ห้องสมุดเฉพาะ

for w3c
ภาพตัวอย่าง

NLT Smart Library

                Smart Library เป็นห้องสมุดไร้หนังสือของหอสมุดแห่งชาติ เน้นการให้บริการการอ่านด้วยเทคโนโลยีผ่านทางออนไลน์ โดยผู้ใช้บริการสามารถเชื่อมต่อกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของหอสมุดแห่งชาติเพื่อใช้บริการดิจิทัลของหอสมุดแห่งชาติผ่านทาง Smartphone หรือ Tablet   บริการของ NLT Smart Library           ♦ บริการสืบค้นรายการทรัพยากรสารสนเทศของหอสมุดแห่งชาติที่มีมากกว่า 2,000,000 รายการ ผ่านระบบ Single Search ทาง www.nlt.go.th             ♦ NLT Library แอปพลิเคชันของหอสมุดแห่งชาติ ที่สามารถสืบค้นทรัพยากรสารสนเทศจากฐานข้อมูลต่างๆ ของหอสมุดแห่งชาติ (ฐานข้อมูลบรรณานุกรมของหอสมุดแห่งชาติ Single Search ฐานข้อมูลห้องสมุดดิจิทัล D-Library) หนังสือหายากอิเล็กทรอนิกส์ ข่าวสารประชาสัมพันธ์ ซึ่งรองรับการใช้งานทั้งระบบ Android IOS และทางเว็บไซต์           ♦ ห้องสมุดดิจิทัลหอสมุดแห่งชาติ (D-Library) บริการทรัพยากรสารสนเทศฉบับเต็มมากกว่า 17,000 รายการ โดยแบ่งเป็น 14 คอลเล็คชัน เช่น หนังสือหายาก หนังสือพิมพ์เก่า เอกสารโบราณ หนังสือท้องถิ่น ภาพถ่ายเก่า หนังสือองค์ความรู้ของหอสมุดแห่งชาติ เป็นต้น โดยสามารถสืบค้นและอ่านเอกสารฉบับเต็มได้ผ่านทาง http://164.115.27.97/digital/             ♦ หนังสือหายากอิเล็กทรอนิกส์กว่า 1,000 รายการ โดยสามารถสืบค้นและอ่านได้ผ่านทาง mobile.nlt.go.th             ♦ ระบบสารสนเทศทางด้านมรดกศิลปวัฒนธรรมเพื่อประชาชนทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) บริการขอเลข ISBN ISSN และจดแจ้งการพิมพ์ผ่านทางเว็บไซต์ https://e-service.nlt.go.th/ นอกจากนี้ยังสามารถสืบค้นหนังสือและวารสารที่มีการขอเลข ISBN ISSN และจดแจ้งการพิมพ์ เพื่อตรวจสอบข้อมูลได้อีกด้วย สืบค้นข้อมูลวารสารทั่วโลก ผ่านทาง portal.issn.org           ♦ บริการนิตยสารและหนังสือพิมพ์ออนไลน์ฉบับเต็ม (ภาษาไทย) โดยมีหนังสือพิมพ์ 7 ชื่อเรื่องและนิตยสาร 11 ชื่อเรื่อง โดยสามารถเข้าถึงได้ผ่านทางแอปพลิเคชัน หรือผ่านทางเว็บไซต์ https://elibrary-nlt.hibrary.me/           ♦ บริการฐานข้อมูลออนไลน์ ซึ่งรวบรวมบทความ ข่าว จากนิตยสาร วารสาร หนังสือพิมพ์ (ภาษาอังกฤษ) ครอบคลุมทุกสาขาวิชา อาทิ ด้านสังคมศาสตร์ เทคโนโลยี และสาขาอื่นๆ อีกมากมาย รวมถึงแหล่งข้อมูลปฐมภูมิ เอกสารหายาก และฐานข้อมูลวรรณกรรม โดยสามารถเข้าถึงได้ผ่านทางเว็บไซต์ https://go.gale.com/ps/start.do?p=GPS&u=thnlt           ♦ บริการหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ เป็นหนังสือใหม่ที่หอสมุดแห่งชาติจัดหาไว้เพื่อบริการผู้ใช้ โดยมีจำนวนหนังสือมากกว่า 2,700 ชื่อเรื่อง โดยสามารถเข้าถึงได้ผ่านทางแอปพลิเคชัน หรือผ่านทางเว็บไซต์ https://www.2ebook.com/new/library/index/nlt             ♦ QR Code Station เป็นการดาวน์โหลดหนังสือที่น่าสนใจ รวมถึงข้อมูลคู่มือและวิธีการใช้งานฐานข้อมูลต่างๆ ที่สามารถเข้าถึงได้ผ่านทาง QR Code ใน NLT Smart Library                      ♦ Co-Working Space พื้นที่สำหรับประชาชนทุกช่วงวัยใช้ในการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ทำการบ้าน ทำงาน อ่านหนังสือ ประชุมกลุ่ม เป็นต้น   บริการพิเศษของ NLT Smart Library           ♦ The Reader "เธอคือนักอ่าน" เป็นโครงการที่หอสมุดแห่งชาติคัดเลือกหนังสือดี น่าอ่าน หลากหลายเรื่อง และเปิดโอกาสให้ผู้สนใจสามารถยืมไปอ่านที่บ้านได้ โดยสามารถยืมได้คนละ 1 เล่มในระยะเวลา 1 เดือน ทั้งนี้ผู้สนใจสามารถยืมหนังสือได้ 2 ช่องทาง คือ           1) เลือกและยืมหนังสือด้วยตนเองที่ NLT Smart Library           2) เลือกและยืมผ่านลิงก์ https://forms.gle/ubbS7tccTC9HLJUs5 โดยหอสมุดแห่งชาติจะจัดส่งหนังสือให้ถึงบ้านทางไปรษณีย์    เปิดให้บริการ           ♦ วันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 06.30 น. – 18.30 น.           ♦ วันเสาร์ – อาทิตย์ เวลา 09.00 น. – 17.00 นปิดให้บริการ    ♦ วันหยุดนักขัตฤกษ์และวันหยุดตามมติคณะรัฐมนตรี  

ภาพตัวอย่าง

หอสมุดแห่งชาติเขตลาดกระบัง เฉลิมพระเกียรติ

        หอสมุดแห่งชาติเขตลาดกระบัง เฉลิมพระเกียรติ เป็นหอสมุดแห่งชาติสาขาสี่มุมเมืองสาขาแรก ของสำนักหอสมุดแห่งชาติ  กรมศิลปากร ตั้งอยู่บนถนนหลวงพรตพิทยพยัต เขตลาดกระบัง ใกล้สถานีรถไฟ หัวตะเข้ ติดโรงเรียนพรตพิทยพยัต วิทยาลัยช่างศิลป์ และสถาบันเทคโนโลยีเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ความเป็นมา คณะกรรมการพัฒนาหอสมุดแห่งชาติ สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร มีมติเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๘ ที่จะสร้างหอสมุดแห่งชาติสี่มุมเมืองบนพื้นที่รอบนอกของกรุงเทพมหานครในตำแหน่งต่างๆ เพื่อให้บริการความรู้แก่ประชาชนทั่วไปได้อย่างทั่วถึงอันเนื่องมาจากการขยายตัวของประชากรและขยายโอกาสให้ประชาชนในเขตต่างๆ ของกรุงเทพมหานครได้มีสถานศึกษาค้นคว้าอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่ต้องมุ่งไปใช้บริการเพียงแห่งเดียวที่สำนักหอสมุดแห่งชาติ ถนนสามเสน นอกจากนี้ยังเป็นการช่วยผ่อนคลายความคับคั่งของการจราจรในกรุงเทพมหานครและเพิ่มแหล่งข้อมูลสำคัญที่เป็นมรดกภูมิปัญญาของประเทศไทยให้ประชาชนได้มีโอกาสเข้าถึงได้อย่างสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบในหลักการของโครงการ ตั้งแต่วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๓๖ และในปี ๒๕๓๙ จึงเริ่มตำเนินโครงการแห่งแรก ณ บริเวณพื้นที่เขตลาดกระบัง ซึ่งเป็นมุมเมืองด้านทิศตะวันออกของกรุงเทพมหานคร หลังจากก่อสร้างเสร็จได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าพระราชทานชื่อ “หอสมุดแห่งชาติเขตลาดกระบัง เฉลิมพระเกียรติ” พร้อมทั้งให้ประดิษฐานตราสัญลักษณ์งานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี ที่ป้ายชื่ออาคาร เมื่อวันที่ ๘ เมษายน ๒๕๔๐ เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๔๒         หอสมุดแห่งชาติเขตลาดกระบัง เฉลิมพระเกียรติ ตั้งอยู่บนพื้นที่ ๕ ไร่ เป็นอาคารทรงไทยประยุกต์ ๓ ชั้น มีอาคารจำลองหอไตรกลางน้ำเชื่อมต่อกันอีก ๑ หลัง ให้บริการทรัพยากรสารสนเทศทุกประเภท นอกจากนี้สถานที่ยังมีความสงบร่มเย็นจากสวนไม้ยืนต้น ไม้ดอก ไม้ประดับ ปราศจากมลภาวะ เป็นสถานที่พักผ่อนและศึกษาหาความรู้สำหรับชีวิตคนกรุงที่ไม่มีเวลาไปพักผ่อนไกลๆ ได้อีกทางหนึ่งด้วย   เวลาบริการ       วันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา ๘.๓๐ น. – ๑๖.๓๐ น.   การเดินทาง       รถไฟ ลงที่สถานีรถไฟหัวตะเข้          ♦ สายตะวันออก จากสถานีกรุงเทพฯ (หัวลำโพง)          ♦ สายชานเมือง (รังสิต-หัวตะเข้)         รถโดยสารประจำทาง ลงที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง          ♦ สาย ๑๐๑๓ ต้นทางซอยสุขุมวิท ๗๗ (อ่อนนุช)- หัวตะเข้          ♦ สาย ๑๔๓ ต้นทางศูนย์การค้าแฮปปี้แลนด์-หัวตะเข้          ♦ สาย ๕๑๗ สวนจตุจักร – หัวตะเข้         รถตู้ ลงที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง          ♦ เดอะมอลล์ (บางกะปิ) – ลาดกระบัง          ♦ สวนจตุจักร – ลาดกระบัง          ♦ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ – ลาดกระบัง          ♦ เดอะมอลล์ (งามวงศ์วาน) – ลาดกระบัง          ♦ มีนบุรี – ลาดกระบัง                                       

ภาพตัวอย่าง

ห้องสมุดดนตรีทูลกระหม่อมสิรินธร

  ประวัติ       ห้องสมุดดนตรีทูลกระหม่อมสิรินธร จัดสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสที่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมพรรษา ครบ ๓ รอบ เมื่อวันที่ ๒ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๓๔ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่ออนุรักษ์ต้นฉบับเพลงไทย และเพลงสากล ไว้เป็นมรดกสมบัติทางวัฒนธรรมของชาติ และเป็นแหล่งข้อมูลทางวิชาการดนตรี อันจะอำนวยประโยชน์แก่ประชาชนและเยาวชนของชาติ ในการศึกษาค้นคว้าเรื่องดนตรีไทยและดนตรีสากล สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน ทรงประกอบพิธิเปิดอาคารห้องสมุดดนตรี “ทูลกระหม่อมสิรินธร” ณ หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี กรุงเทพมหานคร วันศุกร์ที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๓๗   วัตถุประสงค์        ♦ เพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเป็นพระราชกุศลในมหามงคลวโรกาสที่ทรงพระเจริญพระชันษา ครบ ๓ รอบ          ♦ เพื่ออนุรักษ์เพลงไทย ไทยสากล ลูกทุ่ง และเพลงพื้นเมือง ไว้เป็นสมบัติของชาติ          ♦ เพื่ออนุรักษ์มรดกศิลปวัฒนธรรมด้านดนตรีและส่งเสริมพัฒนาการด้านดนตรีให้สืบทอดถึงปัจจุบัน          ♦ เพื่อเป็นศูนย์ข้อมูลวิชาการดนตรีสำหรับใช้ศึกษาค้นคว้า วิจัย ดนตรีไทย ไทยสากล ไทยลูกทุ่ง และเพลงพื้นเมือง แผ่นเสียง วีดิทัศน์ และสื่อเสียงประเภทอื่น ๆ โดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์ในการค้นหาข้อมูล          ♦ เป็นศูนย์กลางการประสานงานกับองค์กรและสมาคม ทังภาครัฐบาล และภาคเอกชน          ♦ ส่งเสริมให้ประชาชน รัก สนใจ เห็นคุณค่า และนิยมเพลงไทย          ♦ เผยแพร่กิจกรรมดนตรีไทย ไทยสากล ไทยลูกทุ่ง และเพลงพื้นเมืองให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป เกิดความซาบซึ้งในดนตรี          ♦ เพื่อเป็นแหล่งผลิตข้อมูลวิชาการทางดนตรีหร้อมที่จะเผยแพร่ และเชื่อมโยงกับห้องสมุดดนตรีแหล่งอื่น ๆ ที่มีและจะเกิดขึ้นใหม่ในอนาคต   ห้องสมุดดนตรีทูลกระหม่อมสิรินธร จัดแบ่งห้องต่าง ๆ ภายในอาคาร ดังนี้       ชั้นที่ ๑ ห้องท่านผู้หญิงพวงร้อย อภัยวงศ์ - ปัจจุบันรอการปรับปรุงพื้นที่ เป็นห้องจัดแสดง รวบรวมประวัติและผลงาน ของครูเพลง นอกจากนี้ยังจัดแสดงเปียโนจุฑาธุช เป็นเปียโน ๒ หน้า มีหลังเดียวในประเทศไทย         ชั้นที่ ๒ ให้บริการ ๓ ส่วน(เดิมกั้นห้อง)แบ่งเป็น ห้องมนตรีตราโมท ห้องพระเจนดุริยางค์ ห้องสมุดดนตรีทูนกระหม่อมบริพัตร ปัจจุบันได้ปรับปรุงห้องเป็นพื้นที่เชื่อมต่อกันเป็นส่วนต่าง ๆ บริการ ดังนี้          ♦ ให้บริการหนังสือ (เดิมเป็นห้องมนตรี ตราโมท) วารสาร รูปภาพ และโน้ตเพลง ทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ          ♦ ให้บริการโน้ตเพลง (เดิมเป็นห้องพระเจนดุริยางค์)                ♦ ให้บริการสื่อโสตทัศน์ และระบบสืบค้นด้วยคอมพิวเตอร์ (เดิมเป็นห้องสมุดดนตรีทูนกระหม่อมบริพัตร)      ชั้นที่ ๓          ♦ ห้องพลตรีหลวงวิจิตรวาทการ ประวัติและผลงานต่าง ๆ ได้รับการนำเข้าข้อมูลเป็นดิจิตอล สามารถสืบค้นได้ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ที่ห้องบริการสืบค้น(ปัจจุบันเป็นห้องรวบรวมและจัดเก็บข้อมูลของเจ้าหน้าที่)          ♦ ห้องทูลกระหม่อมสิรินธร ปัจจุบันรอการปรับปรุงพื้นที่ โดยย้ายสื่อโสตทัศน์ เช่น แผ่นเสียง เทปรีล โน้ตเพลงต้นฉบับ ไปจัดเก็บที่ห้องอนุรักษ์แผ่นเสียง ชั้น ๔ อาคาร ๒          ♦ ห้องปฎิบัติการ เป็นห้องสำหรับเจ้าหน้าที่ปฎิบัติงานถ่ายทำวีดิทัศน์ บันทึกสียงและทำสำเนาแปลงถ่ายโอนข้อมูลสื่อโสตทัศน์จากระบบอนาล็อกสู่ระบบดิจิทัล

ภาพตัวอย่าง

หอสมุดดนตรีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙

        เนื่องในวโรกาสเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติ ครบ ๕๐ ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ คณะนักดนตรีวงดนตรี อ.ส.วันศุกร์ ได้รับพระบรมราชานุญาตให้จัดสร้างหอสมุดดนตรีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ขึ้น โดยได้รับเงินสนับสนุนจากนายเจริญ และคุณหญิงวรรณา  สิริวัฒนภักดิ ผู้สำนึกในพระปรีชาสามารถทางดนตรีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทูลเกล้าฯ  ถวายเป็นเงิน ๑๕ ล้านบาท โดยก่อสร้างอาคารต่อเชือมกับอาคารห้องสมุดดนตรีทูลกระหม่อมสิรินธร ขยายออกไปทางทิศตะวันตก เป็นอาคาร ๓ ชั้น ชั้นล่างโล่งให้รถยนต์ผ่านเข้า-ออกได้ ชั้น ๒ เป็นห้องบริการศึกษาค้นคว้าเพลงพระราชพิพนธ์และพระราชกรณียกิจด้านดนตรี ตลอดจนรวบรวมแผ่นเสียง แถบบันทึกเสียง แผ่นซีดี วีดีทัศน์ รวมทั้งสื่อโสตฯ อื่น ๆ และโน้ตเพลงพระราชนิพนธ์ที่สมบูรณ์ ส่วนชั้น ๓ เป็นห้องจัดแสดงและบรรเลง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธเปิด “หอสมุดดนตรีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙” ในวันพฤหัสบดีที่ ๒๔ เมษายน พ.ศ.๒๕๔๐ วัตถุประสงค์ของการจัดสร้าง        ♦ เพื่อร่วมเฉลิมฉลองในวโรกาสครองสิริราชสมบัติ ครบ ๕๐ ปี ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ ๙          ♦ เพื่อเป็นศูนย์รวบรวมเพลงพระราชนิพนธ์ทุกรูปแบบ ทั้งในลักษณะของสื่อโสตทัศน์ หนังสือ เอกสาร และโน้ตเพลง          ♦ เพื่อเผยแพร่เพลงพระราชนิพนธ์ให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ได้เข้าศึกษาค้นคว้าข้อมูลที่ถูกต้องและสมบูรณ์          ♦ เพื่อเป็นศูนย์ค้นคว้าวิชาการทางด้านดนตรีและให้ความสุขความบันเทิง แก่เยาวชนและประชาชนทุกระดับชั้น   สื่อที่ให้บริการ       หนังสือ เอกสาร รูปภาพ และโน้ตเพลง แผ่นซีดี แผ่นดีวีดี วีดิทัศน์ และแผ่นเสียง   การจัดแบ่งห้องต่าง ๆ ภายในหอสมุดดนตรีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙        ♦ ชั้น ๑ ส่วนเชื่อมต่ออาคารห้องสมุดดนตรีทูลกระหม่อมสิรินธร และโถงบันไดทางขึ้น          ♦ ชั้น ๒ ห้องศูนย์ศึกษาการดนตรี จัดแสดงศีรษะครูนาฏศิลป์และดนตรี (พระพิฆเนศร์พระพิราพ และพ่อครูฤษี) จัดแสดงกระบอกเสียง แผ่นเสียง เครื่องเล่นแผ่นเสียงหนังสือเพลงพระราชนิพนธ์ โน้ตเพลงพระราชนิพนธ์(ลายพระหัตถ์)โน้ตเพลงพระราชนิพนธ์จัดพิมพ์ครั้งแรก                ♦ ชั้น ๓ ห้องจัดแสดงเดิม สำหรับจัดประชุมกลุ่มย่อม จัดเลี้ยงสำหรับการจัดแสดงดนตรี   หอสมุดดนตรีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ อาคาร ๒       ในปี พ.ศ.๒๕๕๒ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม จัดสร้างอาคารหอสมุดแห่งชาติเป็นอาคาร ๕ ชั้น เพื่อขยายการให้บริการของหอสมุดดนตรี ในการกรมศิลปากรได้จัดส่วนด้านขวาของตัวอาคารทั้ง ๕ ชั้น เป็นส่วนของการให้บริการของหอสมุดดนตรีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ เพื่อร่วมเฉลิมฉลองในวโรกาสครองสิริราชสมบัติ ครบ ๖๐ ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙   การจัดแบ่งห้องต่าง ๆ ภายในหอสมุดดนตรีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ อาคาร ๒       ทางเข้าหอสมุดดนตรีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙          ♦ ห้องเฉลิมพระเกียรติ จัดแสดงพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ จัดแสดงนิทรรศการเพลงพระราชนิพนธ์ และในรูปแบบสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อโสตทัศน์              ♦ ชั้น ๑ ห้องบริการเพลงพระราชนิพนธ์ ให้บริการศึกษาค้นคว้าเพลงพระราชนิพนธ์ พระราช-กรณียกิจด้านดนตรี โน้ตเพลงพระราชนิพนธ์และบริการสืบค้นด้วยระบคอมพิวเตอร์              ♦ ชั้น ๒ ห้องจัดแสดงดนตรี                                                                                                            ♦ ชั้น ๓ ห้องควบคุมเสียง ควบคุมระบบไฟฟ้า          ♦ ชั้น ๔ ห้องอนุรักษ์แผ่นเสียง          ♦ ชั้น ๕ มูลนิธิหอสมุดดนตรีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕

ภาพตัวอย่าง

หอสมุดดำรงราชานุภาพ

        หอสมุดดำรงราชานุภาพเป็นห้องสมุดอนุสรณ์แด่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ผู้ทรงเป็นพระบิดาแห่งประวัติศาสตร์และโบราณคดีพระองค์แรกของประเทศไทย ทรงได้รับการยกย่องจากองค์การ UNESCO ในปี พ.ศ. 2505 ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก         หอสมุดดำรงราชานุภาพ เดิมเป็นหน่วยงานหนึ่งรวมอยู่ในกองวรรณคดี กรมศิลปากร ตั้งอยู่ตรงที่ว่างระหว่างหอพระสมุดวชิรญาณ ตึกถาวรวัตถุ)กับวัดมหาธาตุยุวราษฎร์รังสฤษดิ์ เป็นอาคารทรงไทยชั้นเดียว มีเนื้อที่ประมาณ 168 ตารางวา         หอสมุดดำรงราชานุภาพเปิดให้บริการมาตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2490 ซึ่งตรงกับ วันคล้ายวันประสูติของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในขณะนั้นศาสตราจารย์พระยาอนุมานราชธน ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากร ต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการกรมศิลปากรใหม่ เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2495 กองวรรณคดีเปลี่ยนชื่อเป็น กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ หอสมุดดำรงราชานุภาพมีฐานะเป็นแผนกหนึ่งของกองวรรณคดีและประวัติศาสตร์         ครั้นถึงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2504 มีการแบ่งส่วนราชการกรมศิลปากรใหม่อีกครั้ง โดยแยกหอสมุดวชิราวุธ หอสมุดวชิรญาณ และหอสมุดดำรงราชานุภาพ ออกจากกองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ ไปตั้งเป็นหอสมุดแห่งชาติ และแบ่งเป็น 3 แผนก คือ แผนกหอสมุด แผนกหนังสือตัวพิมพ์ และแผนกหนังสือตัวเขียนและจารึก หอสมุดดำรงราชานุภาพ รวมอยู่ในแผนกหอสมุดตั้งแต่นั้นมา         ปัจจุบันหอสมุดดำรงราชานุภาพเป็นอาคาร 3 ชั้น ทรงยุโรป ตั้งอยู้บริเวณวังวรดิส เป็นห้องสมุดที่เก็บรวบรวมหนังสือหายากซึ่งพระองค์ทรงสะสมไว้ทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ ประมาณ 7,000 เล่ม เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิสกุล ซึ่งเป็นทายาทองค์หนึ่งได้รับมรดกส่วนที่เป็นหนังสือทั้งหมด รวมทั้งสิ่งของมีค่าต่างๆ ตลอดจนภาพถ่ายส่วนพระองค์ และได้ประทานให้เป็นสมบัติของชาติ โดยขอให้กรมศิลปากรจัดตั้งเป็นห้องสมุดเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่พระบิดาให้คงอยู่คู่ประเทศชาติต่อไป หอสมุดดำรงราชานุภาพที่ตั้ง : 182 ถนนหลานหลวง เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100 ติดต่อ : โทร. 0-2282-9110 ,0-2241-7577 ,0-2281-2133 โทรสาร. 0-2282-9100 เปิดบริการ :  วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 8.30-16.30 น. ปิดบริการ  :  วันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดตามประกาศของทางรชการ

ภาพตัวอย่าง

หอวชิราวุธานุสรณ์

        ม.ล.ปิ่น มาลากุล ได้ริเริ่มก่อตั้งหอวชิราวุธานุสรณ์ขึ้นเพื่อฉลองวันพระบรมราชสมภพครบ 100 ปีของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวันที่ 1 มกราคม 2524 และเพื่อเป็นแหล่งค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับต้นฉบับ ลายพระราชหัตถ์ พระราชประวัติ พระราชนิพนธ์ พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ตลอดจนเรื่องอื่นๆที่เกี่ยวข้อง สำหรับนักเรียน นักศึกษาและประชาชนที่สนใจต้องการศึกษาม.ล.ปิ่น มาลากุล ได้ริเริ่มก่อตั้งหอวชิราวุธานุสรณ์ขึ้นเพื่อฉลองวันพระบรมราชสมภพครบ 100 ปีของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวันที่ 1 มกราคม 2524 และเพื่อเป็นแหล่งค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับต้นฉบับ ลายพระราชหัตถ์ พระราชประวัติ พระราชนิพนธ์ พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ตลอดจนเรื่องอื่นๆที่เกี่ยวข้อง สำหรับนักเรียน นักศึกษาและประชาชนที่สนใจต้องการศึกษา         หอวชิราวุธานุสรณ์ตั้งอยู่บริเวณภายในรั้วหอสมุดแห่งชาติ เป็นลักษณะอาคารทรงไทย 4 ชั้น และได้ปรับปรุงภายในเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2557 ปัจจุบันมีพื้นที่ใช้สอยดังนี้         ♦ ชั้นที่ 1 ห้องโถงสำหรับจัดนิทรรศการ ห้องประชุมศรีอยุธยา และสำนักงานมูลนิธิฯ รัชกาลที่ 6       ♦ ชั้นที่ 2 ห้องสมุดรามจิตติ ห้องประชุมขนาดเล็ก และสำนักงานมูลนิธิฯ รัชกาลที่ 2       ♦ ชั้นที่ 3 พระบรมราชะประทรรศนีย์ สถานธีรนิทรรศน์        ♦ ชั้นที่ 4 อยู่ระหว่างปรับปรุงซ่อมแซมเพื่อจัดทำเป็นนิทรรศการถาวร         ห้องสมุดภายในของหอวชิราวุธานุสรณ์ มีชื่อห้องว่าห้องสมุดรามจิตติ ซึ่งตั้งมาจากพระนามแฝงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เป็นห้องสมุดเฉพาะที่รวบรวมพระราชประวัติ พระราชนิพนธ์ พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ตลอดจนเรื่องอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ส่วนใหญ่ให้บริการทรัพยากรสารสนเทศประเภทสิ่งพิมพ์ คือ หนังสือ วารสาร นิตยสารมีจำนวนมากกว่า 10,000 เล่มซึ่งได้รับมาจากกลุ่มพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศ และการบริจาค มีคอลเล็คชั่นพิเศษที่นอกเหนือจากหนังสือทั่วไป ได้แก่          ♦ คอลเล็คชั่นม.ล.ปิ่น มาลากุล เป็นคอลเล็คชั่นที่รวบรวมหนังสือที่ม.ล.ปิ่น มาลากุลแต่งขึ้น ให้สัญลักษณ์พิเศษคือ ติดแถบสีแดง          ♦ คอลเล็คชั่น หนังสืองานศพ ให้สัญลักษณ์พิเศษคือ ติดแถบดำจัดเรียงตามตัวอักษรชื่อผู้ตาย          ♦ สำเนาลายพระราชหัตถ์ เป็นเอกสารสำเนาพระราชนิพนธ์ต่างๆที่เป็นลายพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 มีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ จัดเรียงตามตัวอักษรชื่อหนังสือ          ♦ สำเนาบัตรนามสกุลพระราชทานของรัชกาลที่ 6 ฉบับลายพระราชหัตถ์ อันได้มาจากการบริจาคของต้นตระกูลต่างๆ จัดเรียงตามตัวอักษร ก-ฮ ซึ่งผู้ใช้บริการสามารถค้นคว้าและถ่ายเอกสารสำเนาบัตรนามสกุลพระราชทานได้ ขณะนี้มีจำนวนประมาณ 732 นามสกุล         นอกจากนี้หอวชิราวุธานุสรณ์ยังจัดกิจกรรมโครงการฯทวีปัญญา เพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และส่งเสริมการอ่าน การเรียนรู้ โดยนำพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 มาเผยแพร่ในรูปแบบการอภิปราย การเสวนา การแสดงต่างๆ เช่น การแสดงลิเกทรงเครื่อง การขับเสภา เป็นต้น มีกำหนดการจัดกิจกรรมปีละ 2 ครั้ง   หอวชิราวุธานุสรณ์ให้บริการการอ่านและศึกษาค้นคว้าพระราชนิพนธ์และเรื่องที่เกี่ยวเนื่องในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว   ที่ตั้ง : ตั้งอยู่ในบริเวณหอสมุดแห่งชาติ ถนนสามเสน กรุงเทพมหานครติดต่อ : โทร. 0-2282-3264, 0-2282-3419เวลาทำการ :  เปิดบริการวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 09.00 - 16.30 น. ปิดบริการ : วันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์    

ภาพตัวอย่าง

อาคารนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

        อาคารนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อยู่ภายในตึกถาวรวัตถุที่สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. ๒๕๔๐ รัฐบาลมีโครงการบูรณะปรับปรุงตึกถาวรวัตถุ เพื่อเป็นหอเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในโอกาสเสด็จประพาสยุโรป ครบ ๑๐๐ ปี และได้เปิด หอเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นสถานที่ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและจัดนิทรรศการถาวร แสดงพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจ เปิดให้เข้าชมอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๑ อาคารนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพ.ศ. ๒๕๕๓ กรมศิลปากรได้ปรับปรุงนิทรรศการในตึกถาวรวัตถุอีกวาระหนึ่ง เพื่อเป็นนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาส ๑๐๐ ปี แห่งการสวรรคต         อาคารนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(ตึกถาวรวัตถุ)จัดขึ้นเนื่องในโอกาส ๑๐๐ ปีแห่งการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ๒๓ ตุลาคม ๒๕๕๓ เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ ๕ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ที่ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจอันยิ่งใหญ่ในการปฏิรูปประเทศทุกด้าน เพื่อให้ไทยรักษาเอกราชไว้ได้ และเพื่อความเป็นประเทศที่เจริญและทันสมัย อาคารนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เปิดให้บริการ วันพุธถึงวันอาทิตย์ เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๖.๐๐ น. หยุดวันจันทร์และวันอังคาร

ภาพตัวอย่าง

หอสมุดปิยมหาราชรฦก

        หอสมุดปิยมหาราชรฦกเป็นศูนย์ข้อมูลสำหรับการศึกษา ค้นคว้า วิจัย  พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในด้านต่าง ๆ  เช่น การบริหารราชการแผ่นดิน ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ ฯลฯ รวมทั้งการศึกษาประวัติศาสตร์ โบราณคดี  ศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี และวิถีชีวิตไทยนัชกาล นอกจากนั้นยังเป็นการระลึกถึงความเป็นพื้นที่ ประวัติศาสตร์ของตึกถาวรวัตถุที่ครั้งหนึ่งเป็นหอพระสมุดสำหรับพระนคร ซึ่งครบรอบ ๙๙ ปี ในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิด หอสมุดปิยมหาราชรฦก เมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๕๘   หนังสือในหอสมุดปิยมหาราชรฦก ประกอบด้วย        ♦ หนังสือพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว          ♦ หนังสือพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว          ♦ หนังสือที่เกี่ยวข้องกับจุฬาลงกรณ์ราชสันตติวงศ์          ♦ หนังสือที่เกี่ยวข้องกับมหามกุฎราชสันตติวงศ์   การให้บริการ ห้องสมุดปิยมหาราชรฦก แบ่งเป็น 3 ห้องคือ          ♦ ห้องบริการหนังสือใหม่ ให้บริการหนังสือที่จัดพิมพ์ขึ้นใหม่ ซึ่งเนื้อหาเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในทุกด้านทั้งที่เป็นพระราชนิพนธ์ และหนังสือที่เขียนขึ้นโดยบุคคลอื่น วิทยานิพนธ์รวมทั้งภาพถ่ายและแผนที่          ♦ ห้องบริการหนังสือหายากให้บริการหนังสือที่จัดพิมพ์ขึ้นในรัชกาลที่ ๕-๗ ซึ่งเกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เช่น พระราชนิพนธ์ที่จัดพิมพ์ครั้งแรก หนังสือของหอพระสมุด วชิรญาณ สมุดไทย ราชกิจจานุเบกษา และเอกสาร การบริหารราชการแผ่นดินที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก ฯลฯ ผู้ใช้บริการต้องติดต่อขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่ก่อนเข้าใช้บริการ          ♦ ห้องบริการระบบสืบค้นข้อมูลและสื่อโสตทัศน์ ได้แก่ การให้บริการ D-Library การสืบค้นฐานข้อมูล ห้องสมุดอัตโนมัติ และการสืบค้นฐานข้อมูลพระปิยมหาราชจากคอมพิวเตอร์สืบค้นข้อมูล ซึ่งขณะนี้มีหนังสือให้บริการ รวม ๔,๕๐๐ เล่ม หอสมุดปิยมหาราชรฦก เปิดให้บริการแก่ประชาชนทั่วไป ทุกวันพุธถึงวันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๖.๓๐ น. หยุดวันจันทร์ วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์

ภาพตัวอย่าง

ศูนย์นราธิปเพื่อการวิจัยทางสังคมศาสตร์

        ศูนย์นราธิปเพื่อการวิจัยทางสังคมศาสตร์จัดตั้งขึ้นจากความร่วมมือของราชสกุล และ “ธนาคารกรุงเทพจำกัด” เพื่อเทิดพระเกียรติพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์และศาสตราจารย์ พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ในฐานะที่ทั้งสองพระองค์ได้ทรงมีส่วนสำคัญยิ่งในการวางรากฐานการศึกษาวิจัยทางสังคมศาสตร์ขึ้นในประเทศไทย อีกทั้งเพื่อเป็นศูนย์บริการเอกสารทางการวิจัยด้านสังคมศาสตร์         กรมศิลปากรได้ดำเนินการปรับปรุงสถานที่ส่วนหนึ่งของตึกถาวรวัตถุ บริเวณถนนหน้าพระธาตุให้เป็นที่ทำการโดยธนาคารกรุงเทพจำกัดได้จัดสรรเงินสำหรับปรับปรุงอาคารวัสดุครุภัณฑ์ต่างๆตลอดจนจ้างลูกจ้างชั่วคราวสำหรับปฏิบัติงานในศูนย์นราธิปเพื่อการวิจัยด้านสังคมศาสตร์ เป็นเงิน ๓๐๐,๐๐๐.บาทเศษ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงพระกรุณาเสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดศูนย์นราธิปเพื่อการวิจัยทางสังคมศาสตร์เมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๒๒         ต่อมาได้ย้ายไปบริการ ณ อาคารราชบัณฑิตเดิมอยู่ระหว่างอาคารถาวรวัตถุกับวัดมหาธาตุฯ ตั้งแต่ ๒๕๓๑ - ปัจจุบัน   การให้บริการ ศูนย์นราธิปเพื่อการวิจัยทางสังคมศาสตร์จัดระบบหนังสือเป็นระบบทศนิยมดิวอี้ สิ่งพิมพ์ที่ให้บริการประกอบ        ♦ หนังสือพระนิพนธ์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ มีทั้งบทละครและอื่นๆ          ♦ หนังสือพระนิพนธ์และหนังสือส่วนพระองค์ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์          ♦ หนังสือและเอกสารที่ ศาสตราจารย์บุญชนะ อัตถากร มอบให้เป็นสมบัติของศูนย์นราธิปฯ          ♦ หนังสือทั่วไปทางด้านสังคมศาสตร์ สาขารัฐศาสตร์ การเมืองการปกครอง กฎหมาย ภาษาศาสตร์งานนิพนธ์และงานเขียนของบุคคลในราชสกุลวรวรรณ ศูนย์นราธิปเพื่อการวิจัยทางสังคมศาสตร์ เปิดบริการทุกวันพุธ – อาทิตย์ เวลา ๐๙.๐๐–๑๖.๓๐ น. ปิดบริการวันจันทร์ – อังคารและวันหยุดตามประกาศของทางราชการ

ภาพตัวอย่าง

คลังสิ่งพิมพ์

     คลังสิ่งพิมพ์มีมาตั้งแต่หอสมุดสำหรับพระนคร ตามที่พระยาอนุมานราชธนกล่าวไว้ในเรื่องสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพและหอสมุดแห่งชาติ  ความว่า “หอสมุดสำหรับพระนครจัดแบ่งหอสมุดออกเป็น 2 หอ คือ หอพระสมุดวชิรญาณหอหนึ่งสำหรับเก็บหนังสือตัวเขียน และหอพระสมุดวชิราวุธหอหนึ่งสำหรับเป็นที่เก็บหนังสือตัวพิมพ์ทั้งที่เป็นภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ ในอดีตโรงพิมพ์จะตีพิมพ์จากหนังสือเรื่องใดขึ้นก็ต้องส่งหอพระสมุดเรื่องละ 2 เล่ม เล่มหนึ่งเก็บไว้ที่หอพระสมุดสำหรับประชาชนอ่าน อีกเล่มหนึ่งเก็บไว้ในสถานที่ เรียกว่า ‘ห้องหนังสือพิสูจน์’ สำหรับเป็นหลักฐานอ้างอิงเมื่อเกิดคดีขึ้นในโรงศาล เมื่อศาลสั่ง         ในปี พ.ศ. 2509 หอสมุดแห่งชาติได้ก่อสร้างอาคารขึ้น จึงได้ย้ายหนังสือทั้งหมด มาอยู่ในงานจัดหาหนังสือ ห้องหนังสือพิสูจน์ได้เปลี่ยนเป็นงานคลังสิ่งพิมพ์ ในปี พ.ศ. 2538 เปลี่ยนเป็นฝ่ายคลังสิ่งพิมพ์ และเมื่อจำนวนทรัพยากรสารสนเทศที่ผลิตในประเทศมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้สถานที่จัดเจ็บคับแคบ ในปี พ.ศ. 2548 หอสมุดแห่งชาติจึงได้จัดทำโครงการก่อสร้างอาคารคลังสิ่งพิมพ์ขึ้น ในบริเวณสำนักช่างสิบหมู่ ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม เป็นอาคาร ๕ ชั้น มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ ๖,๐๐๐ ตารางเมตร         คลังสิ่งพิมพ์มีหน้าที่ดำเนินการรวบรวม จัดเก็บและสงวนรักษาสิ่งพิมพ์ที่ผลิตขึ้นในประเทศเพื่อให้เป็นมรดกทางภูมิปัญญา ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม อารยธรรมของประเทศแก่ชนรุ่นหลัง โดยมีพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๕๐ เป็นกลไกสำคัญในการได้มาซึ่งทรัพยากรสารสนเทศเหล่านั้น นอกจากนี้คลังสิ่งพิมพ์ ยังให้บริการการทำสำเนาเอกสารเพื่อเป็นพยานเอกสารอ้างอิงทางตุลาการ โดยหอสมุดแห่งชาติจะจัดทำสำเนาพร้อมรับรองสำเนาเอกสารที่มีผู้ร้องขอมา ซึ่งการรับรองสำเนาเอกสารต้องรับรองสำเนาถูกต้องจากคลังสิ่งพิมพ์ จากนั้นจึงดำเนินการจัดส่งให้ศาลตามหมายเรียกต่อไป                                               



เว็บไซต์ของเรามีการใช้งานคุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานให้กับผู้ใช้งาน ทั้งนี้ สามารถมั่นใจได้ว่าเราจะดูแลและรักษาความปลอดภัยข้อมูลของท่านเป็นอย่างดี