โครงการ/กิจกรรม

for w3c
ภาพตัวอย่าง

กิจกรรมการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง "การเขียนลายรดน้ำลงบนไม้"

วันที่ 30 เมษายน 2566 เวลา 13.00 - 16.00 น. สำนักหอสมุดแห่งชาติจัดกิจกรรมการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง "การเขียนลายรดน้ำลงบนไม้" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ ร.ศ. 242 ชมตู้ลายทอง สืบสานงานศิลป์ โดยมีนายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เป็นประธานในพิธีเปิดและเข้าร่วมฝึกอบรม มีนางสาวเนาวรัตน์ ปัญญางาม ผู้อำนวยการสำนักหอสมุดแห่งชาติ กล่าวรายการ โดยการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ ได้รับความอนุเคราะห์วิทยากรจากสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร มีพระสงฆ์ ประชาชนทั่วไป นักเรียนและนักศึกษาให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรม ณ ห้องประชุมอาคารถาวรวัตถุ (ตึกแดง) ถนนหน้าพระธาตุ กรุงเทพฯ

ภาพตัวอย่าง

กิจกรรมรดน้ำขอพรผู้อาวุโส สืบสานประเพณีสงกรานต์ ประจำปี 2566

วันที่ 12 เมษายน 2566 เวลา 14.00 น. สำนักหอสมุดแห่งชาติจัดกิจกรรมรดน้ำขอพรผู้อาวุโส สืบสานประเพณีสงกรานต์ ประจำปี 2566 โดยมีอาจารย์เทิม มีเต็ม ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมศิลปากร ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาตะวันออก นางสาวพิมพ์พรรณ ไพบูลย์หวังเจริญ นักอักษรศาสตร์ทรงคุณวุฒิ และนางสาวเนาวรัตน์ ปัญญางาม ผู้อำนวยการสำนักหอสมุดแห่งชาติ ร่วมสรงน้ำพระพุทธรูปตามประเพณีไทย และให้พรแก่คณะข้าราชการและเจ้าหน้าที่ เนื่องในวันขึ้นปีใหม่ไทยและเทศกาลสงกรานต์ ณ บริเวณหน้าห้องวชิรญาณ ชั้น 1 อาคาร 2 สำนักหอสมุดแห่งชาติ

ภาพตัวอย่าง

ผู้แทนจากสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ประจำประเทศไทย รับมอบหนังสือจากสำนักหอสมุดแห่งชาติ

วันที่ 4 เมษายน 2566 เวลา 13.30-14.30 น. Mr. Sultan Alkaabi  (First Secretary of the Embassy of the UAE Bangkok) และ Ms. Lolita Marie Lundbaek Sirarojanakul  (Executive Assistant to Ambassador’s office) ผู้แทนจากสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ประจำประเทศไทย รับมอบหนังสือที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจของประเทศไทย เพื่อนำไปเผยแพร่และให้บริการ ณ ห้องสมุดกระทรวงต่างประเทศ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยมีนางสาวเนาวรัตน์ ปัญญางาม ผู้อำนวยการสำนักหอสมุดแห่งชาติ เป็นผู้มอบหนังสือ และมีผู้บริหารและข้าราชการสำนักหอสมุดแห่งชาติให้การต้อนรับและพาเยี่ยมชมห้องบริการต่าง ๆ ของสำนักหอสมุดแห่งชาติ

ภาพตัวอย่าง

กิจกรรมส่งเสริมการอ่านสำหรับผู้สูงอายุ ประจำปี 2566

วันที่ 4 เมษายน 2566 เวลา 09.00-12.00 น. สำนักหอสมุดแห่งชาติจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านสำหรับผู้สูงอายุ ประจำปี 2566 การบรรยายและฝึกปฏิบัติเรื่อง “บันทึกสุขใจ สูงวัยเป็นสุข” โดยมีนายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เป็นประธานเปิดกิจกรรม มีนางสาวเนาวรัตน์ ปัญญางาม ผู้อำนวยการสำนักหอสมุดแห่งชาติ เป็นผู้กล่าวรายงาน และนายแสนยากร อุ่นมีศรี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม กรุงเทพมหานคร กล่าวต้อนรับ ณ ศูนย์บริการผู้สูงอายุดินแดง สำนักพัฒนาสังคม กรุงเทพมหานคร กิจกรรมดังกล่าวจัดในรูปแบบการบรรยายถ่ายทอดความรู้และฝึกปฏิบัติการทำสมุดบันทึก รวมไปถึงยังมีการแนะนำการอ่านที่สามารถใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้สามารถดูแลตัวเองได้ และเป็นการเตรียมพร้อมเพื่อนการเป็นผู้สูงวัยที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี ผู้เข้าร่วมกิจกรรมประกอบด้วยผู้สูงอายุ ประชาชนผู้สนใจ บุคลากรสำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร และบุคลากรศูนย์บริการผู้สูงอายุดินแเดง สำนักพัฒนาสังคม กรุงเทพมหานคร

ภาพตัวอย่าง

กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน NLT Edutainment ปีที่ 6 ครั้งที่ 3

วันที่ 3 เมษายน 2566 เวลา 13.00-15.00 น. สำนักหอสมุดแห่งชาติจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน NLT Edutainment ปีที่ 6 ครั้งที่ 3 การบรรยายเรื่อง "มหาธีรราชดำริ ในการนำสยามสู่ความเป็นอารยะด้วยหนังสือ" โดยได้รับความกรุณาจากรองศาสตราจารย์ ดร.ชัชพล ไชยพร" รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรองเลขาธิการมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นวิทยากรถ่ายทอดเรื่องราวพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงวางรากฐานความเป็นอารยะให้แก่สยามโดยการใช้หนังสือ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้แก่ บุคลากรกรมศิลปากร นักศึกษาและประชาชนทั่วไป ณ โถงกลาง ชั้น 1 อาคาร 1 สำนักหอสมุดแห่งชาติ นอกจากนี้ยังมีผู้เข้าถึงการถ่ายทอดสดผ่านทาง Facebook Live ของหอสมุดแห่งชาติด้วย

ภาพตัวอย่าง

กิจกรรม "จิตอาสาพัฒนา เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี"

วันที่ 31 มีนาคม 2566 เวลา 15.30 น. นายบพิตร วิทยาวิโรจน์ รองอธิบดีกรมศิลปากร เป็นประธานเปิดกิจกรรม "จิตอาสาพัฒนา เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี" ณ บริเวณลานหน้าเสาธง สำนักหอสมุดแห่งชาติ โดยมีนางสาวเนาวรัตน์ ปัญญางาม บรรณารักษ์ชำนาญการพิเศษ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักหอสมุดแห่งชาติ เป็นผู้กล่าวรายงาน กิจกรรมนี้จัดขึ้นเพื่อแสดงออกซึ่งความจงรักภักดี ความสมัครสมานสามัคคี และความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวันที่ 2 เมษายนของทุกปี ด้วยการสร้างความตระหนักถึงความมีจิตสาธารณะ ความเสียสละ เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม โดยแสดงพลังจิตอาสาบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ร่วมกันทำความสะอาดบริเวณโดยรอบอาคารหอสมุดแห่งชาติ ให้สะอาด สวยงาม เป็นระเบียบเรียบร้อย อีกทั้งเป็นการสร้างความสามัคคีและความสัมพันธ์อันดีระหว่างบุคลากร โดยมีคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของสำนักหอสมุดแห่งชาติ เข้าร่วมกิจกรรมอย่างพร้อมเพรียงกัน

ภาพตัวอย่าง

คณะผู้บริหารสำนักหอสมุดแห่งชาติ ร่วมรับฟังการนำเสนอผลการฝึกประสบการณ์วิชาชีพของนักศึกษาม.สารคาม และ ม.สวนดุสิต

วันที่ 24 มีนาคม 2566 เวลา 13.30 น. คณะผู้บริหารสำนักหอสมุดแห่งชาติร่วมรับฟังการนำเสนอผลการฝึกประสบการณ์วิชาชีพของนักศึกษาโดยมีนางสาวบุบผา ชูชาติ ผู้อำนวยการกลุ่มบริการทรัพยากรสารสนเทศ เป็นประธานมอบเกียรติบัตรแก่นักศึกษาจากสถาบันการศึกษา 2 แห่ง จำนวน 3 ราย ได้แก่ สาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จำนวน 1 ราย และสาขาวิชาภาษาและการสื่อสาร คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต จำนวน 2 ราย ณ ห้องประชุม 2203 ชั้น 2 อาคาร 2 หอสมุดแห่งชาติ  

ภาพตัวอย่าง

คณะผู้บริหารสำนักหอสมุดแห่งชาติ ร่วมรับฟังการนำเสนอผลการฝึกประสบการณ์วิชาชีพและสหกิจศึกษา

วันที่ 17 มีนาคม 2566 เวลา 09.30 น. คณะผู้บริหารสำนักหอสมุดแห่งชาติร่วมรับฟังการนำเสนอผลการฝึกประสบการณ์วิชาชีพและสหกิจศึกษา โดยมีนางสาวบุบผา ชูชาติ ผู้อำนวยการ กลุ่มบริการทรัพยากรสารสนเทศ เป็นประธานมอบเกียรติบัตรแก่นักศึกษาจากสถาบันการศึกษา จำนวน 4 แห่ง จำนวน 9 ราย ได้แก่ สาขาวิชาสารสนเทศศาสตร์และบรรณารักษศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช สาขาวิชาสารสนเทศศาสตร์และบรรณารักษศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี สาขาวิชาการจัดการสารสนเทศ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และสาขาวิชาดนตรี คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ณ ห้องประชุม 2203 ชั้น 2 อาคาร 2 สำนักหอสมุดแห่งชาติ

ภาพตัวอย่าง

คณะเจ้าหน้าที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงเตาปูน - ราษฏร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) เข้าเยี่ยมชมหอสมุดแห่งชาติ

วันที่ 15 มีนาคม 2566 เวลา 14.00 น. นางสาวเนาวรัตน์ ปัญญางาม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักหอสมุดแห่งชาติ และผู้บริหารสำนักหอสมุดแห่งชาติ กล่าวต้อนรับและนำชมคณะเจ้าหน้าที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน - ราษฏร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ซึ่งประกอบด้วย เจ้าหน้าที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ที่ปรึกษาบริหารโครงการและควบคุมการก่อสร้างงานโยธา 1-2 และผู้รับจ้างในส่วนงานเกี่ยวข้องกับการออกแบบสถาปัตยกรรมสถานีหอสมุดแห่งชาติ จำนวน 21 คน ที่เข้าเยี่ยมชมหอสมุดแห่งชาติ เพื่อเป็นแนวทางในการออกแบบสถานีหอสมุดแห่งชาติ

ภาพตัวอย่าง

พิธีแถลงข่าวส่งมอบผลงาน โครงการความร่วมมือระหว่างวัดเบญจมบพิตรกับกรมศิลปากร

วันที่ ๑๕ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖ เวลา ๐๙.๐๐ น. นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เป็นประธานในพิธีแถลงข่าวส่งมอบผลงานโครงการความร่วมมือระหว่างวัดเบญจมบพิตรกับกรมศิลปากรเพื่อเผยแพร่ผลงานการอนุรักษ์เอกสารโบราณวัดเบญจมบพิตร โดยถวายคัมภีร์ใบลานที่ได้รับการอนุรักษ์แล้ว พร้อมหนังสือบัญชีทะเบียนเอกสารโบราณวัดเบญจมบพิตร แด่เจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตร พร้อมทั้งมอบเกียรติบัตรแก่ภาคีเครือข่ายอาสาสมัครท้องถิ่นในการดูแลรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรม (อส.มศ.) ผู้ปฏิบัติงานอนุรักษ์เอกสารโบราณ ณ วัดเบญจมบพิตร เขตดุสิต กรุงเทพฯ  อธิบดีกรมศิลปากรกล่าวว่า โครงการความร่วมมือระหว่างวัดเบญจมบพิตรกับกรมศิลปากรเพื่อเผยแพร่ผลงานการอนุรักษ์เอกสารโบราณวัดเบญจมบพิตร ดำเนินการต่อเนื่องจากโครงการอนุรักษ์เอกสารโบราณวัดเบญจมบพิตร ปีงบประมาณ ๒๕๖๕ ตั้งแต่วันที่ ๘ กันยายน ๒๕๖๕ ถึงวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ รวมระยะเวลา ๕ เดือน ในการปฏิบัติงานอนุรักษ์ ได้บูรณาการประสานความร่วมมือระหว่างกรมศิลปากร คณะสงฆ์ และประชาชน สร้างการรับรู้อย่างเป็นรูปธรรม เกิดเครือข่ายอาสาสมัครท้องถิ่นในการดูแลรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรม (อส.มศ.) รุ่นแรกในส่วนกลาง ซึ่งเป็นรุ่นบุกเบิกของการสร้างเครือข่ายดูแลรักษาเอกสารโบราณให้ขยายวงกว้างออกไป โดยการดำเนินการดังกล่าวสอดรับพันธกิจกรมศิลปากรที่ต้องธำรงรักษา อนุรักษ์ สืบสาน มรดกทางศิลปวัฒนธรรมซึ่งเป็นภูมิปัญญาของบรรพชนจากรุ่นสู่รุ่นให้คงอยู่สืบไป ความสำเร็จของการดำเนินงานครั้งนี้จึงถือเป็นก้าวสำคัญที่สร้างความมั่นใจในการเป็นผู้นำการอนุรักษ์ให้กับประชาชน และสร้างการรับรู้แก่ชุมชนท้องถิ่นที่อยู่ใกล้ชิดเอกสารโบราณ โดยมีวัดเป็นแหล่งเอกสารโบราณ และคณะสงฆ์เป็นผู้เก็บรักษาสมบัติล้ำค่าเหล่านี้ไว้ สรุปผลความสำเร็จของการดำเนินงานได้ ดังนี้ ๑. กรมศิลปากร ได้ดำเนินการอนุรักษ์จัดทำทะเบียนเอกสารโบราณ ซึ่งเป็นการจัดระบบเอกสารโบราณ เพื่อให้บริการตามหลักวิชาการ ดำเนินการออกเลขทะเบียนบัญชีรายชื่อเอกสารโบราณประเภทคัมภีร์ใบลาน จำนวนมากถึง ๔๒๕ มัด ออกรหัสเลขที่ได้ ๗๑๙ เลขที่ รวมทั้งสิ้นจำนวน ๖,๒๗๕ ผูก และเอกสารโบราณ ประเภทหนังสือสมุดไทย จำนวน ๖ เล่ม ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งเอกสารโบราณกลางกรุงที่ใหญ่มาก และได้รับการพัฒนาไปสู่แหล่งเรียนรู้อีกระดับหนึ่ง  ๒. ความสำคัญของเอกสารโบราณเหล่านี้ไม่แพ้ความสำคัญของวัด โดยเฉพาะคัมภีร์ใบลานมีการสืบสายธารแห่งประวัติศาสตร์ไม่ขาดสาย ถึง ๓ สมัย ได้แก่ คัมภีร์ใบลานสมัยอยุธยา สมัยธนบุรี และสมัยรัตนโกสินทร์ รวมแล้วไม่ต่ำกว่า ๑๕๐ ผูก และพบคัมภีร์ที่เก่าแก่แต่ละสมัย ดังนี้ สมัยอยุธยา ได้แก่ วบจ.๒๒-๒๕  (วัดเบญจมบพิตร เลขที่ ๒๒-๒๕) เรื่อง วิมติวิโนทนี วินยฎีกา สมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาทอง พ.ศ.๒๑๘๖ อายุ ๓๘๐ ปี สมัยธนบุรี ได้แก่ วบจ.๓๓๘ (วัดเบญจมบพิตร เลขที่ ๓๓๘) เรื่อง สารสังคหะ สมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พ.ศ.๒๓๒๐ อายุ ๒๔๖ ปี สมัยรัตนโกสินทร์ ได้แก่ วบจ.๒๗๑ (วัดเบญจมบพิตร เลขที่ ๒๗๑) เรื่อง ธรรมบทอัฏฐกถา สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (ร.๑) พ.ศ.๒๓๒๘ อายุ ๒๓๘ ปี   ๓. พบคัมภีร์ใบลานสมัยรัตนโกสินทร์ที่สืบต่อกันตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๖ ทำให้เห็นว่าวัดเบญจมบพิตรเป็นแหล่งเอกสารโบราณที่สามารถศึกษาเปรียบเทียบยุคสมัยของตัวอักษรแต่ละรัชกาลได้ในแหล่ง เอกสารเดียวกัน พร้อมกันนี้ยังศึกษาประวัติศาสตร์การสร้างคัมภีร์ถวายในพระพุทธศาสนาในช่วงเปลี่ยนผ่านจาก ใบลานสู่กระดาษแบบฝรั่ง  ๔. สมัยรัชกาลที่ ๕ มีการปริวรรตพระไตรปิฎกจากอักษรขอมเป็นอักษรไทยจัดพิมพ์เป็นพระไตรปิฎก ฉบับพิมพ์อักษรไทยเป็นครั้งแรกของโลก หลังจากนั้นจึงไม่มีการผลิตซ้ำทำเพิ่มคัมภีร์ใบลาน แต่ในความเป็นจริง คัมภีร์ใบลานยังคงความศักดิ์สิทธิ์และศรัทธาสืบมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๖ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้สร้างคัมภีร์ใบลานถวายไว้ในพระพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก และเจาะจงสร้างถวายเป็นการเฉพาะสำหรับวัดเบญจมบพิตร อีกด้วย ตัวอย่างเช่น คัมภีร์ใบลาน เลขที่ ๕๒๔ เรื่อง เวสสันตรชาตกกถาก พ.ศ. ๒๔๖๑ อายุ ๑๐๕ ปี   ๕. ข้อสันนิษฐาน คัมภีร์ใบลาน เลขที่ วบจ.๑๖๑ เรื่อง มังคลัตถทีปนี ใช้นามผู้สร้างว่า “เจ้าทับ” พ.ศ. ๒๓๘๖ อายุ ๑๘๐ ปี ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และสอดคล้องกับพระนามเดิมของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงสันนิษฐานว่า ร.๓ สร้างเป็นการส่วนพระองค์จึงให้ชื่อว่า “เจ้าทับ” ตามพระนามเดิมของพระองค์ ไม่ประทับตราพระราชลัญจกร   ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่ทำให้มรดกภูมิปัญญาและแหล่งศึกษาเรียนรู้นี้มีประโยชน์และทรงคุณค่าต่อไป คือการเผยแพร่ต่อสาธารณชนให้ผู้สนใจและใฝ่รู้ทั้งหลายได้หันมามองสิ่งอันเป็นมรดกศิลปวัฒนธรรมเหล่านี้อย่างจริงจัง ย่อมสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับประเทศไทย ดังคำกล่าวที่ว่าวัฒนธรรมสร้างชาตินั่นเอง

ภาพตัวอย่าง

พิธีมอบเกียรติบัตรรับรองการฝึกประสบการณ์วิชาชีพแก่นักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

วันที่ 8 มีนาคม 2566 เวลา 10.00 น. นางสาวเนาวรัตน์ ปัญญางาม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักหอสมุดแห่งชาติ และคณะผู้บริหารสำนักหอสมุดแห่งชาติ ร่วมรับฟังการนำเสนอผลการฝึกประสบการณ์วิชาชีพ โดยนางสาวเนาวรัตน์ ปัญญางาม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักหอสมุดแห่งชาติ เป็นประธานมอบเกียรติบัตรรับรองการฝึกประสบการณ์วิชาชีพแก่นักศึกษาสาขาวิชาสารสนเทศศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา จำนวน 4 คน ณ ห้องประชุม 2203 ชั้น 2 อาคาร 2 สำนักหอสมุดแห่งชาติ

ภาพตัวอย่าง

โครงการสำรวจเอกสารโบราณ ประจำปีงบประมาณ 2566 ครั้งที่ 3

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ - 2 มีนาคม 2566 สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม โดยกลุ่มงานสำรวจเอกสารโบราณ กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึกได้ดำเนินโครงการสำรวจเอกสารโบราณ ประจำปีงบประมาณ 2566 ครั้งที่ 3 ณ จังหวัดนครสวรรค์ สุโขทัยและอุตรดิตถ์ โดยมีผู้ปฏิบัติงานตามโครงการจำนวน 4 รายดังนี้           1) นางสาววชรพร อังกูรชัชชัย นักภาษาโบราณชำนาญการ (หัวหน้ากลุ่มงานสำรวจเอกสารโบราณ)              2) นายสันติ วงศ์จรูญลักษณ์ นักภาษาโบราณชำนาญการ           3) นายจามีกร ชูทรัพย์ นักภาษาโบราณปฏิบัติการ            4) นายธน ซึมไพศาล พนักงานขับรถยนต์  คณะทำงานได้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับเอกสารโบราณประเภทจารึก คัมภีร์ใบลานและหนังสือสมุดไทย จำนวน 2 พื้นที่ ดังต่อไปนี้ 1. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสวรรควรนายก อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย ได้สำรวจดูแลอนุรักษ์เบื้องต้น พร้อมทั้งจัดทำทะเบียนคัมภีร์ใบลานและหนังสือสมุดไทย จากการสำรวจพบการอักษรขอม อักษรขอมหวัด และอักษรไทย ภาษาที่ใช้บันทึกมีทั้งภาษาไทยและบาลี โดยมีผลการดำเนินงาน ดังนี้    - คัมภัร์ใบลาน จำนวน 102 รายการ จัดทำทะเบียนได้ 21 เลขที่  จัดมัดได้ 10  มัด    - หนังสือสมุดไทย จำนวน 8 รายการ แยกประเภทได้ 6 หมวด คณะทำงานขอขอบคุณหัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สวรรควรนายกที่อนุญาตให้เข้าปฏิบัติงาน และมอบหมายให้เจ้าหน้าที่มาช่วยปฏิบัติงาน ระหว่างวันที่ 22-24 กุมภาพันธ์ 2566 มีรายนามดังนี้           1) นางสาวสุกัญญา พงศ์เจริญศิริกุล ภัณฑารักษ์ชำนาญการ (หัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สวรรควรนายก)           2) นางสาววัลวิภา สันต์สุขเสริม ภัณฑารักษ์ปฏิบัติการ           3) นางสุวรรณ ลวดลาย เจ้าพนักงานพิพิธภัณฑ์ชำนาญงาน 2. วัดม่อนปรางค์ อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ (งานต่อเนื่อง ครั้งที่ 4) ได้สำรวจเอกสารโบราณประเภทคัมภีร์ใบลาน อักษรธรรมล้านนา ภาษาไทยและบาลี มีผลการดำเนินงานดังนี้    - คัมภีร์ใบลาน จำนวน 577 รายการ ลงทะเบียนได้ 123 เลขที่ จัดมัดได้ จำนวน 55 มัด คณะทำงานได้รับความเมตตาจาก พระสมุห์สมิง คุณธมฺมโม เจ้าอาวาสวัดม่อนปรางค์ อนุญาตให้เข้าไปปฏิบัติงานภายในวัด ระหว่างวันที่ 25 กุมภาพันธ์ - 2 มีนาคม 2566 และขอบขอบพระคุณนางสาวอิสรีย์ นวกุลย์ชัย ผู้มีจิตศรัทธาภาคประชาชน เป็นผู้สนับสนุนการอนุรักษ์มรดกไทยดีเด่น ประจำปี 2563 และคณะได้บริจาคผ้าห่อคัมภีร์ใบลาน และไม้ประกับคัมภีร์ใบลานเพื่อการอนุรักษ์เอกสารโบราณ



เว็บไซต์ของเรามีการใช้งานคุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานให้กับผู้ใช้งาน ทั้งนี้ สามารถมั่นใจได้ว่าเราจะดูแลและรักษาความปลอดภัยข้อมูลของท่านเป็นอย่างดี