แผ่นเสียงในสยาม




กระบอกเสียง การบันทึกเสียงยุคแรก

กระบอกเสียงเอดิสัน (EDISON CYLINDER)

การบันทึกเสียงช่วงเริ่มแรก เป็นการบันทึกเสียงลงบนกระบอกเสียงทรงกลมยาว โดย โทมัส อัลวา เอดิสัน (Thomas Alva Edison) ผู้ค้นพบความสำเร็จในการบันทึกเสียง เมื่อ พ.ศ. 2420 เรียกเครื่องบันทึกเสียงนี้ว่า “กระบอกเสียงเอดิสัน” (EDISON CYLINDER)

          กระบอกเสียงนี้มีลักษณะเป็นทรงกระบอก บนผิวด้านนอกฉาบไว้ด้วยขี้ผึ้งแข็ง เวลาบันทึกเสียงใช้วิธีไขลานให้ท่อทรงกระบอกหมุนไป แล้วผู้ขับร้องจะร้องเพลงกรอกลงไปทางลำโพง เสียงที่เข้าทางลำโพงจะไปสั่นที่เข็ม ซึ่งจะขูดลงไปบนขี้ผึ้งบนรูปทรงกระบอกให้เกิดเป็นร่องเสียงขึ้น เริ่มต้นตั้งแต่ส่วนหัวของกระบอกไปจบลงที่ปลายอีกข้าง เป็นอันเสร็จการบันทึก เมื่อจะนำมาเปิดฟังก็นำกระบอกเสียงนั้นมาหมุนด้วยเครื่องไขลานเช่นเดียวกัน แล้วใช้เข็มขูดลงไปบนร่องที่ได้บันทึกไว้ เสียงเพลงก็จะออกมาทางลำโพงเดียวกับที่เคยใช้บันทึกเสียง
 

(จากหนังสือ เครื่องเสียงโบราณ ตำนานแห่งศาสตร์และศิลป์ โดย พฤฒิพล ประชุมผล)





จากทรงกระบอกสู่แผ่นแบนราบ จุดเริ่มต้นของแผ่นเสียง

               พ.ศ. 2430 อีมิล เบอร์ไลเนอร์ (Emile Berliner) นักประดิษฐ์ชาวเยอรมัน ได้ทดลองทำการบันทึกเสียงลงบนวัสดุแบนราบแทนวัสดุทรงกระบอก ซึ่งสะดวกกว่าและบันทึกเสียงได้ยาวกว่า โดยเริ่มแรกใช้วิธีบันทึกเสียงจากกลางแผ่นให้เข็มขูดเป็นร่องออกมาสู่ขอบแผ่นช้าๆ เพลงจึงมาจบที่ขอบแผ่นเสียง เรียกแผ่นรุ่นแรกนี้ว่า “แผ่นเสียงร่องกลับทางของเบอร์ไลเนอร์”

อีมิล เบอร์ไลเนอร์ (Emile Berliner) "บิดาแห่งแผ่นเสียง"

               
ต่อมา พ.ศ. 2434 เบอร์ไลเนอร์ ได้พัฒนาคุณภาพการผลิตแผ่นเสียงให้ดีขึ้น โดยใช้วัสดุนิกเกิลผสมกับทองแดง ตีเป็นแผ่นบาง หุ้มด้วยชแล็คสูตรผสม ซึ่งให้เสียงที่มีชีวิตชีวามากขึ้น เรียกแผ่นเสียงชนิดนี้ว่า “แผ่นเสียงครั่ง” จากการคิดค้นการบันทึกเสียงลงแผ่นเสียงนี้ เบอร์ไลเนอร์จึงได้รับการยกย่องว่าเป็น “บิดาแห่งแผ่นเสียง”

(จากหนังสือ เครื่องเสียงโบราณ ตำนานแห่งศาสตร์และศิลป์ โดย พฤฒิพล ประชุมผล)





การบันทึกเสียงยุคแรกในสยาม

               กระบอกเสียงเข้ามาสู่ประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 จากหลักฐานที่นาย ต.เง็กชวน บันทึกไว้ว่าได้เห็นและฟังเพลงจากกระบอกเสียง เมื่อ พ.ศ. 2437 โดยมีผู้นำเข้ามาเปิดในงานโกนจุก ณ ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา นอกจากหลักฐานการบันทึกเสียงในไทยแล้ว ยังปรากฏหลักฐานการบันทึกเสียงวงดนตรีไทยของคณะนายบุศย์ มหินทร์ ลงกระบอกเสียง ณ ประเทศเยอรมนี เมื่อ พ.ศ. 2443
               ต่อมาจึงเริ่มมีการบันทึกเสียงลงแผ่นเสียงครั้งแรก ณ วังบ้านหม้อ ซึ่งเป็นที่ตั้งของกรมมหรสพหลวงในสมัยรัชกาลที่ 5 ในระยะแรก เป็นการบันทึกเสียงลงบนกระบอกเสียงแล้วนำไปอัดลงแผ่นเสียงครั่งที่ต่างประเทศ และนำกลับเข้ามาจำหน่ายที่สยาม แผ่นเสียงครั่งที่นำเข้ามาจำหน่ายตราแรกในสยาม คือ ตราอรหันต์ ตราที่สองคือ ตราปาเต๊ะ

คณะนายบุศย์ มหินทร์ บันทึกเสียงเพลงสรรเสริญพระบารมีครั้งแรก
ที่ประเทศเยอรมนี เมื่อ พ.ศ 2443




               ปลายรัชกาลที่ 6 มีการผลิตแผ่นเสียงโดยคนไทย มี 4 ตรา ได้แก่ ตรากระต่าย ตรากรอบพักตร์สีทอง ตราเศรณี และตราศรีกรุง หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 แผ่นเสียงเพลงไทยสากลเกิดขึ้นแทนที่แผ่นเสียงเพลงไทยเดิม มีบริษัทและห้างแผ่นเสียงของคนไทยเกิดขึ้นจำนวนมากและได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย




(จากหนังสือ เครื่องเสียงโบราณ ตำนานแห่งศาสตร์และศิลป์ โดย พฤฒิพล ประชุมผล และรายงานการวิจัยเรื่อง การบันทึกเสียงเพลงไทย : กรณีศึกษาแผ่นเสียงร่องกลับทาง โดย ศันสนีย์ จะสุวรรณ์)





แผ่นเสียงปาเต๊ะเพลงไทย


               พ.ศ. 2451 บริษัทปาเต๊ะ (Pathé) ซึ่งเป็นบริษัทผลิตแผ่นเสียงจากฝรั่งเศส ส่งวิศวกรมาบันทึกเสียงลงกระบอกเสียง และนำกลับไปผลิตเป็นแผ่นเสียงร่องกลับทางที่ประเทศฝรั่งเศสและเบลเยียม ลักษณะพิเศษของแผ่นเสียงร่องกลับทางจะเล่นจากด้านในสู่ด้านนอก หน้าตราระบุชื่อเพลงและนักร้องโดยใช้กรดกัดแล้วปาดสี แผ่นเสียงเพลงไทยของปาเต๊ะจะใช้ลาเบลที่ปาดด้วยสีเหลืองโดยเฉพาะ เรียกแผ่นเสียงนี้ว่า “แผ่นเสียงชนิดแข็งเข็มเพ็ชร” เพราะต้องใช้เข็มเพชรหัวมนเล่นโดยเฉพาะเท่านั้น



               หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 บริษัทปาเต๊ะตั้งโรงงานสำหรับผลิตแผ่นเสียงเพลงไทยที่เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน โดยใช้ไก่แดงเป็นตราสัญลักษณ์ การผลิตใช้กระดาษระบุตราแทนการกัดด้วยกรด และเปลี่ยนรูปแบบการเล่นจากด้านนอกสู่ด้านในเหมือนแผ่นเสียงปัจจุบัน นักร้องที่มีชื่อเสียงของแผ่นเสียงเพลงไทยปาเต๊ะ อาทิ หม่อมเจริญ หม่อมมาลัย ส่วนใหญ่เป็นการบันทึกเสียงเพลงพื้นบ้าน เช่น เพลงเป๋ (เพลงฉ่อย) เพลงแหล่ เพลงตับ และเพลงเบ็ดเตล็ด





หม่อมส้มจีนนักร้องหญิงไทยคนแรกที่บันทึกเสียง


               หม่อมส้มจีน เกิดในปลายรัชกาลที่ 4 เป็นภรรยาของพระยาราชานุประพันธ์ (สุดใจ บุนนาค) และเป็นศิษย์ของพระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์) เป็นนักร้องหญิงที่มีเสียงเล็กแหลมร้องเพลงได้ชัดถ้อยชัดคำ และมีลีลาการเอื้อนที่ละเอียดลออหมดจด มีชื่อเสียงในเรื่องการร้องเพลงสามชั้น

          หม่อมส้มจีน เป็นนักร้องหญิงไทยคนแรกที่ได้บันทึกเสียงลงกระบอกเสียงเอดิสันและได้บันทึกเสียงลงแผ่นเสียงหลายตรา เช่น ตราอรหันต์ ตราโอเดียน และแผ่นเสียงผู้มีบรรดาศักดิ์ แผ่นเสียงของหม่อมส้มจีนระยะแรกมักพิมพ์ชื่อผิดโดยพิมพ์ว่า “หม่อมซ่มจีน” ซึ่งที่ถูกแล้วต้องเป็น “หม่อมส้มจีน” หม่อมส้มจีนเป็นนักร้องสตรีบรรดาศักดิ์คนแรกและคนเดียวของสยามที่แผ่นเสียงมีลายสลักชื่อของเจ้าตัวปรากฏเป็นหลักฐาน                





จากแผ่นเสียงครั่งสู่แผ่นเสียงไวนิล

          พ.ศ. 2473 มีการพัฒนาเทคโนโลยีการบันทึกเสียง ด้วยระบบสเตอริโอ (Stereo) ซึ่งให้คุณภาพเสียงที่ดีกว่าแผ่นเสียงครั่ง สามารถเล่นได้ที่ความเร็วต่ำ 33 รอบต่อนาที (33 RPM) ซึ่งเดิมแผ่นเสียงครั่งเล่นด้วยความเร็ว 78 รอบต่อนาที (78 RPM) แผ่นเสียงที่พัฒนาขึ้นนี้ผลิตจากวัสดุโพลิเมอร์สังเคราะห์เรียกว่า “ไวนิล” (Vinyl) จึงเป็นที่มาของการเรียกชื่อแผนเสียงนี้ว่า “แผ่นไวนิล”

 


               พ.ศ. 2492 บริษัท RCA Victor พัฒนาแผ่นเสียงไวนิลขนาด 7 นิ้ว เล่นด้วยความเร็ว 48 (48 RPM) รอบต่อนาที เรียกว่า “แผ่นซิงเกิล” (Single) บันทึกเสียงไว้ 1-2 เพลง ปกติแผ่นเสียงไวนิลจะถูกผลิตออกมาเป็นสีดำ แต่ในปัจจุบันมีการผลิตแผ่นเสียงพิเศษจำนวนมากมีสีสันสวยงาม และมีการผลิตแผ่นเสียงขนาดพิเศษ ซึ่งแตกต่าง ไปจากแผ่นเสียงขนาด 7 นิ้ว 10 นิ้ว และ 12 นิ้ว ส่วนมากจัดทำขึ้นในวาระโอกาสพิเศษ 






แผ่นเสียงเพลงสำคัญของชาติ

          การบันทึกเสียงเพลงสำคัญของชาติครั้งแรก เป็นการบันทึกเสียงเพลงสรรเสริญพระบารมี เมื่อ พ.ศ. 2443 บรรเลงโดยวงดนตรีไทยของคณะนายบุศย์ มหินทร์ ที่ประเทศเยอรมนี บันทึกเสียงลงบนกระบอกเสียงของเอดิสัน ต่อมา พ.ศ. 2450 มีการบันทึกเสียงโดยการขับร้องประกอบครั้งแรกโดย แม่ปุ่ม และแม่แป้น ในแผ่นเสียงปาเต๊ะร่องกลับทาง


          สำหรับเพลงชาติเริ่มใช้แทนเพลงสรรเสริญพระบารมีตั้งแต่พ.ศ. 2475 บันทึกเสียงครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2477 หลังจากประกาศใช้เพลงชาติฉบับเต็มอย่างเป็นทางการ โดยบันทึกเสียงลงแผ่นเสียงครั่งตราโอเดียน บรรเลงโดยเครื่องสายฝรั่งวงใหญ่ทหารเรือ หน้า 1 เป็นคำร้องของขุนวิจิตรมาตรา และหน้า 2 คำร้องของนายฉันท์ ขำวิไล


          ปัจจุบันเพลงสำคัญของชาติที่รัฐบาลไทยจัดให้มีความสำคัญในระดับชาติ มีจำนวน 8 เพลง ได้แก่ เพลงชาติ เพลงสรรเสริญพระบารมี เพลงมหาชัย เพลงมหาฤกษ์ เพลงสดุดีมหาราชา เพลงภูมิแผ่นดินนวมินทร์มหาราชา เพลงสดุดีจอมราชา และเพลงสดุดีพระแม่ไทย




(จากหนังสือ เครื่องเสียงโบราณ ตำนานแห่งศาสตร์และศิลป์ โดย พฤฒิพล ประชุมผล)
 





แผ่นเสียงเพลงพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 9




               การบันทึกเสียงเพลงพระราชนิพนธ์ครั้งแรก มีขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2492 โดยบริษัทแผ่นเสียงนำไทยบันทึกเสียงลงแผ่นเสียงครั่งตราสุนัข (HIS MASTER’S VOICE) หน้าสีขาวพิเศษ ตัวหนังสือสีทอง แผ่นเสียงเพลงพระราชนิพนธ์ชุดแรกนี้มี 2 แผ่น ประกอบด้วย เพลงสายฝน ใกล้รุ่ง ชะตาชีวิต และยามเย็น ขับร้องโดยศิลปินที่มีชื่อเสียงและบรรเลงโดยวงดนตรีสากลกรมโฆษณาการ ต่อมาบริษัทแผ่นเสียงอื่นๆ ได้ขอพระบรมราชานุญาตบันทึกเสียงเพลงพระราชนิพนธ์ลงแผ่นเสียงอีกหลายแห่ง เพลงพระราชนิพนธ์ได้รับการบันทึกเสียงลงแผ่นเสียงมาอย่างยาวนาน มีการเรียบเรียงใหม่ และถ่ายทอดผ่านดนตรีหลากหลายรูปแบบ ทำให้มีความเป็นสากล และร่วมสมัยมากยิ่งขึ้น



ตัวอย่างปกแผ่นเสียงพระราชนิพนธ์


(จาก "เพลงพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9"(ตอนที่ 1))






แผ่นเสียงเพลงไทยของกรมศิลปากร

          กรมศิลปากรจัดทำแผ่นเสียงเพลงไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์เผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมด้านดนตรีและนาฏศิลป์ของไทย ผ่านการบันทึกเสียงเพลงไทยแบบฉบับลงบนแผ่นเสียง มีทั้งเพลงร้อง เพลงเดี่ยว เพลงระบำสำหรับใช้ประกอบการฟ้อนรำ และเพลงรำวงบรรเลงและขับร้องโดยศิลปินภายใต้วงดุริยางค์ไทยและวงดุริยางค์ สากลของกรมศิลปากร แผ่นเสียงเพลงไทยชุดแรกจัดทำขึ้นและเริ่มจำหน่ายเมื่อ พ.ศ. 2501           

 

               ในระยะแรกเป็นการบันทึกเสียงลงบนแผ่นเสียงครั่ง ขนาด 10 นิ้ว มีทั้งหมด 3 ชุด จำนวน 30 แผ่น ได้รับความนิยมจากประชาชนเป็นอย่างมาก ต่อมาใน พ.ศ. 2505 จึงได้จัดทำแผ่นเสียงไวนิล ลองเพลย์ ขนาด 12 นิ้ว ซึ่งสามารถบันทึกเสียงได้มากกว่าแผ่นเสียงครั่ง แผ่นเสียงเพลงไทยนี้มีสมุดอธิบายเพลงพร้อมบทร้องทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษประกอบทุกชุด



ตัวอย่างปกแผ่นเสียงของกรมศิลปากร

(จาก "สมุดอธิบายเพลงแผ่นเสียงลองเพลย์ของกรมศิลปากร ชุดที่ 4")






แผ่นเสียงเพื่อการศึกษา

               แผ่นเสียงเป็นสื่อเพื่อการเรียนรู้อย่างหนึ่งโดยกระทรวงศึกษาธิการได้จัดทำขึ้นเผยแพร่เพื่อใช้ประกอบบทเรียนและเสริมหลักสูตรในรายวิชาต่างๆ เช่น แผ่นเสียงการอ่านทำนองเสนาะสำหรับใช้ประกอบแบบเรียนวรรณคดีและภาษาไทย แผ่นเสียงสำหรับบทเรียนภาษาอังกฤษ แผ่นเสียงเพลงเด็ก แผ่นเสียงเพลงสำหรับฝึกหัดการเต้นตามจังหวะ เพื่อใช้เสริมหลักสูตรวิชาดนตรีและนาฏศิลป์ เป็นต้น



          สำหรับเพลงเด็กที่ใช้ประกอบการเรียนการสอนซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย คือ เพลงช้าง แต่งโดย คุณหญิงชิ้น ศิลปบรรเลงใช้ทำนองเพลงไทย คือ เพลงพม่าเขว เป็นเพลงร้องสำหรับเด็กที่เผยแพร่ผ่านรายการวิทยุโรงเรียน ซึ่งเป็นบทเรียนในหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ เพลงช้างนี้ได้รับการยกย่องและคัดเลือกให้เป็นเพลงประเทศภาคพื้นเอเชีย โดยศูนย์วัฒนธรรมแห่งเอเชียเพื่อสหประชาชาติ ยูเนสโก (ACCU:Asian Cultural Centre forUNESCO)
คุณหญิงชิ้น ศิลปบรรเลง ผู้ประพันธ์เพลง "ช้าง"

(จาก "หนูรู้จักช้างหรือเปล่า หนูรู้จักชิ้นหรือเปล่า" โดย อานันท์ นาคคง (วารสารวัฒนธรรมออนไลน์))






รางวัลแผ่นเสียงทองคำ

               รางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน นับเป็นรางวัลอันเป็นเกียรติยศสูงสุดของศิลปินเพลง โดยศิลปินผู้ผ่านการคัดเลือกจะได้เข้าเฝ้า เพื่อรับพระราชทานรางวัลแผ่นเสียงทองคำจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 รางวัลนี้มีที่มาจากการจัดรายการอันดับเพลงไทยสากลยอดนิยมประจำสัปดาห์ของสถานีวิทยุกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้วงการเพลงไทยเกิดความตื่นตัวในการสร้างสรรค์ผลงานให้ดียิ่งขึ้น”


          งานมอบรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2507 เพลงที่ได้รับการคัดเลือกเป็นเพลงไทยสากลประเภทลูกกรุงและลูกทุ่ง รางวัลมีทั้งด้านคำร้อง ทำนอง การเรียบเรียงเสียงประสาน เพลงที่ได้รับความนิยม และศิลปินยอดเยี่ยมชาย-หญิง โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิในวงการเพลงเป็นคณะกรรมการตัดสิน

(จาก ห้องสมุดดนตรีออนไลน์ TK Music Library)





แผ่นเสียงคุณค่าทางใจและความสุนทรีย์ที่จับต้องได้

               ปัจจุบันความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีทำให้ผู้ฟังสามารถฟังเพลงได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ผ่านการฟังเพลงในรูปแบบสตรีมมิ่งบนออนไลน์และการดาวน์โหลดไฟล์ อย่างไรก็ตามแผ่นเสียงเริ่มกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง โดยพบว่าใน พ.ศ. 2563 มียอดผลิตมากกว่าแผ่นซีดีเป็นครั้งแรกในรอบ 35 ปี นับเป็นปรากฏการณ์สำคัญที่หลายคนตั้งคำถามว่า ทำไมแผ่นเสียงจึงกลับมาเป็นที่นิยมในโลกยุคดิจิทัล

          การกลับมาได้รับความนิยมของแผ่นเสียงไวนิลในปัจจุบัน โดยเฉพาะในหมู่นักฟังเพลงชาวไทย อาจเกิดจากหลายสาเหตุด้วยกัน ทั้งคุณค่าในด้านของศิลปวัตถุทางด้านดนตรี และสุนทรียภาพทางดนตรีจากแผ่นเสียง การฟังเพลงจากเครื่องเล่นแผ่นเสียงทำให้หวนคิดถึงบรรยากาศในอดีต จากเสน่ห์ของเสียงที่ถูกสรรสร้าง ตั้งแต่ กระบวนการบันทึกเสียงลงบนแผ่นเสียงด้วยระบบอนาล็อกที่ให้เสียงเป็นธรรมชาติ นุ่มนวล คมชัด และมีรายละเอียดของเสียงที่ต่างจากไฟล์เสียงดิจิทัล           นอกจากนี้การออกแบบปกแผ่นเสียงยังเป็นงานศิลปะที่สวยงาม แฝงด้วยความหมายและสะท้อนเรื่องราวของศิลปินที่น่าสนใจ ทั้งนี้การเก็บสะสมแผ่นเสียงยังเป็นการแสดงออกถึงการสะสมวัตถุทางด้านดนตรีที่จับต้องได้ของนักดนตรี หรือนักสะสมและเป็นงานอดิเรกที่เก็บเรื่องราวความรู้เกี่ยวกับดนตรี จนเมื่อเวลาผ่านไปก็กลายเป็นความรู้ทางคลังประวัติศาสตร์ของวงการเพลงได้ในตัวเอง


















(จาก "ทำไมแผ่นเสียงถึงเป็นไอเทมขายดีในยุคดิจิทัล"
https://www.longtungirl.com/3984
และ "ทำไมเครื่องเล่นแผ่นเสียงจึงกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้งในยุคดิจิตอล?"
https://www.elpashaw.com/article/tunable-in-digital)


 
Tags:


จำนวนผู้เข้าชมทั้งหมด 20,765 คน
เว็บไซต์ของเรามีการใช้งานคุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานให้กับผู้ใช้งาน ทั้งนี้ สามารถมั่นใจได้ว่าเราจะดูแลและรักษาความปลอดภัยข้อมูลของท่านเป็นอย่างดี