เมื่อกล่าวถึงหนังสือหายาก (Rare Book) คนทั่วไปมักจะนึกถึงการศึกษาค้นคว้าจากหนังสือเก่าที่หาไม่ค่อยพบ ซึ่งเกิดจากตัวเล่มหนังสือหรือเนื้อหา ทั้งนี้เพราะหนังสือประเภทนี้ จัดอยู่ในห้องสมุดเฉพาะ ดังนั้นวิธีการเก็บรักษา การบริการ จึงค่อนข้างแตกต่างกับหนังสือทั่วไป อีกทั้งวิธีการเรียบเรียงเนื้อเรื่องของคนสมัยก่อน มักแทรกความรู้อื่นไว้ในเรื่องที่เขียนด้วย
หนังสือหายากของหอสมุดแห่งชาติ เป็นหนังสือที่ทรงคุณค่านานัปการ ตั้งแต่ผู้ครอบครอง เนื้อหา การพิมพ์ ตลอดจนอายุของหนังสือ ทั้งนี้เพราะหนังสือส่วนหนึ่งเดิมเป็นหนังสือจากหอพระสมุดหลวงส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระผู้ทรงสถาปนาหอสมุดแห่งชาติ อีกส่วนหนึ่งเป็นหนังสือจากหอพระสมุดส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่มีจำนวนมากนับแสนเล่ม หอสมุดแห่งชาติซึ่งถือได้ว่าเป็นห้องสมุดที่เก่าแก่แห่งหนึ่งของชาติ จึงได้พยายามอนุรักษ์รักษาหนังสือเหล่านี้ให้คงเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของชาติตลอดไป
หนังสือหายาก มีความรู้ที่น่าศึกษาค้นคว้าน่าสนใจมากมาย โดยเฉพาะด้านประวัติศาสตร์สังคม ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ การเมืองการปกครอง ประวัติบุคคลสำคัญของบ้านเมือง และเรื่องอื่น ๆ ผ่านเรื่องราวของหนังสือเล่มแล้วเล่มเล่า อาทิ การเดินทางท่องเที่ยวไปยังที่ต่าง ๆ ในยุคหนึ่งสมัยหนึ่ง หนังสือหายากแต่ละเล่ม ทำให้ผู้อ่านสามารถจินตนาการความเป็นไปในอดีตในมุมมองที่แตกต่างกัน อาจเป็นมุมมองของชีวิตความเป็นอยู่ บ้านเมืองในช่วงระยะเวลานั้น โบราณสถาน ตลอดจนผู้คนพลเมือง
“เที่ยว” เป็นกริยาที่เดินไป หรือ ไปด้วยยานพาหนะ เพื่อทำให้จิตใจเบิกบาน เพลิดเพลินหรือเพื่อความสนุกสนาน ไม่ได้ไปด้วยเหตุทำกิจธุระหรือความจำเป็น
คำว่า “เที่ยว” หรือ “การเที่ยวเตร่” สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงอธิบายไว้ในหนังสือ “เรื่องเที่ยวที่ต่าง ๆ” ความตอนหนึ่งว่า
ประวัติการท่องเที่ยว
ในอดีตการเดินทางท่องเที่ยวแบบเป็นหมู่คณะอาจมีจำกัดเพียงพระมหากษัตริย์หรือพระบรมวงศานุวงศ์เท่านั้นที่จะเสด็จประพาสยังสถานที่ต่าง ๆ ส่วนประชาชนทั่วไปไม่นิยมเดินทางไกลนอกจากมีความจำเป็น เนื่องจากยังไม่มีพาหนะที่มีประสิทธิภาพในการเดินทาง ซึ่งการเดินทางนั้นมักผูกติดกับกิจกรรมอื่น ๆ ได้แก่
- การเดินทางไปจาริกแสวงบุญ เป็นรูปแบบการเดินทางห่างบ้านที่ชาวสยามคุ้นเคยที่สุด เช่น ชาวล้านนานิยมเดินทางไปไหว้พระธาตุประจำปีเกิดทุกวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ชาวกรุงศรีอยุธยาเดินทางมาไหว้พระพุทธบาท สระบุรี ทุกวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ และวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ ซึ่งตรงกับวันมาฆบูชา
- การเดินทางไปเยี่ยมญาติ เช่น นิราศเมืองแกลงของสุนทรภู่ กล่าวถึงการเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปยังเมืองแกลง แถบชายทะเลตะวันออกของอ่าวไทย เพื่อเยี่ยมญาติทางฝ่ายบิดา
- การเดินทางเพื่อหาเลี้ยงชีพ เช่น การทำอาชีพพรานป่า ชาวประมงที่ออกหาปลาในทะเล พ่อค้าเดินทางไปค้าขายต่างเมือง
- การอพยพย้ายถิ่นที่อยู่อาศัยเนื่องจากประสบภัยต่าง ๆ เช่น โรคระบาด สงคราม
- การเดินทางเพื่อไปปฏิบัติกิจราชการ เช่น ขุนนางและไพร่พลต้องเกณฑ์ไปราชการทำสงคราม หรือ ขุนนางได้รับมอบหมายไปปกครองดูแลบ้านเมืองต่างพระเนตรพระกรรณ
นับตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา เริ่มมีการทำการค้าและมีปฏิสัมพันธ์กับชาวตะวันตก ภายหลังการลงนามในสนธิสัญญาเบาว์ริง เมื่อพุทธศักราช ๒๓๙๘ ทำให้สยามต้องเปิดประเทศ มีชาวตะวันตกเข้ามาอาศัยอยู่ในพระนครมากขึ้น จึงมีการรับเอาค่านิยมและธรรมเนียมตะวันตกหลายอย่าง รวมถึงธรรมเนียมการพักผ่อน เช่น การขี่ม้าชมเมือง และการรักษาสุขภาพตามคำแนะนำของมิชชันนารีที่มีความรู้เรื่องแพทย์แผนปัจจุบัน ให้ผู้ป่วยและผู้ที่ต้องการพักผ่อนไป “เปลี่ยนอากาศ” ในบริเวณที่มีอากาศดี การเดินทางไปพักแรมตากอากาศของพระบรมวงศานุวงศ์หรือชนชั้นสูง ขุนนาง ข้าราชการ
ประโยชน์ของการท่องเที่ยว
การท่องเที่ยวนอกจากทำให้เกิดความเพลิดเพลินแล้ว ยังมีความสำคัญก่อให้เกิดผลดีและมีประโยชน์ต่อชีวิตหลายประการ ซึ่งสมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดชทรงอธิบายถึงประโยชน์ของการท่องเที่ยวในด้านต่าง ๆ ไว้ในเรื่อง “เที่ยวเดินทางในเขตรสยาม” ใน "หนังสือชีวิวัฒน์" ได้แก่
การเพิ่มพูนความรู้ และช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ “การเที่ยวเดินทางในที่ต่าง ๆ นี้ เห็นว่าเปนของที่จะบำรุงกายแห่งกุลบุตรผู้จะแสวงหาความสบายได้อย่างหนึ่ง บางทีก็จะมีคุณวิเสศได้พบได้เห็นของประหลาดต่าง ๆ ที่จะชี้ชูปัญญาให้รุ่งเรืองได้บ้าง...”
ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง และช่วยรักษาโรคภัยไข้เจ็บ “เปนของชูกำลังให้อายุยืน เพราะมีแต่สนุกสบายเสมอไม่ทุกข์... จะได้ลมอากาศ เปลี่ยนแปลกผิดกว่าบ้านเรือนในกรุงเทพ ฯ ของตัว... โรคไภยที่มีอยู่ก็คงจะค่อยระงับบรรเทาลง ฤาโรคที่จะเกิดขึ้นในตัวก็ไม่ใคร่จะมีได้เพราะสบายกายสบายใจอยู่เสมอ...” |
|
ผ่อนคลายความตึงเครียด และช่วยเพิ่มประสิทธิผลการทำงาน
"เมื่อมีเวลาว่างราชการแลทำมาหากิน ควรจะต้องผ่อนกายและกำลังให้มีความสบาย ...ถ้าจะทำการไม่มีเวลาเที่ยวบ้าง พิเคราะห์ดูเห็นว่าชีวิตรจะเปนไปไม่ยืนยาวโรคภัยเบียดเบียนหาความศุขมิได้ ทุกชาติทุกภาษาคงต้องมีเวลาว่างจากการ ซึ่งเรียกว่าโฮเลเด..."
ได้เรียนรู้วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชน ประเพณีวัฒนธรรม ภาษา การแต่งกาย และการใช้ชีวิตของคนในชุมชนนั้น ๆ
“ถ้าได้ไปในเมืองนั้นคงจะรู้จักบ้านเมืองและจำรู้ทางชัดเร็วแน่นอน ถ้าจะมีผู้ซักผู้พูดถึงเมืองนั้น ๆ ก็จะเล่าได้พูดตามความรู้ความเห็นของตัว... ประการหนึ่งจะได้รู้จักชาติแห่งคนชาวบ้านชาวเมืองภูมิประเทศนั้น ๆ ที่จะมีกิริยาหน้าตาสุ้งเสียงอย่างไร และจะทำมาหากินเลี้ยงชีวิตรด้วยสิ่งอันใด...”
รู้จักโบราณสถานโบราณวัตถุที่สำคัญ ๆ
“ประการหนึ่งเมืองใดมีของโบราณวิชาช่าง เปนบ้านเปนตึกเปนวัดโบถพิหารพระเจดีย์พระปางค์...ในชีวิตรหนึ่งควรจะได้เห็นไว้ ให้เปนที่เจริญใจสดับสติปัญญาให้รุ่งเรือง”
วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหารถ่ายจากด้านทิศเหนือ ด้านขวามือเห็นยักษ์ที่หน้าประตูทางเข้าพระอุโบสถ |
พระวิหารหลวง วัดพระสิงค์ วรวิหาร จังหวัดเชียงใหม่ ภาพพระวิหารหลวงทรงจัตุรมุขหลังเดิม ต่อมาชำรุดทรุดโทรม จึงได้สร้างพระวิหารหลังใหม่ขึ้นแทน เมื่อพุทธศักราช ๒๔๖๗ |
ได้พบเห็นสิ่งแปลกใหม่ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์
“บางทีที่จะได้พบของโบราณปลาดเปนพระพุทธรูปเก่าๆ ... แลเทวรูปเปนรูปอิศวรนารายน์พิคเนฆต่าง ๆ หล่อด้วยทองอย่างเก่า แลของเล็กน้อยอย่างนี้มีอิกมาก บางทีเปนของ
ประหลาดหายาก ตามซึ่งชนสยามได้นับถือกันว่าเปนของวิเสศกันได้ต่าง ๆ ...”
ช่วยในการประกอบสัมมาอาชีพ
“คนซึ่งเปนพ่อค้า ซึ่งจะแสวงหาสิ่งที่เปนประโยชน์แก่ตนที่ควรจะทราบสินค้าซึ่งเกิดมีเกิดเปนตามเมืองนั้น ๆ... ก็อาจสามารถที่จะสืบสวนแลชักจูงหาผู้แทนหรือแสวงหาสินค้านั้น ๆ มาซื้อขายตามประโยชน์แก่กำไรของตนซึ่งเห็นว่าจะได้มาจำหน่ายตามประโยชน์ในที่ควรได้ตามกาลเวลา”
การคบค้าสมาคมกับผู้อื่น
“ถ้าจะว่าตามประโยชน์ที่คบเพื่อนฝูง ถ้าได้ไปเที่ยวได้ทั่วทุกแห่ง ถ้าถึงแห่งใดก็จำต้องรู้จักพบปะคนในเมืองนั้น ๆ ... ถ้าแม้ว่าจะไม่ต้องการในทางมิตรที่ดีก็คงยังเปนประโยชน์ที่จะได้รู้จักคนนั้น ๆ ไว้...”
การเสด็จประพาสในรัชกาลที่ ๕
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชอัธยาศัยโปรด ฯ การเสด็จประพาสตั้งแต่เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ เสด็จประพาสที่ต่าง ๆ เกือบทุกปี ทั้งในประเทศและต่างประเทศ บางคราวเสด็จ ฯ ไปเป็นทางราชการ บางคราวเสด็จ ฯ ไปเพื่อสำราญพระราชอิริยาบถ ไม่โปรด ฯ ให้จัดการรับเสด็จอย่างเป็นทางการ ที่เรียกว่า “เสด็จประพาสต้น” ทรงพอพระราชหฤทัยที่จะประทับที่ใดก็ประทับที่นั้น การเสด็จประพาสต้นมีประโยชน์แก่ราชการบ้านเมือง เพราะเสด็จประพาสปะปนไปในหมู่ราษฎร ได้ทรงทราบคำกราบบังคมทูลของราษฎรปรารภสุขทุกข์ ซึ่งไม่สามารถจะทรงทราบได้จากทางอื่น การเสด็จประพาสต้นในรัชกาลของพระองค์เกิดขึ้น ๒ ครั้ง คือ
การเสด็จประพาสต้นครั้งที่ ๑ เมื่อพุทธศักราช ๒๔๔๗ เสด็จโดยทางเรือจากพระราชวังบางปะอิน ไปมณฑลราชบุรี แล้วเสด็จกลับมามณฑลนครชัยศรี และมณฑลอยุธยา การเสด็จครั้งนี้ทรงสำราญพระราชอิริยาบทมากกว่าครั้งใด ๆ
การเสด็จประพาสต้นครั้งที่ ๒ เมื่อพุทธศักราช ๒๔๔๙ เสด็จโดยชลมารคจากกรุงเทพมหานครไปทางอยุธยา ทรงนมัสการพระพุทธบาทที่เมืองสระบุรี ผ่านอ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท นครสวรรค์ ไปจนถึงกำแพงเพชร แล้วทรงย้อนกลับลงมาทางเมืองนครสวรรค์
การเสด็จประพาสในรัชกาลที่ ๖
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จประพาสเมืองต่างๆ ตั้งแต่ยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ในรัชกาลที่ ๕ เช่น เสด็จประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ เสด็จพระราชดำเนินไปมณฑลพายัพ เสด็จประพาสเมืองกำแพงเพชร สุโขทัย สวรรคโลก อุตรดิตถ์ พิษณุโลก นอกจากนี้นับแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา ประเทศไทยได้มีการปรับปรุงเส้นทางการคมนาคมและขยายเส้นทางรถไฟ ทำให้ประชาชนมีความสะดวกในการเดินทางท่องเที่ยวไปยังพื้นที่ต่าง ๆ มากขึ้น
ซุ้มพระปรางค์พระมหาธาตุ เมืองสุโขทัย ภาพจากหนังสือเรื่อง เที่ยวเมืองพระร่วง |
ขอมดำดิน ในลานวัดมหาธาตุ เมืองสุโขทัย ภาพจากหนังสือเรื่อง เที่ยวเมืองพระร่วง |
การเสด็จประพาสในรัชกาลที่ ๗
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสมณฑลฝ่ายเหนือและนครเชียงใหม่ เมื่อพุทธศักราช ๒๔๖๙ เสด็จผ่านเมืองต่าง ๆ ได้แก่ พิษณุโลก แพร่ ลำปาง เชียงราย เชียงแสน เชียงใหม่ และลำพูน
ท่องเที่ยวทั่วไทย ห่างไกลโควิด
การนำเสนอการท่องเที่ยวด้วยภาพและเรื่องราวจากหนังสือหายากในครั้งนี้ เป็นการเดินทางย้อนเวลาไปในเหตุการณ์ สถานที่ และบุคคล ซึ่งไม่เคยมีผู้ใดได้พบเห็น ผ่านจินตนาการของแต่ละท่านมาเติมเต็มภาพ เรื่องราวในภาพนั้น โดยจัดแบ่งเรื่องราวออกตามภูมิภาคของประเทศ ดังนี้
๑. หนังสือเกี่ยวกับการท่องเที่ยวภาคเหนือ เช่น อธิบายระยะทางล่องลำน้ำพิง ตั้งแต่เมืองเชียงใหม่จนถึงปากน้ำโพธิ์ จดหมายเหตุระยะทางเสด็จหัวเมืองเหนือ
๒. หนังสือเกี่ยวกับการท่องเที่ยวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น เที่ยวตามทางรถไฟ เมืองสระบุรี เรื่องเที่ยวที่ต่าง ๆ ภาคที่ ๔ ว่าด้วยเที่ยวมณฑลอุดร แล มณฑลอิสาณ นิราศหนองคาย
๓. หนังสือเกี่ยวกับการท่องเที่ยวภาคกลาง เช่น จดหมายเหตุเรื่องประพาสต้นในรัชกาลที่ ๕ ระยะทางเสด็จประพาสมณฑลอยุธยา เมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๔๒๑ เที่ยวเมืองพระร่วง
๔. หนังสือเกี่ยวกับการท่องเที่ยวภาคตะวันออก เช่น พระราชนิพนธ์เสด็จประพาศจันทบุรี จดหมายเหตุเรื่องเปิดรถไฟสายตะวันออกและสายเหนือและเสด็จพระราชดำเนินประพาสเมืองฉะเชิงเทรา เรื่องเสด็จประพาสคลองแสนแสบ
๕. หนังสือเกี่ยวกับการท่องเที่ยวภาคตะวันตก เช่น พระราชนิพนธ์เสด็จประพาศไทรโยค กลอนไดอรีซึมทราบกับตามเสด็จไทรโยค นิราศรถไฟสายราชบุรี
๖. หนังสือเกี่ยวกับการท่องเที่ยวภาคใต้ เช่น ชีวิวัฒน์ จดหมายเหตุประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ นิราศถลาง
เพราะหนังสือจึงรังสรรค์