โครงการ/กิจกรรม

for w3c
ภาพตัวอย่าง

คณะเจ้าหน้าที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงเตาปูน - ราษฏร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) เข้าเยี่ยมชมหอสมุดแห่งชาติ

วันที่ 15 มีนาคม 2566 เวลา 14.00 น. นางสาวเนาวรัตน์ ปัญญางาม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักหอสมุดแห่งชาติ และผู้บริหารสำนักหอสมุดแห่งชาติ กล่าวต้อนรับและนำชมคณะเจ้าหน้าที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน - ราษฏร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ซึ่งประกอบด้วย เจ้าหน้าที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ที่ปรึกษาบริหารโครงการและควบคุมการก่อสร้างงานโยธา 1-2 และผู้รับจ้างในส่วนงานเกี่ยวข้องกับการออกแบบสถาปัตยกรรมสถานีหอสมุดแห่งชาติ จำนวน 21 คน ที่เข้าเยี่ยมชมหอสมุดแห่งชาติ เพื่อเป็นแนวทางในการออกแบบสถานีหอสมุดแห่งชาติ

ภาพตัวอย่าง

พิธีแถลงข่าวส่งมอบผลงาน โครงการความร่วมมือระหว่างวัดเบญจมบพิตรกับกรมศิลปากร

วันที่ ๑๕ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖ เวลา ๐๙.๐๐ น. นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เป็นประธานในพิธีแถลงข่าวส่งมอบผลงานโครงการความร่วมมือระหว่างวัดเบญจมบพิตรกับกรมศิลปากรเพื่อเผยแพร่ผลงานการอนุรักษ์เอกสารโบราณวัดเบญจมบพิตร โดยถวายคัมภีร์ใบลานที่ได้รับการอนุรักษ์แล้ว พร้อมหนังสือบัญชีทะเบียนเอกสารโบราณวัดเบญจมบพิตร แด่เจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตร พร้อมทั้งมอบเกียรติบัตรแก่ภาคีเครือข่ายอาสาสมัครท้องถิ่นในการดูแลรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรม (อส.มศ.) ผู้ปฏิบัติงานอนุรักษ์เอกสารโบราณ ณ วัดเบญจมบพิตร เขตดุสิต กรุงเทพฯ  อธิบดีกรมศิลปากรกล่าวว่า โครงการความร่วมมือระหว่างวัดเบญจมบพิตรกับกรมศิลปากรเพื่อเผยแพร่ผลงานการอนุรักษ์เอกสารโบราณวัดเบญจมบพิตร ดำเนินการต่อเนื่องจากโครงการอนุรักษ์เอกสารโบราณวัดเบญจมบพิตร ปีงบประมาณ ๒๕๖๕ ตั้งแต่วันที่ ๘ กันยายน ๒๕๖๕ ถึงวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ รวมระยะเวลา ๕ เดือน ในการปฏิบัติงานอนุรักษ์ ได้บูรณาการประสานความร่วมมือระหว่างกรมศิลปากร คณะสงฆ์ และประชาชน สร้างการรับรู้อย่างเป็นรูปธรรม เกิดเครือข่ายอาสาสมัครท้องถิ่นในการดูแลรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรม (อส.มศ.) รุ่นแรกในส่วนกลาง ซึ่งเป็นรุ่นบุกเบิกของการสร้างเครือข่ายดูแลรักษาเอกสารโบราณให้ขยายวงกว้างออกไป โดยการดำเนินการดังกล่าวสอดรับพันธกิจกรมศิลปากรที่ต้องธำรงรักษา อนุรักษ์ สืบสาน มรดกทางศิลปวัฒนธรรมซึ่งเป็นภูมิปัญญาของบรรพชนจากรุ่นสู่รุ่นให้คงอยู่สืบไป ความสำเร็จของการดำเนินงานครั้งนี้จึงถือเป็นก้าวสำคัญที่สร้างความมั่นใจในการเป็นผู้นำการอนุรักษ์ให้กับประชาชน และสร้างการรับรู้แก่ชุมชนท้องถิ่นที่อยู่ใกล้ชิดเอกสารโบราณ โดยมีวัดเป็นแหล่งเอกสารโบราณ และคณะสงฆ์เป็นผู้เก็บรักษาสมบัติล้ำค่าเหล่านี้ไว้ สรุปผลความสำเร็จของการดำเนินงานได้ ดังนี้ ๑. กรมศิลปากร ได้ดำเนินการอนุรักษ์จัดทำทะเบียนเอกสารโบราณ ซึ่งเป็นการจัดระบบเอกสารโบราณ เพื่อให้บริการตามหลักวิชาการ ดำเนินการออกเลขทะเบียนบัญชีรายชื่อเอกสารโบราณประเภทคัมภีร์ใบลาน จำนวนมากถึง ๔๒๕ มัด ออกรหัสเลขที่ได้ ๗๑๙ เลขที่ รวมทั้งสิ้นจำนวน ๖,๒๗๕ ผูก และเอกสารโบราณ ประเภทหนังสือสมุดไทย จำนวน ๖ เล่ม ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งเอกสารโบราณกลางกรุงที่ใหญ่มาก และได้รับการพัฒนาไปสู่แหล่งเรียนรู้อีกระดับหนึ่ง  ๒. ความสำคัญของเอกสารโบราณเหล่านี้ไม่แพ้ความสำคัญของวัด โดยเฉพาะคัมภีร์ใบลานมีการสืบสายธารแห่งประวัติศาสตร์ไม่ขาดสาย ถึง ๓ สมัย ได้แก่ คัมภีร์ใบลานสมัยอยุธยา สมัยธนบุรี และสมัยรัตนโกสินทร์ รวมแล้วไม่ต่ำกว่า ๑๕๐ ผูก และพบคัมภีร์ที่เก่าแก่แต่ละสมัย ดังนี้ สมัยอยุธยา ได้แก่ วบจ.๒๒-๒๕  (วัดเบญจมบพิตร เลขที่ ๒๒-๒๕) เรื่อง วิมติวิโนทนี วินยฎีกา สมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาทอง พ.ศ.๒๑๘๖ อายุ ๓๘๐ ปี สมัยธนบุรี ได้แก่ วบจ.๓๓๘ (วัดเบญจมบพิตร เลขที่ ๓๓๘) เรื่อง สารสังคหะ สมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พ.ศ.๒๓๒๐ อายุ ๒๔๖ ปี สมัยรัตนโกสินทร์ ได้แก่ วบจ.๒๗๑ (วัดเบญจมบพิตร เลขที่ ๒๗๑) เรื่อง ธรรมบทอัฏฐกถา สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (ร.๑) พ.ศ.๒๓๒๘ อายุ ๒๓๘ ปี   ๓. พบคัมภีร์ใบลานสมัยรัตนโกสินทร์ที่สืบต่อกันตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๖ ทำให้เห็นว่าวัดเบญจมบพิตรเป็นแหล่งเอกสารโบราณที่สามารถศึกษาเปรียบเทียบยุคสมัยของตัวอักษรแต่ละรัชกาลได้ในแหล่ง เอกสารเดียวกัน พร้อมกันนี้ยังศึกษาประวัติศาสตร์การสร้างคัมภีร์ถวายในพระพุทธศาสนาในช่วงเปลี่ยนผ่านจาก ใบลานสู่กระดาษแบบฝรั่ง  ๔. สมัยรัชกาลที่ ๕ มีการปริวรรตพระไตรปิฎกจากอักษรขอมเป็นอักษรไทยจัดพิมพ์เป็นพระไตรปิฎก ฉบับพิมพ์อักษรไทยเป็นครั้งแรกของโลก หลังจากนั้นจึงไม่มีการผลิตซ้ำทำเพิ่มคัมภีร์ใบลาน แต่ในความเป็นจริง คัมภีร์ใบลานยังคงความศักดิ์สิทธิ์และศรัทธาสืบมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๖ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้สร้างคัมภีร์ใบลานถวายไว้ในพระพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก และเจาะจงสร้างถวายเป็นการเฉพาะสำหรับวัดเบญจมบพิตร อีกด้วย ตัวอย่างเช่น คัมภีร์ใบลาน เลขที่ ๕๒๔ เรื่อง เวสสันตรชาตกกถาก พ.ศ. ๒๔๖๑ อายุ ๑๐๕ ปี   ๕. ข้อสันนิษฐาน คัมภีร์ใบลาน เลขที่ วบจ.๑๖๑ เรื่อง มังคลัตถทีปนี ใช้นามผู้สร้างว่า “เจ้าทับ” พ.ศ. ๒๓๘๖ อายุ ๑๘๐ ปี ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และสอดคล้องกับพระนามเดิมของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงสันนิษฐานว่า ร.๓ สร้างเป็นการส่วนพระองค์จึงให้ชื่อว่า “เจ้าทับ” ตามพระนามเดิมของพระองค์ ไม่ประทับตราพระราชลัญจกร   ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่ทำให้มรดกภูมิปัญญาและแหล่งศึกษาเรียนรู้นี้มีประโยชน์และทรงคุณค่าต่อไป คือการเผยแพร่ต่อสาธารณชนให้ผู้สนใจและใฝ่รู้ทั้งหลายได้หันมามองสิ่งอันเป็นมรดกศิลปวัฒนธรรมเหล่านี้อย่างจริงจัง ย่อมสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับประเทศไทย ดังคำกล่าวที่ว่าวัฒนธรรมสร้างชาตินั่นเอง

ภาพตัวอย่าง

พิธีมอบเกียรติบัตรรับรองการฝึกประสบการณ์วิชาชีพแก่นักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

วันที่ 8 มีนาคม 2566 เวลา 10.00 น. นางสาวเนาวรัตน์ ปัญญางาม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักหอสมุดแห่งชาติ และคณะผู้บริหารสำนักหอสมุดแห่งชาติ ร่วมรับฟังการนำเสนอผลการฝึกประสบการณ์วิชาชีพ โดยนางสาวเนาวรัตน์ ปัญญางาม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักหอสมุดแห่งชาติ เป็นประธานมอบเกียรติบัตรรับรองการฝึกประสบการณ์วิชาชีพแก่นักศึกษาสาขาวิชาสารสนเทศศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา จำนวน 4 คน ณ ห้องประชุม 2203 ชั้น 2 อาคาร 2 สำนักหอสมุดแห่งชาติ

ภาพตัวอย่าง

โครงการสำรวจเอกสารโบราณ ประจำปีงบประมาณ 2566 ครั้งที่ 3

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ - 2 มีนาคม 2566 สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม โดยกลุ่มงานสำรวจเอกสารโบราณ กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึกได้ดำเนินโครงการสำรวจเอกสารโบราณ ประจำปีงบประมาณ 2566 ครั้งที่ 3 ณ จังหวัดนครสวรรค์ สุโขทัยและอุตรดิตถ์ โดยมีผู้ปฏิบัติงานตามโครงการจำนวน 4 รายดังนี้           1) นางสาววชรพร อังกูรชัชชัย นักภาษาโบราณชำนาญการ (หัวหน้ากลุ่มงานสำรวจเอกสารโบราณ)              2) นายสันติ วงศ์จรูญลักษณ์ นักภาษาโบราณชำนาญการ           3) นายจามีกร ชูทรัพย์ นักภาษาโบราณปฏิบัติการ            4) นายธน ซึมไพศาล พนักงานขับรถยนต์  คณะทำงานได้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับเอกสารโบราณประเภทจารึก คัมภีร์ใบลานและหนังสือสมุดไทย จำนวน 2 พื้นที่ ดังต่อไปนี้ 1. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสวรรควรนายก อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย ได้สำรวจดูแลอนุรักษ์เบื้องต้น พร้อมทั้งจัดทำทะเบียนคัมภีร์ใบลานและหนังสือสมุดไทย จากการสำรวจพบการอักษรขอม อักษรขอมหวัด และอักษรไทย ภาษาที่ใช้บันทึกมีทั้งภาษาไทยและบาลี โดยมีผลการดำเนินงาน ดังนี้    - คัมภัร์ใบลาน จำนวน 102 รายการ จัดทำทะเบียนได้ 21 เลขที่  จัดมัดได้ 10  มัด    - หนังสือสมุดไทย จำนวน 8 รายการ แยกประเภทได้ 6 หมวด คณะทำงานขอขอบคุณหัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สวรรควรนายกที่อนุญาตให้เข้าปฏิบัติงาน และมอบหมายให้เจ้าหน้าที่มาช่วยปฏิบัติงาน ระหว่างวันที่ 22-24 กุมภาพันธ์ 2566 มีรายนามดังนี้           1) นางสาวสุกัญญา พงศ์เจริญศิริกุล ภัณฑารักษ์ชำนาญการ (หัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สวรรควรนายก)           2) นางสาววัลวิภา สันต์สุขเสริม ภัณฑารักษ์ปฏิบัติการ           3) นางสุวรรณ ลวดลาย เจ้าพนักงานพิพิธภัณฑ์ชำนาญงาน 2. วัดม่อนปรางค์ อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ (งานต่อเนื่อง ครั้งที่ 4) ได้สำรวจเอกสารโบราณประเภทคัมภีร์ใบลาน อักษรธรรมล้านนา ภาษาไทยและบาลี มีผลการดำเนินงานดังนี้    - คัมภีร์ใบลาน จำนวน 577 รายการ ลงทะเบียนได้ 123 เลขที่ จัดมัดได้ จำนวน 55 มัด คณะทำงานได้รับความเมตตาจาก พระสมุห์สมิง คุณธมฺมโม เจ้าอาวาสวัดม่อนปรางค์ อนุญาตให้เข้าไปปฏิบัติงานภายในวัด ระหว่างวันที่ 25 กุมภาพันธ์ - 2 มีนาคม 2566 และขอบขอบพระคุณนางสาวอิสรีย์ นวกุลย์ชัย ผู้มีจิตศรัทธาภาคประชาชน เป็นผู้สนับสนุนการอนุรักษ์มรดกไทยดีเด่น ประจำปี 2563 และคณะได้บริจาคผ้าห่อคัมภีร์ใบลาน และไม้ประกับคัมภีร์ใบลานเพื่อการอนุรักษ์เอกสารโบราณ

ภาพตัวอย่าง

กิจกรรมเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับชาติ ศาสน์ กษัตริย์ การบรรยายเรื่อง "พระพุทธศาสนา: การสืบสานมรดกทางศิลปวัฒนธรรม"

วันที่ 2 มีนาคม 2566 เวลา 13.30-16.30 น. สำนักหอสมุดแห่งชาติจัดกิจกรรมเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับชาติ ศาสนฺ์ กษัตริย์ การบรรยายเรื่อง "พระพุทธศาสนา: การสืบสานมรดกทางศิลปวัฒนธรรม" โดย พระธรรมกิตติเมธี (เกษม สญฺญโต ป.ธ.9, ดร.) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชาธิวาสราชวรวิหาร ประธานกรรมการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย มีผู้เข้าร่วมกิจกรรม ณ อาคารดำรงราชานุภาพ ถนนหน้าพระธาตุ นอกจากนี้แล้วยังมีการถ่ายทอดสดผ่านทาง Facebook Live ของหอสมุดแห่งชาติอีกด้วย

ภาพตัวอย่าง

โครงการพัฒนาและเผยแพร่ความรู้ด้านวิชาการ ประจำปี 2566

วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 เวลา 09.00 น. นางสาวเอมอร เชาวน์สวน ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านภาษาโบราณ รักษาการแทนอธิบดีกรมศิลปากร เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการพัฒนาและเผยแพร่ความรู้ด้านวิชาการ ประจำปี 2566 การบรรยายหัวข้อ “การจัดระบบคอลเล็กชันดิจิทัลด้านมรดกทางวัฒนธรรมด้วยแนวคิด Linked Data: จากมาตรฐาน MARC สู่ BIBFRAME” โดยมีนางสาวบุบผา ชูชาติ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักหอสมุดแห่งชาติ กล่าวรายงาน วิทยากรบรรยายโดย ผศ.ดร.สมศักดิ์ ศรีบริสุทธิ์สกุล หน่วยปฏิบัติการวิจัย ภูมิทัศน์สารสนเทศ และอาจารย์ประจำภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมฟังการบรรยาย ณ ห้องประชุมใหญ่ สำนักหอสมุดแห่งชาติ ประกอบด้วย บุคลากรสำนักหอสมุดแห่งชาติส่วนกลาง 51 คน หอสมุดแห่งชาติส่วนภูมิภาค 6 คน และบุคคลภายนอกที่สนใจ 43 คน นอกจากนี้ ยังมีผู้เข้าร่วมฟังการบรรยาย ผ่านโปรแกรม Zoom Meeting และเข้าถึงการถ่ายทอดสดผ่าน Facebook Live อีกจำนวน 2,068 ครั้ง

ภาพตัวอย่าง

กิจกรรมดนตรีนานาสาระ ประจำปี 2566 การแสดงดนตรี "เพลงรักในบทเพลงพระราชนิพนธ์"

วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 13.30-16.00 น. หอสมุดดนตรีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และห้องสมุดดนตรีทูลกระหม่อมสิรินธร สำนักหอสมุดแห่งชาติ ร่วมกับวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์จัดโครงการเผยแพร่มรดกศิลปวัฒนธรรมด้านดนตรีและนาฏศิลป์ กิจกรรม "ดนตรีนานาสาระ" ประจำปี 2566 การแสดงดนตรี "เพลงรักในบทเพลงพระราชนิพนธ์" โดยวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ มีนายบพิตร วิทยาวิโรจน์ รองอธิบดีกรมศิลปากร เป็นประธาน และนางสาวเนาวรัตน์ ปัญญางาม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักหอสมุดแห่งชาติกล่าวรายงาน นอกจากนี้ยังมีนางสาวชนิสา ชมศิลป์ ผู้อำนวยการสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ ร่วมชมการแสดงดนตรีในครั้งนี้ด้วย การแสดงดนตรีดังกล่าว ได้อัญเชิญบทเพลงพระราชนิพนธ์มาบรรเลงและขับร้องเพื่อเผยแพร่พระอัจฉริยภาพด้านดนตรีในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้แก่ บุคลากรกรมศิลปากร นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ณ ห้องจัดแสดง ชั้น 2 หอสมุดดนตรีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 สำนักหอสมุดแห่งชาติ

ภาพตัวอย่าง

กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน NLT Edutainment ปีที่ 6 ครั้งที่ 2

วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 10.00-12.00 น. สำนักหอสมุดแห่งชาติจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน NLT Edutainment ปีที่ 6 ครั้งที่ 2 การเสวนาเรื่อง "พบนักอ่านเพื่ออ่าน" โดยได้รับความกรุณาจากพงศภัค พิพัฒน์นวกิจ พงศ์พิช พิพัฒน์นวกิจ และ เวฟ สหัสวรรษ ธนสุขสวัสดิ์ เป็นวิทยากรร่วมพูดคุยเกี่ยวกับหนังสือและ ประสบการณ์ที่ได้รับจากการอ่านในฐานะนักอ่าน ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้แก่ บุคลากรกรมศิลปากร นักศึกษาและประชาชนทั่วไป ณ โถงกลาง ชั้น 1 อาคาร 1 สำนักหอสมุดแห่งชาติ นอกจากนี้ยังมีผู้เข้าถึงการถ่ายทอดสดผ่านทาง Facebook Live ของหอสมุดแห่งชาติด้วย

ภาพตัวอย่าง

กิจกรรมอ่านเป็นเล่นสนุก สร้างความสุขให้ทุกคน ในหัวข้อ "เรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ ด้วยพลังแห่งการอ่าน"

วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 16.00 น. สำนักหอสมุดแห่งชาติจัดกิจกรรมอ่านเป็น เล่นสนุก สร้างความสุขให้ทุกคน ครั้งที่ 1 "เรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ ด้วยพลังแห่งการอ่าน" ภายใต้โครงการพัฒนาและส่งเสริมหอสมุดแห่งชาติเพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต ส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ประจำปี 2566 ณ บริเวณสวนด้านหน้าหอสมุดแห่งชาติ โดยมี นายบพิตร วิทยาวิโรจน์ รองอธิบดีกรมศิลปากร เป็นประธาน และมีนางสาวเนาวรัตน์ ปัญญางาม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักหอสมุดแห่งชาติ กล่าวรายงาน ทั้งนี้ มีบุคลากรสำนักหอสมุดแห่งชาติ หน่วยงานในสังกัดกรมศิลปากร นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปร่วมกิจกรรม จำนวนรวมทังสิ้น 204 คน กิจกรรมดังกล่าวเป็นการบูรณาการการจัดกิจกรรมร่วมกันระหว่าง สำนักหอสมุดแห่งชาติ  สำนักช่างสิบหมู่ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ  และสำนักการสังคีต วัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เยาวชน ประชาชนทั่วไปรักการอ่าน และเผยแพร่สร้างการเรียนรู้ในด้านศิลปกรรมต่าง ๆ ตลอดจนเพื่อสร้างความสุขให้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งในด้านความรู้และความบันเทิง

ภาพตัวอย่าง

กิจกรรมส่งเสริมการอ่านสำหรับเด็ก Kids Inspiration ปีที่ 6 ครั้งที่ 2

วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 10.00 น. สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร จัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านสำหรับเด็ก Kids Inspiration ปีที่ 6 ครั้งที่ 2 (ภายใต้โครงการพัฒนาและส่งเสริมหอสมุดแห่งชาติเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต ส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ประจำปี 2566) ในหัวข้อ "ส่งความหวาน เทศกาลแห่งความรัก" ณ ห้องหนังสือเด็กและเยาวชน สำนักหอสมุดแห่งชาติ โดยมีนางสาวเนาวรัตน์ ปัญญางาม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักหอสมุดแห่งชาติ กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมกิจกรรม ทั้งนี้มีผู้เข้ากิจกรรมประกอบด้วยครู นักเรียนจากสถาบันการศึกษา และบุคลากรสำนักหอสมุดแห่งชาติ จำนวน 78 คน  ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าว เป็นการสอนประดิษฐ์ของขวัญ ของที่ระลึก สำหรับเทศกาลแห่งความรัก สอนผสมน้ำตาลให้เป็นสีต่าง ๆ และนำมาใส่ในขวดโหลแก้ว ตกแต่งให้สวยงาม เป็นการเสริมสร้างกล้ามเนื้อมือมัดเล็ก ฝึกสมาธิและพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ สามารถนำไปมอบเป็นของขวัญให้คนที่รัก ซึ่งรวมไปถึงพ่อแม่ ญาติพี่น้อง และเพื่อนสนิทด้วย หรือสามารถนำไปเป็นของที่ระลึก ของตกแต่งบ้านให้สวยงามได้  ยังทำให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีความสุขและความสนุกสนาน เกิดความภาคภูมิใจในการประดิษฐ์ผลงานของตนเอง  

ภาพตัวอย่าง

อาจารย์และนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ศึกษาดูงาน ณ หอสมุดแห่งชาติ

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 09.00-12.00 น. อาจารย์และนักศึกษาสาขาวิชาสารสนเทศศาสตร์และบรรณารักษศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี จำนวน 24 คน ศึกษาดูงาน ณ หอสมุดแห่งชาติ เพื่อเป็นการเสริมสร้างความรู้และประสบการณ์ให้แก่นักศึกษา นอกจากนี้ อาจารย์จำนวน 5 คน ยังได้เข้าพบนางสาวเนาวรัตน์ ปัญญางาม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักหอสมุดแห่งชาติ เพื่อหารือแนวทางการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการระหว่างหลักสูตรกับหอสมุดแห่งชาติอีกด้วย

ภาพตัวอย่าง

โครงการ ร.ศ.242 ชมตู้ลายทองสืบสานงานศิลป์ กิจกรรมเสวนาวิชาการ เรื่อง "ศิลปะลายรดน้ำบนตู้ลายทอง"

วันอาทิตย์ที่ 29 ม.ค.2566 เวลา13.00 น. นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ ร.ศ.242 ชมตู้ลายทองสืบสานงานศิลป์ กิจกรรมเสวนาวิชาการ เรื่อง "ศิลปะลายรดน้ำบนตู้ลายทอง" วิทยาการโดย อ.บรรเจิด ศรีสุข จากวิทยาลัยเพาะช่าง อ.สุดสาคร ชายเสม อดีตอาจารย์วิทยาลัยเพาะช่าง และอ.สมชาย ศุภลักษณ์อำไพพร จากสำนักช่างสิบหมู่ ดำเนินการเสวนาโดย อ.วิชัย รักชาติ จากวิทยาลัยเพาะช่าง ณ ห้องประชุมอาคารถาวรวัตถุ (ตึกแดง) ถ.หน้าพระธาตุ เขตพระนคร กล่าวรายงานโดยนายบพิตร วิทยาวิโรจน์ รองอธิบดีกรมศิลปากร พร้อมนี้มีรองอธิบดีกรมศิลปากร อีก 2 ท่าน คือ นายสถาพร เที่ยงธรรม และนางรักชนก โคจรานนท์ ร่วมกิจกรรมดังกล่าว การจัดเสวนาฯครั้งนี้ มีผู้สนใจจากสถาบันการศึกษา หน่วยงาน ประชาชนทั่วไปร่วมงานจำนวน 97 คน (ชาย 62 คน หญิง 32 คน และพระสงฆ์จำนวน 3 รูป) และมีผู้เข้าถึงการถ่ายทอดสดผ่านทาง Facebook Live ของหอสมุดแห่งชาติด้วย

ภาพตัวอย่าง

โครงการสำรวจเอกสารโบราณ ประจำปีงบประมาณ 2566 ครั้งที่ 2

โครงการสำรวจเอกสารโบราณ ประจำปีงบประมาณ 2566 ครั้งที่ 2 จังหวัดอุดรธานี ขอนแก่น และนครราชสีมา ระหว่างวันที่ 11-19 มกราคม 2566 สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม โดย กลุ่มงานสำรวจเอกสารโบราณ กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก  ดำเนินโครงการสำรวจเอกสารโบราณ มีผู้ไปปฏิบัติงานตามโครงการจำนวน 5 รายดังนี้ 1. นางสาววชรพร อังกูรชัชชัย นักภาษาโบราณชำนาญการ (หัวหน้ากลุ่มงานสำรวจเอกสารโบราณ)    2. นายสันติ วงศ์จรูญลักษณ์ นักภาษาโบราณชำนาญการ 3. นางรตนาภรณ์ สอาดโอษฐ์  นักภาษาโบราณปฏิบัติการ  4. นายจามีกร ชูทรัพย์ นักภาษาโบราณปฏิบัติการ  5. นายธน ซึมไพศาล พนักงานขับรถยนต์  คณะทำงานเข้าไปปฏิบัติงาน จำนวน 2 พื้นที่ ดังนี้ ⊙ วัดป่าดงหนองตาล (โนนตูมสราราม) อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี  ได้รับความเมตตาจากพระอธิการพิศนุ สนฺตมโน เจ้าอาวาส  อนุญาตให้เข้าไปปฏิบัติงาน และมอบหมายให้พระมานะ อชฺชริโย และนายรัฐสิทธิ์ ชุมแสง คอยอำนวยความสะดวกแก่คณะทำงาน คณะทำงานได้สำรวจและทำทะเบียนเอกสารโบราณประเภทคัมภีร์ใบลาน มีขั้นตอนดังนี้ 1. คัดแยกเอกสารตามลักษณะทางกายภาพ ดังนี้    - คัมภีร์ใบลานเส้นจาร ขนาดยาว    - คัมภีร์ใบลานเส้นจาร ขนาดสั้น    - คัมภีร์ใบลาน ไม่มีชื่อเรื่องหน้าปก    - คัมภีร์ใบลานแตกผูก เป็นใบ ๆ ไม่สามารถนำเรื่องเดียวกันมารวมเป็นผูกได้    - คัมภีร์ใบลาน ที่มีเชื้อรา เมื่อคัดแยกหมดแล้ว นำคัมภีร์ใบลานเส้นจาร ขนาดยาว มาดำเนินการก่อนเป็นอันดับแรก และคัมภีร์ใบลานขนาดสั้นมาดำเนินการเป็นลำดับต่อไป โดยมีขั้นตอนดังนี้ 2. ปัดฝุ่น เปลี่ยนสายสนองที่ชำรุด  เสริมปกหน้า-หลังผูกที่ไม่มีปก 3. ทำความสะอาดเช็ดเชื้อราออกจากคัมภีร์ใบลาน 4. อ่าน-คัดแยกคัมภีร์ใบลานตามชื่อเรื่อง 5. อ่านเพื่อหาชื่อเรื่อง คัมภีร์ใบลานที่ไม่มีปกหน้าชื่อเรื่อง  6. จัดมัดคัมภีร์  โดยนำเรื่องเดียวกัน ฉบับเดียวกัน มาจัดเข้ามัดก่อน 7. ลงทะเบียนในแบบบันทึกข้อมูล ทีละเรื่อง พร้อมทั้งให้เลขที่ 8. เขียนเลขที่ บนคัมภีร์ใบลานทุกผูก  9. ประทับตราของวัด บนคัมภีร์ใบลาน 10. ประทับตราของวัด บนไม้ประกับ 11. เขียนป้ายหน้ามัดของคัมภีร์ใบลาน 12. ห่อผ้า ทีละมัด 13. จัดเก็บ โดยเรียงตามเลขที่ ผลการดำเนินการลงทะเบียนและจัดเก็บเอกสารโบราณ ประเภทคัมภีร์ใบลาน และหนังสือสมุดไทย พบอักษรธรรมอีสาน อักษรไทยน้อย และอักษรธรรมล้านนา ภาษาไทย บาลี และเขมร  อ่านและลงทะเบียนเสร็จเรียบร้อยแล้ว ~คัมภีร์ใบลาน เส้นจาร ขนาดยาว จำนวน 209 รายการ จัดกลุ่มลงทะเบียนได้ 54 เลขที่  จัดมัดได้ 27 มัด อ่านชื่อเรื่องแล้ว รอการลงทะเบียน ~คัมภีร์ใบลาน เส้นจาร ขนาดยาว จำนวน 30 รายการ ~คัมภีร์ใบลาน เส้นจาร ขนาดสั้น จำนวน 173 รายการ รออ่านชื่อเรื่องและทำทะเบียน ~คัมภีร์ใบลาน จำนวน 148 รายการ ~หนังสือสมุดไทย จำนวน 10 รายการ ⊙ วัดบึง (พระอารามหลวง) อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา  ปฏิบัติงานสำรวจและทำทะเบียนเอกสารโบราณ ประเภทคัมภีร์ใบลานและหนังสือสมุดไทย (ต่อเนื่องครั้งที่ 5) โดยได้รับความเมตตาจาก พระเทพสีมาภรณ์ เจ้าอาวาส  อนุญาตให้เข้าไปปฏิบัติงานภายในวัด และมอบหมายให้นายไพฑูรย์ คงจันทร์ ไวยาวัจกร เป็นผู้ประสานงานและอำนวยความสะดวกแก่คณะทำงาน คณะทำงานขอขอบพระคุณนายสมชัย ฟักสุวรรณ์  ข้าราชการบำนาญ (นักภาษาโบราณชำนาญการพิเศษ) ที่กรุณามาช่วยมัดห่อคัมภีร์ใบลาน และขอขอบพระคุณนางสาวอิสรีย์ นวกุลย์ชัย ผู้มีจิตศรัทธาภาคประชาชน เป็นผู้สนับสนุนการอนุรักษ์มรดกไทยดีเด่น ประจำปี 2563 และคณะได้บริจาคผ้าห่อคัมภีร์ใบลาน และไม้ประกับ เพื่อการอนุรักษ์เอกสารโบราณ ให้วัดบึง(พระอารามหลวง) จังหวัดนครราชสีมา ผลการดำเนินการจัดเก็บเอกสารโบราณ ของวัดบึง (พระอารามหลวง)  ~จัดเก็บคัมภีร์ใบลาน ฉบับพิมพ์ อักษรไทย จำนวน 2,526 รายการ  จัดมัดได้ 53 มัด ~จัดเก็บคัมภีร์ใบลานแตกผูก เส้นจาร จำนวน 7 ห่อ การดำเนินการ สำเร็จลงได้ด้วยดี จึงขอขอบพระคุณและขอบคุณทุกท่านที่ได้เมตตาและอำนวยความสะดวกเป็นอย่างดี โดยเฉพาะพระเทพสีมาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดบึง จังหวัดนครราชสีมา พระอธิการพิศนุ สนฺตมโน เจ้าอาวาสวัดป่าดงหนองตาล จังหวัดอุดรธานี  ท่านอธิบดีกรมศิลปากร   ท่านผู้บริหารตามสายงาน หวังว่าจะได้รับความเมตตาอนุเคราะห์ ในโอกาสต่อไป  

ภาพตัวอย่าง

หอสมุดแห่งชาติเขตลาดกระบัง เฉลิมพระเกียรติ จัดกิจกรรมวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2566

วันที่ 14 มกราคม 2566 หอสมุดแห่งชาติเขตลาดกระบัง เฉลิมพระเกียรติ จัดกิจกรรมวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2566 โดยมี ดร.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตลาดกระบัง เป็นประธานกล่าวเปิดงาน โดยมีนางสาวยุวเรศ อิทธิชัยวัฒนา หัวหน้าหอสมุดแห่งชาติเขตลาดกระบัง เฉลิมพระเกียรติ กล่าวรายงาน ทั้งนี้ได้รับการสนับสนุนกิจกรรมจากอาจารย์วิทยาลัยช่างศิลป การจัดกิจกรรมวันเด็กแห่งชาติเพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนได้ใกล้ชิดห้องสมุดรู้จักแหล่งเรียนรู้ แหล่งศิลปวัฒนธรรมของชาติ  โดยมีเด็ก เยาวชน และผู้ปกครองเข้าร่วมงาน จำนวน 212 คน



เว็บไซต์ของเรามีการใช้งานคุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานให้กับผู้ใช้งาน ทั้งนี้ สามารถมั่นใจได้ว่าเราจะดูแลและรักษาความปลอดภัยข้อมูลของท่านเป็นอย่างดี