บริการ

for w3c
ภาพตัวอย่าง

หนังสือทั่วไป หนังสือสำหรับเด็กและเยาวชน

  หนังสือทั่วไปภาษาไทยมีให้บริการ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 ถึงปีปัจจุบัน และหนังสือทั่วไปภาษาอังกฤษมีให้บริการ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 ถึงปีปัจจุบัน  ประกอบด้วย 10 หมวดดังนี้ 000 วิทยาการคอมพิวเตอร์ สารสนเทศ และความรู้ทั่วไป  100 ปรัชญาและจิตวิทยา 200 ศาสนา  300 สังคมศาสตร์  400 ภาษาศาสตร์   500 วิทยาศาสตร์ 600 เทคโนโลยี 700 ศิลปะและนันทนาการ 800 วรรณกรรม 900 ประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์                                          ที่ตั้ง หอสมุดแห่งชาติ อาคาร 1 ชั้น 2 วันและเวลาทำการ  วันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 09.00 - 18.30 น.วันเสาร์ - อาทิตย์ เวลา 09.00 - 17.00 น. ปิดบริการ วันหยุดนักขัตฤกษ์และวันหยุดตามมติคณะรัฐมนตรี โทรศัพท์ 02-2809828-32 ต่อ 686, 669

ภาพตัวอย่าง

หนังสือประเทศไทย หนังสือนานาชาติ

ห้องบริการหนังสือประเทศไทย ให้บริการหนังสือที่จัดพิมพ์ในประเทศไทย โดยไม่แยกปี พ.ศ. ที่ตีพิมพ์ ครอบคลุมหนังสือในทุกหมวดวิชา ตั้งแต่หมวด 000-900 ทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ รวมถึงบริการหนังสือส่วนตัวและจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ของหม่อมเจ้าสมัยเฉลิม กฤษดากร, พระยาอนุมานราชธน, หลวงวิจิตรวาทการ และขุนวิจิตรมาตรา   ห้องบริการหนังสือประเทศไทยให้บริการในระบบชั้นปิด ผู้ใช้บริการสามารถติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อขอใช้บริการ                         หนังสือนานาชาติ ให้บริการหนังสือที่จัดพิมพ์เป็นภาษาของแต่ละประเทศ จำนวน 64 ประเทศ โดยได้รับมาจากการแลกเปลี่ยนสิ่งพิมพ์ระหว่างประเทศ รวมถึงได้รับบริจาคจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ให้บริการในระบบชั้นเปิด ผู้ใช้บริการสามารถเลือกอ่านหนังสือได้ตามอัธยาศัย                        ที่ตั้ง หอสมุดแห่งชาติ อาคาร 1 ชั้น 3 วันและเวลาทำการ วันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 09.00 - 18.30 น.วันเสาร์ - อาทิตย์ เวลา 09.00 - 17.00 น. ปิดบริการ วันหยุดนักขัตฤกษ์และวันหยุดตามมติคณะรัฐมนตรี โทรศัพท์  02-2809828-32 ต่อ 694 โทรสาร 02-2813614

ภาพตัวอย่าง

หนังสือหายาก

หนังสือหายากเป็นเอกสารที่มีคุณค่าถือเป็นมรดกทรัพย์สินทางปัญญาของชาติทั้งด้านเนื้อหาและด้านการพิมพ์ มีอายุประมาณ 50-150 ปี ซึ่งผู้ใช้บริการอาจไม่สามารถหาได้จากห้องสมุดทั่วไป และไม่มีจำหน่วยในท้องตลาด ปัจจุบันหอสมุดแห่งชาติเก็บรักษาหนังสือหายากที่มีคุณค่าไว้เป็นมรดกทรัพย์สินทางปัญญาของชาติ โดยผ่านขั้นตอนการดำเนินการตามหลักวิชาบรรณารักษศาสตร์แล้ว จำนวนมากกว่า 50,000 เล่ม ประกอบด้วย       - พระราชนิพนธ์ พระนิพนธ์ หนังสือส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว - พระบาทสมเด็จพระมงกฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์อื่น ๆ  - หนังสือที่พิมพ์ในระยะเริ่มแรก หนังสือฉบับพิมพ์ครั้งแรก และพิมพ์ในโอกาสพิเศษต่าง ๆ - หนังสือที่มีความโดดเด่น มีรูปเล่มสวยงาม และมีภาพประกอบที่ทรงคุณค่า เป็นต้น และยังนับรวมถึงหนังสือใหม่ที่พิจารณาแล้วว่าจะเป็นหนังสือพิเศษที่หาได้ยากในอนาคตอีกด้วย ห้องหนังสือหายากให้บริการในระบบชั้นปิดทั้งหนังสือหายากภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ นอกจากนั้นยังจัดเก็บและให้บริการหนังสืออนุสรณ์งานศพ และหนังสือแบบเรียนเก่า ผู้ประสงค์จะขอใช้บริการต้องปฏิบัติตามระเบียบการใช้บริการหนังสือหายาก ดังนี้ - ลงชื่อเข้าใช้บริการ - กรอกแบบฟอร์มการขอใช้บริการให้ชัดเจน ถูกต้อง  - แนบบัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรอื่นที่ทางราชการออกให้ - ใช้หนังสือได้ครั้งละ ๕ เล่ม และให้ใช้ภายในห้องหนังสือหายากเท่านั้น ห้ามนำหนังสือออกโดยมิได้รับอนุญาต - ห้ามคัดลอกหรือทำสำเนาใดๆ นอกจากเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา หมายเหตุ : หอสมุดแห่งชาติสงวนสิทธิ์งดใช้บริการต้นฉบับจริงในกรณีที่หนังสือหายากนั้นมีสำเนาในรูปอื่นๆ  เช่น ไมโครฟิล์ม CD หรือสำเนาในรูปกระดาษ                    ที่ตั้ง หอสมุดแห่งชาติ อาคาร 2 ชั้น 3 วันและเวลาทำการ  วันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 09.00 - 16.30 น.วันเสาร์ - อาทิตย์ เวลา 09.00 - 17.00 น. ปิดบริการ วันหยุดนักขัตฤกษ์และวันหยุดตามมติคณะรัฐมนตรี โทรศัพท์ 02 280 9828 - 32 ต่อ 327, 330                

ภาพตัวอย่าง

วารสารและหนังสือพิมพ์

                             หอสมุดแห่งชาติให้บริการวารสารและหนังสือพิมพ์ทั้งฉบับปัจจุบันและฉบับล่วงเวลา ทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาจีน สำหรับวารสารและหนังสือพิมพ์ฉบับล่วงเวลาจะให้บริการด้วยระบบชั้นปิดเพื่อเป็นการอนุรักษ์ ข้อมูลและสภาพต้นฉบับวารสารและหนังสือพิมพ์ให้มีอายุยืนยาวนาน และบางฉบับมีการเย็บเล่มปกแข็ง การทำสำเนาด้วยการถ่ายไมโครฟิล์ม การทำสำเนา                        ปัจจุบันหอสมุดแห่งชาติยังคงเก็บรวบรวมวารสารและหนังสือพิมพ์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันไว้สำหรับให้บริการโดยมีรายการวารสารและหนังสือพิมพ์ที่ให้บริการประกอบด้วย หนังสือพิมพ์ภาษาไทย หนังสือพิมพ์ภาษาต่างประเทศ วารสารภาษาไทย วารสารภาษาต่างประเทศ วารสารและหนังสือพิมพ์เย็บเล่มภาษาไทย วารสารและหนังสือพิมพ์เย็บเล่มภาษาต่างประเทศ วารสารและหนังสือพิมพ์ภาษาไทยที่ถ่ายไมโครฟิล์มและไมโครแจ๊กเก็ต วารสารและหนังสือพิมพ์ภาษต่างประเทศที่ถ่ายไมโครฟิล์มและไมโครแจ๊กเก็ต               ระเบียบการใช้บริการวารสารและหนังสือพิมพ์ฉบับล่วงเวลา        - ใช้วารสารและหนังสือพิมพ์ฉบับย้อนหลังหรือฉบับเย็บเล่ม ติดต่อเจ้าหน้าที่        - กรอกแบบฟอร์มขอใช้บริการและแลกบัตรประจำตัวประชาชน/บัตรนิสิต นักศึกษา หรือบัตรอื่นที่ส่วนราชการออกให้        - ใช้วารสารและหนังสือพิมพ์ภายในห้องบริการวารสารและหนังสือพิมพ์เท่านั้น ห้ามนำออกโดยมิได้รับอนุญาต        - แจ้งเจ้าหน้าที่เมื่อต้องการถ่ายสำเนาหรือถ่ายภาพ                                   วารสารและหนังสือพิมพ์ฉบับปัจจุบัน ที่ตั้ง หอสมุดแห่งชาติ อาคาร 1 ชั้น 1 วันและเวลาทำการ  วันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 09.00 - 18.30 น.วันเสาร์ - อาทิตย์ เวลา 09.00 - 17.00 น. ปิดบริการ วันหยุดนักขัตฤกษ์และวันหยุดตามมติคณะรัฐมนตรี โทรศัพท์  0 2280 9828-32 ต่อ 636                                                                                    วารสารและหนังสือพิมพ์ฉบับล่วงเวลา ที่ตั้ง หอสมุดแห่งชาติ อาคาร 1 ชั้น 4 วันและเวลาทำการ  วันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 09.00 - 16.30 น.วันเสาร์ - อาทิตย์ เวลา 09.00 - 17.00 น. ปิดบริการ วันหยุดนักขัตฤกษ์และวันหยุดตามมติคณะรัฐมนตรี โทรศัพท์ 0 2280 9828-32 ต่อ 734, 735  

ภาพตัวอย่าง

นวนิยาย

รายละเอียดบริการ       หนังสือนวนิยาย แบ่งการให้บริการเป็น 2 ระบบ คือ ระบบชั้นปิดและระบบชั้นเปิด ดังนี้        ♦ หนังสือนวนิยายภาษาไทยที่จัดพิมพ์ในระหว่างปี พ.ศ. 2550-ปัจจุบัน ให้บริการระบบชั้นเปิด ณ มุมหนังสือนวนิยาย อาคาร 1 ชั้น 3 ผู้ใช้บริการสามารถเลือกอ่านหนังสือนวนิยายได้ตามอัธยาศัย        ♦ หนังสือนวนิยายภาษาต่างประเทศที่จัดพิมพ์ในระหว่างปี ค.ศ. 2000-ปัจจุบัน ให้บริการระบบชั้นเปิด ณ มุมหนังสือนวนิยาย อาคาร 1 ชั้น 3 ผู้ใช้บริการสามารถเลือกอ่านหนังสือนวนิยายได้ตามอัธยาศัย        ♦ หนังสือนวนิยายภาษาไทยที่จัดพิมพ์ต่ำกว่า พ.ศ. 2550 และหนังสือนวนิยายภาษาต่างประเทศที่จัดพิมพ์ต่ำกว่า ค.ศ. 2000 ให้บริการระบบชั้นปิด ผู้ใช้บริการต้องติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อขอใช้บริการ   วันและเวลาทำการ วันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 09.00 - 18.30 น. วันเสาร์ - อาทิตย์ เวลา 09.00 - 17.00 น. ปิดบริการวันหยุดนักขัตฤกษ์และวันหยุดตามมติครม.   เบอร์โทรศัพท์  โทร.       02-2809828-32 ต่อ 694 โทรสาร  02-2813614



for w3c
ภาพตัวอย่าง

หนังสืออักษรเบรลส์ และหนังสือเสียง (ซีดี ดีวีดี)

หนังสืออักษรเบรลส์ และหนังสือเสียง (ซีดี ดีวีดี)                    ให้บริการหนังสืออักษรเบรลส์ หนังสือเสียง ชีดี ดีวีดี (สำหรับผู้บกพร่องทางการเรียนรู้)                     ระเบียบการขอใช้บริการวีดีทัศน์ ซีดี ดีวีดี และสื่อโสตทัศน์อืน ๆ        - ลงทะเบียนในสมุดขอใช้บริการสื่อโสตทัศนวัสดุ      - ตรวจสอบรายการ และคัดเลือกรายการวีดีทัศน์ จากรายการสื่อโสตทัศน์ซึ่งจัดแยกตามประเภทของโสตทัศนวัสดุ โดยจัดเรียงตามลำดับหมายเลขทะเบียน      - กรอกแบบขอใช้บริการสื่อโสตทัศน์ โดยระบุชื่อเรื่องและหมายเลขรหัสโสตทัศนวัสดุที่ต้องการให้ครบถ้วน      - กรุณาสุภาพไม่ส่งเสียงดัง ขณะนั่งชมฟังภายในห้องบริการ      - แจ้งเจ้าหน้าที่เมื่อเครื่องขัดข้องห้ามกดปุ่มหรือปรับภาพเอง      - ห้ามนำอาหารและเครื่องดื่มเข้ามารับประทานภายในห้องบริการ   ตัวอย่าง แบบขอใช้บริการ CD, DVD ระบบเดซี่ 

ภาพตัวอย่าง

วีดิทัศน์ และแผ่นซีดี

งานบริการโสตทัศนวัสดุ ด้านวีดิทัศน์ และแผ่นซีดี           บริการซีดี ดีวีดี วีดีทัศน์ สารคดี ด้านศิลปวัฒนธรรม ศาสนา ภูมิประเทศ แบบเรียนภาษาต่างประเทศ  และซีดีที่มาพร้อมกับหนังสือทุกหมวดหมู่หนังสือ  ระเบียบการขอใช้บริการวีดีทัศน์ ซีดี ดีวีดี และสื่อโสตทัศน์อืน ๆ - ลงทะเบียนในสมุดขอใช้บริการสื่อโสตทัศนวัสดุ - ตรวจสอบรายการ และคัดเลือกรายการวีดีทัศน์ จากรายการสื่อโสตทัศน์ซึ่งจัดแยกตามประเภทของโสต ทัศนวัสดุ โดยจัดเรียงตามลำดับหมายเลขทะเบียน - กรอกแบบขอใช้บริการสื่อโสตทัศน์ โดยระบุชื่อเรื่องและหมายเลขรหัสโสตทัศนวัสดุที่ต้องการให้ครบถ้วน - กรุณาสุภาพไม่ส่งเสียงดัง ขณะนั่งชมฟังภายในห้องบริการ - แจ้งเจ้าหน้าที่เมื่อเครื่องขัดข้องห้ามกดปุ่มหรือปรับภาพเอง - ห้ามนำอาหารและเครื่องดื่มเข้ามารับประทานภายในห้องบริการ   ตัวอย่าง แบบขอใช้บริการ วีดีทัศน์ CD DVD โสตทัศนวัสดุ

ภาพตัวอย่าง

ภาพถ่าย โปสเตอร์ และแผนที่

งานบริการโสตทัศนวัสดุ ด้านภาพถ่าย โปสเตอร์ และแผนที่ (แผนที่มณฑล แสดงเขตต์เมือง)        - บริการภาพถ่ายเก่า ภาพพระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรีและพระบรมวงศานุวงศ์ ภาพบุคคลสำคัญของไทย เป็นต้น       - บริการอัลบั้มรูปภาพกิจกรรมของสำนักหอสมุดแห่งชาติที่จัดขึ้น เช่น การจัดงานการอภิปราย-บรรยาย งานวันเด็กแห่งชาติ  การประชุมสัมมนาที่น่าใจ เป็นต้น        - บริการแผนที่ประเทศไทยและต่างประเทศในอดีตและปัจจุบัน        - บริการโปสการ์ดโปสเตอร์และปฏิทินเก่าเกี่ยวกับวัฒนธรรมประเพณีและภูมิประเทศ เป็นต้น     ระเบียบการขอใช้บริการแผนที่            - กรอกแบบขอใช้บริการให้ระบุ ประเภท และจำนวนแผนที่ที่ต้องการค้นคว้า            - ถ้าต้องการถ่ายสำเนาเอกสาร ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ก่อน            - กรณีเป็นชาวต่างประเทศ ควรมีหนังสือรับรองจากสภาวิจัยแห่งชาติ หรือได้รับอนุญาตจากผู้อำนวยการฯ              โดยพิจารณาเฉพาะกรณี ตัวอย่าง แบบขอใช้บริการ แผนที่

ภาพตัวอย่าง

ไมโครฟิล์ม และไมโครฟิช

งานบริการโสตทัศนวัสดุ ด้านไมโครฟิล์ม และไมโครฟิช             ให้บริการอ่านเอกสารไมโครฟิล์ม ไมโครฟิช และไมโครแจ็กเก็ต ซึ่งถ่ายข้อมูลจากต้นฉบับ วารสาร หนังสือพิมพ์ แบบเรียนเก่าและหนังสือหายากบางประเภทที่มีอยู่ในหอสมุดแห่งชาติระเบียบการและข้อควรระวังการขอใช้บริการเครื่องอ่านไมโครฟิล์ม และไมโครแจ็กเก็ต      - นำสิ่งของและเอกสาร (แฟ้ม สมุด และกระเป๋า สำเนาเอกสารที่ติดตัวมา) ฝากเจ้าหน้าที่ก่อนเข้าใช้บริการ        - ค้นข้อมูลจากรายการ และกรอกแบบขอใช้บริการซึ่งให้รายละเอียด หมายเลขทะเบียน ชื่อหนังสือพิมพ์หรือเอกสาร เดือนปี พ.ศ. ที่ตีพิมพ์ ปีที่ผลิต โดยจัดเรียงตาม        หมายเลขทะเบียนไมโครฟิล์ม แยกตามลำดับอักษรชื่อหนังสือพิมพ์ หรือวารสาร       - เจ้าหน้าที่จะแนะนำวิธีการใช้เครื่องอ่านไมโครฟิล์ม ตามขั้นตอน       - อย่ากดหรือหมุนปุ่มใดๆ นอกเหนือจากคำแนะนำของเจ้าหน้าที       - อย่าหมุนเร็วเกิดไป เพราะฟิล์มจะครูดกับกระจกหน้าเลนส์ทำให้ฟิล์มชำรุดได้       - เมื่อค้นคว้าและต้องการทำสำเนา ให้จดชื่อหนังสือ หมายเลขหน้า หรือข้อความสำคัญในหน้าเอกสารที่ต้องการถ่ายให้เจ้าหน้าที่        - เจ้าหน้าที่จะนัดวันมารับภายหลัง พร้อมทั้งออกใบเสร็จรับเงิน       - เมื่อค้นคว้าเรียบร้อยแล้ว กรุณาจัดเก็บฟิล์ม หรือไมโครแจ็กเก็ต ใส่กล่องให้ถูกต้อง ตัวอย่าง แบบขอใช้บริการ ไมโครฟิล์มและไมโครแจ็กเก็ตอัตราค่าบริการ รายการ ในประเทศ ต่างประเทศ   1. ทำสำเนาไมโครฟิล์ม ไมโครแจ็กเก็ต ลงกระดาษ A4 แผ่นละ 10   บาท 20   บาท   2. การขอใช้อุปกรณ์เครื่องอ่านไมโครฟิล์ม ไมโครแจ็กเก็ต      (กรณีที่นำวัสดุ/อุปกรณ์มาเองคิดเป็นรายชั่วโมง)  ชั่วโมงละ     (หากมีเศษของชั่วโมงคิดเป็น ๑ ชั่วโมง) 50   บาท 50   บาท วันและเวลาทำการ : วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 09.00-16.30 น. / วันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 09.00-17.00 น. ปิดบริการ : วันหยุดนักขัตฤกษ์และวันหยุดตามมติ ครม. โทรศัพท์    02-281-3634



for w3c
ภาพตัวอย่าง

บริการอินเทอร์เน็ตและ Wi-Fi

บริการอินเทอร์เน็ตและ Wi-Fi          ห้องบริการเทคโนโลยีสารสนเทศฯ มีเครื่องคอมพิวเตอร์สำหรับให้บริการอินเทอร์เน็ตจำนวน 20 เครื่อง ผู้ใช้บริการแต่ละท่านสามารถใช้อินเทอร์เน็ตได้ครั้งละ 2 ชั่วโมง และสามารถต่อเวลาได้อีก 1 ครั้ง เป็นเวลา 2 ชั่วโมง รวมเป็น 4 ชั่วโมงต่อวัน ในการใช้บริการอินเทอร์เน็ตนั้น ผู้ใช้จะต้องนำบัตรสมาชิกห้องสมุด (Smart Card) มาแตะที่แท่นแตะบัตรเพื่อทำการลงทะเบียนก่อนใช้อินเทอร์เน็ตทุกครั้ง และต้องออกจากระบบ (log out) ทุกครั้งหลังใช้บริการเสร็จเรียบร้อย ส่วนบริการ Wi-Fi ผู้ใช้สามารถขอรับรหัส Wi-Fi ฟรีด้วยการนำบัตรประชาชนหรือพาสปอร์ตมาลงทะเบียนกับเครื่องออก Wi-Fi อัตโนมัติ   ระเบียบการใช้บริการ         ♦ ผู้ใช้บริการห้ามนำอาหาร และเครื่องดื่มเข้าไปรับประทานในห้องบริการอินเทอร์เน็ต        ♦ ผู้ใช้บริการต้องไม่ส่งเสียงดังรบกวนผู้อื่น        ♦ ห้ามสัมผัสหรือขูดขีดจอคอมพิวเตอร์        ♦ ห้ามเล่นเกม และดาวน์โหลดโปรแกรมต่าง ๆ        ♦ ห้ามเคลื่อนย้ายอุปกรณ์ต่างๆ ภายในห้องบริการอินเทอร์เน็ตโดยไม่ได้รับอนุญาต        ♦ ห้ามทิ้งขยะหรือเศษสิ่งของในห้องบริการอินเทอร์เน็ต        ♦ ห้ามปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศ        ♦ ห้ามใช้คอมพิวเตอร์ในการเข้าเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม วันและเวลาทำการ      เปิดบริการ : วันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 09.00 - 18.30 น.      วันเสาร์ - อาทิตย์ เวลา 09.00 - 17.00 น.      ปิดบริการ : วันหยุดนักขัตฤกษ์และวันหยุดตามมติครม.



for w3c
ภาพตัวอย่าง

ห้องนิทรรศการและห้องบริการเอกสารโบราณ

ห้องนิทรรศการและห้องบริการเอกสารโบราณ ให้บริการภายใต้หลักการให้บริการเอกสารโบราณในเชิงอนุรักษ์   ๑. ห้องนิทรรศการเอกสารโบราณ อาคาร ๑ ชั้น ๔        ♦ เปิดบริการ ทุกวันจันทร์ – ศุกร์ เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๖.๐๐ น.        ♦ เข้าชมนิทรรศการเอกสารโบราณได้ตามวันและเวลาที่เปิดทำการ        ♦ อนุญาตให้ถ่ายภาพเอกสารโบราณ หรือวัตถุอุปกรณ์ ในส่วนจัดแสดงได้โดยไม่ใช้แฟลชและขาตั้งกล้อง ไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพเคลื่อนไหว และถ่ายแบบเซลฟี่   ๒. ห้องบริการเอกสารโบราณ อาคาร ๑ ชั้น ๔ เอกสารประกอบการขอใช้บริการ - ประชาชนทั่วไป        ♦ แบบฟอร์มขออนุญาตใช้บริการเอกสารโบราณ        ♦ รายการเอกสารที่ต้องการใช้ศึกษาค้นคว้า        ♦ บัตรประจำตัวประชาชน(แสดงบัตรต่อเจ้าหน้าที่เพื่อตรวจสอบในการยื่นแบบฟอร์ม)   - นักศึกษา/นักวิจัย/บุคลากรที่มีหน่วยงานต้นสังกัด        ♦ หนังสือรับรองจากสถานศึกษา/หน่วยงานต้นสังกัด        ♦ แบบฟอร์มขออนุญาตใช้บริการเอกสารโบราณ        ♦ รายการเอกสารที่ต้องการใช้ศึกษาค้นคว้า        ♦ บัตรประจำตัวตามต้นสังกัดที่ระบุในหนังสือรับรอง แสดงบัตรต่อเจ้าหน้าที่เพื่อตรวจสอบในการยื่นแบบฟอร์ม)   - พระภิกษุ/นักบวช        ♦ แบบฟอร์มขออนุญาตใช้บริการเอกสารโบราณ        ♦ รายการเอกสารที่ต้องการใช้ศึกษาค้นคว้า        ♦ ใบสุทธิ/บัตรประจำตัวประชาชน(แสดงบัตรต่อเจ้าหน้าที่เพื่อตรวจสอบในการยื่นแบบฟอร์ม)   - นักวิจัยชาวต่างชาติ        ♦ หนังสือรับรองจากสภาวิจัยแห่งชาติ        ♦ แบบฟอร์มขออนุญาตใช้บริการเอกสารโบราณ        ♦ รายการเอกสารที่ต้องการใช้ศึกษาค้นคว้า        ♦ บัตรประจำตัวนักวิจัยที่ออกโดยสภาวิจัยแห่งชาติ(แสดงบัตรต่อเจ้าหน้าที่เพื่อตรวจสอบในการยื่นแบบฟอร์ม)   - ในกรณีประสงค์จะใช้สถานที่ห้องบริการเอกสารโบราณเพื่อถ่ายทำวีดิทัศน์        ♦ หนังสือรับรองจากหน่วยงานต้นสังกัด        ♦ แบบฟอร์มขออนุญาตใช้บริการเอกสารโบราณ        ♦ รายการเอกสารที่ต้องการใช้ประกอบการถ่ายทำ        ♦ บัตรประจำตัวตามต้นสังกัดที่ระบุในหนังสือรับรอง(แสดงบัตรต่อเจ้าหน้าที่เพื่อตรวจสอบในการยื่นแบบฟอร์ม)        ♦ บทบรรยายเรื่อง (Script)ของการถ่ายทำ   ขั้นตอนการขอใช้บริการเอกสารโบราณ        ♦ ตรวจสอบบัญชีบริการเอกสารโบราณ เพื่อคัดเลือกเอกสารตามตามรายการที่ผู้ใช้บริการต้องการศึกษาค้นคว้า จากนั้นกรอกแบบฟอร์มขออนุญาตใช้บริการเอกสารโบราณตามที่หอสมุดแห่งชาติจัดให้พร้อมแนบหลักฐานประกอบการขออนุญาตตามประเภทผู้ขอใช้บริการนั้นๆ        ♦ เจ้าหน้าที่จะนำเสนอผู้มีอำนาจพิจารณาอนุญาตไม่เกิน ๓ วันทำการ ในกรณีที่เอกสารโบราณตามรายการที่ผู้ใช้บริการระบุมีสำเนาสำหรับบริการแทนเอกสารโบราณต้นฉบับ เจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการ สามารถให้บริการสำเนานั้นได้ทันที ภายในวันที่ยื่นเอกสารขออนุญาตครบถ้วน ตาม ข้อ ๑        ♦ หากผู้ใช้บริการต้องการมีผู้ช่วยค้นคว้า ต้องปฏิบัติดังนี้           - ให้ผู้ใช้บริการกรอกแบบฟอร์มขออนุญาตให้มีผู้ช่วยค้นคว้าเอกสารโบราณ ถึงผู้อำนวยการหอสมุดแห่งชาติอ้างอิงถึงความจำเป็นที่ต้องมีผู้ช่วยค้นคว้า           - ให้ผู้ช่วยค้นคว้ากรอกแบบฟอร์มการขออนุญาตศึกษาค้นคว้าเหมือนกับผู้ใช้บริการ โดยแนบหลักฐานประกอบการขออนุญาตตามประเภทผู้ใช้บริการนั้นๆมาด้วย        ♦ ระยะเวลาการขออนุญาตครั้งหนึ่งๆ  มีกำหนดระยะเวลาดังนี้           - สำหรับบุคคลทั่วไป มีกำหนดเวลา ๓ เดือน นับแต่วันที่ได้รับอนุญาต           - สำหรับนักศึกษา นักวิจัย และหน่วยงานต่างๆ มีกำหนดเวลา ๑ ปี นับแต่วันที่ได้รับอนุญาต   ข้อปฏิบัติการเข้าใช้บริการเอกสารโบราณ        ♦ เมื่อได้รับอนุญาตให้ใช้เอกสารโบราณแล้ว ผู้ใช้บริการต้องกรอกแบบฟอร์มขอใช้เอกสารโบราณตามรายการที่ได้ขออนุญาตไว้และยื่นต่อเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการ กำหนดจำนวนครั้งละ ๕ รายการ โดยผู้ใช้บริการสามารถยื่นแบบขอใช้เอกสารได้อีกเมื่อส่งคืนเอกสารโบราณรายการเดิมแก่เจ้าหน้าที่แล้ว        ♦ ในกรณีเอกสารโบราณตามรายการที่ขออนุญาตมีสภาพชำรุด เจ้าหน้าที่สามารถพิจารณา งดให้บริการเอกสารนั้นๆ ได้ ตามความเหมาะสม        ♦ เอกสารโบราณที่ได้จัดพิมพ์เป็นเล่ม คัดลอก ถ่ายถอด พิมพ์ดีด ถ่ายจากไมโครฟิล์ม ถ่ายจากสื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือสื่ออื่นใดไว้แล้ว เจ้าหน้าที่จะให้บริการจากฉบับพิมพ์หรือสำเนานั้นๆ เท่านั้น        ♦ ต้นฉบับเอกสารโบราณซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในสภาพที่ชำรุดและไม่สมบูรณ์  ดังนั้นเพื่อเป็นการช่วยกันอนุรักษ์ผู้ใช้บริการต้องระมัดระวังอย่างมาก ตลอดเวลาที่ทำการศึกษาค้นคว้า  ต้องอยู่ในความควบคุมดูแลและต้องปฏิบัติตามข้อแนะนำในการอ่านเอกสารโบราณของเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการอย่างใกล้ชิด ห้ามไม่ให้ผู้ใช้บริการขีดเขียน หรือทำเครื่องหมายใดๆ ลงบนเอกสารโบราณ หรือสำเนาเอกสารที่เจ้าหน้าที่นำออกมาบริการแทนเอกสารต้นฉบับ ตลอดจนห้ามไม่ให้วางสิ่งหนึ่งสิ่งใดทับบนเอกสารโบราณ        ♦ เจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการมีสิทธิแนะนำว่ากล่าวตักเตือนหรือขอร้องให้งดเว้นการกระทำอันอาจเป็นการเสี่ยงหรือเป็นอันตรายต่อเอกสารโบราณได้ทุกกรณี        ♦ เจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการมีสิทธิระงับการใช้บริการได้ทันที ในกรณีที่เห็นว่าผู้ใช้บริการไม่ปฏิบัติตามข้อ ๓ และข้อ ๔        ♦ หากต้องการจะนำหนังสือส่วนตัวเข้ามาเพื่อเปรียบเทียบกับสำนวนในต้นฉบับต้องได้รับความเห็นชอบจากเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการของห้องบริการเอกสารโบราณก่อนทุกครั้ง        ♦ ผู้ใช้บริการเอกสารโบราณต้องไม่นำเอกสารโบราณซึ่งมีลักษณะเหมือนหรือคล้ายคลึงกับเอกสารโบราณที่มีอยู่ในหอสมุดแห่งชาติ เข้ามาใช้ในหอสมุดแห่งชาติ เว้นแต่ได้แจ้งและรับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว        ♦ ในกรณีที่ผู้ใช้บริการนำข้อมูลที่ได้จากการค้นคว้าในห้องบริการเอกสารโบราณไปใช้อ้างอิงในหนังสือ เอกสารวิชาการ วิทยานิพนธ์ สารคดี บทความหรือเอกสารประเภทอื่นใด  หากนำข้อมูลจากเอกสารโบราณไปใช้ก่อให้เกิดความเสียหายหรือกระทบต่อบุคคลอื่น ผู้ใช้บริการต้องรับผิดชอบ        ♦ ในกรณีที่เกิดความเสียหายต่อเอกสารโบราณ ในขณะที่ใช้บริการอยู่นั้น ไม่ว่าความเสียหายนั้นจะบังเกิดโดยสถานใด ผู้ใช้บริการต้องรับผิดชอบและชดใช้ค่าเสียหาย ตามที่เจ้าหน้าที่ผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการจากกรมศิลปากรจะเป็นผู้ตัดสินประเมินราคาและการตัดสินประเมินราคาของกรรมการนั้นถือเป็นข้อยุติ        ♦ ผู้ใช้บริการจะนำบุคคลอื่นเข้ามาใช้เอกสารโบราณด้วยไม่ได้ ยกเว้นในกรณีที่ผู้ใช้บริการได้ขอมีผู้ช่วยค้นคว้าและได้ดำเนินการต่อเจ้าหน้าที่ตามระเบียบการใช้บริการไว้แล้ว        ♦ ในกรณีที่ผู้ใช้บริการนำข้อมูลที่ได้จากการค้นคว้าในห้องบริการเอกสารโบราณไปใช้อ้างอิงในหนังสือ  เอกสารวิชาการ  วิทยานิพนธ์ สารคดี บทความหรือภาคนิพนธ์ประเภทอื่นใดให้ผู้ใช้บริการอ้างอิงแหล่งที่มาจากหอสมุดแห่งชาติในเอกสารงานเขียนหรือบทนิพนธ์ดังกล่าว พร้อมทั้งจัดส่งสำเนางานเขียนหรือบทนิพนธ์ให้หอสมุดแห่งชาติ กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก จำนวน 1 ชุด        ♦ ในกรณีขออนุญาตใช้สถานที่ห้องบริการเอกสารโบราณเพื่อถ่ายทำวีดิทัศน์ หากได้รับอนุญาตให้ดำเนินการถ่ายทำได้ตามที่ขออนุญาตจะต้องอยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่บริการตลอดระยะเวลาการถ่ายทำวีดิทัศน์นั้น และมีค่าบริการตามที่หอสมุดแห่งชาติกำหนด        ♦ เอกสารโบราณ ทั้งนี้ รวมทั้งวัตถุอุปกรณ์อันเนื่องด้วยเอกสารโบราณทุกชนิดของหอสมุดแห่งชาติ ไม่อนุญาตให้นำออกไปจากห้องบริการเอกสารโบราณ ยกเว้นมีความประสงค์จะยืมเพื่อการจัดแสดง เป็นการชั่วคราวจะต้องได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากอธิบดีกรมศิลปากร   ข้อปฏิบัติการขอสำเนาเอกสารโบราณ        ♦ หากผู้ใช้บริการประสงค์จะขอทำสำเนา และการถ่ายภาพเอกสารโบราณ เพื่อการศึกษาค้นคว้า วิจัยหรือเพื่องานวิชาการ ต้องกรอกแบบฟอร์มรายละเอียดการขอทำสำเนายื่นต่อเจ้าหน้าที่        ♦ การขออนุญาตทำสำเนา และการถ่ายภาพเอกสารโบราณ หรือวัตถุอุปกรณ์อันเนื่องด้วยเอกสารโบราณทุกชนิด เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ แสวงหาผลกำไรในเชิงพาณิชย์หรือเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์อื่นใดนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ ผู้ใช้บริการต้องดำเนินการขออนุญาตต่ออธิบดีกรมศิลปากร ห้องนิทรรศการและห้องบริการเอกสารโบราณ ที่ตั้ง: หอสมุดแห่งชาติ อาคาร 2 ชั้น 4 วันและเวลาทำการ : วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 09.00-16.30 น. ปิดบริการ : วันเสาร์ วันอาทิตย์ หยุดนักขัตฤกษ์และวันหยุดตามมติ ครม. โทรศัพท์ : 02 280 9828 - 32 ต่อ 510, 511 ๓. ห้องนิทรรศการตู้พระธรรม อาคาร ๑ ชั้น ๕เอกสารประกอบการใช้บริการห้องนิทรรศการ        ♦ หนังสือรับรองจากสถานศึกษา/หน่วยงานต้นสังกัด ขั้นตอนการขอใช้บริการห้องนิทรรศการ        ♦ ติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อนัดหมายวันเวลาเข้าชมนิทรรศการ ณ ห้องบริการเอกสารโบราณ อาคาร ๒ ชั้น ๔ หรือโทรสอบถามได้ที่หมายเลข  ๐๒-๒๘๐๙๘๕๕ ในวันและเวลาทำการ        ♦ ทำหนังสือรับรองจากสถานศึกษา/หน่วยงานต้นสังกัดถึงผู้อำนวยการหอสมุดแห่งชาติขอเข้าชม   ข้อปฏิบัติการเข้าใช้บริการห้องนิทรรศการ        ♦ ห้ามนำอาหารและเครื่องดื่มเข้ามาในห้องนิทรรศการ        ♦ ห้ามจับต้อง สัมผัส หรือกระทำการใดๆ ที่จะเกิดความเสียหายต่อตู้พระธรรม        ♦ เดินชมตู้พระธรรมที่จัดแสดงด้วยความระมัดระวัง        ♦ อนุญาตให้ถ่ายภาพตู้พระธรรมที่จัดแสดงได้โดยไม่ใช้แฟลชและขาตั้งกล้อง        ♦ ไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพเคลื่อนไหว และถ่ายแบบเซลฟี่        ♦ การถ่ายภาพในห้องนิทรรศการต้องนำไปใช้เพื่อการศึกษาค้นคว้า วิจัยหรือเพื่องานวิชาการเท่านั้น        ♦ การถ่ายภาพเพื่อแสวงหาผลประโยชน์แสวงหาผลกำไรในเชิงพาณิชย์หรือเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์อื่นใดนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ ผู้ใช้บริการต้องดำเนินการขออนุญาตต่ออธิบดีกรมศิลปากร  



for w3c
ภาพตัวอย่าง

เมนูสำรับ กับข้าวเจ้านายในราชสำนักสยาม

นิทรรศการ “เมนูสำรับ กับข้าวเจ้านายในราชสำนักสยาม”              ธรรมเนียมการประกอบอาหารของคนไทยนั้น มีลักษณะเด่นในเรื่องความพิถีพิถัน และประณีตบรรจง สามารถคิดค้นวิธีการปรุงอาหาร ประดิษฐ์ประดอยผักผลไม้ให้มีความสวยงามน่ากิน ซึ่งอาหารที่คนไทยบริโภค แบ่งออกเป็น ของคาว ของหวาน ผักและผลไม้ เครื่องดื่ม ของว่างหรืออาหารว่าง                           การประกอบอาหารคาวหวานต่าง ๆ โบราณถือว่าเป็นเรื่องสำคัญและเป็นหน้าที่ของสตรีทุกคน เด็กผู้หญิงไทยมักจะได้รับการฝึกอบรมในเรื่องการปรุงอาหารคาวหวาน ให้เป็นแม่บ้านที่ดี หรือ แม่ศรีเรือน             ส่วนเจ้านายฝ่ายในก็ทรงอำนวยการในการปรุงอาหาร ดังเช่น ในการสมโภชพระแก้วมรกต เมื่อพุทธศักราช ๒๓๕๒ ซึ่งกล่าวไว้ในหนังสือ “พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑” ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ว่า ในงานสมโภชพระแก้วมรกต เมื่อพุทธศักราช ๒๓๕๒ กล่าวถึง เจ้านายสตรีหลายพระองค์ได้ทรงอำนวยการในการปรุงอาหารเลี้ยงที่โรงทาน คือเจ้าครอกทองอยู่ พระชายาในกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข หรือวังหลัง และเจ้าครอกวัดโพธิ์ หรือกรมหลวงนรินทรเทวี พระเจ้าน้องนางเธอในพระบาทสมเด็จ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ดังความว่า             “การครั้งนั้น โปรดให้ตั้งโรงฉ้อทานที่หน้าวัดมหาธาตุ เจ้าครอกใหญ่อัครชายาของกรมพระราชวังหลัง ตั้งโรง ๑ ที่ท่าพระพระเจ้าน้องนางเธอ ซึ่งปรากฎพระนามภายหลังว่า กรมหลวงนรินทรเทวี กับกรมหมื่นนรินทร พิทักษ์ ตั้งโรง ๑ ที่โรงรองงาน”             ในหนังสือจดหมายเหตุความทรงจำ ของกรมหลวงนรินทรเทวี กล่าวถึง การฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดาราม จุลศักราช ๑๑๗๑ ว่า “ให้ผู้ต้องเกณฑ์ทำสำรับปฏิบัติคาวหวาน ไปดูอย่างกระจาดคาวหวานรองกระทง ณ ทิมดาบชาววัง แล้วให้เย็บกระทงน้อยใส่ของคาว” ของคาว ได้แก่ ไส้กรอก ไข่เป็ด ๕ ใบ ไก่พะแนง หมูผัดกุ้ง มะเขือชุบไข่ ไข่เจียว ลูกชิ้น กุ้งต้ม หน่อไม้ น้ำพริก ปลาแห้งผัด แตงโม ข้าวสาร ๒ ทะนานใส่ก้นกระทงใหญ่ ของหวาน ได้แก่ ขนมฝอย ข้าวเหนียวแก้ว ขนมผิง ขนมไส้ไก่ กล้วยฉาบ หน้าเตียง หรุ่ม สังขยา ฝอยทอง และขนมตะไล             เจ้าครอกทองอยู่ พระชายาในสมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข ทรงมีชื่อเสียงในด้านการทำขนมค้างคาวซึ่งตำรับของเจ้าครอกทองอยู่จะใช้แป้งข้าวเจ้าเจือกับถั่วเขียวเลาะเปลือกคั่วแล้วบดละเอียด เหตุที่ชื่อขนมค้างคาวเพราะการปั้นแป้งให้มีรูปร่างคล้ายค้างคาวที่กางปีก             พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระราชนิพนธ์ เห่ชมเครื่องคาวหวาน ได้ทรงชมสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี (สมเด็จเจ้าฟ้าบุญรอด) ว่ามีฝีพระหัตถ์ในการปรุงเครื่องเสวยเป็นเลิศ พระกระยาหารคาวในพระราชนิพนธ์ เช่น แกงมัศมั่นเนื้อ แกงมัศมั่นไก่ ยำใหญ่ หรุ่ม ล่าเตียง ลุดตี่ ขนมค้างคาว แกงมัสมั่นไก่ เดิมเป็นอาหารของชาวอินเดียนิยม แกงด้วยเนื้อวัว มีเครื่องเทศมาก มีรสฉุน รับประทานกับโรตีหรือข้าวสวย เข้ามาในประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ ๒ แล้วคนไทยก็ปรับรสชาติให้เข้ากับอาหารไทยและปรุงให้มี ๓ รส คือ เปรี้ยว เค็มและหวาน ยำใหญ่ ความหมายของยำใหญ่ในที่นี้คือ มีเครื่องปรุงมากนับได้ถึง ๒๑ ชนิด ประกอบด้วยเนื้อสัตว์ ผักประเภทต่างๆ และน้ำปรุงรส ล่าเตียง อาหารว่างชนิดหนึ่ง มีไข่โรยฝอยห่อหุ้ม ห่อเป็นชิ้นพอคำเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ใส่ไส้กุ้งสับละเอียด หรุ่ม อาหารว่างชิดหนึ่ง มีไข่เป็นแผ่นห่อเป็นชิ้นพอคำเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ใส่ไส้หมูสับ ห่อใหญ่กว่าล่าเตียง              ส่วนของหวานปรากฏอยู่ในพระราชนิพนธ์ เห่ชมเครื่องหวาน ได้แก่ สังขยา ซ่าหริ่ม เกสรลำเจียก มัศกอด ขนมเทียน ทองหยิบ ขนมผิง รังไรหรือเรไร ทองหยอด ทองม้วน จ่ามงกุฎ บัวลอย ช่อม่วง ฝอยทอง ขนมจีบ หรือ ขนมไส้หมู ของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี หรือ เจ้าครอกวัดโพธิ์ เป็นของว่างที่รัชกาลที่ ๒ ทรงโปรดเสวยเป็นอย่างยิ่ง เกสรลำเจียก สมัยก่อนนิยมทำสีขาวคล้ายเกสรดอกลำเจียกทั้งแป้งข้างนอกและไส้ข้างใน ปัจจุบันพัฒนาให้มีความสวยงาม โดยใช้สีจากธรรมชาติ ทำแป้งให้มีสีต่างๆ และไส้ทำให้เป็นสีเขียวโดยใช้น้ำใบเตย ลุดตี่ ต้นตำรับเป็นของอินเดียนิยมทานคู่กับแกง ปัจจุบันเรียกว่า โรตี เป็นของหวานใส่นมโรยน้ำตาล           ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พบข้าวแช่ในบทกลอนของสุนทรภู่ เรื่องรำพันพิลาป จึงสันนิษฐานว่า ข้าวแช่ เข้าสู่ราชสำนักไทยในสมัยรัชกาลที่ ๓ ความว่า                   ระดูร้อนก่อนเก่าทำข้าวแช่                   น่าชมแต่เครื่องกับสำรับฉัน                   ช่างทำเป็นเช่นดอกจอกเป็นดอกจันทน์                   งามจนชั้นกระชายทำเหมือนจำปา                   มะม่วงดิบหยิบดูจึ่งรู้จัก                   ทำน่ารักรูปสัตว์เหมือนมัจฉา                   จะแลลับกลับกลายสุดสายตา                   เคยไปมามิได้เห็นจะเว้นวาย           นอกจากนี้ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ได้ยกทัพไปตีเมืองญวนและจับเชลยญวนเข้ามาอยู่ในสยามเป็นจำนวนมาก ได้นำความรู้จากภูมิปัญญาของตนมาประกอบอาชีพ โดยได้ทำขนมชนิดหนึ่งขาย ใช้แป้งกับไข่ละลายน้ำแล้วเทใส่ลงกระทาที่ทาน้ำมันไว้ กลอกไปรอบ ๆ กระทะเป็นแผ่กลม จึงใส่ไส้พับกลางแซะขึ้นเรียกว่า “ขนมเบื้องญวน” ต่อมาทางห้องเครื่องในวังได้นำมาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงทั้งตัวแป้งและไส้ โดยใช้ความประณีตบรรจงในการกลอกแป้งให้เป็นแผ่นบาง ๆ ไส้มีรสกลมกล่อม นิยมทานพร้อมอาจาด ขนมเบื้องญวน                 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงไว้วางพระราชหฤทัยให้เจ้าจอมมารดาเที่ยงดูแลห้องเครื่องต้น และเป็นผู้ตั้งเครื่องเสวย ได้แก่ ผักบุ้งผัดกับหมู ฟักต้มหมู ผักต้มน้ำพริก แกงหัวปลากับใบมะขาม และผักกาดดองต้มกับหมูส่วนพระกระยาหารหวาน ได้แก่ ฝอยทองกรอบ และลูกชุบเมล็ดแตงโม             พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเสวยข้าวแช่ในช่วงฤดูร้อนเป็นอย่างมาก เจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่น เป็นผู้ปรุงข้าวแช่ถวายขึ้นโต๊ะเสวยมีการประดิดประดอย แกะสลักผักเครื่องแนมข้าวแช่ ทำเครื่องประกอบการรับประทานข้าวแช่เพิ่มขึ้น จึงถือว่าเป็นต้นตำรับ “ข้าวแช่ชาววัง” เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแปรพระราชฐานมาประทับ ณ พระนครคีรี (เขาวัง) เมืองเพชรบุรี ได้ทรงถามหาข้าวแช่แต่ไม่มีใครทำเป็นห้องเครื่องจึงรับชาวบ้านที่สนใจเข้ามาหัดทำแบบง่าย ๆ ไม่ประดิดประดอยอย่างชาววัง และเผยแพร่ออกไปสู่ชาวบ้านในแถบเมืองเพชรบุรีจนกลายเป็น “ข้าวแช่เมืองเพชร” เจ้าจอมมารดาเที่ยง ผู้ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้ดูแลห้องเครื่องต้น และเป็นผู้ตั้งเครื่องเสวย  เจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่น ผู้เป็นต้นตำรับ "ข้าวแช่ชาววัง"              จากหนังสือ “เล่าเรื่องกรุงสยาม” ของ ฌังบัปติสต์ ปาลเลกัวซ์ สังฆนายก คณะมิซซังโรมันคาทอลิกประจำประเทศสยาม พรรณนาความเป็นอยู่ของชาวสยามในสมัยรัชกาลที่ ๔ ว่า “เครื่องจิ้มชนิดหนึ่งใช้บริโภคกันทั่วไปในประเทศ ตั้งแต่พระเจ้าแผ่นดินลงมาจนถึงทาสชั้นเลว ต่างนิยมชมชื่นในรสของเครื่องจิ้มนี้อยู่ทั่วหน้า” จึงกล่าวได้ว่าเครื่องจิ้มเป็นอาหารที่อยู่คู่สำรับไทยมาช้านานเป็นที่นิยมของคนทุกชนชั้น             “เครื่องจิ้มมี ๒ ประเภท คือ ประเภทที่มีรสเปรี้ยว เค็ม หวาน เช่น แสร้งว่าหรือน้ำพริกต่าง ๆ และประเภทที่มีรสมันและหวาน เช่น หลน ซึ่งต้องลดเปรี้ยวลง มีเค็ม มันและหวานนิดหน่อย เครื่องจิ้มนิยมทานคู่กับผักแนม ทั้งผักดิบผักต้ม ผักต้มลวกราดกะทิ ผักผัดน้ำมัน ผักทอดทั้งชุบแป้ง และชุบไข่ทอด         ข้าวแช่ชาววัง ข้าวแช่เมืองเพชร น้ำพริกกะปิ หลนปลาร้า                ธรรมเนียมไทยแต่โบราณบริโภคอาหารด้วยวิธีนั่งราบลงบนเสื่อ นิยมจัดกับข้าวใส่ถาดเป็นสำรับ วิธีกินอาหารแต่เดิมใช้มือเป็นพื้น เพิ่งจะมาใช้ช้อนและส้อมเมื่อในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในระยะแรกเจ้านายหันมาใช้ช้อนส้อมแทนมือและนั่งโต๊ะอาหารใน ดังปรากฏในหนังสือ โคลงเลี้ยงโต๊ะปีใหม่ เมื่อปีจอ พ.ศ. ๒๔๑๗ ว่า              ที่เสวยเคยอยู่แล้ว             หมดจด             ใช้ซ่อมมีดช้อยชด             แช่มช้า             ลางองค์สั่นดดดด             พลัดพลาด             จับเชือดไม่ถูกถ้า              เงือดเงื้อเถือไถล ฯ เจ้านายฝ่ายในนั่งรับประทานอาหารโดยใช้มือที่พระตำหนักเรือนต้น  พระองค์เจ้าอดิสัยสุริยาภา ทรงใช้ส้อมเสวยพระกระยาหารที่พระตำหนักเรือนต้น  โต๊ะพระราชทานเลี้ยงปีใหม่ในสมัยรัชกาลที่ ๕  ลักษณะช้อน ส้อม มีด ในรัชกาลที่ ๕                 พระกระยาหารมื้อแรก (ภายหลังจากตื่นบรรทม) ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็น พระกระยาหารที่เสวยง่าย ต้นรัชสมัยมักเสวยพระกระยาหารต้ม ต่อมาช่วงกลางรัชสมัยพระกระยาหารเช้าเปลี่ยนเป็นแบบยุโรป คือ ซุป ๑ ถ้วย หรือขนมปัง และผลไม้เล็กน้อย ทรงเสวยที่ห้องเขียว ในพระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร เป็นห้องทรงพระสำราญ และทรงใช้ในโอกาสต่าง ๆ เป็นการส่วนพระองค์และตามพระราชอัธยาศัย ผู้ที่มีโอกาสเข้าเฝ้าในห้องนี้ได้แก่ พระอัครมเหสี พระราชเทวี เจ้าจอมมารดา เจ้าจอมที่มีหน้าที่ถวายงานปรนนิบัติในเวลาเสวยพระกระยาหาร ซึ่งจะทรงมีพระราชปฏิสันถารเรื่องต่าง ๆ กับผู้มาเฝ้า และทรงงานไปด้วย ห้องเขียวจึงเป็นห้องสำหรับให้ข้าราชสำนักฝ่ายในเข้าเฝ้าเป็นครั้งแรกของวัน ภาพถ่ายฝีมือเจ้าจอมเอิบ ถ่ายขณะเสวยพระกระยาหารร่วมกับพระเจ้าลูกเธอ และพระเจ้าลูกยาเธอ                   สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ พระกระยาหารจะเป็นเครื่องเสวยไทยและฝรั่งรวมกัน ข้าวเสวยนั้นเป็นข้าวตุ๋นบรรจุในพิมพ์คล้ายพิมพ์ขนมขนาดย่อม ถอดจากพิมพ์จัดลงในจานอีกทีหนึ่ง เครื่องพระกระยาหารเป็นแบบไทยแท้ เป็นต้นว่า แกงจืดลูกรอก แกงเผ็ดที่ไม่ค่อยเผ็ด หมูหวานเปื่อยแดงชิ้นใหญ่บาง ๆ ปลาช่อนหรือปลาดุกเอาแต่เนื้อปลายีจนฟูทอดกรอบ เนื้อปลาเค็มบดจนแหลกเคล้าเนื้อปลาจืดปั้นเป็นชิ้นชุบไข่ทอด ยำไข่ปลาดุกของโปรดมักจะมีไม่ค่อยขาด เครื่องหวาน เช่น ลูกตาลอ่อนน้ำเชื่อม มะตูมสุกราดกะทิ กระท้อนห่อลอยแก้ว วุ้นหรือเยลลี่ผลไม้แช่เย็น และผลไม้ตามฤดูกาล เช่น ส้มเขียวหวาน เงาะ ลิ้นจี่ มะม่วง มะปราง มังคุด สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ              พระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดาทรงรับงานด้านการครัว หรือที่เรียกว่า “พระเครื่องต้น” และยังมีเจ้าจอมท่านอื่น ๆ ถวายงานรับใช้ทั่วไป โดยเฉพาะเจ้าจอมในสกุลบุนนาค หรือที่เรียกกันว่า เจ้าจอมก๊กออ ได้แก่ เจ้าจอมมารดาอ่อน เจ้าจอมเอี่ยมเจ้าจอมเอิบ ซึ่งมีบทบาทในการช่วยงานครัวและตั้งเครื่องเสวย พระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา และเจ้าจอมมารดาอ่อนเจ้าจอมเอี่ยม เจ้าจอมเอิบ เจ้าจอมเอื้อน ในรัชกาลที่ ๕ ภายในห้องเครื่อง พระราชวังดุสิต              เจ้าจอมเอี่ยมทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยทำเครื่องเสวยในพระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏปิยมหาราชปดิวรัดาในพระราชพิธีขึ้นพระตำหนักเรือนต้นพระราชวังดุสิต เมื่อ ร.ศ. ๑๒๔ (พ.ศ. ๒๔๔๘) รายการอาหาร ได้แก่ ขนมจีนน้ำพริก แกงไก่ แกงลักไก๊ ข้าวบุหรี่ แกงมัสมั่น หัวหมูทรงเครื่อง ยำทวาย พริกขิงป่า ผัดปลาหมึกสด ผักดองน้ำพริก กับข้าวลาว ขนมลำเจียก ขนมผิง ทองพลุ ส้มเขียวหวาน สละ และพลับสด เจ้าจอมเอี่ยม ขณะทำเครื่องเสวยภายในห้องเครื่อง พระราชวังดุสิต              เจ้าจอมเอิบเป็นผู้มีฝีมือในการปรุงเครื่องเสวยและเป็นที่โปรดปรานมาก โดยเฉพาะการทอดปลาทูเป็นที่เลื่องลือกล่าวขาน ทรงโปรดให้สร้างเรือนต้นขึ้นตรงข้ามพระที่นั่งวิมานเมฆ ด้านหลังโปรดให้ปลูกเป็นโรงชั่วคราวสำหรับเป็นครัวของทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายในพระองค์โปรดเสวยปลาทูเป็นอย่างมาก ทุกครั้งที่เสด็จเมืองเพชรบุรีก็จะทรงกล่าวถึงปลาทูทรงคิดเมนูใหม่โดยนำปลาทูมาทำข้าวต้ม เรียกว่า “ข้าวต้มสามกษัตริย์” เจ้าจอมอาบ ขณะทำครัวภายในห้องเครื่อง พระราชวังดุสิต              พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเสวยหมูหวานที่ท้าววรจันทร์ (เจ้าจอมมารดาวาด ในรัชกาลที่ ๔) ทำขึ้นถวาย เมื่อเสวยแล้วรับสั่งว่า “หมูหวานนี้แต่ก่อน เรียกว่า “หมูผัด” คำว่าหมูหวานเป็นคำใหม่ที่เกิดขึ้นภายหลัง เมื่อครั้งสิ้นรัชกาลที่ ๔ มิใคร่จะได้เสวยหมูผัดชนิดนี้เลย” โปรดเกล้า ฯ ให้ตีฆ้องร้องป่าวทั่ว พระบรมหาราชวังว่า ได้เสวยหมูผัดฝีมือท้าววรจันทร์ เหมือนที่ได้เสวยเมื่อยังทรงพระเยาว์ ทรงประกาศว่าถ้าผู้ใดสามารถทำ “หมูผัด” ได้เหมือนท้าววรจันทร์แล้ว จะพระราชทานน้ำตาลเท่าลูกฟักเป็นรางวัล เมื่อครั้งที่ท้าววรจันทร์ได้ทำน้ำยาไก่ขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวาย ก็ทรงโปรดปรานมากถึงกับพระราชทานธูปเทียนแพบูชาฝีมือปรุงอาหารด้วย เจ้าจอมมารดาวาดในรัชกาลที่ ๕ รับราชการตำแหน่งท้าววรจันทร์ในรัชกาลที่ ๕ เป็นตำแหน่งชั้นสูงของข้าราชการฝ่ายใน ข้าวบุหรี่ ของเจ้าจอมก๊กออ เป็นอีกหนึ่งของเสวยที่ทรงโปรดและยังเป็นอาหารยอดนิยมในหมู่เจ้านาย น้ำยาไก่และหมูผัดที่ท้าววรจันทร์ (เจ้าจอมมารดาวาด)ทำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายในรัชกาลที่ ๕ ข้าวต้มสามกษัตริย์ การเสด็จประพาสต้นในรัชกาลที่ ๕              พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชอัธยาศัยโปรด ฯ การเสด็จประพาสที่ต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ บางคราวเสด็จ ฯ ไปเป็นทางราชการ บางคราวเสด็จ ฯ ไปเพื่อสำราญพระราชอิริยาบถ ไม่โปรด ฯ ให้จัดการรับเสด็จอย่างเป็นทางการ ที่เรียกว่า “เสด็จประพาสต้น” ทรงพอพระราชหฤทัยที่จะประทับที่ใดก็ประทับที่นั้น การเสด็จประพาสต้นมีประโยชน์แก่ราชการบ้านเมือง เพราะเสด็จประพาสปะปนไปในหมู่ราษฎร ได้ทรงทราบคำกราบบังคมทูลของราษฎรปรารภสุขทุกข์ ซึ่งไม่สามารถจะทรงทราบได้จากทางอื่น การเสด็จประพาสต้นในรัชกาลของพระองค์เกิดขึ้น ๒ ครั้ง ระหว่างเสด็จประพาสต้น ทรงแวะซื้อเสบียงอาหารระหว่างทาง หากพบว่าสถานที่ใดเหมาะสมและร่มรื่นก็ทรงแวะประทับเสวยพระกระยาหาร   ประพาสต้นครั้งที่ ๑ พุทธศักราช ๒๔๔๖   ประพาสต้นครั้งที่ ๒ พุทธศักราช ๒๔๔๙              วันที่ ๑๕ กรกฎาคม กระบวนเรือล่องเข้ามาคลองบางกอกใหญ่และคลองภาษีเจริญ    มาถึงบ้านกระทุ่มแบน เสบียงอาหารบนเรือใกล้หมด จึงชวนกันขึ้นบก เดินไปเที่ยวซื้อข้าวแกงกินที่ตลาดบ้านกระทุ่มแบน เสด็จแวะซื้อ ผัดหมี่ วันต่อมา ๑๖ กรกฎาคม เวลาบ่ายเสด็จประพาสทุ่ง ไปถึงบ้านแห่งหนึ่ง เจ้าของบ้านชื่อ ยายผึ้ง เชิญให้แวะที่บ้านเข้าใจว่าเป็นขุนนาง ไม่รู้จักว่าใครเป็นใคร ครั้นเสด็จขึ้นเรือนแล้ว ยายผึ้งเข้าไปยกหม้อข้าวกับกระบะไม้ใส่ชามกะลา มีผักกาดผัดหมู ปลาเค็ม น้ำพริก มาตั้งเลี้ยงเสวย             วันที่ ๒๔ กรกฎาคม เวลาเช้าเสด็จทรงเรือฉลอม แล่นเรือออกไปประพาสละมุที่เขาจับปลาตามปากอ่าวแม่กลองเที่ยวซื้อกุ้งปลาที่เขาจับได้ตามละมุ แล้วต้มข้าวต้มสามกษัตริย์ขึ้นในเรือฉลอม ที่เรียกว่าข้าวต้ม ๓ กษัตริย์นั้นคือ ต้มอย่างข้าวต้มหมูแต่ใช้ปลาทู กุ้ง กับปลาหมึกสดแทนหมู                วันที่ ๗ สิงหาคม กระบวนเรือของพระเจ้าอยู่หัว เสด็จถึงบางปะอิน มาพบบ้านแห่งหนึ่งที่บางหลวงอ้ายเอียงเห็นจะอาศัยทำครัวที่นั่นได้ จึงแวะเข้าไปไต่ถามได้ความว่าเป็นบ้านกำนัน แต่ตัวกำนันไปค้าข้าว อยู่แต่นายช้าง อำแดงพลับ พ่อตา แม่ยาย นายช้างออกมาต้อนรับ ยายพลับช่วยทำครัวเมื่อพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นบนเรือน และได้นั่งสนทนา ประเดี๋ยวได้ยินเสียงยายพลับเอะอะในครัว ได้ความว่า แกเอ็ดหมื่นสรรพกิจเรื่อง ชิมแกง แกว่าเป็นผู้ลากมากดีทำไมถึงชิมแกงด้วยจวักเขา เขาถือกันไม่รู้หรือ เลยเฮกันใหญ่ การทำครัวที่บานนายช้างวันนี้สนุกยิ่งกว่าที่ได้เคยทำมาในที่อื่น ๆด้วยเจ้าของบ้านมิได้มีใครสงสัยล่วงรู้ว่าผู้ใดเป็นใครเลย             วันที่ ๒๙ กรกฎาคม เสด็จแวะคลองตะเคียนซื้อผ้า แล้วจอดทำกับข้าวที่แพซุงใกล้คลองตะเคียน มีปลาแห้งผัดไข่เจียว แกงกะทิ กินอย่างอร่อย บรรยากาศในเรือนของหมื่นปฎิพัทธภูวนารถ (ช้าง) บางหลวงอ้ายเอียง กรุงเก่าซึ่งปลูกสร้างใหม่สำหรับรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโดยเฉพาะในคราวเสด็จประพาสต้น ครั้งที่ ๒ พุทธศักราช ๒๔๔๙ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประทับเสวยพระกระยาหาร พร้อมด้วยผู้ตามเสด็จ ที่บริเวณตลิ่งสูงในป่าใต้วังนางร้างในคราวเสด็จประพาสต้นครั้งที่ ๒ พุทธศักราช ๒๔๔๙ พระกระยาหารระหว่างเสด็จประพาสยุโรป ครั้งที่ ๑ พ.ศ. ๒๔๔๐              ในการเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรกของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นเหตุการณ์สำคัญใน ประวัติศาสตร์ไทยที่องค์ประมุขได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการทั้งจากพระราชสำนัก รัฐบาล และประชาชนในยุโรป ตามกำหนดการได้เสด็จเยือนประเทศต่าง ๆ ๑๔ ประเทศ ทรงใช้เวลานานเกือบ ๙ เดือนเศษ โดยทรงออกจากกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๗ เมษายน พ.ศ. ๒๔๔๐ จนกระทั่งเสด็จนิวัตพระนครเมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม ในปีเดียวกัน ประเทศเจ้าภาพได้ถวายการต้อนรับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างยิ่งใหญ่และสมพระเกียรติ             ระหว่างที่ประทับอยู่ ณ ทวีปยุโรป พระกระยาหารที่ประเทศเจ้าภาพได้จัดถวายส่วนใหญ่เป็นอาหารฝรั่ง อาทิ ปลาค็อดอบเนย เนื้อลูกวัวกับซอส เป็ดป่ากับสลัดหน่อไม้ฝรั่ง ซุปเต่า ไก่ราดซอสครีม ไก่งวง และไก่รุ่นย่าง ปลาเทร้าส์ย่าง กวางอบราดซอส เนื้อสันหลังกวางย่าง ซี่โครงแกะ เนื้อนกอบ สตูว์เนื้อลูกวัว ปลาแซลมอนราดกับ ซอสครีม สลัดกุ้งน้ำจืด ปลาเทอร์บอต เนื้อวัวอบกับผักโขม ไส้กรอกยัดด้วยเลือดหมู ซุปเนื้อกวาง หอยนางรมกับซอสกุ้ง ไข่ปลาคาร์เวียร์ ซุปใส สตูว์แกะ ไก่รุ่นและนกกระทากับสลัดผักฮอลแลนด์ เนื้อไก่กับซอสเยลลี่ ปลาเทร้าส์อบราดซอส เนื้อสันหลังกวางราดซอส ผักเซลเลรี่ราดซอสกับนกกระทาย่าง มูสตับห่าน ของหวาน ได้แก่ ขนมเค้กกับผลกูสเบอรีดำ ทาร์ตผลไม้ ไอศกรีมผลกูสเบอรี่ เค้กสับปะรด ลูกพีช ผลแอปริคอต ไอศกรีมสตรอเบอร์รี่ เครื่องดื่ม ไวน์ เสวยอะไร เมื่อไกลบ้าน พ.ศ. ๒๔๕๐               พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แม้จะทรงเคยชินกับพระกระยาหารฝรั่งมาตั้งแต่เสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก แต่ในการเสด็จประพาสครั้งที่ ๒ เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๐ มีความแตกต่างจากครั้งแรก คือ การเสด็จครั้งนี้ มีพระราชประสงค์เพื่อทรงรักษาอาการประชวรและฟื้นฟูพระพลานามัย ระหว่างการเสด็จประพาสยุโรปทรงพรรณนาไว้ในพระราชนิพนธ์ไกลบ้านว่าทรงประกอบพระกระยาหารไทยด้วยพระองค์เองหลายครั้ง พระราชหัตถเลขา ฉบับที่ ๒๘ คืนที่ ๑๐๖ วันพฤหัสบดี ที่ ๑๐ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๖ บนเรืออัลเบียนเมืองโบเดอ พระราชหัตถเลขา ฉบับที่ ๒๘ คืนที่ ๑๐๘ วันพฤหัสบดี ที่ ๑๑ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๖ บนเรืออัลเบียนเมืองฮาเมอเฟสต์ พระราชหัตถเลขา ฉบับที่ ๓๕ คืนที่ ๑๕๔ วันอังคาร ที่ ๒๗ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๖ ณ เมืองฮอมเบิค พระราชหัตถเลขา ฉบับที่ ๔๒ คืนที่ ๒๐๗ กลางคืนวันเสาร์ ที่ ๑๙ ตุลาคม ร.ศ. ๑๒๖ ขณะประทับบนเรือพม่า ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน                  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จไปศึกษา ณ ประเทศอังกฤษตั้งแต่พระชนมายุ ๑๒ พรรษา ต้องประทับอยู่ท่ามกลางชาวอังกฤษเป็นเวลานานกว่า ๙ ปีเศษ แต่พระองค์ก็ยังทรงโปรดความเป็นไทย เห็นได้เมื่อพระองค์เสด็จนิวัตพระนคร พระองค์ทรงโปรดดำเนินพระราชภารกิจประจำวันคล้ายสมเด็จพระบรมชนกนาถ คือ ประทับท่ามกลางข้าราชบริพาร บางครั้งก็เสวยกับพื้นอย่างแบบโบราณ ที่เรียกกันว่า “เสวยต้น”              พระกระยาหารคาวหวานที่ห้องจัดมาถวายเวลาเสวยต้นนั้นเป็นอาหารไทยล้วนและเป็นอาหารพื้น ๆ ปรุงจากเนื้อสัตว์ ผักสด ไขมัน แป้ง เครื่องปรุงรสนานาชนิด ปรุงแต่งและประดิษฐ์ด้วยฝีมืออันประณีต ผักหรือผลไม้ล้วนแกะสลัก ปอก คว้าน ให้ดูสวยงามและเสวยง่าย จัดวางเข้าชุดกันมีพร้อมทั้งแกงเผ็ด แกงจืด ปลา เครื่องจิ้ม ผักสด เครื่องเคียงต่าง ๆ ดังที่จมื่นอมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช) ได้บันทึกเรื่องชุดพระกระยาหารไว้ ดังนี้ชุดที่ ๑ ประกอบด้วย             แกงเผ็ดเนื้อ ปลาเค็มชุบไข่ทอด หมูหวาน แกงจืดเกาเหลา ปลาช่อนทอด น้ำพริก ผักต้มกะทิ ผักสดต่าง ๆ ยำไข่ปลาดุก ไข่ฟูทรงเครื่อง กระเพาะปลาทอดกรอบจิ้มกับน้ำพริกเผา ชุดที่ ๒ ประกอบด้วย             แกงเผ็ดปลาดุก เนื้อเค็มผัดหวาน ปลาจาระเม็ดขาวเจี๋ยน แกงจืดลูกรอก ปลาทูนึ่งทอดเหลือง น้ำพริกมะขามสด ผัดทอดต่าง ๆ ผักสดต่าง ๆ ยำไข่ปลาดุก ผัดเนื้อหมูกับยอดผัก ด้วงโสนทอดกรอบชุดที่ ๓ ประกอบด้วย             แกงเขียวหวานไก่ ปลายี่สกฝอยผัดหวาน ไข่เค็มทอด แกงจืดวุ้นเส้น ปลาดุกย่างยีเนื้อทอดฟู เต้าเจี้ยวหลนหรือกะปิคั่ว ผักสดต่าง ๆ ยำไข่ปลาดุกหรือยำใหญ่ ปูจ๋า หมูกระจกจิ้มน้ำพริกเผา             แต่สิ่งที่โปรดเสวยมากจนเป็นที่รู้กันว่า ชาวพนักงานพระเครื่องต้นจะพยายามจัดหาไม่ค่อยขาด คือ ยำไข่ปลาดุก ด้วงโสนทอดกรอบ ผักสดต่าง ๆ และน้ำพริก             เครื่องหวานที่จัดถวาย เช่น ฝอยทอง วุ้นหวานบรรจุพิมพ์ ลูกตาลสดน้ำเชื่อม มะตูมสด กับน้ำกะทิ กระท้อนลอยแก้ว ลิ้นจี่สดกับเยลลี เป็นต้น ผลไม้ปอกคว้านต่าง ๆ เช่น มะปราง เงาะ น้อยหน่า             พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์เห่ชมเครื่องว่าง กล่าวถึงอาหารไทยประเภทหนึ่งที่นิยมกันในหมู่เจ้านาย ในพระราชนิพนธ์เห่ชมเครื่องว่างนั้นมีเครื่องว่างหลายประเภท เช่น ข้าวต้ม ขนมจีบ น้ำพริกระมาด ขนมเบื้องญวน เมี่ยงคำ ข้าวตังกรอบ ขนมเบื้อง ข้าวต้มเนื้อวัว สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร์ทรงทำข้าวต้มเนื้อวัวปรุงถั่ว เลี้ยงในงานสโมสรสันนิบาตครั้งหนึ่งพระบามสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เสวยแล้วโปรดมาก ข้าวต้มสาคู ใช้สาคูเม็ดใหญ่แทนข้าว เนื้อสัตว์ใส่ได้ตามชอบ มีแครอท ฟักทองเม็ดถั่วลันเตา ก่อนเสิร์ฟโรยหน้าด้วยขนมปังทอดกรอบชิ้นเล็ก น้ำพริกลูกระมาด หรือ ระมาศ (มะแข่น) ใช้ผลแห้งเป็นเครื่องเทศหรือตำผสมกับเครื่องแกงเพื่อชูรส มีรสเผ็ดร้อน สรรพคุณ แก้โรคลมจุกเสียดบำรุงเตโชธาตุ (ธาตุไฟ) ช่วยย่อยอาหาร ข้าวต้มเนื้อนก รู้จักไม่แพร่หลายนัก เพราะนกมีเนื้อน้อย และปัจจุบันการนำนกมาทำอาหารก็ไม่ง่าย ถือว่าเป็นอาหารที่รสชาติดี หากใครได้ทานแล้วจะไม่ลืมอาหารจานนี้ ยำไข่ปลาดุก เป็นเครื่องเคียงประจำที่มีอยู่เกือบตลอดฤดูกาล              เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จ ฯ มาเสวยพระกระยาหารกับสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา ณ พระราชวังพญาไท ข้าหลวงจะจัดเครื่องเสวยทั้งแบบไทยและแบบฝรั่ง เครื่องเสวยแบบไทย โปรดเสวยด้วยพระหัตถ์ ประกอบด้วย ข้าวสวย แกงเผ็ด อย่างแกงแคลาว แกงจืด น้ำพริกพร้อมเครื่องเคียงอย่างปลาทอด จำพวกปลาทูหรือปลาดุกฟู หมูหวานหรือเนื้อฝอยผัดหวาน ไข่ฟู ผักสดแกะสลักแช่เย็น ยำที่โปรดคือ ยำไข่ปลาดุก ที่ขาดไม่ได้คือ กระเพาะปลาทอดกรอบหรือแคบหมูทอดกรอบ ข้าวคลุกกะปิ ข้าวคลุกน้ำพริก ข้าวผัด ข้าวยำปักษ์ใต้กับเครื่องจิ้มในถ้วยเล็ก ๆ ได้แก่ น้ำปลา น้ำตาล น้ำเชื่อม หลน น้ำพริกเผา และน้ำพริกกะปิ นอกจากนั้นจะต้องมีพระสุธารสชา และเบียร์             พระสุจริตสุดา พระสนมเอก ได้ประทานวิธีทำอาหารไทยและอาหารฝรั่งประกอบด้วยสูตรอาหารหลากหลายชนิด ได้แก่ แกงเผ็ดไก่จี๋จ๋วน หมี่ดอกโศก พริกขิงชวา น้ำพริกวังหลวง น้ำพริกสมเด็จ กุ้งหลอนหลน ดาราลอยน้ำเชื่อม ขนมทันสมัย ปาริศเสเวอรี สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา              พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ทรงมีฝีมือในการปรุงอาหารอย่างมาก เมื่อคราวเสด็จไปประทับในต่างแดนช่วงสงครามโลก ทำให้พระองค์ได้ฝึกฝนการปรุงอาหารทั้งอาหารไทยและอาหารฝรั่ง ตำรับอาหารของพระองค์มีสูตรเฉพาะที่เป็นเอกลักษณ์ และได้รับการสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน             พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ขณะประทับ ณ ประเทศอังกฤษ โปรดที่จะลงพระหัตถ์ปรุงขนมชอร์ตเบรดที่ทรงสร้างสรรค์สูตรขึ้นและปรุงด้วยวิธีการที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ เป็นเครื่องเสวยยามบ่ายคู่กับพระสุธารสชาถวายสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี อยู่เสมอ อีกทั้งยังทรงพระกรุณาประทานให้กับข้าราชบริพารและผู้ที่มาเข้าเฝ้าได้รับประทานด้วย พระสุจริตสุดา พระสนมเอก              ในฤดูร้อนของทุกปี สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี จะเสด็จไปประทับ ณ พระตำหนักพัชราลัย อำเภอหัวหิน ในระหว่างนี้ มีพระประสงค์ที่จะสนับสนุนสินค้าพื้นถิ่นของประชาชนสินค้าขึ้นชื่อ คือ ปลากุเรา ชาวห้องเครื่องได้ปรุงน้ำพริกปลากุเราถวาย นอกจากนี้สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดียังโปรดเสวยน้ำพริกเผาเป็นประจำ จนกลายเป็นน้ำพริกคู่โต๊ะเสวย สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี กับพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ขณะประทับ ณ ประเทศอังกฤษ แกงจี๋จ๋วน ชอร์ตเบรด ขนมอบที่ชาวอังกฤษนิยมรับประทานคู่กับน้ำชา น้ำพริกปลากุเรา น้ำพริกเผาเสวย              พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีทรงดำเนินพระชนชีพอย่างเรียบง่าย หลังจากตื่นพระบรรทม ทั้งสองพระองค์เสวยพระกระยาหารเช้าและกลางวันร่วมกันแล้วจึงเสด็จทรงงาน เวลาเย็นทั้งสองพระองค์จะเสวยพระสุธารสชาร่วมกัน บางวันทรงออกพระกำลังทอดพระเนตรภาพยนตร์ ถ่ายภาพ ทรงดนตรี กีฬา โดยเฉพาะแบดมินตัน เทนนิส และกอล์ฟจากนั้นเสวยพระกระยาหารค่ำแบบไทยคือ ประทับเสวยที่พื้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีประทับเสวยพระกระยาหารที่พื้นร่วมกับผู้ตามเสด็จ ขณะเสด็จประพาสท่าพันเท้า พุทธศักราช ๒๔๗๗              เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติและย้ายไปประทับที่ประเทศอังกฤษ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เพื่อพักฟื้นพระวรกาย ณ พระตำหนักโนล กรุงลอนดอน จากนั้นทรงย้ายไปประทับอยู่ที่พระตำหนักเกล็นเพ็มเมินต์ ตำบลเวอร์จิเนียวอเตอร์ ทางเหนือของเซอร์เรย์ ทั้งสองพระองค์โปรดใช้เวลาว่างยามบ่าย ทรงพระดำเนินเล่นกับสุนัขทรงเลี้ยงท่ามกลางสวนดอกไม้และป่าละเมาะ เสวยพระกระยาหารร่วมกับพระญาติที่พระตำหนัก พระกระยาหารส่วนมากเป็นเครื่องฝรั่ง เช่น ปลานึ่ง ไข่ดาว ไข่เจียว ไข่กวน แฮม เบคอน ไส้กรอก เซี่ยงจี้ตัดเป็นเส้นเล็กใส่หัวหอมใหญ่ หรือหมูสามชั้นคลุกตีน้ำมัน ของทอด เช่น ข้าวคั่ว เกล็ดข้าวโพดใส่นม ส่วนเครื่องไทยนั้นจะเสวยเป็นครั้งคราว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีขณะประทับอยู่ ณ ประเทศอังกฤษ เพื่อพักฟื้นพระวรกาย              พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ประทับอยู่ที่พระตำหนักเกล็นเพ็มเมินต์เป็นเวลาสองปี จากนั้นจึงทรงย้ายประทับที่พระตำหนักเวนคอร์ต ทรงใช้ชีวิตแบบสามัญชนทรงงานในสวน เช่น ปลูกต้นไม้ ไม้ดอก ที่พระตำหนักนี้มีสนามเทนนิส บางวันมีคนไทยและนักเรียนไทยในอังกฤษมาเฝ้าฯ และแข่งขันเทนนิสกัน ทรงปฏิบัติพระองค์อย่างเป็นกันเอง และเสวยพระสุธารสชา บางครั้งก็ทรงร่วมงานเลี้ยงสังสรรค์ที่นักเรียนไทยจัดปีละครั้ง หลายครั้งที่ชาวบ้านเห็นทั้งสองพระองค์ทรงพระดำเนินไปตามถนนในหมู่บ้านกับสุนัข ทรงจักรยานไปซื้อของและเสวยพระกระยาหารที่ร้านกาแฟประจำหมู่บ้าน พระญาติสนิทและนักเรียนไทยเข้าเฝ้า ฯ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ขณะประทับอยู่ที่พระตำหนักเวนคอร์ต ทอดพระเนตรถ้วยรางวัลการแข่งขันเทนนิส       พระตำหนักเกล็นเพ็มเมินต์ พระตำหนักเวนคอร์ต ห้องเสวยพระตำหนักเวนคอร์ต              สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ได้เสด็จนิวัตประเทศไทยในพุทธศักราช ๒๔๙๒ เสด็จประทับ ณ วังสระปทุมเป็นการชั่วคราว จากนั้นทรงย้ายไปประทับ ณ สวนบ้านแก้ว ตำบลบ้านแก้ว จังหวัดจันทบุรี พระราชจริยาวัตรขณะที่พระองค์ประทับที่นี่เป็นไปในลักษณะเรียบง่าย พระกระยาหารที่โปรด ได้แก่ ข้าวแช่ ขนมจีนน้ำพริก ยำเกสรชมพู่ มะระยัดไส้ สะเดาน้ำปลาหวาน และโปรดทำน้ำพริกกะปิด้วยพระองค์เอง สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ณ วังสระปทุม สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทรงตำน้ำพริกกะปิ ขณะประทับ ณ สวนบ้านแก้ว จังหวัดจันทบุรี                  พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร เมื่อพระชนมายุได้เพียง ๑ เดือน ได้ตามเสด็จสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ไปทุกหนทุกแห่ง ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ประทับอยู่ ณ พระตำหนักวิลลาวัฒนา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ รัฐบาลสวิสขอให้ประชาชนสำรองอาหารไว้ให้พออยู่ได้ ๒ เดือน เมื่อเกิดสงครามรัฐบาลมีนโยบายปันส่วนอาหารโดยมีบัตรปันส่วนไปแลก เช่น ไข่ ได้เดือนละ ๓ ฟองต่อ ๑ คน เด็กได้เนื้อและนมมากกว่าผู้ใหญ่ เนื้อและน้ำตาลเป็นของหายากมาก สมเด็จพระราชชนนีทรงทำเนยและแยมเอง             ในพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เกี่ยวกับพระราชกิจในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ตอนหนึ่งว่า เมื่อเสด็จลงเสวยพระกระยาหารกลางวันจะมีเครื่องเสวยทั้งเครื่องฝรั่งและเครื่องไทย และโปรดเกล้า ฯ ให้ลดจำนวนเครื่องฝรั่งลงเสียบ้าง ด้วยพระราชดำริว่ามากเกินไป โปรดเกล้า ฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ หรือผู้ทรงคุ้นเคยร่วมโต๊ะเสวยด้วยในบางโอกาส บางวันเสด็จลงเสวยกลางวันอย่างปิกนิกที่ริมสระในสวนศิวาลัย บุยยาแบสพระกระยาหารทรงโปรด เป็นอาหารฝรั่งเศส เกิดจากการที่ชาวประมงที่เมืองมาร์เซย ประเทศฝรั่งเศส นำกุ้ง หอย ปู ปลา ที่ขายไม่ได้อย่างน้อยสามชนิดมาปรุงรวมกัน                พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระกระยาหารที่เสวยเป็นอาหารธรรมดาที่คนทั่วไปบริโภคกัน โปรดเสวยอาหารอ่อนแบบอาหารฝรั่ง ส่วนอาหารไทยโปรดเสวยผัดผักทุกชนิด เช่น ผัดคะน้า ผัดถั่วงอก ผัดถั่ว ลันเตา โดยใส่ผักให้มาก ๆ เนื้อหมูใส่น้อย ๆ อาหารว่างโปรดเสวยหูฉลามและบะหมี่ จะใส่หน้าหมูแดง หน้าเป็ด หน้าปู ได้ทั้งนั้น แต่ต้องไม่ใส่ผักชี ใบหอม ต้นหอม และตังฉ่าย เครื่องดื่ม โปรดโอวัลตินเป็นพิเศษ เสวยวันหนึ่งหลายครั้ง น้ำชา กาแฟเสวยไม่มากนัก             เมนูพระกระยาหารหรือเครื่องเสวยประจำวัน เครื่องเช้า เช่น ไข่ลวกหรือข้าวโอ๊ต และไอศกรีม เครื่องกลางวัน เช่น ซุปอาซาเรน (ซุปใสใส่ไข่) สปาเกตตีมิลานเนส แกงจืดเซ่งจี๊ ผัดไก่เล่าปี่ ปูเค็มต้มกะทิ หลนปลากุเรา ผัดเผ็ดปลาดุกทอดฟู กล้วยหักมุกเชื่อม ไอศกรีม และผลไม้ ยามดึกเมื่อเสร็จสิ้นจากพระราชกิจ มหาดเล็กจะตั้งเครื่องว่างจำพวกหูฉลามหรือบะหมี่ถวาย นอกจากนี้ พระกระยาหารที่ทรงคิดขึ้นเอง เป็นไข่เจียวที่มีเม็ดข้าวเกรียม ๆ เหมือนกับจุดในดวงอาทิตย์ ทรงเรียกว่า ไข่พระอาทิตย์ พระกระยาหารว่าง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ไข่พระอาทิตย์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงเคยประกอบพระกระยาหารพระราชทานให้กับสมเด็จพระกนิษฐา-ธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อครั้งทรงพระเยาว์     หูฉลาม เครื่องว่างที่เสวยยามดึกหลังเสร็จสิ้นจากพระราชกิจ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง              สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระราชจริยาวัตรอันงดงามทรงห่วงใยพสกนิกรเหมือนแม่ห่วงใยลูก ทรงดูแลอภิบาลพระเจ้าลูกเธออย่างใกล้ชิด โดยโปรดให้เสวยอาหารตามหลักโภชนาการอย่างเหมาะสม ซึ่งบางครั้งพระองค์ทรงคิดเมนูขึ้นเอง เช่น ผัดเล่าปี่ ประกอบด้วย ผัดตับกับเซ่งจี๊รองด้วยผักกาดหอม โรยด้วยเส้นหมี่ทอดกรอบ อุดมไปด้วยธาตุเหล็กและวิตามินเอ บำรุงสายตา     ไข่พระจันทร์ คือการทอดไข่ดาวแล้วนำข้าวสวยวางทับบนไข่ดาวแล้วพลิกกลับมา คล้ายมีพระจันทร์อยู่กลางข้าว              พระองค์โปรดเสวยข้าวกล้อง หรือ ข้าวซ้อมมือ ทรงตระหนักถึงคุณสมบัติข้าวชนิดนี้ จึงทรงแนะนำให้ราษฎรรับประทาน เมื่อมีงานพระราชทานเลี้ยงในโอกาสที่เสด็จแปรพระราชฐานไปประทับแรมเพื่อเยี่ยมราษฎรในภาคต่าง ๆ มีพระราชเสาวนีย์ให้ตั้งข้าวสวยซึ่งหุงจากข้าวซ้อมมือและข้าวขาวธรรมดาให้ผู้มารับประทานเลี้ยงได้เลือกตามอัธยาศัย             นอกจากนี้พระองค์ยังโปรดเสวยน้ำพริกและอาหารไทยพื้นบ้าน เมื่อครั้งแปรพระราชฐานไปทรงเยี่ยมเยียนราษฎรและประทับยังพระตำหนักในภาคต่าง ๆ พระองค์จะโปรดเสวยอาหารพื้นบ้านของท้องถิ่นนั้น ๆ เช่น ข้าวซอย ข้าวยำปักษ์ใต้ ลาบ หรือบางครั้งพระองค์ทรงนำอาหารที่ราษฎรนำมาถวายขึ้นโต๊ะเสวยอีกด้วย โดยเฉพาะน้ำพริก ต้องขึ้นโต๊ะเสวยทุกวันไม่เคยขาด เช่น น้ำพริกกะปิกับปลาทูทอด น้ำพริกปลาร้า และน้ำพริกหนุ่ม จะเสวยกับผักพื้นบ้านของไทยหลาย ๆ ชนิด เครื่องเสวยจะมีส่วนประกอบของผักอยู่เสมอ ได้แก่ สลัดผัก แกงส้ม แกงเลียง แกงแค ผัดผัก น้ำพริกกะปิ เป็นพระกระยาหารโปรดในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง              ผลไม้ที่ทรงโปรด ฝ่ายห้องเครื่องจะจัดผลไม้ถวายทุกวัน ส่วนมากเป็นผลไม้ตามฤดูกาล เช่น มะละกอ ส้มโอ เงาะ ลองกอง มังคุด ฝรั่ง มะม่วง กระท้อน ทุเรียน ส่วนผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวที่โปรด คือ มะยม ตะลิงปลิง บริเวณพระตำหนักที่ประทับทุกแห่งจะมีการปลูกผลไม้ปลอดสารพิษ ทั้งชนิดที่มีพระราชเสาวนีย์ให้หามาปลูก เช่น ส้มจี๊ด มะยม ตะลิงปลิง ผักโขม ผักบุ้งจีน ผักคะน้า และชนิดที่เจ้าพนักงานในพระตำหนักนำมาปลูกถวาย เช่น ในพระตำหนักสวนจิตรลดามีปลูกผักสวนครัว มะม่วง ฝรั่ง ที่พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ มีปลูกผักนานาชนิด รวมทั้งเลี้ยงเป็ด ไก่ และหมู                พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งทรงพระเยาว์ เครื่องเสวยส่วนใหญ่มีรสจืดและเป็นเครื่องฝรั่ง สมเด็จพระบรมชนกนาถและสมเด็จพระบรมราชชนนี มีพระราชประสงค์ให้เสวยเครื่องไทย โดยให้เปลี่ยนเป็น เครื่องเสวยไทยทีละน้อย เมื่อทรงเข้าศึกษาที่โรงเรียนจิตรลดา เสวยพระกระยาหารร่วมกับพระสหายที่ห้องเครื่อง จัดถวาย เช่น แกงจืดไก่ต้มกับฟักเขียว ผัดผักกวางตุ้ง เป็นต้น สมเด็จพระบรมราชชนนีทรงตั้งระเบียบไว้ว่า พระกระยาหารกลางวันที่เสวย ห้ามเติมเครื่องปรุงรสทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นน้ำปลา น้ำส้ม หรือซอส และรับสั่งว่า เขาทำให้เสวยอย่างไรก็ต้องเสวยอย่างนั้น              พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเสวยมาก โปรดอาหารอร่อย ๆ แปลก ๆ บางครั้งก็ทรงทำอาหารเองด้วยหม้อและเตาดินเผาเล็ก ๆ แล้วประทับเสวยอย่างเอร็ดอร่อยร่วมกับผู้ตามเสด็จ จนสมเด็จพระบรมราชชนนีทรงเตือนเพราะเกรงว่าจะทรงอ้วนเกินไป แต่พระองค์กลับทูลตอบว่า “ยอมอ้วนดีกว่ายอมอดอาหาร” พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ ทรงเตรียมอาหารพร้อมอาจารย์และพระสหาย ขณะเสด็จค่ายพักแรม ณ ค่ายลูกเสือศรีราชา เสวยพระกระยาหารร่วมกับพระสหาย              พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยและทรงให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์ที่อุทิศตนปฏิบัติหน้าที่ดูแลรักษาผู้ป่วยในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานอาหารแก่บุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งล้วนเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ และทรงประกอบอาหารพระราชทานด้วยพระองค์เอง รายการอาหารพระราชทานจากครัวพระที่นั่งอัมพรสถาน ได้แก่ กูลาชหมู ต้มแซบลูกชิ้น เห็ดถอดสมุนไพร โครงหมูอบกระชายขาว ผักสดกับน้ำพริกข่า ปลาสลิดฟู หมูและไข่พะโล้ ก๋วยเตี๋ยวหมูตุ๋น เอ็นลูกชิ้น ข้าวเหนียว สะโพกไก่ย่างกระชายขาว ก๋วยเตี๋ยวไก่ตุ๋นมะระใส่เลือด ไก่ทอดกระชายขาว แกงมัสมั่นหมู กระชายขาว ไข่ลูกเขย ต้มแซบโครงหมูสมุนไพรใบกะเพรา เอ็นแก้วงากรอบกระชายขาว ข้าวเหนียว คอหมูย่าง กระชายขาวจิ้มแจ่ว ผัดหมี่สีชมพู เย็นตาโฟ ลูกชิ้นเห็ดทอด และข้าวซี่โครงหมูอบกระชายขาว ยอดผัก แกงเขียวหวานไก่สอดไส้ไข่เค็ม ผัดถั่วหวานไก่สับ                                           กูลาชหมูกระชายขาว                                                                             ข้าวเหนียว สะโพกไก่ย่าง                                                      หมูและไข่พะโล้ อาหารพระราชทานแก่บุคลากรทางการแพทย์ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙     สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี               สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีขณะเสด็จประทับ ณ วังสระปทุม กิจกรรมหนึ่งที่ทรงทำ เป็นประจำ คือ การทำเครื่องเสวยถวายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร คราวหนึ่งพระองค์ทรงเล่าว่า มีพระราชดำรัสกับพระบรมราชชนนีเรื่องอาหารที่เคยเสวยครั้งทรงพระเยาว์ ขณะประทับอยู่ ณ เมืองบอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ว่าอาหารพื้นเมืองที่นั่นเสวยได้ยากมาก หลังจากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีได้ทรงฟังดังนั้น ก็ทรงคิดค้นตำราอาหารที่เคยทรงเขียนเก็บไว้ คือ บอสตันเบคบีนส์ (Boston Baked Beans) และบอสตันบราวน์เบรด (Boston Brown Bread) จากนั้นก็ทรงประกอบพระยาหารทั้งสองอย่างนี้ถวาย บอสตันเบคบีนส์ (Boston Baked Beans) บอสตันบราวน์เบรด (Boston Brown Bread) สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์                 พระกระยาหารทรงโปรดของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ คือ หอยแมลงภู่ผัดฉ่า ข้าวผัดหนำเลี้ยบ เคียงด้วยกากหมู ไข่ต้มน้ำปลาพริก ไก่ย่างกับน้ำจิ้มแจ่ว ทอดมันปลากราย ปีกไก่ทอด และเมี่ยงคะน้า             อีกหนึ่งพระกระยาหารโปรด คือ เมนูไข่ ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระนิพนธ์เพลงเมนูไข่ เป็นบทเพลงหนึ่งที่ วงดนตรี อ.ส. วันศุกร์ บรรเลงถวายในงานพระราชทานเลี้ยงในวโรกาสที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ ฯ ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๓๒ พรรษา ข้าวผัดหนำเลี้ยบ ไข่ต้มน้ำปลาพริก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี                สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงประกอบพระกระยาหารด้วยพระองค์เองอยู่เสมอขณะประทับ ณ วังสระปทุม และยังได้พระราชทานสูตรเมนูอาหารต่าง ๆ ที่ทรงคิดขึ้นเอง เช่น ยาพอกหัวเด็ก ทรงรับสั่งว่า เมนูนี้เป็นอุบายให้เด็กรับประทานผัก ได้โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน วิตามิน เกลือแร่ ใยอาหาร มัตสยาเกษียรสมุทร (ปลาช่อนอบ) กุ้งบ่อมรกต (กุ้งเผาสาหร่าย) ผักโขมปั้นก้อนอบ พายฟักทอง ขนมรวงผึ้ง และไก่นาบกระทะ             นอกจากนี้ยังได้พระราชทานสูตรอาหารให้กับมูลนิธิชัยพัฒนา ได้แก่ ข้าวตังน้ำมันชา ซุปมะเขือเทศ เต้าหู้ ทรงเครื่อง ผัดเห็ดชัยพัฒนา ผัดฟักทอง มันฝรั่งบดทอด ยำสตรอว์เบอร์รีน้ำมันงาม้อน สปาเกตตีพริกแห้งน้ำมันชา ไก่ไวน์แดง ข้าวตังน้ำมันปลาผัดหน่อไม้ฝรั่ง และไอศกรีมโยเกิร์ตงาม้อน             เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาภาษาฝรั่งเศส ณ สถาบันตูแรน ประเทศฝรั่งเศส นอกจากทรงศึกษาภาษาฝรั่งเศสแล้ว ยังเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรกิจการและสถานที่ต่าง ๆ และทรงจดบันทึกเรื่องราวที่ทรงพบเห็นตลอดการเสด็จพระราชดำเนิน รวมทั้งได้ทรงประกอบพระกระยาหารทั้งอาหารไทยและอาหารฝรั่งด้วยพระองค์เองระหว่างที่ประทับ ณ เมืองตูร์ ซึ่งปรากฏอยู่ในพระราชนิพนธ์เรื่อง ฟื้นภาษา ได้อาหาร ด้วยกันหลายตอน   ยาพอกหัวเด็ก หรือขนมปังหน้าผักโขม              อาหารไทย ได้แก่ เป็ดย่าง แกงวุ้นเส้นใส่น้ำ ผัดถั่วงอก ผัดถั่วลันเตาใส่หน่อไม้ฝรั่งเขียว แกงจืดผักกาดใส่เต้าหู้และตั้งไฉ่ ข้าวผัดใส่กุนเชียง ก๋วยเตี๋ยวผัดไทยใส่หมูแดง เปาะเปี๊ยะกุ้ง เส้นหมี่เป็ดย่าง เปาะเปี๊ยะทอด ข้าวผัดใส่ไข่ และกุนเชียงติ่มซำผัดไทยหมูแดง ข้าวหน้าเป็ด กุ้งห่มสไบ เส้นหมี่ลูกชิ้น เส้นหมี่ราดหน้า ซาลาเปาไส้หมูแดงหมูสับ ส้มตำแครอต ข้าวอบกุนเชียง และผัดผักใส่น้ำมันหอย             ของหวานและเครื่องดื่ม มีไอศกรีมใส่ลูกตะลิงปลิง ไอศกรีมช็อกโกแลต ฟรุตสลัด และกาแฟภูฟ้า             อาหารฝรั่ง ได้แก่ สลัดมะเขือเทศ เนื้อทูนาโด (เนื้อทอด) สลัดผักใส่เซลเลอรี่ แอปเปิ้ลแกรนนี่โรยพริก ไทยปลาราดซอส หมูนาบกระทะ ซุปหน่อไม้ฝรั่งสีขาว ขาวัวตุ๋น สลัดทาร์ตเนยแข็ง ปลาแซลมอนนาบกระทะทอดเนยสี่ด้าน ผัดบล็อกโคลี ขากระต่ายอบเห็ดชามปิญอง มันผสมแครอตบดสลัดใส่มันฮ่อ ปลาคอดราดซอส ถั่วเขียวกินกับอกเป็ดแห้ง มะเขือยาวยัดไส้เป็ดสับ แตงเมล่อนวางบนหมูแฮมหั่นบาง ๆ ปลาล็อตราดซอส เส้นนุย (tagliatelle)ใส่หอยแมลงภู่ และปลาแซลมอน             ของหวานและเครื่องดื่ม มีมูสกล้วย เนยแข็งนมแพะ กาแฟกัวเตมาลา คัสตาร์ด วานิลลา ทาร์ตมีราเบล กาแฟโคลัมเบีย ไวน์อัลซาส แพร์ต้มโรยผงวานิลลา คัสตาร์ดไข่ใส่ผลฟรอมบวช (ราสเบอรี่) และชาตีเยิล             ผลไม้ มีสตรอเบอรี่ แอปเปิ้ล มะเดื่อฟิก สับปะรดแคเมอรูน ลูกพรุนจากเมืองอาแฌง และส้มโอ มัตสยาเกษียรสมุทร หรือ ปลาช่อนอบ เพลงส้มตำ บทเพลงพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระกนิษฐษธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒนวรขัตติยราชนารี              สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒนวรขัตติยราชนารี ทรงห่วงใยประชาชนที่เดินทางมากราบถวายบังคมพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทั้งที่เดินทางมาจากกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด จึงทรงประกอบอาหาร “ข้าวผัดสเปน” ณ พระตำหนักทิพย์พิมาน จังหวัดนครราชสีมา เพื่อพระราชทานแก่ประชาชนที่เดินทางมากราบถวายบังคมพระบรมศพ วัตถุดิบประกอบด้วย ข้าวสวย ไข่ไก่ กุ้งสด หอยแมลงภู่ ปลาหมึก หอยเชลล์ แครอทหั่นชิ้นขนาดลูกเต๋า ถั่วลันเตา เนยสด และเครื่องปรุงรส              วันที่ ๙ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๐ เสด็จแทนพระองค์ไปทรงเยี่ยมผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา พระราชทานถุงยังชีพ และพระราชทานอาหารแก่ราษฎร โดยทรงประกอบอาหาร “ข้าวผัดหยางโจ” โดยมีข้าวสวย เบคอนกรอบหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ เนื้อไก่หั่นเป็นลูกเต๋า ไข่ไก่ เครื่องปรุง เนย ซีอิ๊วญี่ปุ่น และเกลือแก่ราษฎรที่ประสบภัย             นอกจากนี้พระองค์ทรงห่วงใยแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ผู้เสียสละ ท่ามกลางวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ จึงทรงประกอบอาหาร “ข้าวผัดหยางโจว” ณ ห้องประกอบอาหารตำหนักทิพย์พิมาน อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา พระราชทานแก่แพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงาน ให้ได้รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ ถูกสุขอนามัย มีสารอาหารครบถ้วนตามหลักโภชนาการ ตลอดจนเพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเสียสละมาโดยตลอด ข้าวผัดหยางโจว สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า โสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ               สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา มีพระดำริให้จัดทำตำรับอาหาร เพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยากขึ้น และโปรดเกล้าฯ ให้ ม.ร.ว. ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ ม.ล. ศิริเฉลิม สวัสดิวัตน์ ม.ล. เนื่อง นิลรัตน์ และอาจารย์ยิ่งศักดิ์ จงเลิศเจษฎาวงศ์ ซึ่งเป็นผู้มีชื่อเสียงในการทำอาหาร คิดสูตรอาหาร ขึ้นถวายพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ เพื่อขอประทานพระวินิจฉัยการปรับปรุง รสชาติอาหารให้ถูกปากยิ่งขึ้น ซึ่งอาหารเหล่านี้ได้ปรุงจากวัตถุดิบที่ได้จากโครงการฟื้นฟูผู้ประสบอุทกภัย ตามแนวทางพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง ของมูลนิธิเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย นอกจากนี้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ได้พระราชทานสูตรอาหารเพิ่มอีก คือ น้ำยาเห็ดเจ ผัดพริกปลาดุกทอดกรอบ และข้าวผัดเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก             สูตรอาหารข้าวผัดเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก เป็นสูตรที่กำนันณรงค์ฤทธิ์ ทองดี ได้นำไปผัดแจกเด็ก ๆ ที่ประสบภัยน้ำท่วมที่ตำบลพุคา จังหวัดลพบุรี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ได้เสด็จไปทรงเยี่ยมและชิมแล้วทรงเห็นว่ารสชาติดี น้ำยาเห็ดเจ ผัดพริกปลาดุกทอดกรอบ ข้าวผัดเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก รายการอาหารพระราชทานในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า โสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ แกงเขียวหวานปลาดุกสับ สูตรอาหารโดย ม.ร.ว. ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์ แกงคั่วกะทิปลาดุกหน่อไม้เปรี้ยว สูตรอาหารโดย ม.ร.ว. ศิริเฉลิม สวัสดิวัฒน์ (หมึกแดง) แกงปลาดุกอย่างปลาไหล สูตรอาหารโดย ม.ล. เนื่อง นิลรัตน์ ข้าวกล้องอบเผือก สูตรอาหารโดย อาจารย์ยิ่งศักดิ์ จงเลิศเจษฎาวงศ์ ตำหรับอาหารเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก                ศูนย์กลางของอาหารชาววังส่วนใหญ่จะอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ต่อมาเมื่อการขยายตัวของวังเจ้านายออกไป จึงก่อให้เกิดการคิดค้นสร้างสรรค์ ดัดแปลงตำรับอาหารของวังให้แตกต่างและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว รวมทั้งเจ้านายที่คิดค้นตำรับอาหาร ได้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่ลูกหลานหรือทายาท และบุคคลที่อยู่รับใช้ใกล้ชิด นำไปปรับปรุงและดัดแปลง ทำให้เกิดการรวบรวมตำรับอาหารออกพิมพ์แจกและจำหน่ายในโอกาสต่าง ๆ ตำรับสายเยาวภา              ตำรับสายเยาวภา คือ ตำรับอาหารของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเยาวภาพงศ์สนิท พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับเจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์เนื่อง พระองค์เจ้าเยาวภาพงศ์สนิท ทรงรับการฝึกหัดทำอาหารในสำนักพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏปิยมหาราชปดิวรัดา จนทรงเชี่ยวชาญการทำอาหาร ได้ทรงเป็นต้นเครื่องให้กับพระวิมาดาเธอ ฯ และยังทรงเป็นพระธุระในการจัดเครื่องเสวยถวายสมเด็จ พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ฯ ตำรับอาหารคาวหวาน เช่น ขนมจีนซาวน้ำ ต้มจิ๋ว ก้อยกุ้ง แจงลอนข้าวปิ้ง ฉู่ฉี่ปลาสังกะวาด พล่าปลาไหลนกพิราบทอด เยลลี่ไข่ เยลลี่ตับห่าน ต้มจิ๋ว ขนมจีนซาวน้ำ ตำราแม่ครัวหัวป่าก์ ตำรับ ภาสกรวงษ์              ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงษ์ เป็นธิดาของนายสุดจินดา (พลอย ชูโต) และคุณนิ่ม ได้รับการศึกษาอบรมตามแบบกุลธิดาสมัยก่อนฝีมือการปรุงอาหารของท่านเป็นที่เลื่องลือ และเป็นที่ชื่นชมทั้งชาวไทยและชาวต่าง ประเทศ อีกทั้งยังเป็นผู้ริเริ่มการประดิษฐ์ลูกชุบขึ้นถวายเจ้านาย ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ได้รวบรวมตำราอาหาร หวานคาวขึ้น คือ “ตำราแม่ครัวหัวป่าก์” ซึ่งนับว่าเป็นตำรากับข้าวเล่มแรกที่พิมพ์ขึ้นในประเทศไทย ตำรับอาหารคาวหวาน เช่น แกงนอกหม้อ แกงเทโพ แกงมัสมั่น แกงบวน แกงนกพิราบ ม้าอ้วน ม้าฮ่อ ยำใหญ่ ลูกชุบ ขนมรังนก ขนมหันตรา แกงนอกหม้อ  ข้าวผัดหมี่  ม้าอ้วน  ขนมหันตรา  ตำรับ หม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุล              หม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุล พระธิดาองค์ใหญ่ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และหม่อมนวม ครั้งหนึ่งท่านได้เคยทำเครื่องต้นถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เวลานั้นท่านอยู่ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ซึ่งพระกระยาหารจานแรกที่ท่าน ทำถวายคือ กะปิพล่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่เสวยแล้วทรงพอพระราชหฤทัยเป็นอันมาก และได้มีโอกาสทำเครื่องจิ้มตั้งเครื่องถวายตลอดมา เช่น กะปิพล่า น้ำพริกผักชี ข้าวบุหรี่ อาหารว่าง ได้แก่ เปาะเปี๊ยะปีนัง ขนมเบื้องฝรั่ง ขนมจีนญวณ สะเต๊ะบาหลี ขนมน้ำยาเสวย ขนมเข่งปีนัง และขนมฝรั่งต่าง ๆ... กะปิพล่า น้ำพริกผักชี ตำรับหม่อมหลวงเนื่อง นิลรัตน์              หม่อมหลวงเนื่อง นิลรัตน์ เป็นธิดาของหม่อมราชวงศ์อั้น นิลรัตน์ และนางเผือก นิลรัตน์ ณ อยุธยา ข้าหลวง ของพระชายาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพรหมวรานุรักษ์ ท่านย่าของหม่อมหลวงเนื่อง คือ หม่อมเจ้าหญิงสะบาย นิลรัตน์ เป็นผู้ควบคุมห้องเครื่องคาวของพระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา พระองค์ได้ขอหม่อมหลวงเนื่องมาชุบเลี้ยงให้เล่าเรียนทั้งวิชาการครัว ท่านจึงได้คลุกคลีอยู่กับห้องเครื่องตำหนักนี้ จึงได้ตำรากับข้าวหลากหลายจากประสบการณ์ขณะอยู่ในวัง.ประเภทเครื่องว่างและเครื่องจิ้ม             สะเต๊ะลือ ข้าวตังเมี่ยงลาว สาคูไส้ปลา ผัดหมี่กะทิทรงเครื่อง พระรามลงสรงข้าวตังหน้าตั้ง ทอดมันสิงคโปร์ ขนมเบื้องญวณห่อไข่ หรุ่ม ข้าวต้มกะทิ ซุปสาคู ไข่นกกระทา กรอบเค็ม ครองแครง แป้งสิบทอด เม็ดบัวฉาบ ประเภทข้าวแกง             แกงรัญจวน แกงเขียวหวานปลากรายไข่เค็ม แกงปลาดุกอย่างปลาไหล แกงเลียงนพเก้า แกงหมูตะพาบน้ำ แกงส้มชะอมชุบไข่ แกงขี้เหล็ก แกงแคไก่ แกงเป็ดสดพริกไทยอ่อน พะแนงเนื้อ หมูอบน้ำแดง แกงเหลือง แกงไตปลา ผัดสะตอ คั่วกลิ้ง หมี่กรอบ ห่อหมกปลากราย ปลาทูต้มเค็มอย่างเนื้อแข็งก้างเปื่อย พริกขิง ปลาช่อนทอดกรอบ พริกขิงเครื่องทอดประเภทน้ำพริก             น้ำพริกปลากรอบ น้ำพริกมะดันผัด น้ำพริกมะขามสดผัด น้ำพริกมะม่วง น้ำพริกกระท้อน น้ำพริกมะกรูด พริกขิงตามเสด็จ ที่เรียกพริกขิงตามเสด็จ เพราะไม่ว่ารัชกาลที่ ๕ จะเสด็จประพาสหัวเมืองใด น้ำพริกจะต้องตามเสด็จทุกครั้งขาดมิได้ นอกจากนี้มี น้ำพริกเต้าหู้ยี้ น้ำพริกลงเรือ น้ำพริกลูกหนำเลี้ยบ น้ำพริกอ่อง น้ำพริก มะพร้าวเนื้อเค็มสด น้ำพริกระกำ กะปิคั่ว หลนปลาร้า ปลาร้าทรงเครื่อง ปูเค็มคั่ว แสร้งว่ากุ้งประเภทยำ             ยำปลาทูนึ่งไข่ดาว ยำหัวปลี ยำไก่อย่างเต่า ยำถั่วพู ยำทะวาย แกงหมูตะพาบน้ำ พระรามลงสรง สะเต๊ะลือ ตำรับท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร              ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร เป็นธิดาของหมื่นนราอักษร (ปิ่น) มารดาชื่อ หุ่น สมรสกับเจ้าพระยามหิธร (ลออ ไกรฤกษ์) ท่านเป็นผู้ที่มีความสามารถในการทำอาหาร ตำรับท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร เป็นตำรับอาหารลักษณะของชาววัง และมีการผสมผสานอาหารหลากหลายเชื้อชาติ ได้แก่ อาหารจีน อาหารแขก อาหารลาว และอาหารฝรั่ง ทำให้เป็นตำรับอาหารที่มีเอกลักษณ์เด่นเฉพาะตัว และได้ถ่ายทอด ความรู้ในการทำอาหารดังกล่าวให้แก่ ลูกหลาน และเป็นมรดกของตระกูลไกรฤกษ์อีกด้วย อาหารตำรับท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร เช่น แกงบวน แกงนครศรีธรรมราช ม้าฮ่อ ไก่กาละหม่า ข้าวมันส้มตำ ไข่อ้ายโม่ง ยำเกสรชมพู่ และสลัดมรุพงศ์... แกงบวน  ยำเกสรชมพู่  ไก่กาละหม่า  ม้าฮ่อ 

ภาพตัวอย่าง

วิฬาร์ วิลาส การเดินทางของแมวในวิถีไทย

นิทรรศการ “วิฬาร์ วิลาส การเดินทางของแมวในวิถีไทย” ประวัติความเป็นมา              แมว เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีขนาดเล็ก ลักษณะลำตัวค่อนข้างยาว บริเวณช่วงขาจะสั้น มีทั้งขนสั้นและขนยาวในบางสายพันธุ์ มีความเชื่อกันว่าแมวมีบรรพบุรุษตระกูลเดียวกับเสือซึ่งมีถิ่นกำเนิดมาจากสัตว์ป่าในทวีปแอฟริกา แมวมีชื่อในภาษาละตินหรือชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า “เฟลิส คาตัส” (Felis Catus) ชื่อภาษาอังกฤษ คือ “แคท” (Cat) และชื่อที่ปรากฎบนอักษรภาพเฮียโรกลิฟฟิคของอียิปต์ คือ “เมียว” (Miu หรือ Mau)     แมวในอารยธรรมอียิปต์             ในสมัยอียิปต์โบราณ มีการบูชาแมวเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ เพราะมีความเชื่อว่าแมวเป็นเทพเจ้าจำแลง มาเกิดเป็นเทพีบาสเทท (Bastet) ซึ่งเป็นเทพีแห่งความรัก ความอุดมสมบูรณ์ ช่วยต่อต้านสิ่งชั่วร้ายและความเจ็บป่วย โดยเทพีองค์นี้มีส่วนหัวเป็นแมว มีร่างกายเป็นสตรี ชาวอียิปต์จึงเชื่อกันว่าแมวช่วยทำให้อียิปต์ มีความเจริญรุ่งเรือง เพราะแมวสามารถช่วยควบคุมและกำจัดหนูซึ่งเป็นศัตรูที่ทำลายพืชผลทางการเกษตรและการแพร่เชื้อกาฬโรคซึ่งเป็นสาเหตุของโรคระบาดในสมัยนั้น ส่งผลให้อียิปต์มีอาหารการกินอุดมสมบูรณ์และพลเมืองไม่ต้องล้มตายลงด้วยกาฬโรคเหมือนกับประเทศอื่น ๆ จึงสามารถแผ่ขยายอาณาจักรออกไปได้เป็นเวลาหลายพันปีThe British Museum, Bastet, n.d..ที่มา : https://www.britishmuseum.org/collection/object/Y_EA25565 รูปปั้นบรอนซ์ของ Bastet ผลิตในอียิปต์ยุคปลาย ช่วง 900 - 600 ก่อนคริสต์ศักราช               นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายห้ามนำแมวออกนอกราชอาณาจักร ถ้าผู้ใดพบแมวนอกราชอาณาจักรจะต้องนำกลับคืนสู่อียิปต์ และหากผู้ใดทำการฆ่าหรือทำร้ายแมวจะถูกลงโทษถึงประหารชีวิต หรือเมื่อมีแมวตายในบ้านคนในครอบครัวจะต้องโกนขนคิ้วเพื่อเป็นการไว้ทุกข์ และต้องนำศพแมวที่ตายนั้นไปทำเป็นมัมมี่บรรจุ ลงในหีบศพรูปตัวแมว และฝังในสุสานของแมวเป็นการเฉพาะ บ้างก็มีการทำหุ่นโลหะรูปแมวฝังลงไปด้วย บางครั้งก็มีการสร้างวิหารขนาดใหญ่ให้แมวด้วยเช่นกัน ซึ่งการทำมัมมี่แมวของชาวอียิปต์ถือว่าเป็นเครื่องบูชาทางศาสนา     The British Museum, Animal Mummy; Mummy-wrapping, n.d..ที่มา : https://www.britishmuseum.org/collection/object/Y_EA37348     แมวในอารยธรรมโรมัน               ชาวกรีกได้ลักลอบนำแมวออกจากอียิปต์ จำนวน 6 คู่ หลังจากนั้นมีการขยายพันธุ์และขายต่อไปยังกลุ่มชาวโรมัน โดยชาวโรมันมองว่า “แมว” เป็นสัตว์สัญลักษณ์แห่งเสรีภาพและอิสรภาพ สะท้อนได้จาก เทพเจ้าลิเบอร์ตัส (Libertas) เทพเจ้าแห่งเสรีภาพที่มักจำแลงกายเป็นแมว ที่สำคัญในกองทัพทหารจักรวรรดิโรมันมักจะนำแมวเข้าประจำการในป้อมปราการด้วย เพื่อช่วยในการจับหนูที่กัดกินอาหารในคลังและหนัง ซึ่งเป็นชุดเกราะและอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ เสียหาย ดังนั้นแมวจึงถูกยกย่องสรรเสริญและกลายเป็น มิตรคู่กายของทหาร ภาพโมเสกแบบโรมัน ช่วงปลายศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสต์ศักราช Raddato, Carole, Cat with a Quail Mosaic, House of the Faun, 2019.ที่มา : https://www.worldhistory.org/image/10663/cat-with-a-quail-mosaic-house-of-the-faun/#google_vignette     แมวยุคกลางในทวีปยุโรป               ชาวยุโรปมีความเชื่อว่า “แมว” เป็นตัวแทนของความชั่วร้ายต่าง ๆ และเป็นสัตว์บริวารของพ่อมดและแม่มดโดยเฉพาะแมวดำ หากชาวยุโรปคนใดเลี้ยงแมวจะถูกประณาม อีกทั้งถ้าเป็นคนแก่เลี้ยงแมวด้วยแล้วจะต้องโดนจับเผาทั้งเป็นไม่ว่าจะเป็นคนหรือแมว ซึ่งช่วงนี้เองที่ทำให้เชื้อกาฬโรคระบาดหนักในยุโรปสันนิษฐานว่าเป็นเพราะมีหนูแพร่พันธุ์เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่แมวกลับลดจำนวนลง ภาพวาดสีน้ำมัน The Witches’ Cove โดย Jan Mandijn สมัยศตวรรษที่ 16 แสดงภาพนิมิตของชาวบอสเชียเกี่ยวกับแมวและการการเฉลิมฉลองของแม่มด Hamer, Suzan, The Witches' Cove, 2018.ที่มา : https://arthur.io/art/follower-of-jan-mandijn/the-witches-cove     แมวในประเทศจีน               ประเทศจีนพบแมวครั้งแรกในราชสำนักจากการถูกนำไปเป็นของกำนัลแด่จักรพรรดิ ซึ่งต่อมาขุนนาง พระ และสามัญชนจึงได้รับอนุญาตให้เลี้ยงแมวได้ โดยเฉพาะในสมัยราชวงศ์ถังมีพิธีเซ่นไหว้เทพเจ้าแมว ซึ่งจัดขึ้นในช่วงฤดูทำนา เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติ พิธีดังกล่าวมาจากการที่ประชาชนต้องการขอบคุณ เหล่าแมวที่ช่วยกำจัดหนูนาซึ่งเป็นตัวทำลายพืชผลทางการเกษตร โดยพิธีดังกล่าวได้มีการบันทึกในพงศาวดารสมัยราชวงศ์ถังฉบับเก่าไว้ว่า              “เมื่อถึงทุกสิ้นปี การทำนาแล้วเสร็จ ฮ่องเต้จะจัดพิธีเซ่นไหว้เทพเจ้า 100 องค์ ในเขตชานเมืองทางใต้ของเมืองหลวง ซึ่งเทพเจ้าแมวก็เป็นหนึ่งในนั้น อาหารที่จะนำมาบูชาแมวเป็นชุดเล็ก คือ แกะและหมูอย่างละหนึ่ง”              นอกจากนี้ ชาวบ้านในสมัยราชวงศ์ถังยังให้เกียรติแมว โดยหากผู้ใดต้องการเลี้ยงแมวจะต้องได้รับคำมั่นสัญญาจากเจ้าของแมวตัวเมียเสียก่อน แล้วรอให้ลูกแมวคลอด หรือหากจะรับแมวแม่ลูกอ่อนออกไป ก็ต้องส่งสินสอดให้คล้ายกับการแต่งงานของคน ส่วนในสมัยราชวงศ์ซ่งแมวถูกยกย่องว่าเป็นสัตว์เลี้ยงที่ซื่อสัตย์และเป็นสัตว์สัญลักษณ์แห่งความโชคดีอีกด้วย ภาพวาดแมวชุด “Tang Yuan Playing in Spring” ของจักรพรรดิเซวียนเต๋อ แห่งราชวงศ์หมิง ที่มา : https://roll.sohu.com/a/529311459_120217020     แมวในประเทศญี่ปุ่น               แมวถูกนำไปเลี้ยงในประเทศญี่ปุ่นโดยชาวจีนซึ่งมากับเรือสินค้าจากประเทศจีนในสมัยราชวงศ์ถัง ชาวญี่ปุ่นในสมัยโบราณนิยมเลี้ยงแมวเพื่อปกป้องคลังอาหารเช่นเดียวกับอียิปต์ อีกทั้งหนูยังทำลายกัดกินพระไตรปิฎกที่จัดเก็บในวัด พระจึงต้องอาศัยแมวเป็นตัวช่วยในการจับหนู แมวในประเทศญี่ปุ่นจึงถูกยกย่องว่าเป็นผู้ปกป้องหนังสือหายาก และในวัฒนธรรมของญี่ปุ่นมองว่าแมวเป็นสัญลักษณ์แห่งความโชคดี ซึ่งจะเห็นได้จากเครื่องรางรูปแมวกวัก ชื่อว่า “มาเนกิ เนะโกะ (Maneki Neko)” Nyan Nyan Ji ศาลเจ้าแมว ณ เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น แมวกวักในประเทศญี่ปุ่น ชื่อว่า มาเนกิเนะโกะ (Maneki Neko) บ้านและสวน Pets, Nyan Nyan Ji, 2565.ที่มา : https://www.facebook.com/BaanlaesuanPets/posts/pfbid056ix5fzRYEyPoxSd9Sw9t27v7nUcscKFKzJhsFJFwuP8V7sfgRxpmrknN8GgUb1ilJapan National Tourism Organization, มาเนกิเนะโกะ (Maneki Neko), ม.ป.ป..ที่มา : https://www.jnto.or.th/newsletter/maneki-neko/     แมวในประเทศไทย               ประเทศไทยมีการเลี้ยงแมวมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย เพื่อใช้จับหนูที่ทำลายพืชผลทางการเกษตรเช่นเดียวกับประเทศอียิปต์และญี่ปุ่น เดิมเรียกแมวว่า “ชมา” แต่ไม่เป็นที่นิยม ต่อมาในสมัยอยุธยาแมวถือว่าเป็นสัตว์ชั้นสูงที่ได้รับความนิยมในหมู่ขุนนาง เพราะมีความเชื่อว่าหากเลี้ยงแมวที่มีลักษณะมงคลจะทำให้มียศถาบรรดาศักดิ์ที่สูงขึ้น ดังปรากฎหลักฐานเป็นสมุดไทยบันทึกตำราแมวดีและไม่ดี              ในสมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แมวได้ถูกเลี้ยงเฉพาะในวัง ประชาชนไม่มีสิทธิ์เลี้ยงแมวได้โดยเฉพาะพันธุ์ขาวมณีและวิเชียรมาศ ต่อมาในปี พ.ศ. 2427 พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานแมววิเชียรมาศ ให้กับนายโอเวน กูลด์ (Mr. Owen Gould) กงสุลอังกฤษประจำประเทศไทย เพื่อเป็นทูตสันถวไมตรี ซึ่งได้นำไปให้แก่น้องสาวที่ประเทศอังกฤษอีกทอดหนึ่ง หลังจากนั้นแมวคู่นี้ได้ถูกส่งเข้าประกวดและได้รับรางวัลชนะเลิศในงาน The Crystal Palace ที่ประเทศอังกฤษ จากการประกวดในครั้งนั้นจึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ชาวอังกฤษนิยมหันมาเลี้ยงแมวไทยกันมากขึ้น จนได้จัดตั้ง The Siamese Cat Clubs ในปี พ.ศ. 2443 และ The Siamese Cat Society of the British Empire ในปี พ.ศ. 2471 ทำให้แมววิเชียรมาศจดทะเบียนเป็นสัตว์พันธุ์แท้ของโลกโดยใช้ชื่อว่า “ไซมิสแคท (Siamese Cat)” แมวไทยจึงมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั่วประเทศอังกฤษ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่าแมวไทยสามารถทำให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักแก่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก จึงได้ทรงพระราชทานแมวไทยให้กับหลาย ๆ ประเทศ จนแมวไทยและประเทศไทยกลายเป็นที่รู้จักมีชื่อเสียงไปทั่วโลก เจ้าฟ้าชายซาเรวิช อะเล็กเซ (Tsarevich Alexei) มกุฎราชกุมารแห่งจักรวรรดิรัสเซีย พระราชโอรสของพระเจ้าซาร์นิโครัสที่ 2 ทรงอุ้มแมวพันธุ์วิเชียรมาศ เจ้าฟ้าหญิงวิกตอเรีย พระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 แห่งสหราชอาณาจักรกับแมวพันธุ์วิเชียรมาศ Cats of Thailand, แมววิเชียรมาศ, ม.ป.ป.. ที่มา :  https://catsofthailand.wordpress.com               ในปี พ.ศ. 2502 นางยีน จอห์นสัน (Mrs.Jean Johnson) ได้เดินทางมาประเทศไทย และได้นำแมวโคราช (แมวสีสวาด แมวมาเลศ หรือแมวดอกเลา) กลับไปเลี้ยงที่สหรัฐอเมริกา 2 ตัว ชื่อ “นารา” และ “ดารา” จึงมีการก่อตั้งสมาคมผู้เลี้ยงแมวไทยพันธุ์โคราชขึ้นในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี พ.ศ. 2508 ในเวลาต่อมาได้มีการจดทะเบียนแมวโคราชเป็นสัตว์ประจำชาติไทยในปี พ.ศ. 2552   แมวพันธุ์วิเชียรมาศ แมวโคราช (แมวสีสวาด แมวมาเลศ หรือแมวดอกเลา) ALTV All Around, แมววิเชียรมาศ, 2564. ที่มา : https://www.inu-manga.com/manga/in-this-life-i-will-be-the-lord/ ข่าวสด, สวัสดี สีสวาด, 2563. ที่มา : https://www.khaosod.co.th/pr-news/news_493446               หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จสวรรคต แมวไทยที่มีการเลี้ยงอยู่ในวังได้ถูกลืมและถูกมองข้ามความสำคัญไป เป็นสาเหตุทำให้แมวถูกทิ้งตามวัดและสถานที่ต่าง ๆ ส่งผลให้แมว เกิดการผสมข้ามสายพันธุ์ แมวไทยสายพันธุ์แท้จึงหายสาบสูญและหายากในปัจจุบัน แมวจรจัดซึ่งเกิดจากการผสมข้ามสายพันธุ์ Tnews, คนใจร้ายนำน้องแมวมาปล่อยวัด, 2564. ที่มา : https://www.tnews.co.th/social/552547     ความเชื่อ วัฒนธรรม ประเพณีไทยที่เกี่ยวข้องกับแมว               แมวเป็นสัตว์เลี้ยงที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน มีความเกี่ยวข้องกับความเชื่อ วัฒนธรรม ประเพณีและวิถีชีวิตของคนในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นการเกิด การแต่งงาน การขึ้นบ้านใหม่ เป็นต้น ความสัมพันธ์ระหว่างแมวกับความเชื่อของคนไทย มีทั้งเชื่อว่าแมวเป็นสัตว์มงคล เลี้ยงไว้แล้วจะให้คุณแก่เจ้าของ เช่น โชคลาภ ความเจริญในยศถาบรรดาศักดิ์ และความเชื่อเรื่องแมวเป็นสัตว์ไม่มงคล เลี้ยงไว้แล้วจะทำให้เกิดโทษแก่ผู้เลี้ยง เป็นสัญลักษณ์ของความชั่วร้าย           แมวในประเพณีการเกิด               คนไทยจะใช้แมวคราว ร่วมกับฟักและหินบดยาในพิธีลงอู่หรือลงเปลของเด็กทารก โดยในพิธีกรรม ต้องอุ้มเด็กทารกลงนอนในเปลพร้อมกับของ 3 สิ่งดังกล่าว จากนั้นไกวเปล 3 ครั้ง ขณะที่ไกวเปลนั้นผู้ใหญ่จะกล่าวคำให้พรแก่เด็กว่า “ให้เย็นเหมือนฟัก ให้หนักเหมือนแฟง ให้อยู่เรือนเหมือนก้อนเส้า เฝ้าเรือนเหมือนแมวคราว” ซึ่งของแต่ละชนิดมีความหมายต่างกันจนเป็นที่มาของพิธีกรรม โดยหินบดยา หมายถึง ให้ใจคอหนักแน่น ฟัก หมายถึง ให้ใจเย็นเป็นฟัก และแมวคราวเปรียบเหมือนแมวที่นอนอยู่ติดบ้าน ไม่เที่ยวเตร่ และหากเป็นเด็กผู้ชายจะให้มีสมุดและดินสอร่วมด้วยโดยถือว่าเมื่อเด็กโตขึ้นจะได้เป็นคนรู้หลักนักปราชญ์ ส่วนเด็กผู้หญิงให้มีเข็มและด้ายร่วมด้วยโดยถือว่าเมื่อโตขึ้นจะได้เก่งในเรื่องเย็บปักถักร้อยและงานบ้านงานเรือน              “แมวคราว” คือ แมวตัวผู้ขนาดเขื่อง เป็นแมวผู้ใหญ่มีหนวดเครา เปรียบเสมือนคนที่บรรลุนิติภาวะจึงเป็นแมวไม่ทิ้งถิ่น มีบทบาททั้งในประเพณีการเกิดและการแต่งงาน ในสมัยก่อนมักนิยมใช้แมวที่มีชีวิตจริง ๆ ตัวสีขาว แต่ปัจจุบันมีการเปลี่ยนเป็นตุ๊กตาหรือรูปปั้นเซรามิกแทน โดยจะเลือกตัวที่นอนขด ให้มีลักษณะคล้ายกับแมวที่นอนเฝ้าบ้าน แมวคราว KiNdCONNEXT, ขาวมณี, 2564.ที่มา : https://kindconnext.com/mankind/khaomanee/           แมวในประเพณีแต่งงาน               ประเพณีการแต่งงานของคนไทยมักจะมีพานส่งตัวเข้าหอ ซึ่งประกอบด้วย แมวคราวนอนหวด 1 ตัว ไก่ขาว 1 คู่ ฟักเขียว 1 ลูก ครกบดยา 1 ชุด ถุงเงินถุงทอง ขันน้ำใบเล็ก 1 ใบ และไม้เท้า ทุกสิ่งล้วนมีความหมาย เพื่อความเป็นศุภมงคลแก่ชีวิตคู่ และในพิธี “การปูที่นอนและส่งตัวเจ้าสาว” โดยการเชิญคู่สามีภรรยาสูงอายุที่เป็นคู่แต่งงานที่มีความสุขและประสบความสำเร็จในชีวิตสมรสเป็นคู่ปูที่นอน เรียกว่า “ฤกษ์เรียงหมอน” เพื่อเป็นเคล็ดตามความเชื่อให้คู่แต่งงานใหม่ มีชีวิตครอบครัวที่มีความสุขเช่นเดียวกับคู่สามีภรรยาที่ได้รับเชิญมา ในการทำพิธีนี้ให้นำหินบดยา ฟักเขียว ถุงใส่ถั่วงา และข้าวเปลือกวางลงบนที่นอนก่อน พร้อมทั้งอุ้มแมวตัวผู้สีขาววางลงบนฟูก แล้วกล่าวคำให้พรเป็นสำนวนว่า “ใจเย็นเหมือนฟัก ใจหนักเหมือนหิน อยู่กินกันจนแก่จนเฒ่า ถือไม้เท้ายอดทอง กระบองยอดเพชร อยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือนเหมือนแมวคราว” พานส่งตัวเข้าหอ แมวในประเพณีการแต่งงาน ยาเล็ก, พานส่งตัวเข้าหอ, 2564.ที่มา : https://www.lekphanumas.com/2021/02/blog-post_65.htmlเลขา, เกิดหรือแต่งงานก็ต้องมีแมว, 2561.ที่มา : https://www.readhowl.com/2018/04/04/cat-marry-birth/           พิธีแห่นางแมว               พิธีแห่นางแมว เป็นพิธีที่ทำกันเฉพาะเมื่อยามฝนแล้งไม่ตกตามฤดูกาล โดยนำแมวเพศเมียพันธุ์สีสวาด 1 - 3 ตัว ซึ่งแมวพันธุ์นี้จะมีขนสีเทาเข้มคล้ายกับสีของเมฆฝน พร้อมกับดอกไม้ 5 คู่ เทียน 5 คู่ ใส่ในกระบุงหรือชะลอม ก่อนที่จะนำนางแมวเข้ากระบุง คนที่เป็นผู้อาวุโสที่สุดในหมู่บ้านจะพูดกับนางแมวว่า “นางแมวเอย ขอฟ้าขอฝน ให้ตกลงมาด้วยนะ” จากนั้นสอดไม้คานให้สองคนหามเป็นขบวนแห่วนไปทุกครัวเรือนในหมู่บ้าน เมื่อผ่านบ้านใดเจ้าของบ้านก็จะนำน้ำมาสาดใส่แมวเพื่อให้แมวส่งเสียงร้องออกมา โดยเชื่อว่าการที่แมวร้องนั้นเป็นสัญญาณที่ฝนจะตกนั่นเอง ทั้งนี้การแห่นางแมวจะมีการร้องเพลงประกอบในขบวนว่า              “นางแมวเอย มาร้องแจ้วแจ้ว นางแมวขอไก่ ขอไม่ได้ ร้องไห้ขอฝน ขอน้ำมนต์รดแมวข้าที มีแก้วนัยน์ตา ออกมาเดือนหก ฝนตกทุกที มาปีนี้ไม่มีฝนเลย พ่อตาลูกเขย นอนก่ายหน้าผาก พ่อหม้ายลูกมาก มันยากเพราะข้าว คนหนุ่มคนสาว คนเฒ่าหัวห้อย พาเด็กน้อย มาเล่นนางแมว มาร้องแจ้วฝนก็เทลงมา ฝนก็เทลงมา” ปัจจุบันพิธีแห่นางแมว ชาวบ้านมักใช้ตุ๊กตาแมวแทนการใช้แมวจริง เพื่อหลีกเลี่ยงการทรมานสัตว์   พิธีแห่นางแมว เลขา, พิธีแห่นางแมว, 2561ที่มา : https://www.readhowl.com/2018/04/04/cat-rain/     แมวในราชสำนัก               พระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร เป็นหนึ่งในพิธีเกี่ยวเนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธี ดังกล่าว คือ การสมโภชปราสาทราชมณเฑียร สถานที่ประทับดั้งเดิมของพระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรี หากเทียบกับประเพณีชาวบ้านก็เปรียบได้กับการขึ้นบ้านใหม่ เป็นพระราชพิธีที่ต้องมีการนำแมวเข้ามาในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยมีความหมายเพื่อให้เกิดความโชคดีมีลาภ ให้อยู่เย็นเป็นสุข ตลอดจนขับไล่ภูตผีปีศาจหรือ สิ่งชั่วร้ายต่าง ๆ และตามความเชื่อดั้งเดิมที่กล่าวว่า แมวมีเก้าชีวิต ซึ่งหมายถึง ความยั่งยืนสถาพร แมวในพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 แมวในพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10  ผู้จัดการออนไลน์, แมว-ไก่ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก, 2562. ที่มา : https://mgronline.com/entertainment/detail/9620000044597สำนักพระราชวัง, บรมราชาภิเษก : แมวไทย "วิเชียรมาศ", 2562. ที่มา : https://www.bbc.com/thai/thailand-48166415 แมวทรงเลี้ยง แมวทรงเลี้ยงในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร คุณติโต (แมวทรงเลี้ยงในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร) Kessel, Dmitri, Roi Du Siam, 2492. ที่มา : https://lifestyle.campus-star.com/knowledge/37174.html แมวทรงเลี้ยงในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี คุณใบตอง (แมวทรงเลี้ยงในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี) ที่มา : https://www.nanmeebooks.com/product/live-in-sra-pathum-palace-1/2112294429 แมวทรงเลี้ยงในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ คุณ Tomcat คุณ Lucille (ลูซีล) มติชนออนไลน์, Tomcat, 2563.ที่มา : https://www.matichon.co.th/court-news/news_2216200มติชนออนไลน์, Lucille, 2564.ที่มา : https://www.matichon.co.th/court-news/news_2795889      แมวมงคลของไทย               สมุดข่อยโบราณ เรื่อง ตำราดูลักษณะแมวของสมเด็จพระพุฒาจารย์พุทธสรมหาเถระ (นวม พุทฺธสโร) วัดอนงคาราม เป็นตำราที่บันทึกลักษณะของแมวไทยพันธุ์โบราณ ที่สมเด็จพระพุฒาจารย์พุทธสรมหาเถระ (นวม พุทฺธสโร) ท่านให้ความสนใจและสั่งให้คัดลอกรวบรวมไว้ในสมุดข่อย ในตำรากล่าวถึงลักษณะของแมวดีและแมวร้าย 23 ชนิด แบ่งเป็นแมวดี 17 ชนิด และแมวร้าย 6 ชนิด เนื้อหาแต่งด้วยโคลงสี่สุภาพ แมวดี 17 ชนิด   นิลรัตน์มีสีดำทั้งตัว รวมถึงเล็บ ลิ้น ฟัน ดวงตา หางยาวตวัดได้จนถึงหัว     วิลาศ มีลำตัวสีขาวจากคอไปตลอดท้อง จากสองหูไปจนถึงหางและขาทั้งสี่มีสีขาว และลำตัวสีดำอยู่บริเวณข้างและหน้า ดวงตาสีเขียว   ศุภลักษณ์หรือทองแดง มีสีน้ำตาลเข้มเหมือนสีทองแดงเสมอกันทั้งตัว ตามีสีเหลืองเป็นประกาย เลี้ยงไว้แล้วจะแคล้วคลาดจากภยันตราย     เก้าแต้ม เป็นแมวสีขาว มีสีดำแต้ม 9 แห่ง คือ บริเวณหัว คอ โคนขาหน้าและโคนขาหลังทั้ง 4 ข้าง ไหล่ทั้ง 2 ข้าง และโคนหาง   มาเลศหรือดอกเลา มีขนเรียบสีดอกเลา โคนขนจะมีสีขุ่น ๆ เทา ในขณะที่ส่วนปลายมีสีเงิน ตาเป็นประกายคล้ายหยดน้ำค้างบนใบบัว     แซมเศวต มีขนสีดำแซมขาว มีขนบางและสั้น รูปร่างเพรียว มีนัยน์ตาดั่งหิ่งห้อย    รัตนกัมพล มีขนสีขาวดั่งหอยสังข์ รอบตัวตรง ส่วนอกมีลักษณะคล้ายสายคาดสีดำ ตาสีทอง      วิเชียรมาส มีขนสั้นแน่นสีขาว มีแต้มสีดำ 8 แห่ง คือ ปาก หาง หูทั้งสองข้าง และเท้าทั้งสี่ข้าง   นิลจักร มีลำตัวดำสนิทเหมือนปีกกา คอมีขนสีขาวอยู่รอบเหมือนกับปลอกคอ      มุลิลา มีขนสีดำเรียบเป็นมัน หูสองข้างมีสีขาว ตามีสีเหลือง เหมือนดอกเบญจมาศ    กรอบแว่นหรืออานม้า มีขนสีขาวทั้งตัว ยกเว้นบริเวณขอบตาทั้งสองข้างเป็นสีดำ เหมือนกรอบแว่นตา และกลางหลังจะมีวงสีดำเหมือนอานม้า      ปัดเศวตหรือปัดตลอด มีขนสีดำเป็นมันราบเรียบ ยกเว้นปลายจมูกจนถึงปลายหางมีสีขาว ดวงตามีสีเหลืองคล้ายพลอย   กระจอก ไม่กระจอกเหมือนชื่อ มีลำตัวกลมมีสีดำ รอบปากมีสีขาว ตาสีเหลือง      สิงหเสพย์ มีลำตัวสีดำ แต่มีสีขาวอยู่บริเวณรอบริมฝีปาก จมูก และรอบคอนัยน์ตาสีเหลืองทอง   การเวก มีลำตัวสีดำ ตาเป็นประกายสีทอง จมูกสีขาว      จตุบท มีลำตัวสีดำ เท้าทั้งสี่ข้างมีสีขาว ตาสีเหลืองเหมือนดอกโสน    โกญจา มีสีดำละเอียด นัยน์ตาสีดอกบวบแรกแย้ม ปากและหางเรียว ท่าทางการเดินสง่าเหมือนสิงโต          ที่มา : ตำราดูลักษณะแมว.  กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์พิฆเนศ, 2518. (ที่ระลึกในการพระราชทานเพลิงศพจ่าเผ่นผยองยิ่ง (ชุ่ม สุวรรณจินดา) ณ เมรุวัดมกุฎกษัตริยาราม วันพุธที่ 25 มิถุนายน 2518)     ตำราแมว     วันสำคัญที่เกี่ยวกับแมว วันแมวญี่ปุ่น (Neko No Hi)               “วันแมวญี่ปุ่น” เริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2530 โดยสมาคม Japan Pet Food ด้วยเสียงโหวตสนับสนุนจากทาสแมวกว่า 9,000 คน ตกลงเลือกวันที่ 22 เดือน 2 จากการออกเสียงที่เลียนแบบเสียงร้องของแมวว่า “เนียะ เนียะ เนียะ” ซึ่งออกเสียงคล้ายกับคำว่า “นิ” ที่แปลว่า 2 ในภาษาญี่ปุ่น จึงทำให้วันที่ 22 กุมภาพันธ์ เป็นวันแมวญี่ปุ่น กิจกรรมในวันนี้ เช่น การโพสต์รูปแมวหรือวีดีโอเกี่ยวกับแมว การจัดกิจกรรมเกี่ยวกับแมว การประกวดแต่งตัวคอสเพลย์แมว   พนักงานรถไฟวาดรูปแมว เนียบโปริ (Nyappori) คาแรกเตอร์แมวของสถานี Nippori เมืองอาราคาวะ จังหวัดโตเกียว บนพื้นกระเบื้องสถานีเนื่องในวันแมวญี่ปุ่น Moshi Moshi Nippon, Cat Day 2021, 2021.ที่มา : https://www.moshimoshi-nippon.jp/399394Tonari ญี่ปุ่น, เนียบโปริ (Nyappori), 2566.ที่มา : https://www.facebook.com/tonarijapanth/posts/pfbid036LahbMAhhgkwo4WFzurGVGnNiGCmAjmHEZRjrby3orCGSJ5uTGBadwr51uJkzTYmlSiy, Sherilyn, National Cat Day, 2022.ที่มา : https://en.japantravel.com/news/national-cat-day/68647 วันแมววิเชียรมาศ (National Siamese Cat Day)               วันที่ 6 เมษายน ถือเป็นวันแมววิเชียรมาศ ก่อตั้งขึ้นโดย เจซ ชูเมกเกอร์-แกลโลเวย์ (Jace Shoemaker-Galloway) นักเขียนและคอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์ เมื่อปี พ.ศ. 2557 เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงความเป็นอยู่ของแมววิเชียรมาศที่อาศัยอยู่ในศูนย์พักพิงในประเทศต่าง ๆ และสนับสนุนให้คน รับเลี้ยงแมววิเชียรมาศที่เคยมีชื่อเสียงในอดีตที่มา : https://thatsmeow.com/cat-day/     วันกอดแมวสากล (National Hug Your Cat Day)               วันที่ 4 มิถุนายน เป็นวันกอดแมวสากล โดย Marisa D’Vari (มาริสา ดีวาริ) นักเขียนและโปรดิวเซอร์รายการโทรทัศน์ชาวอเมริกัน เพื่อเป็นเกียรติให้แก่ “มีมี” แมวพันธุ์เปอร์เซียที่เสียชีวิตไป ต่อมาจึงชักชวนให้คนที่เลี้ยงแมวหันมาแสดงความรักแก่แมว จนได้รับความนิยมในหมู่ของคนรักแมวในสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่น ๆ จนกลายเป็นวันกอดแมวสากลที่มา : https://newsd.in/national-hug-your-cat-day-u-s/     วันลูกแมวแห่งชาติ (National Kitten Day)               วันที่ 10 กรกฎาคม เป็นวันลูกแมวแห่งชาติสหรัฐอเมริกา ริเริ่มเมื่อปี พ.ศ. 2555 โดย คอลลีน เพจ (Colleen Paige) ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงและชีวิตความเป็นอยู่ของสัตว์ (Pet & Family Lifestyle Expert) เพื่อช่วยเหลือลูกแมวจรจัด ไร้บ้าน ให้ได้รับการดูแล ส่งเสริมการรับเลี้ยงและดูแลสุขภาพของลูกแมว ลดปริมาณแมวจรจัด รวมทั้งส่งเสริมให้เจ้าของมีความรับผิดชอบที่มา : https://thatsmeow.com/cat-day/     วันแมวสากล (International Cat Day)               วันที่ 8 สิงหาคม เป็นวันแมวสากล ริเริ่มโดยกองทุนระหว่างประเทศเพื่อสวัสดิการสัตว์ (International Fund for Animal Welfare - IFAW ) เมื่อปี พ.ศ. 2545 เพื่อประกาศให้เป็นวันเฉลิมฉลอง ชื่นชมแมว และตระหนักถึงความสำคัญของการเลี้ยงแมวที่มีส่วนช่วยบรรเทาความเครียด ลดความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้าได้เป็นอย่างดี ซึ่งในบางประเทศเรียกว่า วันแมวโลก (World Cat Day)ที่มา : https://thatsmeow.com/cat-day/     วันยกย่องแมวดำ (Black Cat Appreciation Day)               วันที่ 17 สิงหาคม เป็นวันยกย่องแมวดำ โดย เวย์น เอช มอร์ริส (Wayne H. Morris) ในปี พ.ศ. 2554 เพื่อระลึกถึงน้องสาวและ ซินแบด (Sinbad) แมวดำอายุ 20 ปี ของเธอที่เสียชีวิตในปีเดียวกัน ถือเป็นหนึ่งในวันสำคัญของสหรัฐอเมริกา โดยตามสถานสงเคราะห์สัตว์หลายแห่ง หรือบ้านพักพิงสัตว์ต่าง ๆ จะรณรงค์ให้รับแมวดำไปเลี้ยง เพื่อกระตุ้นให้ผู้คนได้ตระหนักถึงคุณค่าของแมวดำ และเป็นการปรับทัศนคติและความเชื่อเกี่ยวกับแมวดำที่มา : https://thatsmeow.com/cat-day/     วันยกย่องแมวส้ม (Ginger Cat Appreciation Day)               วันที่ 1 กันยายน เป็นวันยกย่องแมวส้ม เริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2557 โดย คริส รอย (Chris Roy) ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ชาวอเมริกันที่ผันตัวเป็นนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิสัตว์ เพื่อระลึกถึง ดูเบิร์ต (Doobert) แมวส้มที่เสียชีวิตไป และเพื่อให้คนได้เห็นความสำคัญของแมวสีส้มที่มักถูกทอดทิ้งเป็นอันดับที่สอง รองจาก “แมวดำ”ที่มา : https://worldtimeshindi.com/ginger-cat-appreciation-day-september-1-2022-history     วันแมวดำ (National Black Cat Day)               วันที่ 27 ตุลาคม เป็นวันแมวดำ โดยเพิ่มขึ้นมาจากวันยกย่องแมวดำ (Black Cat Appreciation Day) เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2554 โดย Cats Protection องค์กรการกุศลในสหราชอาณาจักรที่อุทิศตนเพื่อช่วยเหลือแมวจรจัด”ที่มา : https://twitter.com/burystrays/status/1453327447580151812     วันแมวแห่งชาติ (National Cat Day)               วันที่ 29 ตุลาคม เป็นวันแมวแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (National Cat Day) โดย คอลลีน เพจ (Colleen Paige) ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงและชีวิตความเป็นอยู่ของสัตว์ (Pet & Family Lifestyle Expert) เป็นผู้ริเริ่มและสนับสนุนให้คนหันมาให้ความสำคัญเรื่องสวัสดิภาพของสัตว์มากขึ้น และมีองค์กร American Society for the Prevention of Cruelty to Animals ได้นำแนวคิดนี้ไปสานต่อกระทั่งเป็นกิจกรรมประจำปีเพื่อช่วยเหลือแมวไร้บ้านและแมวที่ถูกทารุณกรรม”ที่มา : https://thatsmeow.com/cat-day/     แมวในวิถีปัจจุบัน ดนตรีสำหรับแมว               ดนตรีสำหรับแมว หรือเพลงบำบัดคลายเครียดสำหรับแมว ริเริ่มเมื่อปี พ.ศ. 2559 โดย เดวิด ทาย (David Teie) นักเล่นเชลโล นักแต่งเพลง และนักวิจัยดนตรีชาวอเมริกันจาก University of Maryland ผู้มีความสนใจเรื่องดนตรีสำหรับสัตว์ ผลการศึกษาวิจัยพบว่า ดนตรีสำหรับแมวสามารถทำให้แมวแสดงพฤติกรรมทางด้านบวก และช่วยลดความเครียดของแมวได้ โดยดนตรีสำหรับแมวนี้ ถูกสร้างขึ้นจากเสียงที่แมวได้ยิน เช่น เสียงนกร้อง เสียงจากธรรมชาติ มาผสมผสานกับเสียงเชลโลเป็นท่วงทำนองที่ไม่สูงไปกว่าเสียงแมวร้องปกติ เพื่อทำให้แมวรู้สึกผ่อนคลาย และไม่รำคาญเวลาฟัง David Teie ผู้ริเริ่มโครงการดนตรีสำหรับแมว ตัวอย่างดนตรีสำหรับแมว https://www.musicforcats.com/ McKenna, Ewen, Music for cat, 2015.ที่มา : https://www.washingtonpost.com/video/entertainment/listen-this-music-is-scientifically-proved-to-appeal-to-cats/2015/10/15/31ec6f54-6e9b-11e5-91eb-27ad15c2b723_video.html แมวเน็ตไอดอล               ปัจจุบันแมวมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการใช้สินค้าและบริการของผู้บริโภคเป็นอย่างมาก มีการสร้าง คอนเทนต์เกี่ยวกับแมวในโซเชียลมีเดียซึ่งได้รับความนิยม มีผู้ชื่นชอบและติดตามจำนวนมาก จึงเป็นการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้กับแมวและเจ้าของแมวในการเป็น Social media influencer และ Brand ambassador              “นาลา” แมวพันธุ์ผสมลายสลิดผู้พลิกชีวิตของ วรีสิริ เมธาจิตติพันธ์ เจ้าของคนไทยในสหรัฐอเมริกา ที่ใช้บัญชี Instagram ชื่อ nala_cat (@nala_cat) ได้รับประกาศนียบัตรจาก Guinness World Records ว่าเป็นแมวที่มีชื่อเสียงและมีผู้ติดตามใน Instagram มากที่สุดในโลก เป็นแมวตัวแรกและตัวเดียวที่ได้เซ็นสัญญากับ Creative Artists Agency เอเย่นต์ชื่อดังที่เป็นตัวแทนให้กับดาราฮอลลีวูดชั้นนำ ได้แสดงในภาพยนตร์ ไนน์ ไลฟส์ (Nine Lives) รวมทั้งมีหนังสือของตัวเองชื่อ Nala Cat ฯลฯ  นาลา แมวที่มีผู้ติดตาม Instagram มากที่สุดในโลก Nala_Cat, Nala Cat.ที่มา : https://www.instagram.com/nala_cat/?hl=en               แมวที่มีชื่อเสียงและผู้ติดตามในไทยจำนวนมาก มีด้วยกันมากมายหลากหลายสายพันธุ์ สภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันส่งผลให้ผู้คนในสังคมใช้ชีวิตด้วยการแข่งขันและความเครียด สัตว์เลี้ยง เช่น แมว จึงได้รับความสนใจอย่างมาก ทำให้เจ้าของ (หรือนิยมเรียกว่า “ทาส”) คลายความเครียดเมื่อมีแมวมาคลอเคลีย อีกทั้งแมวยังเป็นสัตว์เลี้ยงที่มีประสาทสัมผัสไว สามารถรับรู้และปลอบใจเจ้าของเมื่อเวลาเศร้าได้ ผู้คนจึงนิยม เลี้ยงแมวกันมากขึ้น แมวที่มีผู้ติดตามหลักแสนถึงหลักล้านในไทย ตัวอย่างเช่น Egg family - ครอบครัวไข่ : ที่มีสมาชิกมากหลากหลายสีสัน Egg family - ครอบครัวไข่, Egg family, 2564.ที่มา : https://www.facebook.com/egggang/?locale=th_TH   Meeboon : แมวสองพี่น้องขวัญใจโซเชียล มีบุญและออมบุญ Meeboon, มีบุญและออมบุญ.ที่มา : https://www.facebook.com/Luckymeeboon/ Kingdom Of Tigers ทูนหัวของบ่าว : ที่มีสมาชิกครอบครัวหลากสายพันธุ์ Kingdom Of Tigers ทูนหัวของบ่าว, Kingdom Of Tigers Family, 2565.ที่มา : https://www.facebook.com/kingdomoftigers/?locale=th_TH   เค้าเรียกผมว่าแมว : บ้านแมว Story หลากหลาย เค้าเรียกผมว่าแมว, ครอบครัวเค้าเรียกผมว่าแมว, 2566.ที่มา : https://www.facebook.com/theycallmemeaow/?locale=th_TH ชิเอลแมวมึน : แมวหนุ่มหล่อต่างสไตล์ ชิเอลและคิรัวร์ ชิเอลแมวมึน, ชิเอลและคิรัวร์.ที่มา : https://www.facebook.com/Cielmeowmun/?locale=th_TH เน็ตไอดอลมาสคอตแมวและพรีเซนเตอร์แมว               แมวมักถูกนำมาใช้เป็นมาสคอต หรือ ตัวแทนสัญลักษณ์นำโชค มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์สำหรับกลุ่มธุรกิจ องค์กร ทีมกีฬา การแข่งขันกีฬา หรืองานกิจกรรมที่สำคัญต่าง ๆ แคน มาสคอต ซีเกมส์ 2007จัดที่จังหวัดนครราชสีมา     สิงหลา จากตำนานเกาะหนูเกาะแมวของจังหวัดสงขลา มาสคอตการแข่งขันกีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 45     “น้องนวล” แมวพรีเซนเตอร์การประชุมเอเปค 2022     “เหมียวมั่น” มาสคอตของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน     “สวาทแคท (Swat Cat)” สัญลักษณ์ของสโมสรฟุตบอลนครราชสีมา มีที่มาจากแมวสีสวาด หรือแมวโคราช     Olympic Council of Asia, แคน, 2007.ที่มา : https://ocasia.org/games/19-nakhon-ratchasima-2007/media/?type=Mascotอนิรุทธิ์ เอมอิ่ม, สิงขลาและสิงขร, 2559.ที่มา : https://news.gimyong.com/article/1244mfa_thailand, น้องนวล, 2565.ที่มา : https://www.instagram.com/p/CjJdifyPFWi/?img_index=2Swatcat Academy, Swatcat Academy.ที่มา : https://www.facebook.com/SwatcatAcademy/สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน, เหมี่ยวมั่น รวมพลังหาร 2, 2559.ที่มา : https://www.eppo.go.th/index.php/th/petroleum/gas/link-erc-pipeline/item/11700-poster-meawmun\ คอตแมวและพรีเซนเตอร์แมวบำบัด               การนำแมวมาช่วยในการบำบัด (Cat therapy / Feline-assisted therapy) สามารถช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดได้เป็นอย่างดี แมวถูกนำมาใช้เป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่กลัวสุนัข หรือไม่สามารถไปบำบัดด้วยสัตว์ใหญ่ได้ เนื่องจากแมวเป็นสัตว์ที่มีจิตวิทยาสูง สามารถรับรู้อารมณ์ความรู้สึกของคนได้ดี รู้ว่าเจ้าของต้องการขอความช่วยเหลือเมื่อไหร่ สามารถเตือนภัยให้กับเจ้าของได้                แมวบำบัดต้องมีลักษณะดังนี้ เป็นมิตร เข้ากับคนแปลกหน้าได้ง่าย ยอมให้กอดได้ มีนิสัยที่สงบ ไม่ตกใจง่าย ได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดีทนต่อสิ่งกระตุ้นที่ผิดแปลกได้ดี ไม่ดุร้าย ยอมให้สวมใส่ปลอกคอ กระพรวน หรือสายจูงได้ มีการทำความสะอาดและดูแลสุขอนามัยอย่างสม่ำเสมอ ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว               กลุ่มผู้ป่วยที่สามารถใช้แมวบำบัด ได้แก่ โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคสมองเสื่อม โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน ความบกพร่องทางการเห็นหรือการได้ยิน ความบกพร่องทางสติปัญญา ออทิสติก สมาธิสั้น และผู้ป่วยจิตเวชอื่นๆ แมวบำบัดที่คอยมอบความสุขให้กับผู้ป่วย                 คาเฟ่แมว หรือ Cat cafe ได้รับการบรรจุอย่างเป็นทางการในพจนานุกรมออกฟอร์ดภาษาอังกฤษ ฉบับออนไลน์ตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2558 เป็นต้นมา มีลักษณะเป็นร้านอาหารและเครื่องดื่ม (ทั้งของคนและแมว) มีแมวหลากหลายสายพันธุ์เป็นจุดขายเพื่อดึงดูดลูกค้า สามารถเล่นกับแมวได้ โดยผู้ใช้บริการชำระค่าบริการเป็นรายชั่วโมง บางแห่งสามารถให้ผู้ใช้บริการนำสัตว์เลี้ยงของตนเองเข้ามาใช้บริการในส่วนที่จัดให้โดยเฉพาะอีกด้วย คาเฟ่แมวจึงเป็นที่นิยมมากในปัจจุบันสำหรับคนรักสัตว์เลี้ยง   Cat Cafe Rangsit ที่มา : https://www.facebook.com/CatcafeRangsit/   Makura Cat Café (มาคูระ แคทคาเฟ่) ที่มา : https://www.facebook.com/MakuraCatCafe/ Kitty Cat Cafe (คิตตี้ แคท คาเฟ่) ที่มา : https://www.facebook.com/kittycatcafee/ Mohu Mohu Café (โมฮุโมฮุ คาเฟ่) ที่มา : https://www.facebook.com/mohumohucafe/ เครื่องรางของขลังเกี่ยวกับแมว               เพชรตาแมว หรือ พลอยไพฑูรย์ อัญมณีมงคลเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เชื่อว่าผู้ใดได้ครอบครอง จะทำให้ค้าขายดี มีโชคลาภอยู่เสมอ ตามความเชื่อของคนโบราณ เชื่อว่าแมวตาเพชรมีโอกาสเกิดขึ้นได้กับแมวหนึ่งในล้านตัว ผู้ที่ได้ครอบครองจะต้องสะสมบุญบารมี ประพฤติตนเป็นคนดี และอยู่ในศีลธรรม              ในแง่วิทยาศาสตร์อาจกล่าวได้ว่า เพชรตาแมวเกิดจากแมวที่ตาเป็นต้อหิน โดยดวงตาข้างนั้นจะมีน้ำออกในตา แม้แมวไม่เจ็บปวด แต่ตาข้างนั้นจะไม่สามารถใช้การได้ และเมื่อแมวตัวดังกล่าวตายลง ดวงตาข้างที่เป็นต้อก็จะแข็งขึ้นราวกับก้อนหิน แต่จะมีความสวยงาม แวววาว ราวกับเพชร ดังที่เรียกว่า “เพชรตาแมว” เพชรตาแมว เพชรตาแมว, เพชรตาแมว, 2563.ที่มา : https://www.facebook.com/olecateye/posts/pfbid0S8GqJ6knUuZoWXgJaT6vJqnKkowXPHhVo9r1DFsuDUZJ8nT8NoH3T44mthuunDZJl               รกแมว เป็นเครื่องรางของขลังตามธรรมชาติ นิยมใช้ด้านเมตตามหานิยม โดยธรรมชาติแม่แมว มักจะหลบไปคลอดลูกในที่ลับตาและกินรกของตัวเองตามสัญชาตญาณของสัตว์ แต่หากแมวตัวไหนให้โชคแก่เจ้าของจะไม่กินรกเข้าไป เจ้าของสามารถเก็บรกแมวมาไว้ติดตัวเพื่อเสริมโชคลาภได้ โดยการนำรกแมวคลุกกับผงขมิ้นหรือผงแป้งโดยห้ามตัดแบ่งรกแมว และนำไปผึ่งลมจนแห้งสนิทแล้วจึงนำมาใส่กรอบไว้บูชา              ลูกกรอกแมว เป็นเครื่องรางของขลังที่มีอานุภาพคล้ายกับกุมารทองที่ให้คุณแก่ผู้ครอบครอง ด้านเมตตามหานิยม ทำมาค้าขาย โชคลาภ ปกป้องคุ้มครอง บอกเหตุเตือนภัย ป้องกันภูตผีปีศาจ คนที่เลี้ยงลูกกรอกแมว จะต้องเป็นคนมีใจเมตตาต่อสัตว์จึงจะได้ผลดี รกแมว                                                               ลูกรอกแมว พระเครื่อง55, รกแมว, 2564.ที่มา : https://www.พระเครื่อง55.comพรพ่อพระเครื่อง, ลูกกรอกแมว.ที่มา : https://www.pornpoephrakruang.com/productdetail.asp?pid=38741  

ภาพตัวอย่าง

ศุภฤกษ์เบิกชัย สวัสดีปีใหม่

ศุภฤกษ์เบิกชัย สวัสดีปีใหม่ ความเป็นมาของวันขึ้นปีใหม่ไทย           ในสมัยโบราณคนทั่วโลกมีหลักเกณฑ์ในการกำหนดวันขึ้นปีใหม่ที่คล้ายคลึงกันโดยคำนึงถึงเหตุและผลที่เกี่ยวข้องกับสภาพชีวิต ความเป็นอยู่ ดินฟ้าอากาศ และจารีตประเพณี เพราะวันขึ้นปีใหม่ย่อมหมายถึงวาระแห่งความรื่นเริงและสิริมงคลในชีวิต เป็นนิมิตหมายที่ดีในการเริ่มต้นสิ่งใหม่และมอบความปรารถนาดีให้แก่กันหลังจากตรากตรำกับภารกิจการงานมาตลอดทั้งปี คนไทยในสมัยโบราณก็เช่นเดียวกันวันขึ้นปีใหม่ครั้งแรกจึงได้ถูกกำหนดขึ้นอย่างสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ข้างต้น ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงวันขึ้นปีใหม่นับได้ ๔ ครั้งซึ่งมีเหตุผลและความเหมาะสมที่แตกต่างกัน ดังนี้ ครั้งแรก วันขึ้นปีใหม่ของไทยตรงกับ วันแรม ๑ ค่ำ เดือนอ้าย บรรพบุรุษไทยเริ่มมีการเฉลิมฉลองวันขึ้นปีใหม่เป็นครั้งแรกตั้งแต่ยังมีถิ่นฐานอยู่บริเวณประเทศจีนทางตอนใต้ ตามทางสอบสวนปรากฏว่าเป็นของไทยแท้ และไม่ได้เลียนแบบมาจากที่ใด มูลเหตุมาจากดินฟ้าอากาศในประเทศของเราดังพระบรมราชาธิบายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกล่าวถึงฤดูทั้ง ๓ ไว้ว่า วิธีนับวันขึ้นปีใหม่ของคนไทยโบราณถือว่าเดือนอ้าย แรม ๑ ค่ำ เป็นวันขึ้นต้นปีเพราะฤดูหนาวที่เรียกว่าเหมันตะเป็นเวลาที่พ้นจากความมืดครึ้มของฟ้าฝนและสว่างไสวขึ้นเปรียบเสมือนเวลาเช้าถือเป็นต้นปี ฤดูร้อนที่เรียกว่าคิมหฤดูเป็นเวลาสว่างร้อนเหมือนเวลากลางวันถือว่าเป็นกลางปี ส่วนฤดูฝนที่เรียกว่าวัสสานะเป็นเวลาที่มืดมัวและมีฝนพรำเปรียบเสมือนเวลากลางคืนถือว่าเป็นปลายปี เพราะฉะนั้นจึงได้นับชื่อเดือนเป็นหนึ่งมาแต่เดือนอ้าย ครั้งที่ ๒ วันขึ้นปีใหม่ของไทยตรงกับ วันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ เมื่อชาวไทยย้ายถิ่นฐานลงมาสู่ดินแดนแหลมทอง จึงได้มีการเปลี่ยนแปลงวันขึ้นปีใหม่ครั้งแรกสาเหตุน่าจะมาจากอิทธิพลของพราหมณ์ที่มีถิ่นฐานเดิมอยู่ทางตอนเหนือของประเทศอินเดียเมื่อพราหมณ์เหล่านี้เดินทางเข้ามาสู่แผ่นดินไทยจึงนำลัทธิธรรมเนียมและจารีตประเพณีต่าง ๆ ตลอดจนแนวคิดในการเปลี่ยนศกใหม่ในวันสงกรานต์ตามแบบสุริยคติของอินเดียเหนือเข้ามาเผยแพร่ด้วย จึงส่งผลให้ไทยกำหนดวันขึ้นปีใหม่เป็น วันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ (เดือนเมษายน) และถือเป็นวันสงกรานต์ด้วย และได้ใช้ติดต่อกันเรื่อยมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งที่ ๓ วันขึ้นปีใหม่ของไทยตรงกับ วันที่ ๑ เมษายน การกำหนดวันขึ้นปีใหม่สองครั้งที่ผ่านมาได้ถือเอาทางจันทรคติเป็นหลัก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นความลำบากในการกำหนดวันขึ้นปีใหม่ มีพระราชปรารถว่าวันขึ้นปีใหม่ของไทยซึ่งนับตามจันทรคตินั้นมักจะเลื่อนไปเลื่อนมาไม่แน่นอนเป็นการยุ่งยากแก่การจดจำ และเมื่อต้องมีการติดต่อกับต่างประเทศก็ยิ่งรู้สึกลำบากมากขึ้นจวบจนถึงรัตนโกสินทรศก ๑๐๘ (พุทธศักราช ๒๔๓๒) วันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ ตรงกับวันที่ ๑ เมษายนพอดี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ประกาศให้ถือวันที่ ๑ เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๔๓๒ เป็นต้นมานับเป็นวันขึ้นปีใหม่ทางสุริยคติครั้งแรกของไทย           ครั้งที่ ๔ วันขึ้นปีใหม่ของไทยตรงกับ วันที่ ๑ มกราคม ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เห็นว่าเมื่อไทยยอมรับปฏิทินสุริยคติตามแบบสากลแล้ว ก็ควรเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ให้เป็นแบบสากลเพื่อความสะดวกในการติดต่อกับต่างประเทศ จึงกำหนดให้ถือวันที่ ๑ มกราคมของทุกปีเป็นวันขึ้นปีใหม่เริ่มตั้งแต่พุทธศักราช ๒๔๘๔  เป็นต้นมา ส่งผลให้พุทธศักราช ๒๔๘๓ มีจำนวนเดือนเพียง ๙ เดือนขาดไป ๓ เดือน วันขึ้นปีใหม่ไม่ว่าชาติใดภาษาใด ต่างถือว่าเป็นวันสำคัญวันหนึ่งเพราะเป็นวาระเริ่มต้นชีวิตใหม่ในอีกรอบขวบปีหนึ่ง และต่างถือว่า เป็นวันที่อุดมด้วยมงคลฤกษ์ และศุภนิมิตอันดีงาม ฉะนั้น ในวันนี้จึงมีการจัดพระราชพิธี พิธี งานรื่นเริง กิจกรรม และประเพณีบำเพ็ญกุศลทางศาสนา ตลอดจนการอวยพรและขอรับพรจากกันและกัน เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองมิ่งขวัญอันจะนำมาซึ่งศิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคลแก่ตนและครอบครัว ตลอดจนมิตรสหายวงศ์ญาติที่เคารพนับถือ   พระราชพิธีขึ้นปีใหม่อันเกี่ยวเนื่องกับพระมหากษัตริย์ พระราชพิธีขึ้นปีใหม่ในพระราชสำนักมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ครั้นสมัยรัตนโกสินทร์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงกำหนดพระราชพิธีที่คล้ายคลึงกัน มีการเปลี่ยนแปลงพระราชกรณียกิจบางอย่างให้เหมาะสมกับกาลเวลา โดยเฉพาะในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา พระราชพิธีขึ้นปีใหม่แบ่งเป็น ๒ พิธี คือ การบำเพ็ญพระราชกุศล และการรื่นเริงปีใหม่ การบำเพ็ญพระราชกุศล ได้แก่ พระราชกุศลสดับปกรณ์พระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ผ่านมา พระอัฐิพระบรมวงศ์ พิธีบวงสรวงเทวดา คือ พระสยามเทวาธิราช พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์เลี้ยงพระถวายอาหารบิณฑบาต สดับปกรณ์ในพระราชวังบวร และที่หอพระนาก   พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะพระบรมอัฐิ   พระโกศ พระบรมอัฐิ และพระอัฐิประดิษฐานบนพระแท่นนพปฎลมหาเศวตฉัตร พระโกศ พระบรมอัฐิ สมเด็จพระบวรราชเจ้าพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระอัฐิพระราชวงศ์ในหอพระนาก   การรื่นเริง  ในทุกปีโปรดเกล้า ฯ ให้จัดการเลี้ยงพระกระยาหารที่เรียกกันว่า เลี้ยงโต๊ะปีใหม่ (ดินเนอ) พระราชดำรัสพระราชทานพร พระราชทานของฉลากเลี้ยงโต๊ะปีใหม่ ปฏิทิน บางปีจัดงานแฟนซีเดรสส์ ออกร้านขายของในพระบรมมหาราชวัง จัดการแสดงละครหลวง การแสดงเล่นกลของรอยัลแมจิกโซไซเอตี   พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้านาย และข้าราชการฝ่ายหน้า แต่งแฟนซีในงานขึ้นปีใหม่ เจ้านายและข้าราชการฝ่ายในแต่งแฟนซีเป็นแขกและพม่า เจ้าจอมเอื้อน ในรัชกาลที่ ๕ เจ้าจอมมารดาห่วง ในรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ฉลองพระองค์แฟนซีในงานขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช ๒๔๑๙ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์ สมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุขเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เจ้านายซึ่งทรงแสดงละครเรื่องนิทราชาคริช ในงานขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช ๒๔๒๓   รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชพิธีขึ้นปีใหม่ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลยังคงปฏิบัติเช่นเดิม แต่มีพระราชพิธีที่เพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลง คือ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้รวมพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ เถลิงศกสงกรานต์ และพระราชพิธีศรีสัจจปานกาลถือนํ้าพระพิพัฒน์สัตยาเข้าด้วยกันเรียกว่าพระราชพิธีตรุษะสงกรานต์ เริ่มการพระราชพิธีตั้งแต่วันที่ ๒๘ มีนาคม ถึงวันที่ ๓ เมษายน ส่วนการรื่นเริง มีงานอุทยานสโมสร กระทรวงวังจัดที่ลงพระนามและนามถวายพระพร และพระราชทานปฏิทินหลวง ข้าราชการกำลังขึ้นไปดื่มน้ำพระพิพัฒน์สัตยาที่บริเวณหน้าพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในงานพระราชพิธีศรีสัจจปานกาล รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในรัชกาลนี้ บางปียังคงมีการรื่นเริงต่าง ๆ พระราชทานเลี้ยงพระบรมวงศานุวงศ์ มีการแสดง พระราชทานฉลากของขวัญ พระราชทานปฏิทินแก่ข้าราชการ และปวงชนชาวไทย รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ครั้นถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร มีประกาศใช้วันที่ ๑ มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่เริ่มตั้งแต่พุทธศักราช ๒๔๘๔ จึงได้กำหนดการพระราชพิธีขึ้นปีใหม่ระหว่างวันที่ ๓๑ ธันวาคม ถึง ๒ มกราคม มีรายละเอียด คือพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์สรงนํ้าพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรและพระพุทธรูปสำคัญ ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามถวายอาหารบิณฑบาตพระสงฆ์รับพระราชทานฉัน สดับปกรณ์ผ้าคู่พระบรมอัฐิสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช พระอัฐิพระบรมวงศ์ พระบรมอัฐิสมเด็จพระบวรราชเจ้า และพระอัฐิพระราชวงศ์ ลงนามถวายพระพรในพระบรมมหาราชวัง รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พุทธศักราช ๒๔๙๐ คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์โปรดเกล้า ฯ ให้ยกการพระราชกุศลสดับปกรณ์ผ้าคู่ในวันขึ้นปีใหม่ไปไว้ในพระราชพิธีสงกรานต์ ต่อมาในพุทธศักราช ๒๕๐๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้งดการพระราชกุศลสวดมนต์ เลี้ยงพระในวันขึ้นปีใหม่ เปลี่ยนเป็นเสด็จออกทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทรงบาตร พุทธศักราช ๒๕๐๑ โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนการพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลทรงบาตรขึ้นปีใหม่ ในวันที่ ๑ มกราคม เป็นวันที่ ๓๑ ธันวาคม ซึ่งเป็นวันสิ้นปี ต่อมาในพุทธศักราช ๒๕๑๘ โปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทรงบาตรขึ้นปีใหม่เป็นงานส่วนพระองค์ ณ พระราชฐานที่ประทับ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระบรมวงศาสนุวงศ์ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทรงบาตร ในวาระขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช ๒๕๐๘ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำรัสพระราชทานพรปีใหม่แก่ประชาชนชาวไทย ในวาระขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช ๒๕๑๒   การอวยพรส่งความสุขปีใหม่ การส่งความสุขเป็นของขวัญ ของที่ระลึกแก่บุคคลอันเป็นที่รักและนับถือในเทศกาลขึ้นปีใหม่มีหลายรูปแบบตามสถานะของบุคคล เช่น การส่งบัตรอวยพร ปฏิทิน สมุดบันทึกประจำวัน และอื่น ๆ ในอดีต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะพระราชทานพรปีใหม่แก่พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ ตลอดจนพสกนิกรผ่านพระบรมราโชวาท พระราชดำรัส ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรการอวยพรที่มีค่าและพสกนิกรต่างจดจ่อรอเวลานั้น คือ พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่จะทรงพระราชทานพรวันขึ้นปีใหม่แก่ประชาชนชาวไทยของพระองค์เป็นประจำทุกปี และพระราชทานบัตรส่งความสุขที่ทรงประดิษฐ์ขึ้นด้วยพระองค์เอง ข้อความพระราชทานแต่ละปีจะประมวลขึ้นจากเหตุการณ์บ้านเมืองที่ประเทศไทยต้องประสบในรอบปีที่ผ่านมา ถือเป็นพรอันล้ำค่าอีกทั้งแฝงไปด้วยคำสอนและข้อคิดให้พสกนิกรน้อมนำไปเป็นแนวทางในการเริ่มต้นปีด้วยปัญญาและสติพระราชดำรัสพระราชทานแก่ประชาชนชาวไทยในโอกาสขึ้นปีใหม่ พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพรปีใหม่ พุทธศักราช ๒๔๐๙ จาก The Bangkok Recorder ฉบับวันเสาร์ที่ ๑๓ มกราคม คริสต์ศักราช ๑๘๖๖     พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพรปีใหม่แก่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการที่ตามเสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรป ครั้งที่ ๒ พุทธศักราช ๒๔๕๐     พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพรปีใหม่ พุทธศักราช ๒๔๕๘   พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร พระราชทานพรปีใหม่ พุทธศักราช ๒๕๐๐ พระราชดำรัสสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูรพระราชทานพรปีใหม่ พุทธศักราช ๒๕๖๐  โคลงให้พรปีใหม่ของพระบรมวงศานุวงศ์   บัตรส่งความสุข / บัตรอวยพร / ส.ค.ส.พระราชทาน บัตรอวยพรในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว     บัตรอวยพรในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ส.ค.ส. พระราชทานในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ส.ค.ส. พระราชทานในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร     ส.ค.ส. พระราชทานในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว   ส.ค.ส. พระราชทานของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี   ส.ค.ส. พระราชทานของพระบรมวงศานุวงศ์         บัตรส่งความสุข บัตรอวยพรปีใหม่ของบุคคลต่าง ๆ หนังสือที่ระลึกในวันขึ้นปีใหม่ ลิลิตนิทราชาคริช พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานเป็นของขวัญปีใหม่แก่พระบรมวงศานุวงศ์ พุทธศักราช ๒๔๒๓   หนังสือที่ระลึกในวันขึ้นปีใหม่   วชิรญาณวิเศษฉบับปีใหม่ ๑ เมษายน ร.ศ. ๑๐๙ (พุทธศักราช ๒๔๓๓) ปฏิทิน: ของขวัญปีใหม่   เมื่อใกล้จะถึงวันขึ้นปีใหม่ สิ่งหนึ่งที่คนทั่วไปนึกถึงก็คือ ปฏิทิน สมุดบันทึก และบัตรอวยพร หรือ ส.ค.ส. โดยเฉพาะปฏิทินนั้น เป็นที่ต้องการและดูเหมือนว่าจะเป็นของใช้ในชีวิตประจำวันไปแล้ว ปฏิทิน (calendar) ในสมัยโบราณอาจจะเขียนเป็น ประดิทิน ประนินทิน หรือ ประฏิทิน ซึ่งก็คือ ระเบียบวิธีการจัดแบ่งช่วงเวลาให้เป็นวัน เดือน ปี ขึ้นเป็นแบบแผน โดยอาศัยวิชาดาราศาสตร์เป็นหลักในการจัดทำ เพื่อประโยชน์สำหรับดู วัน เดือน ปี ในการกำหนดอายุ กำหนดการพิธีต่าง ๆ และใช้สำหรับระบุในการบันทึกเหตุการณ์ที่สัมพันธ์กับชีวิตประจำวันของมนุษย์ ปฏิทินของไทยแต่ก่อน เป็นปฏิทินแบบจันทรคติ คือใช้ดวงจันทร์เป็นหลัก เรียกวันเป็น วันข้างขึ้น วันข้างแรม กรมโหรหลวงมีหน้าที่คำนวณ วัน เดือน ปี จัดทำปฏิทินแต่ละปีขึ้นเป็นต้นแบบในสมุดไทยดำ บอกรายการวันขึ้นแรมในแต่ละเดือนเป็นลำดับไปตลอดทั้งปี ผู้ใดประสงค์จะได้ปฏิทินก็จะขอคัดสำเนาไปใช้ทั้งในส่วนราชการและส่วนตัว ภายหลังจึงมีการจัดพิมพ์ปฏิทินขึ้นบนกระดาษฝรั่ง การพิมพ์ปฏิทินในเมืองไทยเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อหมอบรัดเลย์ มิชชันนารีชาวอเมริกัน ได้จัดพิมพ์หนังสือ Bangkok Calendar, For the year our Lord ขึ้นในวันที่ ๑๔ มกราคม พุทธศักราช ๒๓๘๕ ปลายสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพิมพ์เป็นเล่มมีรายละเอียดวัน เดือน ปี และช่องว่างสำหรับจดบันทึก (ลักษณะคล้ายกับสมุดบันทึก) แต่การพิมพ์ปฏิทินนี้ยังเป็นภาษาอังกฤษ ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้จัดพิมพ์ปฏิทินภาษาไทยขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๐๔ และเลิกพิมพ์เมื่อพุทธศักราช ๒๔๑๖ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ลักษณะของปฏิทินที่พิมพ์มีรูปแบบอย่างไรนั้น ไม่ปรากฏหลักฐานมาจนถึงปัจจุบัน แต่รายละเอียดยังคงใช้แบบจันทรคติ ภายหลังจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นวันทางสุริยคติ การจัดทำปฏิทินจึงเริ่มใช้วันทางสุริยคติตั้งแต่พุทธศักราช ๒๔๓๒ เป็นต้นมาประเภทของปฏิทิน    ปฏิทินหลวง คือกำหนดวัน เดือน ทางสุริยคติ จันทรคติของปีนักษัตร วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา และกำหนดการพระราชพิธีประจำปี ปฏิทินหลวงในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรียกว่า ประกาศมหาสงกรานต์ เขียนเป็นภาพปีนักษัตรสงกรานต์ แขวนไว้ที่ประตูพิมานไชยศรี ในพระบรมมหาราชวัง สำหรับให้ทางราชการและประชาชนทราบ ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ ให้ทำปฏิทินหลวงเป็นเล่มเล็ก ๆ คงใช้ชื่อว่า ประกาศสงกรานต์ และในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ ให้ทำปฏิทินหลวงเป็นสมุดพก ใช้ข้อความที่ปกว่า ปฏิทินหลวง พระราชทานสำหรับความสุขปีใหม่ สำหรับพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการเป็นราชประเพณีสืบมา ซึ่งภายหลังได้พระราชทานปฏิทินหลวงแก่ประชาชนที่มาลงนามถวายพระพรในวันขึ้นปีใหม่ด้วย ปฏิทินราษฎร์ เป็นปฏิทินที่จัดทำขึ้นโดยหน่วยงาน ห้างร้าน ตลอดจนประชาชนทั่วไป ยึดหลักเหมือนกัน คือ บอกวัน เดือน ปี แตกต่างกันเพียงรายละเอียด วิธีการและรูปแบบที่จัดทำขึ้นเท่านั้น ซึ่งมีหลากหลายตามยุคสมัย จากหนังสือ “สิ่งพิมพ์สยาม” โดย เอนก นาวิกมูล พ.ศ. ๒๕๔๒   ปัจจุบันการพิมพ์ปฏิทินเพื่อแจก คงมีอยู่ทุกปีและยังเป็นที่นิยมไม่เสื่อมคลาย ห้างร้านต่างประชันขันแข่งกันทำปฏิทินที่สวยงาม เพื่อสร้างความประทับใจให้ผู้รับ นอกจากนั้นหน่วยงานราชการบางแห่งก็ได้จัดพิมพ์ปฏิทินและสมุดบันทึกมอบแก่ข้าราชการ เช่น กระทรวงวัฒนธรรม กรมศิลปากร กระทรวงมหาดไทย เป็นต้น อีกทั้งยังมีการจัดประกวดปฏิทินที่ดี มีประโยชน์ ได้รับความรู้อีกด้วย เช่น ปฏิทินเรื่อง เครื่องสิริราชกกุธภัณฑ์ (Royal Regalia) จัดทำโดยบริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้รับรางวัลสุริยศศิธร ของสมาคมนักประชาสัมพันธ์แห่งประเทศไทย ในฐานะผู้ออกแบบปฏิทินดีเด่นประจำปี ๒๕๓๙ ชนิดแขวน ประเภท เทิดพระเกียรติสถาบันพระมหากษัตริย์สมุดบันทึกประจำวัน           พระนิพนธ์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ จาก “อนุทิน ฤๅสมุดสำหรับจดหมายรายวัน ในพระพุทธศักราช ๒๔๗๑” บทนี้ ทำให้ทราบถึงจุดประสงค์ของสมุดบันทึกประจำวัน หรือไดอารี หรือที่พระองค์ทรงเรียกว่า อนุทิน ได้เป็นอย่างดี           สมุดบันทึกประจำวัน หรือ ไดอารี (diary) หรืออนุทิน เป็นปฏิทินเล่มแบบหนึ่ง โดยเว้นพื้นที่สำหรับการจดบันทึกในแต่ละวันให้มากขึ้น หรือบางเล่มผู้ผลิตใช้เพียงกระดาษเปล่าโดยไม่มี วัน เดือน ปี แล้วเย็บเข้าเล่มเท่านั้น เพื่อใช้ในการจดบันทึกต่าง ๆ สมุดบันทึกประจำวันแบบนี้มีผู้นิยมใช้ทั้งพระราชวงศ์ พระสงฆ์ และบุคคลทั่วไป           อนึ่ง ก่อนที่จะมีสมุดบันทึกประจำวันที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้ ยังมีสมุดบันทึกอีกชนิดหนึ่งที่มีการจดเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามความคิดของผู้บันทึก เรียงตามลำดับ วัน เดือน ปี จึงนับว่าการบันทึกชนิดนี้เป็นสมุดบันทึกประจำวันด้วย สมุดบันทึกที่คนไทยสมัยโบราณใช้บันทึกเหตุการณ์บ้านเมือง และเรื่องเฉพาะตน ได้แก่ หมวดพระราชวงศ์ จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว หมวดพระสงฆ์ หมวดข้าราชการ ปฏิทิน: ของขวัญปีใหม่   ในช่วงเทศกาลปีใหม่ ประชาชน หน่วยงานภาครัฐ และองค์กรเอกชนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการจัดงานบันเทิงรื่นเริงและมหรสพที่หลากหลายรูปแบบ ในช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยเริ่มมีกระแสความนิยมจัดกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปีในวันที่ ๓๑ ธันวาคม เวลาประมาณ ๒๒.๐๐ น. ถึง ๐๐.๓๐ น.ของวันที่ ๑ มกราคม มีทั้งการสวดมนต์ที่บ้าน การสวดมนต์หมู่ตามวัดต่าง ๆ และศาสนสถานในศาสนาอื่นทั่วประเทศ ตามหลักศาสนบัญญัติของศาสนานั้น ๆ ซึ่งกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม ได้ริเริ่มจัดมาตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๔๘ ประกอบด้วย การทำบุญ รักษาศีล เจริญจิตตภาวนา ปฏิบัติธรรม ฟังพระธรรมเทศนา ร่วมพิธีเจริญพระพุทธมนต์ ลั่นฆ้องชัยต้อนรับปีใหม่ในวันที่ ๑ มกราคม เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช พระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ และสวดมนต์ให้ประเทศไทย ประชาชน ครอบครัว พร้อมทั้งตนเองให้มีความสุขตลอดปีใหม่ ตลอดจนเป็นแรงจูงใจให้ประชาชนลด ละ เลิกอบายมุขในเทศกาลปีใหม่ กิจกรรมการนับถอยหลังเข้าสู่วินาทีแรกในการขึ้นศักราชใหม่ซึ่งเป็นธรรมเนียมของชาติทางตะวันตก ภายหลังเริ่มเป็นที่นิยมทำกันอย่างแพร่หลายและยิ่งใหญ่มากขึ้น โดยประชาชนรวมตัวกันร่วมนับถอยหลังเข้าสู่วินาทีแรกของปีใหม่มีการจุดพลุดอกไม้ไฟ ร้องเพลง และสิ่งบันเทิงอื่น ๆ ที่สร้างความสนุกสนาน วันที่ ๑ มกราคม ของทุกปีอันถือเป็นวันขึ้นปีใหม่วันแรกของปี สำหรับประชาชนชาวไทยที่ส่วนใหญ่เป็นพุทธศาสนิกชนนิยมทำบุญตักบาตร เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตสำหรับการเริ่มต้นชีวิตใหม่ในศักราชใหม่ ยังเป็นการแสดงออกถึงการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้อยู่คู่กับสังคมไทย กิจกรรมทางศาสนา การจัดงานบันเทิงรื่นเริงและมหรสพ การจัดพิมพ์สมุดภาพ ภาพชุด และแผ่นภาพมรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติ   การส่งมอบความสุขและความปรารถนาดีให้แก่กันในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ทุก ๆ ปี กรมศิลปากรในฐานะผู้ปฏิบัติงานด้านวัฒนธรรม ได้ส่งความสุขปีใหม่ด้วยการพิมพ์สมุดภาพ (สมุดบันทึกประจำวัน) ภาพชุด (ปฎิทินตั้งโต๊ะ) และแผ่นภาพมรดกศิลปวัฒนธรรม (ส.ค.ส.) เพื่อส่งความระลึกถึงแก่ข้าราชการ พนักงาน และผู้ปฏิบัติงานภายใต้กรมศิลปากรทั่วประเทศ โดยเนื้อหาสาระของเรื่องดังกล่าวเป็นองค์ความรู้ของกรมศิลปากรด้านต่าง ๆเพื่อผู้สนใจจะได้รับความรู้ ความเข้าใจถึงความสำคัญของมรดกศิลปวัฒนธรรม อันนำไปสู่ความศรัทธาเลื่อมใสและตระหนักในคุณค่าของมรดกวัฒนธรรมที่บรรพชนได้สร้างสรรค์ไว้ สมุดบันทึกของกรมศิลปากร ปฏิทินของกรมศิลปากร   เพลงพรปีใหม่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบรพิตร ทรงพระราชนิพนธ์ในเดือนธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๙๔ เมื่อเสด็จนิวัตพระนคร มีพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานพรปีใหม่แก่บรรดาพสกนิกรไทยด้วยเพลง และทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องเป็นคำอวยพรปีใหม่ แล้วพระราชทานแก่วงดนตรี ๒ วง คือ วงดนตรีนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำออกบรรเลง ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวงดนตรีสุนทราภรณ์ นำออกบรรเลง ณ ศาลาเฉลิมไทย ในวันปีใหม่ วันอังคารที่ ๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๙๕ สวัสดีวันปีใหม่พา                    ให้บรรดาเราท่านรื่นรมย์ฤกษ์ยามดีเปรมปรีดิ์ชื่นชม         ต่างสุขสมนิยมยินดีข้าวิงวอนขอพรจากฟ้า              ให้บรรดาปวงท่านสุขศรีโปรดประทานพรโดยปรานี         ให้ชาวไทยล้วนมีโชคชัยให้บรรดาปวงท่านสุขสันต์          ทุกวันทุกคืนชื่นชมให้สมฤทัยให้รุ่งเรืองในวันปีใหม่                ผองชาวไทยจงสวัสดีตลอดปีจงมีสุขใจ                     ตลอดไปนับแต่บัดนี้ให้สิ้นทุกข์สุขเกษมเปรมปรีดิ์       สวัสดีวันปีใหม่เทอญ    

ภาพตัวอย่าง

ช้างมงคล

นิทรรศการ “ช้างมงคล”   ต้นกำเนิดของช้าง มีเรื่องราวกล่าวไว้อย่างพิสดาร จัดเป็นสิ่งที่มหัศจรรย์อย่างหนึ่งตามความเชื่อในลัทธิศาสนาพราหมณ์ กับยังมีบันทึกเรื่องราวไว้เป็นตำรา ปรากฏเป็นศาสตร์ที่สำคัญแขนงหนึ่งของประเทศอินเดียที่มีมาแต่โบราณ คือ ตำรา คชศาสตร์ มีเนื้อหากล่าวไว้ถึงกำเนิดของช้าง ๔ ตระกูล ดังนี้             ในไตรดายุคหนึ่ง ขณะที่พระวิษณุ หรือ พระนารายณ์บรรทมอยู่ ณ เกษียรสมุทร บังเกิดมีดอกบัวผุดขึ้นทางพระนาภีของพระองค์ ดอกบัวนั้นมี ๘ กลีบ ๑๗๓ เกสร พระวิษณุนำดอกบัวไปถวายพระอิศวรครั้งนั้นพระอิศวรแบ่งดอกบัวอันบังเกิดด้วยเทวฤทธิ์ของพระวิษณุออกเป็น ๔ ส่วน จัดเป็นส่วนของพระองค์เอง ๘ เกสร นอกนั้นแบ่งประทานแก่ พระพรหม ๘ กลีบ พร้อมกับเกสรอีก ๒๔ เกสร ประทานแก่พระวิษณุ ๘ เกสร และประทานแก่พระอัคนี ๑๓๓ เกสร เทพเจ้าทั้งสี่ได้เนรมิตดอกบัวในแต่ละส่วนของพระองค์ให้บังเกิดเป็นช้างขึ้นในโลก ปรากฏเป็นคชพงศ์ หรือ ช้างตระกูลต่าง ๆ ๔ ตระกูล แต่ละตระกูลมีชื่อตามนามเทพเจ้าผู้เนรมิตให้บังเกิดขึ้น คชพงษ์ทั้ง ๔ ตระกูล เมื่อได้กำเนิดขึ้นแล้ว ต่างก็มีรูปร่างลักษณะ อุปนิสัย และส่วนอื่นๆ ของร่างกาย เป็นไปตามฤทธิ์และอำนาจที่ได้รับถ่ายทอดมาจากเทพเจ้าผู้เนรมิตให้บังเกิดขึ้น   คำศัพท์เรียกส่วนต่างๆ ของช้าง             เป็นช้างที่พระอิศวรเนรมิตให้บังเกิดขึ้น ในคัมภีร์คชลักษณ์กล่าวว่าเมื่อพระอิศวรโยนเกสรดอกบัวทั้งแปดในส่วนของพระองค์บนพื้นโลกแล้วเนรมิตให้บังเกิดเป็นช้าง ๘ หมู่ เรียกว่า อัฐคชาธาร เป็นช้างศุภลักษณ์วรรณะกษัตริย์ สมบูรณ์ด้วยลักษณะแห่งวรรณะ กล่าวคือ มีผิวหนังละเอียด เกลี้ยง สดใส มีขนสีเดียวกับสีตัว สีดำสนิทเสมอกันตลอดตัว หน้าใหญ่ น้ำเต้ากลม โขมดสูง ขมับเต็มไม่พร่องเสมอกันทั้ง ๒ ข้าง กระบอกตาใหญ่และงาม ใบหูใหญ่ ระบายหูอ่อนนุ่ม หูข้างขวามีขนมากกว่าข้างซ้าย คอกลม งวงเรียวเป็นต้นเป็นปลาย งาทั้งคู่ใหญ่เสมอกันและงอนขึ้นอยู่ในระดับเดียวกัน สนับงา มี ๒ ชั้น ปากรีมีรูปปากเหมือนปากหอยสังข์ อกใหญ่ ขาทั้งสี่ใหญ่เรียวดูอ่อน มีรอยรัดข้อเท้า ฝักบัวกลม หางเป็นข้อห่างๆ ช่อม่วง ยาวเอียงไปทางขวา ผนดท้องตามวงหลัง ส่วนหน้าสูงกว่าท้าย เมื่อเดินยกคอหลังโค้งขึ้นเล็กน้อยเป็นคันธนู ท้ายเป็นสุกร ทุกส่วนของร่างกายงามพร้อม           อัฐคชาธารทั้ง ๘ หมู่ นอกจากจะมีลักษณะเฉพาะตามคชลักษณ์ของคชชาติอิศวรพงศ์แล้วยังมีชื่อและลักษณะเฉพาะตัวของแต่ละหมู่ ดังต่อไปนี้           ๑. อ้อมจักรวาล มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่มีงาซ้ายตรงยาวเสมอหน้างวง งาขวายาวกว่างาซ้าย และปลายงาอ้อมผ่านงวงมาทับอยู่บนงาซ้ายเล็กน้อย เป็นช้างที่มีความกล้าหาญยิ่ง         ๒. กัณฑ์หัตถี หรือ คชกรรณหัสดี บางตำราใช้ชื่อว่า กันหัศ มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่งาช้างซ้ายอ้อมผ่านเหนืองวงไปด้านขวาปลายงางอนขึ้นตรงไพรปากข้างขวา ส่วนงาอ้อมผ่านเหนืองวงไปด้านซ้าย ปลายงางอนขึ้นตรง ไพรปากข้างซ้าย ปลายงาที่งอนขึ้นทั้ง ๒ ข้าง อยู่ในระดับเดียวกันเป็นลักษณะงากอดงวง เป็นช้างที่มีพลานุภาพมากชนะแก่ศัสตราวุธทุกชนิด และชนะแก่ศัตรูทั้งปวง         ๓. เอกทันต์ มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่มีงาเดียวงอกออกจากเพดานใต้งวง เมื่อยกงวงไปเบื้องซ้าย งาจะอยู่ทางขวา ถ้ายกงวงไปเบื้องขวา งาจะอยู่ทางซ้าย เป็นช้างที่มีกำลังมาก เป็นพาหนะของพระอินทร์ เทวดาชื่อ “คชนาค” ได้นำช้างนี้ไปไว้ที่ป่าวรรณวิหารมิได้มาอยู่ที่เมืองมนุษย์จึงไม่มีใครเคยพบเห็น         ๔. กาฬวกะหัตถี หรือ กาฬทันต์หัตถี บางตำราเรียกว่า “กาลหัตถี” มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่ทุกส่วนของร่างกายมีสีดำ คือ ตัวดำ ขนดำ ตาดำ งาดำ และเล็บดำ เป็นช้างที่ห้าวหาญปราบศัตรูให้ราบคาบมีชัยชนะทุกเมื่อ         ๕. จตุรศก หรือ จัตุศก มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่งาทั้งสองข้าง มีต้นงากลมแล้วแยกออกเป็นข้างละ    ๒ งา ทั้งซ้ายและขวา รวมเป็น ๔ งา เป็นช้างที่เข้มแข็ง กล้าหาญ สามารถปราบศัตรูได้ทั้งปวง         ๖. ทันตรำพาน หรือ โรมทันต์ บางตำราเรียกว่า “พทันตรภาร” มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่มีต้นงาซ้ายและงาขวาไขว้กันอยู่ กล่าวคือ ต้นงาขวาทับอยู่เหนือต้นงาซ้าย ทำให้ปลายงาขวางอนออกไปทางซ้าย ส่วนปลายงาซ้ายงอนออกไปทางขวา เป็นช้างที่กล้าหาญยิ่ง คุ้มกันโทษภัยทั้งปวงแม้เพียงได้เห็นศัตรูก็ยอมแพ้          ๗. สีหชงค์ หรือ สิงหชงฆ์ มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่ขาคู่หน้าสูงกว่าขาคู่หลัง แข้งกลม เรียวแข็งประดุจสิงหราช เป็นช้างที่เข้มแข็ง ห้าวหาญยิ่ง         ๘. จุมปราสาท มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่ปลายงาทั้งซ้ายและขวามีสีแดง และมีรัศมี ประดุจแสงแก้ว เป็นช้างที่มีฤทธิ์เดชและอำนาจยิ่ง           ในคัมภีร์คชลักษณ์กล่าวว่า เมื่อพระพรหมได้รับกลีบดอกบัวและเกสรจากพระอิศวรแล้ว ได้โยนกลีบดอกบัวทั้ง ๘ ลงบนพื้นโลก เนรมิตให้บังเกิดเป็นช้าง ๘ หมู่ให้อยู่ประจำตามทิศต่าง ๆ ทั้ง ๘ ทิศเรียกว่า คชอัฐทิศ ส่วนเกสรดอกบัวได้มอบให้นางเทพอัปสร มหาอุปากาลี หรือบางตำราว่า ชื่อ มหาอุปกาสี เป็นเทพอัปสรที่พระอิศวรสาปให้ลงมาอยู่ในถ้ำเทวีสินทรบรรพตในป่าหิมวันต์ ขณะที่นางอาศัยอยู่ในถ้ำนั้น ได้กินเถาคชลดาวัลย์เป็นอาหาร เมื่อพระพรหมประทานเกสรดอกบัวให้นางแล้ว นางได้เนรมิตให้บังเกิดบุตรเป็นช้างตระกูลพรหมพงศ์ ๑๐ หมู่           ช้างตระกูลพรหมพงศ์ทุกหมู่ล้วนมีลักษณะเฉพาะตระกูลพรหมพงศ์ คือ เป็นช้างศุภลักษณ์ วรรณะพราหมณ์ สมบูรณ์ด้วยลักษณะแห่งวรรณะ กล่าวคือ มีผิวหนังละเอียดอ่อน ขนเส้นเล็กละเอียดอ่อนเรียบและยาวงอกขึ้นขุมละ ๒ เส้น สีขนมีสีเดียวกับสีตัว ขนหู ขนตา ขนปาก และขนหลังยาวมีกระขาวประดุจดอกกรรณิการ์ทั่วตัว หน้าใหญ่ น้ำเต้าแฝดโขมดสูง นัยน์ตางามใสประดุจแก้ว คิ้วสูง งวงเรียวเป็นต้นเป็นปลาย และสั้น ดูงดงาม งายาวใหญ่สมส่วน สีเหลืองประดุจสีดอกจำปา อกใหญ่สีขาว เท้าทั้ง ๒ ข้าง ใหญ่เรียว มีรอยรัดข้อเท้า ฝักบัวกลม ขณะยืนส่วนหน้าสูงกว่าส่วนท้าย ทุกส่วนของร่างกายงามพร้อม           คชอัฐทิศ เป็นช้าง ๘ หมู่ อยู่ประจำทิศทั้ง ๘ ช้างทุกหมู่ต่างมีลักษณะเฉพาะตระกูลพรหมพงศ์ดังกล่าวมาข้างต้นแล้ว ทั้งยังมีลักษณะเฉพาะตัวเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละหมู่อีกด้วย ดังต่อไปนี้         ๑. ไอราพต เป็นช้างประจำทิศบูรพา มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่สีกายประดุจสีเมฆเมื่อครึ้มฝน รูปร่างสูงใหญ่กว่าช้างทั้งปวง นัยน์ตาใหญ่แวววาวประดุจดาวประกายพรึก งาทั้งคู่ใหญ่ยาวงอนขึ้นเบื้องขวา งวงดั่งนาคราช ใบหูทั้ง ๒ ข้างกว้าง ปลายใบหูยาวและอ่อนเมื่อปรบไปเบื้องหน้าและเบื้องหลัง ปลายใบหูจรดถึงกัน โขมดสูงงาม หลังราบ งามประดุจคันธนู เท้าทั้ง ๔ กลมดั่งกงจักร มีเล็บเสมอกันทุกเล็บ หางบังคลอง ส่วนหน้าสูง ส่วนท้ายต่ำอย่างราชสิงหราช เมื่อร้องมีเสียงประดุจเสียงสังข์         ๒. บุณฑริก เป็นช้างประจำทิศอาคเนย์ มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่สีกายขาวบริสุทธิ์ประดุจดอกบัวหลวง หรือสีของเถ้าไม้หลัว (ขี้เถ้าไม้ฟืน) มีกลิ่นตัวหอมประดุจดอกบัวสัตตบงกช บางตำราว่า ดอกบัวสัตตบุษย์เหี่ยว ศีรษะใหญ่ งาใหญ่สั้นมีสีดั่งสีสังข์ หรือสีวัวเผือก บางตำราว่า สีผ้าขาวอันงามบริสุทธิ์ เล็บงามสีขาวนวลดั่งทอง ผนดท้องสีดุจเมฆฝนเมื่อใกล้จะตก         ๓. พราหมณ์โลหิต เป็นช้างประจำทิศทักษิณมีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่สีกายแดงงาม บริสุทธิ์ประดุจสีโลหิต นัยน์ตางาม คอกลม งาใหญ่ รูปร่างใหญ่แต่เตี้ย เมื่อร้องมีเสียงดังประดุจเสียงแตรกาหล เป็นช้างที่มีกำลังกล้าแข็งห้าวหาญยิ่ง         ๔. กุมุท หรือ กระมุท เป็นช้างประจำทิศหรดี มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่สีกายประดุจสีดอกกุมุท หรือดอกบัวสายสีขาว งามบริสุทธิ์ รูปร่างสูงใหญ่ ตัวยาวกลม ใบหูอ่อน งายาวงอนขึ้นเหมือนวงเดือนเมื่อขึ้น ๓ ค่ำ      เมื่อร้องมีเสียงดังเสียงแตร เป็นช้างที่มีความห้าวหาญยิ่ง         ๕. อัญชัน หรือ อังชัน เป็นช้างประจำทิศประจิม มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่สีกายเขียวประดุจสีดอกอัญชัน งามบริสุทธิ์ บางตำราว่าสีเขียวประดุจสีภูเขาอันงามบริสุทธิ์ยิ่ง ศีรษะใหญ่ คอใหญ่ งาใหญ่ตรง เมื่อร้องมีเสียงประดุจลมพัดเข้าในปล้องไม่ไผ่ ไพเราะหนักหนา มีกำลังกล้าแข็งห้าวหาญยิ่ง         ๖. บุษปทันต์ เป็นช้างประจำทิศพายัพ มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่สีกายประดุจสีหงษบาท หรือสีหมากสุก ผิวเนื้อละเอียด มีกระที่หน้า หน้าใหญ่ ตัวใหญ่งาม งาน้อยงอนขึ้นเบื้องขวา มีสีขาวงามบริสุทธิ์ประดุจสีสังข์ และที่เป็นสีดั่งดอกกุมุทก็มี เมื่อร้องมีเสียงดังประดุจเสียงฟ้าร้อง หรือฟ้าคำรามในฤดูฝน เป็นช้างที่มีความกล้าหาญ มีกำลังอำนาจมาก         ๗. เสาวโภม หรือ สารวภูม เป็นช้างประจำทิศอุดร มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่สีกายเขียวบริสุทธิ์ประดุจสีหญ้าแพรกอ่อน บางตำราว่ามีสีเขียวประดุจสีใบตองแก่ รูปร่างสูงใหญ่ หน้าใหญ่ ลำตัวยาวกลมเหมือนใส่เสื้อรัดรูป นัยน์ตาดำ งามีขนาดเล็กยาว เท้าทั้งสี่มีสีดั่งตองอ่อน มีกระสีแดงงามบริสุทธิ์ทั่วตัว เมื่อร้องมีเสียงดังประดุจเสียงนกกระเรียน เป็นช้างที่มีกำลังมากและกล้าหาญยิ่ง         ๘. สุประดิษฐ์ หรือ สุบันดิษ เป็นช้างประจำทิศอีสาน มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่สีกายดังสีเมฆเมื่อเวลาสนธยา บางตำราว่ามีสีแดงดั่งสีปัทมราค หรือสีดอกบัวหลวงแดงบริสุทธิ์ ผนดท้องมีรอยย่นเป็นปล้องขวางลำตัวประดุจท้องงู งาตรงยาวปลายงางอนขึ้นมีสีขาว บางตำราว่ามีขนปากยาวอัณฑโกษอ่อน เต้ามันอ่อน เมื่อร้องมีเสียงดังประดุจเสียงฟ้าร้อง             ช้าง ๑๐ หมู่ เมื่อบังเกิดขึ้นแล้วต่างก็มีลักษณะเฉพาะตระกูลพรหมพงศ์ ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้นและยังมีลักษณะเฉพาะตัวที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละหมู่ด้วย คือ         ๑. ฉัททันต์ มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่สีกายขาวประดุจสีเงินบริสุทธิ์ งามีสีขาวดั่งสีเงินยวง มีรัศมีเป็นประกาย ๖ สาย งวงมีสีแดง หางแดง เล็บแดง สันหลังสีแดงประดุจดังบัลลังก์ศิลาอันแดง ร่างกายงามพร้อมด้วยสรรพสิริอันเป็นมงคลยิ่ง เป็นช้างที่มีกำลังมาก สามารถเดินในจักรวาลระยะทางสามล้านหกแสนหมื่นสามร้อยห้าสิบโยชน์ ไปแต่เช้าและกลับมาถึงที่เดิมได้อย่างรวดเร็วไม่ทันสาย บางตำราว่าไม่ทันถึงสามนาทีก็มาถึง และไม่เหนื่อยแม้แต่น้อย         ๒. อุโบสถ มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่สีกายเหลืองประดุจสีทองอุไร รูปร่างสูงใหญ่งามพร้อมด้วยสรรพสิริสมบูรณ์ยิ่ง มีกำลังแข็งแรงมาก สามารถเดินในจักรวาลระยะทางสามล้านหกแสนหมื่นสามร้อยห้าสิบโยชน์ ไปแต่เช้าและกลับมาถึงที่เดิมได้ภายในเวลาเที่ยงก็ยังไม่เหนื่อย แต่กำลังน้อยกว่าช้างฉัททันต์ ๑๐ เท่า         ๓. เหมหัตถี หรือ เหมหัสดี มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่สีกายเหลืองดั่งสีทอง รูปร่างสูงใหญ่ มีกำลังมากแต่น้อยกว่าช้างอุโบสถ ๑๐ เท่า         ๔. มงคลหัตถี มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่สีกายดำดั่งไม้กฤษณา บางตำราว่าสีน้ำเงินเข้มจนเกือบดำ หรือดำดั่งสีดอกอัญชัน กลิ่นตัวและมูลมูตรหอมดั่งกลิ่นไม้กฤษณา รูปร่างสูงใหญ่ มีกำลังมากแต่น้อยกว่าช้างเหมหัตถี   ๑๐ เท่า         ๕. คันธหัตถี มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่สีกายดำดุจไม้กฤษณา กลิ่นตัว และมูลมูตรหอมดั่งกลิ่นสุคนธรส รูปร่างสูงใหญ่งาม มีฤทธิ์กล้าหาญและมีกำลังมาก แต่น้อยกว่าช้างมงคลหัตถี ๑๐ เท่า         ๖. ปิงคัล หรือ ปิงคันหัสดินทร์ หรือ บังคัล มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่สีกายเหลืองอ่อนดั่งสีดวงตาของแมว รูปร่างสูงใหญ่งดงาม มีกำลังกล้าแข็งแต่น้อยกว่าช้างคันธหัตถี ๑๐ เท่า         ๗. ตามพหัตถี หรือ ตามพะหัสดี หรือ ตามหัตถี มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่สีกายแดงประดุจสีทองแดง หรือสีทอง อันบุคคลหล่อน้ำใหม่ รูปร่างสูงใหญ่ มีฤทธิ์เดชมากแต่กำลังน้อยกว่าช้างปิงคัล ๑๐ เท่า         ๘. บัณฑร หรือ บรรนาเคนทร์ มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่สีกายขาวดั่งสีเงินยวง หรือสีของยอดเขาไกรลาส รูปร่างสูงใหญ่งามพร้อม มีฤทธิ์เดชห้าวหาญ แต่กำลังน้อยกว่าช้างตามพหัตถี ๑๐ เท่า         ๙. คังไคย หรือ คังไคยนาเคนทร์ มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่สีกายน้ำตาลอ่อน ดั่งสีน้ำคลอง หรือน้ำในแม่น้ำ รูปร่างสูงใหญ่งดงาม มีกำลังกล้าแข็งแต่กำลังน้อยกว่าช้างบัณฑร ๑๐ เท่า         ๑๐. กาลวกหัตถี หรือ กาลวกหัสดี หรือ กาลาวหัตถี มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่สีกายดำดั่งสีของปีกกา รูปร่างสูงใหญ่ มีกำลังห้าวหาญ แต่กำลังน้อยกว่าช้างคังไคย ๑๐ เท่า           ช้างอำนวยพงศ์ คัมภีร์คชศาสตร์กล่าวว่า เมื่อช้างบังเกิดขึ้นในโลกแล้ว โดยธรรมชาติมีการผสมกันระหว่างช้างอัฐทิศกับช้างหมู่อื่นๆ ยังให้บังเกิดเป็นช้างอีกกลุ่มหนึ่งในตระกูลพรหมพงศ์ มีจำนวน ๑๔ หมู่ เรียกว่า “ช้างอำนวยพงศ์” ซึ่งทุกหมู่ต่างก็มีลักษณะเฉพาะตระกูลพรหมพงศ์ดังกล่าวมาข้างต้นแล้ว และยังมีลักษณะเฉพาะตัวเป็นเอกลักษณ์ของหมู่อีกด้วย ดังต่อไปนี้         ๑. เมฆ กำเนิดจากพลายไอยราพตกับพังอพมุ ซึ่งสีกายดั่งสีหมอกเมฆ มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่สีกายเทาดำดั่งสีเมฆเทื่อครึ้มฝน มีงา ๔ งา เล็บขาวสดใส หางยาวจรดพื้นดิน         ๒. อำนวยสุประดิษฐ์ กำเนิดจากพลายบุณฑริกกับพังลิงคณะ ซึ่งสีกายเขียวอมเหลือง มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่สีกายสีแดง งาสั้น ผิวหนังละเอียด เล็บขาวนวลดั่งสีหวายตะค้า         ๓. นิลกะ หรือ นิลภ กำเนิดจากพลายพราหมณ์โลหิตกับพังกนิลา ซึ่งสีกายเหลือง มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่สีกายม่วงเข้มดุจสีดอกสามหาวโรย ลำตัวยาวใหญ่และกลม         ๔. ปิสลักส์ หรือ บิศลัก กำเนิดจากพลายพราหมณ์โลหิตกับพังกนิลา มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่สีกายแดงดั่งโลหิต ลำตัวกลม         ๕. มหาปัทมะ หรือ มหาปัท กำเนิดจากพลายกุมุท หรือ กระมุท กับพังอนูปักรมา ซึ่งสีกายแดงอ่อน มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่สีกายแดงดั่งดอกบัวสัตตบุษย์บาน ผิวเนื้อละเอียด         ๖. อุบลมาลี กำเนิดจากพลายกุมุท หรือ กระมุท กับ พังอนูปักรมา มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่สีกายเขียวดั่งสีก้านดอกบัวสัตตบุษย์         ๗. จบสระ หรือ จบตระ กำเนิดจากพลายกุมุท หรือ กระมุท กับพังอนูปักรมา มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่สีกายสีสำลาน (สีขาวอมชมพูอย่างสีผิวของควายเผือก)         ๘. อำนวยพงศ์ (ไม่ปรากฎนาม) กำเนิดจากพลายกุมุท หรือ กระมุท กับพังอนูปักรมา มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่มีกระดำทั่วกายแต่ดูงดงาม         ๙. นิล หรือ นิลชา กำเนิดจากพลายกุมุท หรือ กระมุท กับพังอนูปักรมา มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่สีกายดำ นัยน์ตาสีขาว งาขาว เล็บขาว         ๑๐. ปะระมาลี หรือ ประมาถี กำเนิดจากพลายอัญชัน หรือ อังชัน กับพังตามพะวรรณ ซึ่งสีกายทองแดง มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่สีกายสีน้ำเงินอ่อนดั่งสีท้องฟ้า         ๑๑. พสานิล หรือ ภสาร กำเนิดจากพลายบุษปทันต์กับพังสุภทันตี ซึ่งสีกายขาว มีขนาย (งาช้างพัง) ขาว เล็บขาว มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่สีกายขาวเหลืองอ่อน งาเหลืองดุจทองคำ         ๑๒. สาหะ หรือ สหสารสรรพ กำเนิดจากพลายบุษปทันต์กับพังสุภทันตี มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่สีกายขาวเจือเขียวอ่อน งาเหลืองดุจสีดอกบวบ         ๑๓. บุษปทันต์ กำเนิดจากพลายเสาวโภม หรือ สารวภูม กับพังลิงคณะ ซึ่งสีกายเขียวแก่ มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่สีกายแดงดั่งดอกบัวแดง ใบหน้ากว้างใหญ่ ลำตัวยาว กลมเกลี้ยง         ๑๔. สุประดิษฐ์ กำเนิดจากพลายสุประดิษฐ์กับพังอัญชนวดี ซึ่งสีกายดั่งสีดอกอัญชัน มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่สีกายเขียวดั่งสีหญ้าแพรก           เมื่อพระวิษณุได้รับประทานเกสรดอกบัวมาจากพระอิศวรแล้วได้โยนเกสรบัวทั้ง ๘ ลงบนพื้นโลก เนรมิตให้บังเกิดเป็นช้าง ๘ หมู่ นามว่า อัฐคช เป็นช้างศุภลักษณ์วรรณะแพศย์ สมบูรณ์ด้วยลักษณะแห่งวรรณะ กล่าวคือ ผิวหนังหนา สีขนสีเดียวกับตัว ขนเกรียน หน้าใหญ่ น้ำเต้ากลม โขมดใหญ่และงาม นัยน์ตาใหญ่สีขาวขุ่น คางใหญ่ คอใหญ่และสั้น อกใหญ่ งวงยาวเรียวเป็นต้นเป็นปลาย ตัวใหญ่สั้นและงาม หลังราบ หางยาวบังคลอง กระชั้นควาญงาม เท้าทั้ง ๔ ใหญ่ เรียว มีรอยรัดข้อเท้า ฝักบัวกลม มีกระละเอียดสีแดงเสมอกันบริเวณลำตัวและใบหู เมื่อร้องมีเสียงดังก้องกังวาน            อัฐคช เป็นช้าง ๘ หมู่ มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่วิษณุพงศ์ดังกล่าวข้างต้น และยังมีคชลักษณ์เฉพาะตัวเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละหมู่ ดังต่อไปนี้           ๑. สังขทันต์ มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่สีกาย เหลืองงามบริสุทธิ์ดั่งสีทองคำเนื้อนพคุณ งาเล็กสีขาวงามบริสุทธิ์และงอนขึ้นเบื้องขวา เมื่อร้องเวลาเช้าเสียงดังประดุจเสือ แต่เวลาสายัณห์เสียงร้องดังประดุจเสียงไก่         ๒. ตามพหัสดินทร์ หรือ ตามพะหัสดิน มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่สีกายแดงประดุจสีทองแดงอันหม่น ห้าวหาญยิ่ง         ๓. ชมลบ หรือ ชมลพ มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่ปลายใบหูตอนบนยาว เมื่อปรบไปเบื้องหน้าจะจรดถึงกัน         ๔. ลบชม หรือ ลพชม มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่ปลายใบหูตอนบนยาว เมื่อปรบไปเบื้องหลังจะจรดถึงกัน          ๕. ครบกระจอก หรือ ครบกจอก มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่หู หางและเล็บ งามพร้อม โดยเฉพาะเล็บมีเท้าละ ๕ เล็บ ทั้ง ๔ เท้า         ๖. พลุกสะดำ หรือ พลุกสดำ มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่งางอนขึ้นเบื้องขวา         ๗. สังขทันต์ มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่สีกายดำสนิทไม่มีสีอื่นปน งาสีขาวดุจสีสังข์แลดูงามพร้อม         ๘. โคบุตร มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่สีกายเหลืองดังสีโค งางอนขึ้นเล็กน้อย หางกลม มีขนหางขึ้นรอบดุจหางโค เสียงร้องประดุจเสียงโคอุสุภราชไพเราะยิ่งนัก มีฤทธานุภาพห้าวหาญ ผจญเภทภัยและศัตรูแผ่นดินได้ทั้งปวง เป็นมหามงคลแก่พระเจ้าแผ่นดิน หรือผู้พบเห็น จะเจริญด้วยยศ มีบริวารเป็นอันมาก บางตำรากล่าวว่า ช้างนี้เกิดจากแม่โคซึ่งกินเชือกเขา (เถาวัลย์) หัตถีลดาอันมีในถิ่นที่ช้างเผือกอาศัยอยู่ แม่โคนั้นตั้งครรภ์นาน ๓ ปี จึงตกลูกเป็นช้างโคบุตรนี้             เมื่อพระอัคนีได้รับประทานเกสรดอกบัวจากพระอิศวรแล้ว ได้โยนเกสรดอกบัวทั้งหมดลงบนพื้นโลก เนรมิตให้บังเกิดเป็นช้างวรรณะศูทร โดยแบ่งส่วนเกสรจำนวน ๔๗ เกสรให้ บังเกิดเป็นคชชาติอัคนิพงศ์ศุภลักษณ์ ๔๗ หมู่เกสรดอกบัวอีก ๘๑ เกสร ให้บังเกิดเป็นคชชาติอัคคนิพงศ์ทุรลักษณ์ หรืออัปลักษณ์ ๘๑ หมู่ ส่วนเกสรดอกบัวที่เหลือก็เนรมิตให้บังเกิดเป็นคชชาติอัคนิพงศ์ทุรโทษ ๕ หมู่ และอัคคนิพงศ์ลหุโทษ ๗ หมู่ แต่ละหมู่มีลักษณะเฉพาะดังต่อไปนี้           คชชาติอัคนิพงศ์ศุภลักษณ์ เป็นช้างที่สมบูรณ์ด้วยลักษณะแห่งวรรณะ กล่าวคือ มีผิวหนังกระด้าง เส้นขนหยาบ ขนมีสีเดียวกับสีตัว หน้าเป็นกระเล็กๆ สีแดงเสมอกันเหมือนแววนกยูงดูงดงาม หน้างวงแดง ปากแดง นัยน์ตาสีน้ำผึ้ง หูแดง ตะเกียบหูห่าง ขนหูหยาบ งาสีแดงเรื่อ ๆ สันหลังแดง หางสั้นเขิน เท้าทั้ง ๔ ข้างใหญ่เรียว มีรอยรัดข้อเท้า ฝักบัวกลม เส้นขนหางกลมละเอียดดูงาม สีกายหม่น ไม่ดำสนิท ช้างอัคนิพงศ์ศุภลักษณ์ทั้ง ๔๗ หมู่ นอกจากจะมีลักษณะ เฉพาะหมู่แล้ว ยังมีลักษณะพิเศษของแต่ละหมู่อีกด้วย ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้         ๑. ประพัทจักรวาฬ หรือ พัทจักรวาล หรือ พระพัทจักรภาฬ มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่เวลาเดินเชิดงวงขึ้นเหนือกระพองศีรษะ เรียกกันเป็นสามัญว่า เดินบังเมฆ         ๒. พระอุธรดุม หรือ พระอธรดุม มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่รูปร่างสูงใหญ่ อกใหญ่ สวยงาม มีกำลังแรง กล้าหาญองอาจยิ่ง         ๓. รัตนกุมพล หรือ รัตนกัมพล มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่ปลายงาขวาซ้อนทับอยู่เหนือปลายงาซ้ายเป็นลักษณะประสานกัน เป็นช้างที่มีคุณเป็นอันมาก คุ้มโทษภัยต่าง ๆ ได้ หากคล้องช้างโทษได้ ๑๐๐๐ ตัว เพียงได้รัตนกุมพลตัวเดียวก็พ้นโทษภัยทั้งปวง แม้จะประสมโขลงก็หาโทษมิได้         ๔. เศวตพระพร หรือ เสวตพพร มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่สีกายขาวบริสุทธิ์ประดุจสีสังข์ ขนขาว นัยน์ตาสีขาว หางขาว และเล็บขาว รูปร่างสูงใหญ่ เรียกกันเป็นสามัญว่า ช้างเผือกสีสังข์         ๕. ประทุมหัสดี หรือ ประทุมหัตถี มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่สีกาย ขน หาง และเล็บ มีสีแดงประดุจดอกบัวหลวงโรย งามบริสุทธิ์ (งามปลอด) นัยน์ตาสีขาวบริสุทธิ์ เรียกกันเป็นสามัญว่า ช้างเผือกโท         ๖. เศวตาคชราช หรือ เสวตพระคชราช หรือ เสวตพระคชสาร มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่สีกาย ขน หาง และเล็บ มีสีประดุจใบตองอ่อนแห้ง นัยน์ตาสีขาวบริสุทธิ์ เรียกกันเป็นสามัญว่า ช้างเผือกตรี         ๗. ประทุมทันต์ หรือ มณีจักรราชาเนียมเอก มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่ทุกส่วนของร่างกายสั้น แต่ดูงาม งางอกพ้นจากไพรปากสั้นเพียง ๒ นิ้ว เมื่อยกงวงขึ้นจึงเห็นงามีรูปดังจาวมะพร้าว กล้าหาญยิ่ง เรียกกันเป็นสามัญว่า ช้างเนียมเอก         ๘. ประทุมทนต์ หรือ มณีจักรราชาเนียมโท มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่ทุกส่วนของร่างกายสั้น แต่งดงาม งางอกพ้นจากไพรปากสั้นเพียง ๕ นิ้ว มีรูปดั่งไข่ไก่ กล้าหาญยิ่ง เรียกกันเป็นสามัญว่า ช้างเนียมโท         ๙. ประทุมทันต์มณีจักร หรือ มณีจักรราชาเนียมตรี มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่ทุกส่วนของร่างกายสั้นแต่ดูงาม งางอกพ้นจากไพรปากเพียง ๕ นิ้ว งามีรูปดั่งปลีกล้วย กล้าหาญยิ่ง เรียกกันเป็นสามัญว่า ช้างเนียมตรี         ๑๐. นพสุบัณ หรือ นพสบรร มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่มีอวัยวะ ๙ ส่วนของร่างกายยาวจรดพื้นดิน ได้แก่ งวง งาทั้งสอง หาง อัณฑโกษ และเท้าทั้งสี่ รูปร่างสง่างาม กล้าหาญยิ่ง เรียกกันเป็นสามัญว่า ช้างเก้าเท้า         ๑๑. ปิตหัสดินทร์ หรือ ปีตหัษดีนทร์ หรือ บิตหัสดินทร์ มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่สีกายเหลืองงามบริสุทธิ์ งาขาวดั่งสีสังข์งอนขึ้นเบื้องขวา เรียกกันเป็นสามัญว่า ช้างตัวเหลือง         ๑๒. พิฆเนศวรมหาพินาย หรือ พิคเนศวรมหาพินาย หรือ พิษเนศวรมหาวินาย มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่มีงาซ้ายข้างเดียวมาแต่กำเนิด นัยน์ตาสีขาว เล็บขาว มีฤทธิ์เดชมาก เรียกกันเป็นสามัญว่า ช้างทอกซ้าย หรือช้างงาเดียวซ้าย         ๑๓. เทพามหาพิเนฆมหาไพฑูริย์ หรือ พระมหาวิเนกมหาไพทูน หรือ หักกรมเทพา พระมหาวิเนก มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่มีงาขวาข้างเดียวมาแต่กำเนิด นัยน์ตาสีขาว เล็บขาว หางดอก มีกำลังอานุภาพมาก  ผู้ใดหรือเมืองใดมีไว้ก็เป็นมงคล ถ้าพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใดได้ไว้ทอดพระเนตรเป็นนิจจะเกิดมงคลยิ่ง เรียกกันเป็นสามัญว่า ช้างทอกโทน หรือช้างงาเดียว         ๑๔. นิลทันต์ มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่งาทั้งสองมีสีดำสนิท กล้าหาญแข็งแรงยิ่ง         ๑๕. นิลจักษุ มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่สีกายดำสนิท นัยน์ตาทั้งคู่มีสีดำ กล้าหาญและเป็นมงคลยิ่ง         ๑๖. นิลนัข หรือ นิลนักขา มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่เล็บทั้ง ๔ เท้ามีสีดำสนิทประดุจสีนิล งามบริสุทธิ์         ๑๗. เหมทันต์ หรือ เหมทันต มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่งาทั้งคู่สีเหลืองงามบริสุทธิ์ เรียกกันเป็นสามัญว่า ช้างงาเหลือง         ๑๘. เหมจักษุ มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่นัยน์ตาทั้ง ๒ ข้างเหลืองงามบริสุทธิ์ เรียกกันเป็นสามัญว่า   ช้างตาเหลือง         ๑๙. เหมนัข หรือ เหมนักขา มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่เล็บทั้ง ๔ เท้าเหลืองงามบริสุทธิ์ เรียกกันเป็นสามัญว่า ช้างเล็บเหลือง         ๒๐. รัตจักษุ มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่นัยน์ตาทั้งคู่สีแดงเหมือนแก้วมณี กล้าหาญ แข็งแรง ออกศึกมีชัยชนะทุกเมื่อ เรียกกันเป็นสามัญว่า ช้างตาแดงหรือช้างแดง         ๒๑. มณีรัตนนัข หรือ รัตนนักขา มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่เล็บทั้ง ๔ เท้า สีขาวใสดังแก้ว รวมทั้งข้อเท้าทั้ง ๔ ข้างก็ขาวบริสุทธิ์ด้วย เรียกกันเป็นสามัญว่า ช้างเล็บขาว         ๒๒. รัตนัข หรือ รัตนักขา มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่เล็บทั้ง ๔ เท้า สีแดงดุจแก้วมณี เรียกกันเป็นสามัญว่า ช้างเล็บแดง         ๒๓. เศวตทันต์ หรือ เสวตรทันต มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่งาทั้งคู่สีขาวบริสุทธิ์ดังสีสังข์ไม่มีไรงาแม้แต่น้อย เรียกกันเป็นสามัญว่า ช้างงาขาว         ๒๔. เศวตจักษุ หรือ เสวตรจักษุ มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่นัยน์ตาทั้งคู่สีขาวบริสุทธิ์ดั่งแก้วขาว เรียกกันเป็นสามัญว่า ช้างตาขาว         ๒๕. เศวตนขา หรือ เสวตรนักขา มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่เล็บขาวดั่งสีสังข์บริสุทธิ์หาเสี้ยนโตนดมิได้ เรียกกันเป็นสามัญว่า ช้างเล็บขาว         ๒๖. เทพคีรี หรือ เทพคิรี มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่สีกายเขียวอ่อนงามดั่งสีภูเขาอันสดใส หรือสีผลหว้าดิบ เรียกกันเป็นสามัญว่า ช้างเขาเขียว         ๒๗. จันคีรี หรือ จันทคิรี มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่สีกายดั่งสีภูเขาขาว หรือสีเถ้า         ๒๘. นิลานิโรช หรือ นิลหัษดิน หรือ นิลหัสดินทร์ มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่สีกายดำสนิท ดุจสีดอกสามหาว หรือสีม่วงเข้มจนเกือบดำ         ๒๙. เสาวโรฐ หรือ เสาวโรจ หรือ สูวโรด มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่สีกายแดงดั่งสีของปากนกแขกเต้า และปากล่างม้วนเข้า กับมีสีแดงเหมือนสีกาย         ๓๐. คชดำพงศ์ถนิม หรือ ดำผงถนิม หรือ กำพงสนิม มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่รูปร่างใหญ่ สีกายดำสนิท ตั้งแต่ศีรษะตลอดถึงปลายงวง หลัง ปลายหาง และเท้าทั้งสี่มีสีแดงประดุจสีดอกแจงดูเหมือนห่มคลุมด้วยเสื้อ เรียกกันเป็นสามัญว่า ช้างห่มเสื้อ         ๓๑. สมพงศ์ถนิม หรือ สมผงถนิม หรือ สมพงสนิม มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่รูปร่างสูงใหญ่สมส่วน กาย ขน นัยน์ตา เล็บ ล้วนมีสีดำบริสุทธิ์ กับมีกระสีดำตลอดตัว         ๓๒. กุมประสาท หรือ ภูมประสาท มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่โขมดสูงใหญ่งดงาม เป็นมงคลยิ่ง         ๓๓. จัตุรกุมภ์ หรือ จตุรกุมพ หรือ จตุรภมุพ มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่ลำขาทั้งสี่กลมงามประดุจกลึง ฝักบัวใหญ่กลมงดงามสมส่วน เรียกกันเป็นสามัญว่า ช้างแขนกลม         ๓๔. ขลุมประเจียด หรือ คลุมประเจียด มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่ขนอ่อนดุจดอกหญ้าละเอียดขึ้นอยู่รอบขอบใบหู         ๓๕. พาลจักรี หรือ สารสดำ มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่งางอนขึ้นเสมอกันทั้ง ๒ ข้าง ส่วนปลายงานั้นงอนไปทางขวา         ๓๖. มุขสโรช หรือ มุกขศโร มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่เสียงร้องดังก้องสะเทือนพสุธาประดุจเสียงแตร         ๓๗. เมฆครรชิต หรือ สัทเมฆครันชิต มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่เสียงร้องดั่งเสียงฟ้าร้องคำราม         ๓๘. โกญจศัพท์ หรือ โกญจสับท มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่เสียงร้องประดุจเสียงร้องของนกกระเรียน         ๓๙. สรสังข์ หรือ สังขสระ มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่เสียงร้องดังประดุจเสียงเป่าสังข์         ๔๐. ศัพทเภรี หรือ สัพเภรี มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่เสียงร้องประดุจเสียงกลองชัย         ๔๑. ภัทร หรือ พัทร มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่รูปร่างสูงใหญ่ถึง ๗ ศอก ลำตัวโอบรอบยาว ๑๐ ศอก ลำตัวยาว ๙ ศอก งาสีเหลืองดั่งน้ำผึ้ง หลังโก่งขึ้นเล็กน้อยประดุจคันธนู เท้ากลม ฝักบัวกลม เล็บเกรียนประดุจเล็บช้างเถื่อน ส่วนหน้าสูงกว่าส่วนท้าย น้ำมันตกมีสีเขียว บางตำรากล่าวว่า ช้างนี้มีบิดาเป็นกระต่าย          ๔๒. มิค หรือ มิคะ มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่สีกายแดงดั่งสีชาด รูปร่างสูงใหญ่ถึง ๖ ศอก ลำตัวโดยรอบยาว ๘ ศอก นัยน์ตาดั่งตาราชสีห์ งาทั้งคู่สีแดงดั่งสีชาด ราวคอราบ ท้องใหญ่ ขนตัวยาว น้ำมันตกมีสีเขียว บางตำรากล่าวว่า ช้างนี้มีบิดาเป็นเนื้อ         ๔๓. สังคิน มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่สีกายดำเทาดุจหมอกคลุม รูปร่างสูงใหญ่ถึง ๕ ศอก ลำตัวโดยรอบยาว ๘ ศอก ลำตัวยาว ๗ ศอก ศีรษะใหญ่ หน้าใหญ่ คางสั้น หูใหญ่ นัยน์ตาใหญ่ งาทั้งคู่มีสีเหลืองเป็นมันดั่งทองคำ หางสั้นเขิน น้ำมันตกมีสีดำประดุจเขม่า บางตำรากล่าวว่า ช้างนี้มีบิดาเป็นนาค         ๔๔. กุญชเรศ หรือ กุญชรคชกรร มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่รูปร่างสูงใหญ่ โดยเฉพาะส่วนท้ายใหญ่ บางตำรากล่าวว่า ช้างนี้ตัวเล็กเท้าใหญ่ มีบิดาเป็นวานร         ๔๕. ครอบจักรวาฬ มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่ฝักบัวกลม เล็บเท้ามีครบ ๕ เล็บ ขณะยืนอยู่จะเห็นเล็บทั้งห้าเหมือนกลีบบัวบาน ครั้นยกเท้าขึ้นจะเห็นเส้นรอบฝักบัวเหมือนกันทั้ง ๔ เท้า ช้างนี้อยู่ในเมืองใด เมืองนั้นเป็นมงคลยิ่งนัก         ๔๖. ร่องมดโอภาร มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่งวงสีขาวตลอดหลังถึงปลายหางขาว มีฤทธิ์เดชมาก         ๔๗. พิธาเนสูน มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่ผมดกเป็นพู่ดูงดงามยิ่ง มีกำลังแข็งแรงอย่างยิ่ง   รัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (พ.ศ. ๒๓๒๕ – ๒๓๕๒)           ๑. พระบรมไกรสร บวรสุประดิษฐ์ อัฐทิศพงศ์ มงคลดิเรก เอกมหันต์อนันตคุณ สมบูรณ์เลิศฟ้า (ตระกูลพรหมพงศ์) เป็นช้างพลายสีประหลาด พระยานครราชสีมา น้อมเกล้า ฯ ถวาย ขึ้นระวางสมโภชวันอังคาร แรม ๓ ค่ำ เดือน ๔ ปี มะโรง จุลศักราช ๑๑๔๖ (พ.ศ. ๒๓๒๗)            ๒. พระบรมไกรสร บวรบุษปทันต์ สุวรรณลักขณา มหาศุภมงคล วิมลเลิศฟ้า (ตระกูลอัคนิพงศ์) เป็นช้างพลายเนียม พระยาราชบุรี น้อมเกล้า ฯ ถวาย ขึ้นระวางสมโภชวันอังคาร ปีมะโรง จุลศักราช ๑๑๔๖ (พ.ศ. ๒๓๒๗)           ๓. พระอินทรไอยรา รัตนาเคนทร์ คเชนทรบดินทร์ อนันตคุณ สมบูรณ์เลิศฟ้า (ตระกูลอัคนิพงศ์) เป็นช้างพังสีประหลาด จัดเป็นช้างเผือกตรี ลูกเถื่อน คล้องได้ที่เมืองภูเขียว สีนวลเหมือนสีใบตองแห้ง จักษุ เล็บ ขนตัว ขนหาง ขาว เจ้าของฝึกไว้ใช้สอย มีผู้ทักท้วงว่า เป็น ช้างสำคัญ เจ้าของกลัวว่า จะต้องไปเป็นของหลวง ตัดหางเสีย พระองค์โปรดให้จัดส่งไปทอดพระเนตร ทรงพระพิโรธเจ้าของมาก จึงไม่ทรงพระราชทานสิ่งใดเลย และโปรดให้เอาหางโคผูกเข้าต่อเป็นช้างโคบุตร พระยานครราชสีมา น้อมเกล้า ฯ ถวาย ขึ้นระวางสมโภช วันอาทิตย์ ขึ้น ๙ ค่ำ ปีขาล จุลศักราช ๑๑๕๖ (พ.ศ. ๒๓๓๗) ต่อมารัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้พระราชทานนามใหม่ว่า “พระอินทรไอยรา คชาชาติฉัททันต์ พิศผิวพรรณเผือกตรี สียอดตองตากแห้ง วิษณุแกล้งรังรักษ์ มงคลลักษณ์ เลิศฟ้า”           ๔. พระเทพกุญชร บวรศรีเศวต เอกชาติฉัททันต์ อนันตคุณสมบูรณ์เลิศฟ้า (ตระกูลอัคนิพงศ์) เป็นช้างพังเผือกเอก ลูกเถื่อน คล้องได้ที่เมืองภูเขียว พระยานครราชสีมา น้อมเกล้า ฯ ถวาย ขึ้นระวางสมโภชวันศุกร์ แรม ๕ ค่ำ เดือนยี่ ปีระกา จุลศักราช ๑๑๖๓ (พ.ศ. ๒๓๔๔) ซึ่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ได้เสด็จไปรับที่บ้านศาลาลอย กรุงศรีอยุธยา ในวันอาทิตย์ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือนยี่ ก่อน  แล้วล่องแพลงมายังกรุงเทพฯ วันพุธ แรม ๒ ค่ำ เดือนยี่ พระเทพกุญชรฯ นี้  มีขนาดสูง ๔ ศอก คืบ ๖ นิ้ว จักษุ เล็บ ขนตัว ขนหาง และลักษณะทั้งปวง ขาวบริสุทธิ์ ต้องด้วยลักษณ์ เศวตรภรณ์ เผือกเอก ต่อมาในรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พ.ศ. ๒๓๕๕ พระราชทานนามใหม่ว่า “พระเทพกุญชร บวรศรีเศวต อมรเมศนฤมิตร เผือกผ่องพิศโสภา มิ่งมงคลานาเคนทร์ คชคเชนทร์เฉลิมขวัญ ชาติฉัททันต์สูงศักดิ์ วิไลลักษณ์เลิศฟ้า พระเทพกุญชร” ล้มในสมัยรัชกาลที่ ๓            ๕. พระบรมฉัททันต์ สุวรรณรัศมี ศรีศุภลักษณ์ อรรคทศคชาพงศ์ มงคลเลิศฟ้า (ตระกูลพรหมพงศ์) เป็นช้างพลายสีทองแดง สูง ๖ ศอก คล้องได้ที่เพนียด วันอาทิตย์ แรม ๔ ค่ำ เดือน ๕ ปีกุน จุลศักราช ๑๑๖๕ (พ.ศ. ๒๓๔๖) สมโภชขึ้นระวาง เดือน ๙ ปีกุน            ๖. พระบรมนัขมณี ศรีรัตนคเชนทร บวรวิศณุพงศ์ วงศ์คชพรรณ อนันตคุณ สมบูรณ์เลิศฟ้า (ตระกูล วิษณุพงศ์) เป็นช้างพลายที่มีเล็บครบ พบที่เมืองนครศรีธรรมราช พระยาศรีธรรมราช น้อมเกล้า ฯ ถวาย และขึ้นระวางสมโภช ปีฉลู จุลศักราช ๑๑๖๗ (พ.ศ. ๒๓๕๙)           ๗. พระบรมคชลักษณ์ อรรคคเชนทร สุเรนทรฤทธิ์ สิทธิสมพงศ์ มงคลเลิศฟ้า (ตระกูลอัคนิพงศ์) เป็นช้างพลายกระ เจ้าเมืองเวียงจันทน์น้อมเกล้า ฯ ถวายและขึ้นระวางสมโภช ปีฉลู จุลศักราช ๑๑๖๗ (พ.ศ. ๒๓๕๙) โดยโปรดให้สร้างโรงพักช้างที่วัดสระเกศ             ๘. พระบรมนาเคนทร์ คเชนทรชาติดามพหัตถี ศรีสุวรรณเลิศฟ้า (ตระกูลพรหมพงศ์) เป็นช้างพลายสีทองแดง พระยานครราชสีมา น้อมเกล้า ฯ ถวาย ขึ้นระวางสมโภช วันอังคาร เดือน ๓ ปีเถาะ จุลศักราช ๑๑๖๙ (พ.ศ.๒๓๕๐) โดยโปรดให้สร้างโรงพัก ช้างที่วัดสระเกศ            ๙. พระบรมคชลักษณ์ อรรคชาติดามพหัตถี ศรีทศพงศ์ รณรงค์เลิศฟ้า (ตระกูลพรหมพงศ์) เป็นช้างพลายสีทองแดง เจ้าทุ่ง น้อมเกล้า ฯ ถวายและขึ้นระวางสมโภช วันอังคาร แรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๓ ปี เถาะ จุลศักราช ๑๑๖๙ (พ.ศ. ๒๓๕๐) โดยโปรดให้สร้างโรงพักช้างที่วัดสระเกศ            ๑๐. พระบรมเมฆเอกทนต์ วิมลสุประดิษฐ์ สิทธิสนธยา มหาศุภมงคล วิมลเลิศฟ้า (ตระกูลอิศวรพงศ์) เป็นช้างพลายงาเดียว ขึ้นระวางสมโภช วันอังคาร แรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๓ ปีเถาะ จุลศักราช ๑๑๖๙ (พ.ศ. ๒๓๕๐)   รัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (พ.ศ. ๒๓๕๒ – ๒๓๖๗)           ๑. พระยาเศวตรกุญชร อดิศรประเสริฐศักดิ์ เผือกเอกอรรคไอยรา มงคลพาหนนารถ บรมราชจักรพรรดิ วิเชียรรัตนาเคนทร์ ชาติคเชนทร์ฉัททันต์ หิรัญรัศมีศรีพระนคร สุนทรลักษณเลิศฟ้า (ตระกูลพรหมพงศ์) เป็นลูกช้างพลายเผือกบริสุทธิ์ สูง ๒ ศอก คืบ ๘ นิ้ว พบที่ทุ่งยังเขากระพ้อ ปลายน้ำเมืองโพธิสัตว์ นายมก ซึ่งเป็นพ่อหมอ นายคง ซึ่งเป็นควาญ คล้องได้ และพระยาอภัยภูเบศร เจ้าเมืองพระตะบอง ได้กราบบังคมทูลลงมายังกรุงเทพฯ จุลศักราช ๑๑๗๔ (พ.ศ. ๒๓๕๕) รัชกาลที่ ๒ โปรดเกล้า ฯ ให้ พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหมื่นเทพพลภักดิ์ และเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช เดินทางไปรับ เมื่อช้างมาถึงบ่อโพงจึงโปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ นำเงินไปพระราชทานหมอควาญและผู้คุมช้าง ๑๐ ชั่ง            ๒. พระบรมหัสดินทร์ วรินทร์ราชพาหนะ พื้นขาวกระสมพงษ์ สารทรงประเสริฐศักดิ์ (ตระกูลอัคนิพงศ์) เป็นช้างพลายกระ สูง ๕ ศอก พระยาเชียงใหม่ น้อมเกล้า ฯ ถวาย เมื่อเดือน ๔ ปีกุน สัปตศก พ.ศ. ๒๓๕๗           ๓. พระบรมนาเคนทร์ คเชนทราธาร กำแหงหาญห้าวเหี้ยม ลักษณะเนียมประทุมทันต์ เฉลิมขวัญพระนคร เกียรติขจรจบสกล มิ่งมงคลเลิศฟ้า (ตระกูลอัคนิพงศ์) เป็นช้างเนียม เจ้านครเวียงจันทน์ น้อมเกล้า ฯ ถวาย  เมื่อปีชวด อัฐศก จุลศักราช ๑๑๗๘ (พ.ศ. ๒๕๕๔) โดยมีท้าวเพี้ยหมอควาญ เป็นผู้คุมลงมาถวายถึงกรุงเทพฯ วันอาทิตย์ เดือน ๕ แรม ๒ ค่ำ            ๔. พระยาเศวตรไอยรา บวรพาหนะนารถ อิศราราชบรมจักร ศรีสังขศักดิ์อุโบสถ คชคเชนทรชาติ อาจาริยเผือกผ่องบริสุทธิ์ เฉลิมยุทธยายิ่ง วิมลมิ่งมงคล จบสกลเลิศฟ้า (ตระกูลอิศวรพงศ์) เป็นช้างพลายเผือก สูง ๓ ศอก คืบ ๖ นิ้ว คล้องได้ในป่าแขวงเมืองเชียงใหม่ เมื่อปีชวด อัฐศก พ.ศ. ๒๓๕๙ พระยาเชียงใหม่ น้อยธรรม  ได้มีหนังสือกราบทูลพระกรุณา ซึ่งรัชกาลที่ ๒ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้มีตราแจ้งให้นำลงมาน้อมเกล้า ฯ ถวาย ซึ่งพระยาเชียงใหม่ ได้คุมช้างมาลงแพ เมืองกำแพงเพชร และถึงกรุงเทพฯ วันพฤหัสบดี ขึ้น ๕ ค่ำ ปีชวด อัฐศก ส่วนพระยาเชียงใหม่ โปรดเกล้า ฯ เลื่อนขึ้นเป็นพระเจ้าเชียงใหม่ช้างเผือก            ๕. พระยาเศวตรคชลักษณ์ ประเสริฐศักดิ์สมบูรณ์ เกิดตระกูลสรรพสิบหมู่ เผือกผู้พาหนะนารถ อิศรราชธำรง บัณฑรพงษ์จตุรภักตร สุธารักษ์รังสรรค์ ผ่องผิวพรรณผุดผาด ศรีไกรลาศเลิศลบ เฉลิมพิภพอยุธยา ขัณฑเสมามณฑลมิ่งมงคลเลิศฟ้า (ตระกูลพรหมพงศ์) เป็นช้างพลายเผือกรูปงาม หู หาง คา ชน และเล็บ สี ขาว แต่ที่ตัวช้างเป็นเจือสีเหลือง สูง ๓ ศอก คล้องได้ในป่าแขวงเมืองน่าน และพระยาน่าน น้อมเกล้า ฯ ถวายเมื่อปีชวด อัฐศก พ.ศ. ๒๓๕๙ รัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. ๒๓๖๗ – ๒๓๙๔)           ๑. พระบรมไกรสร กุญชรชาติอำนวยพงศ์ มงคลคชยศอนันต์ มหันตคุณวิบุลยลักษณ์เลิศฟ้า (ตระกูลพรหมพงศ์) เป็นพลายกระ สูง ๔ ศอก ๑ คืบ ๑๐ นิ้ว  พระยาราชนิกุล น้อมเกล้า ฯ ถวาย พ.ศ. ๒๓๗๙           ๒. พระบรมกุญชร บวรขลุมประเจียด เกียรติคุณวิบูลยยศ คชอัคนิพงศ์ มงคลลักษณเลิศฟ้า (ตระกูล อัคนิพงศ์) เป็นช้างพลายสีทองแดง มีตาสีขาว เล็บและขนยาว เป็นสีเหลือง เรียกว่า ขลุมประเจียด ขนาดสูง ๔ ศอก ๓ นิ้ว หมื่นราชากลกรณ์ จับได้ที่บ้านเหล่าช้าง และน้อมเกล้า ฯ ถวาย พ.ศ. ๒๓๗๙            ๓. พระบรมนัขนาเคนทร วเรนทรดุรงค์ฤทธิ์ พงศ์พิษณุรังสรรค์ อนันตคุณพรุณศาสตร์ วิลาสลักษณ์เลิศฟ้า (ตระกูลวิษณุพงศ์) เป็นช้างพลายเล็บครบ สูง ๓ ศอก ๑๑ นิ้ว เจ้าพระยาบดินทรเดชา น้อมเกล้า ฯ ถวาย มาจากเมืองพระตะบอง วันเสาร์ เดือน ๑๒ แรม ๒ ค่ำ พ.ศ. ๒๓๘๖            ๔. พังหงสาสวรรค์ จับได้ที่ป่าแขวงเมืองสําโรงทอง สูง ๔ ศอก เจ้าพระยาบดินทรเดชา มอบให้จมื่นมณเฑียรพิทักษ์ คุมมาจากเมืองพระตะบอง น้อมเกล้า ฯ ถวาย พ.ศ. ๒๓๘๗           ๕. พระบรมไอยเรศ สีสุริเยศยอแสง ดามพแสดงกมเลศฤทธิ์ สิทธิมงคล คุณวิบุลยศ คชวิลาศลักษณเลิศฟ้า (ตระกูลพรหมพงศ์) เป็นช้างพลายลูกโขลง สีทองแดง สูง ๓ ศอก ๑ คืบ ๔ นิ้ว ซึ่งหลวงคชศักดิ์ น้อมเกล้า ฯ ถวาย เมื่อวันเสาร์ เดือน ๘ ขึ้น ๘ ค่ำ พ.ศ. ๒๓๘๗ ต่อมารัชกาลที่ ๔  ทรงแปลงชื่อใหม่เป็น “พระบรมไอยเรศ วิเศษสรรพางศ์ ศรีสุริยสายัณห์ยอแสง ดามพแสดงกุมภเรศฤทธิ์ ประสิทธิมงคล คุณวิบูลยยศ คชวิลาศรัตนเลิศฟ้า”           ๖. พระบรมสังขทันต์ ฉวีวรรณนิลขจิตร พงศ์วิษณุรังรักษ์ ประเสริฐศักดิ์ระบือบุญ อนันตคุณภิญโญยศ มงคลคชเลิศฟ้า (ตระกูลวิษณุพงศ์) เป็นช้างพลายสีเขียว เหมือนครามแห้ง มีงาข้างเดียว สีขาว สูง ๕ ศอก ๖ คืบ พระยาศรีสหเทพ (เพ็ง) น้อมเกล้า ฯ ถวาย เมื่อวันศุกร์ เดือน ๘ ขึ้น ๑๔ ค่ำ พ.ศ. ๒๓๘๗            ๗. พระบรมคชลักษณ์ ศักดิสารจุมปราสาท ชาติรัตกัมพล มงคลสรรพอนันตคุณ ศรีสุนทรเลิศฟ้า (ตระกูลอิศวรพงศ์) เดิมชื่อ พลายพนมกร สูง ๔ ศอก ๑ คืบ ๙ นิ้ว เจ้าพระยาพระคลัง น้อมเกล้า ฯ ถวาย เมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๘ ขึ้น ๑๔ ค่ำ พ.ศ. ๒๓๘๗            ๘. พระบรมนขาคเชนทร์ (ตระกูลวิษณุพงศ์) เป็นช้างพลาย สูง ๔ ศอก ๒ นิ้ว เจ้าราชวงศ์เชียงใหม่น้อมเกล้า ฯ ถวาย เมื่อวันศุกร์ เดือน ๕ ขึ้น ๕ ค่ำ ปีมะเส็ง สัปตศก พ.ศ. ๒๓๘๘           ๙. พระบรมนาเคนทรนขา (ตระกูลวิษณุพงศ์) เป็นช้างพังเล็บครบ พระยาน่าน น้อมเกล้า ฯ ถวาย เมื่อวันเสาร์ เดือน ๖ ขึ้น ๘ ค่ำ พ.ศ. ๒๓๘๘           ๑๐. พระบรมศุภราช สมมุติชาติโคบุตร กฤษณทรงครุฑปราสาทสรรค์ ศรีสุพรรณเนื้อริน วรรณนิลผุดผาด สารสวัสดิมงคลคุณ สุนทรลักษณ์เลิศฟ้า (ตระกูลวิษณุพงศ์) เป็นช้างพลายด่าง สูง ๕ ศอก เจ้าเชียงใหม่    น้อมเกล้า ฯ ถวาย พ.ศ. ๒๓๘๙           ๑๑. พระยามงคลคชวงศ์ อัคนีทรงปราสาทสรรค์ พรรณผกาโกเมศ ทวาเศวตรบวร แก้วกุญชรเฉลิมกรุง ฟุ้งเฟื่องเดชกระเดื่องดิน คุณภิญโญยศ คชลักษณวิลาศเลิศฟ้า (ตระกูลวิษณุพงศ์) เป็นช้างพลายสีเปลือกมะพร้าว สูง ๓ ศอก ๑ คืบ ๓ นิ้ว เจ้าเมืองชนบท น้อมเกล้า ฯ ถวาย เมื่อวันศุกร์ เดือน ๗ แรม ๑๔ ค่ำ พ.ศ. ๒๓๙๑              ในรัชกาลนี้ยังมีช้างพลายอีก ๒ เชือกที่เจ้าเมืองเชียงใหม่ และพระยารามัญแขก น้อมเกล้า ฯ ถวาย แต่มิได้ขึ้นระวาง คือ                ๑. เจ้าเชียงใหม่ นำช้างพลายสีประหลาด สูง ๓ ศอก ๑ คืบ น้อมเกล้า ฯ ถวาย เมื่อวันเสาร์ เดือน ๘ แรม ๑๔ ค่ำ พ.ศ. ๒๓๘๙ ไม่ได้ขึ้นระวาง แต่พระราชทานให้พระเจ้าน้องยาเธอกรมขุนเดชอดิศรไปทรงเลี้ยงไว้ที่วัง                 ๒. พระยาสงขลา น้อมเกล้า ฯ ถวาย ช้างพลายกระ จุดดำเท่าเม็ดพริกไทย พื้นขาวมัวเสมอทั้งตัว ขนาด    สูง ๕ ศอก ๙ นิ้ว ที่พระยารามัญแขก ส่งมาให้ น้อมเกล้า ฯ ถวาย เมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๑๑ ขึ้น ๖ ค่ำ พ.ศ. ๒๓๙๒ แต่ล้มเสียก่อน             นอกจากนี้ยังได้พบว่าในรัชกาลที่ ๓ ทรงมีช้างต้นอีกหลายเชือก ดังปรากฏนามในริ้วกระบวนแห่กฐินพยุหยาตราสถลมารค ซึ่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส นิพนธ์ ในประชุมจารึกวัดพระเชตุพนฯ ดังนี้  ๑. เจ้าพระยาไชยานุภาพ สูง ๖ ศอกคืบ ๙. พลายประกายมาศ สูง ๖ ศอก ๘ นิ้ว ๒. เจ้าพระยาปราบไตร สูง ๖ ศอก ๑ คืบ  ๑๐. พลายกุณฑลหัตถี สูง ๖ ศอก ๕ นิ้ว  ๓. พลายมงคลจักรวาฬ สูง ๖ ศอก ๑๑ นิ้ว ๑๑. พลายคเชนทรรัตน สูง ๖ ศอก ๓ นิ้ว ๔. พลายพิมานจักรพรรดิ สูง ๖ ศอก ๑๑ นิ้ว ๑๒. พลายสวัสดิกุญชร สูง ๖ ศอก ๓ นิ้ว ๕. พลายจักรอมรินทร์ สูง ๖ ศอก ๑๐ นิ้ว ๑๓. พลายเทพนิรมิต สูง ๖ ศอก ๖. พลายศิลปนารายณ์ สูง ๖ ศอก ๙ นิ้ว ๑๔. พลายดุสิตพิมาน สูง ๖ ศอก ๗. พลายมโนนฤมิต สูง ๖ ศอก ๙ นิ้ว ๑๕. พลายมหาคชาธาร สูง ๖ ศอก ๘. พลายวิจิตรเจษฎา สูง ๖ ศอก ๙ นิ้ว ๑๖. พลายกาลอัคคี สูง ๖ ศอก           รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  (พ.ศ. ๒๓๙๔ – ๒๔๑๑)           ๑. พระวิมลรัตนกริณี สุทธศรีสรรพางคพิเศษ ทุติเศวตวรรโณภาส พงศกมลาสนรังสฤษดิ์ ราชบุญฤทธิสมาหาร โสภาจารจุฬาหล้า มหาอุดมมงคล พรรษผลพิบูลยประสิทธิ์ ศุภสนิทพาหนนาถ ลักษณวิลาศเลิศฟ้า (ตระกูลพรหมพงศ์) เป็นช้างพังเผือกโท สีแดงเจือทองหม่น ๆ สูง ๔ ศอก ๒ นิ้ว คล้องได้ที่ป่าฉมาตฉบา แขวงท่าลัด เมืองยโสธร พระสุนทรราชวงศา เจ้าเมืองยโสธร น้อมเกล้าฯ ถวายเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๕ โปรดให้มีการสมโภชที่ชาลาหน้าโรงช้าง ในพระบรมมหาราชวัง และพระราชทานเสื้อผ้า เงินตรา แก่พระสุนทรราชวงศา ๓ ชั่ง แก่หมอควาญ คนเลี้ยง ๔ ชั่ง            ๒. พระวิสูตรรัตนกรณี โบกษรหัสดีตระกูล สกลบริบูรณ์บริสุทธิ์เศวต คงพิเศษวรลักษณ์ เฉลิมราชศักดิ์สยาม โลกยาธิเบนทร์ ปรเมนทรมหาราชาธิราช บุญวราดุลยฤทธิสมาหาร สรรพาการศุภโสภณ มงคลคุณประเสริฐเลิศฟ้า (ตระกูลอัคนิพงศ์) เป็นช้างพังเผือกโท สีแดงเจือเหลือง สูง ๔ ศอก ๑๑ นิ้ว คล้องได้ที่บ้านป่า   ฉมาตฉบา เมืองยโสธร พระสุนทรราชวงศา เจ้าเมืองยโสธร นำมา น้อมเกล้า ฯ ถวายที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๙๖ โปรดให้มีการสมโภชที่ท้องสนามชัย หน้าพระที่นั่งสุทไธศวรรย์ และพระราชทานเสื้อผ้า เงินตรา แก่พระสุนทรราชวงศา และพระราชทานเงิน หมอควาญ ๕ ชั่ง            ๓. พระมหาศรีเศวตวิมลวรรณ ฉัททันตคเชนทรชาติ วรราชรัตนกรีลักษณ์ จตุรพักตร์พิสุทธิพงศ์ มิ่งมงคลสกลสรรไพบูลย์ ปรเมนทรเรนทรสูรบารมิตาสมาหาร สุนทราจารจริตงามสยามโลกดิลก คชนายกนาคินทร์ หัสดินทรรัตนรุ่งฟ้า (ตระกูลพรหมพงศ์) เป็นช้างพลายเผือกโท สีดินแดงเจือฝุ่นเจือสีเหลือง สูง ๓ ศอก ๒ นิ้ว คล้องได้ที่เขาจองแมว แขวงฉมาตฉบา พระรัตนวงศา เจ้าเมืองสุวรรณภูมิ นำมาน้อมเกล้า ฯ ถวาย พ.ศ. ๒๔๐๖ โปรดให้มีการสมโภชที่ท้องสนามชัย หน้าพระที่นั่งสุทไธศวรรย์ พระราชทานเสื้อผ้า และเงิน แก่พระรัตนวงศา ๑ ชั่ง ๕ ตำลึง และพระราชทานเงินแก่หมอควาญ เจ้าของช้างต่อ ๑ ชั่ง ๑๐ ตำลึง ช้างเชือกนี้ปลูกโรงที่เขื่อนเพชร ด้านตะวันออกของพระที่นั่งอนันตสมาคม ในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งรื้อไปแล้ว            ๔. ช้างพังเผือกโท (ตระกูลพรหมพงศ์ ช้าง ๑๐ หมู่ หมู่เหมหัตถี) ผิวสีเหลืองเจือแดง จักษุเหมือนน้ำทอง  ขนตัวและขนหาง เป็นสีเหลือง อยู่ในตระกูลเหมหัตถี สูง ๓ ศอก ๑ คืบ พระศรีวรราชกับท้าวเพี้ย คล้องได้ที่ป่าฉมาตฉบา และพระสุนทรราชวงศา นำมาน้อมเกล้า ฯ ถวาย ทอดพระเนตรที่เขาแก้ว แขวงเมืองสระบุรี พ.ศ. ๒๔๐๓ เมื่อเสด็จ ฯ ไปนมัสการพระพุทธบาท โปรดให้มีละครทำขวัญช้าง และโปรดให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหามาลา ฯ (ซึ่งต่อมาได้รับสถาปนาเป็น สมเด็จเจ้าฟ้า ฯ กรมพระยาปราบปรปักษ์) คุมช้างลงมากรุงเทพฯ แต่ช้างเป็นไข้ ล้มเสียก่อนที่บ้านเริงราง               ๕. พระเศวตสุวรรณาภาพรรณ สรรพางคพิบูลยลักษณ เผือกเอกอรรคอุดม บรมรัตนราชกรณี ยิ่งอย่างดีศรีพระนคร สุนทรสุภโสภณ มิ่งมงคลคชคุณ อดุลยกิริยามารยาท ช้างชาติอุโบสถ ลักษณะปรากฏพร้อมมูล บริบูรณบัณฑรนัขเนตร โลมเกศกายฉวีวรรณศรีทองผ่องแผ้ว เป็นกุญชรีแก้วกำเนิดพรหมพงศ์ ดำรงราชบารมี สมเด็จพระสยามาธิบดี ปรเมนทรมหาราชวรวิลาศเลิศฟ้า (ตระกูลพรหมพงศ์) เป็นช้างพังสีประหลาด จัดเป็นช้างเผือกเอก สูง ๓ ศอก ๑ คืบ ๙ นิ้ว พระรัตนวงศาอุปฮาดราชวงศ์ เมืองสุวรรณภูมิ คล้องได้ที่บ้านฉมาตฉบา แขวงป่าลัดแด น้อมเกล้า ฯ ถวาย พ.ศ. ๒๔๐๕ โปรดให้ปลูกโรงสมโภชที่หน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ พระราชทานเสื้อผ้า เครื่องอุปโภคบริโภค ให้พระรัตนวงศา และพระราชทานเงิน หมอควาญ ๑๐ ชั่ง            ๖. ช้างเผือกเอก (ตระกูลอัคนิพงศ์) สีขาวบริสุทธิ์ จักษุขาวใสบริสุทธิ์ ขนหางสีขาวเจือเหลือง สีตัวขาวเจือชาด จะงอยปากล่างขบขึ้นไปเหมือนปากนกแก้ว คล้องได้ที่บ้านนา แขวงนครนายก สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ามหามาลา กรมขุนบำราบปรปักษ์ ทรงคล้อง ได้ พ.ศ. ๒๔๐๗ ทรงนำมาฝึกที่บ่อโพง นำมาฉลองที่วัดชุมพลนิกายาราม มีมหรสพสมโภช ๓ วัน ๓ คืน แต่ช้างป่วยและล้มก่อน           ๗. พระศรีสกนธ์กฤษณ์ สุทธสนิทฉวีวรรณ สังฆทันตสรรพางคโสภณพิเศษ นิลเนตรนิลขับวรลักษณมหา กุฬาวชาตรีกมลาสน์รังสฤษดิ์ ราชบุญฤทธิ์สมาคมอุดมคติผล มิ่งมงคลคชินทร สยามาธิบดินทรพาหนะนารถประเสริฐเลิศฟ้า (ตระกูลพรหมพงศ์) เป็นช้างพลายนิล พระสุวรรณวิมลศรี วัดสุวรรณดาราราม น้อมเกล้า ฯ ถวาย พ.ศ. ๒๔๐๗            ๘. พระเทวสยามมหาพิฆเนศวร์ พิเศษสรรพวรลักษณ์ เศวตนัขทักษิณกทันต์ ประสิทธิสรรพศุภผล เจริญราชวรชนมายุกาล คชาธารประเสริฐเลิศฟ้า (ตระกูลอัคนิพงศ์) ทรงคล้องได้ที่เพนียด พ.ศ. ๒๔๐๗ เป็นช้างลูกโขลง ปลายงาสีแดงเจือเหลือง            ๙. พระบรมนัขสมบัติ (ตระกูลวิษณุพงศ์) เป็นช้างพลายเล็บครบ สูง ๕ ศอก ๓ นิ้ว นายสุง บุตรพระไชยบาดาล น้อมเกล้า ฯ ถวาย พ.ศ. ๒๔๐๗           ๑๐. พระไชยนิลนัข (ตระกูลอัคนิพงศ์) เป็นช้างเล็บดำ สูง ๔ ศอก ๔ นิ้ว ข้าหลวงเดิม น้อมเกล้า ฯ ถวาย พ.ศ. ๒๔๐๗            ๑๑. พระพิชัยกฤษณวรรณ (ตระกูลอัคนิพงศ์) เป็นช้างพลายเล็บดำ สูง ๓ ศอก คล้องได้ที่เพนียด พ.ศ. ๒๔๐๗            ๑๒. พระบรมคชรัตน์ (ตระกูลอัคนิพงศ์) เป็นช้างพลายกระ สูง ๓ ศอก ๑ คืบ ๒ นิ้ว หลวงจินดารักษ์ น้อมเกล้า ฯ ถวาย พ.ศ. ๒๔๐๗ รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. ๒๔๑๑ – ๒๔๕๓)           ๑. พระเศวตวรวรรณ สรรพวิสิฐคชลักษณ์ ดำพงษ์ถนิมศักดิ์ธำรง มิ่งมงคลรัตนาศน์ จักรพรรดิราชกุญชร พรรณกพรพหลเดช วรัคเนตรนิลสนิท พิศผิวกายผ่องประภัศร สารสุนทรบัณฑรโลมพิเศษ สุทธเศวตสอดประสาน นิลวรรณผ่านเล่ห์นฤมิต อรรคนิศรแสร้งเศกสรร ต้องแบบบรรพ์สำหรับคช จรดกาลก่อนห่อนเคยมี มาเฉลิมศรีพระนคร เอกอดิศรสยามาธิบดินทร์ ปรมินทรจุฬาหล้า อุดมมหาดิเรกยศ เกียรติปรากฏวิบูลย์สวัสดิ์ หัสดินรัตนประเสริฐเลิศฟ้า (ตระกูลอัคนิพงศ์) เป็นช้างพลายด่างดำพงษ์ถนิม เป็นช้างลูกบ้านเมืองพร้าว พระเจ้ากาวิโลรสุริยวงษ์ พระเจ้านครเชียงใหม่ น้อมเกล้า ฯ ถวาย พ.ศ. ๒๔๑๓            ๒. พระมหารพีพรรณคชพงษ์ ทรงสุรเดชวิเศษศักดิ์ สกลลักษณเลิศลบ ขจรจบศรีธรรมราช คเชนทรชาติอุบลมาลี วรรณฉวีสัตบุษวิสุสธพงศ์จตุรภักตร์ รัตนัคพาหนนารถ ดำรงราชกฤษตภินิหาร สมภารสู่คู่พระบารมี เฉลิมศรีอมรโกสินทร์ องค์พระสยามมินทรจุฬาหล้า ปรมินทรมหาราชบพิตร สฤษดิ์พรรษผลคลประจักษ์ วรางคลักษณเลิศฟ้า (ตระกูลพรหมพงศ์) เป็นช้างพลายสีประหลาด พระศิริธรรมบริรักษ์ ปลัดเมืองนครศรีธรรมราช   น้อมเกล้า ฯ ถวายและขึ้นระวางสมโภช พ.ศ. ๒๔๑๓ พร้อมกับพระเศวตวรรณฯ            ๓. พระเศวตสุวภาพรรณ สรรพสินิทคชคุณ สมบูรณ์ลักษณวรเดช ทุติยเศวตวรรณวิจิตร สยามวิเศษสุทธเนตรนัขโลมฉวี ศรีสมานกายฉายเฉิด ดิลกเลิศเฉลิมกรุง ภมรผดุงรัตนโกสินทร์ สยามมินทโรดมบรมนารถ อรรควรราชพาหนเทพ เสพสวัสดิ์พิพัฒผล มิ่งมงคลเลิศฟ้า (ตระกูลอัคนิพงศ์) เป็นช้างพลายเผือกโท คล้องได้ที่ป่าฉมาตฉบา เมืองกระแจะ แขวงรแด พระยารัตนวงษ์เจ้า เมืองสุวรรณภูมิ และพระยาไชยสุนทร เจ้าเมืองกาฬสินธุ์   น้อมเกล้าฯ ถวาย และขึ้นระวางสมโภช พ.ศ. ๒๔๑๕            ๔. พระเทพคชรัตนกิริณี ศุภศรีสกนธเศวต วรเชฐดไนยวิไลลักษณ์ เฉลิมราชศักดิ์สยามวิชิต พงศ์อัคนิศรมหิศรเดชนุพาหนนารถนฤบดินทร์ คชนาคินทรวิลาศเลิศฟ้า (ตระกูลอัคนิพงศ์) เป็นช้างพังเผือกโท คล้องได้ที่ดงฉมาดฉบา แขวงรแด พระยารัตนวงษา เจ้าเมืองสุวรรณภูมิ น้อมเกล้า ฯ ถวาย และขึ้นระวางสมโภช พ.ศ. ๒๔๑๗            ๕. พระศรีสวัสดิเศวตวรรณ สุทธาดิสัยพรรณสกนธพิเศษ ทุติยเศวตนิฐวรสังกาศ อัคนิศรเทวราชรังสฤษดิ์ ราชบุญฤทธิบารมี รัตนคชาธารวรพาหนนารถ บรมราชาธิราชธำรง วราภิพงษ์คชลักษณ์ สุนทรศักดิอิศริยพัฒน์ กิริณีรัตนเลิศฟ้า (ตระกูลอัคนิพงศ์) เป็นช้างพังเผือกโท คล้องได้ที่ดงฉมาตฉบา ราชบุตร เมืองขอนแก่น น้อมเกล้า ฯ ถวาย และขึ้นระวางสมโภช จุลศักราช ๑๒๓๖ (พ.ศ. ๒๔๑๗)            ๖. พระบรมทันตวรลักษณ์ นาเคนทรศักดิ์สิงหสุรเดช พงษ์พิเศษทุติยปทุมทันต์ อัคนิศรสรรแสร้งประสิทธิ์ อุดมฤทธิ์อเนกคุณวิบูลย์สวัสดิ์ เฉลิมสยามรัตนราไช สวรรยาธิปไตยบรมอาศน์ คชพาหนนารถสุทธิวิมล มหันตมงคลเลิศฟ้า (ตระกูลอัคนิพงศ์) เป็นช้างพลายเนียม ซึ่งเจ้านครลำปาง น้อมเกล้า ฯ ถวาย และขึ้นระวางสมโภช พ.ศ.๒๔๑๗ ในวันจันทร์ แรม ๓ ค่ำ เดือน ๗ ปีจอ จุลศักราช ๑๒๓๖ (พ.ศ. ๒๔๑๗)           ๗. พระเศวตวรลักษณ์ คเชนทรศักดิสุนทรสกนธ์ พรรณโกกมลพิษผ่องผุด สรรพาวควิสุทธจำรูญ กมุทตระกูลพงษ์จตุรภักตร์ บรมอรรคบารมิตาสมาหาร สู่สมภารบงกชบาท พาหนนารถนฤบดินทร์ ปรมินทรมหาจุฬาอดุลยเดช อุดมพิเศษมหาพรรษคติผล มิ่งมงคลคชาชรรัตน ศุภสวัสดิประเสริฐเลิศฟ้า (ตระกูลพรหมพงศ์) เป็นช้างพลายเผือกโท คล้องได้ที่ป่าดงกระมุง แขวงเมืองสมบุกสมบุญ เจ้ายุติธรรม นครจําปาศักดิ์ น้อมเกล้า ฯ ถวาย และขึ้นระวางสมโภช วันพุธ แรม ๕ ค่ำ เดือน ๗ ปีกุน จุลศักราช ๑๒๓๗ (พ.ศ. ๒๔๑๘)           ๘. พระเศวตวรสรรพางค์ บวรางคคชรัตน ลักษณสมบัติวิบูลย์พิเศษ พิสุทธเนตรโลมฉวี ศรีรัตประทุมบวร สารสุนทรทุติยเศวต พิษณุเทเวศรังสรรค์ ลักษณพรรณสบสทร คเชนทรชาติลบชม อุดมเดโชผล อมรเทพยดลบันดาล คู่สมภารพาหนนารถ จอมจุฬาธิราชธำรง อาศน์อิศรองค์พงษ์จักรพรรดิ พิศาลสวัสดิประเสริฐเลิศฟ้า (ตระกูลวิษณุพงศ์) เป็นช้างพลายเผือกโท คล้องได้ที่เพนียดอยุธยา และขึ้นระวางสมโภช วันพุธ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๗ ปีชวด จุลศักราช ๑๒๓๘ (พ.ศ. ๒๔๑๘)           ๙. พระเศวตวิสุทธิเทพา มหาพิฆเนศวร์ พิเศษสุนทรศักดิทักษิณเอกทันต์ อนันตวิบูลย์คุณประสิทธิ์ สรรพางสนิทพิสิฐพรรณ อัคนิรังสรรค์หันตวรเดช ทุติยเศวตวิสุทธวิมล พิพัฒนศุภผลดลประจักษ์ เจริญราชวรศักดิชนมายุกาล เฉลิมสมภารพาหนะนรินทร์ ปรมินทรจอมจุฬาหล้า อรรคมหาหิทธิคุณ อดุลยลักษณ์เลิศฟ้า (ตระกูลอัคนิพงศ์) เป็นช้างพลายเผือกโท คล้องได้ที่ดงฉมาตฉบา ราชบุตร พระศรีวรราช เมืองยโสธร น้อมเกล้า ฯ ถวาย   และขึ้นระวางสมโภช เมื่อวันพุธ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๘ ปีชวด จุลศักราช ๑๒๓๘ (พ.ศ. ๒๔๑๙)           ๑๐. พระเศวตสุนทรสวัสดิ คชินทรรัตนสมบูรณ์ ศักดิตระกูลประทุมหัตถี เนตรนัขฉวีโลมวิมล สารโสภณสกนธพิเศษ ทุติยเศวตวรรโณภาษ อัคนิเทวราชรังสรรค์ ชาติปรจันตกาญจนดิฐ  อเนกบุญฤทธิ์สมาคม เฉลิมบรมราชบารมี จอมธเรศดริเบญจมรัช พิศาลสวัสดิประเสริฐเลิศฟ้า (ตระกูลอัคนิพงศ์) เป็นช้างพลายเผือกโท คล้องได้ที่ป่าร่อนสวาทจงสระ แขวงเมืองกาญจนดิษฐ์ พระกาญจนดิษฐบดี น้อมเกล้า ฯ ถวายและขึ้นระวางสมโภช วันเสาร์ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีชวด จุลศักราช ๑๒๓๗ (พ.ศ. ๒๔๑๘)           ๑๑. พระเศวตสกลวรภาศ ผิวผ่องผาดเผือกเอก อุดมดิเรกวิสุทธิมงคล สมะโสภณโลมนัขเนตร ศรีสุวรรณเศวตวิเศษสรรพ์ อุโบสถพันธุพรหมตระกูล ปรมินทรนเรนทร์สูรสยามาธิราช  พาหนนารถมหันตเดช เฉลิมอยุธเยศดิลกภพ เกียรติขจรจบเจริญศักดิ์ ประจักรผลพรุณวิบูลยสวัสดิ์ สุเรนทรินทรรัตนประเสริฐเลิศฟ้า (ตระกูลพรหมพงศ์) เป็นช้างพลายเผือกเอก คล้องได้ที่ป่าเขาวงศ์ ดงฉมาตฉบา แขวงรแด เจ้ายุติธรรมธร เจ้านครจำปาศักดิ์ น้อมเกล้า ฯ ถวาย วันศุกร์ แรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๗ ปี มะเส็ง จุลศักราช ๑๒๔๓ (พ.ศ. ๒๔๒๔) พระเศวตสกลวรภาศฯ พระช้างเผือกในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนายตาร์ล บอค ชาวเยอรมัน วาด เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน ค.ศ. ๑๘๘๑ (พ.ศ. ๒๔๒๔)           ๑๒. พระเศวตรุจิราภาพรรณ สรรพวิบูลยคุณคชลักษณ์ อรรคอุดมปฐมเศวต โลมเนตรนัขนฤมล ทันตโสภณศกสรรพางค์ เหมสมางศวโรภาษ พงษ์กมลาสน์รังสรรค์ อุโบสถพันธุพิสุทธิพงษ์ สารธำรงจักรพรรดิ พาหนรัตนนฤบดินทร์ ปรมินทรบารมิตา สมันนาหาระประสิทธิ์ เฉลิมวิชิตสยามภพ ขจรจบเกียรติคุณ อดุลประเสริฐ เลิศฟ้า (ตระกูลพรหมพงศ์) เป็นช้างพลายเผือกเอก คล้องได้ที่แขวงรแด เจ้ายุติธรรมธร เจ้านครจําปาศักดิ์ น้อมเกล้า ฯ ถวาย และขึ้นระวางสมโภช พ.ศ. ๒๔๒๘                    ๑๓. พระเศวตวรนาเคนทร์ คเชนทรศักดิ์สมบูรณ์ กมุทตระกูลทุติยเศวตทวัย เนตรสุทธนฤมล กาโรหสกลมงคลลักษณ์ อรรคพาหนนารถ บรมราชาธิราชธำรง พรหมพงษ์พิเศษ พหลเดชคุณ อดุลยประเสริฐเลิศฟ้า (ตระกูลพรหมพงศ์) เป็นช้างพลายเผือกโท คล้องได้ที่เขตแดนระหว่างเมืองเชียงแตงกับเมืองสมบูรณ์ แถวเขาชบา เจ้ายุติธรรมธร เจ้านครจำปาศักดิ์ น้อมเกล้า ฯ ถวาย และขึ้นระวางสมโภช วันที่ ๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๓๔           ๑๔. ช้างพลายเผือกเอก คล้องได้ดงฉมาตฉบา เจ้ายุติธรรมธร เจ้านครจำปาศักดิ์ น้อมเกล้า ฯ ถวาย และสมโภช พ.ศ. ๒๔๓๗ ที่บางปะอิน แล้วยังไม่ได้พระราชทานนาม ช้างล้มก่อน           ๑๕. พระศรีเศวตวรรณิภา วรลักษณดิเรกศักดิ์ เนตรนัขพิไลยพรรณ วิสุทธสรรพางคินี เจริญศรีพิเศษสวัสดิ์ บัณฑรรัตโลมสกล มิ่งมงคลคชชวรา อุดมเดชาขจรยศ ปรากฏพรหมพงศ์จรูญ เพ็ญไพบูลย์มารยาท พาหนนารถนฤบดินทร์ ปรมินทรสยามาธิเบศ เฉลิมอยุธเยศมหาสถาน มโหฬารเกียรติคุณ อดุลยผลเพ็ญพิพัฒน์ ศรีสวัสดิ์ประเสริฐเลิศฟ้า (ตระกูลพรหมพงศ์) เป็นช้างพังเผือก คล้องได้ที่ป่าห้วยกระจะ เมืองอัตปือ พระดุษฎีตุลกิจ ข้าหลวงรักษาราชการ เมืองสุวรรณภูมิ น้อมเกล้าฯ ถวายและขึ้นระวางสมโภช วันที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๓           ๑๖. พระเศวตอุดมวารณ์ บวรคชาธารประเสริฐศักดิ์ ศุภเนตรนัขโครวรรณ โลมพรรณเลื่อมประภัศร ดามพกุญชรดิลกชาติ พงศ์กมลาศรังสฤษดิ อดุลยฤทธิเดชาดิเรก เอกอิศราธิบดินทร์ ปรมินทรมหาราชาธิราช ประกาศเกษตรสิทธิสถาพร เฉลิมพระนครรัตนโกสินทรพิศาล มโหฬารพรรษคุณ วิบูลยลักษณเลิศฟ้า (ตระกูลพรหมพงศ์) เป็นช้างพลายเผือก บ้านทุ่งปาย นครลำปาง เจ้าบุญวาทยวงศ์มานิต เจ้านครลำปาง น้อมเกล้า ฯ ถวายและขึ้นระวางสมโภช วันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๐           ๑๗. ช้างพลายสีประหลาด ซึ่งเจ้าดาราดิเรกรัตนไพโรจน์ เจ้านครลำพูน น้อมเกล้า ฯ ถวายแต่ล้มเสียที่อยุธยา ก่อนขึ้นระวางสมโภช           ๑๘. ช้างพลายสีประหลาด จากเมืองน่าน ซึ่งพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช พระเจ้านครน่าน ถวายแต่ไม่ได้ขึ้นระวาง           ๑๙. เจ้าพระยาไชยานุภาพ เดิมชื่อ พลายปานพลแสน ซึ่งมีลักษณะงาม พระเจ้านครเชียงใหม่ ถวายโปรดเกล้า ฯ ให้ขึ้นระวาง   รัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. ๒๔๕๓ – ๒๔๖๘) พระเศวตวชิรพาห อุดมลักษณคชินทร รัตนกุญชรทุติยเศวต โสมเนตรนัขนฤมล เอกทนต์ทักษิณปรัศ อุบัติฟ้องต้องตำรา เทพามหาพิฆเนศวร์ อัคนิเทเวศร์รังสฤษฏ์ ประสิทธิผล ชนมายุยืนยง กำเนิดคงแขวงนครสวรรค์ พลันมาสู่พระบารมี นฤบดีฉัฏฐรัชกาลคู่สมภาคภูเบศร์ พิเศษสรรพมงคล สุภัทรผลเพียบพูล จรูญพระเกียรติภูมินทร์ หัสดินประเสริฐเลิศฟ้า (ตระกูลอัคนิพงศ์) เป็นช้างพลายเผือกโท คล้องได้ที่ตำบลเนินโพธิ์ อำเภอเกยชัย จังหวัดนครสวรรค์ เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๓๕  พระเพชรพิไสยศรีสวัสดิ์ (แม้น วสันตสิงห์) คล้องได้เมื่อเป็นพระเฑียรฆราช ปลัดมณฑลนครสวรรค์ ได้ น้อมเกล้าฯ ถวายและสมโภชขึ้นระวาง วันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๓๕    รัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. ๒๔๖๘ – ๒๔๗๕) พระเศวตคชเดชน์ดิลก ประชาธิปกปทุมรัตนดำริ เทวอัคนีรุฒชุบเชิด กำเนิดนภิสิฉวนเฉวียง ฉวีเยี่ยงบุษกรโกมล นขาขนขาวผ่องแผ้ว แก้วเนตร์น้ำเงินงามลึก วันวณึกบรรณาการ คเชนทรยานยวดยิ่ง มิ่งมงคลฉนำเฉลิมฉัตร สัตตมกษัตทรงศร อมรรัตนโกสินทร รบือรบินบารมีทศ ยืนพระยศธรรมราชัย นิรามัยมนุญคุณ บุณยโศลกเลิศฟ้า (ตระกูลอัคนิพงศ์) เป็นลูกช้างพลายเผือกตรี ของบริษัทบอร์เนียว อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมิสเตอร์ ดี เอฟ แมคฟี ผู้จัดการป่าไม้ บริษัทบอร์เนียว จังหวัดเชียงใหม่ น้อมเกล้า ฯ ถวาย และขึ้นระวางสมโภช เมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๐   รัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (พ.ศ. ๒๔๘๙ – ๒๕๕๙)           ๑. พระเศวตอดุลยเดชพาหน ภูมิพลนวนาถบารมี ทุติยเศวตกรีกมุทพรรโณภาส บรมกมลาสนวิศุทธวงศ์  สรรพมงคลลักษณ์คเชนทรชาติ สยามราษฎรสวัสดิ์ประสิทธิ์ รัตนกุญชรนิมิตบุญญาธิการ ปรมินทรมิตรสารศักดิ์เลิศฟ้า (ตระกูลพรหมพงศ์) เป็นช้างเผือกโท นายแปลก คล้องได้ที่จังหวัดกระบี่ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๙ พลโท บัญญัติ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ประธานกรรมการ องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย น้อมเกล้า ฯ ถวาย เมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๑ สมโภชขึ้นระวาง ณ โรงช้างต้น พระราชวังดุสิต เมื่อวัน ที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๒   พระเศวตอดุลยเดชพาหน ภูมิพลนวนาถบารมีฯ ในโรงช้างต้นสวนจิตรลดาพระยาช้างต้นเชือกแรกในรัชกาลที่ ๙           ๒. พระเศวตวรรัตนกรี นพิศสิริพงคนัทย์ เอกาทัศน์มงคลสุลักษณ์ ศุภนัขเนตราทิโควรรณ พิษณุพันธุ์ อัครคชาธาร อัฏฐกุลสารดามพหัสดิน ปรมินทรมหาราชพาหน สยามประชาชนสวัสดิคุณ เดชอดุลยเลิศฟ้า (ตระกูลวิษณุพงศ์) เป็นช้างพลายเผือก ตกที่บ้านนายแก้ว ปัญญาคง ตำบลออนใต้ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ พันตำรวจเอก นิรันดร ชัยนาม ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ น้อมเกล้า ฯ ถวาย เมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๙ สมโภชขึ้นระวางที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๒๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๙ ปัจจุบันล้มแล้ว            ๓. พระเศวตสุรคชาธาร บรมนฤบาลสวามิภักดิ์ ศุภลักษณเนตราทิคุณ ทศกุลวิศิษฎพรหมพงศ์ อดุลยวงศ์ดามพหัตถี ประชาชนสวัสดิวิบูลย์ศักดิ์ อัครสยามนาถสุรพาหน มงคลสารเลิศฟ้า (ตระกูลพรหมพงศ์) เป็นช้าง พลายเผือก ลูกเถื่อน นายเจ๊เฮง หะระตี กำนันตำบลการอ อำเภอรามัญ จังหวัดยะลา ได้ลูกช้างพลัดแม่ พันตำรวจเอก ศิริ คชหิรัญ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา น้อมเกล้า ฯ ถวาย เมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๑ สมโภชขึ้นระวางที่จังหวัดยะลา เมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๑ อยู่ที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ปัจจุบันล้มแล้ว พระเศวตสุรคชาธาร บรมนฤบาลสวามิภักดิฯ          ๔. ช้างพลายแก้วขาว ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ น้อมเกล้า ฯ ถวาย ณ พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ โปรดเกล้า ฯ ถวายเอกสารใบสำคัญรูปพรรณ ทะเบียนสัตว์พาหนะ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๙ ได้ฝากให้เลี้ยงดูอยู่ที่ศูนย์ฝึกลูกช้าง จังหวัดลำปาง ยังมิได้ขึ้นระวางสมโภช ล้มเสียก่อน เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๙           ๕. พระศรีเศวตศุภลักษณ์ อรรครัตนกิริณี ดามพหัสพิษณุพงศ์ ดำรงสุทธสกนธ์สุคนธชาติ เฉลิมราชกฤดาบารมี ศรีตรังคพิเศษสุทธิ์ อุตดมสารเลิศฟ้า (ตระกูลวิษณุพงศ์) เป็นช้างพังเผือก ชื่อเล่นว่า “เจ้าแต๋น” กรมป่าไม้ได้มาจากป่าพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้นำไปเลี้ยงไว้ที่วนอุทยานเขาช่อง จังหวัดตรัง ผู้ว่าราชการจังหวัดตรังและอธิบดีกรมป่าไม้ น้อมเกล้า ฯ ถวาย และโปรดเกล้า ฯ สมโภชขึ้นระวาง เมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ ณ โรงช้างต้น สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต           ๖. ช้างพลาย ชื่อเล่นว่า “ก้อง” ของกรมป่าไม้ได้นำไปเลี้ยง ณ วนอุทยานเขาเขียว จังหวัดชลบุรี ได้ตรวจ สอบแล้ว เป็นแต่เพียง “ช้างสีประหลาด” แต่ยังมิได้น้อมเกล้า ฯ ถวาย ล้มเสียก่อน           ๗. พระเศวตสุทธวิลาส อัฏฐคชชาติพิษณุพงศ์ ดำรงประภาพมหิมัน ตามพรรณไพศิษฏ์ ผริตวรุตตมมงคล  ดาลศุภผลสวัสดิวิบุล อดุลยลักษณ์เลิศฟ้า (ตระกูลวิษณุพงศ์) เป็นช้างพลายเผือก (สีดอ) ชื่อเล่นว่า “บุญรอด” คนงานของกรมป่าไม้ ได้พบลูกช้างที่ป่าบริเวณแม่น้ำแควน้อย จังหวัดกาญจนบุรี ต่อมาได้เลี้ยงไว้ ณ วนอุทยานเขาเขียว จังหวัดชลบุรี อธิบดีกรมป่าไม้  ได้น้อมเกล้า ฯ ถวาย และโปรดเกล้า ฯ สมโภชขึ้นระวาง เมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๒๐ ณ โรงช้างต้น สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต พระเศวตสุทธวิลาส อัฏฐคชชาติพิษณุพงศ์ฯ          ๘. พระวิมลรัตนกิริณี กมุทศรีพรรณโศภิต อัฏฐทิศพงศ์กมลาสน์ อรรคราชทิพยพาหน ถกมลกิตติคุณกำจร อมรสารเลิศฟ้า (ตระกูลพรหมพงศ์) เป็นช้างพังเผือกชื่อเล่นว่า “ขจร” นายปรีชาและนางพิมพ์ใจ วารวิจิตร ได้มาจากป่า จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และได้นำมาเลี้ยงไว้ที่บ้าน ณ ทุ่งสีกัน กรุงเทพมหานคร นายปรีชาและนางพิมพ์ใจ น้อมเกล้า ฯ ถวาย และโปรดเกล้า ฯ สมโภชขึ้นระวาง พระราชทานนาม เมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๐ ณ โรงช้างต้น สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต  พระวิมลรัตนกิริณี กมุทศรีพรรณโศภิตฯ            ๙. พระศรีนรารัฐราชกิริณี จิตรวดีโรจนสุวงศ์ พรหมพงศ์อัฏฐทิศพิศาล พิเสธการธรณิพิทักษ์ คุณารักษ์กิตติกำจร อมรสารเลิศฟ้า (ตระกูลพรหมพงศ์) เป็นช้างพังเผือก ชื่อเล่นว่า “จิตรา” ยายมายิ มามุ ราษฎรบ้านกูมุง หมู่ ๗ ตำบลจะแนะ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส ได้ลูกช้างพลัดแม่จากป่าบนเทือกเขากือซา นายวัชระ สิงคิวิบูลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส น้อมเกล้า ฯ ถวาย วันที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๐ สมโภชขึ้นระวาง พระราชทานนาม ณ จังหวัดนราธิวาส วันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๐ ปัจจุบันอยู่ที่โรงช้างต้น พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต พระศรีนรารัฐราชกิริณี จิตรวดีโรจนสุวงศ์ฯ          ๑๐. พระเศวตภาสุรคเชนทร์ นวเมนทรพาหน สุทธวิมลวิษณุพงศ์ คุณดำรงดามพหัสดินทร์ สุพัชรินทร์อนันตผล คชมงคลเลิศฟ้า (ตระกูลวิษณุพงศ์) เป็นช้างพลายเผือก ชื่อ “ภาศรี” นายสุรเดช มหารมย์ เจ้าของไร่ภาศรี  ใกล้เขื่อนแก่งกระจาน อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี  ได้มาจากชาวบ้านกระเหรี่ยง บ้านหนองปืนแตก ตำบลสองพี่น้อง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี นายศุภโยค พาณิชวิทย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี น้อมเกล้า ฯ ถวาย เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๑          ๑๑. พระเทพวัชรกิริณี ดามพหัสพิษณุพงศ์ โสตถ์ธำรงวิสุทธิลักษณ์ อำนรรฆคุณสบสกนธ์ วิมลสารโสภิต  พิบูลกิตติ์เลิศฟ้า (ตระกูลวิษณุพงศ์) เป็นช้างเผือก เดิมชื่อ “ขวัญตา” พระปลัดบุญส่ง ธัมมปาโล เจ้าอาวาสวัดเขาบรรไดอิฐ อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี  ได้มาจากนายสนิท ศิริวานิช กำนันตำบลเขาน้อย อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายศุภโยค พาณิชวิทย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี น้อมเกล้า ฯ ถวาย เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๑   พระเทพวัชรกิริณี ดามพหัสพิษณุพงศ์ฯ            ๑๒. พระบรมนขทัศ วัชรพาหน์พิษณุพงศ์ โสตถิธำรงอัฏฐคช ดิเรกยศอนันตคุณ อดุลสารเลิศฟ้า (ตระกูลวิษณุพงศ์) เป็นช้างพลายเผือก ลูกเถื่อนชื่อ “ดาวรุ่ง” พระปลัดบุญส่ง ธัมมปาโล ได้มาจากราษฎร อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นำมาเลี้ยงไว้ที่วัดเขาบรรไดอิฐ คู่กับช้างพัง “ขวัญตา” นายศุภโยค  พาณิชวิทย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี น้อมเกล้า ฯ ถวาย เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๑  

ภาพตัวอย่าง

ทีฆายุวัฒนมงคล 100 ปี ศาสตราจารย์พิเศษ คุณหญิงแม้นมาส ชวลิต

นิทรรศการ “ทีฆายุวัฒนมงคล” วาระครบรอบ ๑๐๐ ปี ศาสตราจารย์พิเศษ คุณหญิงแม้นมาส ชวลิต ๑๕ กันยายน ๒๕๖๕ ศาสตราจารย์พิเศษ คุณหญิงแม้นมาส ชวลิต           ศาสตราจารย์พิเศษ คุณหญิงแม้นมาส ชวลิต สกุลเดิม ลีละหุต (นามสกุลพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) เกิดเมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๕ ที่ตำบลปากแพรก อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นธิดาคนที่ ๖ ของว่าที่อำมาตย์ตรีขุนพิทักษ์ประชารมย์ (อัศว์ ลีละหุต) และนางพิทักษ์ประชารมย์ (ส้มกิ้น ลีละหุต) มีพี่น้องรวม ๑๐ คน คือ ด.ญ.เลื่อน ด.ญ.ล้อม ด.ญ.น้อม ด.ช.แนบ ด.ญ.มุล ด.ญ.แม้น ด.ญ.ม่อม  ด.ช.สมเกียรติ ด.ญ.นิตยา และ ด.ช.เล็ก ลีละหุต ทั้งนี้ในสมัยก่อนนิยมใช้ชื่อพยางค์เดียวทั้งผู้หญิงและผู้ชาย           ต่อมาในสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้กำหนดให้สตรีมีชื่อ ๒ พยางค์ ดังนั้น ด.ญ.แม้น จึงมีชื่อว่า แม้นมาส และเหตุที่ใช้พยัญชนะ ส สะกด เพราะพยัญชนะ ศ และ ษ ถูกตัดออกจากพยัญชนะไทยในสมัยนั้น เพื่อให้เขียนได้ง่ายขึ้น   การศึกษา นางสาวแม้นมาส ลีละหุตเมื่อสำเร็จปริญญาตรี จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๔๗๗  —     เริ่มการศึกษาในระดับประถมต้นที่โรงเรียนประชาบาลวัดท่ามอญ (ปัจจุบันคือวัดศรีทวี) อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช        ซึ่งเป็นโรงเรียนสตรีประจำจังหวัดนครศรีธรรมราชจนจบชั้นมัธยมปีที่ ๕   พ.ศ. ๒๔๗๙ —     ย้ายไปศึกษาต่อที่โรงเรียนสตรีจุลนาค จังหวัดพระนคร จนจบชั้นมัธยมปีที่ ๖   พ.ศ. ๒๔๘๑—     เข้าศึกษาต่อชั้นมัธยมปีที่ ๗ - ๘ ที่โรงเรียนสตรีสุนันทาลัย จนสำเร็จการศึกษา และเป็นผู้สอบชั้นมัธยมปีที่ ๘ ได้คะแนนเป็น        อันดับ ๒ ของประเทศ จึงได้รับทุนเล่าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา   พ.ศ. ๒๔๘๖ —     เข้าศึกษาต่อในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี   พ.ศ. ๒๔๙๒ —     สอบชิงทุนกระทรวงศึกษาธิการ และทุนของมหาวิทยาลัยมิชิแกน เพื่อไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทวิชาบรรณารักษศาสตร์ ณ          มหาวิทยาลัยมิชิแกน ประเทศสหรัฐอเมริกา และสำเร็จการศึกษา ใน พ.ศ. ๒๔๙๓ นอกจากนี้ในระหว่างปิดเทอมภาคฤดูร้อน ได้        ฝึกงานในห้องสมุดสำหรับเด็ก มหาวิทยาลัยมิชิแกน เพื่อหาประสบการณ์ในการทำงานห้องสมุดทุก ๆ ด้านซึ่งขณะนั้นมีคนไทยเพียง        คนเดียวที่ไปศึกษาวิชาบรรณารักษศาสตร์   พ.ศ. ๒๕๑๑ —     ได้รับทุนอบรมระยะสั้น จากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) ให้เข้า        อบรมวิธีสอนวิชาบรรณารักษศาสตร์ เป็นระยะเวลา ๖ เดือน ในโรงเรียนบรรณารักษศาสตร์ ประเทศเดนมาร์ก ต่อจากนั้นได้รับการ        ฝึกอบรมการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อดำเนินงานเอกสารของยูเนสโก ต่ออีก ๑ สัปดาห์ ณ สำนักงานใหญ่ของยูเนสโก กรุงปารีส         และได้รับประกาศนียบัตรพิเศษของยูเนสโก(วิธีสอนวิชาบรรณารักษศาสตร์) โรงเรียนบรรณารักษศาสตร   ชีวิตครอบครัว           นางสาวแม้นมาส  ลีละหุต สมรสกับ นายชาย ชวลิต เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๔ ระหว่างเดินทางไปศึกษาในระดับปริญญาโท ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยจดทะเบียนสมรส ณ เมืองแอนอาเบอร์ รัฐมิชิแกน สหรัฐอเมริกา มีบุตรธิดา รวม ๓ คน คือ           ๑. นางดารกา ชวลิต วงศ์ศิริ           ๒. นางสิริมา ชวลิต บลอม           ๓. นายตติย์ ชวลิต  นางแม้นมาส และนายชาย ชวลิต ขณะเดินทางไปศึกษาต่อ ณ สหรัฐอเมริกา   การทำงาน           เริ่มทำงานเป็นอาจารย์ผู้ช่วยสอนภาษาอังกฤษในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อยู่ ๑ ปี จากนั้นจึงลาออกไปทำงานหนังสือพิมพ์ประจำกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์นิกรรายวัน (พ.ศ. ๒๔๘๘ - ๒๔๙๒) ต่อมาได้เข้ารับราชการที่กระทรวงศึกษาธิการ ดังนี้           พ.ศ. ๒๔๙๒ เริ่มรับราชการชั้นตรี ตำแหน่งครูประจำการกรมวิสามัญศึกษา (ปัจจุบันคือกรมสามัญศึกษา) กระทรวงศึกษาธิการ ปฏิบัติงานในกองการศึกษาผู้ใหญ่           พ.ศ. ๒๔๙๗ โอนไปรับราชการในกรมสามัญศึกษา (เดิม) ตำแหน่งประจำแผนกการศึกษาประชาชน กองการ ศึกษาผู้ใหญ่           พ.ศ. ๒๔๙๘ ศึกษานิเทศก์โท ฝ่ายห้องสมุด กองการศึกษาผู้ใหญ่ กรมสามัญศึกษา           พ.ศ. ๒๕๐๓ โอนไปรับราชการ กรมวิชาการ ตำแหน่งหัวหน้าแผนกอุปกรณ์ กองอุปกรณ์การศึกษาปฏิบัติงานในห้องสมุดกระทรวงศึกษาธิการด้วย           พ.ศ. ๒๕๐๕ วิทยากรเอก กรมวิชาการ ปฏิบัติงานเกี่ยวกับหนังสือเรียน ห้องสมุดกระทรวงศึกษาธิการ ศูนย์วัสดุการศึกษา และห้องสมุดศาลาวันเด็ก           พ.ศ. ๒๕๐๗ โอนไปรับราชการกรมศิลปากร ตำแหน่งบรรณารักษ์เอก กองหอสมุดแห่งชาติ   บัตรข้าราชการ ศาสตราจารย์พิเศษ คุณหญิงแม้นมาส ชวลิตขณะดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกอง กองหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร           พ.ศ. ๒๕๑๒ หัวหน้ากองหอสมุดแห่งชาติ ระหว่างเดือนตุลาคม ๒๕๑๒ รักษาราชการแทน อธิบดีกรมศิลปากร ซึ่งเดินทางไปราชการต่างประเทศ และในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๑๒ ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการกองหอสมุดแห่งชาติ           พ.ศ. ๒๕๑๙ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลวารสารระหว่างชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และในปีเดียวกันนี้ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์พิเศษ          พ.ศ. ๒๕๒๐ ดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมศิลปากร รับผิดชอบงานบริหารและดูแลงานด้านห้องสมุด ด้านจดหมายเหตุ และด้านพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ           ๑๕ มิถุนายน ๒๕๒๑ ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้ไปปฏิบัติงาน ณ องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ในตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาหนังสือแห่งเอเชียและแปซิฟิค ณ เมืองการาจี ประเทศปากีสถาน รับผิดชอบงานด้านการพัฒนาหนังสือ ฝึกอบรมการสร้างและพัฒนาหนังสือ ปฏิบัติหน้าที่เป็นเวลากว่า ๕ ปี           ๓๐ กันยายน ๒๕๒๕ เกษียณอายุราชการ ศาสตราจารย์พิเศษ คุณหญิงแม้นมาส ชวลิต ร่วมประชุมของยูเนสโก เรื่อง “ห้องสมุดประชาชนในเอเชีย” ณ กรุงเดลีขณะดำรงตำแหน่งประจำแผนกการศึกษาประชาชน กองการศึกษาผู้ใหญ่ ศาสตราจารย์พิเศษ คุณหญิงแม้นมาส ชวลิต ในขณะที่ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาหนังสือในเอเชียและแปซิฟิกของยูเนสโกได้รับเชิญจากคณะกรรมการของแคว้นไฮเดอราบัด ปากีสถานให้ประกอบพิธีสวมยอดเครื่องประดับแสดงคารวะแก่กวีผู้ยิ่งใหญ่ของรัฐที่ล่วงลับไปแล้ว ศาสตราจารย์พิเศษ คุณหญิงแม้นมาส ชวลิต ขณะปฏิบัติหน้าที่ ณ ประเทศปากีสถาน   รางวัลและเกียรติคุณ           พ.ศ. ๒๕๑๙ ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์พิเศษ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย           พ.ศ. ๒๕๒๙ ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ วิชาบรรณารักษศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน           พ.ศ. ๒๕๓๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า จตุตถจุลจอมเกล้า ในวโรกาสพระราชพิธีฉัตรมงคล เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๑           พ.ศ. ๒๕๓๗ กิตติเมธีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช           พ.ศ. ๒๕๓๘ ศิษย์เก่าอักษรศาสตร์ดีเด่น คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศาสตราจารย์พิเศษ คุณหญิงแม้นมาส ชวลิต นิสิตรุ่นที่ ๘ (๒๔๘๒ - ๒๔๘๕) รับโล่จากคณบดี คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะศิษย์เก่าอักษรศาสตร์ดีเด่น           พ.ศ. ๒๕๔๑ บุคคลดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ศาสตราจารย์พิเศษ คุณหญิงแม้นมาส ชวลิต รับโล่เชิดชูเกียรติบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี             พ.ศ. ๒๕๔๖ รางวัลนราธิป เป็นรางวัลที่มอบให้นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ กวี นักแปล และบรรณาธิการอาวุโส ที่สร้างสรรค์ผลงานมาอย่างต่อเนื่อง           พ.ศ. ๒๕๕๐ รางวัลสุรินทราชา เพื่อเชิดชูเกียรตินักแปลจากผลงานเรื่อง ผจญทะเล และวิมานลอย ศาสตราจารย์พิเศษ คุณหญิงแม้นมาส ชวลิต ที่ปรึกษาสมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทยมอบโล่ “รางวัลสุรินทราชา” เนื่องในวันนักแปลและล่าม ครั้งที่ ๔ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๓ พ.ศ. ๒๕๕๐ รางวัลศาสตราจารย์ คุณหญิงแม้นมาส ชวลิต ด้านการพัฒนาห้องสมุด ในโครงการเชิดชูผู้ทำความดีเพื่อสังคมมูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ศาสตราจารย์พิเศษ คุณหญิงแม้นมาส ชวลิต รับรางวัล “ศาสตราจารย์ คุณหญิงแม้นมาส ชวลิต” (ด้านการพัฒนาห้องสมุด) ประจำปี ๒๕๕๐ ตามโครงการเชิดชูผู้ทำความดีเพื่อสังคม                     พ.ศ. ๒๕๕๑ ปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย สำนักส่งเสริมและเผยแพร่วัฒนธรรม สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ           พ.ศ. ๒๕๖๕ รับรางวัลผู้มีคุณูปการต่อการศึกษาของชาติ ประจำปี ๒๕๖๕ เนื่องใน “วันครู ๒๕๖๕” ครั้งที่ ๖๖ ในวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๕   เครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตติยจุลจอมเกล้า (ต.จ.)  ประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.) ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก , https://th.wikipedia.org/wiki/ตติยจุลจอมเกล้า       บทบาทด้านบรรณารักษ์           ศาสตราจารย์พิเศษ คุณหญิงแม้นมาส ชวลิตเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยวางรากฐานงานห้องสมุดในประเทศไทยให้ก้าวหน้า ทั้งยังมีผลงานเป็นที่ยอมรับในวงการทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ งานที่เกี่ยวกับการพัฒนาห้องสมุดในประเทศซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๖ ได้แก่           ๑. การก่อตั้งสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย               คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ มูลนิธิฟูลไบรท์ (Fulbright) ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ร่วมมือกันจัดการฝึกอบรมทางบรรณารักษศาสตร์ระยะสั้น เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๔ ผลจากการฝึกอบรมในครั้งนั้นก่อให้เกิด “ชมรมห้องสมุด” ขึ้น และเพื่อให้สถานภาพของชมรมห้องสมุดมีความมั่นคงยิ่งขึ้น จึงได้ขอจดทะเบียนเป็น “สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย” อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๗ มีศาสตราจารย์พิเศษ คุณหญิงแม้นมาส ชวลิต เป็นนายกสมาคมห้องสมุด ฯ คนแรก               ต่อมาสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ รับไว้ในพระราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ ๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๙   สำนักงานสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทยยุคแรก สำนักงานสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทยฯ ในปัจจุบัน   ศาสตราจารย์พิเศษ คุณหญิงแม้นมาส ชวลิต วิทยากรอบรมวิชาบรรณารักษศาสตร์โดยความช่วยเหลือจากมูลนิธิฟูลไบรท์ (Fulbright) ประเทศสหรัฐอเมริกา   ศาสตราจารย์พิเศษ คุณหญิงแม้นมาส ชวลิตนำเสด็จพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ทอดพระเนตรร้านจำหน่ายหนังสือในงานประชุมใหญ่สามัญประจำปี ๒๕๑๐ ของสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย ศาสตราจารย์พิเศษ คุณหญิงแม้นมาส ชวลิต ในฐานะนายกสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทยนำสมาชิกไปศึกษาดูงานห้องสมุด ในประเทศมาเลเซีย และสิงคโปร์ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๗   ๒. การพัฒนาห้องสมุดในประเทศไทย   ศาสตราจารย์พิเศษ คุณหญิงแม้นมาส ชวลิตตั้งแต่แรกเริ่มรับราชการได้ทำโครงการเกี่ยวกับการสร้างและพัฒนาห้องสมุดต่าง ๆ เป็นการวางระบบบริหารงานห้องสมุด การดำเนินงานทางเทคนิคการให้บริการ การออกแบบอาคาร ครุภัณฑ์ และอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องใช้ในงานห้องสมุด ได้แก่    การวางระบบบริหารงานห้องสมุด การจัดทำคู่มือการปฏิบัติงาน จัดจำแนกตำแหน่งและกำหนดหน้าที่ใน แต่ละตำแหน่ง กำหนดเกณฑ์มาตรฐานการทำงานทั้งด้านคุณภาพ และปริมาณ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพิจารณา ผลการปฏิบัติงานของแต่ละตำแหน่ง รวมทั้งเป็นกรรมการกำหนดมาตรฐานห้องสมุดต่าง ๆ ของกระทรวงศึกษาธิการและมาตรฐานกำหนดตำแหน่งของครูบรรณารักษ์ห้องสมุดโรงเรียนทั่วประเทศ    การจัดทำมาตรฐานแบบครุภัณฑ์ห้องสมุด และการจัดวางผังห้องสมุดประชาชนขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ระหว่างที่ปฏิบัติราชการในกองการศึกษาผู้ใหญ่ กรมสามัญศึกษา    การพัฒนาห้องสมุดต่าง ๆ ในประเทศไทย เช่น การออกแบบห้องสมุดคุรุสภา ห้องสมุดมหาวิทยาลัย เชียงใหม่ และห้องสมุดโรงเรียนหลายแห่ง เช่น ห้องสมุดทดลองโรงเรียนสายน้ำผึ้ง ห้องสมุดโรงเรียนตัวอย่าง เพื่อขยายบริการสู่ชุมชนที่บ้านดีลัง จังหวัดลพบุรี และห้องสมุดโรงเรียนประถมศึกษาวัดสุตธรรมาราม จังหวัดนครนายก เป็นต้น ศาสตราจารย์พิเศษ คุณหญิงแม้นมาส ชวลิต ถวายรายงาน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและมอบตู้หนังสือให้ชาวเขา ๕๙ ตู้ เนื่องในวันรัชดาภิเษก ศาสตราจารย์พิเศษ คุณหญิงแม้นมาส ชวลิต ถวายการแนะนำหนังสือและการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน ณ ห้องสมุดโรงเรียนพึ่งบารมี จังหวัดลพบุรี ศาสตราจารย์พิเศษ คุณหญิงแม้นมาส ชวลิต ได้รับปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์วิชาบรรณารักษศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร                 ศาสตราจารย์พิเศษ คุณหญิงแม้นมาส ชวลิต เป็นผู้นำและสร้างความก้าวหน้าด้านบรรณารักษศาสตร์แก่ประเทศไทยเป็นอย่างมาก ประกอบกับเป็นผู้ที่เสียสละ เอาใจใส่ ปรับปรุงสร้างสรรค์งานให้ก้าวหน้าอยู่ตลอดเวลา นำความเจริญสู่วิชาชีพบรรณารักษ์โดยแท้จริง เป็นแบบอย่างที่ดีในการปฏิบัติและเป็นผู้สมควรแก่การยกย่องสภามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จึงเห็นสมควรมอบปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาบรรณารักษศาสตร์เพื่อเป็นการประกาศเกียรติคุณสืบไป   การประชุมจัดทำหนังสือสำหรับเด็ก ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพระหว่างวันที่ ๑๘ - ๒๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๘ ศาสตราจารย์พิเศษ คุณหญิงแม้นมาส ชวลิต มอบของที่ระลึกแก่นักเรียนในวันยุวกวี ครั้งที่ ๘ ศาสตราจารย์พิเศษ คุณหญิงแม้นมาส ชวลิตเข้าร่วมประชุมสหพันธ์ระหว่างประเทศว่าด้วยสมาคมและสถาบันห้องสมุด หรือ ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๐     บทบาทด้านการศึกษา ศาสตราจารย์พิเศษ คุณหญิงแม้นมาส ชวลิตได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์พิเศษ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย           ศาสตราจารย์พิเศษ คุณหญิงแม้นมาส ชวลิต เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยวางรากฐานวิชาชีพบรรณารักษ์ เป็นบุคคลแรกที่ได้นำความรู้และประสบการณ์ด้านบรรณารักษศาสตร์ตามมาตรฐานสากลมาใช้ ซึ่งในขณะนั้นประเทศไทยยังไม่มีการศึกษาวิชาบรรณารักษศาสตร์นับว่าท่านเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ และเป็นผู้มีคุณูปการต่อวิชาชีพบรรณารักษ์ซึ่งมีบทบาทสำคัญ ดังนี้             ๑. การร่วมก่อตั้งและพัฒนาวิชาบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์ เพื่อชดเชยความขาดแคลนบุคลากรที่มีวุฒิทางวิชาชีพโดยร่วมจัดทำหลักสูตรวิชาบรรณารักษศาสตร์ของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเปิดสอนวิชานี้เป็นแห่งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๘ เริ่มด้วยหลักสูตรอนุปริญญา ต่อมาขยายเป็นหลักสูตรปริญญาตรี ปริญญาโท และประกาศนียบัตรชั้นสูง โดยได้เข้าร่วมเป็นกรรมการจัดทำหลักสูตรทุกระดับของมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ด้วย นอกจากนี้ยังเป็นผู้ริเริ่มจัดทำหลักสูตรบรรณารักษศาสตร์ ชุดประกาศนียบัตรครู ชุดพิเศษทั้งระดับประโยคครูประถมศึกษาและมัธยมศึกษา (พ.ป.)           ๒. เป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาบรรณารักษศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่แรกเริ่มทั้งในระดับอนุปริญญา ปริญญาตรี และปริญญาโท นานกว่า ๑๕ ปี ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์พิเศษ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากนี้ยังเป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาบรรณารักษศาสตร์ในมหาวิทยาลัยชั้นนำของไทย เช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร และมหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นต้น   บทบาทด้านหอสมุดแห่งชาติ          พ.ศ. ๒๕๐๔ หอสมุดแห่งชาติ ตั้งอยู่ที่ตึกถาวรวัตถุ ถนนหน้าพระธาตุ สังกัดกรมศิลปากร กระทรวง ศึกษาธิการ ในระยะนั้นมีผู้มาใช้บริการหอสมุดแห่งชาติหนาแน่นจนสถานที่คับแคบ จึงมีการสร้างอาคารหอสมุด แห่งชาติหลังใหม่ ณ ท่าวาสุกรี โดยกรมศิลปากรมีนโยบายจะปรับปรุงโครงสร้างและขยายงานหอสมุดแห่งชาติเข้าสู่มาตรฐานสากล จึงแยกงานหอสมุดแห่งชาติออกจากกองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ ตั้งเป็นกองหอสมุดแห่งชาติ  โดยจัดหาทุนให้เจ้าหน้าที่เดินทางไปศึกษาวิชาบรรณารักษศาสตร์ และเทคโนโลยีสมัยใหม่ รวมทั้งขอโอนข้าราชการ  ที่มีความสามารถและประสบการณ์ด้านห้องสมุดจากหน่วยงานอื่น เพื่อทำหน้าที่ในการปรับปรุงและพัฒนากิจการ ของหอสมุดแห่งชาติให้บรรลุเป้าหมาย           ศาสตราจารย์พิเศษ คุณหญิงแม้นมาส ชวลิต ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งวิทยากรเอกของกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้มีบทบาทสำคัญและมีผลงานด้านกิจการห้องสมุด รับผิดชอบกิจการห้องสมุดของกระทรวง ศึกษาธิการ และเป็นผู้ที่ได้รับการศึกษาระดับปริญญาโททางบรรณารักษศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน ประเทศสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ยังได้ศึกษาดูงานและฝึกปฏิบัติงานในแผนกเด็กห้องสมุดประชาชนคาร์เนกี เมืองพิตต์สเบิร์ก และแผนกวารสารหอสมุดกลางของมหาวิทยาลัยมิชิแกน นับเป็นประสบการณ์สำคัญที่สามารถนำมาใช้เพื่อพัฒนาหอสมุดแห่งชาติได้เป็นอย่างดี ซึ่งภารกิจงานสำคัญที่ดำเนินงานระหว่างรับราชการที่กรมศิลปากร มีดังนี้           ๑. การก่อสร้างอาคารหอสมุดแห่งชาติ           พ.ศ. ๒๕๐๗ ศาสตราจารย์พิเศษ คุณหญิงแม้นมาส ชวลิต ได้โอน ย้ายมารับราชการที่กรมศิลปากร ในตำแหน่งบรรณารักษ์เอกกองหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร ซึ่งเป็นระยะเวลาที่กรมศิลปากรกำลังก่อสร้างอาคารหอสมุดแห่งชาติที่ท่าวาสุกรี โดยเป็นผู้บุกเบิกงานก่อสร้างอาคารหอสมุดแห่งชาติ และเป็นผู้พิจารณากำหนดพื้นที่ปฏิบัติงานในอาคารใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะงานตามแบบสากล ตลอดจนร่วมพิจารณาออกแบบครุภัณฑ์ และเครื่องใช้ รวมทั้งกำหนดตำแหน่งที่ตั้งร่วมกับกองสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร           ๒. การขนย้ายและการจัดห้องสมุด           พ.ศ. ๒๕๐๘ การก่อสร้างอาคารหอสมุดแห่งชาติแล้วเสร็จ การขนย้ายหนังสือตัวพิมพ์ หนังสือตัวเขียน และตู้พระธรรม ตลอดจนการจัดห้องสมุดใหม่เป็นงานใหญ่และต้องการแผนปฏิบัติงานที่รัดกุม การดำเนินงานภายใต้การบริหารงานของศาสตราจารย์พิเศษ คุณหญิงแม้นมาส ชวลิต เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีพิธีเปิดอาคารหอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๙ และให้บริการแก่ประชาชนตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา การก่อสร้างอาคารหอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี เขตดุสิต เมื่อแรกสร้าง อาคารหอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี เมื่อสร้างเสร็จเรียบร้อยและเปิดให้บริการ เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๙   ผู้ใช้บริการห้องอ่านหนังสือภายในหอสมุดแห่งชาติ   พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙เสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรกิจการของหอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี เขตดุสิต เมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๐ ศาสตราจารย์พิเศษ คุณหญิงแม้นมาส ชวลิต กราบบังคมทูลอธิบายนิทรรศการพิเศษ ณ อาคารหอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี  เมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๐   สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตน-ราชสุดา ฯสยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดนิทรรศการ “๑๐๐ ปี วันประสูติพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์” ณ หอสมุดแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๐              ๓. การพัฒนาคุณภาพบุคลากรหอสมุดแห่งชาติ หอสมุดแห่งชาติเป็นแหล่งวิทยาการสำคัญในการพัฒนาคนและพัฒนาประเทศ มีการปรับปรุงและแบ่งส่วนราชการหอสมุดแห่งชาติใหม่ พร้อมทั้งพัฒนาคุณภาพบุคลากร มีการจัดหาทุนและสนับสนุนให้ข้าราชการหอสมุดแห่งชาติได้รับการศึกษาระดับสูงขึ้นในระดับปริญญาโท รวมทั้งทุนฝึกอบรมทั้งในประเทศและต่างประเทศ           ๔. การนำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ในหอสมุดแห่งชาติ การริเริ่มโครงการจัดทำบรรณานุกรมแห่งชาติด้วยระบบคอมพิวเตอร์ โดยขอความร่วมมือจากองค์การยูเนสโกและสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในการขอสนับสนุนทุนในการศึกษาดูงาน และติดต่อผู้เชี่ยวชาญเพื่อช่วยวางระบบงานหอสมุดแห่งชาติ และการนำคอมพิวเตอร์มาช่วยปฏิบัติงานบรรณานุกรมแห่งชาติ    ศาสตราจารย์พิเศษ คุณหญิงแม้นมาส ชวลิต ร่วมหารือกับ Mrs. Salman-El Madini ตัวแทนจาก UNESCO ปารีส ในเรื่องเกี่ยวกับการนำคอมพิวเตอร์มาใช้ในหอสมุดแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๖             ๕. การยกระดับงานหอสมุดแห่งชาติให้เข้าสู่มาตรฐานสากล นอกจากงานจัดทำบรรณานุกรมแห่งชาติ  อันเป็นหน้าที่สำคัญของหอสมุดแห่งชาติ และเป็นการยกระดับกิจการของหอสมุดแห่งชาติให้ทัดเทียมกับห้องสมุดอื่นในด้านวิชาการแล้ว ศาสตราจารย์พิเศษ คุณหญิงแม้นมาส ชวลิต ยังเป็นผู้ริเริ่มนำกิจการของหอสมุดแห่งชาติออกสู่การสมาคมร่วมมือกับต่างประเทศ โดยได้ริเริ่มโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศขึ้น ได้แก่            การริเริ่มให้มีการใช้เลขมาตรฐานสากลประจำวารสาร (International Standard Serials Number – ISSN) ก่อตั้งศูนย์ข้อมูลวารสารระหว่างชาติแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (International Serials Data System – Southeast Asia Regional Center - ISDS-SEA) โดยได้ร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียทั้ง ๕ ประเทศ ด้วยการสนับสนุนขององค์การยูเนสโก และองค์การการพัฒนาการวิจัยระหว่างชาติ (International Development Research Center) ของประเทศแคนาดา และยังได้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลวารสารระดับภูมิภาค ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศไทย และใช้พื้นของหอสมุดแห่งชาติเป็นที่ทำการ ทั้งนี้ได้มีการขอสนับสนุนทุนในการส่งเจ้าหน้าที่ของหอสมุดแห่งชาติไปศึกษาดูงานที่สำนักงานศูนย์ระหว่างชาติ ณ กรุงปารีส           การร่วมก่อตั้งโครงการศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนและยืมสิ่งพิมพ์ระหว่างประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (National Librarians and Documentation Center Consortium in Southeast Asia - NLDC SEA) ซึ่งโครงการนี้ได้ก่อตั้งขึ้นโดยมีหอสมุดแห่งชาติสิงคโปร์เป็นหัวหน้าโครงการ           การริเริ่มก่อตั้งสภาบรรณารักษ์แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Congress of Southeast Asian Librarians - CONSAL) โดยร่วมมือกับบรรณารักษ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๗๐ (พ.ศ. ๒๕๑๓) เพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกในการพัฒนาห้องสมุดและเสริมสร้างความเป็นหนึ่งเดียวระหว่างบรรณารักษ์ของประเทศสมาชิกกว่า ๑๐ ประเทศ ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม พม่า กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม และไทย การจัดการประชุมกำหนดจัดขึ้นทุก ๆ ๓ ปี โดยมีประเทศสมาชิกหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพ ทั้งนี้ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพในการประชุม จำนวน ๓ ครั้ง ได้แก่ ครั้งที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๒๑ ครั้งที่ ๙ พ.ศ. ๒๕๓๖ และครั้งที่ ๑๖ พ.ศ. ๒๕๕๘ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดการประชุมสภาบรรณารักษ์แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (CONSAL) ครั้งที่ ๑๖เมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๘ ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค   ตัวแทนประเทศไทยรับมอบธงเพื่อรับมอบเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม สภาบรรณารักษ์แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (CONSAL) ครั้งที่ ๑๖ พ.ศ. ๒๕๕๘ การส่งมอบธงและส่งต่อการเป็นเจ้าภาพแก่ประเทศเมียนมา ในการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมสภาบรรณารักษ์แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (CONSAL)ครั้งที่ ๑๗ ณ ประเทศเมียนมา            การจัดอบรมบรรณารักษ์ผู้ปฏิบัติงาน เป็นการพัฒนาบุคลากรซึ่งมีส่วนสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนหอสมุดแห่งชาติ มีการจัดอบรมบรรณารักษ์ผู้ปฏิบัติงานในด้านต่าง ๆ อาทิ งานเทคนิคห้องสมุด การให้บริการสารสนเทศด้านวัฒนธรรม เป็นต้น โดยเชิญวิทยากรที่เป็นบรรณารักษ์ทรงคุณวุฒิจากต่างประเทศมาร่วมงานด้วย เป็นการยกฐานะหอสมุดแห่งชาติ ให้ก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำทางวิชาการ           การเข้าร่วมประชุมสหพันธ์ระหว่างประเทศว่าด้วยสมาคมและสถาบันห้องสมุด (International Federation of Library Associations and Institutions - IFLA) เป็นการเข้าร่วมประชุมด้านบรรณารักษศาสตร์ในระดับสากล ทำให้กิจการห้องสมุดของประเทศไทยเป็นที่รู้จักในนานาประเทศ ตลอดจนนำไปสู่ความร่วมมือในด้านวิชาการและด้านบริการระหว่างประเทศ ดร.เกษม สุวรรณกุล รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัยประธานในพิธีเปิดการอบรมบรรณารักษ์ในเอเชียอาคเนย์ เมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๗           ๖. การขยายงานบริการหอสมุดแห่งชาติ           การได้รับบริจาคหนังสือและสิ่งของเครื่องใช้ส่วนตัวของพระยาอนุมานราชธนจากทายาท และก่อตั้งเป็น “ห้องสมุดอนุมานราชธน” ณ อาคารหอสมุดแห่งชาติ ชั้น ๓ ตลอดจนการได้รับบริจาคหนังสือจากห้องสมุด ม.จ.สมัยเฉลิม กฤดากร ห้องสมุดหลวงดรุณกิจวิทูร ห้องสมุดพลเรือตรีแชน ปัจจุสานนท์ ห้องสมุดนายเฉลิม ยงบุญเกิดซึ่งล้วนเป็นหนังสือที่มีคุณค่าและหายาก อันเป็นการเสริมศักยภาพของหอสมุดแห่งชาติให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น           การริเริ่มงานโครงการ “ศูนย์นราธิปเพื่อการวิจัยทางสังคมศาสตร์” โดยรับบริจาคหนังสือและเครื่องใช้ส่วนพระองค์ของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ จากทายาท คือ ท่านผู้หญิงวิวรรณ วรวรรณ เศรษฐบุตร โครงการนี้ตั้งที่ทำการ ณ หอวชิราวุธ ซึ่งเป็นอาคารหอสมุดแห่งชาติหลังเดิม ณ ตึกถาวรวัตถุ ถนนหน้าพระธาตุ และมีพิธีเปิดให้บริการแก่ประชาชน เมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๒ (ขณะนั้นศาสตราจารย์พิเศษ คุณหญิงแม้นมาส ชวลิต ได้ปฏิบัติงานอยู่ต่างประเทศ)   สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดศูนย์นราธิปเพื่อการวิจัยทางสังคมศาสตร์ เมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๒           การก่อสร้างหอพระสมุดวชิรญาณ (อาคาร ๒) ท่าวาสุกรี เขตดุสิต เพื่อใช้เป็นสถานที่เก็บรักษาศิลาจารึกและตู้ไทยโบราณที่ย้ายมาจากหอพระสมุดวชิราวุธ มีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆ ปริณายก ทรงเป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๘ ปัจจุบันใช้พื้นที่นี้สร้างอาคาร ๕ ชั้น ของสำนักหอสมุดแห่งชาติ อาคารหอพระสมุดวชิรญาณ ท่าวาสุกรี สถานที่เก็บรักษาศิลาจารึกและตู้ไทยโบราณ             การสร้างห้องพระมงกุฎเกล้า ฯ ตั้งอยู่ชั้น ๓ ของอาคารหอสมุดแห่งชาติ ใช้เป็นที่เก็บหนังสือส่วนพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ตลอดจนหนังสืออื่น ๆ ที่มีคุณค่าและหายาก ต่อมาขยายงานเป็นหอวชิราวุธานุสรณ์   สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดห้องสมุดพระมงกุฎเกล้า ฯ เมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๔ วันครบรอบ ๙๐ ปี แห่งพระบรมราชสมภพในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว       ผลงานประพันธ์และการแปลหนังสือ           ศาสตราจารย์พิเศษ คุณหญิงแม้นมาส ชวลิต เริ่มเขียนหนังสือมาตั้งแต่หลังสงครามโลก ครั้งที่ ๒ โดยใช้ทั้งชื่อจริงและนามปากกา “รอย โรจนานนท์” “กันย์” “โรจนากร” “ม. ลีละหุต” และ “มนัสนันท์” ผลงานด้านการเขียนประกอบด้วยหนังสือสำหรับเด็ก งานเขียนด้านพุทธศาสนา ด้านสารคดีและบันเทิงคดี นอกจากนี้ยังมีผลงานการแปลหนังสือภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทย โดยได้แปลหนังสือ สารคดี นวนิยาย หนังสือสำหรับเด็ก บทความในวารสารวิชาการจำนวนมาก           หนังสือสำหรับเด็ก เช่น แม่ไก่สีแดง กระต่ายแหย่เสือ เกียจคร้านเจ้าปัญญา ชาลีขี่ก้านกล้วย ตุ๊กตายอดรัก โสนน้อย หมาน้อยสิบตัว เป็นต้น ผลงานด้านการเขียนหนังสือสำหรับเด็ก             หนังสือแปล เช่น “การขยายกิจการของห้องสมุดประชาชน แปลจาก Library extension work and publicity” “โรงเรียนในทุ่งกว้าง แปลจาก Prairie school” “วรรณกรรมชิ้นเอกของสหรัฐอเมริกา แปลจาก Great American short stories” “หนังสืออ่านเพิ่มเติมระดับมัธยมศึกษา เรื่อง แฮนส์คริสเตียน แอนเดอร์เสน แปลจาก Hans Christian Andersen” และ “วิมานลอย แปลจาก Gone with the wind” เป็นต้น ผลงานด้านการแปลหนังสือ             งานเขียนด้านพุทธศาสนา ได้แก่ ประทีปแห่งชมพูทวีป และพระพุทธประวัติ           ด้านสารคดีและบันเทิงคดี ได้แก่ คู่มือการใช้สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน แนวทางส่งเสริมการอ่าน ปกิณกะ: การอ่านหนังสือของเด็ก ปกิณกะ: การปฏิรูปห้องสมุด ยอดปรารถนา โรงเรียนของแม่ ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช: เอกสารมรดกไทย - เอกสารมรดกโลก           ผลงานวิชาการด้านบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศ ได้แก่ การระวังรักษาและซ่อมหนังสือ ประวัติหอสมุดแห่งชาติ วิชาบรรณารักษศาสตร์ และห้องสมุดโรงเรียน       งานเขียนด้านพุทธศาสนา งานเขียนด้านสารคดีและบันเทิงคดี     ศาสตราจารย์พิเศษ คุณหญิงแม้นมาส ชวลิต รับพระราชทานรางวัลวรรณกรรมอาเซียน จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ศาสตราจารย์พิเศษ คุณหญิงแม้นมาส ชวลิต รับเสด็จ ฯ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในงานนิทรรศการสารานุกรมไทย สำหรับเยาวชน   ศาสตราจารย์พิเศษ คุณหญิงแม้นมาส ชวลิต รับพระราชทานรางวัลวรรณกรรมอาเซียน ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งชาติ ศาสตราจารย์พิเศษ คุณหญิงแม้นมาส ชวลิต รับรางวัลการประกวดหนังสือ พุทธประวัติสำหรับเยาวชน ในงานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ พ.ศ. ๒๕๐๐ จาก ม.ล. ปิ่น มาลากุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดงาน       คุรุบูชา ทีฆายุวัฒนมงคล วาระครบรอบ ๑๐๐ ปี ศาสตราจารย์คุณหญิงแม้นมาส ชวลิต ๑๕ กันยายน ๒๕๖๕            คุณสมบัติแห่งทองผ่องพิลาส                ดั่งแม้นมาสปูชนีย์ศรีกรมศิลป์ วิสัยทัศน์วิสัยธรรมนำอาจิณ                            การุญรินมอบความรู้สู่สังคม คือผู้ใหญ่มีธรรมล้ำผู้ใหญ่                               วิถีไทยปณิธานประสานสม เกียรติยศงดงามนิยามนิยม                             บูชาชมกราบพระคุณอุ่นอารี            ประชุมเชิญประเมินมิ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์          จตุรพิธพรภิรมย์อุดมดิถี มหาฤกษ์มหาไชยวลัยวลี                                บวงบายศรีเจิมขวัญมั่นมงคล ๑๕ กันยมาสครบคำรบล้ำ                              มาลัยคำนำพิพัฒน์สวัสดิผล ทีฆายุบรรลุล้วนประมวลพิมล                          ไพบูลย์ชนม์จิรังร้อยนิรันดร ลาภยศสุขสรรเสริญเจริญยิ่ง                            ประสงค์สิ่งประสิทธิ์สรรพ์สโมสร พรแผ่นดินแผ่นฟ้าคุณากร                              สถาพรทุกทิวาราตรีเทอญฯ นายบุญเตือน ศรีวรพจน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอักษรศาสตร์ (ภาษาและวรรณกรรม) กรมศิลปากร ประพันธ์      

ภาพตัวอย่าง

แผ่นเสียงในสยาม

กระบอกเสียง การบันทึกเสียงยุคแรก กระบอกเสียงเอดิสัน (EDISON CYLINDER) การบันทึกเสียงช่วงเริ่มแรก เป็นการบันทึกเสียงลงบนกระบอกเสียงทรงกลมยาว โดย โทมัส อัลวา เอดิสัน (Thomas Alva Edison) ผู้ค้นพบความสำเร็จในการบันทึกเสียง เมื่อ พ.ศ. 2420 เรียกเครื่องบันทึกเสียงนี้ว่า “กระบอกเสียงเอดิสัน” (EDISON CYLINDER)           กระบอกเสียงนี้มีลักษณะเป็นทรงกระบอก บนผิวด้านนอกฉาบไว้ด้วยขี้ผึ้งแข็ง เวลาบันทึกเสียงใช้วิธีไขลานให้ท่อทรงกระบอกหมุนไป แล้วผู้ขับร้องจะร้องเพลงกรอกลงไปทางลำโพง เสียงที่เข้าทางลำโพงจะไปสั่นที่เข็ม ซึ่งจะขูดลงไปบนขี้ผึ้งบนรูปทรงกระบอกให้เกิดเป็นร่องเสียงขึ้น เริ่มต้นตั้งแต่ส่วนหัวของกระบอกไปจบลงที่ปลายอีกข้าง เป็นอันเสร็จการบันทึก เมื่อจะนำมาเปิดฟังก็นำกระบอกเสียงนั้นมาหมุนด้วยเครื่องไขลานเช่นเดียวกัน แล้วใช้เข็มขูดลงไปบนร่องที่ได้บันทึกไว้ เสียงเพลงก็จะออกมาทางลำโพงเดียวกับที่เคยใช้บันทึกเสียง  (จากหนังสือ เครื่องเสียงโบราณ ตำนานแห่งศาสตร์และศิลป์ โดย พฤฒิพล ประชุมผล) จากทรงกระบอกสู่แผ่นแบนราบ จุดเริ่มต้นของแผ่นเสียง                พ.ศ. 2430 อีมิล เบอร์ไลเนอร์ (Emile Berliner) นักประดิษฐ์ชาวเยอรมัน ได้ทดลองทำการบันทึกเสียงลงบนวัสดุแบนราบแทนวัสดุทรงกระบอก ซึ่งสะดวกกว่าและบันทึกเสียงได้ยาวกว่า โดยเริ่มแรกใช้วิธีบันทึกเสียงจากกลางแผ่นให้เข็มขูดเป็นร่องออกมาสู่ขอบแผ่นช้าๆ เพลงจึงมาจบที่ขอบแผ่นเสียง เรียกแผ่นรุ่นแรกนี้ว่า “แผ่นเสียงร่องกลับทางของเบอร์ไลเนอร์” อีมิล เบอร์ไลเนอร์ (Emile Berliner) "บิดาแห่งแผ่นเสียง"                ต่อมา พ.ศ. 2434 เบอร์ไลเนอร์ ได้พัฒนาคุณภาพการผลิตแผ่นเสียงให้ดีขึ้น โดยใช้วัสดุนิกเกิลผสมกับทองแดง ตีเป็นแผ่นบาง หุ้มด้วยชแล็คสูตรผสม ซึ่งให้เสียงที่มีชีวิตชีวามากขึ้น เรียกแผ่นเสียงชนิดนี้ว่า “แผ่นเสียงครั่ง” จากการคิดค้นการบันทึกเสียงลงแผ่นเสียงนี้ เบอร์ไลเนอร์จึงได้รับการยกย่องว่าเป็น “บิดาแห่งแผ่นเสียง”(จากหนังสือ เครื่องเสียงโบราณ ตำนานแห่งศาสตร์และศิลป์ โดย พฤฒิพล ประชุมผล) การบันทึกเสียงยุคแรกในสยาม                กระบอกเสียงเข้ามาสู่ประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 จากหลักฐานที่นาย ต.เง็กชวน บันทึกไว้ว่าได้เห็นและฟังเพลงจากกระบอกเสียง เมื่อ พ.ศ. 2437 โดยมีผู้นำเข้ามาเปิดในงานโกนจุก ณ ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา นอกจากหลักฐานการบันทึกเสียงในไทยแล้ว ยังปรากฏหลักฐานการบันทึกเสียงวงดนตรีไทยของคณะนายบุศย์ มหินทร์ ลงกระบอกเสียง ณ ประเทศเยอรมนี เมื่อ พ.ศ. 2443                ต่อมาจึงเริ่มมีการบันทึกเสียงลงแผ่นเสียงครั้งแรก ณ วังบ้านหม้อ ซึ่งเป็นที่ตั้งของกรมมหรสพหลวงในสมัยรัชกาลที่ 5 ในระยะแรก เป็นการบันทึกเสียงลงบนกระบอกเสียงแล้วนำไปอัดลงแผ่นเสียงครั่งที่ต่างประเทศ และนำกลับเข้ามาจำหน่ายที่สยาม แผ่นเสียงครั่งที่นำเข้ามาจำหน่ายตราแรกในสยาม คือ ตราอรหันต์ ตราที่สองคือ ตราปาเต๊ะ คณะนายบุศย์ มหินทร์ บันทึกเสียงเพลงสรรเสริญพระบารมีครั้งแรกที่ประเทศเยอรมนี เมื่อ พ.ศ 2443                ปลายรัชกาลที่ 6 มีการผลิตแผ่นเสียงโดยคนไทย มี 4 ตรา ได้แก่ ตรากระต่าย ตรากรอบพักตร์สีทอง ตราเศรณี และตราศรีกรุง หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 แผ่นเสียงเพลงไทยสากลเกิดขึ้นแทนที่แผ่นเสียงเพลงไทยเดิม มีบริษัทและห้างแผ่นเสียงของคนไทยเกิดขึ้นจำนวนมากและได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย (จากหนังสือ เครื่องเสียงโบราณ ตำนานแห่งศาสตร์และศิลป์ โดย พฤฒิพล ประชุมผล และรายงานการวิจัยเรื่อง การบันทึกเสียงเพลงไทย : กรณีศึกษาแผ่นเสียงร่องกลับทาง โดย ศันสนีย์ จะสุวรรณ์) แผ่นเสียงปาเต๊ะเพลงไทย                พ.ศ. 2451 บริษัทปาเต๊ะ (Pathé) ซึ่งเป็นบริษัทผลิตแผ่นเสียงจากฝรั่งเศส ส่งวิศวกรมาบันทึกเสียงลงกระบอกเสียง และนำกลับไปผลิตเป็นแผ่นเสียงร่องกลับทางที่ประเทศฝรั่งเศสและเบลเยียม ลักษณะพิเศษของแผ่นเสียงร่องกลับทางจะเล่นจากด้านในสู่ด้านนอก หน้าตราระบุชื่อเพลงและนักร้องโดยใช้กรดกัดแล้วปาดสี แผ่นเสียงเพลงไทยของปาเต๊ะจะใช้ลาเบลที่ปาดด้วยสีเหลืองโดยเฉพาะ เรียกแผ่นเสียงนี้ว่า “แผ่นเสียงชนิดแข็งเข็มเพ็ชร” เพราะต้องใช้เข็มเพชรหัวมนเล่นโดยเฉพาะเท่านั้น                หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 บริษัทปาเต๊ะตั้งโรงงานสำหรับผลิตแผ่นเสียงเพลงไทยที่เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน โดยใช้ไก่แดงเป็นตราสัญลักษณ์ การผลิตใช้กระดาษระบุตราแทนการกัดด้วยกรด และเปลี่ยนรูปแบบการเล่นจากด้านนอกสู่ด้านในเหมือนแผ่นเสียงปัจจุบัน นักร้องที่มีชื่อเสียงของแผ่นเสียงเพลงไทยปาเต๊ะ อาทิ หม่อมเจริญ หม่อมมาลัย ส่วนใหญ่เป็นการบันทึกเสียงเพลงพื้นบ้าน เช่น เพลงเป๋ (เพลงฉ่อย) เพลงแหล่ เพลงตับ และเพลงเบ็ดเตล็ด หม่อมส้มจีนนักร้องหญิงไทยคนแรกที่บันทึกเสียง                หม่อมส้มจีน เกิดในปลายรัชกาลที่ 4 เป็นภรรยาของพระยาราชานุประพันธ์ (สุดใจ บุนนาค) และเป็นศิษย์ของพระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์) เป็นนักร้องหญิงที่มีเสียงเล็กแหลมร้องเพลงได้ชัดถ้อยชัดคำ และมีลีลาการเอื้อนที่ละเอียดลออหมดจด มีชื่อเสียงในเรื่องการร้องเพลงสามชั้น           หม่อมส้มจีน เป็นนักร้องหญิงไทยคนแรกที่ได้บันทึกเสียงลงกระบอกเสียงเอดิสันและได้บันทึกเสียงลงแผ่นเสียงหลายตรา เช่น ตราอรหันต์ ตราโอเดียน และแผ่นเสียงผู้มีบรรดาศักดิ์ แผ่นเสียงของหม่อมส้มจีนระยะแรกมักพิมพ์ชื่อผิดโดยพิมพ์ว่า “หม่อมซ่มจีน” ซึ่งที่ถูกแล้วต้องเป็น “หม่อมส้มจีน” หม่อมส้มจีนเป็นนักร้องสตรีบรรดาศักดิ์คนแรกและคนเดียวของสยามที่แผ่นเสียงมีลายสลักชื่อของเจ้าตัวปรากฏเป็นหลักฐาน                 จากแผ่นเสียงครั่งสู่แผ่นเสียงไวนิล           พ.ศ. 2473 มีการพัฒนาเทคโนโลยีการบันทึกเสียง ด้วยระบบสเตอริโอ (Stereo) ซึ่งให้คุณภาพเสียงที่ดีกว่าแผ่นเสียงครั่ง สามารถเล่นได้ที่ความเร็วต่ำ 33 รอบต่อนาที (33 RPM) ซึ่งเดิมแผ่นเสียงครั่งเล่นด้วยความเร็ว 78 รอบต่อนาที (78 RPM) แผ่นเสียงที่พัฒนาขึ้นนี้ผลิตจากวัสดุโพลิเมอร์สังเคราะห์เรียกว่า “ไวนิล” (Vinyl) จึงเป็นที่มาของการเรียกชื่อแผนเสียงนี้ว่า “แผ่นไวนิล”                  พ.ศ. 2492 บริษัท RCA Victor พัฒนาแผ่นเสียงไวนิลขนาด 7 นิ้ว เล่นด้วยความเร็ว 48 (48 RPM) รอบต่อนาที เรียกว่า “แผ่นซิงเกิล” (Single) บันทึกเสียงไว้ 1-2 เพลง ปกติแผ่นเสียงไวนิลจะถูกผลิตออกมาเป็นสีดำ แต่ในปัจจุบันมีการผลิตแผ่นเสียงพิเศษจำนวนมากมีสีสันสวยงาม และมีการผลิตแผ่นเสียงขนาดพิเศษ ซึ่งแตกต่าง ไปจากแผ่นเสียงขนาด 7 นิ้ว 10 นิ้ว และ 12 นิ้ว ส่วนมากจัดทำขึ้นในวาระโอกาสพิเศษ  แผ่นเสียงเพลงสำคัญของชาติ           การบันทึกเสียงเพลงสำคัญของชาติครั้งแรก เป็นการบันทึกเสียงเพลงสรรเสริญพระบารมี เมื่อ พ.ศ. 2443 บรรเลงโดยวงดนตรีไทยของคณะนายบุศย์ มหินทร์ ที่ประเทศเยอรมนี บันทึกเสียงลงบนกระบอกเสียงของเอดิสัน ต่อมา พ.ศ. 2450 มีการบันทึกเสียงโดยการขับร้องประกอบครั้งแรกโดย แม่ปุ่ม และแม่แป้น ในแผ่นเสียงปาเต๊ะร่องกลับทาง          สำหรับเพลงชาติเริ่มใช้แทนเพลงสรรเสริญพระบารมีตั้งแต่พ.ศ. 2475 บันทึกเสียงครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2477 หลังจากประกาศใช้เพลงชาติฉบับเต็มอย่างเป็นทางการ โดยบันทึกเสียงลงแผ่นเสียงครั่งตราโอเดียน บรรเลงโดยเครื่องสายฝรั่งวงใหญ่ทหารเรือ หน้า 1 เป็นคำร้องของขุนวิจิตรมาตรา และหน้า 2 คำร้องของนายฉันท์ ขำวิไล          ปัจจุบันเพลงสำคัญของชาติที่รัฐบาลไทยจัดให้มีความสำคัญในระดับชาติ มีจำนวน 8 เพลง ได้แก่ เพลงชาติ เพลงสรรเสริญพระบารมี เพลงมหาชัย เพลงมหาฤกษ์ เพลงสดุดีมหาราชา เพลงภูมิแผ่นดินนวมินทร์มหาราชา เพลงสดุดีจอมราชา และเพลงสดุดีพระแม่ไทย (จากหนังสือ เครื่องเสียงโบราณ ตำนานแห่งศาสตร์และศิลป์ โดย พฤฒิพล ประชุมผล)  แผ่นเสียงเพลงพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 9                การบันทึกเสียงเพลงพระราชนิพนธ์ครั้งแรก มีขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2492 โดยบริษัทแผ่นเสียงนำไทยบันทึกเสียงลงแผ่นเสียงครั่งตราสุนัข (HIS MASTER’S VOICE) หน้าสีขาวพิเศษ ตัวหนังสือสีทอง แผ่นเสียงเพลงพระราชนิพนธ์ชุดแรกนี้มี 2 แผ่น ประกอบด้วย เพลงสายฝน ใกล้รุ่ง ชะตาชีวิต และยามเย็น ขับร้องโดยศิลปินที่มีชื่อเสียงและบรรเลงโดยวงดนตรีสากลกรมโฆษณาการ ต่อมาบริษัทแผ่นเสียงอื่นๆ ได้ขอพระบรมราชานุญาตบันทึกเสียงเพลงพระราชนิพนธ์ลงแผ่นเสียงอีกหลายแห่ง เพลงพระราชนิพนธ์ได้รับการบันทึกเสียงลงแผ่นเสียงมาอย่างยาวนาน มีการเรียบเรียงใหม่ และถ่ายทอดผ่านดนตรีหลากหลายรูปแบบ ทำให้มีความเป็นสากล และร่วมสมัยมากยิ่งขึ้น ตัวอย่างปกแผ่นเสียงพระราชนิพนธ์ (จาก "เพลงพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9"(ตอนที่ 1)) แผ่นเสียงเพลงไทยของกรมศิลปากร           กรมศิลปากรจัดทำแผ่นเสียงเพลงไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์เผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมด้านดนตรีและนาฏศิลป์ของไทย ผ่านการบันทึกเสียงเพลงไทยแบบฉบับลงบนแผ่นเสียง มีทั้งเพลงร้อง เพลงเดี่ยว เพลงระบำสำหรับใช้ประกอบการฟ้อนรำ และเพลงรำวงบรรเลงและขับร้องโดยศิลปินภายใต้วงดุริยางค์ไทยและวงดุริยางค์ สากลของกรมศิลปากร แผ่นเสียงเพลงไทยชุดแรกจัดทำขึ้นและเริ่มจำหน่ายเมื่อ พ.ศ. 2501                             ในระยะแรกเป็นการบันทึกเสียงลงบนแผ่นเสียงครั่ง ขนาด 10 นิ้ว มีทั้งหมด 3 ชุด จำนวน 30 แผ่น ได้รับความนิยมจากประชาชนเป็นอย่างมาก ต่อมาใน พ.ศ. 2505 จึงได้จัดทำแผ่นเสียงไวนิล ลองเพลย์ ขนาด 12 นิ้ว ซึ่งสามารถบันทึกเสียงได้มากกว่าแผ่นเสียงครั่ง แผ่นเสียงเพลงไทยนี้มีสมุดอธิบายเพลงพร้อมบทร้องทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษประกอบทุกชุด ตัวอย่างปกแผ่นเสียงของกรมศิลปากร (จาก "สมุดอธิบายเพลงแผ่นเสียงลองเพลย์ของกรมศิลปากร ชุดที่ 4") แผ่นเสียงเพื่อการศึกษา                แผ่นเสียงเป็นสื่อเพื่อการเรียนรู้อย่างหนึ่งโดยกระทรวงศึกษาธิการได้จัดทำขึ้นเผยแพร่เพื่อใช้ประกอบบทเรียนและเสริมหลักสูตรในรายวิชาต่างๆ เช่น แผ่นเสียงการอ่านทำนองเสนาะสำหรับใช้ประกอบแบบเรียนวรรณคดีและภาษาไทย แผ่นเสียงสำหรับบทเรียนภาษาอังกฤษ แผ่นเสียงเพลงเด็ก แผ่นเสียงเพลงสำหรับฝึกหัดการเต้นตามจังหวะ เพื่อใช้เสริมหลักสูตรวิชาดนตรีและนาฏศิลป์ เป็นต้น           สำหรับเพลงเด็กที่ใช้ประกอบการเรียนการสอนซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย คือ เพลงช้าง แต่งโดย คุณหญิงชิ้น ศิลปบรรเลงใช้ทำนองเพลงไทย คือ เพลงพม่าเขว เป็นเพลงร้องสำหรับเด็กที่เผยแพร่ผ่านรายการวิทยุโรงเรียน ซึ่งเป็นบทเรียนในหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ เพลงช้างนี้ได้รับการยกย่องและคัดเลือกให้เป็นเพลงประเทศภาคพื้นเอเชีย โดยศูนย์วัฒนธรรมแห่งเอเชียเพื่อสหประชาชาติ ยูเนสโก (ACCU:Asian Cultural Centre forUNESCO) คุณหญิงชิ้น ศิลปบรรเลง ผู้ประพันธ์เพลง "ช้าง" (จาก "หนูรู้จักช้างหรือเปล่า หนูรู้จักชิ้นหรือเปล่า" โดย อานันท์ นาคคง (วารสารวัฒนธรรมออนไลน์)) รางวัลแผ่นเสียงทองคำ                รางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน นับเป็นรางวัลอันเป็นเกียรติยศสูงสุดของศิลปินเพลง โดยศิลปินผู้ผ่านการคัดเลือกจะได้เข้าเฝ้า เพื่อรับพระราชทานรางวัลแผ่นเสียงทองคำจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 รางวัลนี้มีที่มาจากการจัดรายการอันดับเพลงไทยสากลยอดนิยมประจำสัปดาห์ของสถานีวิทยุกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้วงการเพลงไทยเกิดความตื่นตัวในการสร้างสรรค์ผลงานให้ดียิ่งขึ้น”           งานมอบรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2507 เพลงที่ได้รับการคัดเลือกเป็นเพลงไทยสากลประเภทลูกกรุงและลูกทุ่ง รางวัลมีทั้งด้านคำร้อง ทำนอง การเรียบเรียงเสียงประสาน เพลงที่ได้รับความนิยม และศิลปินยอดเยี่ยมชาย-หญิง โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิในวงการเพลงเป็นคณะกรรมการตัดสิน (จาก ห้องสมุดดนตรีออนไลน์ TK Music Library) แผ่นเสียงคุณค่าทางใจและความสุนทรีย์ที่จับต้องได้                ปัจจุบันความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีทำให้ผู้ฟังสามารถฟังเพลงได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ผ่านการฟังเพลงในรูปแบบสตรีมมิ่งบนออนไลน์และการดาวน์โหลดไฟล์ อย่างไรก็ตามแผ่นเสียงเริ่มกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง โดยพบว่าใน พ.ศ. 2563 มียอดผลิตมากกว่าแผ่นซีดีเป็นครั้งแรกในรอบ 35 ปี นับเป็นปรากฏการณ์สำคัญที่หลายคนตั้งคำถามว่า ทำไมแผ่นเสียงจึงกลับมาเป็นที่นิยมในโลกยุคดิจิทัล           การกลับมาได้รับความนิยมของแผ่นเสียงไวนิลในปัจจุบัน โดยเฉพาะในหมู่นักฟังเพลงชาวไทย อาจเกิดจากหลายสาเหตุด้วยกัน ทั้งคุณค่าในด้านของศิลปวัตถุทางด้านดนตรี และสุนทรียภาพทางดนตรีจากแผ่นเสียง การฟังเพลงจากเครื่องเล่นแผ่นเสียงทำให้หวนคิดถึงบรรยากาศในอดีต จากเสน่ห์ของเสียงที่ถูกสรรสร้าง ตั้งแต่ กระบวนการบันทึกเสียงลงบนแผ่นเสียงด้วยระบบอนาล็อกที่ให้เสียงเป็นธรรมชาติ นุ่มนวล คมชัด และมีรายละเอียดของเสียงที่ต่างจากไฟล์เสียงดิจิทัล           นอกจากนี้การออกแบบปกแผ่นเสียงยังเป็นงานศิลปะที่สวยงาม แฝงด้วยความหมายและสะท้อนเรื่องราวของศิลปินที่น่าสนใจ ทั้งนี้การเก็บสะสมแผ่นเสียงยังเป็นการแสดงออกถึงการสะสมวัตถุทางด้านดนตรีที่จับต้องได้ของนักดนตรี หรือนักสะสมและเป็นงานอดิเรกที่เก็บเรื่องราวความรู้เกี่ยวกับดนตรี จนเมื่อเวลาผ่านไปก็กลายเป็นความรู้ทางคลังประวัติศาสตร์ของวงการเพลงได้ในตัวเอง (จาก "ทำไมแผ่นเสียงถึงเป็นไอเทมขายดีในยุคดิจิทัล"https://www.longtungirl.com/3984และ "ทำไมเครื่องเล่นแผ่นเสียงจึงกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้งในยุคดิจิตอล?"https://www.elpashaw.com/article/tunable-in-digital)  



for w3c
ภาพตัวอย่าง

คำถามที่พบบ่อย / FAQ

คำถามที่พบบ่อย / FAQ สำนักหอสมุดแห่งชาติเปิดให้บริการ และปิดบริการกี่โมง ?         สำนักหอสมุดแห่งชาติ        วันจันทร์ - ศุกร์  เวลา 09.00 - 18.30 น.        วันเสาร์ - อาทิตย์  เวลา 09.00 - 17.00 น.        ปิดบริการ วันหยุดนักขัตฤกษ์และวันหยุดตามมติคณะรัฐมนตรี         NLT Smart Library        วันจันทร์ - ศุกร์  เวลา 07.00 - 18.30 น.        วันเสาร์ - อาทิตย์  เวลา 09.00 - 17.00 น.        วันหยุดนักขัตฤกษ์และวันหยุดตามมติคณะรัฐมนตรี  เวลา 09.00 - 17.00 น.        ปิดบริการ เทศกาลสงกรานต์ และเทศกาลปีใหม่  วิธีการสมัครสมาชิกหอสมุดแห่งชาติ ใช้อะไรบ้าง ?         ประชาชนทุกท่านสามารถลงทะเบียนสมัครเป็นสมาชิกหอสมุดแห่งชาติด้วย "บัตรประชาชน" เพียงใบเดียว ผ่านตู้ลงทะเบียนอัตโนมัติบริเวณทางเข้าหอสมุด        ดูวิธีการลงทะเบียนเพิ่มเติม ที่นี่ สามารถยืมหนังสือกลับบ้านได้ไหม ?         ไม่ได้ เนื่องจากสำนักหอสมุดแห่งชาติเป็นแหล่งรวบรวมและจัดเก็บทรัพยากรสารสนเทศที่ได้รับตามพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550        สำหรับให้บริการแก่ประชาชนทุกท่าน และเพื่อป้องกันการสูญหายที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต ทางหอสมุดจึงมีมาตรการไม่ให้ผู้ใช้บริการยืมหนังสือออกไปภายนอกหอสมุด  มีให้บริการถ่ายเอกสารหรือไม่ ?         มีร้านเอกชนให้บริการถ่ายเอกสาร อยู่ที่อาคาร 1 ชั้น 2 (ด้านหน้าห้องบริการวิทยานิพนธ์ฯ)         การขอเลข ISBN ISSN หรือ จดแจ้งการพิมพ์ จะต้องทำอย่างไร ?         โปรดอ่านรายละเอียด ที่นี่  หากต้องการบริจาคหนังสือให้หอสมุดต้องทำอย่างไร ?         โปรดอ่านรายละเอียด ที่นี่  หากต้องการแนะนำหนังสือเข้าหอสมุด เพื่อให้หอสมุดจัดซื้อต้องทำอย่างไร ?         โปรดกรอกข้อมูลแนะนำเสนอซื้อหนังสือเข้าหอสมุดแห่งชาติ ที่นี่  การแต่งกายมาหอสมุดแห่งชาติ         ผู้ใช้บริการสามารถแต่งกายด้วยชุดลำลองสุภาพตามความเหมาะสม  สามารถนำอาหารหรือเครื่องดื่มเข้ามารับประทานในหอสมุดแห่งชาติได้หรือไม่ ?         ผู้ใช้บริการสามารถนำอาหารเข้ามารับประทานได้เฉพาะบริเวณที่หอสมุดจัดไว้ให้เท่านั้น (บริเวณโถงอาคาร 2 ชั้น 1) และเครื่องดื่มที่มีฝาปิดมิดชิดป้องกันการหกและไม่ส่งกลิ่นรบกวนผู้ใช้บริการท่านอื่นสามารถนำเข้ามาได้              วิธีการเดินทางมาหอสมุดแห่งชาติ           การเดินทางโดยรถโดยสารประจำทาง ขสมก สาย 3, 9, 16, 30, 32, 33, 49, 64, 65, 110, ปอ.505       การเดินทางโดยรถไฟฟ้าบีทีเอส (BTS) ลงสถานีราชเทวี จากนั้นท่านสามารถใช้บริการรถประจำทางสาย 23, 72ลงสถานีสะพานควาย จากนั้นท่านสามารถใช้บริการรถประจำทางสาย 3       การเดินทางโดยรถไฟฟ้ามหานคร (MRT) ลงสถานีบางซื่อ จากนั้นท่านสามารถใช้บริการรถประจำทางสาย 65ลงสถานีเตาปูน จากนั้นท่านสามารถใช้บริการรถประจำทางสาย 16, 30, ปอ.505ลงสถานีบางโพ จากนั้นท่านสามารถใช้บริการรถประจำทางสาย 64ลงสถานีหัวลำโพง จากนั้นท่านสามารถใช้บริการรถประจำทางสาย 49ลงสถานีสนามไชย จากนั้นท่านสามารถใช้บริการรถประจำทางสาย 3, 9       การเดินทางโดยรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ลงสถานีพญาไท จากนั้นท่านสามารถใช้บริการรถประจำทางสาย 72       การเดินทางโดยเรือด่วนเจ้าพระยา มีท่าเรือใกล้กับหอสมุดคือ ท่าเทเวศน์ มีเรือโดยสารธงส้ม ธงเหลือง ธงเขียว       การเดินทางโดยเรือโดยสารคลองแสนแสบ สามารถลงท่าตลาดโบ๊เบ๊ จากนั้นท่านสามารถใช้บริการรถประจำทางสาย 49, 53        ต้องการสืบค้นหนังสือในหอสมุดต้องทำอย่างไร ?         เริ่มต้นค้นหาผ่านเมนูการสืบค้น http://search.nlt.go.th/ หากต้องการเยี่ยมชม/ศึกษาดูงานสำนักหอสมุดแห่งชาติเป็นหมู่คณะต้องทำอย่างไร ?         โปรดติดต่อกลุ่มบริการทรัพยากรสารสนเทศ โทรศัพท์ 0 2280 9828 - 32 ต่อ 670 Fax. 0 2280 7543 Email: itech@nlt.go.th          และชมภาพการเยี่ยมชมหอสมุด ที่นี่  หากต้องการร้องเรียน เสนอความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะ ในการใช้บริการสำนักหอสมุดแห่งชาติ         ท่านสามารถทำการร้องเรียนได้ ที่นี่



เว็บไซต์ของเรามีการใช้งานคุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานให้กับผู้ใช้งาน ทั้งนี้ สามารถมั่นใจได้ว่าเราจะดูแลและรักษาความปลอดภัยข้อมูลของท่านเป็นอย่างดี