ จัดงานวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2563 ณ บริเวณลานด้านหน้าหอสมุดแห่งชาติเขตลาดกระบัง เฉลิมพระเกียรติ การจัดกิจกรรมครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนได้ใกล้ชิดห้องสมุด รักการอ่านโดยใช้หอสมุดแห่งชาติเป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งศิลปวัฒนธรรมของชาติ ปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมและได้รับความรู้ควบคู่ไปกับความสนุกสนานเพลิดเพลินกับกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ เช่น กิจกรรม "จิ๊กว์ซอต่อความคิด" "ประดิษฐ์สมุดทำมือเล่มเดียวในโลก" และ "ลุ้นรับโชคของรางวัล" โดยมี ดร.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ สส.เขตลาดกระบัง เป็นประธานกล่าวเปิดงาน

ภาพตัวอย่าง

กิจกรรมวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2563

วันที่ 11 ม.ค.63 เวลา 09.00 น. อธิบดีกรมศิลปากร (นายประทีป เพ็งตะโก) เป็นประธานเปิดกิจกรรมวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2563 โดยรองอธิบดีกรมศิลปากร (นายพนมบุตร จันทรโชติ) กล่าวรายงาน ในโอกาสนี้ได้เยี่ยมชมกิจกรรมและจับสลากมอบของรางวัลให้กับเด็กๆ ณ สวนหย่อมด้านหน้าหอสมุดแห่งชาติ การจัดงานในปีนี้มุ่งเน้นให้ความรู้เกี่ยวกับการรักษาสิ่งแวดล้อม การเคารพกฎจราจร การเป็นพลเมืองที่ดี และการสร้างความสามัคคีผ่านกิจกรรม/เกมละเล่นส่งเสริมการอ่านที่สร้างสรรค์ “เด็กยุคใหม่ ใส่ใจรักษ์โลก” “เด็กยุคใหม่ รู้หน้าที่มีวินัย” “เด็กยุคใหม่ รู้รักสามัคคี” และ “เด็กยุคใหม่ ใส่ใจจราจร” ทั้งนี้มีเด็กและเยาวชนและผู้ปกครองร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก  

ภาพตัวอย่าง

กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึกบริจาคไม้ประกับคัมภีร์ใบลาน ณ วัดทองนพคุณ

วันนี้ (6 มกราคม 2563) เวลา 10.00 น. สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม โดย กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก ได้รับบริจาคไม้ประกับคัมภีร์ใบลาน จำนวน 200 คู่ จาก พระมหาสิงทอง โชติโก เลขาสำนักเรียนวัดทองนพคุณ เป็นผู้แทนพระเดชพระคุณพระธรรมเจดีย์ เจ้าอาวาสวัดทองนพคุณ เจ้าคณะภาค 11 และรับบริจาคผ้าห่อคัมภีร์ใบลาน จำนวน 200 ผืน จาก นางสาวอิสรีย์ นวกุลย์ชัย ณ วัดทองนพคุณ กรุงเทพมหานคร โดยมี นางสาวกนกอร ศักดาเดช ผู้อำนวยการสำนักหอสมุดแห่งชาติ เป็นประธานรับบริจาค เพื่อนำไม้ประกับและผ้าห่อคัมภีร์ใบลานดังกล่าวมาใช้ในการดูแลอนุรักษ์เอกสารโบราณประเภทคัมภีร์ใบลาน ณ สำนักหอสมุดแห่งชาติ และตามแหล่งเอกสารโบราณในส่วนภูมิภาค ทั้งนี้สำนักหอสมุดแห่งชาติ ได้ถวายหนังสือคู่มือการอ่านถ่ายถอดเอกสารโบราณ  :  อักษรธรรมอีสาน เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้แด่พระภิกษุสงฆ์ สามเณรต่อไป 

ภาพตัวอย่าง

การสำรวจเอกสารโบราณ ณ วัดอภัยทายาราม โดยกลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก

วันที่ 26 ธันวาคม 2562 เวลา 10.00-15.00 น. สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม โดย กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก ดำเนินการสำรวจเอกสารโบราณประเภทจารึก ณ วัดอภัยทายาราม (วัดมะกอก) กรุงเทพมหานคร สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 2340 ซึ่งได้เก็บรักษาจารึกแผ่นไม้ขนาดกว้าง 64.7 เซนติเมตร และ ยาว 353 เซนติเมตร ติดอยู่ที่ผนังภายในพระอุโบสถ ด้านหลังพระประธาน บันทึกด้วยอักษรไทย ภาษาไทย จำนวน 1 ด้าน มี 17 บรรทัด และเนื่องจากลักษณะแผ่นไม้มีสภาพชำรุด เป็นรูแหว่ง ทำให้ข้อความจารึกบางส่วนขาดหายไป ประกอบกับอักษรค่อนข้างลบเลือน จึงได้เชิญ นายเทิม มีเต็ม ผู้ทรงคุณวุฒิกรมศิลปากร เป็นที่ปรึกษา จากข้อความจารึกดังกล่าว เป็นเนื้อหาของ "เพลงยาวเจ้าฟ้ากรมขุนกระษัตรานุชิตทรงปฏิสังขรณ์วัดอไภยทาราม" จารึกขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2341 อนึ่ง เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ กรมขุนกษัตรานุชิต หรือ เจ้าฟ้าเหม็น เป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ประสูติกับเจ้าครอกฉิมใหญ่ พระราชธิดาพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ทั้งนี้ พระมหาสนิท สํวโร เจ้าอาวาสวัดอภัยทายาราม ได้อำนวยความสะดวกแก่คณะทำงานเป็นอย่างดี

ภาพตัวอย่าง

หอสมุดแห่งชาติจัดเสวนา เรื่อง "ปิยมหาราชรฦก" ประจำปี ๒๕๖๓ ครั้งที่ ๑

วันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๖๒ เวลา ๑๓.๓๐ น. นายพนมบุตร จันทรโชติ รองอธิบดีกรมศิลปากร เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมโครงการเผยแพร่พระเกียรติคุณในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ "สมเด็จพระปิยมหาราชของปวงชน” ประจำปี ๒๕๖๓ ครั้งที่ ๑ เสวนา เรื่อง "ปิยมหาราชรฦก" ณ อาคารถาวรวัตถุถนนหน้าพระธาตุ เขตพระนคร กรุงเทพฯ วิทยากรโดย นายบวรเวท รุ่งรุจี อดีตอธิบดี กรมศิลปากร นายบุญเตือน ศรีวรพจน์ อดีตผู้อำนวยการสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ และ ดร.วสุ โปษยะนันทน์ สถาปนิกเชี่ยวชาญ โดยมีนางสาวรัชนี ทรัพย์วิจิตร ข้าราชการบำนาญ กรมศิลปากร เป็นผู้ดำเนินรายการ มีผู้บริหาร เจ้าหน้าที่กรมศิลปากร และบุคคลภายนอก อาทิ ข้าราชการ นักวิชาการ นิสิต นักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว จำนวน ๘๖ คน แบ่งเป็นชาย ๔๒ คน หญิง ๔๔ คน

ภาพตัวอย่าง

พิธีรับมอบหนังสือจากศาสตราจารย์ เฉิน ฉังยู

วันเสาร์ที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๖๒ เวลา ๑๗.๐๐ น. ณ สำนักหอสมุดแห่งชาติ นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร เป็นประธานในพิธีรับมอบหนังสือเกี่ยวกับจีนศึกษา ประวัติศาสตร์ และโบราณคดี จากศาสตราจารย์ เฉิน ฉังยู ที่มอบให้กับสำนักหอสมุดแห่งชาติ โดยสิ่งพิมพ์ที่ได้รับในครั้งนี้ ได้แก่ หนังสือ จำนวน ๓,๔๕๗ เล่ม แบ่งเป็น ภาษาอังกฤษ ๓๘๓ เล่ม ภาษาจีน ๓,๐๗๔ เล่ม ให้บริการ ณ ห้องหนังสือนานาชาติ อาคาร ๑ ชั้น ๓ และวารสาร จำนวน ๗๒๓ ฉบับ แบ่งเป็น ภาษาอังกฤษ ๙๗ ฉบับ ภาษาจีน ๖๒๖ ฉบับ ให้บริการ ณ ห้องบริการวารสารและหนังสือพิมพ์ฉบับล่วงเวลา อาคาร ๑ ชั้น ๔ ประชาชนทั่วไปสามารถเข้ารับบริการได้ทุกวันที่หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ นอกจากนี้ สำนักหอสมุดแห่งชาติ ได้จัดนิทรรศการหนังสือจากศาสตราจารย์ เฉิน ฉังยู ณ ห้องโถงกลาง ชั้น ๑ สำนักสมุดแห่งชาติ เปิดให้เข้าชมตั้งแต่บัดนี้ จนถึงวันเด็กแห่งชาติ วันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๖๓

ภาพตัวอย่าง

การสำรวจเอกสารโบราณประเภทจารึก อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง

วันที่ 19 ธันวาคม 2562 เวลา 09.00-17.00 น. สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม โดย กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก ดำเนินการสำรวจเอกสารโบราณประเภทจารึก ณ ปราสาทเมืองต่ำ อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ ตามที่สำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา ได้แจ้งว่าอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง สำรวจพบร่องรอยคล้ายตัวอักษรบนเสาประตูท่าน้ำด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของปราสาทเมืองต่ำ จำนวน 1 จุด ดังนั้น สำนักหอสมุดแห่งชาติ จึงได้มอบให้ นายจุง ดิบประโคน นักภาษาโบราณชำนาญการพิเศษ และคณะ เดินทางไปตรวจสอบ จัดทำสำเนาจารึกและสำเนาภาพถ่าย ระหว่างวันที่ 18-20 ธันวาคม 2562 โดยเชิญ นายเทิม มีเต็ม ผู้ทรงคุณวุฒิกรมศิลปากร เป็นที่ปรึกษา และนักภาษาโบราณจากหอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ ร.9 นครราชสีมา ร่วมเป็นคณะทำงาน จากการตรวจสอบรูปอักษรที่ปรากฏในจารึก พบว่าบันทึกด้วยอักษรขอมโบราณ สันนิษฐานว่ามีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 16 - 17 ส่วนรายละเอียดจะดำเนินการอ่านถ่ายถอด แปล และศึกษา วิเคราะห์รูปแบบอักษร ภาษา และเนื้อหาของจารึกตามหลักวิชาการต่อไป

ภาพตัวอย่าง

กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก ได้รับบริจาคเอกสารโบราณ จาก สิรณะ หริมเทพาธิป

วันที่ 11 ธันวาคม 2562 เวลา 15.30 น. สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม โดย กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก ได้รับบริจาคเอกสารโบราณประเภทคัมภีร์ใบลาน จาก สิรณะ หริมเทพาธิป จำนวน 1 รายการ โดยมี นางสาวเอมอร เชาวน์สวน นักภาษาโบราณเชี่ยวชาญ สำนักหอสมุดแห่งชาติ และนายดิษพงศ์ เนตรล้อมวงศ์ ภัณฑารักษ์ชำนาญการพิเศษ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เป็นพยานในการรับบริจาค ซึ่งนักภาษาโบราณได้ตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าเป็นเรื่อง สินไซ หรือสังข์ศิลป์ชัย บันทึกด้วยอักษรไทยน้อย ภาษาไทยอีสาน ทั้งนี้ สำนักหอสมุดแห่งชาติต้องดำเนินการดูแลอนุรักษ์ ลงทะเบียน และจัดเก็บตามหลักวิชาการ เพื่อให้บริการศึกษาค้นคว้าแก่นักวิชาการ อาจารย์ นักศึกษา และประชาชนผู้สนใจต่อไป

ภาพตัวอย่าง

กิจกรรม NLT EDUTAINMENT ปีที่ 3 ครั้งที่ 2

       วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2562 เวลา 13.00-15.00 น. สำนักหอสมุดแห่งชาติจัดกิจกรรมสร้างแรงบันดาลใจเพื่อสร้างสังคมแห่งการอ่าน NLT Edutainment ประจำปี 2563 ครั้งที่ 2 โดยมีนางสาวกนกอร ศักดาเดช ผู้อำนวยการสำนักหอสมุดแห่งชาติ เป็นผู้มอบของที่ระลึก ให้กับวิทยากร และร่วมกิจกรรม ณ ห้องประชุมใหญ่ #หอสมุดแห่งชาติ โดยในกิจกรรมครั้งนี้ ได้เชิญศิลปินวง BetterWeather มาร่วมพูดคุยกันในหัวข้อ "You are what you read อ่านอย่างคลั่งไคล้ ในวันที่อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย" และแสดง mini concert ทั้งนี้มีนักเรียน นักศึกษา แฟนคลับ และประชาชนทั่วไป ให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมาก

ภาพตัวอย่าง

โครงการสำรวจเอกสารโบราณ ปีงบประมาณ 2563 ครั้งที่ 1

วันที่ 4 ธันวาคม 2562 สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม โดย กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก ดำเนินงานโครงการสำรวจเอกสารโบราณ ประจำปีงบประมาณ 2563 ครั้งที่ 1 ณ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดคงคาราม ตำบลคลองตาคต อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ระหว่างวันที่ 28 พฤศจิกายน - 4 ธันวาคม 2562 โดยเชิญนายพิศาล บุญผูก ผู้เชี่ยวชาญด้านมอญศึกษาและวรรณกรรม จาก ศูนย์ซีมีโอ สปาฟา เป็นที่ปรึกษาในการดำเนินงานครั้งนี้ ซึ่งคณะเจ้าหน้าที่ได้สำรวจ ดูแลรักษา ลงทะเบียน และจัดเก็บเอกสารโบราณ จำนวน 315 รายการ ดังนี้1. คัมภีร์ใบลาน อักษรมอญ ภาษาบาลี-มอญ จำนวน 160 มัด 283 รายการ2. หนังสือสมุดไทย อักษรมอญ-ไทย ภาษามอญ -บาลี-ไทย จำนวน 32 รายการอนึ่ง เอกสารโบราณที่ดำเนินการดูแลรักษา ลงทะเบียนและจัดเก็บตามหลักวิชาการในครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นนิทานพื้นบ้านและวรรณกรรมมอญ ที่แต่งขึ้นโดย พระอาจารย์อะเฟาะมหาเถระ ซึ่ง อาจารย์พิศาล บุญผูกได้ให้ข้อมูลว่าพระอาจารย์อะเฟาะ เกิดราว พ.ศ.2243 และมีอายุถึงประมาณ พ.ศ.2324 อายุประมาณ 83 ปี ได้แต่งวรรณกรรมไว้มากมาย เพื่อให้การศึกษาธรรมะได้เผยแผ่อย่างกว้างขวางและสืบสานให้ยั่งยืนต่อไปทั้งนี้ พระครูสันตยาภิรัต เจ้าอาวาสวัดคงคาราม มีเมตตามอบให้พระภิกษุสงฆ์ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน อำนวยความสะดวกแก่คณะทำงานเป็นอย่างดีตลอดการปฏิบัติงาน

ภาพตัวอย่าง

รศ.ดร.นวลศิริ เปาโรหิตย์ บริจาคเอกสารโบราณให้แก่กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก ในนามของ "ทายาทเจ้าพระยามุขมนตรี"

       วันที่ 29 พฤศจิกายน 2562 เวลา 15.30 น. สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม โดย กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก ได้รับบริจาคเอกสารโบราณประเภทหนังสือสมุดไทย จาก รศ.ดร.นวลศิริ เปาโรหิตย์ มอบในนามของ "ทายาทเจ้าพระยามุขมนตรี" จำนวน 52 รายการ โดยมี นางสาวกนกอร ศักดาเดช ผู้อำนวยการสำนักหอสมุดแห่งชาติ เป็นประธานรับบริจาค จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าหนังสือสมุดไทยบันทึกด้วยอักษรไทยและอักษรขอม มีสภาพชำรุด ดังนั้น สำนักหอสมุดแห่งชาติต้องดำเนินการดูแลอนุรักษ์ ลงทะเบียน และจัดเก็บตามหลักวิชาการ เพื่อให้บริการศึกษาค้นคว้าแก่นักวิชาการ อาจารย์ นักศึกษา และประชาชนผู้สนใจต่อไป

ภาพตัวอย่าง

โครงการสำรวจเอกสารโบราณ ปีงบประมาณ 2563 จ.ราชบุรี

วันที่ 29 พฤศจิกายน 2562 สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม โดย กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก ดำเนินงานโครงการสำรวจเอกสารโบราณ ปีงบประมาณ 2563 จังหวัดราชบุรี ณ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดคงคาราม ตำบลคลองตาคต อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน - 4 ธันวาคม 2562 โดยเชิญ นายพิศาล บุญผูก ผู้เชี่ยวชาญด้านมอญศึกษาและวรรณกรรม จาก ศูนย์ซีมีโอ สปาฟา เป็นที่ปรึกษาในการดำเนินงานสำรวจ ดูแลรักษา ลงทะเบียน และจัดเก็บเอกสารโบราณตามหลักวิชาการของสำนักหอสมุดแห่งชาติ เพื่อดูแลอนุรักษ์ รักษา และสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมด้านอักษรและภาษาของชาติให้คงอยู่อย่างยั่งยืน

ภาพตัวอย่าง

กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก รับบริจาคเอกสารโบราณประเภทหนังสือสมุดไทยจากวัดป้อมวิเชียรโชติการาม

วันที่ 28 พฤศจิกายน 2562 เวลา 12.30 น. สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม โดย กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก ได้รับบริจาคเอกสารโบราณประเภทหนังสือสมุดไทย จำนวน 88 รายการ จาก พระเดชพระคุณ พระราชปริยัติคุณ เจ้าอาวาสวัดป้อมวิเชียรโชติการาม พระอารามหลวง อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร โดยมี นายทีปวัจน์ วัชรศิริอมร ผู้อำนวยการกลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก เป็นผู้รับมอบ และนายพิศาล บุญผูก ผู้เชี่ยวชาญด้านมอญศึกษาและวรรณกรรม จากศูนย์ซีมีโอ สปาฟา เป็นพยานในการรับมอบ ในการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้น เอกสารโบราณที่ได้รับบริจาคนี้บันทึกด้วยอักษรมอญ อักษรขอม และอักษรไทย ทั้งนี้ เนื่องจากหนังสือสมุดไทยส่วนใหญ่มีสภาพชำรุด สำนักหอสมุดแห่งชาติต้องดำเนินการดูแลอนุรักษ์ ลงทะเบียน และจัดเก็บตามหลักวิชาการ และให้บริการศึกษาค้นคว้าแก่นักวิชาการ อาจารย์ นักศึกษา และประชาชนผู้สนใจต่อไป



เว็บไซต์ของเรามีการใช้งานคุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานให้กับผู้ใช้งาน ทั้งนี้ สามารถมั่นใจได้ว่าเราจะดูแลและรักษาความปลอดภัยข้อมูลของท่านเป็นอย่างดี