ช้างมงคล


นิทรรศการ “ช้างมงคล”






 

ต้นกำเนิดของช้าง มีเรื่องราวกล่าวไว้อย่างพิสดาร จัดเป็นสิ่งที่มหัศจรรย์อย่างหนึ่งตามความเชื่อในลัทธิศาสนาพราหมณ์ กับยังมีบันทึกเรื่องราวไว้เป็นตำรา ปรากฏเป็นศาสตร์ที่สำคัญแขนงหนึ่งของประเทศอินเดียที่มีมาแต่โบราณ คือ ตำรา คชศาสตร์ มีเนื้อหากล่าวไว้ถึงกำเนิดของช้าง ๔ ตระกูล ดังนี้

 

          ในไตรดายุคหนึ่ง ขณะที่พระวิษณุ หรือ พระนารายณ์บรรทมอยู่ ณ เกษียรสมุทร บังเกิดมีดอกบัวผุดขึ้นทางพระนาภีของพระองค์ ดอกบัวนั้นมี ๘ กลีบ ๑๗๓ เกสร พระวิษณุนำดอกบัวไปถวายพระอิศวรครั้งนั้นพระอิศวรแบ่งดอกบัวอันบังเกิดด้วยเทวฤทธิ์ของพระวิษณุออกเป็น ๔ ส่วน จัดเป็นส่วนของพระองค์เอง ๘ เกสร นอกนั้นแบ่งประทานแก่ พระพรหม ๘ กลีบ พร้อมกับเกสรอีก ๒๔ เกสร ประทานแก่พระวิษณุ ๘ เกสร และประทานแก่พระอัคนี ๑๓๓ เกสร เทพเจ้าทั้งสี่ได้เนรมิตดอกบัวในแต่ละส่วนของพระองค์ให้บังเกิดเป็นช้างขึ้นในโลก ปรากฏเป็นคชพงศ์ หรือ ช้างตระกูลต่าง ๆ ๔ ตระกูล แต่ละตระกูลมีชื่อตามนามเทพเจ้าผู้เนรมิตให้บังเกิดขึ้น คชพงษ์ทั้ง ๔ ตระกูล เมื่อได้กำเนิดขึ้นแล้ว ต่างก็มีรูปร่างลักษณะ อุปนิสัย และส่วนอื่นๆ ของร่างกาย เป็นไปตามฤทธิ์และอำนาจที่ได้รับถ่ายทอดมาจากเทพเจ้าผู้เนรมิตให้บังเกิดขึ้น

 

คำศัพท์เรียกส่วนต่างๆ ของช้าง

 

          เป็นช้างที่พระอิศวรเนรมิตให้บังเกิดขึ้น ในคัมภีร์คชลักษณ์กล่าวว่าเมื่อพระอิศวรโยนเกสรดอกบัวทั้งแปดในส่วนของพระองค์บนพื้นโลกแล้วเนรมิตให้บังเกิดเป็นช้าง ๘ หมู่ เรียกว่า อัฐคชาธาร เป็นช้างศุภลักษณ์วรรณะกษัตริย์ สมบูรณ์ด้วยลักษณะแห่งวรรณะ กล่าวคือ มีผิวหนังละเอียด เกลี้ยง สดใส มีขนสีเดียวกับสีตัว สีดำสนิทเสมอกันตลอดตัว หน้าใหญ่ น้ำเต้ากลม โขมดสูง ขมับเต็มไม่พร่องเสมอกันทั้ง ๒ ข้าง กระบอกตาใหญ่และงาม ใบหูใหญ่ ระบายหูอ่อนนุ่ม หูข้างขวามีขนมากกว่าข้างซ้าย คอกลม งวงเรียวเป็นต้นเป็นปลาย งาทั้งคู่ใหญ่เสมอกันและงอนขึ้นอยู่ในระดับเดียวกัน สนับงา มี ๒ ชั้น ปากรีมีรูปปากเหมือนปากหอยสังข์ อกใหญ่ ขาทั้งสี่ใหญ่เรียวดูอ่อน มีรอยรัดข้อเท้า ฝักบัวกลม หางเป็นข้อห่างๆ ช่อม่วง ยาวเอียงไปทางขวา ผนดท้องตามวงหลัง ส่วนหน้าสูงกว่าท้าย เมื่อเดินยกคอหลังโค้งขึ้นเล็กน้อยเป็นคันธนู ท้ายเป็นสุกร ทุกส่วนของร่างกายงามพร้อม

          อัฐคชาธารทั้ง ๘ หมู่ นอกจากจะมีลักษณะเฉพาะตามคชลักษณ์ของคชชาติอิศวรพงศ์แล้วยังมีชื่อและลักษณะเฉพาะตัวของแต่ละหมู่ ดังต่อไปนี้

 
        ๑. อ้อมจักรวาล มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่มีงาซ้ายตรงยาวเสมอหน้างวง งาขวายาวกว่างาซ้าย และปลายงาอ้อมผ่านงวงมาทับอยู่บนงาซ้ายเล็กน้อย เป็นช้างที่มีความกล้าหาญยิ่ง
        ๒. กัณฑ์หัตถี หรือ คชกรรณหัสดี บางตำราใช้ชื่อว่า กันหัศ มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่งาช้างซ้ายอ้อมผ่านเหนืองวงไปด้านขวาปลายงางอนขึ้นตรงไพรปากข้างขวา ส่วนงาอ้อมผ่านเหนืองวงไปด้านซ้าย ปลายงางอนขึ้นตรง ไพรปากข้างซ้าย ปลายงาที่งอนขึ้นทั้ง ๒ ข้าง อยู่ในระดับเดียวกันเป็นลักษณะงากอดงวง เป็นช้างที่มีพลานุภาพมากชนะแก่ศัสตราวุธทุกชนิด และชนะแก่ศัตรูทั้งปวง
        ๓. เอกทันต์ มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่มีงาเดียวงอกออกจากเพดานใต้งวง เมื่อยกงวงไปเบื้องซ้าย งาจะอยู่ทางขวา ถ้ายกงวงไปเบื้องขวา งาจะอยู่ทางซ้าย เป็นช้างที่มีกำลังมาก เป็นพาหนะของพระอินทร์ เทวดาชื่อ “คชนาค” ได้นำช้างนี้ไปไว้ที่ป่าวรรณวิหารมิได้มาอยู่ที่เมืองมนุษย์จึงไม่มีใครเคยพบเห็น
        ๔. กาฬวกะหัตถี หรือ กาฬทันต์หัตถี บางตำราเรียกว่า “กาลหัตถี” มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่ทุกส่วนของร่างกายมีสีดำ คือ ตัวดำ ขนดำ ตาดำ งาดำ และเล็บดำ เป็นช้างที่ห้าวหาญปราบศัตรูให้ราบคาบมีชัยชนะทุกเมื่อ
        ๕. จตุรศก หรือ จัตุศก มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่งาทั้งสองข้าง มีต้นงากลมแล้วแยกออกเป็นข้างละ    ๒ งา ทั้งซ้ายและขวา รวมเป็น ๔ งา เป็นช้างที่เข้มแข็ง กล้าหาญ สามารถปราบศัตรูได้ทั้งปวง
        ๖. ทันตรำพาน หรือ โรมทันต์ บางตำราเรียกว่า “พทันตรภาร” มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่มีต้นงาซ้ายและงาขวาไขว้กันอยู่ กล่าวคือ ต้นงาขวาทับอยู่เหนือต้นงาซ้าย ทำให้ปลายงาขวางอนออกไปทางซ้าย ส่วนปลายงาซ้ายงอนออกไปทางขวา เป็นช้างที่กล้าหาญยิ่ง คุ้มกันโทษภัยทั้งปวงแม้เพียงได้เห็นศัตรูก็ยอมแพ้ 
        ๗. สีหชงค์ หรือ สิงหชงฆ์ มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่ขาคู่หน้าสูงกว่าขาคู่หลัง แข้งกลม เรียวแข็งประดุจสิงหราช เป็นช้างที่เข้มแข็ง ห้าวหาญยิ่ง
        ๘. จุมปราสาท มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่ปลายงาทั้งซ้ายและขวามีสีแดง และมีรัศมี ประดุจแสงแก้ว เป็นช้างที่มีฤทธิ์เดชและอำนาจยิ่ง


          ในคัมภีร์คชลักษณ์กล่าวว่า เมื่อพระพรหมได้รับกลีบดอกบัวและเกสรจากพระอิศวรแล้ว ได้โยนกลีบดอกบัวทั้ง ๘ ลงบนพื้นโลก เนรมิตให้บังเกิดเป็นช้าง ๘ หมู่ให้อยู่ประจำตามทิศต่าง ๆ ทั้ง ๘ ทิศเรียกว่า คชอัฐทิศ ส่วนเกสรดอกบัวได้มอบให้นางเทพอัปสร มหาอุปากาลี หรือบางตำราว่า ชื่อ มหาอุปกาสี เป็นเทพอัปสรที่พระอิศวรสาปให้ลงมาอยู่ในถ้ำเทวีสินทรบรรพตในป่าหิมวันต์ ขณะที่นางอาศัยอยู่ในถ้ำนั้น ได้กินเถาคชลดาวัลย์เป็นอาหาร เมื่อพระพรหมประทานเกสรดอกบัวให้นางแล้ว นางได้เนรมิตให้บังเกิดบุตรเป็นช้างตระกูลพรหมพงศ์ ๑๐ หมู่

          ช้างตระกูลพรหมพงศ์ทุกหมู่ล้วนมีลักษณะเฉพาะตระกูลพรหมพงศ์ คือ เป็นช้างศุภลักษณ์ วรรณะพราหมณ์ สมบูรณ์ด้วยลักษณะแห่งวรรณะ กล่าวคือ มีผิวหนังละเอียดอ่อน ขนเส้นเล็กละเอียดอ่อนเรียบและยาวงอกขึ้นขุมละ ๒ เส้น สีขนมีสีเดียวกับสีตัว ขนหู ขนตา ขนปาก และขนหลังยาวมีกระขาวประดุจดอกกรรณิการ์ทั่วตัว หน้าใหญ่ น้ำเต้าแฝดโขมดสูง นัยน์ตางามใสประดุจแก้ว คิ้วสูง งวงเรียวเป็นต้นเป็นปลาย และสั้น ดูงดงาม งายาวใหญ่สมส่วน สีเหลืองประดุจสีดอกจำปา อกใหญ่สีขาว เท้าทั้ง ๒ ข้าง ใหญ่เรียว มีรอยรัดข้อเท้า ฝักบัวกลม ขณะยืนส่วนหน้าสูงกว่าส่วนท้าย ทุกส่วนของร่างกายงามพร้อม

          คชอัฐทิศ เป็นช้าง ๘ หมู่ อยู่ประจำทิศทั้ง ๘ ช้างทุกหมู่ต่างมีลักษณะเฉพาะตระกูลพรหมพงศ์ดังกล่าวมาข้างต้นแล้ว ทั้งยังมีลักษณะเฉพาะตัวเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละหมู่อีกด้วย ดังต่อไปนี้

        ๑. ไอราพต เป็นช้างประจำทิศบูรพา มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่สีกายประดุจสีเมฆเมื่อครึ้มฝน รูปร่างสูงใหญ่กว่าช้างทั้งปวง นัยน์ตาใหญ่แวววาวประดุจดาวประกายพรึก งาทั้งคู่ใหญ่ยาวงอนขึ้นเบื้องขวา งวงดั่งนาคราช ใบหูทั้ง ๒ ข้างกว้าง ปลายใบหูยาวและอ่อนเมื่อปรบไปเบื้องหน้าและเบื้องหลัง ปลายใบหูจรดถึงกัน โขมดสูงงาม หลังราบ งามประดุจคันธนู เท้าทั้ง ๔ กลมดั่งกงจักร มีเล็บเสมอกันทุกเล็บ หางบังคลอง ส่วนหน้าสูง ส่วนท้ายต่ำอย่างราชสิงหราช เมื่อร้องมีเสียงประดุจเสียงสังข์
        ๒. บุณฑริก เป็นช้างประจำทิศอาคเนย์ มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่สีกายขาวบริสุทธิ์ประดุจดอกบัวหลวง หรือสีของเถ้าไม้หลัว (ขี้เถ้าไม้ฟืน) มีกลิ่นตัวหอมประดุจดอกบัวสัตตบงกช บางตำราว่า ดอกบัวสัตตบุษย์เหี่ยว ศีรษะใหญ่ งาใหญ่สั้นมีสีดั่งสีสังข์ หรือสีวัวเผือก บางตำราว่า สีผ้าขาวอันงามบริสุทธิ์ เล็บงามสีขาวนวลดั่งทอง ผนดท้องสีดุจเมฆฝนเมื่อใกล้จะตก
        ๓. พราหมณ์โลหิต เป็นช้างประจำทิศทักษิณมีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่สีกายแดงงาม บริสุทธิ์ประดุจสีโลหิต นัยน์ตางาม คอกลม งาใหญ่ รูปร่างใหญ่แต่เตี้ย เมื่อร้องมีเสียงดังประดุจเสียงแตรกาหล เป็นช้างที่มีกำลังกล้าแข็งห้าวหาญยิ่ง
        ๔. กุมุท หรือ กระมุท เป็นช้างประจำทิศหรดี มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่สีกายประดุจสีดอกกุมุท หรือดอกบัวสายสีขาว งามบริสุทธิ์ รูปร่างสูงใหญ่ ตัวยาวกลม ใบหูอ่อน งายาวงอนขึ้นเหมือนวงเดือนเมื่อขึ้น ๓ ค่ำ      เมื่อร้องมีเสียงดังเสียงแตร เป็นช้างที่มีความห้าวหาญยิ่ง
        ๕. อัญชัน หรือ อังชัน เป็นช้างประจำทิศประจิม มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่สีกายเขียวประดุจสีดอกอัญชัน งามบริสุทธิ์ บางตำราว่าสีเขียวประดุจสีภูเขาอันงามบริสุทธิ์ยิ่ง ศีรษะใหญ่ คอใหญ่ งาใหญ่ตรง เมื่อร้องมีเสียงประดุจลมพัดเข้าในปล้องไม่ไผ่ ไพเราะหนักหนา มีกำลังกล้าแข็งห้าวหาญยิ่ง
        ๖. บุษปทันต์ เป็นช้างประจำทิศพายัพ มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่สีกายประดุจสีหงษบาท หรือสีหมากสุก ผิวเนื้อละเอียด มีกระที่หน้า หน้าใหญ่ ตัวใหญ่งาม งาน้อยงอนขึ้นเบื้องขวา มีสีขาวงามบริสุทธิ์ประดุจสีสังข์ และที่เป็นสีดั่งดอกกุมุทก็มี เมื่อร้องมีเสียงดังประดุจเสียงฟ้าร้อง หรือฟ้าคำรามในฤดูฝน เป็นช้างที่มีความกล้าหาญ มีกำลังอำนาจมาก
        ๗. เสาวโภม หรือ สารวภูม เป็นช้างประจำทิศอุดร มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่สีกายเขียวบริสุทธิ์ประดุจสีหญ้าแพรกอ่อน บางตำราว่ามีสีเขียวประดุจสีใบตองแก่ รูปร่างสูงใหญ่ หน้าใหญ่ ลำตัวยาวกลมเหมือนใส่เสื้อรัดรูป นัยน์ตาดำ งามีขนาดเล็กยาว เท้าทั้งสี่มีสีดั่งตองอ่อน มีกระสีแดงงามบริสุทธิ์ทั่วตัว เมื่อร้องมีเสียงดังประดุจเสียงนกกระเรียน เป็นช้างที่มีกำลังมากและกล้าหาญยิ่ง
        ๘. สุประดิษฐ์ หรือ สุบันดิษ เป็นช้างประจำทิศอีสาน มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่สีกายดังสีเมฆเมื่อเวลาสนธยา บางตำราว่ามีสีแดงดั่งสีปัทมราค หรือสีดอกบัวหลวงแดงบริสุทธิ์ ผนดท้องมีรอยย่นเป็นปล้องขวางลำตัวประดุจท้องงู งาตรงยาวปลายงางอนขึ้นมีสีขาว บางตำราว่ามีขนปากยาวอัณฑโกษอ่อน เต้ามันอ่อน เมื่อร้องมีเสียงดังประดุจเสียงฟ้าร้อง

 

          ช้าง ๑๐ หมู่ เมื่อบังเกิดขึ้นแล้วต่างก็มีลักษณะเฉพาะตระกูลพรหมพงศ์ ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้นและยังมีลักษณะเฉพาะตัวที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละหมู่ด้วย คือ

        ๑. ฉัททันต์ มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่สีกายขาวประดุจสีเงินบริสุทธิ์ งามีสีขาวดั่งสีเงินยวง มีรัศมีเป็นประกาย ๖ สาย งวงมีสีแดง หางแดง เล็บแดง สันหลังสีแดงประดุจดังบัลลังก์ศิลาอันแดง ร่างกายงามพร้อมด้วยสรรพสิริอันเป็นมงคลยิ่ง เป็นช้างที่มีกำลังมาก สามารถเดินในจักรวาลระยะทางสามล้านหกแสนหมื่นสามร้อยห้าสิบโยชน์ ไปแต่เช้าและกลับมาถึงที่เดิมได้อย่างรวดเร็วไม่ทันสาย บางตำราว่าไม่ทันถึงสามนาทีก็มาถึง และไม่เหนื่อยแม้แต่น้อย
        ๒. อุโบสถ มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่สีกายเหลืองประดุจสีทองอุไร รูปร่างสูงใหญ่งามพร้อมด้วยสรรพสิริสมบูรณ์ยิ่ง มีกำลังแข็งแรงมาก สามารถเดินในจักรวาลระยะทางสามล้านหกแสนหมื่นสามร้อยห้าสิบโยชน์ ไปแต่เช้าและกลับมาถึงที่เดิมได้ภายในเวลาเที่ยงก็ยังไม่เหนื่อย แต่กำลังน้อยกว่าช้างฉัททันต์ ๑๐ เท่า
        ๓. เหมหัตถี หรือ เหมหัสดี มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่สีกายเหลืองดั่งสีทอง รูปร่างสูงใหญ่ มีกำลังมากแต่น้อยกว่าช้างอุโบสถ ๑๐ เท่า
        ๔. มงคลหัตถี มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่สีกายดำดั่งไม้กฤษณา บางตำราว่าสีน้ำเงินเข้มจนเกือบดำ หรือดำดั่งสีดอกอัญชัน กลิ่นตัวและมูลมูตรหอมดั่งกลิ่นไม้กฤษณา รูปร่างสูงใหญ่ มีกำลังมากแต่น้อยกว่าช้างเหมหัตถี   ๑๐ เท่า
        ๕. คันธหัตถี มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่สีกายดำดุจไม้กฤษณา กลิ่นตัว และมูลมูตรหอมดั่งกลิ่นสุคนธรส รูปร่างสูงใหญ่งาม มีฤทธิ์กล้าหาญและมีกำลังมาก แต่น้อยกว่าช้างมงคลหัตถี ๑๐ เท่า
        ๖. ปิงคัล หรือ ปิงคันหัสดินทร์ หรือ บังคัล มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่สีกายเหลืองอ่อนดั่งสีดวงตาของแมว รูปร่างสูงใหญ่งดงาม มีกำลังกล้าแข็งแต่น้อยกว่าช้างคันธหัตถี ๑๐ เท่า
        ๗. ตามพหัตถี หรือ ตามพะหัสดี หรือ ตามหัตถี มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่สีกายแดงประดุจสีทองแดง หรือสีทอง อันบุคคลหล่อน้ำใหม่ รูปร่างสูงใหญ่ มีฤทธิ์เดชมากแต่กำลังน้อยกว่าช้างปิงคัล ๑๐ เท่า
        ๘. บัณฑร หรือ บรรนาเคนทร์ มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่สีกายขาวดั่งสีเงินยวง หรือสีของยอดเขาไกรลาส รูปร่างสูงใหญ่งามพร้อม มีฤทธิ์เดชห้าวหาญ แต่กำลังน้อยกว่าช้างตามพหัตถี ๑๐ เท่า
        ๙. คังไคย หรือ คังไคยนาเคนทร์ มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่สีกายน้ำตาลอ่อน ดั่งสีน้ำคลอง หรือน้ำในแม่น้ำ รูปร่างสูงใหญ่งดงาม มีกำลังกล้าแข็งแต่กำลังน้อยกว่าช้างบัณฑร ๑๐ เท่า
        ๑๐. กาลวกหัตถี หรือ กาลวกหัสดี หรือ กาลาวหัตถี มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่สีกายดำดั่งสีของปีกกา รูปร่างสูงใหญ่ มีกำลังห้าวหาญ แต่กำลังน้อยกว่าช้างคังไคย ๑๐ เท่า

          ช้างอำนวยพงศ์ คัมภีร์คชศาสตร์กล่าวว่า เมื่อช้างบังเกิดขึ้นในโลกแล้ว โดยธรรมชาติมีการผสมกันระหว่างช้างอัฐทิศกับช้างหมู่อื่นๆ ยังให้บังเกิดเป็นช้างอีกกลุ่มหนึ่งในตระกูลพรหมพงศ์ มีจำนวน ๑๔ หมู่ เรียกว่า “ช้างอำนวยพงศ์” ซึ่งทุกหมู่ต่างก็มีลักษณะเฉพาะตระกูลพรหมพงศ์ดังกล่าวมาข้างต้นแล้ว และยังมีลักษณะเฉพาะตัวเป็นเอกลักษณ์ของหมู่อีกด้วย ดังต่อไปนี้

        ๑. เมฆ กำเนิดจากพลายไอยราพตกับพังอพมุ ซึ่งสีกายดั่งสีหมอกเมฆ มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่สีกายเทาดำดั่งสีเมฆเทื่อครึ้มฝน มีงา ๔ งา เล็บขาวสดใส หางยาวจรดพื้นดิน
        ๒. อำนวยสุประดิษฐ์ กำเนิดจากพลายบุณฑริกกับพังลิงคณะ ซึ่งสีกายเขียวอมเหลือง มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่สีกายสีแดง งาสั้น ผิวหนังละเอียด เล็บขาวนวลดั่งสีหวายตะค้า
        ๓. นิลกะ หรือ นิลภ กำเนิดจากพลายพราหมณ์โลหิตกับพังกนิลา ซึ่งสีกายเหลือง มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่สีกายม่วงเข้มดุจสีดอกสามหาวโรย ลำตัวยาวใหญ่และกลม
        ๔. ปิสลักส์ หรือ บิศลัก กำเนิดจากพลายพราหมณ์โลหิตกับพังกนิลา มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่สีกายแดงดั่งโลหิต ลำตัวกลม
        ๕. มหาปัทมะ หรือ มหาปัท กำเนิดจากพลายกุมุท หรือ กระมุท กับพังอนูปักรมา ซึ่งสีกายแดงอ่อน มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่สีกายแดงดั่งดอกบัวสัตตบุษย์บาน ผิวเนื้อละเอียด
        ๖. อุบลมาลี กำเนิดจากพลายกุมุท หรือ กระมุท กับ พังอนูปักรมา มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่สีกายเขียวดั่งสีก้านดอกบัวสัตตบุษย์
        ๗. จบสระ หรือ จบตระ กำเนิดจากพลายกุมุท หรือ กระมุท กับพังอนูปักรมา มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่สีกายสีสำลาน (สีขาวอมชมพูอย่างสีผิวของควายเผือก)
        ๘. อำนวยพงศ์ (ไม่ปรากฎนาม) กำเนิดจากพลายกุมุท หรือ กระมุท กับพังอนูปักรมา มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่มีกระดำทั่วกายแต่ดูงดงาม
        ๙. นิล หรือ นิลชา กำเนิดจากพลายกุมุท หรือ กระมุท กับพังอนูปักรมา มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่สีกายดำ นัยน์ตาสีขาว งาขาว เล็บขาว
        ๑๐. ปะระมาลี หรือ ประมาถี กำเนิดจากพลายอัญชัน หรือ อังชัน กับพังตามพะวรรณ ซึ่งสีกายทองแดง มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่สีกายสีน้ำเงินอ่อนดั่งสีท้องฟ้า
        ๑๑. พสานิล หรือ ภสาร กำเนิดจากพลายบุษปทันต์กับพังสุภทันตี ซึ่งสีกายขาว มีขนาย (งาช้างพัง) ขาว เล็บขาว มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่สีกายขาวเหลืองอ่อน งาเหลืองดุจทองคำ
        ๑๒. สาหะ หรือ สหสารสรรพ กำเนิดจากพลายบุษปทันต์กับพังสุภทันตี มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่สีกายขาวเจือเขียวอ่อน งาเหลืองดุจสีดอกบวบ
        ๑๓. บุษปทันต์ กำเนิดจากพลายเสาวโภม หรือ สารวภูม กับพังลิงคณะ ซึ่งสีกายเขียวแก่ มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่สีกายแดงดั่งดอกบัวแดง ใบหน้ากว้างใหญ่ ลำตัวยาว กลมเกลี้ยง
        ๑๔. สุประดิษฐ์ กำเนิดจากพลายสุประดิษฐ์กับพังอัญชนวดี ซึ่งสีกายดั่งสีดอกอัญชัน มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่สีกายเขียวดั่งสีหญ้าแพรก



          เมื่อพระวิษณุได้รับประทานเกสรดอกบัวมาจากพระอิศวรแล้วได้โยนเกสรบัวทั้ง ๘ ลงบนพื้นโลก เนรมิตให้บังเกิดเป็นช้าง ๘ หมู่ นามว่า อัฐคช เป็นช้างศุภลักษณ์วรรณะแพศย์ สมบูรณ์ด้วยลักษณะแห่งวรรณะ กล่าวคือ ผิวหนังหนา สีขนสีเดียวกับตัว ขนเกรียน หน้าใหญ่ น้ำเต้ากลม โขมดใหญ่และงาม นัยน์ตาใหญ่สีขาวขุ่น คางใหญ่ คอใหญ่และสั้น อกใหญ่ งวงยาวเรียวเป็นต้นเป็นปลาย ตัวใหญ่สั้นและงาม หลังราบ หางยาวบังคลอง กระชั้นควาญงาม เท้าทั้ง ๔ ใหญ่ เรียว มีรอยรัดข้อเท้า ฝักบัวกลม มีกระละเอียดสีแดงเสมอกันบริเวณลำตัวและใบหู เมื่อร้องมีเสียงดังก้องกังวาน 

          อัฐคช เป็นช้าง ๘ หมู่ มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่วิษณุพงศ์ดังกล่าวข้างต้น และยังมีคชลักษณ์เฉพาะตัวเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละหมู่ ดังต่อไปนี้

 
        ๑. สังขทันต์ มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่สีกาย เหลืองงามบริสุทธิ์ดั่งสีทองคำเนื้อนพคุณ งาเล็กสีขาวงามบริสุทธิ์และงอนขึ้นเบื้องขวา เมื่อร้องเวลาเช้าเสียงดังประดุจเสือ แต่เวลาสายัณห์เสียงร้องดังประดุจเสียงไก่
        ๒. ตามพหัสดินทร์ หรือ ตามพะหัสดิน มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่สีกายแดงประดุจสีทองแดงอันหม่น ห้าวหาญยิ่ง
        ๓. ชมลบ หรือ ชมลพ มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่ปลายใบหูตอนบนยาว เมื่อปรบไปเบื้องหน้าจะจรดถึงกัน
        ๔. ลบชม หรือ ลพชม มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่ปลายใบหูตอนบนยาว เมื่อปรบไปเบื้องหลังจะจรดถึงกัน 
        ๕. ครบกระจอก หรือ ครบกจอก มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่หู หางและเล็บ งามพร้อม โดยเฉพาะเล็บมีเท้าละ ๕ เล็บ ทั้ง ๔ เท้า
        ๖. พลุกสะดำ หรือ พลุกสดำ มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่งางอนขึ้นเบื้องขวา
        ๗. สังขทันต์ มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่สีกายดำสนิทไม่มีสีอื่นปน งาสีขาวดุจสีสังข์แลดูงามพร้อม
        ๘. โคบุตร มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่สีกายเหลืองดังสีโค งางอนขึ้นเล็กน้อย หางกลม มีขนหางขึ้นรอบดุจหางโค เสียงร้องประดุจเสียงโคอุสุภราชไพเราะยิ่งนัก มีฤทธานุภาพห้าวหาญ ผจญเภทภัยและศัตรูแผ่นดินได้ทั้งปวง เป็นมหามงคลแก่พระเจ้าแผ่นดิน หรือผู้พบเห็น จะเจริญด้วยยศ มีบริวารเป็นอันมาก บางตำรากล่าวว่า ช้างนี้เกิดจากแม่โคซึ่งกินเชือกเขา (เถาวัลย์) หัตถีลดาอันมีในถิ่นที่ช้างเผือกอาศัยอยู่ แม่โคนั้นตั้งครรภ์นาน ๓ ปี จึงตกลูกเป็นช้างโคบุตรนี้

 



          เมื่อพระอัคนีได้รับประทานเกสรดอกบัวจากพระอิศวรแล้ว ได้โยนเกสรดอกบัวทั้งหมดลงบนพื้นโลก เนรมิตให้บังเกิดเป็นช้างวรรณะศูทร โดยแบ่งส่วนเกสรจำนวน ๔๗ เกสรให้ บังเกิดเป็นคชชาติอัคนิพงศ์ศุภลักษณ์ ๔๗ หมู่เกสรดอกบัวอีก ๘๑ เกสร ให้บังเกิดเป็นคชชาติอัคคนิพงศ์ทุรลักษณ์ หรืออัปลักษณ์ ๘๑ หมู่ ส่วนเกสรดอกบัวที่เหลือก็เนรมิตให้บังเกิดเป็นคชชาติอัคนิพงศ์ทุรโทษ ๕ หมู่ และอัคคนิพงศ์ลหุโทษ ๗ หมู่ แต่ละหมู่มีลักษณะเฉพาะดังต่อไปนี้

          คชชาติอัคนิพงศ์ศุภลักษณ์ เป็นช้างที่สมบูรณ์ด้วยลักษณะแห่งวรรณะ กล่าวคือ มีผิวหนังกระด้าง เส้นขนหยาบ ขนมีสีเดียวกับสีตัว หน้าเป็นกระเล็กๆ สีแดงเสมอกันเหมือนแววนกยูงดูงดงาม หน้างวงแดง ปากแดง นัยน์ตาสีน้ำผึ้ง หูแดง ตะเกียบหูห่าง ขนหูหยาบ งาสีแดงเรื่อ ๆ สันหลังแดง หางสั้นเขิน เท้าทั้ง ๔ ข้างใหญ่เรียว มีรอยรัดข้อเท้า ฝักบัวกลม เส้นขนหางกลมละเอียดดูงาม สีกายหม่น ไม่ดำสนิท ช้างอัคนิพงศ์ศุภลักษณ์ทั้ง ๔๗ หมู่ นอกจากจะมีลักษณะ เฉพาะหมู่แล้ว ยังมีลักษณะพิเศษของแต่ละหมู่อีกด้วย ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้

        ๑. ประพัทจักรวาฬ หรือ พัทจักรวาล หรือ พระพัทจักรภาฬ มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่เวลาเดินเชิดงวงขึ้นเหนือกระพองศีรษะ เรียกกันเป็นสามัญว่า เดินบังเมฆ
        ๒. พระอุธรดุม หรือ พระอธรดุม มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่รูปร่างสูงใหญ่ อกใหญ่ สวยงาม มีกำลังแรง กล้าหาญองอาจยิ่ง
        ๓. รัตนกุมพล หรือ รัตนกัมพล มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่ปลายงาขวาซ้อนทับอยู่เหนือปลายงาซ้ายเป็นลักษณะประสานกัน เป็นช้างที่มีคุณเป็นอันมาก คุ้มโทษภัยต่าง ๆ ได้ หากคล้องช้างโทษได้ ๑๐๐๐ ตัว เพียงได้รัตนกุมพลตัวเดียวก็พ้นโทษภัยทั้งปวง แม้จะประสมโขลงก็หาโทษมิได้
        ๔. เศวตพระพร หรือ เสวตพพร มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่สีกายขาวบริสุทธิ์ประดุจสีสังข์ ขนขาว นัยน์ตาสีขาว หางขาว และเล็บขาว รูปร่างสูงใหญ่ เรียกกันเป็นสามัญว่า ช้างเผือกสีสังข์
        ๕. ประทุมหัสดี หรือ ประทุมหัตถี มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่สีกาย ขน หาง และเล็บ มีสีแดงประดุจดอกบัวหลวงโรย งามบริสุทธิ์ (งามปลอด) นัยน์ตาสีขาวบริสุทธิ์ เรียกกันเป็นสามัญว่า ช้างเผือกโท
        ๖. เศวตาคชราช หรือ เสวตพระคชราช หรือ เสวตพระคชสาร มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่สีกาย ขน หาง และเล็บ มีสีประดุจใบตองอ่อนแห้ง นัยน์ตาสีขาวบริสุทธิ์ เรียกกันเป็นสามัญว่า ช้างเผือกตรี
        ๗. ประทุมทันต์ หรือ มณีจักรราชาเนียมเอก มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่ทุกส่วนของร่างกายสั้น แต่ดูงาม งางอกพ้นจากไพรปากสั้นเพียง ๒ นิ้ว เมื่อยกงวงขึ้นจึงเห็นงามีรูปดังจาวมะพร้าว กล้าหาญยิ่ง เรียกกันเป็นสามัญว่า ช้างเนียมเอก
        ๘. ประทุมทนต์ หรือ มณีจักรราชาเนียมโท มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่ทุกส่วนของร่างกายสั้น แต่งดงาม งางอกพ้นจากไพรปากสั้นเพียง ๕ นิ้ว มีรูปดั่งไข่ไก่ กล้าหาญยิ่ง เรียกกันเป็นสามัญว่า ช้างเนียมโท
        ๙. ประทุมทันต์มณีจักร หรือ มณีจักรราชาเนียมตรี มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่ทุกส่วนของร่างกายสั้นแต่ดูงาม งางอกพ้นจากไพรปากเพียง ๕ นิ้ว งามีรูปดั่งปลีกล้วย กล้าหาญยิ่ง เรียกกันเป็นสามัญว่า ช้างเนียมตรี
        ๑๐. นพสุบัณ หรือ นพสบรร มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่มีอวัยวะ ๙ ส่วนของร่างกายยาวจรดพื้นดิน ได้แก่ งวง งาทั้งสอง หาง อัณฑโกษ และเท้าทั้งสี่ รูปร่างสง่างาม กล้าหาญยิ่ง เรียกกันเป็นสามัญว่า ช้างเก้าเท้า
        ๑๑. ปิตหัสดินทร์ หรือ ปีตหัษดีนทร์ หรือ บิตหัสดินทร์ มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่สีกายเหลืองงามบริสุทธิ์ งาขาวดั่งสีสังข์งอนขึ้นเบื้องขวา เรียกกันเป็นสามัญว่า ช้างตัวเหลือง
        ๑๒. พิฆเนศวรมหาพินาย หรือ พิคเนศวรมหาพินาย หรือ พิษเนศวรมหาวินาย มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่มีงาซ้ายข้างเดียวมาแต่กำเนิด นัยน์ตาสีขาว เล็บขาว มีฤทธิ์เดชมาก เรียกกันเป็นสามัญว่า ช้างทอกซ้าย หรือช้างงาเดียวซ้าย
        ๑๓. เทพามหาพิเนฆมหาไพฑูริย์ หรือ พระมหาวิเนกมหาไพทูน หรือ หักกรมเทพา พระมหาวิเนก มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่มีงาขวาข้างเดียวมาแต่กำเนิด นัยน์ตาสีขาว เล็บขาว หางดอก มีกำลังอานุภาพมาก  ผู้ใดหรือเมืองใดมีไว้ก็เป็นมงคล ถ้าพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใดได้ไว้ทอดพระเนตรเป็นนิจจะเกิดมงคลยิ่ง เรียกกันเป็นสามัญว่า ช้างทอกโทน หรือช้างงาเดียว
        ๑๔. นิลทันต์ มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่งาทั้งสองมีสีดำสนิท กล้าหาญแข็งแรงยิ่ง
        ๑๕. นิลจักษุ มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่สีกายดำสนิท นัยน์ตาทั้งคู่มีสีดำ กล้าหาญและเป็นมงคลยิ่ง
        ๑๖. นิลนัข หรือ นิลนักขา มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่เล็บทั้ง ๔ เท้ามีสีดำสนิทประดุจสีนิล งามบริสุทธิ์
        ๑๗. เหมทันต์ หรือ เหมทันต มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่งาทั้งคู่สีเหลืองงามบริสุทธิ์ เรียกกันเป็นสามัญว่า ช้างงาเหลือง
        ๑๘. เหมจักษุ มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่นัยน์ตาทั้ง ๒ ข้างเหลืองงามบริสุทธิ์ เรียกกันเป็นสามัญว่า   ช้างตาเหลือง
        ๑๙. เหมนัข หรือ เหมนักขา มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่เล็บทั้ง ๔ เท้าเหลืองงามบริสุทธิ์ เรียกกันเป็นสามัญว่า ช้างเล็บเหลือง
        ๒๐. รัตจักษุ มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่นัยน์ตาทั้งคู่สีแดงเหมือนแก้วมณี กล้าหาญ แข็งแรง ออกศึกมีชัยชนะทุกเมื่อ เรียกกันเป็นสามัญว่า ช้างตาแดงหรือช้างแดง
        ๒๑. มณีรัตนนัข หรือ รัตนนักขา มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่เล็บทั้ง ๔ เท้า สีขาวใสดังแก้ว รวมทั้งข้อเท้าทั้ง ๔ ข้างก็ขาวบริสุทธิ์ด้วย เรียกกันเป็นสามัญว่า ช้างเล็บขาว
        ๒๒. รัตนัข หรือ รัตนักขา มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่เล็บทั้ง ๔ เท้า สีแดงดุจแก้วมณี เรียกกันเป็นสามัญว่า ช้างเล็บแดง
        ๒๓. เศวตทันต์ หรือ เสวตรทันต มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่งาทั้งคู่สีขาวบริสุทธิ์ดังสีสังข์ไม่มีไรงาแม้แต่น้อย เรียกกันเป็นสามัญว่า ช้างงาขาว
        ๒๔. เศวตจักษุ หรือ เสวตรจักษุ มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่นัยน์ตาทั้งคู่สีขาวบริสุทธิ์ดั่งแก้วขาว เรียกกันเป็นสามัญว่า ช้างตาขาว
        ๒๕. เศวตนขา หรือ เสวตรนักขา มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่เล็บขาวดั่งสีสังข์บริสุทธิ์หาเสี้ยนโตนดมิได้ เรียกกันเป็นสามัญว่า ช้างเล็บขาว
        ๒๖. เทพคีรี หรือ เทพคิรี มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่สีกายเขียวอ่อนงามดั่งสีภูเขาอันสดใส หรือสีผลหว้าดิบ เรียกกันเป็นสามัญว่า ช้างเขาเขียว
        ๒๗. จันคีรี หรือ จันทคิรี มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่สีกายดั่งสีภูเขาขาว หรือสีเถ้า
        ๒๘. นิลานิโรช หรือ นิลหัษดิน หรือ นิลหัสดินทร์ มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่สีกายดำสนิท ดุจสีดอกสามหาว หรือสีม่วงเข้มจนเกือบดำ
        ๒๙. เสาวโรฐ หรือ เสาวโรจ หรือ สูวโรด มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่สีกายแดงดั่งสีของปากนกแขกเต้า และปากล่างม้วนเข้า กับมีสีแดงเหมือนสีกาย
        ๓๐. คชดำพงศ์ถนิม หรือ ดำผงถนิม หรือ กำพงสนิม มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่รูปร่างใหญ่ สีกายดำสนิท ตั้งแต่ศีรษะตลอดถึงปลายงวง หลัง ปลายหาง และเท้าทั้งสี่มีสีแดงประดุจสีดอกแจงดูเหมือนห่มคลุมด้วยเสื้อ เรียกกันเป็นสามัญว่า ช้างห่มเสื้อ
        ๓๑. สมพงศ์ถนิม หรือ สมผงถนิม หรือ สมพงสนิม มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่รูปร่างสูงใหญ่สมส่วน กาย ขน นัยน์ตา เล็บ ล้วนมีสีดำบริสุทธิ์ กับมีกระสีดำตลอดตัว
        ๓๒. กุมประสาท หรือ ภูมประสาท มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่โขมดสูงใหญ่งดงาม เป็นมงคลยิ่ง
        ๓๓. จัตุรกุมภ์ หรือ จตุรกุมพ หรือ จตุรภมุพ มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่ลำขาทั้งสี่กลมงามประดุจกลึง ฝักบัวใหญ่กลมงดงามสมส่วน เรียกกันเป็นสามัญว่า ช้างแขนกลม
        ๓๔. ขลุมประเจียด หรือ คลุมประเจียด มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่ขนอ่อนดุจดอกหญ้าละเอียดขึ้นอยู่รอบขอบใบหู
        ๓๕. พาลจักรี หรือ สารสดำ มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่งางอนขึ้นเสมอกันทั้ง ๒ ข้าง ส่วนปลายงานั้นงอนไปทางขวา
        ๓๖. มุขสโรช หรือ มุกขศโร มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่เสียงร้องดังก้องสะเทือนพสุธาประดุจเสียงแตร
        ๓๗. เมฆครรชิต หรือ สัทเมฆครันชิต มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่เสียงร้องดั่งเสียงฟ้าร้องคำราม
        ๓๘. โกญจศัพท์ หรือ โกญจสับท มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่เสียงร้องประดุจเสียงร้องของนกกระเรียน
        ๓๙. สรสังข์ หรือ สังขสระ มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่เสียงร้องดังประดุจเสียงเป่าสังข์
        ๔๐. ศัพทเภรี หรือ สัพเภรี มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่เสียงร้องประดุจเสียงกลองชัย
        ๔๑. ภัทร หรือ พัทร มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่รูปร่างสูงใหญ่ถึง ๗ ศอก ลำตัวโอบรอบยาว ๑๐ ศอก ลำตัวยาว ๙ ศอก งาสีเหลืองดั่งน้ำผึ้ง หลังโก่งขึ้นเล็กน้อยประดุจคันธนู เท้ากลม ฝักบัวกลม เล็บเกรียนประดุจเล็บช้างเถื่อน ส่วนหน้าสูงกว่าส่วนท้าย น้ำมันตกมีสีเขียว บางตำรากล่าวว่า ช้างนี้มีบิดาเป็นกระต่าย 
        ๔๒. มิค หรือ มิคะ มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่สีกายแดงดั่งสีชาด รูปร่างสูงใหญ่ถึง ๖ ศอก ลำตัวโดยรอบยาว ๘ ศอก นัยน์ตาดั่งตาราชสีห์ งาทั้งคู่สีแดงดั่งสีชาด ราวคอราบ ท้องใหญ่ ขนตัวยาว น้ำมันตกมีสีเขียว บางตำรากล่าวว่า ช้างนี้มีบิดาเป็นเนื้อ
        ๔๓. สังคิน มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่สีกายดำเทาดุจหมอกคลุม รูปร่างสูงใหญ่ถึง ๕ ศอก ลำตัวโดยรอบยาว ๘ ศอก ลำตัวยาว ๗ ศอก ศีรษะใหญ่ หน้าใหญ่ คางสั้น หูใหญ่ นัยน์ตาใหญ่ งาทั้งคู่มีสีเหลืองเป็นมันดั่งทองคำ หางสั้นเขิน น้ำมันตกมีสีดำประดุจเขม่า บางตำรากล่าวว่า ช้างนี้มีบิดาเป็นนาค
        ๔๔. กุญชเรศ หรือ กุญชรคชกรร มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่รูปร่างสูงใหญ่ โดยเฉพาะส่วนท้ายใหญ่ บางตำรากล่าวว่า ช้างนี้ตัวเล็กเท้าใหญ่ มีบิดาเป็นวานร
        ๔๕. ครอบจักรวาฬ มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่ฝักบัวกลม เล็บเท้ามีครบ ๕ เล็บ ขณะยืนอยู่จะเห็นเล็บทั้งห้าเหมือนกลีบบัวบาน ครั้นยกเท้าขึ้นจะเห็นเส้นรอบฝักบัวเหมือนกันทั้ง ๔ เท้า ช้างนี้อยู่ในเมืองใด เมืองนั้นเป็นมงคลยิ่งนัก
        ๔๖. ร่องมดโอภาร มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่งวงสีขาวตลอดหลังถึงปลายหางขาว มีฤทธิ์เดชมาก
        ๔๗. พิธาเนสูน มีลักษณะพิเศษเฉพาะหมู่อยู่ที่ผมดกเป็นพู่ดูงดงามยิ่ง มีกำลังแข็งแรงอย่างยิ่ง

 



รัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (พ.ศ. ๒๓๒๕ – ๒๓๕๒)

          ๑. พระบรมไกรสร บวรสุประดิษฐ์ อัฐทิศพงศ์ มงคลดิเรก เอกมหันต์อนันตคุณ สมบูรณ์เลิศฟ้า (ตระกูลพรหมพงศ์) เป็นช้างพลายสีประหลาด พระยานครราชสีมา น้อมเกล้า ฯ ถวาย ขึ้นระวางสมโภชวันอังคาร แรม ๓ ค่ำ เดือน ๔ ปี มะโรง จุลศักราช ๑๑๔๖ (พ.ศ. ๒๓๒๗) 

          ๒. พระบรมไกรสร บวรบุษปทันต์ สุวรรณลักขณา มหาศุภมงคล วิมลเลิศฟ้า (ตระกูลอัคนิพงศ์) เป็นช้างพลายเนียม พระยาราชบุรี น้อมเกล้า ฯ ถวาย ขึ้นระวางสมโภชวันอังคาร ปีมะโรง จุลศักราช ๑๑๔๖ (พ.ศ. ๒๓๒๗)

          ๓. พระอินทรไอยรา รัตนาเคนทร์ คเชนทรบดินทร์ อนันตคุณ สมบูรณ์เลิศฟ้า (ตระกูลอัคนิพงศ์) เป็นช้างพังสีประหลาด จัดเป็นช้างเผือกตรี ลูกเถื่อน คล้องได้ที่เมืองภูเขียว สีนวลเหมือนสีใบตองแห้ง จักษุ เล็บ ขนตัว ขนหาง ขาว เจ้าของฝึกไว้ใช้สอย มีผู้ทักท้วงว่า เป็น ช้างสำคัญ เจ้าของกลัวว่า จะต้องไปเป็นของหลวง ตัดหางเสีย พระองค์โปรดให้จัดส่งไปทอดพระเนตร ทรงพระพิโรธเจ้าของมาก จึงไม่ทรงพระราชทานสิ่งใดเลย และโปรดให้เอาหางโคผูกเข้าต่อเป็นช้างโคบุตร พระยานครราชสีมา น้อมเกล้า ฯ ถวาย ขึ้นระวางสมโภช วันอาทิตย์ ขึ้น ๙ ค่ำ ปีขาล จุลศักราช ๑๑๕๖ (พ.ศ. ๒๓๓๗) ต่อมารัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้พระราชทานนามใหม่ว่า “พระอินทรไอยรา คชาชาติฉัททันต์ พิศผิวพรรณเผือกตรี สียอดตองตากแห้ง วิษณุแกล้งรังรักษ์ มงคลลักษณ์ เลิศฟ้า”

          ๔. พระเทพกุญชร บวรศรีเศวต เอกชาติฉัททันต์ อนันตคุณสมบูรณ์เลิศฟ้า (ตระกูลอัคนิพงศ์) เป็นช้างพังเผือกเอก ลูกเถื่อน คล้องได้ที่เมืองภูเขียว พระยานครราชสีมา น้อมเกล้า ฯ ถวาย ขึ้นระวางสมโภชวันศุกร์ แรม ๕ ค่ำ เดือนยี่ ปีระกา จุลศักราช ๑๑๖๓ (พ.ศ. ๒๓๔๔) ซึ่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ได้เสด็จไปรับที่บ้านศาลาลอย กรุงศรีอยุธยา ในวันอาทิตย์ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือนยี่ ก่อน  แล้วล่องแพลงมายังกรุงเทพฯ วันพุธ แรม ๒ ค่ำ เดือนยี่ พระเทพกุญชรฯ นี้  มีขนาดสูง ๔ ศอก คืบ ๖ นิ้ว จักษุ เล็บ ขนตัว ขนหาง และลักษณะทั้งปวง ขาวบริสุทธิ์ ต้องด้วยลักษณ์ เศวตรภรณ์ เผือกเอก ต่อมาในรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พ.ศ. ๒๓๕๕ พระราชทานนามใหม่ว่า “พระเทพกุญชร บวรศรีเศวต อมรเมศนฤมิตร เผือกผ่องพิศโสภา มิ่งมงคลานาเคนทร์ คชคเชนทร์เฉลิมขวัญ ชาติฉัททันต์สูงศักดิ์ วิไลลักษณ์เลิศฟ้า พระเทพกุญชร” ล้มในสมัยรัชกาลที่ ๓ 

          ๕. พระบรมฉัททันต์ สุวรรณรัศมี ศรีศุภลักษณ์ อรรคทศคชาพงศ์ มงคลเลิศฟ้า (ตระกูลพรหมพงศ์) เป็นช้างพลายสีทองแดง สูง ๖ ศอก คล้องได้ที่เพนียด วันอาทิตย์ แรม ๔ ค่ำ เดือน ๕ ปีกุน จุลศักราช ๑๑๖๕ (พ.ศ. ๒๓๔๖) สมโภชขึ้นระวาง เดือน ๙ ปีกุน 

          ๖. พระบรมนัขมณี ศรีรัตนคเชนทร บวรวิศณุพงศ์ วงศ์คชพรรณ อนันตคุณ สมบูรณ์เลิศฟ้า (ตระกูล วิษณุพงศ์) เป็นช้างพลายที่มีเล็บครบ พบที่เมืองนครศรีธรรมราช พระยาศรีธรรมราช น้อมเกล้า ฯ ถวาย และขึ้นระวางสมโภช ปีฉลู จุลศักราช ๑๑๖๗ (พ.ศ. ๒๓๕๙)

          ๗. พระบรมคชลักษณ์ อรรคคเชนทร สุเรนทรฤทธิ์ สิทธิสมพงศ์ มงคลเลิศฟ้า (ตระกูลอัคนิพงศ์) เป็นช้างพลายกระ เจ้าเมืองเวียงจันทน์น้อมเกล้า ฯ ถวายและขึ้นระวางสมโภช ปีฉลู จุลศักราช ๑๑๖๗ (พ.ศ. ๒๓๕๙) โดยโปรดให้สร้างโรงพักช้างที่วัดสระเกศ  

          ๘. พระบรมนาเคนทร์ คเชนทรชาติดามพหัตถี ศรีสุวรรณเลิศฟ้า (ตระกูลพรหมพงศ์) เป็นช้างพลายสีทองแดง พระยานครราชสีมา น้อมเกล้า ฯ ถวาย ขึ้นระวางสมโภช วันอังคาร เดือน ๓ ปีเถาะ จุลศักราช ๑๑๖๙ (พ.ศ.๒๓๕๐) โดยโปรดให้สร้างโรงพัก ช้างที่วัดสระเกศ 

          ๙. พระบรมคชลักษณ์ อรรคชาติดามพหัตถี ศรีทศพงศ์ รณรงค์เลิศฟ้า (ตระกูลพรหมพงศ์) เป็นช้างพลายสีทองแดง เจ้าทุ่ง น้อมเกล้า ฯ ถวายและขึ้นระวางสมโภช วันอังคาร แรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๓ ปี เถาะ จุลศักราช ๑๑๖๙ (พ.ศ. ๒๓๕๐) โดยโปรดให้สร้างโรงพักช้างที่วัดสระเกศ 

          ๑๐. พระบรมเมฆเอกทนต์ วิมลสุประดิษฐ์ สิทธิสนธยา มหาศุภมงคล วิมลเลิศฟ้า (ตระกูลอิศวรพงศ์) เป็นช้างพลายงาเดียว ขึ้นระวางสมโภช วันอังคาร แรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๓ ปีเถาะ จุลศักราช ๑๑๖๙ (พ.ศ. ๒๓๕๐)

 

รัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (พ.ศ. ๒๓๕๒ – ๒๓๖๗)

          ๑. พระยาเศวตรกุญชร อดิศรประเสริฐศักดิ์ เผือกเอกอรรคไอยรา มงคลพาหนนารถ บรมราชจักรพรรดิ วิเชียรรัตนาเคนทร์ ชาติคเชนทร์ฉัททันต์ หิรัญรัศมีศรีพระนคร สุนทรลักษณเลิศฟ้า (ตระกูลพรหมพงศ์) เป็นลูกช้างพลายเผือกบริสุทธิ์ สูง ๒ ศอก คืบ ๘ นิ้ว พบที่ทุ่งยังเขากระพ้อ ปลายน้ำเมืองโพธิสัตว์ นายมก ซึ่งเป็นพ่อหมอ นายคง ซึ่งเป็นควาญ คล้องได้ และพระยาอภัยภูเบศร เจ้าเมืองพระตะบอง ได้กราบบังคมทูลลงมายังกรุงเทพฯ จุลศักราช ๑๑๗๔ (พ.ศ. ๒๓๕๕) รัชกาลที่ ๒ โปรดเกล้า ฯ ให้ พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหมื่นเทพพลภักดิ์ และเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช เดินทางไปรับ เมื่อช้างมาถึงบ่อโพงจึงโปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ นำเงินไปพระราชทานหมอควาญและผู้คุมช้าง ๑๐ ชั่ง 

          ๒. พระบรมหัสดินทร์ วรินทร์ราชพาหนะ พื้นขาวกระสมพงษ์ สารทรงประเสริฐศักดิ์ (ตระกูลอัคนิพงศ์) เป็นช้างพลายกระ สูง ๕ ศอก พระยาเชียงใหม่ น้อมเกล้า ฯ ถวาย เมื่อเดือน ๔ ปีกุน สัปตศก พ.ศ. ๒๓๕๗

          ๓. พระบรมนาเคนทร์ คเชนทราธาร กำแหงหาญห้าวเหี้ยม ลักษณะเนียมประทุมทันต์ เฉลิมขวัญพระนคร เกียรติขจรจบสกล มิ่งมงคลเลิศฟ้า (ตระกูลอัคนิพงศ์) เป็นช้างเนียม เจ้านครเวียงจันทน์ น้อมเกล้า ฯ ถวาย  เมื่อปีชวด อัฐศก จุลศักราช ๑๑๗๘ (พ.ศ. ๒๕๕๔) โดยมีท้าวเพี้ยหมอควาญ เป็นผู้คุมลงมาถวายถึงกรุงเทพฯ วันอาทิตย์ เดือน ๕ แรม ๒ ค่ำ 

          ๔. พระยาเศวตรไอยรา บวรพาหนะนารถ อิศราราชบรมจักร ศรีสังขศักดิ์อุโบสถ คชคเชนทรชาติ อาจาริยเผือกผ่องบริสุทธิ์ เฉลิมยุทธยายิ่ง วิมลมิ่งมงคล จบสกลเลิศฟ้า (ตระกูลอิศวรพงศ์) เป็นช้างพลายเผือก สูง ๓ ศอก คืบ ๖ นิ้ว คล้องได้ในป่าแขวงเมืองเชียงใหม่ เมื่อปีชวด อัฐศก พ.ศ. ๒๓๕๙ พระยาเชียงใหม่ น้อยธรรม  ได้มีหนังสือกราบทูลพระกรุณา ซึ่งรัชกาลที่ ๒ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้มีตราแจ้งให้นำลงมาน้อมเกล้า ฯ ถวาย ซึ่งพระยาเชียงใหม่ ได้คุมช้างมาลงแพ เมืองกำแพงเพชร และถึงกรุงเทพฯ วันพฤหัสบดี ขึ้น ๕ ค่ำ ปีชวด อัฐศก ส่วนพระยาเชียงใหม่ โปรดเกล้า ฯ เลื่อนขึ้นเป็นพระเจ้าเชียงใหม่ช้างเผือก 

          ๕. พระยาเศวตรคชลักษณ์ ประเสริฐศักดิ์สมบูรณ์ เกิดตระกูลสรรพสิบหมู่ เผือกผู้พาหนะนารถ อิศรราชธำรง บัณฑรพงษ์จตุรภักตร สุธารักษ์รังสรรค์ ผ่องผิวพรรณผุดผาด ศรีไกรลาศเลิศลบ เฉลิมพิภพอยุธยา ขัณฑเสมามณฑลมิ่งมงคลเลิศฟ้า (ตระกูลพรหมพงศ์) เป็นช้างพลายเผือกรูปงาม หู หาง คา ชน และเล็บ สี ขาว แต่ที่ตัวช้างเป็นเจือสีเหลือง สูง ๓ ศอก คล้องได้ในป่าแขวงเมืองน่าน และพระยาน่าน น้อมเกล้า ฯ ถวายเมื่อปีชวด อัฐศก พ.ศ. ๒๓๕๙


รัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. ๒๓๖๗ – ๒๓๙๔)

          ๑. พระบรมไกรสร กุญชรชาติอำนวยพงศ์ มงคลคชยศอนันต์ มหันตคุณวิบุลยลักษณ์เลิศฟ้า (ตระกูลพรหมพงศ์) เป็นพลายกระ สูง ๔ ศอก ๑ คืบ ๑๐ นิ้ว  พระยาราชนิกุล น้อมเกล้า ฯ ถวาย พ.ศ. ๒๓๗๙

          ๒. พระบรมกุญชร บวรขลุมประเจียด เกียรติคุณวิบูลยยศ คชอัคนิพงศ์ มงคลลักษณเลิศฟ้า (ตระกูล อัคนิพงศ์) เป็นช้างพลายสีทองแดง มีตาสีขาว เล็บและขนยาว เป็นสีเหลือง เรียกว่า ขลุมประเจียด ขนาดสูง ๔ ศอก ๓ นิ้ว หมื่นราชากลกรณ์ จับได้ที่บ้านเหล่าช้าง และน้อมเกล้า ฯ ถวาย พ.ศ. ๒๓๗๙ 

          ๓. พระบรมนัขนาเคนทร วเรนทรดุรงค์ฤทธิ์ พงศ์พิษณุรังสรรค์ อนันตคุณพรุณศาสตร์ วิลาสลักษณ์เลิศฟ้า (ตระกูลวิษณุพงศ์) เป็นช้างพลายเล็บครบ สูง ๓ ศอก ๑๑ นิ้ว เจ้าพระยาบดินทรเดชา น้อมเกล้า ฯ ถวาย มาจากเมืองพระตะบอง วันเสาร์ เดือน ๑๒ แรม ๒ ค่ำ พ.ศ. ๒๓๘๖ 

          ๔. พังหงสาสวรรค์ จับได้ที่ป่าแขวงเมืองสําโรงทอง สูง ๔ ศอก เจ้าพระยาบดินทรเดชา มอบให้จมื่นมณเฑียรพิทักษ์ คุมมาจากเมืองพระตะบอง น้อมเกล้า ฯ ถวาย พ.ศ. ๒๓๘๗

          ๕. พระบรมไอยเรศ สีสุริเยศยอแสง ดามพแสดงกมเลศฤทธิ์ สิทธิมงคล คุณวิบุลยศ คชวิลาศลักษณเลิศฟ้า (ตระกูลพรหมพงศ์) เป็นช้างพลายลูกโขลง สีทองแดง สูง ๓ ศอก ๑ คืบ ๔ นิ้ว ซึ่งหลวงคชศักดิ์ น้อมเกล้า ฯ ถวาย เมื่อวันเสาร์ เดือน ๘ ขึ้น ๘ ค่ำ พ.ศ. ๒๓๘๗ ต่อมารัชกาลที่ ๔  ทรงแปลงชื่อใหม่เป็น “พระบรมไอยเรศ วิเศษสรรพางศ์ ศรีสุริยสายัณห์ยอแสง ดามพแสดงกุมภเรศฤทธิ์ ประสิทธิมงคล คุณวิบูลยยศ คชวิลาศรัตนเลิศฟ้า”

          ๖. พระบรมสังขทันต์ ฉวีวรรณนิลขจิตร พงศ์วิษณุรังรักษ์ ประเสริฐศักดิ์ระบือบุญ อนันตคุณภิญโญยศ มงคลคชเลิศฟ้า (ตระกูลวิษณุพงศ์) เป็นช้างพลายสีเขียว เหมือนครามแห้ง มีงาข้างเดียว สีขาว สูง ๕ ศอก ๖ คืบ พระยาศรีสหเทพ (เพ็ง) น้อมเกล้า ฯ ถวาย เมื่อวันศุกร์ เดือน ๘ ขึ้น ๑๔ ค่ำ พ.ศ. ๒๓๘๗ 

          ๗. พระบรมคชลักษณ์ ศักดิสารจุมปราสาท ชาติรัตกัมพล มงคลสรรพอนันตคุณ ศรีสุนทรเลิศฟ้า (ตระกูลอิศวรพงศ์) เดิมชื่อ พลายพนมกร สูง ๔ ศอก ๑ คืบ ๙ นิ้ว เจ้าพระยาพระคลัง น้อมเกล้า ฯ ถวาย เมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๘ ขึ้น ๑๔ ค่ำ พ.ศ. ๒๓๘๗ 

          ๘. พระบรมนขาคเชนทร์ (ตระกูลวิษณุพงศ์) เป็นช้างพลาย สูง ๔ ศอก ๒ นิ้ว เจ้าราชวงศ์เชียงใหม่น้อมเกล้า ฯ ถวาย เมื่อวันศุกร์ เดือน ๕ ขึ้น ๕ ค่ำ ปีมะเส็ง สัปตศก พ.ศ. ๒๓๘๘

          ๙. พระบรมนาเคนทรนขา (ตระกูลวิษณุพงศ์) เป็นช้างพังเล็บครบ พระยาน่าน น้อมเกล้า ฯ ถวาย เมื่อวันเสาร์ เดือน ๖ ขึ้น ๘ ค่ำ พ.ศ. ๒๓๘๘

          ๑๐. พระบรมศุภราช สมมุติชาติโคบุตร กฤษณทรงครุฑปราสาทสรรค์ ศรีสุพรรณเนื้อริน วรรณนิลผุดผาด สารสวัสดิมงคลคุณ สุนทรลักษณ์เลิศฟ้า (ตระกูลวิษณุพงศ์) เป็นช้างพลายด่าง สูง ๕ ศอก เจ้าเชียงใหม่    น้อมเกล้า ฯ ถวาย พ.ศ. ๒๓๘๙

          ๑๑. พระยามงคลคชวงศ์ อัคนีทรงปราสาทสรรค์ พรรณผกาโกเมศ ทวาเศวตรบวร แก้วกุญชรเฉลิมกรุง ฟุ้งเฟื่องเดชกระเดื่องดิน คุณภิญโญยศ คชลักษณวิลาศเลิศฟ้า (ตระกูลวิษณุพงศ์) เป็นช้างพลายสีเปลือกมะพร้าว สูง ๓ ศอก ๑ คืบ ๓ นิ้ว เจ้าเมืองชนบท น้อมเกล้า ฯ ถวาย เมื่อวันศุกร์ เดือน ๗ แรม ๑๔ ค่ำ พ.ศ. ๒๓๙๑ 

 
          ในรัชกาลนี้ยังมีช้างพลายอีก ๒ เชือกที่เจ้าเมืองเชียงใหม่ และพระยารามัญแขก น้อมเกล้า ฯ ถวาย แต่มิได้ขึ้นระวาง คือ
               ๑. เจ้าเชียงใหม่ นำช้างพลายสีประหลาด สูง ๓ ศอก ๑ คืบ น้อมเกล้า ฯ ถวาย เมื่อวันเสาร์ เดือน ๘ แรม ๑๔ ค่ำ พ.ศ. ๒๓๘๙ ไม่ได้ขึ้นระวาง แต่พระราชทานให้พระเจ้าน้องยาเธอกรมขุนเดชอดิศรไปทรงเลี้ยงไว้ที่วัง 
               ๒. พระยาสงขลา น้อมเกล้า ฯ ถวาย ช้างพลายกระ จุดดำเท่าเม็ดพริกไทย พื้นขาวมัวเสมอทั้งตัว ขนาด    สูง ๕ ศอก ๙ นิ้ว ที่พระยารามัญแขก ส่งมาให้ น้อมเกล้า ฯ ถวาย เมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๑๑ ขึ้น ๖ ค่ำ พ.ศ. ๒๓๙๒ แต่ล้มเสียก่อน
 
          นอกจากนี้ยังได้พบว่าในรัชกาลที่ ๓ ทรงมีช้างต้นอีกหลายเชือก ดังปรากฏนามในริ้วกระบวนแห่กฐินพยุหยาตราสถลมารค ซึ่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส นิพนธ์ ในประชุมจารึกวัดพระเชตุพนฯ ดังนี้ 


๑. เจ้าพระยาไชยานุภาพ สูง ๖ ศอกคืบ ๙. พลายประกายมาศ สูง ๖ ศอก ๘ นิ้ว
๒. เจ้าพระยาปราบไตร สูง ๖ ศอก ๑ คืบ  ๑๐. พลายกุณฑลหัตถี สูง ๖ ศอก ๕ นิ้ว 
๓. พลายมงคลจักรวาฬ สูง ๖ ศอก ๑๑ นิ้ว ๑๑. พลายคเชนทรรัตน สูง ๖ ศอก ๓ นิ้ว
๔. พลายพิมานจักรพรรดิ สูง ๖ ศอก ๑๑ นิ้ว ๑๒. พลายสวัสดิกุญชร สูง ๖ ศอก ๓ นิ้ว
๕. พลายจักรอมรินทร์ สูง ๖ ศอก ๑๐ นิ้ว ๑๓. พลายเทพนิรมิต สูง ๖ ศอก
๖. พลายศิลปนารายณ์ สูง ๖ ศอก ๙ นิ้ว ๑๔. พลายดุสิตพิมาน สูง ๖ ศอก
๗. พลายมโนนฤมิต สูง ๖ ศอก ๙ นิ้ว ๑๕. พลายมหาคชาธาร สูง ๖ ศอก
๘. พลายวิจิตรเจษฎา สูง ๖ ศอก ๙ นิ้ว ๑๖. พลายกาลอัคคี สูง ๖ ศอก
         


รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  (พ.ศ. ๒๓๙๔ – ๒๔๑๑)

          ๑. พระวิมลรัตนกริณี สุทธศรีสรรพางคพิเศษ ทุติเศวตวรรโณภาส พงศกมลาสนรังสฤษดิ์ ราชบุญฤทธิสมาหาร โสภาจารจุฬาหล้า มหาอุดมมงคล พรรษผลพิบูลยประสิทธิ์ ศุภสนิทพาหนนาถ ลักษณวิลาศเลิศฟ้า (ตระกูลพรหมพงศ์) เป็นช้างพังเผือกโท สีแดงเจือทองหม่น ๆ สูง ๔ ศอก ๒ นิ้ว คล้องได้ที่ป่าฉมาตฉบา แขวงท่าลัด เมืองยโสธร พระสุนทรราชวงศา เจ้าเมืองยโสธร น้อมเกล้าฯ ถวายเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๕ โปรดให้มีการสมโภชที่ชาลาหน้าโรงช้าง ในพระบรมมหาราชวัง และพระราชทานเสื้อผ้า เงินตรา แก่พระสุนทรราชวงศา ๓ ชั่ง แก่หมอควาญ คนเลี้ยง ๔ ชั่ง 

          ๒. พระวิสูตรรัตนกรณี โบกษรหัสดีตระกูล สกลบริบูรณ์บริสุทธิ์เศวต คงพิเศษวรลักษณ์ เฉลิมราชศักดิ์สยาม โลกยาธิเบนทร์ ปรเมนทรมหาราชาธิราช บุญวราดุลยฤทธิสมาหาร สรรพาการศุภโสภณ มงคลคุณประเสริฐเลิศฟ้า (ตระกูลอัคนิพงศ์) เป็นช้างพังเผือกโท สีแดงเจือเหลือง สูง ๔ ศอก ๑๑ นิ้ว คล้องได้ที่บ้านป่า   ฉมาตฉบา เมืองยโสธร พระสุนทรราชวงศา เจ้าเมืองยโสธร นำมา น้อมเกล้า ฯ ถวายที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๙๖ โปรดให้มีการสมโภชที่ท้องสนามชัย หน้าพระที่นั่งสุทไธศวรรย์ และพระราชทานเสื้อผ้า เงินตรา แก่พระสุนทรราชวงศา และพระราชทานเงิน หมอควาญ ๕ ชั่ง 

          ๓. พระมหาศรีเศวตวิมลวรรณ ฉัททันตคเชนทรชาติ วรราชรัตนกรีลักษณ์ จตุรพักตร์พิสุทธิพงศ์ มิ่งมงคลสกลสรรไพบูลย์ ปรเมนทรเรนทรสูรบารมิตาสมาหาร สุนทราจารจริตงามสยามโลกดิลก คชนายกนาคินทร์ หัสดินทรรัตนรุ่งฟ้า (ตระกูลพรหมพงศ์) เป็นช้างพลายเผือกโท สีดินแดงเจือฝุ่นเจือสีเหลือง สูง ๓ ศอก ๒ นิ้ว คล้องได้ที่เขาจองแมว แขวงฉมาตฉบา พระรัตนวงศา เจ้าเมืองสุวรรณภูมิ นำมาน้อมเกล้า ฯ ถวาย พ.ศ. ๒๔๐๖ โปรดให้มีการสมโภชที่ท้องสนามชัย หน้าพระที่นั่งสุทไธศวรรย์ พระราชทานเสื้อผ้า และเงิน แก่พระรัตนวงศา ๑ ชั่ง ๕ ตำลึง และพระราชทานเงินแก่หมอควาญ เจ้าของช้างต่อ ๑ ชั่ง ๑๐ ตำลึง ช้างเชือกนี้ปลูกโรงที่เขื่อนเพชร ด้านตะวันออกของพระที่นั่งอนันตสมาคม ในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งรื้อไปแล้ว 

          ๔. ช้างพังเผือกโท (ตระกูลพรหมพงศ์ ช้าง ๑๐ หมู่ หมู่เหมหัตถี) ผิวสีเหลืองเจือแดง จักษุเหมือนน้ำทอง  ขนตัวและขนหาง เป็นสีเหลือง อยู่ในตระกูลเหมหัตถี สูง ๓ ศอก ๑ คืบ พระศรีวรราชกับท้าวเพี้ย คล้องได้ที่ป่าฉมาตฉบา และพระสุนทรราชวงศา นำมาน้อมเกล้า ฯ ถวาย ทอดพระเนตรที่เขาแก้ว แขวงเมืองสระบุรี พ.ศ. ๒๔๐๓ เมื่อเสด็จ ฯ ไปนมัสการพระพุทธบาท โปรดให้มีละครทำขวัญช้าง และโปรดให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหามาลา ฯ (ซึ่งต่อมาได้รับสถาปนาเป็น สมเด็จเจ้าฟ้า ฯ กรมพระยาปราบปรปักษ์) คุมช้างลงมากรุงเทพฯ แต่ช้างเป็นไข้ ล้มเสียก่อนที่บ้านเริงราง    

          ๕. พระเศวตสุวรรณาภาพรรณ สรรพางคพิบูลยลักษณ เผือกเอกอรรคอุดม บรมรัตนราชกรณี ยิ่งอย่างดีศรีพระนคร สุนทรสุภโสภณ มิ่งมงคลคชคุณ อดุลยกิริยามารยาท ช้างชาติอุโบสถ ลักษณะปรากฏพร้อมมูล บริบูรณบัณฑรนัขเนตร โลมเกศกายฉวีวรรณศรีทองผ่องแผ้ว เป็นกุญชรีแก้วกำเนิดพรหมพงศ์ ดำรงราชบารมี สมเด็จพระสยามาธิบดี ปรเมนทรมหาราชวรวิลาศเลิศฟ้า (ตระกูลพรหมพงศ์) เป็นช้างพังสีประหลาด จัดเป็นช้างเผือกเอก สูง ๓ ศอก ๑ คืบ ๙ นิ้ว พระรัตนวงศาอุปฮาดราชวงศ์ เมืองสุวรรณภูมิ คล้องได้ที่บ้านฉมาตฉบา แขวงป่าลัดแด น้อมเกล้า ฯ ถวาย พ.ศ. ๒๔๐๕ โปรดให้ปลูกโรงสมโภชที่หน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ พระราชทานเสื้อผ้า เครื่องอุปโภคบริโภค ให้พระรัตนวงศา และพระราชทานเงิน หมอควาญ ๑๐ ชั่ง 

          ๖. ช้างเผือกเอก (ตระกูลอัคนิพงศ์) สีขาวบริสุทธิ์ จักษุขาวใสบริสุทธิ์ ขนหางสีขาวเจือเหลือง สีตัวขาวเจือชาด จะงอยปากล่างขบขึ้นไปเหมือนปากนกแก้ว คล้องได้ที่บ้านนา แขวงนครนายก สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ามหามาลา กรมขุนบำราบปรปักษ์ ทรงคล้อง ได้ พ.ศ. ๒๔๐๗ ทรงนำมาฝึกที่บ่อโพง นำมาฉลองที่วัดชุมพลนิกายาราม มีมหรสพสมโภช ๓ วัน ๓ คืน แต่ช้างป่วยและล้มก่อน

          ๗. พระศรีสกนธ์กฤษณ์ สุทธสนิทฉวีวรรณ สังฆทันตสรรพางคโสภณพิเศษ นิลเนตรนิลขับวรลักษณมหา กุฬาวชาตรีกมลาสน์รังสฤษดิ์ ราชบุญฤทธิ์สมาคมอุดมคติผล มิ่งมงคลคชินทร สยามาธิบดินทรพาหนะนารถประเสริฐเลิศฟ้า (ตระกูลพรหมพงศ์) เป็นช้างพลายนิล พระสุวรรณวิมลศรี วัดสุวรรณดาราราม น้อมเกล้า ฯ ถวาย พ.ศ. ๒๔๐๗ 

          ๘. พระเทวสยามมหาพิฆเนศวร์ พิเศษสรรพวรลักษณ์ เศวตนัขทักษิณกทันต์ ประสิทธิสรรพศุภผล เจริญราชวรชนมายุกาล คชาธารประเสริฐเลิศฟ้า (ตระกูลอัคนิพงศ์) ทรงคล้องได้ที่เพนียด พ.ศ. ๒๔๐๗ เป็นช้างลูกโขลง ปลายงาสีแดงเจือเหลือง 

          ๙. พระบรมนัขสมบัติ (ตระกูลวิษณุพงศ์) เป็นช้างพลายเล็บครบ สูง ๕ ศอก ๓ นิ้ว นายสุง บุตรพระไชยบาดาล น้อมเกล้า ฯ ถวาย พ.ศ. ๒๔๐๗

          ๑๐. พระไชยนิลนัข (ตระกูลอัคนิพงศ์) เป็นช้างเล็บดำ สูง ๔ ศอก ๔ นิ้ว ข้าหลวงเดิม น้อมเกล้า ฯ ถวาย พ.ศ. ๒๔๐๗ 

          ๑๑. พระพิชัยกฤษณวรรณ (ตระกูลอัคนิพงศ์) เป็นช้างพลายเล็บดำ สูง ๓ ศอก คล้องได้ที่เพนียด พ.ศ. ๒๔๐๗ 

          ๑๒. พระบรมคชรัตน์ (ตระกูลอัคนิพงศ์) เป็นช้างพลายกระ สูง ๓ ศอก ๑ คืบ ๒ นิ้ว หลวงจินดารักษ์ น้อมเกล้า ฯ ถวาย พ.ศ. ๒๔๐๗



รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. ๒๔๑๑ – ๒๔๕๓)

          ๑. พระเศวตวรวรรณ สรรพวิสิฐคชลักษณ์ ดำพงษ์ถนิมศักดิ์ธำรง มิ่งมงคลรัตนาศน์ จักรพรรดิราชกุญชร พรรณกพรพหลเดช วรัคเนตรนิลสนิท พิศผิวกายผ่องประภัศร สารสุนทรบัณฑรโลมพิเศษ สุทธเศวตสอดประสาน นิลวรรณผ่านเล่ห์นฤมิต อรรคนิศรแสร้งเศกสรร ต้องแบบบรรพ์สำหรับคช จรดกาลก่อนห่อนเคยมี มาเฉลิมศรีพระนคร เอกอดิศรสยามาธิบดินทร์ ปรมินทรจุฬาหล้า อุดมมหาดิเรกยศ เกียรติปรากฏวิบูลย์สวัสดิ์ หัสดินรัตนประเสริฐเลิศฟ้า (ตระกูลอัคนิพงศ์) เป็นช้างพลายด่างดำพงษ์ถนิม เป็นช้างลูกบ้านเมืองพร้าว พระเจ้ากาวิโลรสุริยวงษ์ พระเจ้านครเชียงใหม่ น้อมเกล้า ฯ ถวาย พ.ศ. ๒๔๑๓ 

          ๒. พระมหารพีพรรณคชพงษ์ ทรงสุรเดชวิเศษศักดิ์ สกลลักษณเลิศลบ ขจรจบศรีธรรมราช คเชนทรชาติอุบลมาลี วรรณฉวีสัตบุษวิสุสธพงศ์จตุรภักตร์ รัตนัคพาหนนารถ ดำรงราชกฤษตภินิหาร สมภารสู่คู่พระบารมี เฉลิมศรีอมรโกสินทร์ องค์พระสยามมินทรจุฬาหล้า ปรมินทรมหาราชบพิตร สฤษดิ์พรรษผลคลประจักษ์ วรางคลักษณเลิศฟ้า (ตระกูลพรหมพงศ์) เป็นช้างพลายสีประหลาด พระศิริธรรมบริรักษ์ ปลัดเมืองนครศรีธรรมราช   น้อมเกล้า ฯ ถวายและขึ้นระวางสมโภช พ.ศ. ๒๔๑๓ พร้อมกับพระเศวตวรรณฯ 

          ๓. พระเศวตสุวภาพรรณ สรรพสินิทคชคุณ สมบูรณ์ลักษณวรเดช ทุติยเศวตวรรณวิจิตร สยามวิเศษสุทธเนตรนัขโลมฉวี ศรีสมานกายฉายเฉิด ดิลกเลิศเฉลิมกรุง ภมรผดุงรัตนโกสินทร์ สยามมินทโรดมบรมนารถ อรรควรราชพาหนเทพ เสพสวัสดิ์พิพัฒผล มิ่งมงคลเลิศฟ้า (ตระกูลอัคนิพงศ์) เป็นช้างพลายเผือกโท คล้องได้ที่ป่าฉมาตฉบา เมืองกระแจะ แขวงรแด พระยารัตนวงษ์เจ้า เมืองสุวรรณภูมิ และพระยาไชยสุนทร เจ้าเมืองกาฬสินธุ์   น้อมเกล้าฯ ถวาย และขึ้นระวางสมโภช พ.ศ. ๒๔๑๕ 

          ๔. พระเทพคชรัตนกิริณี ศุภศรีสกนธเศวต วรเชฐดไนยวิไลลักษณ์ เฉลิมราชศักดิ์สยามวิชิต พงศ์อัคนิศรมหิศรเดชนุพาหนนารถนฤบดินทร์ คชนาคินทรวิลาศเลิศฟ้า (ตระกูลอัคนิพงศ์) เป็นช้างพังเผือกโท คล้องได้ที่ดงฉมาดฉบา แขวงรแด พระยารัตนวงษา เจ้าเมืองสุวรรณภูมิ น้อมเกล้า ฯ ถวาย และขึ้นระวางสมโภช พ.ศ. ๒๔๑๗ 

          ๕. พระศรีสวัสดิเศวตวรรณ สุทธาดิสัยพรรณสกนธพิเศษ ทุติยเศวตนิฐวรสังกาศ อัคนิศรเทวราชรังสฤษดิ์ ราชบุญฤทธิบารมี รัตนคชาธารวรพาหนนารถ บรมราชาธิราชธำรง วราภิพงษ์คชลักษณ์ สุนทรศักดิอิศริยพัฒน์ กิริณีรัตนเลิศฟ้า (ตระกูลอัคนิพงศ์) เป็นช้างพังเผือกโท คล้องได้ที่ดงฉมาตฉบา ราชบุตร เมืองขอนแก่น น้อมเกล้า ฯ ถวาย และขึ้นระวางสมโภช จุลศักราช ๑๒๓๖ (พ.ศ. ๒๔๑๗) 

          ๖. พระบรมทันตวรลักษณ์ นาเคนทรศักดิ์สิงหสุรเดช พงษ์พิเศษทุติยปทุมทันต์ อัคนิศรสรรแสร้งประสิทธิ์ อุดมฤทธิ์อเนกคุณวิบูลย์สวัสดิ์ เฉลิมสยามรัตนราไช สวรรยาธิปไตยบรมอาศน์ คชพาหนนารถสุทธิวิมล มหันตมงคลเลิศฟ้า (ตระกูลอัคนิพงศ์) เป็นช้างพลายเนียม ซึ่งเจ้านครลำปาง น้อมเกล้า ฯ ถวาย และขึ้นระวางสมโภช พ.ศ.๒๔๑๗ ในวันจันทร์ แรม ๓ ค่ำ เดือน ๗ ปีจอ จุลศักราช ๑๒๓๖ (พ.ศ. ๒๔๑๗)

          ๗. พระเศวตวรลักษณ์ คเชนทรศักดิสุนทรสกนธ์ พรรณโกกมลพิษผ่องผุด สรรพาวควิสุทธจำรูญ กมุทตระกูลพงษ์จตุรภักตร์ บรมอรรคบารมิตาสมาหาร สู่สมภารบงกชบาท พาหนนารถนฤบดินทร์ ปรมินทรมหาจุฬาอดุลยเดช อุดมพิเศษมหาพรรษคติผล มิ่งมงคลคชาชรรัตน ศุภสวัสดิประเสริฐเลิศฟ้า (ตระกูลพรหมพงศ์) เป็นช้างพลายเผือกโท คล้องได้ที่ป่าดงกระมุง แขวงเมืองสมบุกสมบุญ เจ้ายุติธรรม นครจําปาศักดิ์ น้อมเกล้า ฯ ถวาย และขึ้นระวางสมโภช วันพุธ แรม ๕ ค่ำ เดือน ๗ ปีกุน จุลศักราช ๑๒๓๗ (พ.ศ. ๒๔๑๘)

          ๘. พระเศวตวรสรรพางค์ บวรางคคชรัตน ลักษณสมบัติวิบูลย์พิเศษ พิสุทธเนตรโลมฉวี ศรีรัตประทุมบวร สารสุนทรทุติยเศวต พิษณุเทเวศรังสรรค์ ลักษณพรรณสบสทร คเชนทรชาติลบชม อุดมเดโชผล อมรเทพยดลบันดาล คู่สมภารพาหนนารถ จอมจุฬาธิราชธำรง อาศน์อิศรองค์พงษ์จักรพรรดิ พิศาลสวัสดิประเสริฐเลิศฟ้า (ตระกูลวิษณุพงศ์) เป็นช้างพลายเผือกโท คล้องได้ที่เพนียดอยุธยา และขึ้นระวางสมโภช วันพุธ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๗ ปีชวด จุลศักราช ๑๒๓๘ (พ.ศ. ๒๔๑๘)

          ๙. พระเศวตวิสุทธิเทพา มหาพิฆเนศวร์ พิเศษสุนทรศักดิทักษิณเอกทันต์ อนันตวิบูลย์คุณประสิทธิ์ สรรพางสนิทพิสิฐพรรณ อัคนิรังสรรค์หันตวรเดช ทุติยเศวตวิสุทธวิมล พิพัฒนศุภผลดลประจักษ์ เจริญราชวรศักดิชนมายุกาล เฉลิมสมภารพาหนะนรินทร์ ปรมินทรจอมจุฬาหล้า อรรคมหาหิทธิคุณ อดุลยลักษณ์เลิศฟ้า (ตระกูลอัคนิพงศ์) เป็นช้างพลายเผือกโท คล้องได้ที่ดงฉมาตฉบา ราชบุตร พระศรีวรราช เมืองยโสธร น้อมเกล้า ฯ ถวาย   และขึ้นระวางสมโภช เมื่อวันพุธ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๘ ปีชวด จุลศักราช ๑๒๓๘ (พ.ศ. ๒๔๑๙)

          ๑๐. พระเศวตสุนทรสวัสดิ คชินทรรัตนสมบูรณ์ ศักดิตระกูลประทุมหัตถี เนตรนัขฉวีโลมวิมล สารโสภณสกนธพิเศษ ทุติยเศวตวรรโณภาษ อัคนิเทวราชรังสรรค์ ชาติปรจันตกาญจนดิฐ  อเนกบุญฤทธิ์สมาคม เฉลิมบรมราชบารมี จอมธเรศดริเบญจมรัช พิศาลสวัสดิประเสริฐเลิศฟ้า (ตระกูลอัคนิพงศ์) เป็นช้างพลายเผือกโท คล้องได้ที่ป่าร่อนสวาทจงสระ แขวงเมืองกาญจนดิษฐ์ พระกาญจนดิษฐบดี น้อมเกล้า ฯ ถวายและขึ้นระวางสมโภช วันเสาร์ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีชวด จุลศักราช ๑๒๓๗ (พ.ศ. ๒๔๑๘)

          ๑๑. พระเศวตสกลวรภาศ ผิวผ่องผาดเผือกเอก อุดมดิเรกวิสุทธิมงคล สมะโสภณโลมนัขเนตร ศรีสุวรรณเศวตวิเศษสรรพ์ อุโบสถพันธุพรหมตระกูล ปรมินทรนเรนทร์สูรสยามาธิราช  พาหนนารถมหันตเดช เฉลิมอยุธเยศดิลกภพ เกียรติขจรจบเจริญศักดิ์ ประจักรผลพรุณวิบูลยสวัสดิ์ สุเรนทรินทรรัตนประเสริฐเลิศฟ้า (ตระกูลพรหมพงศ์) เป็นช้างพลายเผือกเอก คล้องได้ที่ป่าเขาวงศ์ ดงฉมาตฉบา แขวงรแด เจ้ายุติธรรมธร เจ้านครจำปาศักดิ์ น้อมเกล้า ฯ ถวาย วันศุกร์ แรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๗ ปี มะเส็ง จุลศักราช ๑๒๔๓ (พ.ศ. ๒๔๒๔)

พระเศวตสกลวรภาศฯ พระช้างเผือกในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
นายตาร์ล บอค ชาวเยอรมัน วาด เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน ค.ศ. ๑๘๘๑ (พ.ศ. ๒๔๒๔)

          ๑๒. พระเศวตรุจิราภาพรรณ สรรพวิบูลยคุณคชลักษณ์ อรรคอุดมปฐมเศวต โลมเนตรนัขนฤมล ทันตโสภณศกสรรพางค์ เหมสมางศวโรภาษ พงษ์กมลาสน์รังสรรค์ อุโบสถพันธุพิสุทธิพงษ์ สารธำรงจักรพรรดิ พาหนรัตนนฤบดินทร์ ปรมินทรบารมิตา สมันนาหาระประสิทธิ์ เฉลิมวิชิตสยามภพ ขจรจบเกียรติคุณ อดุลประเสริฐ เลิศฟ้า (ตระกูลพรหมพงศ์) เป็นช้างพลายเผือกเอก คล้องได้ที่แขวงรแด เจ้ายุติธรรมธร เจ้านครจําปาศักดิ์ น้อมเกล้า ฯ ถวาย และขึ้นระวางสมโภช พ.ศ. ๒๔๒๘         

          ๑๓. พระเศวตวรนาเคนทร์ คเชนทรศักดิ์สมบูรณ์ กมุทตระกูลทุติยเศวตทวัย เนตรสุทธนฤมล กาโรหสกลมงคลลักษณ์ อรรคพาหนนารถ บรมราชาธิราชธำรง พรหมพงษ์พิเศษ พหลเดชคุณ อดุลยประเสริฐเลิศฟ้า (ตระกูลพรหมพงศ์) เป็นช้างพลายเผือกโท คล้องได้ที่เขตแดนระหว่างเมืองเชียงแตงกับเมืองสมบูรณ์ แถวเขาชบา เจ้ายุติธรรมธร เจ้านครจำปาศักดิ์ น้อมเกล้า ฯ ถวาย และขึ้นระวางสมโภช วันที่ ๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๓๔

          ๑๔. ช้างพลายเผือกเอก คล้องได้ดงฉมาตฉบา เจ้ายุติธรรมธร เจ้านครจำปาศักดิ์ น้อมเกล้า ฯ ถวาย และสมโภช พ.ศ. ๒๔๓๗ ที่บางปะอิน แล้วยังไม่ได้พระราชทานนาม ช้างล้มก่อน

          ๑๕. พระศรีเศวตวรรณิภา วรลักษณดิเรกศักดิ์ เนตรนัขพิไลยพรรณ วิสุทธสรรพางคินี เจริญศรีพิเศษสวัสดิ์ บัณฑรรัตโลมสกล มิ่งมงคลคชชวรา อุดมเดชาขจรยศ ปรากฏพรหมพงศ์จรูญ เพ็ญไพบูลย์มารยาท พาหนนารถนฤบดินทร์ ปรมินทรสยามาธิเบศ เฉลิมอยุธเยศมหาสถาน มโหฬารเกียรติคุณ อดุลยผลเพ็ญพิพัฒน์ ศรีสวัสดิ์ประเสริฐเลิศฟ้า (ตระกูลพรหมพงศ์) เป็นช้างพังเผือก คล้องได้ที่ป่าห้วยกระจะ เมืองอัตปือ พระดุษฎีตุลกิจ ข้าหลวงรักษาราชการ เมืองสุวรรณภูมิ น้อมเกล้าฯ ถวายและขึ้นระวางสมโภช วันที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๓

          ๑๖. พระเศวตอุดมวารณ์ บวรคชาธารประเสริฐศักดิ์ ศุภเนตรนัขโครวรรณ โลมพรรณเลื่อมประภัศร ดามพกุญชรดิลกชาติ พงศ์กมลาศรังสฤษดิ อดุลยฤทธิเดชาดิเรก เอกอิศราธิบดินทร์ ปรมินทรมหาราชาธิราช ประกาศเกษตรสิทธิสถาพร เฉลิมพระนครรัตนโกสินทรพิศาล มโหฬารพรรษคุณ วิบูลยลักษณเลิศฟ้า (ตระกูลพรหมพงศ์) เป็นช้างพลายเผือก บ้านทุ่งปาย นครลำปาง เจ้าบุญวาทยวงศ์มานิต เจ้านครลำปาง น้อมเกล้า ฯ ถวายและขึ้นระวางสมโภช วันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๐

          ๑๗. ช้างพลายสีประหลาด ซึ่งเจ้าดาราดิเรกรัตนไพโรจน์ เจ้านครลำพูน น้อมเกล้า ฯ ถวายแต่ล้มเสียที่อยุธยา ก่อนขึ้นระวางสมโภช

          ๑๘. ช้างพลายสีประหลาด จากเมืองน่าน ซึ่งพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช พระเจ้านครน่าน ถวายแต่ไม่ได้ขึ้นระวาง

          ๑๙. เจ้าพระยาไชยานุภาพ เดิมชื่อ พลายปานพลแสน ซึ่งมีลักษณะงาม พระเจ้านครเชียงใหม่ ถวายโปรดเกล้า ฯ ให้ขึ้นระวาง

 


รัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. ๒๔๕๓ – ๒๔๖๘)

  • พระเศวตวชิรพาห อุดมลักษณคชินทร รัตนกุญชรทุติยเศวต โสมเนตรนัขนฤมล เอกทนต์ทักษิณปรัศ อุบัติฟ้องต้องตำรา เทพามหาพิฆเนศวร์ อัคนิเทเวศร์รังสฤษฏ์ ประสิทธิผล ชนมายุยืนยง กำเนิดคงแขวงนครสวรรค์ พลันมาสู่พระบารมี นฤบดีฉัฏฐรัชกาลคู่สมภาคภูเบศร์ พิเศษสรรพมงคล สุภัทรผลเพียบพูล จรูญพระเกียรติภูมินทร์ หัสดินประเสริฐเลิศฟ้า (ตระกูลอัคนิพงศ์) เป็นช้างพลายเผือกโท คล้องได้ที่ตำบลเนินโพธิ์ อำเภอเกยชัย จังหวัดนครสวรรค์ เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๓๕  พระเพชรพิไสยศรีสวัสดิ์ (แม้น วสันตสิงห์) คล้องได้เมื่อเป็นพระเฑียรฆราช ปลัดมณฑลนครสวรรค์ ได้ น้อมเกล้าฯ ถวายและสมโภชขึ้นระวาง วันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๓๕ 

 

รัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. ๒๔๖๘ – ๒๔๗๕)

  • พระเศวตคชเดชน์ดิลก ประชาธิปกปทุมรัตนดำริ เทวอัคนีรุฒชุบเชิด กำเนิดนภิสิฉวนเฉวียง ฉวีเยี่ยงบุษกรโกมล นขาขนขาวผ่องแผ้ว แก้วเนตร์น้ำเงินงามลึก วันวณึกบรรณาการ คเชนทรยานยวดยิ่ง มิ่งมงคลฉนำเฉลิมฉัตร สัตตมกษัตทรงศร อมรรัตนโกสินทร รบือรบินบารมีทศ ยืนพระยศธรรมราชัย นิรามัยมนุญคุณ บุณยโศลกเลิศฟ้า (ตระกูลอัคนิพงศ์) เป็นลูกช้างพลายเผือกตรี ของบริษัทบอร์เนียว อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมิสเตอร์ ดี เอฟ แมคฟี ผู้จัดการป่าไม้ บริษัทบอร์เนียว จังหวัดเชียงใหม่ น้อมเกล้า ฯ ถวาย และขึ้นระวางสมโภช เมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๐

 

รัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (พ.ศ. ๒๔๘๙ – ๒๕๕๙)

          ๑. พระเศวตอดุลยเดชพาหน ภูมิพลนวนาถบารมี ทุติยเศวตกรีกมุทพรรโณภาส บรมกมลาสนวิศุทธวงศ์  สรรพมงคลลักษณ์คเชนทรชาติ สยามราษฎรสวัสดิ์ประสิทธิ์ รัตนกุญชรนิมิตบุญญาธิการ ปรมินทรมิตรสารศักดิ์เลิศฟ้า (ตระกูลพรหมพงศ์) เป็นช้างเผือกโท นายแปลก คล้องได้ที่จังหวัดกระบี่ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๙ พลโท บัญญัติ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ประธานกรรมการ องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย น้อมเกล้า ฯ ถวาย เมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๑ สมโภชขึ้นระวาง ณ โรงช้างต้น พระราชวังดุสิต เมื่อวัน ที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๒  



พระเศวตอดุลยเดชพาหน ภูมิพลนวนาถบารมีฯ ในโรงช้างต้นสวนจิตรลดา
พระยาช้างต้นเชือกแรกในรัชกาลที่ ๙

          ๒. พระเศวตวรรัตนกรี นพิศสิริพงคนัทย์ เอกาทัศน์มงคลสุลักษณ์ ศุภนัขเนตราทิโควรรณ พิษณุพันธุ์ อัครคชาธาร อัฏฐกุลสารดามพหัสดิน ปรมินทรมหาราชพาหน สยามประชาชนสวัสดิคุณ เดชอดุลยเลิศฟ้า (ตระกูลวิษณุพงศ์) เป็นช้างพลายเผือก ตกที่บ้านนายแก้ว ปัญญาคง ตำบลออนใต้ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ พันตำรวจเอก นิรันดร ชัยนาม ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ น้อมเกล้า ฯ ถวาย เมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๙ สมโภชขึ้นระวางที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๒๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๙ ปัจจุบันล้มแล้ว 

          ๓. พระเศวตสุรคชาธาร บรมนฤบาลสวามิภักดิ์ ศุภลักษณเนตราทิคุณ ทศกุลวิศิษฎพรหมพงศ์ อดุลยวงศ์ดามพหัตถี ประชาชนสวัสดิวิบูลย์ศักดิ์ อัครสยามนาถสุรพาหน มงคลสารเลิศฟ้า (ตระกูลพรหมพงศ์) เป็นช้าง พลายเผือก ลูกเถื่อน นายเจ๊เฮง หะระตี กำนันตำบลการอ อำเภอรามัญ จังหวัดยะลา ได้ลูกช้างพลัดแม่ พันตำรวจเอก ศิริ คชหิรัญ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา น้อมเกล้า ฯ ถวาย เมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๑ สมโภชขึ้นระวางที่จังหวัดยะลา เมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๑ อยู่ที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ปัจจุบันล้มแล้ว


พระเศวตสุรคชาธาร บรมนฤบาลสวามิภักดิฯ

         ๔. ช้างพลายแก้วขาว ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ น้อมเกล้า ฯ ถวาย ณ พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ โปรดเกล้า ฯ ถวายเอกสารใบสำคัญรูปพรรณ ทะเบียนสัตว์พาหนะ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๙ ได้ฝากให้เลี้ยงดูอยู่ที่ศูนย์ฝึกลูกช้าง จังหวัดลำปาง ยังมิได้ขึ้นระวางสมโภช ล้มเสียก่อน เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๙ 

         ๕. พระศรีเศวตศุภลักษณ์ อรรครัตนกิริณี ดามพหัสพิษณุพงศ์ ดำรงสุทธสกนธ์สุคนธชาติ เฉลิมราชกฤดาบารมี ศรีตรังคพิเศษสุทธิ์ อุตดมสารเลิศฟ้า (ตระกูลวิษณุพงศ์) เป็นช้างพังเผือก ชื่อเล่นว่า “เจ้าแต๋น” กรมป่าไม้ได้มาจากป่าพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้นำไปเลี้ยงไว้ที่วนอุทยานเขาช่อง จังหวัดตรัง ผู้ว่าราชการจังหวัดตรังและอธิบดีกรมป่าไม้ น้อมเกล้า ฯ ถวาย และโปรดเกล้า ฯ สมโภชขึ้นระวาง เมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ ณ โรงช้างต้น สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต 

         ๖. ช้างพลาย ชื่อเล่นว่า “ก้อง” ของกรมป่าไม้ได้นำไปเลี้ยง ณ วนอุทยานเขาเขียว จังหวัดชลบุรี ได้ตรวจ สอบแล้ว เป็นแต่เพียง “ช้างสีประหลาด” แต่ยังมิได้น้อมเกล้า ฯ ถวาย ล้มเสียก่อน 

         ๗. พระเศวตสุทธวิลาส อัฏฐคชชาติพิษณุพงศ์ ดำรงประภาพมหิมัน ตามพรรณไพศิษฏ์ ผริตวรุตตมมงคล  ดาลศุภผลสวัสดิวิบุล อดุลยลักษณ์เลิศฟ้า (ตระกูลวิษณุพงศ์) เป็นช้างพลายเผือก (สีดอ) ชื่อเล่นว่า “บุญรอด” คนงานของกรมป่าไม้ ได้พบลูกช้างที่ป่าบริเวณแม่น้ำแควน้อย จังหวัดกาญจนบุรี ต่อมาได้เลี้ยงไว้ ณ วนอุทยานเขาเขียว จังหวัดชลบุรี อธิบดีกรมป่าไม้  ได้น้อมเกล้า ฯ ถวาย และโปรดเกล้า ฯ สมโภชขึ้นระวาง เมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๒๐ ณ โรงช้างต้น สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต

พระเศวตสุทธวิลาส อัฏฐคชชาติพิษณุพงศ์ฯ

         ๘. พระวิมลรัตนกิริณี กมุทศรีพรรณโศภิต อัฏฐทิศพงศ์กมลาสน์ อรรคราชทิพยพาหน ถกมลกิตติคุณกำจร อมรสารเลิศฟ้า (ตระกูลพรหมพงศ์) เป็นช้างพังเผือกชื่อเล่นว่า “ขจร” นายปรีชาและนางพิมพ์ใจ วารวิจิตร ได้มาจากป่า จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และได้นำมาเลี้ยงไว้ที่บ้าน ณ ทุ่งสีกัน กรุงเทพมหานคร นายปรีชาและนางพิมพ์ใจ น้อมเกล้า ฯ ถวาย และโปรดเกล้า ฯ สมโภชขึ้นระวาง พระราชทานนาม เมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๐ ณ โรงช้างต้น สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต 

พระวิมลรัตนกิริณี กมุทศรีพรรณโศภิตฯ
 
         ๙. พระศรีนรารัฐราชกิริณี จิตรวดีโรจนสุวงศ์ พรหมพงศ์อัฏฐทิศพิศาล พิเสธการธรณิพิทักษ์ คุณารักษ์กิตติกำจร อมรสารเลิศฟ้า (ตระกูลพรหมพงศ์) เป็นช้างพังเผือก ชื่อเล่นว่า “จิตรา” ยายมายิ มามุ ราษฎรบ้านกูมุง หมู่ ๗ ตำบลจะแนะ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส ได้ลูกช้างพลัดแม่จากป่าบนเทือกเขากือซา นายวัชระ สิงคิวิบูลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส น้อมเกล้า ฯ ถวาย วันที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๐ สมโภชขึ้นระวาง พระราชทานนาม ณ จังหวัดนราธิวาส วันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๐ ปัจจุบันอยู่ที่โรงช้างต้น พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต

พระศรีนรารัฐราชกิริณี จิตรวดีโรจนสุวงศ์ฯ

         ๑๐. พระเศวตภาสุรคเชนทร์ นวเมนทรพาหน สุทธวิมลวิษณุพงศ์ คุณดำรงดามพหัสดินทร์ สุพัชรินทร์อนันตผล คชมงคลเลิศฟ้า (ตระกูลวิษณุพงศ์) เป็นช้างพลายเผือก ชื่อ “ภาศรี” นายสุรเดช มหารมย์ เจ้าของไร่ภาศรี  ใกล้เขื่อนแก่งกระจาน อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี  ได้มาจากชาวบ้านกระเหรี่ยง บ้านหนองปืนแตก ตำบลสองพี่น้อง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี นายศุภโยค พาณิชวิทย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี น้อมเกล้า ฯ ถวาย เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๑

         ๑๑. พระเทพวัชรกิริณี ดามพหัสพิษณุพงศ์ โสตถ์ธำรงวิสุทธิลักษณ์ อำนรรฆคุณสบสกนธ์ วิมลสารโสภิต  พิบูลกิตติ์เลิศฟ้า (ตระกูลวิษณุพงศ์) เป็นช้างเผือก เดิมชื่อ “ขวัญตา” พระปลัดบุญส่ง ธัมมปาโล เจ้าอาวาสวัดเขาบรรไดอิฐ อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี  ได้มาจากนายสนิท ศิริวานิช กำนันตำบลเขาน้อย อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายศุภโยค พาณิชวิทย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี น้อมเกล้า ฯ ถวาย เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๑

 
พระเทพวัชรกิริณี ดามพหัสพิษณุพงศ์ฯ
 
         ๑๒. พระบรมนขทัศ วัชรพาหน์พิษณุพงศ์ โสตถิธำรงอัฏฐคช ดิเรกยศอนันตคุณ อดุลสารเลิศฟ้า (ตระกูลวิษณุพงศ์) เป็นช้างพลายเผือก ลูกเถื่อนชื่อ “ดาวรุ่ง” พระปลัดบุญส่ง ธัมมปาโล ได้มาจากราษฎร อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นำมาเลี้ยงไว้ที่วัดเขาบรรไดอิฐ คู่กับช้างพัง “ขวัญตา” นายศุภโยค  พาณิชวิทย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี น้อมเกล้า ฯ ถวาย เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๑



 
Tags:


จำนวนผู้เข้าชมทั้งหมด 24,184 คน
เว็บไซต์ของเรามีการใช้งานคุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานให้กับผู้ใช้งาน ทั้งนี้ สามารถมั่นใจได้ว่าเราจะดูแลและรักษาความปลอดภัยข้อมูลของท่านเป็นอย่างดี