ศุภฤกษ์เบิกชัย สวัสดีปีใหม่


ศุภฤกษ์เบิกชัย สวัสดีปีใหม่

ความเป็นมาของวันขึ้นปีใหม่ไทย

          ในสมัยโบราณคนทั่วโลกมีหลักเกณฑ์ในการกำหนดวันขึ้นปีใหม่ที่คล้ายคลึงกันโดยคำนึงถึงเหตุและผลที่เกี่ยวข้องกับสภาพชีวิต ความเป็นอยู่ ดินฟ้าอากาศ และจารีตประเพณี เพราะวันขึ้นปีใหม่ย่อมหมายถึงวาระแห่งความรื่นเริงและสิริมงคลในชีวิต เป็นนิมิตหมายที่ดีในการเริ่มต้นสิ่งใหม่และมอบความปรารถนาดีให้แก่กันหลังจากตรากตรำกับภารกิจการงานมาตลอดทั้งปี คนไทยในสมัยโบราณก็เช่นเดียวกันวันขึ้นปีใหม่ครั้งแรกจึงได้ถูกกำหนดขึ้นอย่างสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ข้างต้น ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงวันขึ้นปีใหม่นับได้ ๔ ครั้งซึ่งมีเหตุผลและความเหมาะสมที่แตกต่างกัน ดังนี้

ครั้งแรก วันขึ้นปีใหม่ของไทยตรงกับ วันแรม ๑ ค่ำ เดือนอ้าย บรรพบุรุษไทยเริ่มมีการเฉลิมฉลองวันขึ้นปีใหม่เป็นครั้งแรกตั้งแต่ยังมีถิ่นฐานอยู่บริเวณประเทศจีนทางตอนใต้ ตามทางสอบสวนปรากฏว่าเป็นของไทยแท้ และไม่ได้เลียนแบบมาจากที่ใด มูลเหตุมาจากดินฟ้าอากาศในประเทศของเราดังพระบรมราชาธิบายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกล่าวถึงฤดูทั้ง ๓ ไว้ว่า วิธีนับวันขึ้นปีใหม่ของคนไทยโบราณถือว่าเดือนอ้าย แรม ๑ ค่ำ เป็นวันขึ้นต้นปีเพราะฤดูหนาวที่เรียกว่าเหมันตะเป็นเวลาที่พ้นจากความมืดครึ้มของฟ้าฝนและสว่างไสวขึ้นเปรียบเสมือนเวลาเช้าถือเป็นต้นปี ฤดูร้อนที่เรียกว่าคิมหฤดูเป็นเวลาสว่างร้อนเหมือนเวลากลางวันถือว่าเป็นกลางปี ส่วนฤดูฝนที่เรียกว่าวัสสานะเป็นเวลาที่มืดมัวและมีฝนพรำเปรียบเสมือนเวลากลางคืนถือว่าเป็นปลายปี เพราะฉะนั้นจึงได้นับชื่อเดือนเป็นหนึ่งมาแต่เดือนอ้าย

ครั้งที่ ๒ วันขึ้นปีใหม่ของไทยตรงกับ วันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ เมื่อชาวไทยย้ายถิ่นฐานลงมาสู่ดินแดนแหลมทอง จึงได้มีการเปลี่ยนแปลงวันขึ้นปีใหม่ครั้งแรกสาเหตุน่าจะมาจากอิทธิพลของพราหมณ์ที่มีถิ่นฐานเดิมอยู่ทางตอนเหนือของประเทศอินเดียเมื่อพราหมณ์เหล่านี้เดินทางเข้ามาสู่แผ่นดินไทยจึงนำลัทธิธรรมเนียมและจารีตประเพณีต่าง ๆ ตลอดจนแนวคิดในการเปลี่ยนศกใหม่ในวันสงกรานต์ตามแบบสุริยคติของอินเดียเหนือเข้ามาเผยแพร่ด้วย จึงส่งผลให้ไทยกำหนดวันขึ้นปีใหม่เป็น วันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ (เดือนเมษายน) และถือเป็นวันสงกรานต์ด้วย และได้ใช้ติดต่อกันเรื่อยมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ครั้งที่ ๓ วันขึ้นปีใหม่ของไทยตรงกับ วันที่ ๑ เมษายน การกำหนดวันขึ้นปีใหม่สองครั้งที่ผ่านมาได้ถือเอาทางจันทรคติเป็นหลัก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นความลำบากในการกำหนดวันขึ้นปีใหม่ มีพระราชปรารถว่าวันขึ้นปีใหม่ของไทยซึ่งนับตามจันทรคตินั้นมักจะเลื่อนไปเลื่อนมาไม่แน่นอนเป็นการยุ่งยากแก่การจดจำ และเมื่อต้องมีการติดต่อกับต่างประเทศก็ยิ่งรู้สึกลำบากมากขึ้นจวบจนถึงรัตนโกสินทรศก ๑๐๘ (พุทธศักราช ๒๔๓๒) วันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ ตรงกับวันที่ ๑ เมษายนพอดี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ประกาศให้ถือวันที่ ๑ เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๔๓๒ เป็นต้นมานับเป็นวันขึ้นปีใหม่ทางสุริยคติครั้งแรกของไทย

          ครั้งที่ ๔ วันขึ้นปีใหม่ของไทยตรงกับ วันที่ ๑ มกราคม ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เห็นว่าเมื่อไทยยอมรับปฏิทินสุริยคติตามแบบสากลแล้ว ก็ควรเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ให้เป็นแบบสากลเพื่อความสะดวกในการติดต่อกับต่างประเทศ จึงกำหนดให้ถือวันที่ ๑ มกราคมของทุกปีเป็นวันขึ้นปีใหม่เริ่มตั้งแต่พุทธศักราช ๒๔๘๔  เป็นต้นมา ส่งผลให้พุทธศักราช ๒๔๘๓ มีจำนวนเดือนเพียง ๙ เดือนขาดไป ๓ เดือน



วันขึ้นปีใหม่ไม่ว่าชาติใดภาษาใด ต่างถือว่าเป็นวันสำคัญวันหนึ่งเพราะเป็นวาระเริ่มต้นชีวิตใหม่ในอีกรอบขวบปีหนึ่ง และต่างถือว่า เป็นวันที่อุดมด้วยมงคลฤกษ์ และศุภนิมิตอันดีงาม ฉะนั้น ในวันนี้จึงมีการจัดพระราชพิธี พิธี งานรื่นเริง กิจกรรม และประเพณีบำเพ็ญกุศลทางศาสนา ตลอดจนการอวยพรและขอรับพรจากกันและกัน เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองมิ่งขวัญอันจะนำมาซึ่งศิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคลแก่ตนและครอบครัว ตลอดจนมิตรสหายวงศ์ญาติที่เคารพนับถือ

 

พระราชพิธีขึ้นปีใหม่อันเกี่ยวเนื่องกับพระมหากษัตริย์

พระราชพิธีขึ้นปีใหม่ในพระราชสำนักมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ครั้นสมัยรัตนโกสินทร์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงกำหนดพระราชพิธีที่คล้ายคลึงกัน มีการเปลี่ยนแปลงพระราชกรณียกิจบางอย่างให้เหมาะสมกับกาลเวลา โดยเฉพาะในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา พระราชพิธีขึ้นปีใหม่แบ่งเป็น ๒ พิธี คือ การบำเพ็ญพระราชกุศล และการรื่นเริงปีใหม่

การบำเพ็ญพระราชกุศล ได้แก่ พระราชกุศลสดับปกรณ์พระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ผ่านมา พระอัฐิพระบรมวงศ์ พิธีบวงสรวงเทวดา คือ พระสยามเทวาธิราช พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์เลี้ยงพระถวายอาหารบิณฑบาต สดับปกรณ์ในพระราชวังบวร และที่หอพระนาก



 

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะพระบรมอัฐิ

 

พระโกศ พระบรมอัฐิ และพระอัฐิ
ประดิษฐานบนพระแท่นนพปฎลมหาเศวตฉัตร


พระโกศ พระบรมอัฐิ สมเด็จพระบวรราชเจ้า
พระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
และพระอัฐิพระราชวงศ์ในหอพระนาก

 

การรื่นเริง  ในทุกปีโปรดเกล้า ฯ ให้จัดการเลี้ยงพระกระยาหารที่เรียกกันว่า เลี้ยงโต๊ะปีใหม่ (ดินเนอ) พระราชดำรัสพระราชทานพร พระราชทานของฉลากเลี้ยงโต๊ะปีใหม่ ปฏิทิน บางปีจัดงานแฟนซีเดรสส์ ออกร้านขายของในพระบรมมหาราชวัง จัดการแสดงละครหลวง การแสดงเล่นกลของรอยัลแมจิกโซไซเอตี

 


พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้านาย
และข้าราชการฝ่ายหน้า แต่งแฟนซีในงานขึ้นปีใหม่


เจ้านายและข้าราชการฝ่ายในแต่งแฟนซีเป็นแขกและพม่า


เจ้าจอมเอื้อน ในรัชกาลที่ ๕


เจ้าจอมมารดาห่วง ในรัชกาลที่ ๔


พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ฉลองพระองค์แฟนซีในงานขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช ๒๔๑๙


พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว


สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี
กรมพระจักรพรรดิพงศ์


สมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข
เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์
กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช


เจ้านายซึ่งทรงแสดงละครเรื่องนิทราชาคริช
ในงานขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช ๒๔๒๓

 

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระราชพิธีขึ้นปีใหม่ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลยังคงปฏิบัติเช่นเดิม แต่มีพระราชพิธีที่เพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลง คือ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้รวมพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ เถลิงศกสงกรานต์ และพระราชพิธีศรีสัจจปานกาลถือนํ้าพระพิพัฒน์สัตยาเข้าด้วยกันเรียกว่าพระราชพิธีตรุษะสงกรานต์ เริ่มการพระราชพิธีตั้งแต่วันที่ ๒๘ มีนาคม ถึงวันที่ ๓ เมษายน

ส่วนการรื่นเริง มีงานอุทยานสโมสร กระทรวงวังจัดที่ลงพระนามและนามถวายพระพร และพระราชทานปฏิทินหลวง


ข้าราชการกำลังขึ้นไปดื่มน้ำพระพิพัฒน์สัตยาที่บริเวณหน้าพระอุโบสถ
วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในงานพระราชพิธีศรีสัจจปานกาล

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ในรัชกาลนี้ บางปียังคงมีการรื่นเริงต่าง ๆ พระราชทานเลี้ยงพระบรมวงศานุวงศ์ มีการแสดง พระราชทานฉลากของขวัญ พระราชทานปฏิทินแก่ข้าราชการ และปวงชนชาวไทย

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร

ครั้นถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร มีประกาศใช้วันที่ ๑ มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่เริ่มตั้งแต่พุทธศักราช ๒๔๘๔ จึงได้กำหนดการพระราชพิธีขึ้นปีใหม่ระหว่างวันที่ ๓๑ ธันวาคม ถึง ๒ มกราคม มีรายละเอียด คือพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์สรงนํ้าพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรและพระพุทธรูปสำคัญ ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามถวายอาหารบิณฑบาตพระสงฆ์รับพระราชทานฉัน สดับปกรณ์ผ้าคู่พระบรมอัฐิสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช พระอัฐิพระบรมวงศ์ พระบรมอัฐิสมเด็จพระบวรราชเจ้า และพระอัฐิพระราชวงศ์ ลงนามถวายพระพรในพระบรมมหาราชวัง

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

พุทธศักราช ๒๔๙๐ คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์โปรดเกล้า ฯ ให้ยกการพระราชกุศลสดับปกรณ์ผ้าคู่ในวันขึ้นปีใหม่ไปไว้ในพระราชพิธีสงกรานต์

ต่อมาในพุทธศักราช ๒๕๐๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้งดการพระราชกุศลสวดมนต์ เลี้ยงพระในวันขึ้นปีใหม่ เปลี่ยนเป็นเสด็จออกทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทรงบาตร

พุทธศักราช ๒๕๐๑ โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนการพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลทรงบาตรขึ้นปีใหม่ ในวันที่ ๑ มกราคม เป็นวันที่ ๓๑ ธันวาคม ซึ่งเป็นวันสิ้นปี ต่อมาในพุทธศักราช ๒๕๑๘ โปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทรงบาตรขึ้นปีใหม่เป็นงานส่วนพระองค์ ณ พระราชฐานที่ประทับ


พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
และพระบรมวงศาสนุวงศ์ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทรงบาตร ในวาระขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช ๒๕๐๘


พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
มีพระราชดำรัสพระราชทานพรปีใหม่แก่ประชาชนชาวไทย ในวาระขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช ๒๕๑๒

 

การอวยพรส่งความสุขปีใหม่

การส่งความสุขเป็นของขวัญ ของที่ระลึกแก่บุคคลอันเป็นที่รักและนับถือในเทศกาลขึ้นปีใหม่มีหลายรูปแบบตามสถานะของบุคคล เช่น การส่งบัตรอวยพร ปฏิทิน สมุดบันทึกประจำวัน และอื่น ๆ

ในอดีต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะพระราชทานพรปีใหม่แก่พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ ตลอดจนพสกนิกรผ่านพระบรมราโชวาท พระราชดำรัส ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรการอวยพรที่มีค่าและพสกนิกรต่างจดจ่อรอเวลานั้น คือ พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่จะทรงพระราชทานพรวันขึ้นปีใหม่แก่ประชาชนชาวไทยของพระองค์เป็นประจำทุกปี และพระราชทานบัตรส่งความสุขที่ทรงประดิษฐ์ขึ้นด้วยพระองค์เอง ข้อความพระราชทานแต่ละปีจะประมวลขึ้นจากเหตุการณ์บ้านเมืองที่ประเทศไทยต้องประสบในรอบปีที่ผ่านมา ถือเป็นพรอันล้ำค่าอีกทั้งแฝงไปด้วยคำสอนและข้อคิดให้พสกนิกรน้อมนำไปเป็นแนวทางในการเริ่มต้นปีด้วยปัญญาและสติ

พระราชดำรัสพระราชทานแก่ประชาชนชาวไทยในโอกาสขึ้นปีใหม่


พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระราชทานพรปีใหม่ พุทธศักราช ๒๔๐๙
จาก The Bangkok Recorder
ฉบับวันเสาร์ที่ ๑๓ มกราคม คริสต์ศักราช ๑๘๖๖

 

 

พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพรปีใหม่
แก่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการที่ตามเสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรป ครั้งที่ ๒ พุทธศักราช ๒๔๕๐

 

 

พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพรปีใหม่ พุทธศักราช ๒๔๕๘

 

พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร พระราชทานพรปีใหม่ พุทธศักราช ๒๕๐๐


พระราชดำรัสสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร
พระราชทานพรปีใหม่ พุทธศักราช ๒๕๖๐



 
โคลงให้พรปีใหม่ของพระบรมวงศานุวงศ์

 

บัตรส่งความสุข / บัตรอวยพร / ส.ค.ส.พระราชทาน

บัตรอวยพรในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

 


 



บัตรอวยพรในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว







ส.ค.ส. พระราชทานในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

ส.ค.ส. พระราชทานในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร









 

 


ส.ค.ส. พระราชทานในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว









 

ส.ค.ส. พระราชทานของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า
กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
  ส.ค.ส. พระราชทานของพระบรมวงศานุวงศ์

 

 

 

 



บัตรส่งความสุข บัตรอวยพรปีใหม่ของบุคคลต่าง ๆ



หนังสือที่ระลึกในวันขึ้นปีใหม่

ลิลิตนิทราชาคริช พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานเป็นของขวัญปีใหม่
แก่พระบรมวงศานุวงศ์ พุทธศักราช ๒๔๒๓

 

หนังสือที่ระลึกในวันขึ้นปีใหม่

 


วชิรญาณวิเศษฉบับปีใหม่ ๑ เมษายน ร.ศ. ๑๐๙ (พุทธศักราช ๒๔๓๓)



ปฏิทิน: ของขวัญปีใหม่

 

เมื่อใกล้จะถึงวันขึ้นปีใหม่ สิ่งหนึ่งที่คนทั่วไปนึกถึงก็คือ ปฏิทิน สมุดบันทึก และบัตรอวยพร หรือ ส.ค.ส. โดยเฉพาะปฏิทินนั้น เป็นที่ต้องการและดูเหมือนว่าจะเป็นของใช้ในชีวิตประจำวันไปแล้ว
ปฏิทิน (calendar) ในสมัยโบราณอาจจะเขียนเป็น ประดิทิน ประนินทิน หรือ ประฏิทิน ซึ่งก็คือ ระเบียบวิธีการจัดแบ่งช่วงเวลาให้เป็นวัน เดือน ปี ขึ้นเป็นแบบแผน โดยอาศัยวิชาดาราศาสตร์เป็นหลักในการจัดทำ เพื่อประโยชน์สำหรับดู วัน เดือน ปี ในการกำหนดอายุ กำหนดการพิธีต่าง ๆ และใช้สำหรับระบุในการบันทึกเหตุการณ์ที่สัมพันธ์กับชีวิตประจำวันของมนุษย์
ปฏิทินของไทยแต่ก่อน เป็นปฏิทินแบบจันทรคติ คือใช้ดวงจันทร์เป็นหลัก เรียกวันเป็น วันข้างขึ้น วันข้างแรม กรมโหรหลวงมีหน้าที่คำนวณ วัน เดือน ปี จัดทำปฏิทินแต่ละปีขึ้นเป็นต้นแบบในสมุดไทยดำ บอกรายการวันขึ้นแรมในแต่ละเดือนเป็นลำดับไปตลอดทั้งปี ผู้ใดประสงค์จะได้ปฏิทินก็จะขอคัดสำเนาไปใช้ทั้งในส่วนราชการและส่วนตัว ภายหลังจึงมีการจัดพิมพ์ปฏิทินขึ้นบนกระดาษฝรั่ง
การพิมพ์ปฏิทินในเมืองไทยเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อหมอบรัดเลย์ มิชชันนารีชาวอเมริกัน ได้จัดพิมพ์หนังสือ Bangkok Calendar, For the year our Lord ขึ้นในวันที่ ๑๔ มกราคม พุทธศักราช ๒๓๘๕ ปลายสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพิมพ์เป็นเล่มมีรายละเอียดวัน เดือน ปี และช่องว่างสำหรับจดบันทึก (ลักษณะคล้ายกับสมุดบันทึก) แต่การพิมพ์ปฏิทินนี้ยังเป็นภาษาอังกฤษ
ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้จัดพิมพ์ปฏิทินภาษาไทยขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๐๔ และเลิกพิมพ์เมื่อพุทธศักราช ๒๔๑๖ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ลักษณะของปฏิทินที่พิมพ์มีรูปแบบอย่างไรนั้น ไม่ปรากฏหลักฐานมาจนถึงปัจจุบัน แต่รายละเอียดยังคงใช้แบบจันทรคติ ภายหลังจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นวันทางสุริยคติ การจัดทำปฏิทินจึงเริ่มใช้วันทางสุริยคติตั้งแต่พุทธศักราช ๒๔๓๒ เป็นต้นมา

ประเภทของปฏิทิน 

 

ปฏิทินหลวง คือกำหนดวัน เดือน ทางสุริยคติ จันทรคติของปีนักษัตร วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา และกำหนดการพระราชพิธีประจำปี
ปฏิทินหลวงในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรียกว่า ประกาศมหาสงกรานต์ เขียนเป็นภาพปีนักษัตรสงกรานต์ แขวนไว้ที่ประตูพิมานไชยศรี ในพระบรมมหาราชวัง สำหรับให้ทางราชการและประชาชนทราบ
ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ ให้ทำปฏิทินหลวงเป็นเล่มเล็ก ๆ คงใช้ชื่อว่า ประกาศสงกรานต์ และในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ ให้ทำปฏิทินหลวงเป็นสมุดพก ใช้ข้อความที่ปกว่า ปฏิทินหลวง พระราชทานสำหรับความสุขปีใหม่ สำหรับพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการเป็นราชประเพณีสืบมา ซึ่งภายหลังได้พระราชทานปฏิทินหลวงแก่ประชาชนที่มาลงนามถวายพระพรในวันขึ้นปีใหม่ด้วย
ปฏิทินราษฎร์ เป็นปฏิทินที่จัดทำขึ้นโดยหน่วยงาน ห้างร้าน ตลอดจนประชาชนทั่วไป ยึดหลักเหมือนกัน คือ บอกวัน เดือน ปี แตกต่างกันเพียงรายละเอียด วิธีการและรูปแบบที่จัดทำขึ้นเท่านั้น ซึ่งมีหลากหลายตามยุคสมัย











จากหนังสือ “สิ่งพิมพ์สยาม” โดย เอนก นาวิกมูล พ.ศ. ๒๕๔๒

 
ปัจจุบันการพิมพ์ปฏิทินเพื่อแจก คงมีอยู่ทุกปีและยังเป็นที่นิยมไม่เสื่อมคลาย ห้างร้านต่างประชันขันแข่งกันทำปฏิทินที่สวยงาม เพื่อสร้างความประทับใจให้ผู้รับ นอกจากนั้นหน่วยงานราชการบางแห่งก็ได้จัดพิมพ์ปฏิทินและสมุดบันทึกมอบแก่ข้าราชการ เช่น กระทรวงวัฒนธรรม กรมศิลปากร กระทรวงมหาดไทย เป็นต้น อีกทั้งยังมีการจัดประกวดปฏิทินที่ดี มีประโยชน์ ได้รับความรู้อีกด้วย เช่น ปฏิทินเรื่อง เครื่องสิริราชกกุธภัณฑ์ (Royal Regalia) จัดทำโดยบริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้รับรางวัลสุริยศศิธร ของสมาคมนักประชาสัมพันธ์แห่งประเทศไทย ในฐานะผู้ออกแบบปฏิทินดีเด่นประจำปี ๒๕๓๙ ชนิดแขวน ประเภท เทิดพระเกียรติสถาบันพระมหากษัตริย์

สมุดบันทึกประจำวัน

          พระนิพนธ์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ จาก “อนุทิน ฤๅสมุดสำหรับจดหมายรายวัน ในพระพุทธศักราช ๒๔๗๑” บทนี้ ทำให้ทราบถึงจุดประสงค์ของสมุดบันทึกประจำวัน หรือไดอารี หรือที่พระองค์ทรงเรียกว่า อนุทิน ได้เป็นอย่างดี

          สมุดบันทึกประจำวัน หรือ ไดอารี (diary) หรืออนุทิน เป็นปฏิทินเล่มแบบหนึ่ง โดยเว้นพื้นที่สำหรับการจดบันทึกในแต่ละวันให้มากขึ้น หรือบางเล่มผู้ผลิตใช้เพียงกระดาษเปล่าโดยไม่มี วัน เดือน ปี แล้วเย็บเข้าเล่มเท่านั้น เพื่อใช้ในการจดบันทึกต่าง ๆ สมุดบันทึกประจำวันแบบนี้มีผู้นิยมใช้ทั้งพระราชวงศ์ พระสงฆ์ และบุคคลทั่วไป
          อนึ่ง ก่อนที่จะมีสมุดบันทึกประจำวันที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้ ยังมีสมุดบันทึกอีกชนิดหนึ่งที่มีการจดเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามความคิดของผู้บันทึก เรียงตามลำดับ วัน เดือน ปี จึงนับว่าการบันทึกชนิดนี้เป็นสมุดบันทึกประจำวันด้วย สมุดบันทึกที่คนไทยสมัยโบราณใช้บันทึกเหตุการณ์บ้านเมือง และเรื่องเฉพาะตน ได้แก่

หมวดพระราชวงศ์

จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว


จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว



หมวดพระสงฆ์


หมวดข้าราชการ



ปฏิทิน: ของขวัญปีใหม่

 

ในช่วงเทศกาลปีใหม่ ประชาชน หน่วยงานภาครัฐ และองค์กรเอกชนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการจัดงานบันเทิงรื่นเริงและมหรสพที่หลากหลายรูปแบบ ในช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยเริ่มมีกระแสความนิยมจัดกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปีในวันที่ ๓๑ ธันวาคม เวลาประมาณ ๒๒.๐๐ น. ถึง ๐๐.๓๐ น.ของวันที่ ๑ มกราคม มีทั้งการสวดมนต์ที่บ้าน การสวดมนต์หมู่ตามวัดต่าง ๆ และศาสนสถานในศาสนาอื่นทั่วประเทศ ตามหลักศาสนบัญญัติของศาสนานั้น ๆ ซึ่งกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม ได้ริเริ่มจัดมาตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๔๘ ประกอบด้วย การทำบุญ รักษาศีล เจริญจิตตภาวนา ปฏิบัติธรรม ฟังพระธรรมเทศนา ร่วมพิธีเจริญพระพุทธมนต์ ลั่นฆ้องชัยต้อนรับปีใหม่ในวันที่ ๑ มกราคม เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช พระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ และสวดมนต์ให้ประเทศไทย ประชาชน ครอบครัว พร้อมทั้งตนเองให้มีความสุขตลอดปีใหม่ ตลอดจนเป็นแรงจูงใจให้ประชาชนลด ละ เลิกอบายมุขในเทศกาลปีใหม่
กิจกรรมการนับถอยหลังเข้าสู่วินาทีแรกในการขึ้นศักราชใหม่ซึ่งเป็นธรรมเนียมของชาติทางตะวันตก ภายหลังเริ่มเป็นที่นิยมทำกันอย่างแพร่หลายและยิ่งใหญ่มากขึ้น โดยประชาชนรวมตัวกันร่วมนับถอยหลังเข้าสู่วินาทีแรกของปีใหม่มีการจุดพลุดอกไม้ไฟ ร้องเพลง และสิ่งบันเทิงอื่น ๆ ที่สร้างความสนุกสนาน
วันที่ ๑ มกราคม ของทุกปีอันถือเป็นวันขึ้นปีใหม่วันแรกของปี สำหรับประชาชนชาวไทยที่ส่วนใหญ่เป็นพุทธศาสนิกชนนิยมทำบุญตักบาตร เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตสำหรับการเริ่มต้นชีวิตใหม่ในศักราชใหม่ ยังเป็นการแสดงออกถึงการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้อยู่คู่กับสังคมไทย

กิจกรรมทางศาสนา


การจัดงานบันเทิงรื่นเริงและมหรสพ



การจัดพิมพ์สมุดภาพ ภาพชุด และแผ่นภาพมรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติ

 

การส่งมอบความสุขและความปรารถนาดีให้แก่กันในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ทุก ๆ ปี กรมศิลปากรในฐานะผู้ปฏิบัติงานด้านวัฒนธรรม ได้ส่งความสุขปีใหม่ด้วยการพิมพ์สมุดภาพ (สมุดบันทึกประจำวัน) ภาพชุด (ปฎิทินตั้งโต๊ะ) และแผ่นภาพมรดกศิลปวัฒนธรรม (ส.ค.ส.) เพื่อส่งความระลึกถึงแก่ข้าราชการ พนักงาน และผู้ปฏิบัติงานภายใต้กรมศิลปากรทั่วประเทศ โดยเนื้อหาสาระของเรื่องดังกล่าวเป็นองค์ความรู้ของกรมศิลปากรด้านต่าง ๆเพื่อผู้สนใจจะได้รับความรู้ ความเข้าใจถึงความสำคัญของมรดกศิลปวัฒนธรรม อันนำไปสู่ความศรัทธาเลื่อมใสและตระหนักในคุณค่าของมรดกวัฒนธรรมที่บรรพชนได้สร้างสรรค์ไว้

สมุดบันทึกของกรมศิลปากร


ปฏิทินของกรมศิลปากร



 

เพลงพรปีใหม่
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบรพิตร ทรงพระราชนิพนธ์ในเดือนธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๙๔ เมื่อเสด็จนิวัตพระนคร มีพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานพรปีใหม่แก่บรรดาพสกนิกรไทยด้วยเพลง และทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องเป็นคำอวยพรปีใหม่ แล้วพระราชทานแก่วงดนตรี ๒ วง คือ วงดนตรีนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำออกบรรเลง ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวงดนตรีสุนทราภรณ์ นำออกบรรเลง ณ ศาลาเฉลิมไทย ในวันปีใหม่ วันอังคารที่ ๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๙๕

สวัสดีวันปีใหม่พา                    ให้บรรดาเราท่านรื่นรมย์
ฤกษ์ยามดีเปรมปรีดิ์ชื่นชม         ต่างสุขสมนิยมยินดี
ข้าวิงวอนขอพรจากฟ้า              ให้บรรดาปวงท่านสุขศรี
โปรดประทานพรโดยปรานี         ให้ชาวไทยล้วนมีโชคชัย
ให้บรรดาปวงท่านสุขสันต์          ทุกวันทุกคืนชื่นชมให้สมฤทัย
ให้รุ่งเรืองในวันปีใหม่                ผองชาวไทยจงสวัสดี
ตลอดปีจงมีสุขใจ                     ตลอดไปนับแต่บัดนี้
ให้สิ้นทุกข์สุขเกษมเปรมปรีดิ์       สวัสดีวันปีใหม่เทอญ




 
 
Tags:


จำนวนผู้เข้าชมทั้งหมด 10,711 คน
เว็บไซต์ของเรามีการใช้งานคุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานให้กับผู้ใช้งาน ทั้งนี้ สามารถมั่นใจได้ว่าเราจะดูแลและรักษาความปลอดภัยข้อมูลของท่านเป็นอย่างดี