นิทรรศการ
“เมนูสำรับ กับข้าวเจ้านายในราชสำนักสยาม”
ธรรมเนียมการประกอบอาหารของคนไทยนั้น มีลักษณะเด่นในเรื่องความพิถีพิถัน และประณีตบรรจง สามารถคิดค้นวิธีการปรุงอาหาร ประดิษฐ์ประดอยผักผลไม้ให้มีความสวยงามน่ากิน ซึ่งอาหารที่คนไทยบริโภค แบ่งออกเป็น ของคาว ของหวาน ผักและผลไม้ เครื่องดื่ม ของว่างหรืออาหารว่าง |
||
การประกอบอาหารคาวหวานต่าง ๆ โบราณถือว่าเป็นเรื่องสำคัญและเป็นหน้าที่ของสตรีทุกคน เด็กผู้หญิงไทยมักจะได้รับการฝึกอบรมในเรื่องการปรุงอาหารคาวหวาน ให้เป็นแม่บ้านที่ดี หรือ แม่ศรีเรือน ส่วนเจ้านายฝ่ายในก็ทรงอำนวยการในการปรุงอาหาร ดังเช่น ในการสมโภชพระแก้วมรกต เมื่อพุทธศักราช ๒๓๕๒ ซึ่งกล่าวไว้ในหนังสือ “พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑” ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ว่า ในงานสมโภชพระแก้วมรกต เมื่อพุทธศักราช ๒๓๕๒ กล่าวถึง เจ้านายสตรีหลายพระองค์ได้ทรงอำนวยการในการปรุงอาหารเลี้ยงที่โรงทาน คือเจ้าครอกทองอยู่ พระชายาในกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข หรือวังหลัง และเจ้าครอกวัดโพธิ์ หรือกรมหลวงนรินทรเทวี พระเจ้าน้องนางเธอในพระบาทสมเด็จ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ดังความว่า “การครั้งนั้น โปรดให้ตั้งโรงฉ้อทานที่หน้าวัดมหาธาตุ เจ้าครอกใหญ่อัครชายาของกรมพระราชวังหลัง ตั้งโรง ๑ ที่ท่าพระพระเจ้าน้องนางเธอ ซึ่งปรากฎพระนามภายหลังว่า กรมหลวงนรินทรเทวี กับกรมหมื่นนรินทร พิทักษ์ ตั้งโรง ๑ ที่โรงรองงาน” ในหนังสือจดหมายเหตุความทรงจำ ของกรมหลวงนรินทรเทวี กล่าวถึง การฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดาราม จุลศักราช ๑๑๗๑ ว่า “ให้ผู้ต้องเกณฑ์ทำสำรับปฏิบัติคาวหวาน ไปดูอย่างกระจาดคาวหวานรองกระทง ณ ทิมดาบชาววัง แล้วให้เย็บกระทงน้อยใส่ของคาว” ของคาว ได้แก่ ไส้กรอก ไข่เป็ด ๕ ใบ ไก่พะแนง หมูผัดกุ้ง มะเขือชุบไข่ ไข่เจียว ลูกชิ้น กุ้งต้ม หน่อไม้ น้ำพริก ปลาแห้งผัด แตงโม ข้าวสาร ๒ ทะนานใส่ก้นกระทงใหญ่ ของหวาน ได้แก่ ขนมฝอย ข้าวเหนียวแก้ว ขนมผิง ขนมไส้ไก่ กล้วยฉาบ หน้าเตียง หรุ่ม สังขยา ฝอยทอง และขนมตะไล เจ้าครอกทองอยู่ พระชายาในสมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข ทรงมีชื่อเสียงในด้านการทำขนมค้างคาวซึ่งตำรับของเจ้าครอกทองอยู่จะใช้แป้งข้าวเจ้าเจือกับถั่วเขียวเลาะเปลือกคั่วแล้วบดละเอียด เหตุที่ชื่อขนมค้างคาวเพราะการปั้นแป้งให้มีรูปร่างคล้ายค้างคาวที่กางปีก พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระราชนิพนธ์ เห่ชมเครื่องคาวหวาน ได้ทรงชมสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี (สมเด็จเจ้าฟ้าบุญรอด) ว่ามีฝีพระหัตถ์ในการปรุงเครื่องเสวยเป็นเลิศ พระกระยาหารคาวในพระราชนิพนธ์ เช่น แกงมัศมั่นเนื้อ แกงมัศมั่นไก่ ยำใหญ่ หรุ่ม ล่าเตียง ลุดตี่ |
ขนมค้างคาว แกงมัสมั่นไก่ เดิมเป็นอาหารของชาวอินเดียนิยม แกงด้วยเนื้อวัว มีเครื่องเทศมาก มีรสฉุน รับประทานกับโรตีหรือข้าวสวย เข้ามาในประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ ๒ แล้วคนไทยก็ปรับรสชาติให้เข้ากับอาหารไทยและปรุงให้มี ๓ รส คือ เปรี้ยว เค็มและหวาน ยำใหญ่ ความหมายของยำใหญ่ในที่นี้คือ มีเครื่องปรุงมากนับได้ถึง ๒๑ ชนิด ประกอบด้วยเนื้อสัตว์ ผักประเภทต่างๆ และน้ำปรุงรส ล่าเตียง อาหารว่างชนิดหนึ่ง มีไข่โรยฝอยห่อหุ้ม ห่อเป็นชิ้นพอคำเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ใส่ไส้กุ้งสับละเอียด หรุ่ม อาหารว่างชิดหนึ่ง มีไข่เป็นแผ่นห่อเป็นชิ้นพอคำเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ใส่ไส้หมูสับ ห่อใหญ่กว่าล่าเตียง |
ส่วนของหวานปรากฏอยู่ในพระราชนิพนธ์ เห่ชมเครื่องหวาน ได้แก่ สังขยา ซ่าหริ่ม เกสรลำเจียก มัศกอด ขนมเทียน ทองหยิบ ขนมผิง รังไรหรือเรไร ทองหยอด ทองม้วน จ่ามงกุฎ บัวลอย ช่อม่วง ฝอยทอง |
ขนมจีบ หรือ ขนมไส้หมู ของพระเจ้าไปยิกาเธอ |
เกสรลำเจียก สมัยก่อนนิยมทำสีขาวคล้ายเกสรดอกลำเจียกทั้งแป้งข้างนอกและไส้ข้างใน ปัจจุบันพัฒนาให้มีความสวยงาม โดยใช้สีจากธรรมชาติ ทำแป้งให้มีสีต่างๆ และไส้ทำให้เป็นสีเขียวโดยใช้น้ำใบเตย |
|
ลุดตี่ ต้นตำรับเป็นของอินเดียนิยมทานคู่กับแกง ปัจจุบันเรียกว่า โรตี เป็นของหวานใส่นมโรยน้ำตาล |
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พบข้าวแช่ในบทกลอนของสุนทรภู่ เรื่องรำพันพิลาป จึงสันนิษฐานว่า ข้าวแช่ เข้าสู่ราชสำนักไทยในสมัยรัชกาลที่ ๓ ความว่า ระดูร้อนก่อนเก่าทำข้าวแช่ น่าชมแต่เครื่องกับสำรับฉัน ช่างทำเป็นเช่นดอกจอกเป็นดอกจันทน์ งามจนชั้นกระชายทำเหมือนจำปา มะม่วงดิบหยิบดูจึ่งรู้จัก ทำน่ารักรูปสัตว์เหมือนมัจฉา จะแลลับกลับกลายสุดสายตา เคยไปมามิได้เห็นจะเว้นวาย |
|
นอกจากนี้ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ได้ยกทัพไปตีเมืองญวนและจับเชลยญวนเข้ามาอยู่ในสยามเป็นจำนวนมาก ได้นำความรู้จากภูมิปัญญาของตนมาประกอบอาชีพ โดยได้ทำขนมชนิดหนึ่งขาย ใช้แป้งกับไข่ละลายน้ำแล้วเทใส่ลงกระทาที่ทาน้ำมันไว้ กลอกไปรอบ ๆ กระทะเป็นแผ่กลม จึงใส่ไส้พับกลางแซะขึ้นเรียกว่า “ขนมเบื้องญวน” ต่อมาทางห้องเครื่องในวังได้นำมาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงทั้งตัวแป้งและไส้ โดยใช้ความประณีตบรรจงในการกลอกแป้งให้เป็นแผ่นบาง ๆ ไส้มีรสกลมกล่อม นิยมทานพร้อมอาจาด | ||
ขนมเบื้องญวน |
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงไว้วางพระราชหฤทัยให้เจ้าจอมมารดาเที่ยงดูแลห้องเครื่องต้น และเป็นผู้ตั้งเครื่องเสวย ได้แก่ ผักบุ้งผัดกับหมู ฟักต้มหมู ผักต้มน้ำพริก แกงหัวปลากับใบมะขาม และผักกาดดองต้มกับหมูส่วนพระกระยาหารหวาน ได้แก่ ฝอยทองกรอบ และลูกชุบเมล็ดแตงโม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเสวยข้าวแช่ในช่วงฤดูร้อนเป็นอย่างมาก เจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่น เป็นผู้ปรุงข้าวแช่ถวายขึ้นโต๊ะเสวยมีการประดิดประดอย แกะสลักผักเครื่องแนมข้าวแช่ ทำเครื่องประกอบการรับประทานข้าวแช่เพิ่มขึ้น จึงถือว่าเป็นต้นตำรับ “ข้าวแช่ชาววัง” เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแปรพระราชฐานมาประทับ ณ พระนครคีรี (เขาวัง) เมืองเพชรบุรี ได้ทรงถามหาข้าวแช่แต่ไม่มีใครทำเป็นห้องเครื่องจึงรับชาวบ้านที่สนใจเข้ามาหัดทำแบบง่าย ๆ ไม่ประดิดประดอยอย่างชาววัง และเผยแพร่ออกไปสู่ชาวบ้านในแถบเมืองเพชรบุรีจนกลายเป็น “ข้าวแช่เมืองเพชร” |
เจ้าจอมมารดาเที่ยง |
เจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่น |
จากหนังสือ “เล่าเรื่องกรุงสยาม” ของ ฌังบัปติสต์ ปาลเลกัวซ์ สังฆนายก คณะมิซซังโรมันคาทอลิกประจำประเทศสยาม พรรณนาความเป็นอยู่ของชาวสยามในสมัยรัชกาลที่ ๔ ว่า “เครื่องจิ้มชนิดหนึ่งใช้บริโภคกันทั่วไปในประเทศ ตั้งแต่พระเจ้าแผ่นดินลงมาจนถึงทาสชั้นเลว ต่างนิยมชมชื่นในรสของเครื่องจิ้มนี้อยู่ทั่วหน้า” จึงกล่าวได้ว่าเครื่องจิ้มเป็นอาหารที่อยู่คู่สำรับไทยมาช้านานเป็นที่นิยมของคนทุกชนชั้น “เครื่องจิ้มมี ๒ ประเภท คือ ประเภทที่มีรสเปรี้ยว เค็ม หวาน เช่น แสร้งว่าหรือน้ำพริกต่าง ๆ และประเภทที่มีรสมันและหวาน เช่น หลน ซึ่งต้องลดเปรี้ยวลง มีเค็ม มันและหวานนิดหน่อย เครื่องจิ้มนิยมทานคู่กับผักแนม ทั้งผักดิบผักต้ม ผักต้มลวกราดกะทิ ผักผัดน้ำมัน ผักทอดทั้งชุบแป้ง และชุบไข่ทอด |
ข้าวแช่ชาววัง |
ข้าวแช่เมืองเพชร |
น้ำพริกกะปิ |
หลนปลาร้า |
ธรรมเนียมไทยแต่โบราณบริโภคอาหารด้วยวิธีนั่งราบลงบนเสื่อ นิยมจัดกับข้าวใส่ถาดเป็นสำรับ วิธีกินอาหารแต่เดิมใช้มือเป็นพื้น เพิ่งจะมาใช้ช้อนและส้อมเมื่อในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในระยะแรกเจ้านายหันมาใช้ช้อนส้อมแทนมือและนั่งโต๊ะอาหารใน ดังปรากฏในหนังสือ โคลงเลี้ยงโต๊ะปีใหม่ เมื่อปีจอ พ.ศ. ๒๔๑๗ ว่า |
ที่เสวยเคยอยู่แล้ว หมดจด ใช้ซ่อมมีดช้อยชด แช่มช้า ลางองค์สั่นดดดด พลัดพลาด จับเชือดไม่ถูกถ้า เงือดเงื้อเถือไถล ฯ |
เจ้านายฝ่ายในนั่งรับประทานอาหารโดยใช้มือ |
พระองค์เจ้าอดิสัยสุริยาภา |
โต๊ะพระราชทานเลี้ยงปีใหม่ในสมัยรัชกาลที่ ๕ |
ลักษณะช้อน ส้อม มีด ในรัชกาลที่ ๕ |
พระกระยาหารมื้อแรก (ภายหลังจากตื่นบรรทม) ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็น พระกระยาหารที่เสวยง่าย ต้นรัชสมัยมักเสวยพระกระยาหารต้ม ต่อมาช่วงกลางรัชสมัยพระกระยาหารเช้าเปลี่ยนเป็นแบบยุโรป คือ ซุป ๑ ถ้วย หรือขนมปัง และผลไม้เล็กน้อย ทรงเสวยที่ห้องเขียว ในพระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร เป็นห้องทรงพระสำราญ และทรงใช้ในโอกาสต่าง ๆ เป็นการส่วนพระองค์และตามพระราชอัธยาศัย ผู้ที่มีโอกาสเข้าเฝ้าในห้องนี้ได้แก่ พระอัครมเหสี พระราชเทวี เจ้าจอมมารดา เจ้าจอมที่มีหน้าที่ถวายงานปรนนิบัติในเวลาเสวยพระกระยาหาร ซึ่งจะทรงมีพระราชปฏิสันถารเรื่องต่าง ๆ กับผู้มาเฝ้า และทรงงานไปด้วย ห้องเขียวจึงเป็นห้องสำหรับให้ข้าราชสำนักฝ่ายในเข้าเฝ้าเป็นครั้งแรกของวัน |
|
สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ พระกระยาหารจะเป็นเครื่องเสวยไทยและฝรั่งรวมกัน ข้าวเสวยนั้นเป็นข้าวตุ๋นบรรจุในพิมพ์คล้ายพิมพ์ขนมขนาดย่อม ถอดจากพิมพ์จัดลงในจานอีกทีหนึ่ง เครื่องพระกระยาหารเป็นแบบไทยแท้ เป็นต้นว่า แกงจืดลูกรอก แกงเผ็ดที่ไม่ค่อยเผ็ด หมูหวานเปื่อยแดงชิ้นใหญ่บาง ๆ ปลาช่อนหรือปลาดุกเอาแต่เนื้อปลายีจนฟูทอดกรอบ เนื้อปลาเค็มบดจนแหลกเคล้าเนื้อปลาจืดปั้นเป็นชิ้นชุบไข่ทอด ยำไข่ปลาดุกของโปรดมักจะมีไม่ค่อยขาด เครื่องหวาน เช่น ลูกตาลอ่อนน้ำเชื่อม มะตูมสุกราดกะทิ กระท้อนห่อลอยแก้ว วุ้นหรือเยลลี่ผลไม้แช่เย็น และผลไม้ตามฤดูกาล เช่น ส้มเขียวหวาน เงาะ ลิ้นจี่ มะม่วง มะปราง มังคุด |
|
พระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดาทรงรับงานด้านการครัว หรือที่เรียกว่า “พระเครื่องต้น” และยังมีเจ้าจอมท่านอื่น ๆ ถวายงานรับใช้ทั่วไป โดยเฉพาะเจ้าจอมในสกุลบุนนาค หรือที่เรียกกันว่า เจ้าจอมก๊กออ ได้แก่ เจ้าจอมมารดาอ่อน เจ้าจอมเอี่ยมเจ้าจอมเอิบ ซึ่งมีบทบาทในการช่วยงานครัวและตั้งเครื่องเสวย |
|
เจ้าจอมเอี่ยมทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยทำเครื่องเสวยในพระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏปิยมหาราชปดิวรัดาในพระราชพิธีขึ้นพระตำหนักเรือนต้นพระราชวังดุสิต เมื่อ ร.ศ. ๑๒๔ (พ.ศ. ๒๔๔๘) รายการอาหาร ได้แก่ ขนมจีนน้ำพริก แกงไก่ แกงลักไก๊ ข้าวบุหรี่ แกงมัสมั่น หัวหมูทรงเครื่อง ยำทวาย พริกขิงป่า ผัดปลาหมึกสด ผักดองน้ำพริก กับข้าวลาว ขนมลำเจียก ขนมผิง ทองพลุ ส้มเขียวหวาน สละ และพลับสด |
|
เจ้าจอมเอิบเป็นผู้มีฝีมือในการปรุงเครื่องเสวยและเป็นที่โปรดปรานมาก โดยเฉพาะการทอดปลาทูเป็นที่เลื่องลือกล่าวขาน ทรงโปรดให้สร้างเรือนต้นขึ้นตรงข้ามพระที่นั่งวิมานเมฆ ด้านหลังโปรดให้ปลูกเป็นโรงชั่วคราวสำหรับเป็นครัวของทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายในพระองค์โปรดเสวยปลาทูเป็นอย่างมาก ทุกครั้งที่เสด็จเมืองเพชรบุรีก็จะทรงกล่าวถึงปลาทูทรงคิดเมนูใหม่โดยนำปลาทูมาทำข้าวต้ม เรียกว่า “ข้าวต้มสามกษัตริย์” |
|
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเสวยหมูหวานที่ท้าววรจันทร์ (เจ้าจอมมารดาวาด ในรัชกาลที่ ๔) ทำขึ้นถวาย เมื่อเสวยแล้วรับสั่งว่า “หมูหวานนี้แต่ก่อน เรียกว่า “หมูผัด” คำว่าหมูหวานเป็นคำใหม่ที่เกิดขึ้นภายหลัง เมื่อครั้งสิ้นรัชกาลที่ ๔ มิใคร่จะได้เสวยหมูผัดชนิดนี้เลย” โปรดเกล้า ฯ ให้ตีฆ้องร้องป่าวทั่ว พระบรมหาราชวังว่า ได้เสวยหมูผัดฝีมือท้าววรจันทร์ เหมือนที่ได้เสวยเมื่อยังทรงพระเยาว์ ทรงประกาศว่าถ้าผู้ใดสามารถทำ “หมูผัด” ได้เหมือนท้าววรจันทร์แล้ว จะพระราชทานน้ำตาลเท่าลูกฟักเป็นรางวัล เมื่อครั้งที่ท้าววรจันทร์ได้ทำน้ำยาไก่ขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวาย ก็ทรงโปรดปรานมากถึงกับพระราชทานธูปเทียนแพบูชาฝีมือปรุงอาหารด้วย |
|
ข้าวบุหรี่ ของเจ้าจอมก๊กออ เป็นอีกหนึ่งของเสวยที่ทรงโปรด และยังเป็นอาหารยอดนิยมในหมู่เจ้านาย |
น้ำยาไก่และหมูผัดที่ท้าววรจันทร์ (เจ้าจอมมารดาวาด) ทำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายในรัชกาลที่ ๕ |
ข้าวต้มสามกษัตริย์ |
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชอัธยาศัยโปรด ฯ การเสด็จประพาสที่ต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ บางคราวเสด็จ ฯ ไปเป็นทางราชการ บางคราวเสด็จ ฯ ไปเพื่อสำราญพระราชอิริยาบถ ไม่โปรด ฯ ให้จัดการรับเสด็จอย่างเป็นทางการ ที่เรียกว่า “เสด็จประพาสต้น” ทรงพอพระราชหฤทัยที่จะประทับที่ใดก็ประทับที่นั้น การเสด็จประพาสต้นมีประโยชน์แก่ราชการบ้านเมือง เพราะเสด็จประพาสปะปนไปในหมู่ราษฎร ได้ทรงทราบคำกราบบังคมทูลของราษฎรปรารภสุขทุกข์ ซึ่งไม่สามารถจะทรงทราบได้จากทางอื่น การเสด็จประพาสต้นในรัชกาลของพระองค์เกิดขึ้น ๒ ครั้ง ระหว่างเสด็จประพาสต้น ทรงแวะซื้อเสบียงอาหารระหว่างทาง หากพบว่าสถานที่ใดเหมาะสมและร่มรื่นก็ทรงแวะประทับเสวยพระกระยาหาร |
ประพาสต้นครั้งที่ ๑ พุทธศักราช ๒๔๔๖ |
|
ประพาสต้นครั้งที่ ๒ พุทธศักราช ๒๔๔๙ |
วันที่ ๑๕ กรกฎาคม กระบวนเรือล่องเข้ามาคลองบางกอกใหญ่และคลองภาษีเจริญ มาถึงบ้านกระทุ่มแบน เสบียงอาหารบนเรือใกล้หมด จึงชวนกันขึ้นบก เดินไปเที่ยวซื้อข้าวแกงกินที่ตลาดบ้านกระทุ่มแบน เสด็จแวะซื้อ ผัดหมี่ วันต่อมา ๑๖ กรกฎาคม เวลาบ่ายเสด็จประพาสทุ่ง ไปถึงบ้านแห่งหนึ่ง เจ้าของบ้านชื่อ ยายผึ้ง เชิญให้แวะที่บ้านเข้าใจว่าเป็นขุนนาง ไม่รู้จักว่าใครเป็นใคร ครั้นเสด็จขึ้นเรือนแล้ว ยายผึ้งเข้าไปยกหม้อข้าวกับกระบะไม้ใส่ชามกะลา มีผักกาดผัดหมู ปลาเค็ม น้ำพริก มาตั้งเลี้ยงเสวย วันที่ ๒๔ กรกฎาคม เวลาเช้าเสด็จทรงเรือฉลอม แล่นเรือออกไปประพาสละมุที่เขาจับปลาตามปากอ่าวแม่กลองเที่ยวซื้อกุ้งปลาที่เขาจับได้ตามละมุ แล้วต้มข้าวต้มสามกษัตริย์ขึ้นในเรือฉลอม ที่เรียกว่าข้าวต้ม ๓ กษัตริย์นั้นคือ ต้มอย่างข้าวต้มหมูแต่ใช้ปลาทู กุ้ง กับปลาหมึกสดแทนหมู |
วันที่ ๗ สิงหาคม กระบวนเรือของพระเจ้าอยู่หัว เสด็จถึงบางปะอิน มาพบบ้านแห่งหนึ่งที่บางหลวงอ้ายเอียงเห็นจะอาศัยทำครัวที่นั่นได้ จึงแวะเข้าไปไต่ถามได้ความว่าเป็นบ้านกำนัน แต่ตัวกำนันไปค้าข้าว อยู่แต่นายช้าง อำแดงพลับ พ่อตา แม่ยาย นายช้างออกมาต้อนรับ ยายพลับช่วยทำครัวเมื่อพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นบนเรือน และได้นั่งสนทนา ประเดี๋ยวได้ยินเสียงยายพลับเอะอะในครัว ได้ความว่า แกเอ็ดหมื่นสรรพกิจเรื่อง ชิมแกง แกว่าเป็นผู้ลากมากดีทำไมถึงชิมแกงด้วยจวักเขา เขาถือกันไม่รู้หรือ เลยเฮกันใหญ่ การทำครัวที่บานนายช้างวันนี้สนุกยิ่งกว่าที่ได้เคยทำมาในที่อื่น ๆด้วยเจ้าของบ้านมิได้มีใครสงสัยล่วงรู้ว่าผู้ใดเป็นใครเลย วันที่ ๒๙ กรกฎาคม เสด็จแวะคลองตะเคียนซื้อผ้า แล้วจอดทำกับข้าวที่แพซุงใกล้คลองตะเคียน มีปลาแห้งผัดไข่เจียว แกงกะทิ กินอย่างอร่อย |
บรรยากาศในเรือนของหมื่นปฎิพัทธภูวนารถ (ช้าง) บางหลวงอ้ายเอียง กรุงเก่า |
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประทับเสวยพระกระยาหาร พร้อมด้วย |
ในการเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรกของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นเหตุการณ์สำคัญใน ประวัติศาสตร์ไทยที่องค์ประมุขได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการทั้งจากพระราชสำนัก รัฐบาล และประชาชนในยุโรป ตามกำหนดการได้เสด็จเยือนประเทศต่าง ๆ ๑๔ ประเทศ ทรงใช้เวลานานเกือบ ๙ เดือนเศษ โดยทรงออกจากกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๗ เมษายน พ.ศ. ๒๔๔๐ จนกระทั่งเสด็จนิวัตพระนครเมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม ในปีเดียวกัน ประเทศเจ้าภาพได้ถวายการต้อนรับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างยิ่งใหญ่และสมพระเกียรติ ระหว่างที่ประทับอยู่ ณ ทวีปยุโรป พระกระยาหารที่ประเทศเจ้าภาพได้จัดถวายส่วนใหญ่เป็นอาหารฝรั่ง อาทิ ปลาค็อดอบเนย เนื้อลูกวัวกับซอส เป็ดป่ากับสลัดหน่อไม้ฝรั่ง ซุปเต่า ไก่ราดซอสครีม ไก่งวง และไก่รุ่นย่าง ปลาเทร้าส์ย่าง กวางอบราดซอส เนื้อสันหลังกวางย่าง ซี่โครงแกะ เนื้อนกอบ สตูว์เนื้อลูกวัว ปลาแซลมอนราดกับ ซอสครีม สลัดกุ้งน้ำจืด ปลาเทอร์บอต เนื้อวัวอบกับผักโขม ไส้กรอกยัดด้วยเลือดหมู ซุปเนื้อกวาง หอยนางรมกับซอสกุ้ง ไข่ปลาคาร์เวียร์ ซุปใส สตูว์แกะ ไก่รุ่นและนกกระทากับสลัดผักฮอลแลนด์ เนื้อไก่กับซอสเยลลี่ ปลาเทร้าส์อบราดซอส เนื้อสันหลังกวางราดซอส ผักเซลเลรี่ราดซอสกับนกกระทาย่าง มูสตับห่าน ของหวาน ได้แก่ ขนมเค้กกับผลกูสเบอรีดำ ทาร์ตผลไม้ ไอศกรีมผลกูสเบอรี่ เค้กสับปะรด ลูกพีช ผลแอปริคอต ไอศกรีมสตรอเบอร์รี่ เครื่องดื่ม ไวน์ |
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แม้จะทรงเคยชินกับพระกระยาหารฝรั่งมาตั้งแต่เสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก แต่ในการเสด็จประพาสครั้งที่ ๒ เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๐ มีความแตกต่างจากครั้งแรก คือ การเสด็จครั้งนี้ มีพระราชประสงค์เพื่อทรงรักษาอาการประชวรและฟื้นฟูพระพลานามัย ระหว่างการเสด็จประพาสยุโรปทรงพรรณนาไว้ในพระราชนิพนธ์ไกลบ้านว่าทรงประกอบพระกระยาหารไทยด้วยพระองค์เองหลายครั้ง |
พระราชหัตถเลขา ฉบับที่ ๒๘ คืนที่ ๑๐๖ วันพฤหัสบดี ที่ ๑๐ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๖ บนเรืออัลเบียนเมืองโบเดอ |
พระราชหัตถเลขา ฉบับที่ ๒๘ คืนที่ ๑๐๘ วันพฤหัสบดี ที่ ๑๑ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๖ บนเรืออัลเบียนเมืองฮาเมอเฟสต์ |
พระราชหัตถเลขา ฉบับที่ ๓๕ คืนที่ ๑๕๔ วันอังคาร ที่ ๒๗ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๖ ณ เมืองฮอมเบิค |
พระราชหัตถเลขา ฉบับที่ ๔๒ คืนที่ ๒๐๗ กลางคืนวันเสาร์ ที่ ๑๙ ตุลาคม ร.ศ. ๑๒๖ ขณะประทับบนเรือพม่า ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน |
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จไปศึกษา ณ ประเทศอังกฤษตั้งแต่พระชนมายุ ๑๒ พรรษา ต้องประทับอยู่ท่ามกลางชาวอังกฤษเป็นเวลานานกว่า ๙ ปีเศษ แต่พระองค์ก็ยังทรงโปรดความเป็นไทย เห็นได้เมื่อพระองค์เสด็จนิวัตพระนคร พระองค์ทรงโปรดดำเนินพระราชภารกิจประจำวันคล้ายสมเด็จพระบรมชนกนาถ คือ ประทับท่ามกลางข้าราชบริพาร บางครั้งก็เสวยกับพื้นอย่างแบบโบราณ ที่เรียกกันว่า “เสวยต้น” พระกระยาหารคาวหวานที่ห้องจัดมาถวายเวลาเสวยต้นนั้นเป็นอาหารไทยล้วนและเป็นอาหารพื้น ๆ ปรุงจากเนื้อสัตว์ ผักสด ไขมัน แป้ง เครื่องปรุงรสนานาชนิด ปรุงแต่งและประดิษฐ์ด้วยฝีมืออันประณีต ผักหรือผลไม้ล้วนแกะสลัก ปอก คว้าน ให้ดูสวยงามและเสวยง่าย จัดวางเข้าชุดกันมีพร้อมทั้งแกงเผ็ด แกงจืด ปลา เครื่องจิ้ม ผักสด เครื่องเคียงต่าง ๆ ดังที่ จมื่นอมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช) ได้บันทึกเรื่องชุดพระกระยาหารไว้ ดังนี้ ชุดที่ ๑ ประกอบด้วย แกงเผ็ดเนื้อ ปลาเค็มชุบไข่ทอด หมูหวาน แกงจืดเกาเหลา ปลาช่อนทอด น้ำพริก ผักต้มกะทิ ผักสดต่าง ๆ ยำไข่ปลาดุก ไข่ฟูทรงเครื่อง กระเพาะปลาทอดกรอบจิ้มกับน้ำพริกเผา ชุดที่ ๒ ประกอบด้วย แกงเผ็ดปลาดุก เนื้อเค็มผัดหวาน ปลาจาระเม็ดขาวเจี๋ยน แกงจืดลูกรอก ปลาทูนึ่งทอดเหลือง น้ำพริกมะขามสด ผัดทอดต่าง ๆ ผักสดต่าง ๆ ยำไข่ปลาดุก ผัดเนื้อหมูกับยอดผัก ด้วงโสนทอดกรอบ ชุดที่ ๓ ประกอบด้วย แกงเขียวหวานไก่ ปลายี่สกฝอยผัดหวาน ไข่เค็มทอด แกงจืดวุ้นเส้น ปลาดุกย่างยีเนื้อทอดฟู เต้าเจี้ยวหลนหรือกะปิคั่ว ผักสดต่าง ๆ ยำไข่ปลาดุกหรือยำใหญ่ ปูจ๋า หมูกระจกจิ้มน้ำพริกเผา แต่สิ่งที่โปรดเสวยมากจนเป็นที่รู้กันว่า ชาวพนักงานพระเครื่องต้นจะพยายามจัดหาไม่ค่อยขาด คือ ยำไข่ปลาดุก ด้วงโสนทอดกรอบ ผักสดต่าง ๆ และน้ำพริก เครื่องหวานที่จัดถวาย เช่น ฝอยทอง วุ้นหวานบรรจุพิมพ์ ลูกตาลสดน้ำเชื่อม มะตูมสด กับน้ำกะทิ กระท้อนลอยแก้ว ลิ้นจี่สดกับเยลลี เป็นต้น ผลไม้ปอกคว้านต่าง ๆ เช่น มะปราง เงาะ น้อยหน่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์เห่ชมเครื่องว่าง กล่าวถึงอาหารไทยประเภทหนึ่งที่นิยมกันในหมู่เจ้านาย ในพระราชนิพนธ์เห่ชมเครื่องว่างนั้นมีเครื่องว่างหลายประเภท เช่น ข้าวต้ม ขนมจีบ น้ำพริกระมาด ขนมเบื้องญวน เมี่ยงคำ ข้าวตังกรอบ ขนมเบื้อง |
ข้าวต้มเนื้อวัว สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร์ ทรงทำข้าวต้มเนื้อวัวปรุงถั่ว เลี้ยงในงานสโมสรสันนิบาตครั้งหนึ่ง พระบามสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เสวยแล้วโปรดมาก |
ข้าวต้มสาคู ใช้สาคูเม็ดใหญ่แทนข้าว เนื้อสัตว์ใส่ได้ตามชอบ มีแครอท ฟักทอง เม็ดถั่วลันเตา ก่อนเสิร์ฟโรยหน้าด้วยขนมปังทอดกรอบชิ้นเล็ก |
น้ำพริกลูกระมาด หรือ ระมาศ (มะแข่น) ใช้ผลแห้งเป็นเครื่องเทศหรือตำผสมกับ เครื่องแกงเพื่อชูรส มีรสเผ็ดร้อน สรรพคุณ แก้โรคลมจุกเสียด บำรุงเตโชธาตุ (ธาตุไฟ) ช่วยย่อยอาหาร |
ข้าวต้มเนื้อนก รู้จักไม่แพร่หลายนัก เพราะนกมีเนื้อน้อย และปัจจุบันการนำนกมาทำอาหารก็ไม่ง่าย ถือว่าเป็นอาหารที่รสชาติดี หากใครได้ทานแล้วจะไม่ลืมอาหารจานนี้ | ยำไข่ปลาดุก เป็นเครื่องเคียงประจำที่มีอยู่เกือบตลอดฤดูกาล |
เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จ ฯ มาเสวยพระกระยาหารกับสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา ณ พระราชวังพญาไท ข้าหลวงจะจัดเครื่องเสวยทั้งแบบไทยและแบบฝรั่ง เครื่องเสวยแบบไทย โปรดเสวยด้วยพระหัตถ์ ประกอบด้วย ข้าวสวย แกงเผ็ด อย่างแกงแคลาว แกงจืด น้ำพริกพร้อมเครื่องเคียงอย่างปลาทอด จำพวกปลาทูหรือปลาดุกฟู หมูหวานหรือเนื้อฝอยผัดหวาน ไข่ฟู ผักสดแกะสลักแช่เย็น ยำที่โปรดคือ ยำไข่ปลาดุก ที่ขาดไม่ได้คือ กระเพาะปลาทอดกรอบหรือแคบหมูทอดกรอบ ข้าวคลุกกะปิ ข้าวคลุกน้ำพริก ข้าวผัด ข้าวยำปักษ์ใต้กับเครื่องจิ้มในถ้วยเล็ก ๆ ได้แก่ น้ำปลา น้ำตาล น้ำเชื่อม หลน น้ำพริกเผา และน้ำพริกกะปิ นอกจากนั้นจะต้องมีพระสุธารสชา และเบียร์ พระสุจริตสุดา พระสนมเอก ได้ประทานวิธีทำอาหารไทยและอาหารฝรั่งประกอบด้วยสูตรอาหารหลากหลายชนิด ได้แก่ แกงเผ็ดไก่จี๋จ๋วน หมี่ดอกโศก พริกขิงชวา น้ำพริกวังหลวง น้ำพริกสมเด็จ กุ้งหลอนหลน ดาราลอยน้ำเชื่อม ขนมทันสมัย ปาริศเสเวอรี |
สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา |
พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ทรงมีฝีมือในการปรุงอาหารอย่างมาก เมื่อคราวเสด็จไปประทับในต่างแดนช่วงสงครามโลก ทำให้พระองค์ได้ฝึกฝนการปรุงอาหารทั้งอาหารไทยและอาหารฝรั่ง ตำรับอาหารของพระองค์มีสูตรเฉพาะที่เป็นเอกลักษณ์ และได้รับการสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ขณะประทับ ณ ประเทศอังกฤษ โปรดที่จะลงพระหัตถ์ปรุงขนม ชอร์ตเบรดที่ทรงสร้างสรรค์สูตรขึ้นและปรุงด้วยวิธีการที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ เป็นเครื่องเสวยยามบ่ายคู่กับพระสุธารสชาถวายสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี อยู่เสมอ อีกทั้งยังทรงพระกรุณาประทานให้กับข้าราชบริพารและผู้ที่มาเข้าเฝ้าได้รับประทานด้วย |
พระสุจริตสุดา พระสนมเอก |
ในฤดูร้อนของทุกปี สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี จะเสด็จไปประทับ ณ พระตำหนักพัชราลัย อำเภอหัวหิน ในระหว่างนี้ มีพระประสงค์ที่จะสนับสนุนสินค้าพื้นถิ่นของประชาชนสินค้าขึ้นชื่อ คือ ปลากุเรา ชาวห้องเครื่องได้ปรุงน้ำพริกปลากุเราถวาย นอกจากนี้สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดียังโปรดเสวยน้ำพริกเผาเป็นประจำ จนกลายเป็นน้ำพริกคู่โต๊ะเสวย |
สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี กับพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ขณะประทับ ณ ประเทศอังกฤษ |
แกงจี๋จ๋วน | ชอร์ตเบรด ขนมอบที่ชาวอังกฤษนิยมรับประทานคู่กับน้ำชา | น้ำพริกปลากุเรา | น้ำพริกเผาเสวย |
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีทรงดำเนินพระชนชีพอย่างเรียบง่าย หลังจากตื่นพระบรรทม ทั้งสองพระองค์เสวยพระกระยาหารเช้าและกลางวันร่วมกันแล้วจึงเสด็จทรงงาน เวลาเย็นทั้งสองพระองค์จะเสวยพระสุธารสชาร่วมกัน บางวันทรงออกพระกำลังทอดพระเนตรภาพยนตร์ ถ่ายภาพ ทรงดนตรี กีฬา โดยเฉพาะแบดมินตัน เทนนิส และกอล์ฟจากนั้นเสวยพระกระยาหารค่ำแบบไทยคือ ประทับเสวยที่พื้น |
|
|
เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติและย้ายไปประทับที่ประเทศอังกฤษ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เพื่อพักฟื้นพระวรกาย ณ พระตำหนักโนล กรุงลอนดอน จากนั้นทรงย้ายไปประทับอยู่ที่พระตำหนักเกล็นเพ็มเมินต์ ตำบลเวอร์จิเนียวอเตอร์ ทางเหนือของเซอร์เรย์ ทั้งสองพระองค์โปรดใช้เวลาว่างยามบ่าย ทรงพระดำเนินเล่นกับสุนัขทรงเลี้ยงท่ามกลางสวนดอกไม้และป่าละเมาะ เสวยพระกระยาหารร่วมกับพระญาติที่พระตำหนัก พระกระยาหารส่วนมากเป็นเครื่องฝรั่ง เช่น ปลานึ่ง ไข่ดาว ไข่เจียว ไข่กวน แฮม เบคอน ไส้กรอก เซี่ยงจี้ตัดเป็นเส้นเล็กใส่หัวหอมใหญ่ หรือหมูสามชั้นคลุกตีน้ำมัน ของทอด เช่น ข้าวคั่ว เกล็ดข้าวโพดใส่นม ส่วนเครื่องไทยนั้นจะเสวยเป็นครั้งคราว |
|
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ประทับอยู่ที่พระตำหนักเกล็นเพ็มเมินต์เป็นเวลาสองปี จากนั้นจึงทรงย้ายประทับที่พระตำหนักเวนคอร์ต ทรงใช้ชีวิตแบบสามัญชนทรงงานในสวน เช่น ปลูกต้นไม้ ไม้ดอก ที่พระตำหนักนี้มีสนามเทนนิส บางวันมีคนไทยและนักเรียนไทยในอังกฤษมาเฝ้าฯ และแข่งขันเทนนิสกัน ทรงปฏิบัติพระองค์อย่างเป็นกันเอง และเสวยพระสุธารสชา บางครั้งก็ทรงร่วมงานเลี้ยงสังสรรค์ที่นักเรียนไทยจัดปีละครั้ง หลายครั้งที่ชาวบ้านเห็นทั้งสองพระองค์ทรงพระดำเนินไปตามถนนในหมู่บ้านกับสุนัข ทรงจักรยานไปซื้อของและเสวยพระกระยาหารที่ร้านกาแฟประจำหมู่บ้าน |
พระญาติสนิทและนักเรียนไทยเข้าเฝ้า ฯ | พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ขณะประทับอยู่ที่พระตำหนักเวนคอร์ต |
ทอดพระเนตรถ้วยรางวัลการแข่งขันเทนนิส |
พระตำหนักเกล็นเพ็มเมินต์ | พระตำหนักเวนคอร์ต | ห้องเสวยพระตำหนักเวนคอร์ต |
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ได้เสด็จนิวัตประเทศไทยในพุทธศักราช ๒๔๙๒ เสด็จประทับ ณ วังสระปทุมเป็นการชั่วคราว จากนั้นทรงย้ายไปประทับ ณ สวนบ้านแก้ว ตำบลบ้านแก้ว จังหวัดจันทบุรี พระราชจริยาวัตรขณะที่พระองค์ประทับที่นี่เป็นไปในลักษณะเรียบง่าย พระกระยาหารที่โปรด ได้แก่ ข้าวแช่ ขนมจีนน้ำพริก ยำเกสรชมพู่ มะระยัดไส้ สะเดาน้ำปลาหวาน และโปรดทำน้ำพริกกะปิด้วยพระองค์เอง |
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ณ วังสระปทุม |
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทรงตำน้ำพริกกะปิ |
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร เมื่อพระชนมายุได้เพียง ๑ เดือน ได้ตามเสด็จสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ไปทุกหนทุกแห่ง ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ประทับอยู่ ณ พระตำหนักวิลลาวัฒนา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ รัฐบาลสวิสขอให้ประชาชนสำรองอาหารไว้ให้พออยู่ได้ ๒ เดือน เมื่อเกิดสงครามรัฐบาลมีนโยบายปันส่วนอาหารโดยมีบัตรปันส่วนไปแลก เช่น ไข่ ได้เดือนละ ๓ ฟองต่อ ๑ คน เด็กได้เนื้อและนมมากกว่าผู้ใหญ่ เนื้อและน้ำตาลเป็นของหายากมาก สมเด็จพระราชชนนีทรงทำเนยและแยมเอง ในพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เกี่ยวกับพระราชกิจในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ตอนหนึ่งว่า เมื่อเสด็จลงเสวยพระกระยาหารกลางวันจะมีเครื่องเสวยทั้งเครื่องฝรั่งและเครื่องไทย และโปรดเกล้า ฯ ให้ลดจำนวนเครื่องฝรั่งลงเสียบ้าง ด้วยพระราชดำริว่ามากเกินไป โปรดเกล้า ฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ หรือผู้ทรงคุ้นเคยร่วมโต๊ะเสวยด้วยในบางโอกาส บางวันเสด็จลงเสวยกลางวันอย่างปิกนิกที่ริมสระในสวนศิวาลัย |
|
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระกระยาหารที่เสวยเป็นอาหารธรรมดาที่คนทั่วไปบริโภคกัน โปรดเสวยอาหารอ่อนแบบอาหารฝรั่ง ส่วนอาหารไทยโปรดเสวยผัดผักทุกชนิด เช่น ผัดคะน้า ผัดถั่วงอก ผัดถั่ว ลันเตา โดยใส่ผักให้มาก ๆ เนื้อหมูใส่น้อย ๆ อาหารว่างโปรดเสวยหูฉลามและบะหมี่ จะใส่หน้าหมูแดง หน้าเป็ด หน้าปู ได้ทั้งนั้น แต่ต้องไม่ใส่ผักชี ใบหอม ต้นหอม และตังฉ่าย เครื่องดื่ม โปรดโอวัลตินเป็นพิเศษ เสวยวันหนึ่งหลายครั้ง น้ำชา กาแฟเสวยไม่มากนัก เมนูพระกระยาหารหรือเครื่องเสวยประจำวัน เครื่องเช้า เช่น ไข่ลวกหรือข้าวโอ๊ต และไอศกรีม เครื่องกลางวัน เช่น ซุปอาซาเรน (ซุปใสใส่ไข่) สปาเกตตีมิลานเนส แกงจืดเซ่งจี๊ ผัดไก่เล่าปี่ ปูเค็มต้มกะทิ หลนปลากุเรา ผัดเผ็ดปลาดุกทอดฟู กล้วยหักมุกเชื่อม ไอศกรีม และผลไม้ ยามดึกเมื่อเสร็จสิ้นจากพระราชกิจ มหาดเล็กจะตั้งเครื่องว่างจำพวกหูฉลามหรือบะหมี่ถวาย นอกจากนี้ พระกระยาหารที่ทรงคิดขึ้นเอง เป็นไข่เจียวที่มีเม็ดข้าวเกรียม ๆ เหมือนกับจุดในดวงอาทิตย์ ทรงเรียกว่า ไข่พระอาทิตย์ |
|
|
|
|
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระราชจริยาวัตรอันงดงามทรงห่วงใยพสกนิกรเหมือนแม่ห่วงใยลูก ทรงดูแลอภิบาลพระเจ้าลูกเธออย่างใกล้ชิด โดยโปรดให้เสวยอาหารตามหลักโภชนาการอย่างเหมาะสม ซึ่งบางครั้งพระองค์ทรงคิดเมนูขึ้นเอง เช่น |
|
|
|
พระองค์โปรดเสวยข้าวกล้อง หรือ ข้าวซ้อมมือ ทรงตระหนักถึงคุณสมบัติข้าวชนิดนี้ จึงทรงแนะนำให้ราษฎรรับประทาน เมื่อมีงานพระราชทานเลี้ยงในโอกาสที่เสด็จแปรพระราชฐานไปประทับแรมเพื่อเยี่ยมราษฎรในภาคต่าง ๆ มีพระราชเสาวนีย์ให้ตั้งข้าวสวยซึ่งหุงจากข้าวซ้อมมือและข้าวขาวธรรมดาให้ผู้มารับประทานเลี้ยงได้เลือกตามอัธยาศัย นอกจากนี้พระองค์ยังโปรดเสวยน้ำพริกและอาหารไทยพื้นบ้าน เมื่อครั้งแปรพระราชฐานไปทรงเยี่ยมเยียนราษฎรและประทับยังพระตำหนักในภาคต่าง ๆ พระองค์จะโปรดเสวยอาหารพื้นบ้านของท้องถิ่นนั้น ๆ เช่น ข้าวซอย ข้าวยำปักษ์ใต้ ลาบ หรือบางครั้งพระองค์ทรงนำอาหารที่ราษฎรนำมาถวายขึ้นโต๊ะเสวยอีกด้วย โดยเฉพาะน้ำพริก ต้องขึ้นโต๊ะเสวยทุกวันไม่เคยขาด เช่น น้ำพริกกะปิกับปลาทูทอด น้ำพริกปลาร้า และน้ำพริกหนุ่ม จะเสวยกับผักพื้นบ้านของไทยหลาย ๆ ชนิด เครื่องเสวยจะมีส่วนประกอบของผักอยู่เสมอ ได้แก่ สลัดผัก แกงส้ม แกงเลียง แกงแค ผัดผัก |
|
ผลไม้ที่ทรงโปรด ฝ่ายห้องเครื่องจะจัดผลไม้ถวายทุกวัน ส่วนมากเป็นผลไม้ตามฤดูกาล เช่น มะละกอ ส้มโอ เงาะ ลองกอง มังคุด ฝรั่ง มะม่วง กระท้อน ทุเรียน ส่วนผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวที่โปรด คือ มะยม ตะลิงปลิง บริเวณพระตำหนักที่ประทับทุกแห่งจะมีการปลูกผลไม้ปลอดสารพิษ ทั้งชนิดที่มีพระราชเสาวนีย์ให้หามาปลูก เช่น ส้มจี๊ด มะยม ตะลิงปลิง ผักโขม ผักบุ้งจีน ผักคะน้า และชนิดที่เจ้าพนักงานในพระตำหนักนำมาปลูกถวาย เช่น ในพระตำหนักสวนจิตรลดามีปลูกผักสวนครัว มะม่วง ฝรั่ง ที่พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ มีปลูกผักนานาชนิด รวมทั้งเลี้ยงเป็ด ไก่ และหมู |
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งทรงพระเยาว์ เครื่องเสวยส่วนใหญ่มีรสจืดและเป็นเครื่องฝรั่ง สมเด็จพระบรมชนกนาถและสมเด็จพระบรมราชชนนี มีพระราชประสงค์ให้เสวยเครื่องไทย โดยให้เปลี่ยนเป็น เครื่องเสวยไทยทีละน้อย เมื่อทรงเข้าศึกษาที่โรงเรียนจิตรลดา เสวยพระกระยาหารร่วมกับพระสหายที่ห้องเครื่อง จัดถวาย เช่น แกงจืดไก่ต้มกับฟักเขียว ผัดผักกวางตุ้ง เป็นต้น สมเด็จพระบรมราชชนนีทรงตั้งระเบียบไว้ว่า พระกระยาหารกลางวันที่เสวย ห้ามเติมเครื่องปรุงรสทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นน้ำปลา น้ำส้ม หรือซอส และรับสั่งว่า เขาทำให้เสวยอย่างไรก็ต้องเสวยอย่างนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเสวยมาก โปรดอาหารอร่อย ๆ แปลก ๆ บางครั้งก็ทรงทำอาหารเองด้วยหม้อและเตาดินเผาเล็ก ๆ แล้วประทับเสวยอย่างเอร็ดอร่อยร่วมกับผู้ตามเสด็จ จนสมเด็จพระบรมราชชนนีทรงเตือนเพราะเกรงว่าจะทรงอ้วนเกินไป แต่พระองค์กลับทูลตอบว่า “ยอมอ้วนดีกว่ายอมอดอาหาร” |
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ ทรงเตรียมอาหารพร้อมอาจารย์และพระสหาย ขณะเสด็จค่ายพักแรม ณ ค่ายลูกเสือศรีราชา |
เสวยพระกระยาหารร่วมกับพระสหาย |
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยและทรงให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์ที่อุทิศตนปฏิบัติหน้าที่ดูแลรักษาผู้ป่วยในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานอาหารแก่บุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งล้วนเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ และทรงประกอบอาหารพระราชทานด้วยพระองค์เอง รายการอาหารพระราชทานจากครัวพระที่นั่งอัมพรสถาน ได้แก่ กูลาชหมู ต้มแซบลูกชิ้น เห็ดถอดสมุนไพร โครงหมูอบกระชายขาว ผักสดกับน้ำพริกข่า ปลาสลิดฟู หมูและไข่พะโล้ ก๋วยเตี๋ยวหมูตุ๋น เอ็นลูกชิ้น ข้าวเหนียว สะโพกไก่ย่างกระชายขาว ก๋วยเตี๋ยวไก่ตุ๋นมะระใส่เลือด ไก่ทอดกระชายขาว แกงมัสมั่นหมู กระชายขาว ไข่ลูกเขย ต้มแซบโครงหมูสมุนไพรใบกะเพรา เอ็นแก้วงากรอบกระชายขาว ข้าวเหนียว คอหมูย่าง กระชายขาวจิ้มแจ่ว ผัดหมี่สีชมพู เย็นตาโฟ ลูกชิ้นเห็ดทอด และข้าวซี่โครงหมูอบกระชายขาว ยอดผัก |
แกงเขียวหวานไก่สอดไส้ไข่เค็ม | ผัดถั่วหวานไก่สับ |
กูลาชหมูกระชายขาว ข้าวเหนียว สะโพกไก่ย่าง หมูและไข่พะโล้ |
อาหารพระราชทานแก่บุคลากรทางการแพทย์ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ |
สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีขณะเสด็จประทับ ณ วังสระปทุม กิจกรรมหนึ่งที่ทรงทำ เป็นประจำ คือ การทำเครื่องเสวยถวายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร คราวหนึ่งพระองค์ทรงเล่าว่า มีพระราชดำรัสกับพระบรมราชชนนีเรื่องอาหารที่เคยเสวยครั้งทรงพระเยาว์ ขณะประทับอยู่ ณ เมืองบอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ว่าอาหารพื้นเมืองที่นั่นเสวยได้ยากมาก หลังจากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีได้ทรงฟังดังนั้น ก็ทรงคิดค้นตำราอาหารที่เคยทรงเขียนเก็บไว้ คือ บอสตันเบคบีนส์ (Boston Baked Beans) และบอสตันบราวน์เบรด (Boston Brown Bread) จากนั้นก็ทรงประกอบพระยาหารทั้งสองอย่างนี้ถวาย |
บอสตันเบคบีนส์ (Boston Baked Beans) | บอสตันบราวน์เบรด (Boston Brown Bread) |
พระกระยาหารทรงโปรดของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ คือ หอยแมลงภู่ผัดฉ่า ข้าวผัดหนำเลี้ยบ เคียงด้วยกากหมู ไข่ต้มน้ำปลาพริก ไก่ย่างกับน้ำจิ้มแจ่ว ทอดมันปลากราย ปีกไก่ทอด และเมี่ยงคะน้า อีกหนึ่งพระกระยาหารโปรด คือ เมนูไข่ ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระนิพนธ์เพลงเมนูไข่ เป็นบทเพลงหนึ่งที่ วงดนตรี อ.ส. วันศุกร์ บรรเลงถวายในงานพระราชทานเลี้ยงในวโรกาสที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ ฯ ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๓๒ พรรษา |
ข้าวผัดหนำเลี้ยบ | ไข่ต้มน้ำปลาพริก |
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงประกอบพระกระยาหารด้วยพระองค์เองอยู่เสมอขณะประทับ ณ วังสระปทุม และยังได้พระราชทานสูตรเมนูอาหารต่าง ๆ ที่ทรงคิดขึ้นเอง เช่น ยาพอกหัวเด็ก ทรงรับสั่งว่า เมนูนี้เป็นอุบายให้เด็กรับประทานผัก ได้โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน วิตามิน เกลือแร่ ใยอาหาร มัตสยาเกษียรสมุทร (ปลาช่อนอบ) กุ้งบ่อมรกต (กุ้งเผาสาหร่าย) ผักโขมปั้นก้อนอบ พายฟักทอง ขนมรวงผึ้ง และไก่นาบกระทะ นอกจากนี้ยังได้พระราชทานสูตรอาหารให้กับมูลนิธิชัยพัฒนา ได้แก่ ข้าวตังน้ำมันชา ซุปมะเขือเทศ เต้าหู้ ทรงเครื่อง ผัดเห็ดชัยพัฒนา ผัดฟักทอง มันฝรั่งบดทอด ยำสตรอว์เบอร์รีน้ำมันงาม้อน สปาเกตตีพริกแห้งน้ำมันชา ไก่ไวน์แดง ข้าวตังน้ำมันปลาผัดหน่อไม้ฝรั่ง และไอศกรีมโยเกิร์ตงาม้อน เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาภาษาฝรั่งเศส ณ สถาบันตูแรน ประเทศฝรั่งเศส นอกจากทรงศึกษาภาษาฝรั่งเศสแล้ว ยังเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรกิจการและสถานที่ต่าง ๆ และทรงจดบันทึกเรื่องราวที่ทรงพบเห็นตลอดการเสด็จพระราชดำเนิน รวมทั้งได้ทรงประกอบพระกระยาหารทั้งอาหารไทยและอาหารฝรั่งด้วยพระองค์เองระหว่างที่ประทับ ณ เมืองตูร์ ซึ่งปรากฏอยู่ในพระราชนิพนธ์เรื่อง ฟื้นภาษา ได้อาหาร ด้วยกันหลายตอน |
ยาพอกหัวเด็ก หรือขนมปังหน้าผักโขม |
อาหารไทย ได้แก่ เป็ดย่าง แกงวุ้นเส้นใส่น้ำ ผัดถั่วงอก ผัดถั่วลันเตาใส่หน่อไม้ฝรั่งเขียว แกงจืดผักกาดใส่เต้าหู้และตั้งไฉ่ ข้าวผัดใส่กุนเชียง ก๋วยเตี๋ยวผัดไทยใส่หมูแดง เปาะเปี๊ยะกุ้ง เส้นหมี่เป็ดย่าง เปาะเปี๊ยะทอด ข้าวผัดใส่ไข่ และกุนเชียงติ่มซำผัดไทยหมูแดง ข้าวหน้าเป็ด กุ้งห่มสไบ เส้นหมี่ลูกชิ้น เส้นหมี่ราดหน้า ซาลาเปาไส้หมูแดงหมูสับ ส้มตำแครอต ข้าวอบกุนเชียง และผัดผักใส่น้ำมันหอย ของหวานและเครื่องดื่ม มีไอศกรีมใส่ลูกตะลิงปลิง ไอศกรีมช็อกโกแลต ฟรุตสลัด และกาแฟภูฟ้า อาหารฝรั่ง ได้แก่ สลัดมะเขือเทศ เนื้อทูนาโด (เนื้อทอด) สลัดผักใส่เซลเลอรี่ แอปเปิ้ลแกรนนี่โรยพริก ไทยปลาราดซอส หมูนาบกระทะ ซุปหน่อไม้ฝรั่งสีขาว ขาวัวตุ๋น สลัดทาร์ตเนยแข็ง ปลาแซลมอนนาบกระทะทอดเนยสี่ด้าน ผัดบล็อกโคลี ขากระต่ายอบเห็ดชามปิญอง มันผสมแครอตบดสลัดใส่มันฮ่อ ปลาคอดราดซอส ถั่วเขียวกินกับอกเป็ดแห้ง มะเขือยาวยัดไส้เป็ดสับ แตงเมล่อนวางบนหมูแฮมหั่นบาง ๆ ปลาล็อตราดซอส เส้นนุย (tagliatelle)ใส่หอยแมลงภู่ และปลาแซลมอน ของหวานและเครื่องดื่ม มีมูสกล้วย เนยแข็งนมแพะ กาแฟกัวเตมาลา คัสตาร์ด วานิลลา ทาร์ตมีราเบล กาแฟโคลัมเบีย ไวน์อัลซาส แพร์ต้มโรยผงวานิลลา คัสตาร์ดไข่ใส่ผลฟรอมบวช (ราสเบอรี่) และชาตีเยิล ผลไม้ มีสตรอเบอรี่ แอปเปิ้ล มะเดื่อฟิก สับปะรดแคเมอรูน ลูกพรุนจากเมืองอาแฌง และส้มโอ |
มัตสยาเกษียรสมุทร หรือ ปลาช่อนอบ |
เพลงส้มตำ |
สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒนวรขัตติยราชนารี ทรงห่วงใยประชาชนที่เดินทางมากราบถวายบังคมพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทั้งที่เดินทางมาจากกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด จึงทรงประกอบอาหาร “ข้าวผัดสเปน” ณ พระตำหนักทิพย์พิมาน จังหวัดนครราชสีมา เพื่อพระราชทานแก่ประชาชนที่เดินทางมากราบถวายบังคมพระบรมศพ วัตถุดิบประกอบด้วย ข้าวสวย ไข่ไก่ กุ้งสด หอยแมลงภู่ ปลาหมึก หอยเชลล์ แครอทหั่นชิ้นขนาดลูกเต๋า ถั่วลันเตา เนยสด และเครื่องปรุงรส |
วันที่ ๙ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๐ เสด็จแทนพระองค์ไปทรงเยี่ยมผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา พระราชทานถุงยังชีพ และพระราชทานอาหารแก่ราษฎร โดยทรงประกอบอาหาร “ข้าวผัดหยางโจ” โดยมีข้าวสวย เบคอนกรอบหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ เนื้อไก่หั่นเป็นลูกเต๋า ไข่ไก่ เครื่องปรุง เนย ซีอิ๊วญี่ปุ่น และเกลือแก่ราษฎรที่ประสบภัย นอกจากนี้พระองค์ทรงห่วงใยแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ผู้เสียสละ ท่ามกลางวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ จึงทรงประกอบอาหาร “ข้าวผัดหยางโจว” ณ ห้องประกอบอาหารตำหนักทิพย์พิมาน อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา พระราชทานแก่แพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงาน ให้ได้รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ ถูกสุขอนามัย มีสารอาหารครบถ้วนตามหลักโภชนาการ ตลอดจนเพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเสียสละมาโดยตลอด |
|
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา มีพระดำริให้จัดทำตำรับอาหาร เพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยากขึ้น และโปรดเกล้าฯ ให้ ม.ร.ว. ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ ม.ล. ศิริเฉลิม สวัสดิวัตน์ ม.ล. เนื่อง นิลรัตน์ และอาจารย์ยิ่งศักดิ์ จงเลิศเจษฎาวงศ์ ซึ่งเป็นผู้มีชื่อเสียงในการทำอาหาร คิดสูตรอาหาร ขึ้นถวายพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ เพื่อขอประทานพระวินิจฉัยการปรับปรุง รสชาติอาหารให้ถูกปากยิ่งขึ้น ซึ่งอาหารเหล่านี้ได้ปรุงจากวัตถุดิบที่ได้จากโครงการฟื้นฟูผู้ประสบอุทกภัย ตามแนวทางพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง ของมูลนิธิเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย นอกจากนี้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ได้พระราชทานสูตรอาหารเพิ่มอีก คือ น้ำยาเห็ดเจ ผัดพริกปลาดุกทอดกรอบ และข้าวผัดเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สูตรอาหารข้าวผัดเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก เป็นสูตรที่กำนันณรงค์ฤทธิ์ ทองดี ได้นำไปผัดแจกเด็ก ๆ ที่ประสบภัยน้ำท่วมที่ตำบลพุคา จังหวัดลพบุรี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ได้เสด็จไปทรงเยี่ยมและชิมแล้วทรงเห็นว่ารสชาติดี |
น้ำยาเห็ดเจ | ผัดพริกปลาดุกทอดกรอบ | ข้าวผัดเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก |
รายการอาหารพระราชทานในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า โสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ |
แกงเขียวหวานปลาดุกสับ สูตรอาหารโดย ม.ร.ว. ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์ |
แกงคั่วกะทิปลาดุกหน่อไม้เปรี้ยว สูตรอาหารโดย ม.ร.ว. ศิริเฉลิม สวัสดิวัฒน์ (หมึกแดง) |
แกงปลาดุกอย่างปลาไหล สูตรอาหารโดย ม.ล. เนื่อง นิลรัตน์ |
ข้าวกล้องอบเผือก สูตรอาหารโดย อาจารย์ยิ่งศักดิ์ จงเลิศเจษฎาวงศ์ |
ตำหรับอาหารเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก |
ศูนย์กลางของอาหารชาววังส่วนใหญ่จะอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ต่อมาเมื่อการขยายตัวของวังเจ้านายออกไป จึงก่อให้เกิดการคิดค้นสร้างสรรค์ ดัดแปลงตำรับอาหารของวังให้แตกต่างและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว รวมทั้งเจ้านายที่คิดค้นตำรับอาหาร ได้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่ลูกหลานหรือทายาท และบุคคลที่อยู่รับใช้ใกล้ชิด นำไปปรับปรุงและดัดแปลง ทำให้เกิดการรวบรวมตำรับอาหารออกพิมพ์แจกและจำหน่ายในโอกาสต่าง ๆ |
ตำรับสายเยาวภา |
|
ตำรับสายเยาวภา คือ ตำรับอาหารของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเยาวภาพงศ์สนิท พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับเจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์เนื่อง พระองค์เจ้าเยาวภาพงศ์สนิท ทรงรับการฝึกหัดทำอาหารในสำนักพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏปิยมหาราชปดิวรัดา จนทรงเชี่ยวชาญการทำอาหาร ได้ทรงเป็นต้นเครื่องให้กับพระวิมาดาเธอ ฯ และยังทรงเป็นพระธุระในการจัดเครื่องเสวยถวายสมเด็จ พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ฯ ตำรับอาหารคาวหวาน เช่น ขนมจีนซาวน้ำ ต้มจิ๋ว ก้อยกุ้ง แจงลอนข้าวปิ้ง ฉู่ฉี่ปลาสังกะวาด พล่าปลาไหลนกพิราบทอด เยลลี่ไข่ เยลลี่ตับห่าน |
ต้มจิ๋ว |
ขนมจีนซาวน้ำ |
ตำราแม่ครัวหัวป่าก์ ตำรับ ภาสกรวงษ์ |
|
ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงษ์ เป็นธิดาของนายสุดจินดา (พลอย ชูโต) และคุณนิ่ม ได้รับการศึกษาอบรมตามแบบกุลธิดาสมัยก่อนฝีมือการปรุงอาหารของท่านเป็นที่เลื่องลือ และเป็นที่ชื่นชมทั้งชาวไทยและชาวต่าง ประเทศ อีกทั้งยังเป็นผู้ริเริ่มการประดิษฐ์ลูกชุบขึ้นถวายเจ้านาย ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ได้รวบรวมตำราอาหาร หวานคาวขึ้น คือ “ตำราแม่ครัวหัวป่าก์” ซึ่งนับว่าเป็นตำรากับข้าวเล่มแรกที่พิมพ์ขึ้นในประเทศไทย ตำรับอาหารคาวหวาน เช่น แกงนอกหม้อ แกงเทโพ แกงมัสมั่น แกงบวน แกงนกพิราบ ม้าอ้วน ม้าฮ่อ ยำใหญ่ ลูกชุบ ขนมรังนก ขนมหันตรา |
แกงนอกหม้อ |
ข้าวผัดหมี่ |
ม้าอ้วน |
ขนมหันตรา |
ตำรับ หม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุล |
|
หม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุล พระธิดาองค์ใหญ่ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และหม่อมนวม ครั้งหนึ่งท่านได้เคยทำเครื่องต้นถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เวลานั้นท่านอยู่ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ซึ่งพระกระยาหารจานแรกที่ท่าน ทำถวายคือ กะปิพล่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่เสวยแล้วทรงพอพระราชหฤทัยเป็นอันมาก และได้มีโอกาสทำเครื่องจิ้มตั้งเครื่องถวายตลอดมา เช่น กะปิพล่า น้ำพริกผักชี ข้าวบุหรี่ อาหารว่าง ได้แก่ เปาะเปี๊ยะปีนัง ขนมเบื้องฝรั่ง ขนมจีนญวณ สะเต๊ะบาหลี ขนมน้ำยาเสวย ขนมเข่งปีนัง และขนมฝรั่งต่าง ๆ . . . |
กะปิพล่า |
น้ำพริกผักชี |
ตำรับหม่อมหลวงเนื่อง นิลรัตน์ |
|
หม่อมหลวงเนื่อง นิลรัตน์ เป็นธิดาของหม่อมราชวงศ์อั้น นิลรัตน์ และนางเผือก นิลรัตน์ ณ อยุธยา ข้าหลวง ของพระชายาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพรหมวรานุรักษ์ ท่านย่าของหม่อมหลวงเนื่อง คือ หม่อมเจ้าหญิงสะบาย นิลรัตน์ เป็นผู้ควบคุมห้องเครื่องคาวของพระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา พระองค์ได้ขอหม่อมหลวงเนื่องมาชุบเลี้ยงให้เล่าเรียนทั้งวิชาการครัว ท่านจึงได้คลุกคลีอยู่กับห้องเครื่องตำหนักนี้ จึงได้ตำรากับข้าวหลากหลายจากประสบการณ์ขณะอยู่ในวัง . ประเภทเครื่องว่างและเครื่องจิ้ม สะเต๊ะลือ ข้าวตังเมี่ยงลาว สาคูไส้ปลา ผัดหมี่กะทิทรงเครื่อง พระรามลงสรงข้าวตังหน้าตั้ง ทอดมันสิงคโปร์ ขนมเบื้องญวณห่อไข่ หรุ่ม ข้าวต้มกะทิ ซุปสาคู ไข่นกกระทา กรอบเค็ม ครองแครง แป้งสิบทอด เม็ดบัวฉาบ |
|
ประเภทข้าวแกง แกงรัญจวน แกงเขียวหวานปลากรายไข่เค็ม แกงปลาดุกอย่างปลาไหล แกงเลียงนพเก้า แกงหมูตะพาบน้ำ แกงส้มชะอมชุบไข่ แกงขี้เหล็ก แกงแคไก่ แกงเป็ดสดพริกไทยอ่อน พะแนงเนื้อ หมูอบน้ำแดง แกงเหลือง แกงไตปลา ผัดสะตอ คั่วกลิ้ง หมี่กรอบ ห่อหมกปลากราย ปลาทูต้มเค็มอย่างเนื้อแข็งก้างเปื่อย พริกขิง ปลาช่อนทอดกรอบ พริกขิงเครื่องทอด ประเภทน้ำพริก น้ำพริกปลากรอบ น้ำพริกมะดันผัด น้ำพริกมะขามสดผัด น้ำพริกมะม่วง น้ำพริกกระท้อน น้ำพริกมะกรูด พริกขิงตามเสด็จ ที่เรียกพริกขิงตามเสด็จ เพราะไม่ว่ารัชกาลที่ ๕ จะเสด็จประพาสหัวเมืองใด น้ำพริกจะต้องตามเสด็จทุกครั้งขาดมิได้ นอกจากนี้มี น้ำพริกเต้าหู้ยี้ น้ำพริกลงเรือ น้ำพริกลูกหนำเลี้ยบ น้ำพริกอ่อง น้ำพริก มะพร้าวเนื้อเค็มสด น้ำพริกระกำ กะปิคั่ว หลนปลาร้า ปลาร้าทรงเครื่อง ปูเค็มคั่ว แสร้งว่ากุ้ง ประเภทยำ ยำปลาทูนึ่งไข่ดาว ยำหัวปลี ยำไก่อย่างเต่า ยำถั่วพู ยำทะวาย |
แกงหมูตะพาบน้ำ |
พระรามลงสรง |
สะเต๊ะลือ |
ตำรับท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร |
|
ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร เป็นธิดาของหมื่นนราอักษร (ปิ่น) มารดาชื่อ หุ่น สมรสกับเจ้าพระยามหิธร (ลออ ไกรฤกษ์) ท่านเป็นผู้ที่มีความสามารถในการทำอาหาร ตำรับท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร เป็นตำรับอาหารลักษณะของชาววัง และมีการผสมผสานอาหารหลากหลายเชื้อชาติ ได้แก่ อาหารจีน อาหารแขก อาหารลาว และอาหารฝรั่ง ทำให้เป็นตำรับอาหารที่มีเอกลักษณ์เด่นเฉพาะตัว และได้ถ่ายทอด ความรู้ในการทำอาหารดังกล่าวให้แก่ ลูกหลาน และเป็นมรดกของตระกูลไกรฤกษ์อีกด้วย อาหารตำรับท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร เช่น แกงบวน แกงนครศรีธรรมราช ม้าฮ่อ ไก่กาละหม่า ข้าวมันส้มตำ ไข่อ้ายโม่ง ยำเกสรชมพู่ และสลัดมรุพงศ์ . . . |
แกงบวน |
ยำเกสรชมพู่ |
ไก่กาละหม่า |
ม้าฮ่อ |