แบบเรียนภาษาไทย




พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)
(๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๓๖๕ – ๑๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๓๔)

พระยาศรีสุนทรโวหาร นามเดิม น้อย อาจารยางกูร เกิดวันที่ ๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๓๖๕ ที่บ้านในคลองโสธร แขวงเมืองฉะเชิงเทรา เมื่ออายุได้ ๙ ปี เข้ามาอยู่กรุงเทพฯ บวชเป็นสามเณร ณ วัดสระเกศ ได้ศึกษาเล่าเรียน พระปริยัติธรรมกับพระอาจารย์ในสำนักต่าง ๆ ทั้งภาษาไทย ภาษาขอม ภาษาบาลี จนเชี่ยวชาญ ครั้นอายุครบ ๒๑ ปี ได้อุปสมบทเป็นภิกษุ และเข้าสอบไล่พระปริยัติธรรมได้เป็นเปรียญ ๗ ประโยค เมื่อลาสิกขาแล้วเข้ารับราชการ ในกรมมหาดเล็กในสมัยรัชกาลที่ ๔ ต่อมาโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นขุนประสิทธิอักษรสาสตร ผู้ช่วยกรมพระอาลักษณ์ ภายหลังทรงตั้งโรงอักษรพิมพการขึ้น จึงโปรดเกล้า ฯ ให้ไปกำกับดูแลแทนเจ้ากรมอักษรพิมพการ และคงรับราชการอยู่ในกรมพระอาลักษณ์ด้วย

          ในสมัยรัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้า ฯ ให้เป็นขุนสารประเสริฐ ปลัดทูลฉลองกรมพระอาลักษณ์ ได้แต่งหนังสือ ทูลเกล้าถวายตามพระราชประสงค์ คือ คำฉันท์กล่อมพระยาช้างเผือก และแต่งหนังสือแบบเรียนไทย คือ มูลบท บรรพกิจ วาหนิติ์นิกร อักษรประโยค สังโยคพิธาน ไวพจน์พิจารณ์ และพิศาลการันต์ จากนั้นโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นหลวงสารประเสริฐ เป็นครูสอนหนังสือนายทหารมหาดเล็กในพระบรมมหาราชวัง และเป็นอาจารย์ถวายพระอักษร พระเจ้าน้องยาเธอ พระเจ้าน้องนางเธอที่ยังทรงพระเยาว์ รวมไปถึงหม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์ และบุตรหลานของข้าราชการ นอกจากนี้ยังแต่งหนังสือแบบเรียนภาษาไทยเพิ่มเติมอีกหลายเล่ม เช่น ไวพจน์ประพันธ์ อุไภยพจน์ พรรณพฤกษา สัตวาภิธาน ปกีรณำพจนาดถ์ อนันตวิภาค และสยามสาธก วรรณสาทิศ

               ต่อมาโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นพระยาศรีสุนทรโวหาร เจ้ากรมพระอาลักษณ์ เป็นอาจารย์ถวายพระอักษรสมเด็จ พระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ และพระเจ้าลูกเธออีกหลายพระองค์ อีกทั้งได้รับหน้าที่เลขานุการในการประชุมพระบรมวงษา นุวงศ์ เข้าทูลละอองธุลีพระบาทปรึกษาราชการอีกหลายครั้ง และโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งเป็นองคมนตรี เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๐
               องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ประกาศยกย่อง พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เป็นบุคคลสำคัญของโลก ด้านการศึกษาและวัฒนธรรม ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕


        

          “แบบเรียนไทย” คนทั่วไปมักจะนึกถึงหนังสือตำราที่ใช้ในการเรียนการสอนในสถานศึกษา ซึ่งมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ย้อนไปในกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแบบเรียนสมัยนั้นคงเป็นแบบเรียนภาษาอื่น เช่น ภาษาบาลี และภาษาเขมร ศึกษาที่วัดโดยมีพระที่เชี่ยวชาญเป็นผู้สอน ผู้ที่ศึกษาเป็นบรรดาบุตรหลานขุนนางและราษฎรทั่วไป ส่วนสถานที่ศึกษาในสำนักราชบัณฑิต จะสอนเฉพาะเจ้านายและบุตรหลานข้าราชการเท่านั้น ต่อมา พ.ศ. ๑๘๓๕ ปรากฏอักษรไทยที่เรียกว่า “ลายสือไทย” ในจารึกพ่อขุนรามคำแหงนับเป็นอักษรไทยแบบแรกและเป็นต้นแบบของอักษรไทยสืบมา นอกจากนี้ยังมีหลักฐานปรากฏว่าแบบเรียนภาษาไทยฉบับแรก เกิดขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ชื่อจารึกวัดตระพังนาค เป็นอักษรขอมสุโขทัย ภาษาบาลี บนหินดินดาน เนื้อหาภายในเริ่มต้นด้วยบทนมัสการพระพุทธเจ้าและขอพร จากนั้นจึงต่อด้วยสระ ๑๒ ตัวแล้วต่อด้วยพยัญชนะ

(ข้อมูล : FB กลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร เผยแพร่เมื่อ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๕๘)
             
               ศิลาจารึกหลักนี้ได้ชื่อว่า “ศิลาจารึกหลักที่ 1” เพราะเป็นศิลาจารึกภาษาไทย อักษรไทย ที่พบหลักแรก และเก่ากว่าหลักอื่น ซึ่งเป็นอักษรไทยสุโขทัย ที่กล่าวถึงพ่อขุนรามคำแห่งมหาราชแห่งอาณาจักรสุโขทัย เป็นผู้สร้าง จึงเรียกอีกอย่างว่า ศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งผนวชและเสด็จธุดงค์ไปเมืองสุโขทัยเก่า เมื่อพุทธศักราช ๒๓๗๖ ทรงพบหลักศิลาจารึกนี้พร้อมกับพระแท่นมนังศิลาบาตรและจารึกวัดป่ามะม่วงภาษาเขมร จึงโปรดให้เคลื่อนย้ายลงมาไว้ที่วัดราชาธิวาสและวัดบวรนิเวศวิหารในเวลาต่อมา หลังจากที่เสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติแล้ว โปรดให้ย้ายไปตั้งไว้ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม จนถึงพุทธศักราช ๒๔๖๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ย้ายไปอยู่ในตึกถาวรวัตถุ หน้าวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ร่วมกับศิลาจารึกหลักอื่น ๆ ในความดูแลของหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร

               ถึงพุทธศักราช ๒๔๖๘ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ย้ายไปไว้ในพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน ในพระราชวังบวรสถานมงคล จนกระทั่งพุทธศักราช ๒๕๐๙ จึงย้ายกลับไปไว้ที่ตึกถาวรวัตถุตามเดิม ต่อมาอธิบดีกรมศิลปากร (นายเชื้อ สาริมาน) ให้นำมาจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๑๑
         
               ศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เป็นศิลาจารึกทรงสี่เหลี่ยมยอดมน เป็นจารึกหลักแรกที่ใช้ตัวอักษรไทยบันทึกภาษาไทยลงบนหลักหินทั้ง ๔ ด้าน ด้านที่ ๑ และด้านที่ ๒ มี ๓๕ บรรทัด ด้านที่ ๓ และด้านที่ ๔ มี ๒๗ บรรทัด

               “ลายสือไทย” หรือ อักษรไทย มีลักษณะแตกต่างไปจากอักษรขอมและอักษรมอญที่ใช้กันมาแต่ดั้งเดิม ลักษณะสำคัญคือเป็นตัวอักษรที่ลากขึ้นลงเป็นเส้นตรง รูปอักษรอยู่ในทรงเหลี่ยม เรียกว่าอักษรเหลี่ยม การเขียนเริ่มต้นจากหัวอักษร ลากเส้นสืบต่อกันไปโดยไม่ต้องยกเครื่องมือเขียนขึ้น วางรูปสระอยู่ในบรรทัดเดียวกับรูปพยัญชนะ และมีเครื่องหมายวรรณยุกต์ เอก และ โท ใช้ประกอบการเขียนเพื่อให้อ่านได้ครบตามเสียงในภาษาไทย ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ได้รับการยกย่องให้เป็นหลักฐานที่ทรงคุณค่าทางด้านต่าง ๆ คือ ประวัติศาสตร์ อักษรศาสตร์ ภาษาศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และนิติศาสตร์ เนื้อความที่จารึกแบ่งออกเป็น ๓ ตอน ตอนแรกเป็นพระราชประวัติของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ตอนที่สองพรรณนารายละเอียดของสุโขทัย ทั้งในสภาพภูมิศาสตร์ การปกครองและสังคม ตอนที่สามกล่าวถึงพระปรีชาสามารถในด้านการประดิษฐ์อักษรไทยและการขยายพระราชอาณาเขต ข้อความที่ปรากฏได้แสดงให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมือง ความอุดมสมบูรณ์ สิทธิและเสรีภาพของผู้คน ความเชื่อและขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมของอาณาจักรสุโขทัยที่มีความสำคัญกับนานาชาติ

               ด้วยความโดดเด่นและคุณค่าความสำคัญดังกล่าว องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) จึงได้ขึ้นทะเบียนเป็นเอกสารมรดกความทรงจำแห่งโลก (Memory of the World) ในทะเบียนนานาชาติ เมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๔๖ และเป็นโบราณวัตถุที่ควบคุมการทำเทียม ตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องโบราณ วัตถุหรือศิลปวัตถุที่ควบคุมการทำเทียม ลงวันที่ ๒๔ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๔๑ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศทั่วไป เล่มที่ ๑๑๕ ตอนที่ ๖๕ง ลงวันที่ ๑๓ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๔๑






               ในสมัยอยุธยาตอนต้นยังไม่มีแบบเรียนไทยเกิดขึ้น การเรียนการสอนใช้วัดเป็นโรงเรียน วิชาที่สอนเป็นการอ่านเขียนหนังสือไทยและบาลีรวมถึงการอบรมทางศาสนา ครั้นในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นยุคที่การศึกษามีความเจริญ มีการเรียนการสอนทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ มีโรงเรียนสอนหนังสือซึ่งเป็นของบาทหลวงที่เข้ามาเผยแผ่คริสต์ศาสนา ในยุคนั้นสมเด็จพระนารายณ์มหาราชรับสั่งให้พระโหราธิบดีแต่งหนังสือจินดามณีขึ้น ถือเป็นตำราเรียนหลักภาษาไทยเล่มแรกของไทย นอกจากนี้ยังมีจารึกแม่อักษรขอมขุดปรอท แสดงการ สะกดคำใน แม่ ก กา เป็นพระราชนิพนธ์ในเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศไชยเชษฐสุริยวงศ์ หรือ เจ้าฟ้ากุ้ง ทรงพระราชนิพนธ์จารึกที่เป็นอีกหนึ่งในแบบเรียนไทยในสมัยอยุธยา






               สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นการศึกษายังคงมีศูนย์กลางอยู่ที่วัดปรากฏแบบเรียน ๕ เล่มคือ ประถม ก กา สุบินทกุมาร ประถมมาลา และประถมจินดามณี เล่ม ๑ - ๒ นอกจากนั้นยังมีหนังสือที่กำหนดให้นักเรียนอ่านอีกหลายเล่ม เช่น เสือโค จันทโครพ สมุทรโฆษ เป็นต้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งโรงเรียนหลวงแห่งแรกในพระบรมมหาราชวัง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๔ และโปรดให้พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ขณะยังเป็นขุนสารประเสริฐ ปลัดกรมพระอาลักษณ์ แต่งหนังสือแบบเรียนไทยเป็นชุดแบบเรียนหลวง ๖ เล่ม ได้แก่ มูลบทบรรพกิจ วาหนิติ์นิกร อักษรประโยค สังโยคพิธาน ไวพจน์พิจารณ์ และพิศาลการันต์ นับเป็น “แบบเรียนหลวง” ชุดแรก นอกจากนี้ยังมีแบบเรียนหนังสือไทยที่พระยาศรีสุนทรโวหารแต่งเพิ่มเติมอีกหลายเล่ม ได้แก่ ไวพจน์ประพันธ์ อุไภยพจน์ พรรณพฤกษา สัตวาภิธาน ปกีรณำพจนาดถ์ อนันตวิภาค และสยามสาธก วรรณสาทิศ

 





คลิกเพื่ออ่านฉบับเต็ม
         
          ใน พ.ศ. ๒๔๒๗ มีการจัดตั้งโรงเรียนหลวงสำหรับราษฎรตามวัดต่าง ๆ และได้แพร่หลายออกไปจนถึงหัวเมือง ต่อมาสมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อครั้งทรงกำกับดูแลกรมศึกษาธิการได้มีการเปลี่ยนแปลงหนังสือแบบเรียนคือ เลิกใช้แบบเรียนหลวง ๖ เล่ม เปลี่ยนมาใช้แบบเรียนเร็ว ซึ่งแบบเรียนเร็วชุดนี้มี ๓ เล่ม ทั้งสามเล่มนี้ มีเนื้อหาตามลำดับความยากง่าย โดยได้ปรับปรุงให้เป็นแบบเรียนที่เข้าใจง่าย เด็กสามารถเรียนรู้ได้ในระยะเวลาอันสั้น ทรงเห็นว่าในชนบท เด็ก ๆ ไม่ค่อยมีเวลาเล่าเรียน ต้องออกมาช่วยพ่อแม่ทำนาในฤดูฝนที่จะเรียนด้วยหนังสือแบบเรียนหลวงที่ใช้อยู่เดิมนั้น เด็ก ๆ มักเรียนครึ่ง ๆ กลาง ๆ แล้วก็ออกจากโรงเรียนไป การเรียนไม่ต่อเนื่องในที่สุด ก็ลืม อ่านหนังสือไม่ได้ จึงได้ทรงนิพนธ์แบบเรียนเร็วขึ้น โดยทดลองใช้ในโรงเรียนชนบทก่อน เมื่อเห็นว่าได้ผลจึงนำทูลเกล้า ฯ ถวาย และได้รับพระบรมราชานุญาตให้ใช้เป็นแบบเรียนแทนแบบเรียนหลวง

 




          พระยาปริยัติธรรมธาดาแต่งแบบสอนอ่านของกรมศึกษาธิการ เป็นหนังสือแบบสอนอ่านเบื้องต้น ใช้เป็นแบบเรียนคู่กับหนังสือแบบเรียนเร็ว หนังสือชุดนี้มี ๔ เล่ม เป็นบทเรียนสั้น ๆ ใช้ถ้อยคำง่าย ประโยคไม่ซับซ้อน เนื้อหามุ่งทบทวนกฎเกณฑ์ทางด้านภาษาคล้ายกับหนังสืออ่านเสริมประสบการณ์ชีวิต เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้รอบตัวโดยเริ่มจากสิ่งที่ใกล้ตัว ได้แก่ สัตว์ ต้นไม้ การประกอบอาชีพ เวลา เงิน เครือญาติ และประเพณี





          ใน พ.ศ. ๒๔๖๔ มีการออกพระราชบัญญัติประถมศึกษา แผนการศึกษา และการจัดหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาให้เป็นระเบียบมากยิ่งขึ้น ทำให้มีการปรับปรุงหลักสูตรต่าง ๆ รวมถึงแบบเรียนอย่างสม่ำเสมอ แบบเรียนสำคัญ ๆ ในยุคนี้ ประกอบด้วย

๑. แบบเรียนสยามไวยากรณ์ (หลักภาษาไทย) ของพระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ)
          กรมศึกษาธิการได้สร้างแบบเรียนไวยากรณ์ไทยขึ้นโดยนำรูปแบบโครงสร้างภาษาอังกฤษมาใช้ในภาษาไทย เดิมเรียบเรียงขึ้นมี ๒ เล่มคือ อักขรวิธี และวจีวิภาค ต่อมากระทรวงธรรมการแต่งตำราวากยสัมพันธ์เพิ่มอีกหนึ่งเล่ม เมื่อคราวที่พระยาอุปกิตศิลปะสารได้รับเชิญให้แสดงปาฐกถาเกี่ยวกับหลักภาษาไทยที่สามัคยาจารยสโมสร จึงได้เรียบเรียงเนื้อหาจากของเดิมและแต่งบางเรื่องเพิ่มเป็นหนังสือ ๔ เล่ม คือ อักขรวิธี วจีวิภาค วากยสัมพันธ์ ฉันทลักษณ์ ซึ่งเป็นตำราหลักภาษาไทยที่ใช้สืบมาจนถึงปัจจุบัน





๒. แบบหัดอ่านหนังสือไทยของพระวิภาชน์วิทยาสิทธิ์ (สังข์ พุกกะเวส)
          เป็นแบบเรียนสำหรับฝึกหัดการอ่าน ลักษณะเด่นของหนังสือเล่มนี้ที่ต่างจากแบบเรียนเล่มก่อน ๆ คือ มีภาพ ประกอบเนื้อหาและมีคำชี้แจงวิธีสอนกับวิธีอ่านอย่างชัดเจน แบบหัดอ่านหนังสือไทยนี้ใช้เป็นแบบเรียนบังคับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ตั้งแต่สมัยออกพระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ. ๒๔๖๔ จนถึง พ.ศ. ๒๔๘๐ แล้วกระทรวง ศึกษาธิการได้กลับมาประกาศให้ใช้อีกใน พ.ศ. ๒๔๙๙ และเลิกใช้เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๐





๓. แบบเรียนเร็วใหม่ของหลวงดรุณกิจวิฑูร (ชด เมนะโพธิ) และ นายฉันท์ ขำวิไล
          เป็นแบบเรียนสำหรับนักเรียนเริ่มอ่านภาษาไทยในชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ และ ๒ ในช่วง พ.ศ. ๒๔๘๐ จนถึง พ.ศ. ๒๔๙๘ โดยใช้ต่อจากแบบหัดอ่านหนังสือไทยของพระวิภาชน์วิทยาสิทธิ์ แบ่งออกเป็น ๓ ตอน คือ ตอนต้น ตอนกลาง ตอนปลาย





๔. แบบสอนอ่านมาตรฐานของนายยง อิงคเวทย์
          เป็นแบบเรียนสำหรับใช้สอนหนังสือแก่เด็กเริ่มเรียนตามแนวใหม่คือ การสอนเป็นคำแทนที่จะสอนให้ สะกดทีละตัวเหมือนแบบเรียนเล่มก่อน ๆ คำที่นำมาใช้สอนเป็นคำง่าย ๆ ซึ่งเด็กใช้ในชีวิตประจำวันเรียกว่า “คำมาตรฐาน” การแต่งประโยคเป็นประโยคสั้น ๆ ใช้คำเดิมซ้ำกันบ่อย ๆ แล้วจึงเพิ่มคำใหม่เข้าไปในประโยค การแต่งเรื่องมีทั้งเรื่องสั้น นิทาน คำประพันธ์ แทรกข้อคิดและการอบรมสั่งสอนพร้อมภาพประกอบ





๕. แบบเรียนชุดบันไดก้าวหน้าของนายกี่ กีรติวิทโยฬาร แบบเรียนชุดบันไดก้าวหน้า (เรณู - ปัญญา)
          กระทรวงศึกษาธิการให้ใช้เป็นแบบเรียนบังคับใน พ.ศ. ๒๔๙๘ – ๒๔๙๙ ใช้ได้เพียงปีเดียวก็ยกเลิกเนื่องจากถูกวิจารณ์ว่าไม่มีการสอนสะกดคำ ทำให้เด็กอ่านหนังสือ ไม่ออกเมื่อเรียนจบเล่มแล้วเพราะใช้การจำเป็นคำ ๆ แต่กระทรวงศึกษาธิการก็ยังให้ใช้เป็นแบบเรียนเพิ่มเติม เนื้อหาแบ่งเป็น ๔ เล่มคือ เล่ม ๑ ตอนเริ่มอ่าน เรื่องไปโรงเรียน เล่ม ๒ ตอนต้น เรื่องฝนตกแดดออก เล่ม ๓ ตอนกลาง เรื่องเที่ยวรถไฟ (ต้นทาง) และเล่ม ๔ ตอนกลาง เรื่องเที่ยวรถไฟ (ปลายทาง)





๖. หนังสือดรุณศึกษาของ ภราดา ฟ.ฮีแลร์
          เป็นตำราเรียนภาษาไทยที่ ภราดา ฟ.ฮีแลร์ นักบวชชาวฝรั่งเศสในคณะเซนต์คาเบรียล โรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก แต่งและเรียบเรียงขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๓ หลังจากที่ได้พำนักอยู่ในประเทศไทยได้เพียง ๙ ปี หนังสือดรุณศึกษาใช้ในวงแคบเฉพาะโรงเรียนของเครือคริสตจักรเท่านั้น ต่อมาปรากฏว่าเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเล่มแรกสำหรับชั้นเตรียมประถมยังใช้เรียนในโรงเรียนต่าง ๆ จนถึงปัจจุบัน หนังสือดรุณศึกษาชุดนี้มี ๕ เล่ม สำหรับใช้เรียนตั้งแต่ชั้นเตรียมประถมศึกษาปีที่ ๑ – ๔ ลักษณะเด่น คือ ทำให้เด็กเรียนแล้วเข้าใจได้ง่ายรวดเร็ว อ่านได้ถูกต้องคล่องแคล่ว เนื้อหาเรียงลำดับจากง่ายไปยาก วลีประโยค และเรื่องสั้นที่นักเรียนฝึกอ่านสอดแทรกคติธรรมคำสอนและสำนวนสุภาษิตคำพังเพยไว้ด้วย

       




๗. หนังสือชุด “นิทานร้อยบรรทัด”
          แต่งขึ้นในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม มาปรับปรุงเนื้อหาและแต่งเพิ่มเติมบางส่วน ก่อนจะพิมพ์เล่มแรกใน พ.ศ. ๒๕๐๑ โดยนิทานร้อยบรรทัดมีทั้งหมด ๖ เล่ม ได้แก่ เรื่องบ้านที่น่าอยู่ ตอนที่ ๑ บ้านที่น่าอยู่ ตอนที่ ๒ ครูที่รักเด็ก ประเทศเล็กที่สมบูรณ์ ตระกูลไทยที่คงไทย และประชาธิปไตยที่ถาวร หนังสือชุดนี้เรียบเรียงโดยหลวงสำเร็จวรรณกิจ (บุญ เสขะนันทน์) เพื่อใช้เป็นแบบเรียนภาษาไทยสำหรับชั้นประถม

     




 
 
Tags:


จำนวนผู้เข้าชมทั้งหมด 13,303 คน
เว็บไซต์ของเรามีการใช้งานคุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานให้กับผู้ใช้งาน ทั้งนี้ สามารถมั่นใจได้ว่าเราจะดูแลและรักษาความปลอดภัยข้อมูลของท่านเป็นอย่างดี